มรดกทางจิตวิญญาณของโทมัส เมอร์ตันโดย
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2559
ชื่อของโทมัส เมอร์ตัน (ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๖๘) อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยในบ้านเราเท่าไรนัก แต่ในแวดวงชาวคริสต์แล้ว พระสงฆ์คริสต์ผู้นี้เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของศตวรรษที่ ๒๐ เป็นผู้นำในการใช้คริสตธรรมมาสนับสนุนการสร้างสันติภาพ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ช่วยให้ชาวตะวันตกได้รู้จักศาสนาตะวันออกอย่างถ่องแท้ เมอร์ตันได้พบและสนทนาอย่างลึกซึ้งกับเพื่อนต่างศาสนา จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสานสัมพันธ์ระหว่างศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
โทมัส เมอร์ตันเกิดในฝรั่งเศส โดยมีแม่เป็นชาวอเมริกันและพ่อเป็นชาวนิวซีแลนด์ ในปี ๑๙๓๒ เมอร์ตันย้ายมาพำนักในสหรัฐอเมริกา หลังจากบวชเข้าคณะแทรปพิสต์ (คณะนักพรตที่เน้นการหลีกเร้นภาวนา) ในปี ๑๙๔๑ ด้วยความที่เขามีพรสวรรค์ในการเขียน เมอร์ตันจึงได้รับการสนับสนุนจากอธิการให้เขียนหนังสือ นั่นจึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักของโลกภายนอก แม้ว่าตัวเขาเองแทบจะไม่ปรากฏตัวนอกอารามเลย เขามีงานตีพิมพ์เป็นหนังสือกว่า ๗๐ เล่ม มีผลงานบทกวี บทความ และจดหมายอีกมากมาย ในช่วงแรก เขาเน้นเขียนเรื่องแนวคิดในคริสตศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการทำสมาธิภาวนา อัตชีวประวัติเรื่อง The Seven Storey Mountain ที่ว่าด้วยการแสวงหาภายในของเขา จากเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตเหลวแหลก จนมาพบหนทางภาวนา สละเรื่องทางโลกและหันหน้าเข้าสู่อาราม กลายเป็นหนังสือยอดนิยม ที่นำพาคนหนุ่มสาวในยุคนั้นหันเข้าสู่ศาสนาและการภาวนา จนถึงปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ไปแล้วกว่าล้านเล่ม
แม้จะหยั่งรากลึกกับการภาวนาวิถีคริสต์ แต่เมอร์ตันก็เปิดใจเรียนรู้จากศาสนาอื่น โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษที่ ๕๐ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เมอร์ตันศึกษาและเขียนงานเกี่ยวกับศาสนาตะวันออกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเต๋า ฮินดู ซูฟี และศาสนาพุทธ เขาให้ความสนใจกับเซ็นเป็นพิเศษ เพราะพบว่าวิถีของอาจารย์เซ็นนั้น คล้ายคลึงกับวิถีนักพรตคริสต์เป็นอย่างยิ่ง เขาเขียนจดหมายแลกเปลี่ยนความเข้าใจกับ ดี.ที.ซูซูกิ หนึ่งในผู้นำเซ็นไปเผยแพร่ในโลกตะวันตกเป็นเวลาหลายปี เมื่อทั้งสองมีโอกาสพบกัน ซูซูกิชมว่าเมอร์ตันเป็นนักเขียนตะวันตกที่สามารถเข้าใจเซ็นได้ดีที่สุด
งานเขียนของนักบวชคริสต์ผู้นี้ ได้ช่วยเปิดประตูให้ชาวตะวันตกหันมาทำความเข้าใจศาสนาตะวันออก และขณะเดียวกัน ศาสนาตะวันออกก็ช่วยให้เมอร์ตันเติบโตทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน ก่อนเสียชีวิตไม่นานเขาพูดกับเพื่อนนักบวชว่า
“ผมไม่เชื่อว่าผมจะสามารถเข้าใจความเชื่อทางคริสต์แบบที่ผมเข้าใจเช่นนี้ได้ หากไม่ใช่เพราะความเข้าใจในศาสนาพุทธ” เมอร์ตันไม่เพียงแค่สนใจในเรื่องจิตวิญญาณเพื่อพัฒนาปัจเจกบุคคลเท่านั้น ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิต ขณะที่สังคมอเมริกันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่ศาสนจักรในเวลานั้นยังไม่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลก เมอร์ตันเป็นผู้ส่งเสียงเรียกให้คริสตชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เขาเป็นปัญญาชนผิวขาวคนแรกๆ ที่สนับสนุนขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ รวมไปถึงสิทธิของชนพื้นเมืองในอเมริกา ในช่วงระยะเวลาของสงครามเย็นและการคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ เขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อความรุนแรงของสงครามได้ เขาเขียนว่า
“ดูเหมือนว่าสำหรับข้าพเจ้าแล้ว คำถามเรื่องสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญ มันสำคัญมากจนข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ชาวคริสต์คนหนึ่งที่มีศรัทธาอย่างจริงจังจะสามารถละเลยเรื่องนี้ไปได้” ในเวลานั้นยังไม่มีนักบวชคาทอลิกคนใดออกมาต่อต้านสงครามอย่างเปิดเผย ด้วยเชื่อว่าไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของนักบวช แต่เมอร์ตันกลับผลิตงานเขียนต่อต้านสงครามออกสู่สาธารณะ เขาสนับสนุนการสร้างสันติภาพด้วยสันติวิธี และเรียกร้องให้ศาสนิกมีบทบาทในการยุติสงคราม เขากล่าวว่าศาสนจักร
“ต้องเป็นผู้นำบนหนทางไปสู่การแก้ปัญหาโดยไร้ความรุนแรงและค่อยๆ นำไปสู่การยุติสงคราม” แม้ว่างานของเขาจะมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในศาสนาและมนุษยธรรม แต่ในที่สุดเขาถูกสั่งจากผู้ใหญ่ในคณะให้หยุดการตีพิมพ์เรื่องต่อต้านสงคราม อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าเป็นหน้าที่ของศาสนิกที่จะต้องพยายามยุติการเข่นฆ่ามนุษย์ เขาจึงยังคงหาวิธีผลิตงานเขียนออกมาได้เรื่อยๆ
เดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๖๖ โทมัส เมอร์ตัน ได้พบกับท่านติชนัทฮันห์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้จักพระเซ็นจากเวียดนามรูปนี้นัก ท่านนัทฮันห์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกเล่าให้ชาวอเมริกันรับรู้ผลร้ายของสงครามเวียดนามจากมุมมองของคนเวียดนามเอง เนื่องจากเมอร์ตันเป็นบุคคลสำคัญในการต่อต้านสงครามและมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียน องค์กร Fellowship of Reconciliation จึงจัดการให้ทั้งสองได้พบกันที่อารามของเมอร์ตันในรัฐเคนตักกี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงของการพบกัน ทั้งสองได้สานสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น เมอร์ตันได้รับรู้เรื่องราวความรุนแรงของสงครามจากท่านนัทฮันห์ และเรียนรู้วิถีการปฏิบัติของพระเซ็น ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งเมอร์ตันให้ความสนใจมานานแล้ว หลังจากการพบกัน เมอร์ตันเขียนบทความที่เปี่ยมด้วยความกรุณาชื่อ “นัทฮันห์คือน้องชายของฉัน” เขาบอกเล่าถึงความเลวร้ายของสงครามเวียดนาม และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือน้องชายชาวพุทธของเขาคนนี้
หลังการสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี ๑๙๖๕ พระศาสนจักรคาทอลิกตื่นตัวกับการปฏิรูปศาสนาให้ทันยุคสมัยในหลายๆ ด้าน พระสันตะปาปาออกสมณสาส์นว่าด้วยเรื่องสันติภาพในโลก ซึ่งโทมัส เมอร์ตันเป็นผู้บุกเบิกเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว มีความพยายามที่จะปฏิรูปคณะนักบวชคาทอลิก ซึ่งเมอร์ตันก็เป็นผู้นำในความคิดเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นเมอร์ตันจึงได้รับเชิญให้มาประเทศไทยตอนปลายปี ๑๙๖๘ เพื่อแสดงปาฐกถาในการประชุมเพื่อการปฏิรูปคณะนักบวชเอเชีย เขาจึงใช้โอกาสนี้เดินทางไปเยือนอินเดียและศรีลังกาด้วย
การเดินทางมาเอเชียเป็นครั้งแรกในชีวิตมีความหมายพิเศษสำหรับเมอร์ตัน เพราะเขาให้ความสนใจเรื่องจิตวิญญาณตะวันออกอย่างจริงจังมานาน นี่เป็นโอกาสที่เขาจะได้มีประสบการณ์ตรง ขณะที่เครื่องบินกำลังมุ่งหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเขาเขียนบันทึกว่า
“ฉันกำลังกลับบ้าน บ้านที่ฉันไม่เคยไปในร่างนี้” เมอร์ตันมีโอกาสพบและสนทนากับองค์ทะไลลามะซึ่งลี้ภัยอยู่ในธรรมศาลา ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่า เมอร์ตัน “เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นคนที่มีคุณภาพในเชิงจิตวิญญาณ เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้รับความรู้สึกเช่นนี้จากคนที่นับถือศาสนาคริสต์ นับแต่นั้นมา อาตมาก็ได้มีโอกาสพบกับคนอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติทำนองเดียวกัน แต่เมอร์ตันเป็นคนแรกที่แนะนำให้อาตมาได้รู้จักกับความหมายของคำว่า ‘ชาวคริสต์’ อย่างแท้จริง” ท่านยังกล่าวอีกว่า การสนทนากับเมอร์ตันมีประโยชน์อย่างมาก
“ทั้งนี้เพราะอาตมาพบว่าในพุทธศาสนาและคาทอลิกนั้นมีข้อเหมือนกันอยู่มาก... เมอร์ตันได้เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างประเพณีทางศาสนาระหว่างศาสนาทั้งสองของเรา ยิ่งไปกว่านั้น เขาช่วยให้อาตมาเข้าใจว่า ศาสนาหลักทุกศาสนา ที่สอนในหลักของความรักความกรุณา สามารถทำให้มนุษย์เราเป็นคนดีได้” นอกจากพบกับองค์ทะไลลามะแล้ว เมอร์ตันได้เรียนรู้วัชรยานจากอาจารย์ชาวทิเบตอีกหลายท่านในอินเดีย ได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณครั้งสำคัญต่อหน้าพระพุทธรูปในศรีลังกา และเดินทาง “กลับบ้าน” ครั้งสุดท้ายในร่างนี้ ที่เมืองไทย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๙๖๘ โทมัส เมอร์ตัน แสดงปาฐกถาครั้งสุดท้าย ให้กับนักบวชคริสต์จากหลากหลายประเทศที่สวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพื่อนนักบวชพบร่างไร้ลมหายใจของเขาในห้องพัก สันนิษฐานว่าเขาเสียชีวิตจากกระแสไฟฟ้าช๊อตจากพัดลมในห้อง ร่างของพระผู้ปฏิเสธสงครามผู้นี้ถูกส่งกลับอเมริกาด้วยเครื่องบินรบของสหรัฐ พร้อมกับทหารที่เสียชีวิตจากสงครามเวียดนาม
มรดกทางจิตวิญญาณที่โทมัส เมอร์ตันทิ้งไว้ให้กับผู้แสวงหารุ่นหลังก็คือ แบบอย่างของชีวิตภาวนาที่หยั่งลึกกับรากของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างที่จะดื่มด่ำจากจิตวิญญาณของศาสนาอื่น การไม่เพิกเฉยต่อเสียงร้องของเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก และการนำศาสนธรรมมารับใช้การสร้างสันติภาพ โดยข้ามพ้นเส้นที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นสีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนาก็ตาม
จาก
http://jitwiwat.blogspot.com/2016/07/blog-post_15.html#more