[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 08 พฤศจิกายน 2553 10:28:12



หัวข้อ: ธรรมะไม่ใช่ของยาก พระไพศาล วิสาโล
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 พฤศจิกายน 2553 10:28:12

(http://pirun.ku.ac.th/~b5004022/images/pp/20081212210143898.jpg)

ธรรมะไม่ใช่ของยาก
พระไพศาล วิสาโล

ย้อนหลังไปเมื่อ ๔๐ ปีก่อน มีชาวอเมริกันน้อยคนมากที่รู้จักประเทศธิเบต
อย่าว่าแต่พุทธศาสนาแบบธิเบตเลย แต่ผ่านไปไม่ถึง ๒ ทศวรรษ
ศูนย์ภาวนาแบบธิเบตนับร้อยได้ผุดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
จนทุกวันนี้พุทธศาสนาแบบธิเบตกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในประเทศนี้
บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานของพุทธศาสนาแบบธิเบตในประเทศดังกล่าว
นอกจากเชอเกียม ตรุงปะ และท่านกรรมปะแล้ว อีกผู้หนึ่งย่อมได้แก่ ลามะเยเช่

สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ ๑๙๗๐ นั้น คนหนุ่มสาวจำนวนมากปฏิเสธศาสนา
และไม่ยอมรับนับถืออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พิธีกรรม
และระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งหลาย
แต่ท่านลามะเยเช่ สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่
ให้หันมาสนใจพุทธศาสนาแบบธิเบตหรือวัชรยานได้
 
จุดเด่นของท่านคือ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักธรรมของพุทธศาสนา
ท่านถามคนเหล่านั้นว่า คุณทำสองอย่างนี้ได้ไหม
๑) หายใจเข้าและออก ๒) มีเมตตากรุณา
ถ้าทำได้ทั้งสองประการก็เพียงพอแล้วสำหรับการปฏิบัติธรรม
หรืออย่างน้อยก็เพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นการพัฒนาชีวิตด้านในให้โปร่งเบา

หากใครสงสัยว่าทั้งสองประการสำคัญอย่างไร
ท่านก็จะอธิบายว่าการมีสติกับลมหายใจเข้าและออกนั้น
สามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับร่างกายและชีวิตของเรา
ส่วนการบ่มเพาะเมตตากรุณานั้นจะช่วยเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกได้

วิธีการสอนของท่านไม่เรียกร้องให้ผู้เรียนต้องนับถือพระรัตนตรัย
เชื่อในพระนิพพาน เข้าใจอริยสัจสี่ หรือสมาทานศีลก่อน
หากเริ่มต้นจากจุดที่ทำได้ง่ายที่สุดหรือสามารถทำได้ทันที
โดยไม่ต้องถกเถียงกันในเรื่องปรัชญาหรือต้องผ่านพิธีรีตองก่อน

การชักชวนคนทำสิ่งดีงามนั้น ควรเริ่มต้นจากจุดที่เขาทำได้เลย
เขาสามารถ(หรือพร้อม)ทำได้แค่ไหนก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดคือผู้ที่สามารถทำให้ศิษย์(โดยเฉพาะผู้ใหม่)

เห็นว่าความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
กล่าวอีกนัยหนึ่งความสำเร็จของครูบาอาจารย์อยู่ที่การยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
มิใช่เรียกร้องให้เขาเป็นอย่างที่ครูอยากให้เป็นเสียก่อน

คราวหนึ่งมีศิษย์มากราบหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ (วัดสะแก อยุธยา)
ศิษย์ผู้นั้นมีนักเลงเหล้าตามมาด้วย เมื่อสนทนากันได้พักหนึ่ง
ศิษย์ผู้นั้นได้ชักชวนเพื่อนให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับทำสมาธิภาวนา
นักเลงเหล้าผู้นั้นแย้งต่อหน้าหลวงปู่ว่า

“จะให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง
ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ”

หลวงปู่ดู่แทนที่จะคาดคั้นหรือคะยั้นคะยอเขา กลับตอบว่า
“เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาทีก็พอ”
ชายผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาทีไม่ใช่เรื่องยาก จึงรับคำหลวงปู่

นับแต่วันนั้นเขาก็นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอตามที่รับปากเอาไว้ ไม่ขาดแม้แต่วันเดียว
บางวันถึงกับงดกินเหล้ากับเพื่อน ๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติพอดี
เมื่อได้สัมผัสกับความสงบจากสมาธิภาวนาเขาก็มีความสุข จึงโหยหาเหล้าน้อยลง
จนในที่สุดก็เลิกเหล้าไปโดยไม่รู้ตัว หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ละชีวิตทางโลก
อุปสมบทเป็นพระภิกษุและมุ่งมั่นกับการปฏิบัติธรรม

คงมีภิกษุเคร่งศีลน้อยรูปที่จะบอกฆราวาสว่า “เอ็งจะกิน(เหล้า)ก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า”
แต่หลวงปู่รู้ดีว่าการขอร้องให้เขาเลิกเหล้านั้นเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นแทนที่ท่านจะห้ามเขากินเหล้า
ท่านกลับขอให้เขาทำสิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือ นั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาที
ท่านรู้ดีว่าใครที่ทำสมาธิภาวนาทุกวันแม้จะไม่กี่นาที
ไม่นานก็จะเห็นอานิสงส์ของการปฏิบัติ และปฏิบัตินานขึ้นเอง จนเลิกเหล้าได้ในที่สุด

ทุกวันนี้เรามักได้ยินเสียงบ่นว่าคนทำชั่วมากขึ้น ทำดีน้อยลง
สาเหตุสำคัญนั้นไม่ใช่เป็นเพราะคนทุกวันนี้มีนิสัยเลวร้ายกว่าคนแต่ก่อน
แต่เป็นเพราะปัจจุบันการทำชั่วนั้นทำได้ง่าย ส่วนการทำดีกลับทำได้ยาก
เหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นมีมากมาย สภาพสังคมเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหนึ่ง
(เช่น สื่อที่กระตุ้นให้อยากมากกว่าส่งเสริมให้รู้จักพอ พื้นที่เสี่ยง
เช่น ผับ บาร์ ร้านเหล้า หาได้ง่ายกว่าพื้นที่ดี เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา
หรือสถานปฏิบัติธรรม การสอบเข้าโดยใช้เส้นสาย

ทำได้ง่ายกว่าการสอบเข้าด้วยความสามารถ)
อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยหนึ่ง แม้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด แต่ก็มีอิทธิพลไม่น้อย
นั่นคือ วิธีการสอนศีลธรรม ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะเยาวชนรู้สึกว่าการทำดีนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก

เช่น กว่าจะสมาทานศีลได้ก็ต้องผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย
อีกทั้งต้องกราบไหว้ให้ถูกต้องตามหลักเบญจางคประดิษฐ์
ที่สำคัญคือต้องมีพระเป็นผู้ให้ศีล หากไม่มีพระให้ศีล ก็สมาทานไม่ได้ เป็นต้น
ทั้ง ๆ ที่การสมาทานศีลนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR6-LTtq2g47abVlb-SZ5KXIpC5ktdFJvNaY2eipk9Q7K8ruLU&t=1&usg=__JPeHPrwlLdIDn24VUXflGY1O0FY=)


หัวข้อ: Re: ธรรมะไม่ใช่ของยาก พระไพศาล วิสาโล
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 พฤศจิกายน 2553 11:23:40

(http://www.chatkaew.com/webboard/A1134463.jpg)

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าพิธีกรรมไม่มีประโยชน์
พิธีกรรมนั้นมีประโยชน์อย่างแน่นอน
อาทิ ช่วยเตรียมใจให้เกิดความพร้อมในการทำความดี
แต่ทุกวันนี้พิธีกรรมมักจะถูกยกให้มีความสำคัญ

จนกลายเป็นสิ่งกีดขวางการทำความดีไปโดยไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกเหินห่างกับพิธีกรรม
หลายคนจึงรู้สึกว่าการสมาทานศีลนั้น
เป็นเรื่องยุ่งยากกว่าการไปเที่ยวห้าง หรือการมั่วสุมกัน

การทำสมาธิภาวนาก็เช่นกัน มักถูกทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน
ต้องผ่านพิธีกรรมมากมาย หรือมีเงื่อนไขหลายประการ
ทั้ง ๆ ที่สมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา
ขอเพียงแต่มีลมหายใจและความรู้สึกตัวก็พอแล้ว
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดสามารถทำให้สมาธิภาวนากลายเป็นของง่าย
ใคร ๆ ก็ทำได้

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งนี้โดยเริ่มจากสิ่งที่เขามีอยู่ หรือเป็นอยู่
(แทนที่จะเริ่มจากจุดที่เขาควรจะเป็น
เช่น ต้องละเลิกสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือมีนั่นมีนี่เสียก่อนจึงจะปฏิบัติได้)

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงปู่ขาว อนาลโยว่า
เช้าวันหนึ่งมีโยมพาหลานวัย ๓ ขวบมาถวายอาหารให้ท่าน
เด็กเห็นเงาะในฝาบาตรของหลวงปู่ ก็อยากกิน
หลวงปู่รู้ว่าเด็กคิดอะไรอยู่ จึงเรียกมานั่งใกล้ ๆ แล้วถามว่า อยากกินเงาะไหม
เด็กตอบว่า อยากกิน หลวงปู่จึงบอกว่า มาแลกกัน

ถ้าหนูนั่งสมาธิให้หลวงปู่เห็น หลวงปู่จะให้เงาะทั้งฝาบาตรเลย
เด็กถามว่า นั่งสมาธิทำอย่างไร หลวงปู่แนะนำว่า
ให้นั่งขัดสมาธิ ขวาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
พร้อมกับหลับตาและภาวนาไปด้วย เด็กถามต่อว่า ภาวนาทำอย่างไร
หลวงปู่แนะนำเป็นภาษาอีสานว่า “ให้ภาวนาว่า หมากเงาะ หมากเงาะ”

ด้วยความอยากกินเงาะ เด็กจึงนั่งสมาธิ และภาวนาว่า “หมากเงาะ ๆ ๆ”
ทีแรกเด็กภาวนาพลางเลียริมฝีปากไปพลางเพราะอยากกินเงาะมาก
แต่ไม่นานจิตก็เป็นสมาธิ รู้สึกสบาย สงบ เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง
มาลืมตาอีกทีก็เมื่อได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น

เห็นแต่หลวงปู่นั่งสมาธิอยู่ไม่มีใครในศาลาเลย ผู้คนหายไปหมด
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสามโมงแล้ว
เสียงระฆังดังขึ้นเพื่อเรียกพระเณรมากวาดลานวัด
แสดงว่าเด็กนั่งสมาธิเป็นเวลานานถึง ๘ ชั่วโมง

เด็กอยากกินเงาะก็จริง แต่หลวงปู่ก็รู้ว่าความอยากนั้น
สามารถส่งเสริมให้เกิดสมาธิได้หากใช้ให้เป็น
เด็กไม่จำเป็นต้องลดละความอยากเสียก่อนจึงจะภาวนาได้
ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องภาวนาว่า “พุท-โธ”อย่างที่นิยมทำกันก็ได้
ภาวนาว่า “หมากเงาะ”ก็ใช้ได้เช่นกัน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ก็มีประสบการณ์คล้ายกัน
มีพระบวชใหม่รูปหนึ่งทำสมาธิภาวนาไม่ได้เลย
หลับตาทีไรก็เห็นหน้าแฟนทุกที เมื่อหลวงพ่อทราบปัญหาของเขา

แทนที่จะแนะนำให้เขากดข่มหรือเลิกคิดถึงแฟน
ก็ให้เขาภาวนาโดยนึกถึงชื่อของแฟนอยู่ตลอดเวลา
หายใจเข้าก็บริกรรมชื่อแฟน หายใจออกก็บริกรรมชื่อแฟน
ในที่สุดจิตของเขาก็สงบ จิตเป็นสมาธิ

ตัณหานั้นถ้าใช้ให้เป็นก็มีประโยชน์
ในสมัยพุทธกาลมีหลายท่านที่บรรลุธรรม
ก็เพราะมีตัณหาเป็นแรงผลักดันให้เข้าหาธรรม
บางท่านมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์เพราะเห็นแก่ค่าจ้างจากพ่อ
(บุตรชายอนาถบิณฑิกเศรษฐี)
 
บางท่านบำเพ็ญสมณธรรม
เพราะอยากเห็นนางฟ้าที่งดงามยิ่งกว่าคู่หมั้นของตน (พระนันทะ)
บางท่านตัดสินใจบวชต่อเมื่อนึกถึงความยากลำบาก
หากสึกไปเป็นฆราวาส (พระนังคลกูฏะ)

แม้ไม่มีศรัทธาในศาสนา สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่
หรือถึงจะยังมีกิเลสมากมาย
สิ่งเหล่านี้หาได้เป็นสิ่งกีดขวางหนทางสู่การปฏิบัติธรรม
หรือการทำความดีไม่

ใช่แต่เท่านั้น หากรู้จักใช้ มันกลับจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม
หรือส่งเสริมการทำความดีด้วยซ้ำ
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดย่อมไม่เกี่ยงงอนหรือเรียกร้องให้เขาละทิ้ง
สิ่งเหล่านั้นเสียก่อน
ถึงค่อยแนะนำธรรมแก่เขา เพราะไม่ว่าเริ่มจากจุดไหน
ก็สามารถก้าวหน้าบนเส้นทางธรรมได้ทั้งนั้น

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าอะไรที่เกิดกับเรา
ล้วนมีส่วนช่วยบ่มเพาะธรรมในใจเราให้งอกงามได้ทั้งสิ้น
ไม่เว้นแม้แต่ความทุกข์ ความเจ็บป่วยหรือเคราะห์กรรมทั้งปวง
ความทุกข์นั้นมีประโยชน์เสมออย่างน้อย ๓ประการคือ

๑. สอนใจเรา (เช่น สอนเรื่องความไม่เที่ยง ชี้ให้เห็นโทษของ
โลภะ โทสะ โมหะ
หรือสอนว่าสรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน)
 
๒. เตือนใจเรา (ให้ไม่ประมาท ไม่เพลินในโลกธรรม)
๓.ฝึกใจเรา (ให้มีความอดทน รู้จักปล่อยวาง รู้จักให้อภัย หรือมีสติอยู่เสมอ)

แม้แต่เมตตากรุณาก็สามารถบ่มเพาะให้งอกงามได้โดย
อาศัยความเจ็บป่วย วิธีการอย่างหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ธิเบตแนะนำแก่ผู้ป่วย
ก็คือ ให้ถือว่าตนกำลังรับเอาโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์
ของสรรพสัตว์มาไว้ที่ตัวเอง

เพื่อสรรพสัตว์จะได้บรรเทาจากความทุกข์
ขณะเดียวกันก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวในใจตน
การน้อมใจดังกล่าวทำให้จิตเกิดเมตตากรุณา
คิดถึงตนเองน้อยลง และนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น
อานิสงส์จากเมตตากรุณาดังกล่าวทำให้ความทุกข์ใจมีน้อยลง
ในหลายกรณียังสามารถเยียวยาร่างกายให้บรรเทา
หรือหายเจ็บป่วยด้วยซ้ำ

ในการชักนำผู้คนสู่ธรรมหรือความดี สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การยอมรับเขา
อย่างที่เขาเป็น
มิใช่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เขาควรเป็น แทนที่จะมองว่าเขายังขาดอะไรอยู่บ้าง
ควรมองว่าเขามีอะไรอยู่บ้าง หรือพร้อมจะทำอะไรได้บ้าง
แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นสื่อพาเขาเข้าหาธรรมหรือความดีที่สูงขึ้นไปเป็นลำดับ
โดยไม่ควรให้พิธีกรรมหรือสูตรสำเร็จของคนดีเป็นอุปสรรค

ความดีนั้นทำได้ง่าย แต่เป็นเพราะผู้สอนนั้นติดยึดในรูปแบบ หรือสูตรสำเร็จ
จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าความดีทำได้ยาก
จึงเบือนหน้าหนีจากความดีไปอย่างน่าเสียดาย


ที่มา... มติชนรายวัน วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
http://www.visalo.org/article/matichon255309.htm (http://www.visalo.org/article/matichon255309.htm)

ขอบพระคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=34603 (http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=34603)
Pics by : Google

: อกาลิโกโฮม
: ใต้ร่มธรรมดอทเน็ท

ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาสาธุค่ะ


หัวข้อ: Re: ธรรมะไม่ใช่ของยาก พระไพศาล วิสาโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 พฤศจิกายน 2553 11:24:54
อ้างถึง

อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยหนึ่ง แม้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด แต่ก็มีอิทธิพลไม่น้อย
นั่นคือ วิธีการสอนศีลธรรม ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะเยาวชนรู้สึกว่าการทำดีนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก


ใช่เลยครับ ข้อนี้ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าการสอนผิด ๆ ทำให้เด็กคิดผิด ๆ

เมื่อคิดผิด ๆ แต่เด็ก ก็จะส่งผลต่อความคิดตอนโต

ห่างวัด ห่างการทำดี ห่างการช่วยเหลือผู้ด้อยกว่า เพราะมองเป็นเรื่องยาก


 (:KY:) (:KY:) (:KY:)