[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 เมษายน 2566 16:59:43



หัวข้อ: กบฏพระยารามเดโช (พ.ศ.๒๒๓๕-๒๒๓๗) ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 เมษายน 2566 16:59:43
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89685503683156_PITERA_TJAY_Rex_Siam_by_Gaspar.jpg)

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม (PITERA TJAY Rex Siam)
ฝีมือชาวตะวันตกโดย Gaspar Bouttats ช่างพิมพ์และช่างแกะสลักชาวเฟลมิชยุคบาโรก เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๐

wikipedia.org (ที่มาภาพประกอบ)

กบฏพระยารามเดโช (พ.ศ.๒๒๓๕-๒๒๓๗)

กบฏพระยารามเดโช เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชกระด้างกระเดื่องไม่ยอมมาเฝ้าและถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงส่งกองทัพบกและกองทัพเรือไปปราบ แต่พระยารามเดโชหนีไปได้

พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ มีพระบรมราชโองการให้ขุนนางในหัวเมืองทั้งหลายมาเฝ้าและถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่พระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ไม่ยอมมาเฝ้า เพราะถือว่าสมเด็จพระเพทราชาโค่นล้มราชวงศ์เก่า สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้ปราบพระยายมราชก่อน หลังจากที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาปราบกบฏพระยายมราชที่เมืองนครราชสีมา (พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕) ลงได้ระยะหนึ่งแล้ว สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้จัดกองทัพไปปราบพระยารามเดโชที่เมืองนครศรีธรรมราช เพราะกรมการเมืองไชยารายงานเข้ามากราบบังคมทูลว่า พระยารามเดโชได้ซ่องสุมผู้คนและอาวุธเป็นจำนวนมาก คาดว่าเพื่อตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และถ้าเป็นผลสำเร็จก็คงยกมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป  นอกจากนี้ พระยายมราช (สังข์) ที่เป็นกบฏยังหลบหนีไปรวบรวมผู้คนที่ชายแดนเมืองนครศรีธรรมราชและไชยา สมเด็จพระเพทราชาทรงเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายใหญ่ขึ้นมาได้ ควรปราบให้หมดสิ้น

กองทัพที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้ยกไปปราบพระยารามเดโชและพระยายมราช (สังข์) มีทั้งทัพบกและทัพเรือ ทัพบกมีพระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวงคุมพล ๑๐,๐๐๐ คน ส่วนทัพเรือมีพระยาราชบังสันเป็นนายกองคุมเรือรบ ๑๐๐ ลำ ทหาร ๕,๐๐๐ คน กองทัพทั้ง ๒ ส่วน นัดพบกันที่เมืองไชยา  พระยาสุรสงครามได้ให้กองทัพเรือยกทัพล่วงหน้าไปยังเมืองนครศรีธรรมราชก่อน ส่วนทัพบกได้เกณฑ์กำลังจากเมืองใกล้เคียงเพิ่มเติมอีก แล้วยกไปโจมตีกำลังของพระยายมราช (สังข์) ได้ชัยชนะอย่างงดงาม  พระยายมราช (สังข์) เสียชีวิตในการสู้รบ จากนั้น จึงยกไปสมทบกับทัพเรือที่เมืองนครศรีธรรมราช

พระยารามเดโชได้เตรียมการป้องกันเมืองนครศรีธรรมราชอย่างเข้มแข็ง โดยระดมกำลังทั้งทัพบกและทัพเรือ ตกแต่งป้อมค่าย ปักขวากหนาม อพยพผู้คนเข้าไว้ในเมือง และเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อม

ทัพเรือของพระยาราชบังสันยกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชก่อน และได้สู้รบกับทัพเรือของเมืองนครศรีธรรมราชที่ส่งไปสกัด แต่ยังไม่สามารถเอาชนะได้ เมื่อทัพบกยกไปถึงได้สู้รบกับทัพเมืองนครศรีธรรมราชที่ยกมาสกัดเช่นกัน มีการสู้รบอย่างหนักถึงระยะประชิด ทัพเมืองนครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีเข้าเมือง เมื่อทัพบกทราบว่าทัพเรือยังสู้รบกับทัพเรือของเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ จึงยกไปช่วยกระหนาบ ทัพเรือนครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายไป ทัพกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ทัพจึงเข้าล้อมเมืองนครศรีธรรมราชไว้ พระยารามเดโชได้จัดทหารป้องกันเมืองไว้เต็มกำลัง บางครั้งยังแต่งทัพออกมาสู้รบกับทัพกรุงศรีอยุธยาด้วย ทั้ง ๒ ฝ่ายสู้รบขับเคี่ยวกันเช่นนี้เป็นเวลาถึง ๓ ปี ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ดี ทัพกรุงศรีอยุธยาได้เปรียบที่มีเสบียงอาหารส่งมาเพิ่มเติมอยู่เสมอๆ ส่วนในเมืองนครศรีธรรมราชขาดแคลนเสบียงอาหารลงเรื่อยๆ จนทหารและชาวเมืองต่างได้รับความอดอยากเป็นอันมาก แต่กระนั้นขุนนางและกรมการเมืองทั้งหลายยังจงรักภักดีต่อพระยารามเดโชอยู่ พระยารามเดโชเห็นว่า ถ้าสถานการณ์ยังเป็นไปในลักษณะนี้ก็คงรักษาเมืองไม่ได้ จึงเขียนจดหมายลับไปถึงพระราชบังสัน ในฐานะที่เป็นขุนนางเก่าของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา และมีเชื้อชาติแขกด้วยกัน ขอให้เปิดทางและเตรียมเรือไว้ให้เพื่อหลบหนี พระยาราชบังสันเห็นแก่เพื่อนจึงรับปาก เมื่อถึงเวลานัดหมาย พระยารามเดโชจึงตีฝ่าทัพกรุงศรีอยุธยาด้านพระยาราชบังสันออกมาและลงเรือหลบหนีไปได้

ข่าวการตีฝ่าหลบหนีของพระยารามเดโชทราบถึงพระยาสุรสงครามแม่ทัพหลวง จึงให้สอบสวนได้ความจริงว่า พระยาราชบังสันรู้เห็นเป็นใจด้วย จึงให้จำพระยาราชบังสันไว้ แล้วกราบทูลให้สมเด็จพระเพทราชาทรงทราบ มีรับสั่งให้ประหารชีวิตพระยาราชบังสันกับพวก และให้จัดขุนนางที่มีความสามารถปกครองเมืองนครศรีธรรมราชให้เรียบร้อย ครั้นพระยาสุรสงครามจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้น จึงถอนทัพกลับกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยผู้คน ทรัพย์สมบัติ ศัสตราวุธ และช้างม้า.



ที่มา - กบฏพระยารามเดโช (พ.ศ.๒๒๓๕-๒๒๓๗)สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่