[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 พฤษภาคม 2567 04:15:26 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๘ วิธีสร้างทิพยอำนาจ ทิพพโสต หูทิพย์  (อ่าน 1159 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5081


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2559 03:15:33 »



ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๘

วิธีสร้างทิพยอำนาจ ทิพพโสต หูทิพย์


ทิพยอำนาจข้อนี้ หมายถึงความสามารถรับฟังเสียง ๒ อย่าง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ ทั้งในที่ใกล้ ทั้งในที่ไกล ด้วยโสตธาตุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินกว่าโสตธาตุของมนุษย์ ท่านเรียกชื่อทิพยอำนาจข้อนี้ว่า ทิพพโสตธาตุญาณ แปลว่าความรู้ทางโสตธาตุญาณทิพย์บริสุทธิ์บ้าง เรียกสั้นๆ ดังตั้งเป็นหัวข้อข้างบนนี้บ้าง รวมใจความเข้าก็คือ หูทิพย์นั่นเอง.

ธาตุวิเศษในร่างกายมนุษย์ ซึ่งสามารถรับรู้สิ่งที่เป็นวิสัย ท่านจัดไว้ ๖ ประการ คือ

๑. จักขุธาตุ ธาตุตา มีความสามารถในการเห็นรูป.

๒. โสตธาตุ ธาตุหู มีความสามารถในการฟังเสียง.

๓. ฆานธาตุ ธาตุจมูก มีความสามารถในการดมกลิ่น.

๔. ชิวหาธาตุ ธาตุลิ้น มีความสามารถในการลิ้มรส.

๕. กายธาตุ ธาตุกาย มีความสามารถในการรับสัมผัสสิ่งซึ่งมาสัมผัส และ

๖. มโนธาตุ ธาตุใจ มีความสามารถรับรู้ธรรม คือสิ่งที่เกิดขึ้นทางใจ.

ธาตุเหล่านี้ท่านเรียกว่า อินทรียธาตุ แปลว่าธาตุคืออินทรีย์ หรือธาตุที่เป็นใหญ่ ท่านว่าเป็นผลของกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อน ผู้ทำบุญไว้ก็ได้ธาตุเหล่านี้สมบูรณ์ดี ผู้ทำบาปไว้ก็ได้ธาตุเหล่านี้บกพร่อง ธาตุทั้ง ๖ นี้จึงมีดีเลวตามลักษณะของบุญบาป ซึ่งเป็นผู้แต่ง อารมณ์อันเป็นวิสัยของธาตุทั้ง ๖ นั้น ท่านก็จัดไว้ ๖ ประการเช่นเดียวกัน คือ

๑. รูปธาตุ ธาตุรูป อันเป็นวิสัยของตาจะพึงเห็น

๒. สัททธาตุ ธาตุเสียง อันเป็นวิสัยของหูจะพังฟัง

๓. คันธธาตุ ธาตุกลิ่น อันเป็นวิสัยของจมูกจะพึงดม

๔. รสธาตุ ธาตุรส อันเป็นวิสัยของลิ้นนะพึงลิ้ม

๕. โผฏฐัพพธาตุ ธาตุที่พึงถูกต้อง อันเป็นวิสัยของกายจะพึงสัมผัส

๖. ธัมมธาตุ ธาตุธรรม อันเป็นวิสัยของใจจะพึงรู้.

ธาตุทั้ง ๖ นี้ ย่อมมีทั้งในร่างกายตัวเอง ทั้งในร่างกายของผู้อื่น สิ่งอื่น เมื่อมาสัมผัสกับธาตุภายในทั้ง ๖ นั้น จะเกิดเป็นกระแสสะเทือนใจ ก็ต่อเมื่อวิญญาณธาตุ คือธาตุรับรู้อารมณ์ซึ่งมีประจำทวาร ๖ ทำหน้าที่รับรู้เสียก่อน ถ้าวิญญาณธาตุไม่ทำหน้าที่รับรู้แม้จะได้เห็นได้ยินเป็นต้นก็สักว่าได้เห็นได้ยินเป็นต้นเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจแต่ประการใด เช่น ในเวลาเรากำลังคิดอะไรเพลินๆ อยู่ มีอะไรมาผ่านสายตาเราเราก็เห็น แต่ไม่รู้สึกวิเศษขึ้นไปกว่านั้น ฉะนั้นวิญญาณธาตุจึงเป็นสื่อสำคัญที่ให้เกิดความสะเทือนใจที่เรียกว่าผัสสะ วิญญาณธาตุนี้ท่านก็จัดเป็น๖ และเรียกชื่อตามทวาร ๖ เช่น จักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น ๖ คูณด้วย ๓ จึงเป็น ๑๘ ธาตุนี้จัดเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาที่พึงทำการศึกษาสำเหนียกให้รู้แจ้งเห็นจริง เพื่อทำลายรังของอวิชชาเพราะว่าเมื่อไม่รู้แจ่มแจ้งธาตุ ๑๘ ประการนี้แล้ว มักหลงใหลใฝ่ฝันและสำคัญผิดในธาตุ ๑๘ นี้ ซึ่งเป็นสายชนวนแห่งทุกข์ในสังสารวัฏสืบไปไม่รู้จักสิ้นสุด เมื่อศึกษาให้รู้จริงในธาตุ ๑๘ นี้แล้วอวิชชาในธาตุ ๑๘ นี้ก็เป็นอันถูกทำลายไป สายชนวนแห่งทุกข์ก็ขาดสะบั้นลง เพราะเหตุนี้ท่านจึงให้ศึกษาสำเหนียกธาตุ ๑๘ นี้ให้รู้แจ้งเห็นจริงเป็นทางเรืองปัญญา.

บรรดาธาตุ ๑๘ ประการนั้น มโนธาตุคือธาตุใจหรือธาตุรู้เป็นตัวการสำคัญที่สุด ในการก่อให้เกิดสุขขึ้นในตน ถ้าใจรู้จักตัวเองดี ใจก็ไม่ก่อทุกข์แก่ตัว ถ้าใจไม่รู้จักตัวเองดี มักก่อทุกข์ใส่ตัวฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนหนักในทางให้รู้จักใจตามความเป็นจริง เพราะว่า เมื่อรู้จักใจตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะรู้จักสิ่งอื่นง่ายขึ้น ในการฝึกเพื่อทิพพโสตธาตุนี้ทางพระพุทธศาสนาก็แนะนำให้ฝึกใจก่อน แล้วจึงให้หันมากำหนดสำเหนียกเสียง เพื่อรับฟังด้วยโสตธาตุอีกทีหนึ่ง เหตุไรทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมให้ฝึกใจก่อนฝึกประสาททั้ง ๕ เป็นเรื่องควรพิจารณา ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ใจเป็นจุดศูนย์กลางที่รวมของความดี-ความชั่ว ใจเป็นผู้ทำดีทำชั่วก่อนสิ่งอื่นเมื่อใจดีก็บังคับกายวาจาให้ทำดี เมื่อใจชั่วก็บังคับกายวาจาให้ทำชั่ว ใจเองเป็นผู้ดี-ผู้ชั่ว และเป็นผู้เสวยผลของความดี-ความชั่วที่ตัวทำไว้ ฉะนั้น ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรได้รับการศึกษาอบรมให้ดีที่สุดก่อนสิ่งอื่น เมื่อใจได้รับการอบรมดีแล้ว ใจจะเป็นที่ตั้งแห่งทิพยภาวะ คือสิ่งเป็นทิพย์ทั้งปวง จะเกิดมีทิพยอินทรีย์ และทิพยอำนาจโดยลำดับ เมื่อมีทิพยสมบัติเหล่านี้สมบูรณ์ในใจแล้วย่อมสามารถรับรู้ทิพยวิสัยทั้งปวงได้เกินกว่าทิพยโสตเสียอีก ด้วยเหตุนี้ทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมให้ฝึกใจก่อนฝึกประสาท.

วิธีการฝึกใจเพื่อให้เป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจนี้ ทางพระพุทธศาสนาสอนให้อาศัยอิทธิบาทภาวนา อบรมใจจนได้สมาธิ เข้าถึงขีดขั้นของฌานที่ ๔ ดังได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่บทที่ ๑ ถึงบทที่ ๔ใจที่สงบเข้าถึงขีดขั้นของฌานที่ ๔ เป็นใจที่สมบูรณ์ด้วยทิพยภาวะ ย่อมมีทิพยอินทรีย์สามารถรับรู้ทิพยวิสัยทั้งปวง ถ้าน้อมใจไปเพื่อรู้ในทางใดก็จะรู้ในทางนั้นได้ทุกทาง คือ น้อมใจไปในทางเห็นรูปก็จะเกิดตาทิพย์สามารถเห็นรูปทั้งรูปทิพย์และรูปมนุษย์ได้ น้อมใจไปในทางฟังเสียงก็จะเกิดหูทิพย์สามารถฟังเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ น้อมใจไปในทางดมกลิ่นก็จะเกิดฆานทิพย์สามารถสูดดมกลิ่นทิพย์และกลิ่นมนุษย์ได้ น้อมใจไปทางลิ้มรสก็จะเกิดชิวหาทิพย์สามารถลิ้มรสทิพย์และรสมนุษย์ได้ น้อมใจไปในทางสัมผัสก็จะเกิดกายทิพย์สามารถรับสัมผัสทิพย์และสัมผัสมนุษย์ได้ตกลงว่า สามารถปลูกสร้างทิพยอินทรีย์ขึ้นใช้ได้ทุกประการ.

อนึ่ง เมื่อศึกษาอบรมใจจนได้สมาธิเข้าถึงขีดขั้นของฌานที่ ๔ แล้ว จะรู้ว่าใจกับกายเป็นคนละส่วน สามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาด ความรู้นี้เป็นปัจจัยให้เกิดทิพยอำนาจ สามารถถอดจิตออกจากกายไปได้ เนรมิตรูปกายขึ้นอีกกายหนึ่งต่างหากจากกายเดิม ซึ่งมีลักษณะละม้ายเหมือนกายเดิมที่สุด แล้วใช้ไปบำเพ็ญประโยชน์ในที่ไกลได้ ดังได้กล่าวมาแล้วในบทที่ ๖ คือมโนมัยฤทธิ์ เมื่อใจสามารถไปบำเพ็ญประโยชน์ในที่ไกลได้เช่นนั้น ใจก็ต้องมีอินทรีย์ทุกส่วนเช่นเดียวกับกายนี้ เป็นความรู้สำหรับเป็นปัจจัยให้เกิดทิพยอำนาจข้อนี้ (คือ ทิพพโสตธาตุ) เมื่อรู้ว่าใจมีทิพยอินทรีย์เช่นนี้แล้วย่อมสะดวกที่จะฝึกฟังเสียงในลำดับต่อไป.

อนึ่ง เมื่อมโนธาตุ คือธาตุใจได้รับการฝึกฝนอบรมดีเช่นนั้น ขณะเดียวกันจักขุธาตุ โสตธาตุฆานธาตุ ชิวหาธาตุ และกายธาตุ อันเป็นส่วนรูปกาย ก็พลอยได้รับการฝึกฝนอบรมไปด้วยในตัวจะเกิดเป็นธาตุผ่องใสขึ้นกว่าปกติ สามารถรับรู้อารมณ์อันเป็นวิสัยของตนได้ดีกว่าปกติธรรมดาคนตาฝ้าฟางเมื่อได้รับอบรมทางจิตใจมากขึ้นจนเป็นสมาธิ ตาจะหายฝ้าฟาง คนหูตึงจะเกิดมีหูดีขึ้น คนจมูกด้านก็จะเกิดจมูกดีขึ้น คนลิ้นชาก็จะเกิดลิ้นดีขึ้น คนกายชาก็จะเกิดกายดีขึ้น การฝึกจึงเป็นประโยชน์แม้แก่ทางกายด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะสนใจศึกษาอบรมใจให้ดี ทางโยคีก็คงจะทราบเหตุผลอย่างนี้เหมือนกัน จึงวางวิธีฝึกเพื่อทิพยอำนาจไว้ว่า การตั้งสังยมะในประสาททั้ง ๕ จะบังเกิดผลทำให้ประสาททั้ง ๕ ผ่องใส สามารถรับสัมผัสได้ดี และอาจสามารถรับสัมผัสทิพยวิสัยได้ด้วย ดังนี้ วิธีการทางพุทธศาสนาพุ่งสู่จุดศูนย์กลางคือใจก่อนอื่นให้ฝึกใจให้ดีแล้วจึงฝึกกาย ส่วนวิธีการทางโยคีพุ่งไปตามจุดที่หมายจะให้เกิดทิพยอำนาจประการนั้นๆ ทีเดียว ความแตกต่างทางพุทธศาสนากับทางโยคีเป็นเช่นนี้ ผู้ศึกษาพึงสำเหนียกไว้ด้วย.

ความสามารถในการฟังเสียงไกลและเสียงทิพย์นั้น เป็นวิสัยของทิพยอินทรีย์ มิใช่วิสัยของโสตประสาทธรรมดา ฉะนั้น โสตประสาทธรรมดาเราจะทำให้สามารถยิ่งไปกว่าธรรมดาเกินไปย่อมไม่อาจเป็นไปได้ เพราะประสาทรูปสามัญนั้นเป็นวิบากสมบัติ สำเร็จมาแต่กรรมหนหลัง จะให้มันดีวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่ากำลังกรรมซึ่งเป็นผู้ตกแต่งสร้างกรรมนั้นย่อมไม่ได้อยู่เอง เพียงแต่ทำให้ดีขึ้นกว่าปกติได้บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนทิพยอินทรีย์นั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถจะแต่งสร้างเพิ่มเติมให้ดีวิเศษยิ่งขึ้นไปเท่าไรก็ได้ เพราะเป็นวิสัยของใจ เป็นสิ่งมีในใจหรือเป็นสิ่งประกอบกับใจ เป็นอินทรีย์ที่เนื่องกับใจเสมอไป ถ้าได้รับการฝึกฝนอบรมดีเป็นใจผ่องใส ทิพยอินทรีย์ก็ผ่องใสไปด้วยถ้าใจได้รับอบรมดียิ่งเป็นใจวิเศษเป็นแก้วได้แล้ว ทิพยอินทรีย์ก็ผ่องใสที่สุด เป็นอินทรีย์แก้วทีเดียวฉะนั้น จุดของการฝึกเพื่อรับฟังเสียงไกลและเสียงทิพย์นั้นจึงอยู่ที่จิตใจโดยตรง เมื่อฝึกจิตใจให้เป็นสมาธิขั้นจตุตถฌานได้แล้วชื่อว่าบรรลุถึงภูมิทิพย์ ย่อมมีทิพยภาวะ มีทิพยอินทรีย์สมบูรณ์พอที่จะฝึกเพื่อฟังเสียงต่อไปได้.

จิตใจเป็นธรรมชาติแปลกประหลาด ที่มีความสามารถทั้งในการเห็น การฟังเสียง การดมกลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการรับรู้อารมณ์ เท่ากับมีอินทรีย์ทั้ง ๖ พร้อมมูลที่ดวงจิตนั้นเองฉะนั้น เมื่อจิตใจบรรลุถึงภูมิทิพย์เมื่อไร ทิพยอินทรีย์ทั้ง ๖ ก็มีบริบูรณ์ขึ้นเมื่อนั้น ท่านจะฝึกอินทรีย์ในทางเห็น ทางฟัง ก็ย่อมจะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ ทีนี้มีปัญหาต่อไปว่า ทิพยวิสัยคือแดนทิพย์หรือสิ่งเป็นทิพย์นั้นคืออะไร? มีจริงหรือไม่? เป็นปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไป.

ทิพยวิสัยนั้น คือ สิ่งที่ละเอียดประณีต มองเห็นไม่ได้ด้วยตาธรรมดา ได้ยินไม่ได้ด้วยหูธรรมดา ได้กลิ่นไม่ได้ด้วยจมูกธรรมดา ได้รสไม่ได้ด้วยลิ้นธรรมดา รู้สึกสัมผัสไม่ได้ด้วยกายธรรมดารู้ไม่ได้ด้วยใจหยาบๆ เป็นวิสัยที่จะรับรู้ได้ด้วยทิพยอินทรีย์โดยเฉพาะ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปแม้ในโลกคือพิภพที่เราอาศัยอยู่นี้เอง หากแต่เป็นคนละแดน คนละวิสัย จึงไม่สามารถเห็นกันได้ ส่วนแดนทิพย์ที่แท้จริงนั้นอยู่ห่างไกลจากโลกของเราออกไปในทางสูงมากที่สุด ประมาณระยะทางไม่ถูกว่าเท่าไร คือ อากาศผิวโลกที่เราอยู่นี้ย่อมได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์คนละเวลา คือพระอาทิตย์ส่องโลกเวลากลางวัน พระจันทร์ส่องโลกเวลากลางคืน แดนที่ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปถึงได้จัดว่าเป็นโลกมนุษย์ พอพ้นรัศมีของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไปนั้นจะถึงพิภพมืดอากาศทึบ เป็นแดนของราหูอสุรินทร์ เป็นแดนที่มีอาณาเขตกว้างไกลมิใช่น้อย เมื่อพ้นแดนมืดไปจึงจะถึงแดนทิพย์ มีแสงสว่างต่างสีมีรัศมีเย็นชื่นใจ ไม่มีความร้อนแผดเผาเหมือนในแดนมนุษย์แดนทิพย์นี้ก็กว้างขวางและเป็นชั้นสูงต่ำลดหลั่นกัน มีรัศมีสีสันต่างกันด้วย ความใหญ่ยิ่งต่ำต้อยของเทพเจ้าในแดนทิพย์นี้เขาสังเกตกันได้ด้วยรัศมีสีสันนั่นเอง ย่อมเคารพนับถือยำเกรงกันด้วยศักดานุภาพแห่งรัศมีสีสัน มิได้เคารพนับถือยำเกรงกันประการอื่น ฉะนั้น เราจึงได้ทราบจากพระประวัติของพระบรมศาสดาว่า ถ้ามีเทพเจ้ามาเฝ้า เทพเจ้าคนใดศักดาน้อยก็ถอยออกไปๆ บางทีจนถึงสุดขอบจักรวาลก็มี การกำหนดขอบจักรวาลนี้มิได้หมายถึงสุดแผ่นดิน หมายถึงสุดรัศมีแห่งโลกที่แสงจันทร์อาทิตย์ส่องถึง เลยนั้นไปต้องถือว่าเป็นจักรวาลอื่น มิใช่จักรวาลนี้ โลกที่เราอยู่นี้ท่านเรียกว่ามงคลจักรวาล เป็นแดนที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้โปรดสัตว์ได้ ส่วนจักรวาลอื่นๆท่านว่าไม่มีพระพุทธเจ้าไปตรัสรู้โปรดสัตว์เหมือนในจักรวาลนี้ จะได้ติดตามเรื่องแดนทิพย์ต่อไปต่อจากแดนสวรรค์ไปทางสูงด้านเหนือจะพบแดนอีกแดนหนึ่งซึ่งมีแสงสว่างแจ่มจ้า ยิ่งกว่าแดนสวรรค์ เป็นแดนแห่งความสงบสุข ปราศจากความโกลาหลวุ่นวายด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ต่างคนต่างอยู่ด้วยความสงบสุข ปราศจากการวิวาทชิงดีกัน แดนนี้เรียกว่า พรหมโลก เมื่อแดนทิพย์คือโลกสวรรค์และโลกพรหม อยู่ในที่ห่างไกลจากโลกมนุษย์ถึงเพียงนี้ จึงมิใช่วิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถผ่านไปถึงได้ ที่มีผู้เขียนเรื่องถากถางเยาะเย้ยศาสนาที่พรรณนาว่าโลกสวรรค์อยู่บนฟ้านั้นเมื่อเขาสามารถทำอากาศยานผ่านไปในฟ้าได้ เขาจึงพูดว่าไม่เห็นสวรรค์วิมานที่ไหนในฟ้า มีแต่อากาศเวหา เวิ้งว้างว่างเปล่า เอาอากาศยานผ่านไปก็ไม่ติดขัด แต่ความจริงอากาศยานไปได้ไม่ถึงครึ่งฟ้าเสียด้วยซ้ำ จะคุยโตว่าผ่านไปในฟ้าไม่เห็นมีสวรรค์วิมานเมืองแมนที่ไหนนั้น เป็นการคุยอย่างคนตาบอดนั่นเอง ซึ่งเมื่อคนตาดีได้ฟังแล้วก็อดขันไม่ได้ฉะนั้น.

เทพเจ้าในแดนสวรรค์และแดนพรหม ที่รวมเรียกว่าแดนทิพย์มีจริงหรือไม่เพียงไรนั้น จะชี้เหตุผลไว้แต่โดยสังเขป ธาตุที่ประกอบกันเข้าเป็นองค์เทพเจ้านั้น เป็นธาตุทิพย์ซึ่งละเอียดยิ่งกว่าอุตุธาตุโนโลกมนุษย์หลายพันเท่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมิใช่วิสัยแห่งตาธรรมดาจะพึงเห็นได้ ไม่ต้องพูดไกลแค่แต่ธาตุในอากาศนี้เอง ตาธรรมดาก็มองไม่เห็นเสียแล้ว ธาตุในอากาศเป็นอุตุธาตุนักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู ก็เห็นอินทรีย์ชนิดหนึ่งเล็กมาก รู้จักเป็นรู้จักตายเหมือนชีวะทั้งหลาย จึงเรียกว่าจุลินทรีย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะอวดอ้างเอาสายตาธรรมดามาเป็นเครื่องวัดว่ามี-ไม่มี ด้วยการเห็น-ไม่เห็น ย่อมไม่ได้อยู่เอง ถ้าเราไม่รู้เรายอมรับว่าไม่รู้ยังดีกว่าที่จะอวดรู้ในสิ่งที่ตนไม่สามารถรู้ แล้วกล่าวปฏิเสธหรือทับถมศาสนา ซึ่งเป็นการละเมิดมรรยาทแห่งสุภาพชน.

เมื่อธาตุที่ประกอบกันเข้าเป็นองค์เทพเจ้าละเอียดยิ่งเช่นนั้น องค์เทพเจ้าจึงมิใช่วิสัยแห่งอินทรีย์ธรรมดาจะพึงรับรู้ เป็นวิสัยแห่งทิพยอินทรีย์จะพึงรับรู้โดยเฉพาะ ทีนี้ลองถอยลงมาพิจารณาดูสิ่งที่มีในผิวโลกเรานี้อีกที นอกจากมนุษย์กับสัตว์ดิรัจฉานที่เราเห็นกันอยู่แล้วมีอะไรอีกอย่างดีที่สุดมนุษย์นักวิทยาศาสตร์บอกได้แค่จุลินทรีย์ในอากาศ ซึ่งคนธรรมดาไม่เห็น แต่ก็รับรองกันว่ามีจริง เพราะเชื่อภูมิของนักวิทยาศาสตร์ ส่วนทางศาสนาบอกได้ว่า มีพวกอทิสสมานกายซึ่งมีรูปร่างละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความเป็นอยู่คล้ายมนุษย์ และปนเปอยู่ในหมู่มนุษย์ก็มี อยู่ห่างออกไปจากแดนมนุษย์ก็มี พวกนี้มิใช่พวกทิพย์แท้ เพราะรูปกายหยาบกว่าพวกทิพย์ มีความเป็นอยู่ต่ำทรามกว่าพวกทิพย์ จะเรียกว่าครึ่งมนุษย์ครึ่งทิพย์ก็ได้ ทางศาสนาเรียกอีกชื่อว่าอมนุษย์ แปลว่า แม้นมนุษย์ คือคล้ายคลึงกับมนุษย์นั่นเอง คำสามัญที่รู้กันทั่วไปสำหรับเรียกพวกนี้ว่า ผีคือไม่รู้ว่าอะไร ชักให้สงสัยและถามกันเสมอว่าอะไรๆ นั่นเอง แม้พวกนี้มนุษย์สามัญก็ไม่ค่อยเห็นมีเห็นได้บางครั้งบางคราว ผู้ได้เห็นแล้วย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีผี แต่ผู้ไม่เห็นก็ไม่อยากเชื่อว่ามี ถึงอย่างนั้นก็น้อยคนที่ไม่กลัวผี ทั้งๆ ที่ตนเองปฏิเสธว่าไม่มีนั่นเอง ถ้าไม่เชื่อข้อความนี้ โปรดไปเยี่ยมป่าช้าในเวลาดึกสงัดดูบ้าง ท่านจะเกิดความหวาดเสียว ขนลุกเกรียวขึ้นได้อย่างประหลาด ทั้งๆ ที่ใจของเราไม่เชื่อว่ามีผี ข้าพเจ้าจะยอมยกให้เฉพาะผู้ได้อบรมจิตใจอย่างดีจนทราบความจริงเรื่องนี้และกำจัดความขลาดกลัวจากสันดานได้แล้วเท่านั้นที่ไม่รู้สึกกลัว ในเมื่ออยู่ในป่าช้าเปลี่ยวๆ คนเดียวในเวลาดึกสงัด มนุษย์ธรรมดานอกนี้ต่อให้ใจแข็งเท่าแข็งก็จะอดหวาดสะดุ้งไม่ได้เลย ก็เมื่อใจของท่านไม่ยอมเชื่อว่ามีผี ทำไมท่านจึงกลัวในป่าช้าเวลาดึกสงัด อะไรทำให้ท่านกลัว? ถ้าไม่มีอะไรท่านกลัวทำไม? ปัญหาเหล่านี้ท่านจะตอบไม่ได้เลย จนกว่าท่านจะรับรองว่ามีผีจริงๆ เรื่องผีมีหรือไม่? เป็นปัญหาประจำโลก ถึงอย่างนั้นก็มีมนุษย์ไม่น้อยที่ยอมรับว่ามีผี และมีการทรงเจ้าเข้าผี แม้ในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วก็ยังมีการทรงเจ้าเข้าผี บางประเทศถึงกับมีสมาคมค้นคว้าเรื่องวิญญาณของผู้ตายแล้ว แต่หนักไปทางทรงเจ้าเข้าผี จึงยังไม่เป็นที่เลื่อมใสของนักวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก ถ้าสมาคมค้นคว้าวิญญาณนั้นหันมาศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนาจะได้ผลดีกว่าวิธีทรงเจ้าเข้าผีอย่างที่ทำกันอยู่ แต่ถ้าสมาคมนั้นได้ก้าวหน้าไปในทางที่ดีมีหลักวิชาและเหตุผลดีกว่าเดิม ข้าพเจ้าขออภัยด้วย.

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ลงข่าวผีหัวขาด เปล่งเสียงขอความช่วยเหลือในยามดึกสงัด ทำให้คนในละแวกนั้นบังเกิดความกลัว ไม่กล้าโผล่หน้าออกนอกบ้านตลอดคืน ถ้าผีไม่มี อะไรเล่าที่เปล่งเสียงขอความช่วยเหลือ? คล้ายเสียงมนุษย์ที่ถูกทำร้าย แล้วร้องขอความช่วยเหลือฉะนั้น มนุษย์ธรรมดาสามารถฟังเสียงผีได้ในบางคราว เช่นตัวอย่างที่ยกมานี้ ส่วนผู้มีทิพพโสตสามารถฟังเสียงผีได้ทุกเมื่อในเมื่อจำนงจะฟัง ตามเหตุผลและตัวอย่างที่กล่าวมานี้ พอจะทำให้ท่านผู้อ่านได้สำนึกบ้างแล้วว่า นอกจากมนุษย์และดิรัจฉานแล้วยังมีอมนุษย์และเทพเจ้าบนสวรรค์และพรหมโลกอีกด้วย.

เสียงของอมนุษย์เป็นเสียงดังกว่าเสียงทิพย์ ใกล้ไปทางเสียงมนุษย์ เพราะร่างของเขาหยาบและสัญญาของเขาก็คล้ายมนุษย์ กระแสเสียงของเขาจึงแรงกว่าเสียงทิพย์ หูมนุษย์ธรรมดาได้ยินในบางคราว ส่วนเสียงทิพย์เป็นเสียงที่แผ่วเบา เพราะร่างกายของเขาประณีต สำเร็จขึ้นด้วยใจหรือด้วยสัญญา หูมนุษย์ธรรมดาฟังไม่ได้ยิน ต้องฟังด้วยหูทิพย์จึงจะได้ยิน นอกจากนี้ยังมีเสียงธรรมอีกเป็นเสียงแผ่วเบายิ่งกว่าเสียงทิพย์หลายเท่า เสียงธรรมนี้เป็นเสียงของผู้บรรลุภูมิธรรมอันบริสุทธิ์ซึ่งละอัตภาพไปแล้ว ถ้าจะสมมติชื่อเรียกเสียใหม่ว่า เสียงแก้ว ก็เหมาะดี เพราะเป็นวิสัยแห่งหูแก้วจะฟังได้ยิน แม้หูทิพย์ก็ฟังไม่ได้ยิน ไม่ต้องกล่าวถึงหูมนุษย์ธรรมดาจะฟังได้ยิน ทีนี้ลองหันกลับมาสำเหนียกเสียงมนุษย์อีกที เสียงมนุษย์ที่พูดจาโดยปกติ ย่อมเป็นวิสัยของหูธรรมดาฟังได้ยิน เว้นแต่คนประสาทหูพิการ เสียงพูดย่อมมีค่อยมีแรงแล้วแต่กรณี ในกรณีที่ใช้เสียงแรงกระแสเสียงสามารถกระจายไปตามอากาศวิถีได้ราว ๑๐๐ เส้นเป็นอย่างมาก เช่น เสียงตะโกนอย่างสุดเสียงแต่โดยปกติไม่ถึงกำหนดที่ว่านี้ ส่วนเสียงคิดของคนเป็นเสียงแผ่วเบาคล้ายเสียงทิพย์ หูธรรมดาฟังไม่ได้ยิน ต้องฟังด้วยหูทิพย์จึงได้ยิน อย่าว่าแต่เสียงคิดเลยแม้เสียงเต้นตุ้บๆ แห่งหัวใจ หูมนุษย์ธรรมดาก็ฟังไม่ได้ยิน ต้องอาศัยเครื่องขยายเสียงฟังจึงได้ยิน กรณีในเสียงมนุษย์เช่นใด ในเสียงของสัตว์ดิรัจฉานก็เช่นนั้น พึงทราบโดยเทียบเคียง ดิรัจฉานบางจำพวกมีฤทธิ์ปิดบังตัวได้ก็มี เช่นนาค เราจะได้ยินแต่เสียงของเขา ไม่สามารถเห็นตัวเขาได้ ยังมีนาคบางกำเนิดเป็นอุปปาติกะคล้ายเทพเจ้า พวกนี้มีเสียงคล้ายเสียงทิพย์ รูปก็คล้ายรูปทิพย์ เป็นวิสัยแห่งทิพยอินทรีย์ เช่นเดียวกับรูปทิพย์-เสียงทิพย์ดังกล่าวแล้ว เมื่อได้กำหนดลักษณะเสียงไว้พอเป็นที่สังเกตเช่นนี้แล้ว ก็เห็นจะเพียงพอในการที่จะสำเหนียกว่าเสียงชนิดใดเป็นวิสัยแห่งหูชนิดใดแล้ว ต่อไปนี้จะได้อธิบายวิธีปลูกสร้างหูทิพย์เพื่อรับฟังเสียงทิพย์ดังกล่าวมา ท่านแนะวิธีไว้ในปฏิสัมภิทามรรค ดังต่อไปนี้

๑. เบื้องต้น พึงฝึกหัดทำใจให้เป็นสมาธิ โดยอาศัยกำลังของอิทธิบาท ๔ ประการ จนได้สมาธิถึงขั้นฌานที่ ๔ ที่เรียกว่าจตุตถฌาน อันมีลักษณะจิตใจผ่องใสนิ่มนวล ปราศจากเครื่องหมองมัวแล้ว.

๒. พึงเข้าสู่ความสงบจนถึงฌานที่ ๔ แล้วสำเหนียกฟังเสียงคน – สัตว์ดิรัจฉาน หรือเสียงใดๆ ในทิศทั้ง ๔ โดยรอบๆ ในระยะใกล้ๆ ตัวเสียก่อน แล้วจึงขยายออกไปโดยลำดับให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้จนถึงสุดขอบจักรวาลเป็นที่สุด.

๓. พึงเข้าสู่ความสงบจนถึงฌานที่ ๔ แล้วสำเหนียกฟังเสียแผ่วเบา เช่น เสียงเต้นแห่งหัวใจของตนเอง เสียงคล้ายทิพย์ เช่น เสียงความคิดของตนเองและเสียงผี เสียงทิพย์ เช่น เสียงเทพเจ้าในฉกามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้น และเสียงพรหมในพรหมโลก.

๔. พึงเข้าสู่ความสงบจนถึงฌานที่ ๔ แล้วสำเหนียกฟังเสียงแก้วด้วยหูแก้วต่อไป จนสามารถฟังได้ยินชัดเจนเหมือนฟังเสียงคนธรรมดาพูดกัน.

คำว่าสำเหนียกฟังเสียงนั้น หมายความว่า ทำสติจดจ่อฟังเสียง คือพุ่งสติไปรวมอยู่ที่โสตประสาท คอยฟังเสียงที่เป็นไปอยู่โดยธรรมชาตินั้นเอง. โสตประสาทจะค่อยๆ ผ่องขึ้นทีละน้อยๆโดยอาศัยสติสมาธิอบรม จะสามารถฟังเสียงได้ดีกว่าปกติขึ้น เมื่อกำหนดสำเหนียกโดยนัยนี้ไปไม่หยุดยั้งเสียกลางคันก็จะบังเกิดทิพพโสตธาตุขึ้น สามารถรับฟังเสียงในระยะไกลเกินปกติ และฟังเสียงทิพย์ได้โดยลำดับ ทีนี้พึงผ่อนกำลังของสติที่พุ่งไปสู่จุดคือโสตประสาทนั้นให้อ่อนลง ชักเข้ามากำหนดอยู่ ณ ท่ามกลางหทัยวัตถุต่อไป กระแสเสียงจะผ่านเข้าไปสัมผัสกับโสตธาตุทิพย์ ณ ดวงใจโดยตรง ไม่ต้องอาศัยโสตประสาทเป็นทางเข้าก็ได้ แม้จะอุดหูไว้ก็คงได้ยินด้วยโสตธาตุทิพย์อยู่ตามปกติ ชื่อว่าสำเร็จโสตธาตุทิพย์แล้ว มีทิพยอำนาจในทางฟังเสียงได้ทุกชนิด ส่วนขั้นหูแก้วนั้นพึงฝึกหัดต่อไป ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดยิ่งขึ้น จนมีลักษณะใสดุจแก้วมณีโชติเป็นปกติ ก็สามารถรับฟังเสียงแก้วได้ ชื่อว่าสำเร็จหูแก้ว แต่ขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุด ต้องผ่านการเจริญวิปัสสนาญาณด้วยจึงจะสำเร็จผลดี.

ข้าพเจ้ารับรองไว้ว่า วิธีดังกล่าวมานี้ เป็นไปเพื่อสำเร็จหูทิพย์ได้จริง และขอยืนยันด้วยว่าเป็นสิ่งไม่เกินวิสัย คนในสมัยปัจจุบันก็สามารถสำเร็จได้ แต่ไม่อาจหาพยานบุคคลมายืนยันได้เนื่องด้วยบุคคลผู้เช่นนี้ไม่ค่อยยอมแสดงตนโดยเปิดเผยประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งเป็นบุคคลที่มีกฎข้อบังคับมิให้แสดงตัวเปิดเผยในวิชาประเภทนี้ ผู้สนใจพิเศษในวิชาประเภทนี้ย่อมจะพบบุคคลผู้สำเร็จวิชาหรือทิพยอำนาจประเภทต่างๆ ดังที่กล่าวนี้ ในเมื่อทำตนให้เป็นที่ไว้วางใจของบุคคลประเภทนี้แล้ว ถ้ายังมีอะไรๆ แอบแฝงในใจอยู่ บุคคลประเภทนี้จะไม่แสดงอะไรให้ปรากฏว่าสำเร็จในวิชาประเภทนี้เลย.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-10.htm

ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11758.0.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๖ วิธีสร้างทิพยอำนาจ มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1307 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:11:16
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๗ วิธีสร้างทิพยอำนาจ เจโตปริยญาณ รู้จักใจผู้อื่น
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1828 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:14:03
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๙ วิธีสร้างทิพยอำนาจ บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1654 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:19:11
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๐ วิธีสร้างทิพยอำนาจ ทิพพจักขุ ตาทิพย์
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1704 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2559 21:25:46
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๒ วิธีสร้างทิพยอำนาจ อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 2 1875 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2559 23:18:45
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.576 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 เมษายน 2567 12:59:44