[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤศจิกายน 2567 02:20:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่าถึงวันวาน ‘ตะรุเตา’ สู่วันนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย  (อ่าน 410 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2457


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 22 ธันวาคม 2566 14:04:59 »



เรื่องเล่าถึงวันวาน ‘ตะรุเตา’ สู่วันนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย

ที่มา - คอลัมน์ รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2566
เผยแพร่ - วันพฤหัสที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2566


“ตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทยมาตั้งแต่ปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่เกาะกลางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย 52 เกาะ รวม 152 ตารางกิโลเมตร ห่างแผ่นดินแม่คือ จ.สตูล 43.8 กิโลเมตร และห่าง “เกาะลังกาวี” มาเลเซีย 4.8 กิโลเมตร กับห่าง “เกาะอาดัง-ราวี” 40 กิโลเมตร กับอีก 2 กิโลเมตรสุดท้ายคือ “ลิเป๊ะ” หรือ “หลีเป๊ะ” ที่รู้จักกันดี

ที่นี่มีธรรมชาติทางทะเลสวยงามน่าสนใจ และมีประวัติศาสตร์วันวานชวนติดตาม จนคนทั่วไปคิดวางแผนต้องเดินทางไปให้ถึงอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง แม้ปีหนึ่งทะเลแถบนี้จะปลอดมรสุม 7 เดือน มีคลื่นลมทะเลตีรวนนาน 5 เดือนก็ตามที…นั่นดูจะมิใช่ปัญหานักเดินทางท่องเที่ยว ที่ต้องการไปสู่ถิ่นซึ่งเคยลี้ลับมาก่อนอย่างช่องแคบมะละการะหว่างตะรุเตา-ลังกาวี

“ตะรุเตา” เป็นภาษามลายูเพี้ยนจาก “เตอลุกตาวาร์” บ้างก็ว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า “อ่าวน้ำจืด” ด้วยมีแหล่งน้ำจืดและมีพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ อาทิ ยาง ตะเคียน หลุมพอ ยูง สยา

ล่อเป้าให้เหล่ามอดไม้รุกรานก่อนกฎหมายจะต้วมเตี้ยมเข้าไปควบคุม

วันวานปี 2480 ขุนพิธานทัณฑทัยได้นำทีมสำรวจอ่าวตะโละอุดังฝั่งใต้กับตะโละวาวฝั่งตะวันออกเกาะตะรุเตา เพื่อใช้เป็นคุกธรรมชาติตาม พ.ร.บ.กักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายปี 2479 ปี 2481 จึงยกพื้นที่ป่ากันดารเคียงทะเลสงบขึ้นดังตั้งใจให้เป็นทัณฑสถานนิคมฝึกอาชีพนักโทษเด็ดขาด อีกทั้งนักโทษผู้มีสันดานเป็นโจรร้ายบนแผ่นดิน

ปี 2482 รัฐบาลคราวนั้นยังได้ส่งนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช 2476 กับกบฏนายสิบ 2478 ผสมโรงอีกจำนวน 70 นาย มาสมทบยังอ่าวตะโละอุดัง ทำให้มีนักโทษทั้งสิ้น 4,000 คน

และหนึ่งในนั้นมีนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นอัสสัมชัญกับพระยาอนุมานราชธนรวมอยู่ด้วย

พระยาศราภัยฯ ได้เขียนเล่าชีวิตอันแสนทารุณหฤโหด

ครั้งนั้นต้องเสี่ยงหนีข้ามทะเลลี้ภัยด้วยเรือตังเกสู่เกาะลังกาวีด้วยความยากลำบากกว่าจะสำเร็จ แล้วจึงเขียนประจานภายหลังถึงความชั่วร้ายขณะนั้นในชื่อ “ฝันร้ายของข้าพเจ้า”

โดยบางตอนระทึกไม่แพ้นักโทษ “ปาปิญอง” ซึ่งเขียนโดยเฮนรี่ ชาร์รีแอร์ ที่พยายามแหกคุกนิคมทัณฑสถานเฟรนซ์เกียนา ฝรั่งเศส และถูกจับกุมถึง 9 ครั้งจนสุดท้ายถึงสามารถฝ่าดงฉลามได้ฉลุย

ตอนหนึ่งของฝันร้ายพระยาศราภัยฯ… “ครั้นถึงเขตแดนหลักหินเราค่อยโล่งใจหน่อย แต่ก็ยังไม่ไว้ใจอยู่ดี เพราะค่ำคืนเช่นนั้นผู้ติดตามจับอาจมุ่งเอาตัวให้ได้ และไม่เคารพต่อสัญญาระหว่างประเทศ ล่วงล้ำเข้ามาจับเราก็ได้ พอพายมาสักครู่หนึ่ง เราเห็นเกาะลังกาวีตะคุ่มๆ หายใจสะดวกยิ่งขึ้นทุกที เลือดฉีดแรงกว่าปกติ ยิ่งเห็นหาดทรายชัด คนพายไม่ทันใจ อยากโดดน้ำว่ายไปหลายครั้งแต่กลัวฉลาม เราช่วยกันจ้ำด้วยพายอะไหล่ที่มีติดเรือมาแรงยิ่งขึ้น”

“เรือจึงเกยหาดทรายเวลา ๒ น. ของวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นวันเกิดของข้าพเจ้ายิ่งกว่าวันเกิดที่แท้จริงเสียอีก เราทั้ง ๕ คนเป็นอิสรภาพโดยปล่อยตัวเองเอาชีวิตเข้าแลก ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจบุญบารมีของผู้ใดทั้งหมด”





อดีตปี 2482 คราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะรุเตาเป็นนรกขุมหมกไหม้ที่สุด เหล่าผู้คุมและนักโทษต่างประสบปัญหาอาหารไม่มียาไส้ ไร้ยารักษาไข้ป่าโดยเท่าเทียมกัน ชีวิตต้องสังเวยไปกว่า 700 ศพ ส่วนชีวิตที่รอดต้องผันตัวเองเป็นโจรสลัดปล้นเรือสินค้าผ่านไปมาด้วยภาวะจำยอม

อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมาเลเซียขณะนั้น จึงส่งทหาร 300 นายจัดการกับหัวหน้าโจรคือขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์กับเพื่อนร่วมแก๊งแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยขีดวงให้นักโทษนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือห้ามลุกไปไหน ถึงสตูลแล้วยังสั่งให้เดินเปลือยเท้าเข้าไปประตูเรือนจำ

ระหว่างสงคราม…พระยาศราภัยฯ ซึ่งลี้ภัยได้ทำหน้าที่โฆษกวิทยุออสเตรเลีย ภาษาไทย สนับสนุนขบวนการเสรีไทย ปี 2488 ได้รับนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองไทยทั้งหมด ถึงได้กลับเมืองไทยและสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนจบชีวิตด้วยโรคหัวใจขณะวัย 79 ปีเมื่อปี 2511




ชุมชนเก่าบนเกะตะรุเตา


นับจากวันไฟสงครามดับลงหลังจากนั้นถัดมาอีก 2 ปี กรมราชทัณฑ์ถึงยุตินิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ทิ้งวันวานเหลือเพียงโซ่ตรวนกับกระทะทำอาหารเลี้ยงนักโทษมีสนิมจับเขรอะไม่น้อย สนิมหนาเตอะจับขั้วประวัติศาสตร์ชั่วร้ายครั้งกระนั้น ที่บ่งบอก…ตะรุเตาคือแดนนรกบนหาดทรายแสนสวยและป่าไม้แสนงามขณะนั้น

ครั้นสงครามสิ้นสุดลง…เท่ากับเปิดโอกาสให้เหล่ามอดไม้นายทุนเริ่มหวนกลับมาคืนชีพบนเกาะตะรุเตาอีกครั้งหนึ่ง การโค่นล้มชักลากทางทะเลสู่โรงเลื่อยบนฝั่งเพื่อแปรรูปโดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลเป็นไปอย่างเสรี เนื่องด้วยมาตรการทางกฎหมายเวลานั้นยังไล่ตามแทบไม่ทัน

ขณะเดียวกันปัญหาใหม่จากราษฎรชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ไหลเข้าจับจองที่ดินทำกินโดยถางป่าทำนาและไร่ชา โดยปราศจากเอกสารสิทธิ์นับได้ 800 ครัวเรือน

นานจนถึงปี 2515 ที่ทรัพยากรจะย่อยยับไปมากกว่านี้ กรมป่าไม้ถึงได้ตื่นขึ้นมาป้องกันและปลุกปั้นตะรุเตากับอาดัง-ราวี และเกาะบริวารอีก 51 เกาะ เป็นอุทยานฯ ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ




การอพยพราษฎรออกจากเกาะตะรุเตา

ด้วยเหตุผลมีธรรมชาติป่าเขาหาดทรายสวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมบนบกและสัตว์น้ำสารพัดสารพันอยู่ในท้องทะเล จึงได้จัดส่งนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ไปสำรวจความเป็นไปได้

จากนั้นอีก 1 ปี…ถึงส่งนายบุญเรือง สายศร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคนแรกเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ปี 2503-2506 ไปดำเนินการเตรียมประกาศ

โดยรู้ทั้งรู้ว่า…การปฏิบัติงานครั้งนี้ย่อมเสี่ยงเผชิญกับปัญหารุนแรงอาจถึงขั้นแลกกันด้วยชีวิต ระหว่างกลุ่มนายทุนมอดไม้กับชาวบ้านดื้อแพ่ง 800 ครัวเรือนที่โมเมไม่ยอมสละพื้นที่เกาะทำกินเสียที

ที่สุดความขัดแย้งได้กลายเป็นปรปักษ์ระหว่างฝ่ายหนึ่งถือคัมภีร์กฎหมาย ขณะอีกฝ่ายถือการดื้อรั้นและอิทธิพลที่เบ่งบารมี จนคืนหนึ่ง…มีกลุ่มชายฉกรรจ์อาศัยเรือเร็วเป็นพาหนะแล่นมายังอ่าวพันเตมะละกา แล้วจากนั้นบุกขึ้นไปซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จนเกิดการปะทะกัน ครู่ใหญ่กลุ่มชายนิรนามจึงล่าถอยกลับไปลงเรือ โดยฝ่ายป่าไม้คิดว่านี่คือการจงใจข่มขู่เสียมากกว่า

มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานเพียงคนเดียวถูกกระสุนเจาะเข้าที่โคนขา ต้องรีบนำลงเรือโทงติดเครื่องของอุทยานฯ เพื่อส่งโรงพยาบาล จ.สตูล โดยใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง

ทว่า…เหยื่อเกิดสูญเสียเลือดมากกับเวลาที่เนิ่นนาน ทำให้เขาต้องสิ้นลมลงอย่างน่าอนาถที่สุด

ผิดกับฝันร้าย พระยาศราภัยฯ ที่การหลบหนีกลางแสงจันทร์คืนเดือนหงายสู่ลังกาวี ซึ่งมีแต่ภัยรายรอบทั้งสายตาผู้คุม ฝูงจระเข้กับฉลามพร้อมบูลลี่เกลื่อนทะเล – แต่รอดราวปาฏิหาริย์?




เกาะตะรุเตากลางช่องแคบมะละกา

วันวานต่อมา…หลังตะรุเตาเป็นอุทยานฯ ปี 2517 จนขจัดมอดไม้และอพยพชาวบ้านได้สำเร็จ จำนวนทัวร์ซอฟต์แอดเวนเจอร์วินเทจ คือย้อนความจำแสวงหาประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คืนหนึ่งขณะคน 20 ชีวิตกำลังสรวลเสเฮฮาตอยู่ในชายคาร้านอาหารสวัสดิการ มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งข่าวร้ายให้ทราบเกิดมี “วาฬ” ตัวหนึ่งพลัดหลงมาเกยตื้นหาดตะโละวาว

ทุกคนฟังแล้วรีบบึ่งด้วยรถเก่าๆ ของอุทยานฯ ไปยังหาดที่ห่าง 12 กิโลเมตรทันที พบวาฬผิวดำมะเมื่อมลำตัวยาวราว 10 เมตรกำลังนอนเกยชายหาดไม่ไหวติง พลางทำตาปริบๆ สันนิษฐานว่ามันคงตกใจกลัวการลอบทำประมงในเขตอุทยานฯ ซึ่งมีบ่อยครั้งจากลงอวนตาถี่หรือใช้ปืนฉมวกและระเบิดบึ้มปลาแบบมักง่าย วาฬถึงตื่นว่ายหนีอย่างเร็วจนเกิดอาการเสียศูนย์เกยหาด

อีกอย่างวาฬเป็นสัตว์มีครีบหางเหมือนเงือกในวรรณคดี ที่ตีน้ำขึ้นลงให้เคลื่อนไหว ส่วนปลาใช้ครีบหางแกว่งซ้ายขวาไปมาขยับสรีระ บวกน้ำหนักตัวมหึมา วาฬจึงยากที่มนุษย์จะช่วยยกหรือผลักดันให้ขยับเขยื้อนลงทะเลได้

ทางเดียวที่พอทำได้คือหาภาชนะช่วยกันวาดน้ำจากทะเลขึ้นมาใช้เลี้ยงลำตัวเอาไว้ไม่ให้แห้ง กับอาศัยวิทยุสื่อสารแจ้งหน่วยงานบนฝั่งให้จัดหาเรือพร้อมปั้นจั่นมาช่วย…นับจากนั้นเวลาที่ผ่านแต่ละนาทีล้วนมีค่าเทียบได้กับลมหายใจเข้าออก ทุกคนยินดีทำจิตอาสารดน้ำเลี้ยงวาฬตลอดคืนให้มีชีวิต…จนฟ้าเริ่มสางแววตานั้นยังขยับคล้ายบอกสัญญาณชีพแบบเหนื่อยล้า แล้วค่อยๆ หรี่ดับก่อนจะนิ่งสนิท ก่อนที่เรือกู้ชีพจะมาถึงเพียงไม่กี่นาที อนิจจา…ช่างน่าเวทนาที่สุด!

นี่คือดราม่าฉากรันทดที่เกิดกับ “ตะรุเตา” อันเป็นบทเล่าขานยาวนานจากวันวานถึงวันนี้










Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.756 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 06 พฤศจิกายน 2567 02:15:58