[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 พฤษภาคม 2567 03:34:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เทศน์มหาชาติกระจาดใหญ่  (อ่าน 4850 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5493


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 ตุลาคม 2556 14:46:39 »

.


เครื่องกัณฑ์เทศน์รูปเรือสำเภาจีน

เทศน์มหาชาติกระจาดใหญ่

มหาเวสสันดรชาดกเป็นหนึ่งในสิบของทศชาติชาดก หรือที่เรียกกันว่าพระเจ้าสิบชาติ เป็นชาดกเรื่องสุดท้ายที่กล่าวถึงการบำเพ็ญพระบารมีที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ การเทศน์มหาชาติ คือ การกล่าวร่ายยาวเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธองค์ในอดีตชาติเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งใครได้ฟังต่อกันภายในหนึ่งวันแล้วถือว่าได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ นับเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมทำกันมาแต่ครั้งโบราณ เวลามีงานการเทศน์มหาชาติจะนิยมประดับประดาวัดหรือวังที่จัดงานด้วยต้นไม้ใบไม้ให้คล้ายๆ ป่าที่เป็นฉากของเรื่อง

การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกนครชุมหลักที่ ๓ สมัยพระเจ้าลิไทย พุทธศักราช ๑๙๐๐ ความว่า...”อันว่าพระไตรปิฎกนี้จักหายและหาคนรู้จักแท้แลมิได้เลย ยังมีคนรู้คั่นสเล็กสน้อยไซร้ ธรรมเทศนา อันเป็นต้นว่าพระมหาชาติ หาคนสวดแลมิได้เลย...”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งเวสสันดรชาดกเป็นคำหลวง ตามความในพระราชพงศาวดารซึ่งกล่าวไว้ว่า “ได้กระทำเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๒๕ ทั้งนี้ก็ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะโน้มน้าวจิตใจของประชาชนพลเมืองให้สนใจในเวสสันดรชาดกมากยิ่งขึ้น” ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดให้แต่งกาพย์มหาชาติตามพระราชนิยมนั้นขึ้นอีกชุดหนึ่ง

ประเพณีการเทศน์มหาชาติที่จัดกันเป็นการใหญ่และเป็นประจำปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ๒ ครั้ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๘ และ ๒๓๕๐ โดยทรงเกณฑ์ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชสำนักจัดทำกระจาดใหญ่เพื่อบูชากัณฑ์เทศน์เป็นการพิเศษ และถือเป็นพระราชประเพณีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำทุกปีในรัชกาลต่อๆ มา ดังในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวไว้ว่า “...การพระราชกุศลเทศนามหาชาติ ถือว่าเป็นเทศนาสำหรับแผ่นดิน...”

นอกจากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีการเทศน์มหาชาติในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไว้ว่า “มีการเทศน์มหาชาติแผ่พระราชกุศลถึงเจ้าต่างกรมและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน  เจ้าจอมพระสนมเอกที่มีกำลังพอ ได้ทำกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ ๑๓ กระจาด ทั้งกระจาดหน้ากำแพงมหาปราสาท รายมาถึงโรงทองนาฬิกา และข้างชานชาลาด้วย ประกวดประชันกันนัก กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกแต่งเด็กมีเครื่องแต่งหมดจด ถวายเป็นสิทธิขาดทีเดียว ตามหลักฐานที่ได้พบว่า มีการเทศน์มหาชาติใหญ่ ๒ ครั้ง”

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) ทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระองค์ได้ถวายเทศน์และมีการจัดทำเครื่องกัณฑ์กระจาดใหญ่เป็นรูปเรือสำเภาที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นกัณฑ์เทศน์เฉพาะพระองค์ซึ่งได้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “ครั้น ณ วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๐๙ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้ถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบรรพในพระที่นั่งทรงธรรมข้างในเหมือนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชสามเณรในรัชกาลที่ ๒ ได้ถวายเทศนากัณฑ์สักกบรรพอย่างนี้ครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นเจ้าของกัณฑ์ ผูกรูปสำเภาแทนกระจาดขึ้นที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ลำหนึ่ง ปากกว้าง ๕ วา ยาว ๑ เส้น มีของไทยทานต่างๆ นั่งร้านขายของทำเหมือนสำเภาที่ลูกค้านั่งร้านขายของกันอย่างไรก็ทำอย่างนั้น สิ่งของไทยทานวางร้านเป็นสินค้าเหลือที่จะพรรณนา ที่พื้นแผ่นดินก็ทำเป็นลูกคลื่นประดับด้วยเนื้อและปลาและของกินต่างๆ เป็นรูปเต่าปลามัจฉาชาติที่มีอยู่ในทะเลทุกสิ่ง ของที่ลงทุนไปนั้น เจ้าภาษีอากรช่วยคิดทั้งสำเภา ด้วยเป็นเงินประมาณ ๓๐๐ ชั่ง แต่ในครั้งนั้น ได้สั่งให้พระราชทานเงินหลวงตอบแทน ก็เป็นการเอิกเกริก ผู้คนมาดูเบียดเสียดเยียดยัดกันทั้งกลางวันและกลางคืนจนเลิก”



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพุทธศักราช ๒๔๑๖



กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เจ้าของกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์
กัณฑ์สักกบรรพ ในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงบรรพชาเป็นสามเณร พุทธศักราช ๒๔๐๙

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีสมภาคาภิเศก พุทธศักราช ๒๔๒๙ ที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเท่ากับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่ มีเทศนาเครื่องกัณฑ์กระจาดใหญ่โดยให้ฝ่ายหน้าฝ่ายในตกแต่งกระจาดบูชากัณฑ์ประดับประดาด้วยเครื่องไทยทานอย่างมโหฬารงดงามแปลกตา

นอกจากนั้น ในพระราชพิธีทรงบรรพชาเป็นสามเณรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพุทธศักราช ๒๔๓๔ มีการตกแต่งกระจาดบูชากัณฑ์เทศมหาชาติ เป็นรูปเรือสำเภาใหญ่ใส่เครื่องไทยธรรม ประกอบด้วยขนม ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง ตามแต่จะหาได้ ซึ่งหม่อมเจ้าหญิง พูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงบรรยากาศงานเมื่อครั้งนั้นเอาไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “เรื่องเบ็ดเตล็ดจากสวนดุสิต” ความว่า

“..งานที่น่าตื่นเต้นซึ่งเจ้านายบรรดาที่ทรงมีพระชนมายุพอทันเห็น จะต้องทรงจำได้ไม่มากก็น้อยอีกงานหนึ่งนั้นก็คืองานเทศน์มหาชาติเครื่องกัณฑ์ใหญ่ งานนี้จัดขึ้นเมื่อสมเด็จพระบรมฯ พระองค์นั้นทรงผนวชเณรตามราชประเพณี เมื่อทรงผนวชเณรก็จะต้องเสด็จเข้าไปถวายเทศน์ และถวายพระกุศลสมเด็จพระชนกนาถ และสมเด็จพระชนนี สมเด็จพระบรมฯ ทรงเทศน์มหาชาติกัณฑ์ (รับสั่งว่าดูเหมือนกัณฑ์สักกบรรพ) ตามธรรมดาเทศน์มหาชาตินั้นไม่ว่ามีที่ไหนก็เป็นงานเอิกเกริกอยู่แล้ว เมื่อสมเด็จพระบรมฯ เป็นผู้ทรงเทศน์ถวายสมเด็จพระชนกนาถ งานนั้นก็ย่อมต้องเป็นมหาชาติครั้งพิเศษอยู่เอง  ศูนย์กลางความครึกครื้นจนคนจำได้ข้ามสมัยนั้นก็คือเครื่องกัณฑ์ ซึ่งจะพระราชทานองค์ธรรมกถึก เครื่องกัณฑ์ที่เรียกกันว่ากระจาดใหญ่ หมายถึงเครื่องกัณฑ์เทศน์ขนาดใหญ่ต้องใส่กระจาดซ้อนกันมิรู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น เช่นนี้ ได้เคยมีมาแล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้งทรงผนวชและเสด็จเข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในวัง ครั้งนั้น ถึงกับเรียกกันติดปากเรื่อยมาว่า มหาชาติกระจาดใหญ่ มาคราวนี้เครื่องกัณฑ์ขนาดใหญ่นี้ไม่เป็นรูปกระจาด แต่พิสดารขึ้นไปอีก เป็นรูปเรือสำเภาอย่างโบราณลำหนึ่ง และเรือกำปั่นอย่างฝรั่งอีกลำหนึ่ง ตั้งอวดไว้ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ คนดูกันแน่นตลอดเวลา เพราะเรือทำน่าดูจริงๆ ที่ว่าน่าดูคือน่าดูความคิดของผู้ทำ เหมือนการเล่นอย่างอื่นๆ ที่ใช้ความคิดสติปัญญาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในสมัยนั้น

ตัวเรือนั้นทำด้วยไม้เป็นโครงใน ข้างนอกใช้อ้อยทั้งๆ ลำมัดตรึงเข้า สำหรับลำที่เป็นสำเภาพวกลูกเรือตัวทำด้วยน้ำตาล อย่างที่เราเคยเห็นเขาทำสิงโตน้ำตาลไหว้เจ้า หรือถวายพระเข้าพรรษา ทั้งนี้ เพราะลูกเรือสำเภาเป็นเจ๊กตัวต้องขาว  สำเภานี้บรรทุกเครื่องกินทุกอย่างจากเมืองจีน ใส่ถังไม้ย่อมๆ พูนปากถัง แลเห็นส้มจีน ลูกพลับ เครื่องจันอับ น่าน้ำลายไหล แต่พอถึงลำที่เป็นกำปั่น พวกกลาสีแขกนั้นตัวดำเมี่ยม ตรงกันข้ามกับลำโน้น ตัวกลาสีดำเมี่ยมนั้นปั้นด้วยกาละแม ทั้งนี้เพราะลูกเรือกำปั่นที่เราเคยรู้จักเห็นกันชินตาโดยมากเป็นพวกแขก เช่น แขกจามซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า พวกแขกจามยังมีเชื้อสายมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ส่วนของกินที่บรรทุกเรือลำนี้ก็เป็นของนอกอย่างเมืองฝรั่ง ส่วนที่พื้นรอบลำเรือทั้งสองมีลูกคลื่นทำแสนที่จะเหมือน มีเต่า ปลา และสัตว์น้ำผุด มีไข่เต่า ไข่จะละเม็ดวางเรียงราย ล้วนแต่ของกินได้ทั้งนั้น ตามประเภทของทะเล อย่างนี้คนจะไม่ดูกันแน่นอย่างไรได้...”



เครื่องกัณฑ์กระจาดใหญ่ ในพระราชพิธีสมภาคาภิเศก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๒๙

การจัดสถานที่เทศน์มหาชาติที่เป็นพิธีหลวงหรืองานพระราชพิธีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า

“...การเทศนามหาชาติในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จัดให้มีการเทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว เว้นแต่ในกรณีที่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงได้ย้ายไปเทศน์บนพระแท่นมุกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เคยย้ายไปเทศน์บนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ในรัชกาลที่ ๔ เคยย้ายไปเทศน์บนพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ฟังไม่ได้ยินกันทั่ว จึงได้ย้ายไปมีที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กลับมาเทศน์กันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตามเดิม เมื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยต้องซ่อมแซมใหม่ก็ย้ายมาเทศน์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท



สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ขณะทรงบรรพชาเป็นสามเณร พุทธศักราช ๒๔๓๔
และ (ประทับนั่งบนพื้น) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ยังไม่โสกันต์)

การตกแต่งเครื่องบูชาเทศนานั้น แบบที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป บนพระแท่นถมตั้งพานพุ่มดอกไม้ พานทองสองชั้นขนาดใหญ่ขนาดเล็กเรียงสองแถว ตะบะถมตั้งหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะลิ ถั่ว งา และมีพานเครื่องทองน้อยแก้วห้าสำรับ ตั้งตะเกียงแก้วแทรกตามระหว่างเครื่องทองน้อย ตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกไปตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่ พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายครามโคมพโยมแก้วรายตลอดทั้งสองข้างทาง หน้าแถวมีกรงนกคีรีบูนซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ หน้าท้องพระโรงมีซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้ม มีราชวัติฉัตรธง ผูกต้นกล้วยอ้อยตามธรรมเนียม เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเวลาเล่นเครื่องแก้วกำลังมีราคามากนั้น ในท้องฉากซึ่งเป็นที่ประทับในพระเฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ ตั้งเครื่องแก้วเป็นเครื่องนมัสการโต๊ะหมู่ และมีเครื่องประดับต่างๆ งดงามยิ่งนัก เจ้านายข้าราชการฝ่ายใน ก็มีตะบะเครื่องบูชาเป็นเครื่องแก้ว เครื่องทอง เครื่องถมประกวดประชันกันเป็นการสนุกสนานมาก แต่ในชั้นหลังมานี้ในพระฉากมีแต่เครื่องนมัสการแก้วโต๊ะประดับกระจกสำรับเดียวเท่านั้น แต่เจ้านายข้าราชการฝ่ายในยังมีเครื่องบูชา ชั้นแก่ๆ จึงใช้ตะบะอย่างเก่าๆ ชั้นสาวๆ ก็เป็นตะพานย่อๆ ลงไปเล่นแต่สีดอกไม้ ดอกไหล้ ไม่แข็งแรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ถ้าเทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดม้าหมู่ตรงหน้าธรรมาสน์ มีเครื่องแก้วต่างๆ ฝรั่งบ้าง จีนบ้าง มากกว่าที่เทศน์ท้องพระโรง แต่ยกต้นไม้เงินทอง ใช้ตั้งต้นไม้สดรายออกไปถึงที่ตั้งเครื่องกัณฑ์..”

การจัดสถานที่เทศน์มหาชาติของประชาชนโดยทั่วไปจะตกแต่งสถานที่คล้ายคลึงกับของหลวง แต่มิได้ใช้ข้าวของที่มีราคาสูง ส่วนใหญ่เป็นของที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าต้องการหาใหม่มาเพิ่มเติมก็เป็นวัตถุที่หาได้ง่าย

ประเพณีการเทศน์มหาชาติยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ ประเพณีการเทศน์มหาชาติจึงเป็นประเพณีที่มีทั้งธรรมะ ธรรมเนียมปฏิบัติและการบันเทิงอยู่ในท่วงทำนองการเทศน์ การฟังเทศน์มหาชาติจึงได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน  โดยเฉพาะเป็นการปลูกฝังคุณธรรมความดีงามตามเนื้อหาของมหาเวสสันดรชาดก อันมีกระแสแห่งความเมตตา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความไม่เห็นแก่ตัว ทั้งยังสอนให้รู้จักความโอบอ้อมอารี เป็นการปลูกฝังคุณธรรมอันบริสุทธิ์ หากพุทธศาสนิกชนสามารถนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิต จะทำให้สังคมมีความสงบสุขร่มเย็น และสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน อันจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้


ส่วนการแต่งกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ เป็นกระจาดใหญ่หรือเป็นรูปเรือสำเภาเหมือนในสมัยก่อนไม่ค่อยจะได้พบเห็นกันแล้ว  ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ




กระบวนแห่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร
ไปทรงบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พุทธศักราช ๒๔๓๔




บริเวณถนนสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องกัณฑ์เทศน์รูปเรือสำเภาขนาดใหญ่




เครื่องกัณฑ์เทศน์รูปเรือสำเภาจีน ในคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์



เครื่องกัณฑ์เทศน์รูปเรือสำเภาจีน พวกลูกเรือตัวทำด้วยน้ำตาล บนสำเภาใส่ของกินทุกอย่างจากเมืองจีน
พื้นรอบลำเรือทำเป็นลูกคลื่น ประดับของกิน ทำเป็นรูปเต่า ปลา และสัตว์น้ำในทะเล




เครื่องกัณฑ์เทศน์รูปเรือกำปั่นฝรั่ง ในคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์




บริเวณพื้นรอบลำเรือทั้งสองลำ ทำเป็นลูกคลื่น มีสัตว์น้ำต่างๆ เช่น เต่า ปลา ไข่เต่า ไข่จาละเม็ด
วางเรียงรายตามประเภทของทะเล และเป็นสำเภา พวกลูกเรือทำด้วยน้ำตาล ทุกอย่างกินได้หมด




ประชาชนมาชมเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ ที่เป็นรูปเรือสำเภาจีน และเรือกำปั่น
บริเวณสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์


บทความ (นิตยสารศิลปากร) : เทศน์มหาชาติกระจาดใหญ่ โดย บุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุชำนาญการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.449 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 07 พฤษภาคม 2567 03:52:18