[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
13 พฤษภาคม 2567 07:36:54 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี "พระบรมศพ"  (อ่าน 1928 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 ตุลาคม 2559 16:26:01 »



แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ พร้อมด้วยพระสางและซองพระศรี
(ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑)

เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี
๑. สรงน้ำพระบรมศพและพระศพ

ข้อมูลจากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี

การสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพ อนุโลมเรียกอย่างชาวบ้านก็คือ อาบน้ำศพ เป็นการอาบน้ำชำระศพให้สะอาด ธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องการทำความสะอาดเพื่อให้ผู้ตายที่ไปอยู่ในภพภูมิอื่นในลักษณะบริสุทธิ์หมดจด บางทีก็เชื่อกันว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

วิธีปฏิบัติตามแบบแผนโบราณที่สืบกันมาคือ ต้องต้มน้ำด้วยหม้อดิน เก็บเอาใบไม้สดต้มลงไปด้วย และหาก้อนเส้า ๓ ก้อนมาเตรียมไว้ เมื่อน้ำเดือดยกหม้อน้ำวางบนก้อนเส้านั้น การอาบน้ำจะต้องอาบด้วยน้ำร้อนก่อนแล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยส้มมะกรูดชะล้างให้สะอาดหมดจด ตำขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดมาขัดสีอีกทีให้ทั่วร่างกาย




พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชา ในพระหัตถ์ทั้งสองข้างทรงถือซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี
พร้อมกับทรงแผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์
(ภาพจากลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๒๐ : ราชกำหนดกรุงกัมพูชา เรื่องการพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา)

ถ้าเป็นศพผู้ใหญ่ก็มักเอาผ้าขาวมาซับฝ่าเท้า ฝ่ามือ หรือหน้า เพื่อถอนเอารอยจากส่วนต่างๆนี้ให้ลูกหลานไว้บูชา ในราชสำนักวิธีการดังกล่าวยังไม่ปรากฏเป็นลายลักษณะอักษรเด่นชัด เนื่องจากถือเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เตรียมงานพระศพพระองค์เจ้าอรุณ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๔ (จ.ศ.๑๒๐๓) ระบุให้เจ้าพนักงานวิเสทนอกตำขมิ้นและมะกรูดส่งให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศพและพระศพ

ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวิธีสรงน้ำพระบรมศพหรือพระศพแต่โบราณนั้น คงเป็นเช่นเดียวกันกับพิธีศพของราษฎรที่ใช้ขมิ้นกับมะกรูดขัดสีร่างกาย ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาจาก คำให้การชาวกรุงเก่า อธิบายวิธีการไว้ดังนี้ “เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้ คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายพระสุคนธ์ สรงพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทม มีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้ จนถึงเวลาสรงพระบรมศพ

ครั้นสรงเสร็จแล้วถวายภูษาอาภรณ์ ทรงพระบรมศพ และทรงสังวาลและพระชฎา ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท




การตั้งแต่งอันสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา

สำหรับพิธีของราชสำนักจะเตรียมการเมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลง ด้วยการจัดแต่งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆในด้านสถานที่คงเป็นไปตามความสะดวกและพระเกียรติยศ เช่น การสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เวลา ๔ โมงเช้า กระทำบนพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นที่สวรรคตถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกให้ฝ่ายในสรงน้ำพระบรมศพประทับบนพระแท่นที่เคยบรรทม มีสมเด็จพระบรมราชเทวีประทับเป็นองค์ประธาน จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาได้เชิญพระบรมศพไปที่ห้องบรรณาคมจัดบรรทมบนพระแท่นทอง ที่นำมาจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าถวายน้ำสรงทั่วกัน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการนี้ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ให้รายละเอียดการตั้งแต่งสถานที่และเครื่องใช้ต่างๆ ที่จัดภายในพระที่นั่งพิมานรัตยา ว่ามีการเตรียมพระแท่นปิดทองลายเท้าสิงห์ปูพรมลาดพระสุจหนี่เยียรบับ ทอดพระยี่ภู่พระเขนยผ้าสีขาวสำหรับสรงพระบรมศพ ซึ่งบรรทมหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ที่ด้านเหนือพระเศียรตั้งม้าหมู่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์ประจำพระชนมวาร ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย ๑ เครื่อง และพานตั้งทองคำดุนสำหรับถวายปิดพระพักตร์ ซองพลูทองคำลงยา มีดอกบัว ธูปไม้ระกำ เทียน อย่างละ ๑ สิ่ง สำหรับถวายพระพนม (พนมมือ) และพระชฎาทองคำลงยา สวมเวลาเชิญลงสู่พระโกศ พร้อมกับลาดพระสุจหนี่ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นมณฑล พร้อมด้วยเครื่องทองน้อย ๒ เครื่อง




พระชฎา แผ่นทองจำหลักปิดพระพักตร์ ซองพระศรี และพระสางไม้
(ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
เล่ม ๑ โดยกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙)

ส่วนเครื่องใช้สำหรับการพระราชพิธีครั้งนี้ อาทิ หม้อน้ำทองคำลงยา บรรจุน้ำสรง ผอบทองคำลงยาใส่น้ำขมิ้น น้ำพระสุคนธ์ อย่างละ ๑ สิ่ง พระโกศและพระลองทองใหญ่ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพุ่ม เฟื่องพู่ ดอกไม้ฝา และดอกไม้เอวพร้อม พระภูษาฉลองพระองค์ยกทองพื้นสีขาว เครื่องพระสุกำสำหรับทรงพระบรมศพ เป็นต้น อุปกรณ์และเครื่องใช้ที่ปรากฏล้วนจำเป็นสำหรับการพระราชพิธีในส่วนนี้และทำให้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาแต่โบราณราชประเพณี

น่าสังเกตว่าการถวายน้ำสรงพระบรมของพระมหากษัตริย์จะถวายบริเวณพระบาท ต่างกับสามัญชนที่รดน้ำลงบนฝ่ามือ คงเนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่มีสถานะสูงสุดแห่งแผ่นดิน การที่บุคคลมีศักดิ์ต่ำกว่าจะถวายสิ่งของต่อพระหัตถ์โดยตรงจึงไม่สมควร ในกรณีนี้ยังรวมถึงสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระราชชนนี และพระราชินี ด้วย ลำดับของพระอิสริยยศและฐานันดรจึงเป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งถวายน้ำสรงพระบรมศพ บางครั้งมีการถวายน้ำสรงต่างกันในคราวเดียว เห็นได้จากงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับน้ำสรงจากเจ้าพนักงานทรงถวายน้ำสรงบนพระอุระ

ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำสรงที่พระบาทพระบรมศพ ทั้งสองพระองค์ทรงกราบราบที่หน้าพระแท่นแล้วเสด็จฯ ไปประทับที่พระราชอาสน์นอกพระฉาก จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถวายน้ำสรงพระบรมศพที่พระบาท ขณะถวายน้ำสรงนั้น เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หยุดประโคมเมื่อประดิษฐานพระโกศพระบรมศพที่แท่นสุวรรณเบญจดลเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นขั้นตอนการสาง (หวี) พระเกศา (ผม) โดยใช้พระสางไม้ที่เจ้าพนักงานเตรียมไว้ มีวิธีการสาง (หวี)

เริ่มจากสางพระเกศาขึ้นครั้งหนึ่ง ลงครั้งหนึ่ง แล้วสางกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงหักพระสางวางไว้ที่พานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

วิธีการลักษณะนี้กระทำพอเป็นพิธีในเชิงปริศนาธรรม เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงาม และเป็นเครื่องหมายว่าหมดประโยชน์ไม่มีความเป็นจำเป็นต้องแต่งกายใดๆ ส่วนพระสางที่หักแสดงว่าไม่ต้องการใช้พระสางนั้นอีกแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นพิธีสุกำศพ (ใส่เครื่องแต่งกายและมัดตราสัง) ก่อนอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงสู่พระโกศเพื่อประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดลในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือสถานที่อื่นตามความเหมาะสมเป็นลำดับต่อไป


ทีมา : มติชนออนไลน์




สรงน้ำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งราชกรัณยสภา ไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยา เสด็จฯ ขึ้นทางบันไดพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งพระบรมศพบรรทมอยู่บนพระแท่น จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย กราบถวายบังคมพระบรมศพ ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์จากเจ้าพนักงาน ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ กราบถวายบังคมพระบรมศพ

จากนั้นทรงรับหม้อน้ำพระสุคนธ์ โถน้ำขมิ้นและโถน้ำอบไทยจากเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ จากนั้นทรงหวีเส้นพระเจ้าขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหวีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วหักพระสางนั้น วางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เชิญพระหีบพระบรมศพมาเทียบที่พระแท่นบรรทมพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทับทอดพระเนตรการย้ายพระบรมศพลงพระหีบ

เจ้าพนักงานถวายซองพระศรี บรรจุดอกบัวและธูปเทียน ทรงวางซองพระศรี บรรจุดอกบัวและธูปเทียน แล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน ทรงรับและทรงวาง แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ แล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน ทรงรับพระชฎาห้ายอด ทรงวางข้างพระเศียรแล้วพระราชทานคืนเจ้าพนักงาน จากนั้นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ๑๐ นาย เชิญพระหีบพระบรมศพ มีตำรวจหลวงนำ ๔นาย ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จตามพระบรมศพ ประทับยืนที่หน้าพระราชอาสน์


ก่อนเสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลาที่หน้าพระโกศพระบรมศพ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเครื่องราชสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ บูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตร ๑๐ ไตร  ทรงหลั่งทักษิโณทก เสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าพระแท่นเศวตฉัตร

จากนั้นเสด็จฯ ไปที่หน้าพระบรมโกศพระบรมศพ ทรงกราบ ทรงรับการถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯ ผ่านแถวข้าราชการ ผู้มาเฝ้าฯ ไปที่พระแท่นเตียงพระพิธีธรรม ด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียน เครื่องบูชากระบะมุขที่หน้าเตียงพระสวดพระอภิธรรม เสด็จออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทลงทางบันไดมุขกระสันทางทิศเหนือ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูกำแพงแก้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต






Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ตุลาคม 2559 10:14:52 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 ตุลาคม 2559 09:33:20 »



เปิดข้อมูลโบราณราชประเพณี
๒.ราชประเพณี "พระบรมศพ"
จากยุคสุโขทัย ถึง รัตนโกสินทร์

หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๑๘๘๘ พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ว่า

“เมื่อนั้น จิงพระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ ก็ทิพธรชงคต พิธรชะโลม
ด้วยกระแจะจวงจันทน์ แลจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพ
พระญาจักรพรรดิราชนั้น แล้วจึงเอาสำลีอันดีด้วยสะพัดได้แลร้อยคาบ
มาห่อชั้นหนึ่ง แล้วเอาผ้าขาวอันละเอียดมาห่อชั้น ๑ เล่า แล้วเอาสำลี
อันละเอียดมาห่อเล่าดังนั้น นอกผ้าตราสังทั้งหลายเป็น ๑๐๐๐ ชั้น

คือว่าห่อผ้า ๕๐๐ ชั้น แลสำลีอันอ่อนนั้นก็ได้ ๕๐๐ ชั้น จิงรดด้วย
น้ำหอมอันอบแลได้ ๑๐๐ คาบ แล้วเอาใส่ในโกศทองอันประดับ
นิคำถมอ แลรจนาด้วยวรรณลวดลายทั้งหลายอันละเอียดนักหนา
แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้าแล้วบูชาด้วย
เข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลาย
จิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์
แทบทางพบแห่งกลางเมืองนั้น แต่ให้คนทั้งหลายไปไหว้นบบูชา…”

ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวเฉพาะลักษณะพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรม การสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง ๒ เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่ กล่าวคือ

“ขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น ๑๑ วาศอกคืบ
มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณ
วิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง”

ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิง แห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนอย่างมากในรัชกาลที่ ๕ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง ๒ เส้นดังแต่กาลก่อน ครั้นรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา

การสร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิงจะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้น ๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขา สัตตบริภัณฑ์

ดังนั้นจึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระเมรุนั้นเอง สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังเช่น โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์ บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ


จากเว็บไซต์กรมศิลปากร
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.422 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 07 พฤษภาคม 2567 10:39:16