[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 พฤศจิกายน 2558 13:06:07



หัวข้อ: สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 พฤศจิกายน 2558 13:06:07
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34726016099254_t1.gif)
มหานครนิพพาน

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี
The Thonburi Version of the Pictorial Paper Book on “Trai Bhum”
---------- * ----------

 
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เป็นหนังสือสมุดไทยขาวที่ทำจากเยื่อเปลือกข่อยเนื้อดี มีสีขาวตามธรรมชาติของเยื่อเปลือกข่อย ขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นสมุดไทยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับเขียนเรื่องไตรภูมิ จึงกำหนดเรียกชื่อสมุดใหญ่ขนาดนี้ว่า สมุดไตรภูมิ ตามประวัติกล่าวว่า เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ

ความสำคัญที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของกรมศิลปากร อันเนื่องมาจากเป็นเอกสารต้นฉบับที่มีบานแพนก บอกเล่าถึงความเป็นมาของต้นฉบับ และมีภาพเขียนสีน้ำยาตามแบบไทยประเพณีเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในอุดมคติของสังคมไทยทั้งในภาคสวรรค์ เมืองพระนิพพาน และเมืองนรกขุมต่างๆ ตามขนาดของบาปกรรมและความชั่วที่คนกระทำขณะยังมีชีวิตอยู่

บานแพนกของสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของต้นฉบับดังกล่าวว่า เมื่อผ่านพุทธศักราช ๒๓๑๙ ไปได้ ๔ เดือนเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ทรงพิจารณาเรื่องราวในหนังสือไตรภูมิพระร่วงจนรู้แจ้งแล้ว มีพระราชประสงค์จะเผยแผ่ความรู้นี้ให้สามัญชนและประชนทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องภพภูมิทั้ง ๓ และคติทั้ง ๕ ซึ่งเป็นที่เกิดของเทวดา มนุษย์ นรก และหมู่อสูร เปรต รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งปวงโดยทั่วกัน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อัครมหาเสนาบดี ไปจัดหาหนังสือสมุดไทยชนิดที่มีคุณสมบัติดี ส่งไปให้ช่างเขียน เพื่อเขียนเรื่องไตรภูมิในพระอารามของสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชตรวจสอบ และบอกเนื้อหาเรื่องราวที่ปรากฏในพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้เข้าใจว่า คือ สมเด็จพระสังฆราช ศรี เดิมอยู่วัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงแตกหนีพม่าลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพบเมื่อเสด็จฯ ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จึงทรงนิมนต์มาอยู่วัดระฆัง แล้วทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๑ สิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72509970391790_t2.gif)
บานแพนกหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ

ต้นฉบับสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ แบ่งการสร้างสรรค์ผลงานเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เขียนภาพพระไตรภูมิ ซึ่งต้นฉบับใช้ว่า “เขียนแผนพระไตรภูมิ” ประกอบด้วย หลวงเพชรวกรรม นายนาม นายบุญษา และนายเรือง รวม ๔ คน ซึ่งตำแหน่งหลวงเพชวกรรมนี้ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง กฎหมายตราสามดวง ให้รายละเอียดข้อมูลว่า เป็นเจ้ากรมช่างเขียนขวา มีศักดินา ๘๐๐ ดังนั้น นายนาม นายบุญษา และนายเรือง น่าจะเป็นกลุ่มช่างสังกัดกรมช่างเขียนด้วยกันทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งเป็นอาลักษณ์ที่เขียนคำอธิบายด้วยตัวอักษรประกอบในเล่ม ซึ่งมีทั้งอักษรขอมและอักษรไทย ประกอบด้วย นายบุญจับ นายเชด นายเสน และนายทองคำ รวม ๔ คน

ข้อมูลในบานแพนกดังกล่าว บอกทั้งอายุของต้นฉบับว่าเป็นของที่สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงโดยศักราชที่ปรากฏ ทั้งยังบันทึกแบบพุทธศักราชและจุลศักราช ซึ่งเป็นศักราชที่นิยมใช้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาประกอบไว้โดยละเอียดให้สามารถสอบทานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังบอกมูลเหตุความเป็นมาของการสร้างต้นฉบับเล่มนี้ รวมถึงแจ้งรายนามช่างเขียนและอาลักษณ์ผู้บันทึกตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน เป็นเครื่องแสดงความเป็นต้นฉบับหลวงโดยแท้จริงอย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอันใดทั้งสิ้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18166832874218_t3.gif)
       สัญชีพนรก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41036803233954_t4.gif)
       เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานเห็นเทวทูตทั้ง ๔

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51738330225149_t6.gif)
       มารผจญ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46782781928777_t5.gif)
       พระอินทร์ดีดพิณแสดงคติธรรม

การเขียนภาพเล่าเรื่อง
ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เฉพาะเลขที่ ๑๐ มีภาพเล่าเรื่องเฉพาะ ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ จนถึงพระมหานครนิพพาน ซึ่งเขียนไว้ที่หน้าต้นเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่การเรียงลำดับภาพจะแตกต่างจากคำบรรยายในคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึงแดนนรกก่อน ต่อด้วยแดนของสัตว์เดรัจฉาน แดนเปรต แดนอสุรกาย แดนมนุษย์ แดนสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงพระนิพพาน ส่วนสมุดภาพทุกเล่ม เริ่มต้นด้วยสมุดภาพมหานครนิพพานก่อน แล้วค่อยลดระดับลงมาทีละชั้นจนถึงนรกภูมิ มีผู้รู้สันนิษฐานว่า “อาจเป็นเพราะถ้าเริ่มต้นจากนรกภูมิก่อน เวลาคลี่สมุดออกเป็นแผ่นยาวติดต่อกันแล้ว จะเห็นนรกภูมิอยู่ข้างบน และมหานครนิพพานอยู่ล่างสุด ซึ่งคงเป็นภาพที่ทั้งจิตรกรแลคนดูทั่วไปจะพอใจนักเป็นแน่” กล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้เปิดดู เปิดอ่านให้พบสิ่งมงคลก่อน นอกจากนั้นตอนท้ายของสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้จำนวน ๑๐ หน้าสมุดไทย จิตรกรเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญจำนวน ๘ ตอน ตามลำดับ คือ

๑.ภาพตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๒.ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานพบนิมิตทั้ง ๔ คือ คนชรา คนเจ็บป่วย คนตาย และบรรพชิต จึงสังเวชในเทวทูตทั้ง ๓ แต่ทรงพอพระทัยในสมณเพศ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๓.ตอนพระอินทร์ดีดพิณถวาย จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกทรงผนวชแล้วทรงทรมานพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้พบทางแห่งพระโพธิญาณแต่ก็ไม่เป็นผล พระอินทร์จึงเสด็จมาให้สติด้วยการดีดพิณสายตึงเกินไป สายหย่อนเกินไป และสายกลางอันเป็นมัชฌิมปฏิปทา
๔.ตอนนางสุชาดาเตรียมข้าวมธุปยาสไปแก้บนต่อรุกขเทวดา จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย ในภาพแสดงกระบวนของนางสุชาดา ใกล้ต้นไทรใหญ่ในวันเพ็ญเดือนหก แลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร มีรัศมีออกจากพระวรกายไปทั่วปริมณฑล จึงเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา
๕.ตอนสมเด็จพระพุทธเจ้าลอยถาด หลังจากพระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีลอยถาดทองลงในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปจมลงสู่นาคพิภพไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์ พญานาคราชซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพ ได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว
๖.ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ป่าเลไลย์ จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย แสดงภาพลิงและช้าง นำน้ำผึ้งและรวงผึ้งมาถวาย โดยแสดงภาพดอกบัวบานแทนภาพพระพุทธเจ้า
๗.ตอนมารผจญ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย ภาพหลักกลางหน้าสมุดไทยเป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมกองทัพพระยามารทั้งหลาย ภาพตอนนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะแสดงภาพชาวต่างชาติตะวันตกที่สวมหมวกปีก และสวมวิกผมยาวหยักเป็นลอน การแต่งกายคล้ายกับการแต่งกายของราชสำนักนักฝรั่งเศส หลายคน บางคนถือปืนคาบศิลาอยู่บนหลังช้าง บางคนแต่งกายคล้ายแขกเปอร์เซีย จีน และอื่นๆ ในกองทัพพระยามารสะท้อนสภาพสังคมที่มีชาวต่างชาติเข้ามาปะปนอยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก
๘.ตอนเสด็จไปเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย


ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ
การเขียนภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ มักแสดงด้วยภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันสาระของเรื่องก็มีความสำคัญต่อโครงสร้างของสังคมไทยและหมู่ชนในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งลัทธิเถรวาทและมหานิกาย ด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ปลูกฝังคติความเชื่อตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันคติความเชื่อเหล่านั้นอาจลดความสำคัญและความน่าเชื่อถือลงไปมากแล้ว แต่สังคมไทยก็ยังมีภาพสวรรค์และนรกในมโนคติของแต่ละบุคคลอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีองค์ประกอบและรายละเอียดของภาพเล่าเรื่องแต่ละภาพก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยในยุคสมัยที่สร้างสมุดภาพแต่ละเล่มได้เป็นอย่างดี นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61710118667946_t8.gif)
       ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53411895616186_t9.gif)
       พญายมโลกสอบถามเรื่องบุญบาป

คุณค่าและความสำคัญ
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่๑๐ แม้จะมีภาพเล่าเรื่องไตรภูมิเพียงอย่างเดียว แต่ภาพที่แสดงออกก็มีคุณค่าและสาระทางศิลปะอย่างชัดเจนครบถ้วนทั้งในรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในตำนาน เช่น ความเชื่อเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ เขาพระสุเมรุ มหาสมุทรทั้ง ๔ สวรรค์ชั้นต่างๆ ตลอดจนพิภพแห่งครุฑและนาค เป็นต้น โดยรายละเอียดของภาพแต่ละภาพจะสะท้องสาระอันเป็นคติความเชื่อที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน หากเคยอ่านศึกษาจนเข้าใจจะสามารถเชื่อมโยงรายละเอียดของภาพกับคติในตำนานได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดีสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี จึงมีความชารุดเสื่อมสภาพเป็นอย่างมาก เมื่อจัดพิมพ์เผยแพร่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นให้หอสมุดแห่งชาติใช้สถานภาพของหน่วยงานของรัฐเพื่อขอภาพสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลินมาจัดพิมพ์เผยแพร่โดยให้เหตุผลว่าเป็นต้นฉบับที่สวยงาม ฝีมือเขียนภาพดีกว่าฉบับกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก แต่เมื่อศึกษารายละเอียดจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสาส์นสมเด็จแล้ว ทำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสมุดภาพไตรภูมิฉบับเลขที่ ๑๐ เพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนั้นยังเกิดความเข้าใจในสภาพความชำรุดที่เกิดขึ้นด้วย สันนิษฐานได้ว่าสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐ น่าจะมีปกหนังสือเป็นปกประดับมุก ซึ่งแสดงความเป็นต้นฉบับหลวง แต่อาจถูกฉีกออกไปเสียก่อนแล้ว ดังปรากฏรายละเอียดพระนิพนธ์ ความว่า

“...เมื่อไปถึงเมืองเบอร์ลิน หม่อมฉันให้ถามที่หอสมุดสำหรับเมืองเช่นนั้นอีก พวกเยอรมันก็รับด้วยความยินดีขอบใจ และจัดห้องให้ตรวจเช่นเดียวกับที่เมืองอังกฤษ แต่ตรวจกันวันเดียวก็เสร็จ เพราะหนังสือไตรปิฎกที่เจ้าปิยะว่า เยอรมันได้ซื้อไปราคา ๑,๐๐๐ บาท เขาก็เอามาอวด เขายกย่องเป็นยอดสมุดหนังสือไทยที่เขามี แต่ประหลาดใจที่ไม่พบหนังสือเรื่องซึ่งไม่มีฉบับในเมืองไทย แม้หนังสือไตรภูมิที่ว่านั้นก็เป็นหนังสือฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี มีบานแผนกและฝีมือเขียนรูปภาพเหมือนอย่างหนังสือไตรภูมิฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะหมดทุกอย่าง คือ ฝีมือเดียวกันทั้ง ๒ เล่ม แต่ผิดกันเป็นน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยฉบับที่เยอรมันได้ไปในปกกระดาษของเดิมยังอยู่บริบูรณ์ แต่ฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ถวายนั้นใบปกเป็นรอยลอกชั้นนอกออกทั้ง ๒ ข้าง น่าสันนิษฐานว่าฉบับคุณท้าววรจันทร์เดิมเห็นจะมีใบปกประดับมุกเป็นตัว “ฉบับหลวง” ฉบับที่เยอรมันได้ไปทำแต่ใบปกกระดาษมาแต่เดิม น่าจะเป็น “ฉบับรองทรง”
...



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26053303976853_t10.gif)
       พระอริยบุคคล ๘ จำพวก
       ได้แก่ พระอรหัตตมรรค  พระอรหัตตผล  พระอนาคามิมรรค  พระอนาคามิผล
       พระสกทาคามิมรรค  พระสกทาคามิผล  พระโสดาปัตติมรรค  พระโสดาปัตติผล

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12894077102343_t11.gif)
       พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหู :  แสดงวิถีการเดินของพระอาทิตย์ใน ๓ ฤดู

สรุป
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นอกจากจะบันทึกภาพเล่าเรื่องในไตรภูมิให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสอดแทรกสาระสะท้อนสภาพสังคมอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนด้วยสีสันและลวดลายจิตรกรรมแบบไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งมีบานแพนกยืนยันความเป็นมาและอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้ไว้อย่างชัดเจน หากไม่มีบานแพนกดังกล่าวนี้ เราจะต้องสันนิษฐานอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้จากเส้น รายละเอียดในภาพ รวมถึงพัฒนาการของลักษณะตัวอักษรไทย สามารถกำหนดช่วงเวลาเป็นประมาณพุทธศตวรรษเท่านั้น

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ จึงนับเป็นของชิ้นเอกฉบับสำคัญของกรมศิลปากรของประเทศไทยด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/37821491228209_t12.gif)
พุทธประวัติ : ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
พระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88562449150615_t13.gif)
ภาพปกสมุดขาด มีรอยปกชำรุดแหว่งหายไป สันนิษฐานว่าเกิดจากถูกลอกปกประดับมุขออกไป

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66989951829115_t7.gif)
มหาสมุทรทั้ง ๔ มีชื่อเรียกตามสีของผลึกแต่ละเหลี่ยมของเขาพระสุเมรุ


-----------------------------------------
     ข้อมูลบอกรายละเอียดประวัติความเป็นมา วันเดือนปี และผู้ดำเนินถึงการจัดทำเอกสารฉบับนั้นๆ
     เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเป็นข้าราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักเรียกกันว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เฒ่า นับเป็นผู้รู้ในตำราแบบธรรมเนียมราชการ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี จึงได้คัดเลือกให้เป็นผู้บอกขนบธรรมเนียมราชการในสมัยราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๓ และต่อมาได้เป็นราชทูตไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๔ ท่านถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าท่านคือเจ้าพระยาศรีธรรมราชาธิราช (ตักโตโหน)

เรื่อง-ภาพ : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารงาน กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่