[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 พฤษภาคม 2567 23:37:28 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระล้อม : พระพุทธรูปแวดล้อมด้วยพระสาวกเรียงบนฐานซ้อนเป็นชั้น  (อ่าน 5538 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5503


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2557 18:25:38 »

.


พระล้อม สมบัติของวัดบางช้างใต้
ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


พระล้อม
Phra Lom

พระปฏิมาที่เรียกกันโดยสามัญว่า “พระล้อม” คือพระพุทธรูปแวดล้อมด้วยพระสาวกเรียงบนฐานซ้อนเป็นชั้น องค์พระปฏิมาลอยองค์มีขนาดใหญ่ เป็นประธานท่ามกลางพระสาวก  ซึ่งทำเป็นภาพนูนต่ำ อยู่ในลักษณะสมาธิ หรือถวายอัญชลีต่อพระพุทธองค์ มีขนาดเล็กจิ๋ว เรียงเป็นแถวตามแนวชั้นฐาน ส่วนฐานมักทำเป็นรูปสามเหลี่ยมหลังมนซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น เรียวสอบขึ้นด้านบน ตอนบนสุดของฐานเป็นฐานรองรับพระพุทธรูป มักทำเป็นฐานสิงห์ ประกอบด้วยกลีบบัวหงายและขาสิงห์ หรือทำเฉพาะฐานบัวหงาย หรือทำฐานบัวประกอบด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย หรือทำเพียงฐานหน้ากระดานชั้นเกสรบัวก็มี ภายในกลีบบัวฐานพระพุทธรูปประดับลวดลายเล็กละเอียด ตอนล่างสุดของฐานรองรับด้วยลวดบัวเกลี้ยงไม่มีการตกแต่ง หรือทำเป็นฐานหน้ากระดานตกแต่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายรูปสัตว์ หรือลายประดิษฐ์ต่างๆ รองรับด้วยลวดบัวเกลี้ยงๆ อาจมีขาโต๊ะ ๓ ขา รองรับฐานหน้ากระดานลวดบัวอีกชั้นหนึ่ง จัดอยู่ในสมัยและศิลปะแบบรัตนโกสินทร์

ลักษณะพระปฏิมา โดยมากทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร (นั่งไขว้พระบาทแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง) และขัดสมาธิราบ (นั่งพระชงฆ์ขวาทับเหนือพระชงฆ์ซ้าย แลเห็นฝ่าพระบาทข้างเดียว) บางครั้งทำพระพุทธรูปยืนบนฐานมีพระสาวกล้อมเป็นชั้นเป็นบริวารก็มี การครองผ้ามีทั้งครองจีวรเรียบ จีวรลายดอก และประดับเครื่องอาภรณ์แบบพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ อันเป็นแบบแผนความนิยมของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา

พระสาวกที่ฐานพระพุทธรูป นั่งสับหว่างกันในแต่ละชั้นฐาน เป็นการสร้างจังหวะให้เกิดความงาม มีจำนวนรูปไม่แน่นอน ขึ้นกับขนาดความกว้างและความสูงของฐาน รวมถึงระยะห่างภายในแถว และระยะของการซ้อนฐานเป็นประมาณ การซ้อนแถวพระสาวกมีหลายชั้น ตั้งแต่ประมาณ ๕-๑๑ ชั้น รวมจำนวนพระสาวกราวหนึ่งร้อยองค์ถึงหลายร้อยองค์ แตกต่างกันไปในแต่ละรูป ซึ่งไม่ต้องตรงกับจำนวนพระมหาสาวกองค์สำคัญที่นิยมสร้างเป็นชุด ได้แก่ พระอรหันต์ ๘ องค์ พระอรหันต์ ๑๘ องค์ หรือพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์



พระล้อม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง
สังฆาฏิเป็นแถบกว้างซ้อน ๒ ชั้น ประทับบนฐานสิงห์ เหนือฐานประดับรูปพระสาวกถวายอัญชลีซ้อนกัน ๖ ชั้น
ด้านหน้าประกอบด้วยแถวปัญจวัคคีย์ ๕ รูป เลขทะเบียน ๙๙/๗/๒๕๕๖ หล่อด้วยโลหะผสม
ลงรักปิดทองล่องชาด ขนาดสูงรวมฐาน ๑๙ เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาที่คลังกลาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ภาพจากกลุ่มทะเบียนและคลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ

คติการสร้างพระล้อม จึงมิได้เน้นที่การแสดงรูปพระมหาสาวก แต่เป็นการแสดงรูปพระสงฆ์สาวกจำนวนมากที่สุดเท่าที่พื้นที่จะอำนวยให้ได้ พระปฏิมาซึ่งแวดล้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากดังนี้ คงหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพุทธกิจที่ทรงบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอตลอดพระชนมายุ นับตั้งแต่ตรัสรู้ตราบจนกระทั่งถึงปรินิพพาน เป็นเวลากว่า ๔๕ พรรษา การแสดงธรรมของพระองค์มุ่งให้สอดคล้องกับภาวะจิตของพระภิกษุแต่ละรูป แต่ละกลุ่มและหมู่เหล่า ยังผลให้พระภิกษุสาวกมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุความเป็นอริยะสงฆ์ในระดับต่างๆ กัน (๔ ลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) เป็นจำนวนนับประมาณมิได้

หลักฐานสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวปรากฏในจารึกฐานพระพุทธรูปพระล้อม วัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเรียกนามพระพุทธรูปลักษณะนี้ว่า “พระ ๕๐๐” หมายความว่ามีพระจำนวนมาก มิใช่จำนวนถ้วน ๕๐๐ รูปตามที่ปรากฏในจารึก



พระล้อม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานสิงห์
เหนือฐานประดับรูปพระสาวกถวายอัญชลีซ้อนกัน ๖ ชั้น ด้านหน้าประกอบด้วย
แถวปัญจวัคคีย์ ๕ รูป ขนาดหน้าตัก ๕ เซนติเมตร
...(สมบัติของเอกชน)


พระล้อม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานสิงห์
เหนือฐานประดับรูปพระสาวกถวายอัญชลีซ้อนกัน ๖ ชั้น
ด้านหน้าประกอบด้วยแถวปัญจวัคคีย์ ๕ รูป

ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาฯ


พระล้อม พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง ประทับบนฐานหน้ากระดาน
เหนือฐานประดับรูปพระสาวกถวายอัญชลีซ้อนกัน ๘ ชั้น ด้านหน้าประกอบด้วย
แถวพระมหาสาวก ๕ รูป ขนาดหน้าตัก ๑๔.๓ เซนติเมตร
...(สมบัติของเอกชน)

ในบรรดาพระสงฆ์สาวกผู้บรรลุธรรมจำนวนนับประมาณไม่ได้นี้ มีพระอรหันต์ขีณาสพผู้ทรงคุณธรรมสูงกว่าพระสาวกองค์อื่นๆ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในฐานะสำคัญ เป็นพระมหาสาวกหรือพระเถระผู้ใหญ่ชั้นหัวหน้า เรียกว่า พระอนุพุทธ จำนวน ๘๐ รูป คือ มหาสาวก ๗๘ รูป รวมกับพระอัครสาวก ๒ รูป เป็นพระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูป ส่วนพระสาวกนอกเหนือจากนั้น เรียกว่า ปกติสาวก ซึ่งบางครั้งในการสร้างพระล้อม ก็ได้แสดงออกถึงฐานะความสำคัญของพระมหาสาวกบางพระองค์  ด้วยการทำรูปลอยตัวขนาดเล็กกว่าพระพุทธรูปประธาน แต่มีขนาดใหญ่กว่ารูปพระสาวกอื่นๆ แสดงปางมารวิชัย หรือปางสมาธิ หรือพนมมือถวายอัญชลีต่อพระศาสดา นั่งเรียงเป็นแถวประกอบอยู่ทางด้านหน้าของพระพุทธรูปด้วย

โดยทั่วไปสร้างเป็นพระมหาสาวก ๕ องค์ นั่งหันหน้าออกด้านนอก สันนิษฐานว่าได้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญ พระวัปป พระภัททิย พระมหานาม และพระอัสสชิ ซึ่งได้ฟังอนันตลักขณสูตร และสำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันก่อนพระสาวกทั้งปวง เหตุนั้นรูปพระสาวกที่ประดับอยู่ที่ชั้นฐานต่อลงมาเบื้องล่าง ก็น่าจะได้แก่พระสงฆ์สาวกซึ่งได้บรรลุธรรมตามลำดับต่อมาในภายหลัง

ฐานพระล้อมบางองค์ ทำรูปพระสังกัจจายน์ อยู่กึ่งกลางแถวพระมหาสาวกแทนที่ปัญจวัคคีย์ แสดงถึงความนับถือพระสังกัจจายน์ในนามพระมหากัจจายนะเป็นอย่างมากในระยะเวลาที่สร้างพระพุทธรูปนั้น ทั้งนี้เพราะพระมหากัจจายนะผู้มีกายอ้วนใหญ่ ได้รับความนับถือเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่าอำนวยโภคทรัพย์ให้แก่ผู้สักการบูชา จึงเป็นที่นิยมนับถือมาก

นอกจากนี้การสร้างพระล้อมบางองค์ยังทำลักษณะพิเศษ คือพระประธานทำเป็นรูปพระศรีอาริยเมตไตรย หรือพระอนาคตพุทธเจ้า แทนรูปปฏิมาพระศากยมุนี แสดงด้วยรูปพระภิกษุ (ไม่มีพระรัศมีและพระเกตุมาลา) มือขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์แบบปางมารวิชัย มือซ้ายถือตาลปัตรแสดงธรรม หมายถึงพระอชิตภิกษุ ซึ่งในภายภาคหน้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธเจ้าต่อจากพุทธกาลของพระศากยพุทธเจ้า ทั้งนี้ คติการสร้างคงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน โดยที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีวัตรปฏิบัติประการเดียวกันทั้งสิ้น ในวาระที่พระศรีอาริยเมตไตรยตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแสดงธรรมนำเหล่าสัตว์ข้ามพ้นวัฏสงสารเป็นจำนวนมาก บรรดารูปพระสาวกประดับแวดล้อมฐานพระศรีอาริยเมตไตรย จึงหมายถึงบรรดาพระอริยสาวกซึ่งจะบรรลุธรรมเมื่อได้พบกับศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตกาลนั่นเอง




ฐานพระล้อม ประกอบด้วยแถวพระสาวกนั่งสมาธิ ๗ ชั้น จำนวนพระสาวก ๕๓๖ รูป
ถัดลงไปเป็นฐานบุคคลแบก ๑ ชั้น และฐานหน้ากระดาน หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง
ขนาดสูง ๒๙.๒ เซนติเมตร กว้าง ๘๒.๒ เซนติเมตร ฐานหน้ากระดานมีจารึก ๒ บรรทัด

ความว่า “พระ ๕๐๐ ของจีนปาน, แม่น้อย, จีนอยู่ ทร่างให้เขียมบุตร พุทศักราชลวง ๒๔๓๙ พรรษาปีวอก”
(สมบัติของวัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เลขทะเบียน ๑๙/๒๕๕๑
ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้)


พระล้อม ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องใหญ่ ห่มจีวรลายดอก
ฐานประดับรูปพระสาวกนั่งสมาธิซ้อนกัน ๕ ชั้น ด้านหน้ามีพระมหาสาวกประกอบ ๕ องค์
กึ่งกลางเป็นรูปพระมหากัจจายนะ หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง ขนาด ตักกว้าง ๑๑ เซนติเมตร
องค์พระสูง ๒๒.๒ เซนติเมตร  พระสาวก ๕ องค์ สูง ๕.๕ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๓๗.๕ เซนติเมตร
ฐานกว้าง ๓๑.๕ เซนติเมตร สมบัติของวัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
เลขทะเบียน ๔๔/๒๕๕๒ ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้

ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


พระศรีอาริยเมตไตรย ฐานพระสาวกล้อม ๖ ชั้น หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง
ขนาด ตักกว้าง ๔๘ เซนติเมตร ฐานสูง ๒๕ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๖๑ เซนติเมตร
ฐานกว้าง ๖๕ เซนติเมตร ฐานหน้ากระดานมีจารึก ๑ บรรทัด ความว่า "พระองค์นี้แม่ทองสร้าง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒" สมบัติของวัดช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้ เลขทะเบียน ๒๗/๒๕๕๒

ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


พระศรีอาริยเมตไตรย ฐานพระสาวกล้อม ๗ ชั้น หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทองทาชาด
ขนาด ตักกว้าง ๔๘ เซนติเมตร ฐานสูง ๒๔ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๘๙ เซนติเมตร
ฐานกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สมบัติของวัดช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
เลขทะเบียน ๒๓/๒๕๕๒ ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้

ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


ลักษณะการสร้างพระปฏิมาพระล้อม เชื่อว่าพัฒนามาจากแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปประธานแวดล้อมด้วยพระมหาสาวกสำคัญ เช่น พระปัญจวัคคีย์ พระอรหันต์ ๘ พระอสีติสาวก ๘๐ รูป แสดงการประทานพระโอวาทเทศนาธรรมแก่พระสาวก หรือแสดงถึงพระมหาสาวกผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ปรากฏความนิยมอยู่ในสช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏสร้างในพระอารามหลวงสำคัญหลายแห่ง คือ

พระโปรดปัญจวัคคีย์ พระประธานประจำพระวิหารทิศใต้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เดิมพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปปัญจวัคคีย์นั่งสดับพระธรรมเทศนา ประดิษฐานไว้ทางด้านหน้า พระนามว่า พระพุทธชินราชวโรวาทธรรมจักร อันหมายถึงปางประธานปฐมเทศนา

พระประธานพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้น แวดล้อมด้วยพระอรหันตสาวก ๘ องค์ ประดิษฐานบนฐานชุกชี ประจำทั้ง ๘ ทิศ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ปฐมสาวกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางรัตตัญญู แปลว่าผู้รู้ราตรีนาน ประจำทิศตะวันออก พระมหากัสสป ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางธุดงค์ ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางทรงปัญญา ประจำทิศใต้ พระอุบาลี ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางผู้ทรงวินัย ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระอานนท์ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศถึง ๕ สถาน คือ มีสติรอบคอบ มีคติ คือ ความทรงจำแม่นยำ มีความเพียรดี เป็นพหูสูต และเป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันตก พระควัมปติประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายประจำทิศเหนือ และพระราหุล สามเณรองค์แรก ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางผู้ใคร่ต่อการศึกษา ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ



พระพุทธชินราชวโรวาทะรรมจักร พร้อมพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า
พระพุทธรูปประจำพระวิหารทิศใต้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ



พระพุทธตรีโลกเชษฐุ์ พร้อมพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
พระประธานพระอุโบสถ วัดสุทัศเทพวราราม กรุงเทพฯ

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ปางมารวิชัย พระประธานพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม หล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ด้วยปูนปั้นเขียนสี ประดิษฐานเบื้องหน้าพระประธาน นั่งพนมมือกระทำอัญชลีเสมือนฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์

พระประธานพระวิหารวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ บรมราชินี โปรดให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปพระอสีติสาวกล้อมพระประธานเพิ่มเติมขึ้น

พระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบางเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๐ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปพระอรหันต์มหาสาวกประจำทั้งแปดทิศ มีจารึกแสดงคุณพระมหาสาวกและพระอัครสาวก และคำบูชาไว้ทุกองค์ คือ พระสารีบุตรทิศใต้ พระมหาโมคคัลลานะทิศเหนือ (กาไหล่ทอง ประดิษฐานไว้ในเบื้องขวาและเบื้องซ้ายแห่งพระประธาน) พระอัญญาโกณฑัญญะทิศตะวันออก พระมหากัสสปทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระอุบาลี ทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระอานนท์ ทิศตะวันตก พระมหากัจจายนะ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และพระราหุลทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (พระมหาสาวก ๖ องค์ ประดิษฐานบนหิ้งริมผนังในพระอุโบสถประจำตามทิศ) เป็นต้น

พระปฏิมาเหล่านี้เข้าใจว่าได้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ช่างฝีมือเกิดขยายแนวคิดสร้างรูปพระอริยสาวกประดับฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก ในลักษณะพระปฏิมาพระล้อมขึ้นในระยะต่อมา

อายุสมัยการสร้างและแหล่งสร้างพระล้อม พบทั่วไปในบริเวณภาคกลาง เป็นพระปฏิมาขนาดพระบูชา นิยมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือเรียกกันว่าช่วงยุค “พระรัชกาล” จากหลักฐานจารึกปีสร้างบนฐานพระพุทธรูปพระล้อม วัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  พบว่าสร้างขึ้นระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๙ ถึงพุทธศักราช ๒๔๗๙ หรือประมาณช่วงรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘ จากนั้นจึงสิ้นสุดความนิยมไป
พระล้อม มีรูปแบบศิลปกรรมที่โดดเด่น พร้อมสมบูรณ์ด้วยคติการสร้างพระพุทธรูป ในฐานะที่พระสัมมาสัมพุทูเจ้าทรงเป็นพระบรมศาสดาผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงตรัสธรรมที่ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ นำให้พระภิกษุสาวกผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามธรรม บรรลุถึงธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นอริยสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผลเกื้อกูลต่อมหาชนตราบเท่าถึงปัจจุบัน

การสร้างพระปฏิมาพระล้อมขึ้นสักการบูชา จึงเท่ากับการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อันเป็นไตรสรณะของชาวพุทธในคราวเดียวกัน ถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ผู้กราบไหว้บูชา ควรแก่การเจริญศรัทธาให้เกิดแก่พุทธศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี นับเป็นพระปฏิมารูปแบบหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือและภูมิปัญญาอันเยี่ยมยิ่งของช่างไทย ควรแก่การศึกษาและอนุรักษ์ต้นแบบไว้เป็นเอกลักษณ์พุทธศิลป์ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ให้สถาวรยั่งยืนสืบไป




ฐานพระล้อม ประกอบด้วยแถวพระสาวก ๑๑ ชั้น หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง
ขนาด สูง ๓๖.๕ เซนติเมตร ตอนบนกว้าง ๑๗.๕ เซนติเมตร ตอนล่างกว้าง ๔๕ เซนติเมตร
ฐานหน้ากระดานมีจารึก ๒ บรรทัด ความว่า “...สร้างให้ยายฟัก...พ.ศ. ๒๔๖๓”
สมบัติของวัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เลขทะเบียน ๓๓/๒๕๕๒
ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้ ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม



ฐานพระล้อม ประกอบด้วยแถวพระสาวก ๑๐ ชั้น หล่อด้วยโลหะผสม
ลงรักปิดทองทาชาด ขนาด สูง ๔๒ เซนติเมตร ตอนบนกว้าง ๑๙.๕ เซนติเมตร ตอนล่างกว้าง
๔๕.๘ เซนติเมตร หนา ๒๗.๕ เซนติเมตร ฐานหน้ากระดานมีจารึก ๒ บรรทัด ความว่า
“แม่กล้า สร้างเพื่อสะนองคุณ พระธ...พ.ศ. ๒๔๗๙”  สมบัติของวัดบางช้างใต้
ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เลขทะเบียน ๓๒/๒๕๕๒
ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้

ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


ข้อมูล/ภาพ : บทความ ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร - พระล้อม โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤศจิกายน 2558 16:34:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.529 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 พฤษภาคม 2567 22:30:11