[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 15:39:01



หัวข้อ: ประเพณีสารทจีน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 15:39:01
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54014084157016_2.jpg)

สารทจีน

สารทจีนเป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "จงหยวนเจี๋ย" แต้จิ๋วว่า ตงง้วงโจย แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า ชิกงวยปั่ว (แต้จิ๋ว) แปลว่า (เทศกาล) กลางเดือนเจ็ด นอกจากนี้ยังมีที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "กุ่ยเจี๋ย" แปลว่า เทศกาลผี

จงหยวนที่เป็นชื่อของเทศกาล ได้มาจากชื่อเทพจงหยวน เทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า ส่วนชื่อเทศกาลที่แปลว่ากลางเดือนเจ็ดก็มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือนเจ็ด คือ วัน ๑ ค่ำ เป็นวันเปิดยมโลกให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย, วัน ๑๕ ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ และวันสิ้นเดือนเจ็ด (๓๐ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ) เป็นวันปิดประตูยมโลก ผีที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก ทั้งนี้วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้ เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเจ็ด

กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือนเจ็ดเป็นเดือนผี และเทศกาลกลางเดือนเจ็ดคือเทศกาลผี แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารท หรือชิวเทียน ของจีนอีกด้วย

ตามความเชื่อจีนโบราณ เดือนเจ็ดเป็นทั้งเดือนดีและเดือนร้าย เพราะข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวได้ นำผลแรกได้ (ข้าวใหม่) ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน แต่เทพประจำเดือนเจ็ดเป็นเทพแห่งความตาย จึงต้องเซ่นสรวงต่างหากออกไป ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่ามี ผีร้ายร่อนเร่ เรียกว่า ลี่ ไม่มีญาติเซ่นไหว้ พอถึงฤดูสารทซึ่งผู้คนนำผลแรกได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผีพวกนี้จะคอยมาแย่งกินของไหว้หรือไม่ก็ทำร้ายผู้คนด้วยความหิวโหย ฉะนั้นพอถึงฤดูสารทจึงต้องเซ่นไหว้บรรพชนและผีไม่มีญาติแยกกัน

ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้การเซ่นไหว้เดือนเจ็ดมีพัฒนาการไป สมัยราชวงศ์จิ้นมีผู้แปล "อุลลัมพนสูตร" (อ่านว่า อุน-ลัม-พะ-นะ-สูด) ของนิกายโยคาจาร เรื่องในพระสูตรนี้มีอิทธิพลต่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษในเดือนเจ็ดมาก โดยความตอนหนึ่งในพระสูตรกล่าวว่า พระโมคคัลลาน์เห็นมารดาเกิดเป็นเปรตอดอยากหิวโหย จึงใช้ฤทธิ์นำบาตรข้าวไปส่งให้ เปรตมารดาเปิบข้าว แต่ยังไม่ทันจะเข้าปากก็กลายเป็นถ่านไปสิ้น พระเถระเจ้าจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า

งิ้วเรื่องหนึ่งมีเนื้อเรื่องที่แต่งตามเค้าเรื่องในอุลลัมพนสูตร ว่า พระโมคคัลลาน์ เดิมชื่อ ฟู่หลอปู่ ท่านและบิดามีศรัทธาในศาสนา เคารพนักบวช แต่มารดาเป็นคนบาปหยาบช้า เกลียดชังนักบวชมาก ครั้งหนึ่งก่อนออกไปค้าขายต่างเมืองได้ขอร้องมารดาให้มีศรัทธาเคารพภิกษุ ภิกษุณี นางรับปากแต่กลับร้ายต่อนักบวช ทั้งหลายเหมือนเดิม พอบุตรชายกลับมาถามว่าได้ทำตามที่รับปากไว้หรือไม่ นางสาบานว่าถ้าไม่ได้ทำขอให้ตกอเวจีนรก พญายมจึงส่งยมทูตมาเอาตัวลงนรกทันที

ส่วนบุตรชายเมื่อออกบวชมีนามว่าโมคคัลลาน์ รู้ว่ามารดาอยู่ในนรก จึงตามลงไป พอได้พบกันก็ส่งอาหารให้ นางรับไปยังไม่ทันได้กินก็ถูกเหล่าเปรตแย่งไปสิ้น ต่อมาท่านจัด อุลลัมพนสังฆทาน (ภัตตาหารหลากรส ผลไม้นานาชนิด น้ำปานะ ธูปเทียนแลเครื่องไทยทาน ใส่พานภาชนะเป็นสังฆทานถวายแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศเมื่อออกพรรษา) ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ มารดาจึงพ้นจากนรก โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้กระทำในวัน ๑๕ ค่ำกลางเดือนเจ็ด

ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ชื่อ "จงหยวนเจี๋ย" (เทศกาลบูชาเทพจงหยวน) เป็นชื่อทางการของเทศกาลกลางเดือนเจ็ด หรือสารทจีน ตลอดมาจนปัจจุบัน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78643362927767_1_1024x768_.jpg)

ประเพณีในเทศกาลจงหยวน

จงหยวนเจี๋ย มีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ กับวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนา และความเชื่อของศาสนาเต๋าร่วมกันอย่างกลมกลืน สารทจีน หรือเทศกาลจงหยวน มีการไหว้บรรพบุรุษเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับวันเช็งเม้ง (ชิงหมิง) แต่ จุดมุ่งหมายต่างกัน ไหว้เช็งเม้งเป็นการแสดงความกตัญญูรำลึกถึงบรรพชน ไหว้สารทจีนเพื่อให้ท่านพ้นอบายภูมิและสรรพทุกข์ภัย ทั้งยังใจเกื้อกูลไหว้ผีไม่มีญาติอีกด้วย มีทั้งไหว้ที่บ้านและงานทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้

เทศกาลสารทจีนที่เต็มรูปแบบมีประเพณีสำคัญและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ ไหว้เทพจงหยวน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผีไม่มีญาติ ลอยโคม ไหว้เทพารักษ์ประจำเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ทิ้งกระจาด ในอดีตบางแห่งมีการไหว้เทพแห่งนาด้วย ในวัดพุทธจัดงานอุลลัมพนสังฆทาน

เทพจงหยวนเป็นเทพประจำเทศกาลสารทจีน ท่านมีหน้าที่ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ และให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิด กระทำพลีบูชาท่าน ทุกวัน ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ท่านจะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์แล้วประทานอภัยให้ นอกจากนี้ท่านยังต้องมาเป็นประธานดูแลการไหว้ผีไม่มีญาติ ผู้คนจึงกินเจ ทำพิธีเซ่นสรวงบูชาท่าน เซ่นไหว้บรรพชน เพื่อให้ท่านอภัยโทษให้ทั้งแก่ตนเองและวิญญาณบรรพชน

การเซ่นไหว้บูชาบรรพชนเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สุดของจีน เพราะถือระบบวงศ์ตระกูลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมจีน การไหว้บรรพชนเป็นกิจสำคัญที่สุดของลูกหลาน เจ้าอาจไม่ต้องไหว้ก็ได้ แต่ปู่ย่าตายายไม่ไหว้ไม่ได้ จีนเชื่อว่า วันสารทจีน วิญญาณบรรพชนที่ยังไม่ได้ไปเกิดจะกลับมาเยี่ยมบ้าน

ไหว้ผีไม่มีญาติ อีกกิจกรรมสำคัญของวันสารทจีน ผีพวกนี้โบราณเรียกว่า ลี่ ถือเป็นผีชั่วร้าย อิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้ทัศนะต่อผีพวกนี้เปลี่ยนไปเป็นผีที่น่าสงสาร จนปัจจุบันเรียกว่า ฮอเฮียตี๋ แปลว่า พี่น้องที่ดี การไหว้ฮอเฮียตี๋เป็นการไหว้เพื่อเกื้อกูลผู้ยากไร้ ไร้ญาติขาดมิตร โดยต้องไปจัดไว้นอกธรณีประตู เพราะเทพบรรพชนในบ้าน (เกซิ้ง) และเทพทวารบาล (หมึ่งซิ้ง) จะไม่ยอมให้ผีอื่นเข้าบ้าน ของไหว้ทุกอย่างต้องปักธูปไว้ด้วย เพื่อแสดงการเชื้อเชิญ ก่อนไหว้ต้องไปจุดธูปเรียกผีเหล่านี้ในที่ต่างๆ บอกให้ตามควันธูปไปรับเครื่องเซ่นไหว้

การอุทิศส่วนกุศลให้ผีไร้ญาติ นอกจากการเซ่นไหว้ส่วนตัวของแต่ละครอบครัวแล้ว ยังมีพิธีกรรมของส่วนรวมแต่ละชุมชนอีกด้วย คือการทิ้งกระจาด เป็นการ ซีโกว คืออุทิศส่วนกุศลแก่ผีไม่มีญาติแบบหนึ่ง เป็นพิธีสำคัญคู่กับอุลลัมพนสังฆทานของวัดและพุทธศาสนิกชนจีน

"อุลลัมพนะ" เป็นคำสันสกฤตซึ่งปราชญ์ทางพุทธศาสนาของจีนแปลว่า "ช่วยผู้ที่ถูกแขวนห้อยหัวกลับขึ้นมา" โดยอธิบายว่าโทษทัณฑ์ในอบายภูมิทำให้ผู้รับเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส ดุจถูกแขวนห้อยหัวลงมา

ที่มา : รู้ไปโม้ด น้าชาติประชาชื่น : หนังสือพิมพ์ข่าวสด