[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
09 พฤษภาคม 2567 12:01:41 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 51
1  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2567 13:37:05



นิมิต ไม่ได้เป็นมรรคผล
ถาม : เวลาที่เกิดนิมิตแล้วต้องบังคับใจ ไม่ให้ตามรู้จะค่อนข้างยาก คือมีความรู้สึกอยากเห็นอยากตามไปดู ขออุบายด้วยเจ้าค่ะ
   
พระอาจารย์ : ภาวนาต่อไป

ถาม : อย่าไปมองมันหรือคะ

พระอาจารย์ : อย่าหยุดภาวนา พุทโธต่อไป ดูลมต่อไป เหมือนเวลานั่งภาวนาแล้วมีเสียงโทรศัพท์ดัง มีเสียงคนนั้นเสียงคนนี้ ก็อย่าไปสนใจ ภาวนาไปเรื่อยๆ เวลามีแสงมีภาพให้เห็น ก็อย่าไปสนใจ

ถาม : นิมิตนี้เป็นธรรมใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เป็นสภาวธรรม ไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา สภาวธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา ก็คือความว่างเปล่า อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เพราะจะทำให้กิเลสตัณหาอ่อนกำลังลง เพื่อปัญญาจะได้ฆ่ากิเลสตัณหาได้ ต้องใช้สมาธิทุบศีรษะให้กิเลสตัณหามึนก่อน พอออกจากสมาธิมา กิเลสตัณหาจะยังงัวเงียอยู่ ก็จะใช้ปัญญาฆ่ากิเลสตัณหาได้ แต่ถ้าเห็นนั่นเห็นนี่ กิเลสตัณหาจะไม่ได้ถูกตัดกำลัง ยังสามารถทำงานได้ พอเห็นแล้วชอบก็อยากจะให้เห็นนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไป ไม่เป็นประโยชน์ต่อการตัดกำลังของกิเลสตัณหา ถ้าจิตนิ่งสงบและว่างกิเลสตัณหาจะทำงานไม่ได้ กิเลสตัณหาจะถูกตัดกำลังลงไป ถ้าออกจากสมาธิที่ว่างที่สงบที่เป็นอุเบกขานี้ จิตจะมีกำลังมาก กิเลสจะมีกำลังน้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าออกจากสมาธิที่มีเรื่องราวต่างๆให้รู้ให้เห็น จิตจะมีกำลังน้อย กิเลสจะมีกำลังมาก ก็จะไม่สามารถใช้ปัญญาตัดกิเลสได้   ปัญญาเป็นผู้ชี้บอกว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส สมาธิเป็นผู้หยุดกิเลสด้วยอุเบกขา เวลาเห็นเงินแล้วก็โลภอยากได้ ปัญญาก็จะบอกว่าอย่าไปโลภ เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ถ้ามีสมาธิก็หยุดโลภได้ ถ้าใจไม่มีสมาธิที่ว่างที่สงบ พอปัญญาบอกว่าอย่าไปโลภ จะหยุดไม่ได้ การภาวนาเพื่อฆ่ากิเลสนี้ ต้องมีสมาธิที่ว่างที่สงบ ที่ไม่มีนิมิตต่างๆ มีแต่อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งนานกำลังของใจก็จะมีมากขึ้น กำลังของกิเลสก็จะน้อยลงไป ความสงบเป็นผู้ตัดกำลังของกิเลส ถ้าใจยังไม่สงบกิเลสก็จะทำงาน.


กินเหล้าเมาจะภาวนา
ถาม : ทราบมาว่าทานเป็นบาทของศีล ศีลเป็นบาทของการภาวนา ถ้าไม่ได้ทำทานเป็นประจำ ไม่ได้รักษาศีล การเจริญภาวนาจะดีได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่ได้

ถาม : บางคนบอกว่าภาวนาดีมาก แต่ว่าทานก็ไม่ทำ เหล้าก็ยังดื่มอยู่ ศีลก็ไม่รักษา ก็ยังข้องใจอยู่เสมอว่า การภาวนาจะดีได้อย่างไร

พระอาจารย์ : เป็นไปไม่ได้ คนกินเหล้าเมาจะภาวนาได้อย่างไร

ถาม : เขาบอกว่าเขาภาวนาได้ดีมาก แต่ไม่ทำบุญตักบาตร ไม่รักษาศีล

พระอาจารย์ : การทำทานไม่ได้อยู่ที่การทำบุญตักบาตรอย่างเดียว ทำได้หลายรูปแบบ ถ้าใจกว้างเสียสละ ไม่ยึดติดกับเงินทอง ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นทาน ถ้าไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นก็มีศีลแล้ว ไม่ต้องมาวัดขอศีลจากพระ ศีลอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัด อยู่ที่การกระทำ ถ้าไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปด ไม่เสพสุรายาเมา ก็มีศีลแล้ว จะเข้าวัดหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา.


บาป ไม่บาป
ถาม : ถ้าร่างกายเรามีโรคที่จะต้องรักษา แต่เราคิดว่าเราไม่อยากได้ร่างกายแล้ว เป็นอะไรก็ช่าง จะไม่รักษา อย่างนี้ถือว่าบาปไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่บาป ถ้าไม่ทำให้ร่างกายตาย ปล่อยให้ร่างกายตายไปเอง ถ้าทำให้ร่างกายตาย เช่นกินยาพิษ อย่างนี้ก็บาป เพราะเป็นการทำลายร่างกาย มีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาทำลายร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย ก็จะไม่บาป

ถาม : สมมุติว่าหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน แล้วก็ดูแลร่างกายไม่ดี บางทีก็กินยาบ้างไม่กินบ้าง อย่างนี้ถือว่าบาปไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : ไม่บาป ไม่กินก็ไม่บาป แต่อย่าไปทำให้ร่างกายตาย

ถาม : เช่นฆ่าตัวตาย

พระอาจารย์ : อย่างนั้นบาป.


[bกลัวผ
ถาม : พรุ่งนี้จะไปวัด ถ้ามีเสียงกึ๊กๆ จะทำอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : สวดมนต์ไป หรือพุทโธๆไป

ถาม : บนเขานี้มีพระกลัวกันหลายองค์ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : อยู่ได้คืนเดียวก็มี อยู่ไม่ได้ทั้งคืนก็มี ทุ่มสองทุ่มก็ขอกลับ ควบคุมใจไม่ได้ ความกลัวอยู่ในใจเรา ใจผลิตขึ้นมาเอง ภายนอกไม่มีอะไร ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก อยู่ข้างใน สิ่งข้างนอกอาจจะน่ากลัว เพราะไม่เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจก็จะไม่มีอะไรน่ากลัว นี่คืออานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม จะทำให้ไม่กลัวกับสิ่งต่างๆ ไม่กลัวความเจ็บ ไม่กลัวความแก่ ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวคำดุด่าว่ากล่าวติเตียน ใครจะด่าใครจะว่าก็ปล่อยเขาว่าไป เพราะไม่มีความอยากให้เขาชม หรืออยากไม่ให้เขาด่า ใจเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา เป็นอุเบกขา เฉย ปล่อยวาง ได้ทั้งนั้น เหมือนฝนตกแดดออก พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ทุกอย่างเป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เราห้ามเขาไม่ได้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สั่งเขาไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราเป็นผู้รู้ก็รู้ไป เป็นผู้ดูละครดูภาพยนตร์ก็ดูไป ไปเปลี่ยนบทภาพยนตร์ไม่ได้
 
ผู้กำกับภาพยนตร์ก็คือกรรม และเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นมา เราเป็นผู้มาสัมผัสรับรู้ก็รู้ไป เหมือนคนดูภาพยนตร์ ผู้กำกับจะกำกับภาพยนตร์ให้ออกมาในรูปแบบไหน ก็ต้องดูไป จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องดูไป ถ้าไม่ชอบก็อย่าไปดู อย่ามาเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องดู ไม่ต้องรับรู้อะไรทั้งนั้น แต่พวกเราชอบดูกันเหลือเกิน ก็เลยต้องกลับมาเกิดกัน พอดูเรื่องที่ไม่ชอบก็วุ่นวายใจทุกข์ใจขึ้นมา.


ทำไมมักน้อยจัง
ถาม : มีเพื่อนนั่งสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง เสร็จปั๊บเปิดทีวีดู

พระอาจารย์ : ยังไม่มีปัญญา นั่งเพื่อทำจิตให้สงบเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าดูทีวีไปทำไม เหมือนคนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ยังไม่มีปัญญา ตอนต้นดื่มเพราะสังคม เห็นคนอื่นดื่มก็ดื่มตาม พอดื่มแล้วก็ติดเป็นนิสัย มันก็เลยเลิกยาก ก็เหมือนกับดูทีวี พอดูแล้วก็ติดเป็นนิสัย ว่างๆไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดทีวีดู ไม่มีเหตุผลว่าดูไปทำไม แต่อยู่เฉยๆไม่มีอะไรดูไม่ได้ ต้องมีอะไรดู ทีนี้เรารู้แล้วว่ามันเป็นเหมือนยาเสพติด มันเป็นโทษที่ละเอียด ในทางโลกไม่ถือว่าเป็นโทษ แต่ในทางธรรมถือว่าเป็นโทษ เพราะไม่ทำให้จิตใจก้าวหน้า ไม่หลุดพ้นจากการติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องถือศีล ๘ จะได้ปิดทีวีได้

ถาม : ขอเอาแค่ศีล ๕ ให้ครบถ้วนก่อน ค่อยเป็นค่อยไป

พระอาจารย์ : ทำไมมักน้อยเหลือเกิน ทีเงินทองไม่มักน้อยเลย.


กามราคะ กามตัณหา
ถาม : กามราคะ กามตัณหา กามกิเลสเหมือนกันไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : เหมือนกัน เป็นสรรพนาม ใช้แทนกันได้ วัตถุของความอยากจะต่างกัน ติดเหล้าติดบุหรี่ก็เป็นกามตัณหาแบบหนึ่ง กามคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ วัตถุของกามจะต่างกัน อยากเหล้า อยากบุหรี่ อยากผู้หญิง อยากผู้ชาย เป็นกามตัณหาทั้งนั้น

ถาม : แล้วการติดกาแฟ ติดน้ำผลไม้

พระอาจารย์ : เป็นกามตัณหาเหมือนกัน แต่มีความหนักเบาต่างกัน ติดกาแฟไม่หนักเท่ากับติดเหล้า ติดเหล้าติดบุหรี่ไม่หนักเท่ากับติดยาเสพติด แต่ก็ติดเหมือนกัน นักปฏิบัติต้องไม่ติดอะไรเลย

ถาม : ถ้าขอคาเฟอีนสักนิดหนึ่ง จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

พระอาจารย์ : ไม่ได้ ถ้าจะง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้อดอาหารแทน หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถ้าดื่มคาเฟอีนก็จะติดคาเฟอีน วันไหนไม่ได้ดื่มก็จะปฏิบัติไม่ได้  ไม่ควรอาศัยสิ่งภายนอกมาแก้ปัญหา ต้องใช้ธรรมะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็อดอาหารถ้าถูกจริต ถ้าไม่ถูกจริตก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ หรือไปนั่งที่ปากเหว ถ้าสัปหงกหลับไป หัวจะได้ทิ่มลงเหวไปเลย อย่างนี้จะไม่ง่วงแน่นอน ต้องแก้อย่างนี้.


ความกลัวตาย
ถาม : คนไปอยู่วัดใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะกลัวงูกัน เพราะมืด ในป่าก็มีงูเยอะ ในกุฏิก็มี ใหม่ๆก็กลัว นานๆเข้าก็ต่างคนต่างอยู่

พระอาจารย์ : ถ้าไม่กลัวก็ปิดไฟเดิน ให้เกิดความกลัวขึ้นมาจริงๆ ให้ปลง ให้ยอมตาย พอปลงได้แล้วจะหายกลัว

ถาม : แก้ปัญหาโดยการหาไฟฉายสว่างๆ

พระอาจารย์ : ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุก็คือความกลัวตาย ไม่ยอมตาย ไม่ยอมรับความตาย

ถาม : จะถือว่าประมาทไหมครับ ถ้าเดินในที่มืดๆ ไม่ฉายไฟ

พระอาจารย์ : ถ้าเป็นการเข้าห้องสอบก็ไม่ประมาท ต้องคิดว่าจะตายจริงๆ ถึงจะกลัวจริงๆ จะได้ยอมตายจริงๆ


พบกับเวทนาขั้นสูงสุด
ถาม : เวลาครูบาอาจารย์นั่งตลอดรุ่งนี่ ท่านนั่งตลอดเลยหรือคะ

พระอาจารย์ : ท่านนั่งขัดสมาธิ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย ท่านต้องการพบกับเวทนาขั้นสูงสุด ถ้าผ่านขั้นนั้นไปแล้ว เวลาจะตายจะไม่เดือดร้อน เพราะจะเจ็บขนาดไหนใจก็จะเป็นอุเบกขา ปล่อยวางได้ ไม่สะทกสะท้านกับความเจ็บ ต้องมีธรรมะแก่กล้าแล้ว มีสติสมาธิปัญญา ถึงจะพร้อมเข้าห้องสอบต่อสู้กับทุกขเวทนา.

2  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ท้ายมะหาสะมะยะสูตร เมื่อ: 02 พฤษภาคม 2567 19:05:43
                    

                   ท้ายมะหาสะมะยะสูตร


         สัฏเฐเต  เทวะนิกายา                  สัพเพ  นานัตตะวัณณิโน

        นามันวะเยนะ  อาคัญฉุง                 เย  จัญเญ  สะทิสา  สะหะ

        ปะวุตถะชาติมักขีลัง                      โอฆะติณณะมะนาสะวัง

        ทักเข  โมฆะตะรัง  นาคัง                จันทังวะ  อะสิตาติตัง

        สุพรัหมา  ปะระมัตโต  จะ               ปุตตา  อิทธิมะโต  สะหะ

        สันนังกุมาโร  ติสโส จะ                 โสปาคะ สะมิติง  วะนัง

        สะหัสสะพรัหมะโลกานัง                 มะหาพรัหมาภิติฏฐะติ

        อุปะปันโน  ชุติมันโต                    ภิสมากาโย ยะสัสสิ  โส

        ทะเสตถะ  อิสสะรา  อาคู               ปัจเจกะวะสะวัตติโน

        เตสัญจะ  มัชฌะโต  อาคา             หาริโต  ปะริวาริโต

        เต  จะ  สัพเพ  อะภิกกันเต             สินเท  เทเว  สะพรัหมะเก

        มาระเสนา  อะภิกกามิ                   ปัสสะ กัณหัสสะ มันทิยัง

        เอถะ คัณหะถะ  พันธะถะ               ราเคนะ  พันธะมัตถุ  โว

สะมันตา  ปะริวาเรถะ                   มา  โว  มุญจิตถะ  โกจิ  นัง

อิติ  ตัตถะ  มะหาเสโน                 กัณหะ  เสนัง  อะเปสะยิ

ปาณินา ตะละมาหัจจะ                 สะรัง  กัตวานะ   เภระวัง

ยะถา ปาวุสสะโก  เมโฆ                ถะนะยันโต  สะวิชชุโก

ตะทา  โส ปัจจุทาวัตติ                 สังกุทโธ อะสะยัง  วะเส

ตัญจะ สัพพะ  อะภิญญายะ            วะวักขิตวานะ  จักขุมา

ตะโต  อามันตะยิ สัตถา                สาวะเก สาสะเน  ระเต

มาระเสนา อะภิกกันตา                  เต  วิชานาถะ  ภิกขะโว

เต  จะ อาตัปปะมะกะรุง                 สุตวา  พุทธัสสะ  สาสะนัง

วีตะราเคหิ  ปักกามุง                    เนสัง  โลมัมปิ  อิญชะยุง

สัพเพ  วิชิตะสังคามา                    ภะยาตีตา  ยะสัสสิโน

โมทันติ  สะหะ  ภูเตหิ                   สาวะกา เต  ชะเนสุตาติ ฯ



ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
3  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๖. เทวธรรมชาดก ว่าด้วยธรรมของเทวดา เมื่อ: 02 พฤษภาคม 2567 19:01:40


ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๖. เทวธรรมชาดก ว่าด้วยธรรมของเทวดา

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะมาก จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีดังนี้

ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เมื่อภรรยาตายก็บวช กุฎุมพีนั้น เมื่อจะบวชได้ให้ทำบริเวณ โรงไฟและห้องเก็บสิ่งของ ในห้องเก็บสิ่งของนั้นก็ให้บรรจุเนยใสและข้าวสารเป็นต้น สำหรับตนแล้ว จึงบวช

ครั้นบวชแล้ว ให้เรียกทาสของตนมา ให้หุงต้มอาหารตามชอบใจ แล้วจึงบริโภค และได้เป็นผู้มีบริขารมาก ในเวลากลางคืน มีผ้านุ่งและผ้าห่มผืนหนึ่ง เวลากลางวัน มีอีกผืนหนึ่งอยู่ท้ายวิหาร

วันหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นนำจีวรและเครื่องปูลาดเป็นต้น ออกมาคลี่ตากไว้ในบริเวณ ภิกษุชาวชนบทมากด้วยกัน เที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ ไปถึงบริเวณ เห็นจีวรเป็นต้น จึงถามว่า

“จีวรเป็นต้นเหล่านี้ของใคร?”

ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ของผมครับ ท่านผู้มีอายุ”

ภิกษุเหล่านั้นถามว่า “จีวรนี้ก็ดี ผ้านุ่งนี้ก็ดี เครื่องลาดนี้ก็ดี ทั้งหมดเป็นของท่านเท่านั้นหรือ?”

ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ขอรับ เป็นของผมเท่านั้น”

ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า

“ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวร มิใช่หรือ ท่านบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้มักน้อยอย่างนี้ เกิดเป็นผู้มีบริขารมากอย่างนี้ มาเถิดท่าน พวกเราจักนำไปยังสำนักของพระทศพล แล้วได้พาภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระศาสดา”

พอทรงเห็นภิกษุนั้นเท่านั้น จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นผู้พาภิกษุผู้ไม่ปรารถนานั้นแล มาแล้วหรือ”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้มีภัณฑะมากมีบริขารมาก พระเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอมีภัณฑะมาก จริงหรือ?”

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ก็เพราะเหตุไร เธอจึงเป็นผู้มีภัณฑะมาก เรากล่าวคุณของความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความสงัด และการปรารภความเพียร มิใช่หรือ”

ภิกษุนั้นได้ฟังพระดำรัสของพระศาสดา ก็โกรธคิดว่า บัดนี้ เราจักเที่ยวไปโดยทำนองนี้ จึงทิ้งผ้าห่ม มีจีวรผืนเดียว ยืนอยู่ในท่ามกลางบริษัท

ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงอุปถัมภ์ภิกษุนั้น จึงตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุ เมื่อก่อน แม้ในกาลเมื่อเธอเป็นผีเสื้อน้ำผู้แสวงหาหิริโอตตัปปะ เธอแสวงหาหิริโอตตัปปะอยู่ถึง ๑๒ ปี เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรในบัดนี้ เธอบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นที่เคารพอย่างนี้ จึงทิ้งผ้าห่มในท่ามกลางบริษัท ละหิริ โอตตัปปะ ยืนอยู่เล่า”

ภิกษุนั้นได้ฟังพระดำรัสของพระศาสดา ได้ยังหิริโอตตัปปะให้กลับตั้งขึ้น จึงห่มจีวรนั้น แล้วถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงยังเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่า พรหมทัต ในนครพาราณสี ในแคว้นกาสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น เมื่อครบทศมาส พระนางประสูติพระโอรส ในวันเฉลิมพระนามของพระโอรสนั้น พระญาติทั้งหลายได้ตั้งพระนามว่า มหิสสาสกุมาร ในกาลที่พระกุมารนั้นทรงวิ่งเล่นได้ พระโอรสองค์อื่นก็ประสูติ พระญาติทั้งหลายตั้งพระนามของพระโอรสนั้นว่า จันทกุมาร ในเวลาที่พระจันทกุมารนั้นทรงวิ่งเล่นได้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ก็สวรรคต พระราชาทรงตั้งพระสนมอื่น ไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี พระอัครมเหสีนั้น ได้เป็นที่รักเป็นที่โปรดปรานของพระราชา ต่อมาพระอัครมเหสีนั้นก็ประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง พระญาติทั้งหลายได้ตั้งพระนามของพระโอรสนั้นว่า สุริยกุมาร

พระราชาทรงเห็นพระโอรส แล้วมีพระหฤทัยยินดี ตรัสว่า “นางผู้เจริญ เราให้พรแก่บุตรของเธอ” พระเทวีเก็บไว้จะรับเอาในเวลาต้องการพรนั่น เมื่อพระโอรสเจริญวัยแล้ว พระนางกราบทูลพระราชาว่า

“ข้าแต่สมมติเทพ ในกาลที่พระโอรสของหม่อมฉันประสูติ พระองค์ทรงประทานพรไว้มิใช่หรือ ขอพระองค์จงประทานราชสมบัติแก่พระโอรสของหม่อมฉัน”

พระราชาทรงห้ามว่า “พระโอรสสองพระองค์ของเรา รุ่งเรืองอยู่เหมือนกองเพลิง เราไม่อาจให้ราชสมบัติแก่โอรสของเธอ”

ทรงเห็นพระนางอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ทรงพระดำริว่า “พระนางนี้จะพึงคิด แม้กรรมอันลามกแก่โอรสทั้งหลายของเรา”

จึงรับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้งสองมา แล้วตรัสว่า พ่อทั้งสอง ในเวลาที่สุริยกุมารประสูติ พ่อได้ให้พรไว้ บัดนี้ มารดาของสุริยกุมารนั้นทูลขอราชสมบัติ พ่อไม่ประสงค์จะให้แก่สุริยกุมารนั้น ธรรมดา มาตุคาม ผู้ลามกจะพึงคิดแม้สิ่งอันลามกแก่พวกเจ้า เจ้าทั้งสองต้องเข้าป่า ต่อเมื่อพ่อล่วงไปแล้ว จงครองราชสมบัติในนครอันเป็นของมีอยู่ของตระกูล แล้วทรงกันแสง ครํ่าครวญจุมพิตที่ศีรษะ แล้วทรงส่งไป

สุริยกุมารทรงเล่นอยู่ที่พระลานหลวง เห็นพระโอรสทั้งสองนั้น ถวายบังคมพระราชบิดา แล้วลงจากปราสาท ทรงเห็นเหตุนั้น จึงคิดว่า แม้เราก็จักไปกับพระเจ้าพี่ทั้งสอง จึงออกไปพร้อมกับพระโอรสทั้งสองนั้นเอง พระโอรสเหล่านั้นเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์แวะลงข้างทาง ประทับนั่งที่โคนไม้ เรียกสุริยกุมารมาว่า

“พ่อสุริยะ เจ้าจะไปยังสระนั้น อาบและดื่มแล้ว จงเอาใบบัวห่อน้ำดื่มมา แม้เพื่อเราทั้งสอง”

สระนั้นเป็นสระที่ผีเสื้อน้ำตนหนึ่ง ได้พรจากสำนักของท้าวเวสวัณ ท้าวเวสวัณตรัสกะผีเสื้อน้ำนั้นว่า

“เจ้าจะได้กินคนที่ลงยังสระนี้ ยกเว้น คนที่รู้เทวธรรมเท่านั้น เจ้าจะไม่ได้กิน” ตั้งแต่นั้น รากษสนั้นจึงถามเทวธรรมกะคนที่ลงสระนั้น แล้วกินคนที่ไม่รู้เทวธรรม ลำดับนั้นแล สุริยกุมารไปยังสระนั้น ไม่ได้พิจารณาเลยลงไปอยู่ รากษสนั้นจึงจับสุริยกุมารนั้น แล้วถามว่า

“ท่านรู้เทวธรรมหรือ?”

สุริยกุมารนั้นกล่าวว่า “เออ ฉันรู้ พระจันทร์และพระอาทิตย์ ชื่อว่า เทวธรรม”

ลำดับนั้น รากษสนั้นจึงกล่าวกะสุริยกุมารนั้นว่า

“ท่านไม่รู้จักเทวธรรม”

แล้วพาดำไปพักไว้ในที่อยู่ของตน

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นสุริยกุมารนั้นชักช้าอยู่ จึงส่งจันทกุมารไป แม้รากษสก็จับจันทกุมารนั้น แล้วถามว่า

“ท่านรู้เทวธรรมไหม?”

จันทกุมารกล่าวว่า “เออ ฉันรู้ ทิศทั้ง ๔ ชื่อว่าเทวธรรม”

รากษสกล่าวว่า “ท่านไม่รู้เทวธรรม”

แล้วพาจันทกุมารแม้นั้น ไปไว้ในที่อยู่ของตนนั้นนั่นแหละ

เมื่อจันทกุมารล่าช้าอยู่ พระโพธิสัตว์คิดว่า อันตรายอย่างหนึ่งจะพึงมี จึงเสด็จไปที่สระนั้นด้วยพระองค์เอง เห็นรอยเท้าลงของพระอนุชาแม้ทั้งสอง จึงดำริว่า

“สระนี้คงเป็นสระที่รากษสหวงแหน”

จึงได้สอดพระขรรค์ถือธนู ยืนอยู่ ผีเสื้อน้ำเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ลงน้ำ จึงแปลงเป็นเหมือนบุรุษผู้ทำงานในป่า กล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า

“บุรุษผู้เจริญ ท่านเหน็ดเหนื่อยในหนทาง เพราะเหตุไร จึงไม่ลงสระนี้ อาบดื่ม กินเหง้าบัว ประดับดอกไม้ไปตามสบาย”

พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น รู้ว่า ผู้นี้จักเป็นยักษ์ จึงกล่าวว่า “ท่านจับน้องชายของเรามาหรือ”

ผีเสื้อน้ำกล่าวว่า “เออ เราจับมา”

พระโพธิสัตว์ถามว่า “เพราะเหตุไร”

ผีเสื้อน้ำกล่าวว่า “เราย่อมได้คนผู้ลงยังสระนี้”

พระโพธิสัตว์ถามว่า “ท่านย่อมได้ทั้งหมดทีเดียวหรือ?”

ผีเสื้อน้ำกล่าวว่า “เราได้ทั้งหมด ยกเว้นคนที่รู้เทวธรรม”

พระโพธิสัตว์นั้นตรัสถามว่า “ท่านมีความต้องการเทวธรรมหรือ?”

ผีเสื้อน้ำกล่าวว่า “เออมีความต้องการ”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น เราจักบอกเทวธรรมแก่ท่าน”

ผีเสื้อน้ำกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านจงบอก เราจักฟังเทวธรรม”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “แต่เรามีตัวสกปรก”

ยักษ์จึงให้พระโพธิสัตว์อาบน้ำ ให้ดื่มน้ำ ให้ประดับดอกไม้ให้ลูบไล้ของหอม ได้ลาดบัลลังก์ให้ ในท่ามกลางปะรำ ที่ประดับแล้ว พระโพธิสัตว์ประทับนั่งบนอาสนะ ให้ยักษ์นั่งแทบเท้า แล้วตรัสว่า

“ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเงี่ยโสตฟังพระธรรมโดยเคารพ”

แล้วตรัสพระธรรมเทศนาว่า

“สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก

บรรดาหิริและโอตตัปปะเหล่านั้น ที่ชื่อว่า หิริ เพราะละอายแต่กายทุจริต เป็นต้น คำว่า หิริ นี้ เป็นชื่อของความละอาย

ที่ชื่อว่า โอตตัปปะ เพราะกลัวแต่กายทุจริตเป็นต้นนั้นนั่นแหละ คำว่า โอตตัปปะนี้ เป็นชื่อของความกลัวแต่บาป

บรรดาหิริและโอตตัปปะนั้น หิริมีสมุฏฐานที่ตั้งขึ้นภายใน โอตตัปปะมีสมุฏฐานที่ตั้งขึ้นภายนอก

หิริมีตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะมีโลกเป็นใหญ่

หิริดำรงอยู่ในสภาวะอันน่าละอาย โอตตัปปะดำรงอยู่ในสภาวะอันน่ากลัว

หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะโทษและเห็นภัย

บรรดาหิริและโอตตัปปะนั้น บุคคลย่อมยังหิริอันมีสมุฏฐานเป็นภายใน ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ

เพราะพิจารณาถึงชาติกำเนิด ๑

พิจารณาถึงวัย ๑

พิจารณาถึงความกล้าหาญ ๑

พิจารณาถึงความเป็นพหูสูต ๑

อย่างไร? บุคคลพิจารณาถึงชาติกำเนิดก่อน อย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ ไม่เป็นกรรมของคนผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ เป็นกรรมของตนผู้มีชาติต่ำ มีพรานเบ็ดเป็นต้น จะพึงกระทำ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นท่าน ไม่ควรกระทำกรรมนี้ แล้วไม่ทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น

อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงวัย อย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ เป็นกรรมที่คนหนุ่มๆ พึงกระทำ กรรมนี้อันคนผู้ตั้งอยู่ในวัย เช่นท่านไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาป มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น

แม้อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงความเป็นผู้กล้าหาญ อย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปนี้ เป็นกรรมของคนผู้มีชาติอ่อนแอ กรรมนี้บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยความกล้าหาญเช่นท่าน ไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาป มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น

อนึ่ง บุคคลพิจารณาความเป็นพหูสูต อย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำบาปนี้เป็นกรรมของคนอันธพาล กรรมนี้อันคนผู้เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิตเช่นท่าน ไม่ควรกระทำ แล้วไม่กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น

บุคคลชื่อว่ายังหิริ อันมีสมุฏฐานภายในให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างนี้ ก็แหละครั้นให้ตั้งขึ้นแล้ว ยังหิริให้เข้าไปในจิต ไม่กระทำบาปด้วยตน หิริย่อมชื่อว่ามีสมุฏฐานภายใน อย่างนี้

โอตตัปปะชื่อว่า มีสมุฏฐานภายนอกอย่างไร? บุคคลพิจารณาว่า ถ้าท่านจักทำบาปไซร้ ท่านจักเป็นผู้ถูกติเตียนในบริษัท ๔ และว่า วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนท่านเหมือนชาวเมืองติเตียนของไม่สะอาด ดูก่อนภิกษุ ท่านอันผู้มีศีลทั้งหลายเว้นห่างแล้ว จักกระทำอย่างไร ดังนี้ ย่อมไม่กระทำบาปกรรม เพราะโอตตัปปะอันตั้งขึ้นภายนอก โอตตัปปะย่อมชื่อว่ามีสมุฏฐานภายนอกอย่างนี้

หิริชื่อว่ามีตนเป็นใหญ่อย่างไร กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำตนให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้า ไม่กระทำบาปด้วยคิดว่า บุคคลผู้บวชด้วยศรัทธา เป็นพหูสูต มีวาทะ [คือสอน] ในการกำจัดกิเลสเช่นท่าน ไม่ควรกระทำบาปกรรม หิริย่อมชื่อว่ามีตนเป็นใหญ่อย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลนั้นกระทำตนนั่นแหละให้เป็นใหญ่ ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่

โอตตัปปะชื่อว่ามีโลกเป็นใหญ่อย่างไร? กุลบุตรบางคนในโลกนี้ กระทำโลกให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้า แล้วไม่กระทำบาปกรรม สมดังที่ตรัสไว้ว่า ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่แล อนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่น อยู่ในโลกสันนิวาสอันใหญ่แล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเห็นในที่ไกลบ้าง เห็นในที่ใกล้บ้าง รู้จิตด้วยจิตบ้าง สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ย่อมรู้เราอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่ เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่นมีอยู่ แม้เทวดาเหล่านั้น ย่อมเห็นแต่ที่ไกลบ้าง ย่อมเห็นในที่ใกล้บ้าง ย่อมรู้ใจด้วยใจบ้าง แม้เทวดาเหล่านั้นก็จักรู้เราว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตไม่มีเรือน เกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่ เขากระทำโลกนั่นแลให้เป็นใหญ่ ละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมอันมีโทษ เจริญธรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดอยู่ โอตตัปปะย่อมชื่อว่ามีโลกเป็นใหญ่อย่างนี้

ก็ในคำว่า หิริตั้งอยู่ในสภาวะน่าละอาย โอตตัปปะตั้งอยู่ในสภาวะน่ากลัวนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ : อาการละอาย ชื่อว่า ความละอาย หิริตั้งอยู่โดยสภาวะอันนั้น ความกลัวแต่อบาย ชื่อว่า ภัย โอตตัปปะตั้งอยู่โดยสภาวะอันนั้น หิริและโอตตัปปะแม้ทั้งสองนั้น ย่อมปรากฏในการงดเว้นจากบาป จริงอยู่ บุคคลบางคนก้าวลงสู่ธรรม คือความละอายอันเป็นภายใน ไม่กระทำบาปกรรม เหมือนกุลบุตร เมื่อจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น เห็นคนหนึ่งอันควรจะละอาย พึงเป็นผู้ถึงอาการละอาย ถูกอุจจาระ ปัสสาวะบีบคั้น จนอาจมเล็ด ก็ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ ฉะนั้น บุคคลบางคนกลัวภัยในอบาย จึงไม่กระทำบาปกรรม ในข้อนั้น มีความอุปมาดังต่อไปนี้ : เหมือนอย่างว่า ในก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็น แต่เปื้อนคูถ ก้อนหนึ่งร้อน ไฟติดโพลง ในก้อนเหล็ก ๒ ก้อนนั้น บัณฑิตเกลียดไม่จับก้อนเย็น เพราะก้อนเย็นเปื้อนคูถ ไม่จับก้อนร้อน เพราะกลัวไฟไหม้ ฉันใด ในข้อที่ว่าด้วยหิริและโอตตัปปะนั้น ก็ฉันนั้น พึงทราบการหยั่งลงสู่ลัชชีธรรม อันเป็นภายใน แล้วไม่ทำบาปกรรม เหมือนบัณฑิตเกลียดก้อนเหล็กเย็นที่เปื้อนคูถ จึงไม่จับ และพึงทราบการไม่ทำบาป เพราะกลัวภัยในอบาย เหมือนการที่บัณฑิตไม่จับก้อนเหล็กร้อน เพราะกลัวไหม้ ฉะนั้น แม้บททั้งสองนี้ที่ว่า หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะกลัว โทษและเห็นภัย ดังนี้ ย่อมปรากฏเฉพาะในการงดเว้นจากบาปเท่านั้น จริงอยู่ คนบางคนยังหิริอันมีลักษณะยำเกรง ให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

พิจารณาถึงความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑

พิจารณาถึงความเป็นใหญ่แห่งพระศาสดา ๑

พิจารณาถึงความเป็นใหญ่โดยทรัพย์มรดก ๑ และ

พิจารณาถึงความเป็นใหญ่แห่งเพื่อนพรหมจารี ๑

แล้วไม่ทำบาป คนบางคนยังโอตตัปปะอันมีลักษณะกลัวโทษ และมักเห็นภัย ให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

ภัยในการติเตียนตน ๑

ภัยในการที่คนอื่นติเตียน ๑

ภัยคืออาชญา ๑ และ

ภัยในทุคติ ๑

แล้วไม่ทำบาป ในข้อที่ว่าด้วย หิริโอตตัปปะนั้น พึงกล่าวการพิจารณาความเป็นใหญ่โดยชาติเป็นต้น และภัยในการติเตียนตนเป็นต้น ให้พิสดาร ความพิสดารของการพิจารณาความเป็นใหญ่โดยชาติ เป็นต้นเหล่านั้น ได้กล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย

กุศลธรรมที่ควรกระทำมีหิริโอตตัปปะ นี้แหละเป็นต้นไป ชื่อว่า สุกกธรรม ธรรมขาว เมื่อว่าโดยนัย ที่รวมถือเอาทั้งหมด สุกกธรรมนั้น ก็คือธรรมอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ อันเป็นไปในภูมิ ๔ ที่ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้วด้วย หิริและโอตตัปปะทั้งสองนั้น

ชื่อว่าผู้สงบระงับ เพราะกายกรรมเป็นต้น สงบระงับแล้ว ชื่อว่า เป็นสัปบุรุษ เพราะเป็นบุรุษผู้งดงาม ด้วยความกตัญญูกตเวที ก็ใน

โลกมีหลายโลก คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก ขันธโลก อายตนโลก และธาตุโลก ในโลกเหล่านั้น สังขารโลกท่านกล่าวไว้ในประโยคนี้ว่า โลกหนึ่ง คือสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ฯลฯ โลก ๑๘ คือธาตุ ๑๘ โลกมีขันธโลก เป็นต้นรวมอยู่ใน สังขารโลก นั่นแหละ ส่วนสัตวโลกท่านกล่าวไว้ในประโยค มีอาทิว่า โลกนี้ โลกหน้า เทวโลก มนุษยโลก โอกาสโลก ท่านกล่าวไว้ในประโยคนี้ว่า พันโลกธาตุมีประมาณเพียงที่พระจันทร์ และพระอาทิตย์เวียน ส่องสว่างไปทั่วทิศ อำนาจของพระองค์ ย่อมแผ่ไปในพันโลกธาตุนั้น บรรดาโลกเหล่านั้น ในที่นี้ประสงค์เอาสัตวโลก จริงอยู่ ในสัตวโลกเท่านั้น มีสัปบุรุษเห็นปานนี้ สัปบุรุษเหล่านั้นท่านกล่าวว่า มีเทวธรรม

เทพมี ๓ ประเภท คือ สมมติเทพ ๑ อุปบัติเทพ ๑ และวิสุทธิเทพ ๑ บรรดาเทพเหล่านั้น พระราชาและพระราชกุมารเป็นต้น ชื่อว่าสมมติเทพ เพราะชาวโลกสมมติว่าเป็น เทพ จำเดิมแต่ครั้ง พระมหาสมมติราช เทวดาผู้อุปบัติในเทวโลก ชื่อว่า อุปบัติเทพ พระขีณาสพ ชื่อว่า วิสุทธิเทพ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า พระราชา พระราชเทวี พระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ เทพสูงๆ ขึ้นไปตั้งแต่ภุมมเทวดาไป ชื่อว่า อุปบัติเทพ, พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ ชื่อว่า วิสุทธิเทพ ธรรมของเทพเหล่านี้ ชื่อว่า เทวธรรม

จริงอยู่ กุศลธรรมทั้งหลายมีหิริโอตตัปปะเป็นมูล ชื่อว่า เป็นธรรมของเทพทั้ง ๓ ประเภทเหล่านี้ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุแห่งกุศลสัมปทา แห่งการเกิดในเทวโลก และแห่งความหมดจด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเทวธรรม แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยเทวธรรมเหล่านั้น ก็เป็นผู้มีเทวธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น ด้วยเทศนาอันเป็นบุคคลาธิษฐาน จึงตรัสว่า สัปบุรุษผู้สงบระงับ เรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก”

ยักษ์ ครั้นได้ฟังธรรมเทศนานี้ มีความเลื่อมใส จึงกล่าวกะพระโพธิสัตว์ ว่า

“ดูก่อนบัณฑิต เราเลื่อมใสท่าน จะให้น้องชายคนหนึ่ง จะให้นำคนไหนมา”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ท่านจงนำน้องชายคนเล็กมา”

ยักษ์กล่าวว่า “ดูก่อนบัณฑิต ท่านรู้แต่เทวธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ประพฤติในเทวธรรมเหล่านั้น”

พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า “เพราะเหตุไร?”

ยักษ์กล่าวว่า “เพราะเหตุที่ท่านเว้นพี่ชายเสีย ให้นำน้องชายมา ชื่อว่าไม่กระทำกรรมของผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญที่สุด”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

“ดูก่อนยักษ์ เรารู้เทวธรรมทีเดียว และประพฤติในเทวธรรมเหล่านั้น เพราะว่า เราทั้งหลายเข้าป่านี้ เพราะอาศัยน้องชายนี้ ด้วยว่า พระมารดาของน้องชายนี้ ทูลขอราชสมบัติกะพระบิดาของพวกเรา เพื่อประโยชน์แก่น้องชายนี้ แต่พระบิดาของพวกเราไม่ให้พรนั้น เพื่อจะทรงอนุรักษ์พวกเรา จึงทรงอนุญาตการอยู่ป่า พระกุมารนั้นติดตามมากับพวกเรา แม้เมื่อพวกเรากล่าวว่า ยักษ์ในป่ากินพระกุมารนั้นเสียแล้ว ใครๆ จักไม่เชื่อ ด้วยเหตุนั้น เรากลัวแต่ภัย คือการครหา จึงให้นำน้องชายคนเล็กนั้น นั่นแหละมา”

ยักษ์มีจิตเลื่อมใสให้สาธุการแก่พระโพธิสัตว์ว่า

“สาธุ สาธุ ท่านบัณฑิต ท่านรู้เทวธรรม ทั้งปฏิบัติในเทวธรรมเหล่านั้น ดังนี้แล้ว จึงได้นำน้องชายทั้งสองคนมาให้”

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสกะยักษ์นั้นว่า

“สหาย ท่านบังเกิดเป็นยักษ์มีเนื้อและเลือดของคนอื่นเป็นภักษา เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้ในชาติก่อน บัดนี้ ท่านยังกระทำบาปนั่นแลซ้ำอีก ด้วยว่า บาปกรรมจักไม่ไห้พ้นจากนรก เป็นต้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงละบาปแล้วกระทำแต่กุศล ก็แหละได้สามารถทรมานยักษ์นั้น”

พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นทรมานยักษ์นั้นแล้ว เป็นผู้อันยักษ์นั้นจัดแจงการอารักขา อยู่ในที่นั้น นั่นแล วันหนึ่ง แลดูนักขัตฤกษ์ รู้ว่าพระชนกสวรรคต จึงพายักษ์ไปเมืองพาราณสี ยึดราชสมบัติ ประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระจันทกุมาร ประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่สุริยกุมาร ให้สร้างที่อยู่ในที่อันน่ารื่นรมย์ ให้แก่ยักษ์ ได้ทรงกระทำโดยประการที่ ยักษ์นั้นได้บูชาอันเลิศ ดอกไม้อันเลิศ ของหอมอันเลิศ ผลไม้อันเลิศ และภัตอันเลิศ พระโพธิสัตว์ครองราชสมบัติโดยธรรม ได้เสด็จไปตามยถากรรมแล้ว

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล  แล้วทรงประชุมชาดก ว่า

ผีเสื้อน้ำในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้มีภัณฑะมาก ในบัดนี้

สุริยกุมารได้เป็น พระอานนท์

จันทกุมารได้เป็น พระสารีบุตร

ส่วนมหิสสาสกุมารผู้เป็นเชฏฐา ได้เป็น เราเอง แล



พระคาถาประจำชาดก
สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว
ท่านเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
4  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: สาระธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 30 เมษายน 2567 15:06:11

สาระธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๕ ก็คือ ปัญญา ปัญญานั้นถือว่าเป็นสาระของชีวิต เป็นแก่นของชีวิต เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความหมาย เพราะว่าอะไร เพราะว่าปัญญานั้นแปลว่ารอบรู้ คือรอบรู้ในร่างกายในสังขาร รอบรู้ในบุญในบาป รอบรู้ในสิ่งที่ควรไม่ควร เพราะปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วปัญญานั้นย่อมรู้ชัดรู้ชอบรู้ดีรู้พิเศษ อันนี้เป็นลักษณะของปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วปัญญานั้นย่อมทำใจของเรานั้นให้สว่าง กำจัดความมืดคือบาปนั้นให้พ้นไปจากจิตจากใจของเรา ความมืดคือบาปนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรานั้น ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล

            สิ่งที่เป็นอัปมงคลในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคลมากที่สุด เป็นสิ่งที่เป็นกาลกิณีมากที่สุด เพราะอะไร เพราะว่าบาปนั้นเมื่อบุคคลทำแล้วย่อมคร่าบุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้นบุคคลอย่าหลงว่าต้นไม้มันเป็นสิ่งอัปมงคล บ้านเรือนเป็นอัปมงคล หรือว่าวัตถุสิ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอัปมงคลอย่าไปคิด สิ่งที่เป็นอัปมงคลก็คือบาปนั้นเอง กายของเราทำบาป กายของเรานี้แหละเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล วาจาของเราทำบาปวาจาของเรานั้นแหละเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล สิ่งที่เป็นอัปมงคลก็นำความทุกข์ร้อนนี้มาให้เรา

            มงคลนั้นแปลว่าสิ่งที่ให้ถึงซึ่งคุณงามความดี อัปมงคลก็คือสิ่งที่ขัดขวางเรานั้นไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี เพราะฉะนั้นบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะออกไปจากจิตจากใจของเราได้นั้นก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องกำจัด เปรียบเสมือนกับความมืดเราจะกำจัดความมืดได้ก็เพราะว่าเรานั้นทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นมาในที่นั้น อย่างเราเปิดไฟในห้องความมืดมันก็หายไป จุดเทียนในความมืด ความมืดมันก็หายไป แสงสว่างคือธรรมะก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ความมืดคือ อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทานต่างๆ ก็ย่อมจะหายไปจากจิตจากใจของเรา เพราะฉะนั้นปัญญานั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งที่เป็นอัปมงคลนั้นมันหายไปจากจิตจากใจของเรา

            ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นแหละ ให้มีความอิ่มเอิบ ให้มีความแช่มชื่น ให้เกิดปีติ ให้รู้ดีรู้ชั่วอยู่ตลอดเวลา เพราะปัญญานั้นแหละเมื่อเกิดขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลใดแล้ว กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นก็ไม่สามารถที่จะทำบุคคลผู้ที่มีจิตใจประกอบด้วยปัญญานั้นแหละให้ไปตามอำนาจได้ เรียกว่าตัณหาทำให้บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นให้ตกอยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะบุคคลผู้มีปัญญานั้นย่อมสามารถที่จะข่มกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นมาทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ เพราะว่าบุคคลผู้มีปัญญานั้นสามารถที่จะละกิเลส คือตัณหา ที่จะรั่วออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจนั้นได้ ตัณหานั้นย่อมไม่สามารถที่จะทำบุคคลผู้ที่อิ่มด้วยปัญญานั้นให้เป็นไปในอำนาจได้ บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สิ่งที่ประเสริฐ

            ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า สุโข ปญฺญาปฏิลาโภ การได้มาซึ่งปัญญาเป็นเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี หรือว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก หรือ ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นรัตนะของชนทั้งหลาย ปัญญานั้นเป็นเครื่องประดับที่ประเสริฐของชนทั้งหลาย บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วจะประดับด้วยเครื่องอลังการต่างๆ มีแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับประดับด้วยปัญญา เพราะเสื้อผ้าอาภรณ์สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นเกิดความสุขได้ ไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นไม่ไปสู่อบายภูมิได้ ไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นพ้นไปจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

            แต่ปัญญานั้นสามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นพ้นไปจากบาปกรรม พ้นไปจากคุกจากตะรางจากอบายภูมิได้ และที่สำคัญปัญญานั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ชีวิตของเรานั้นเกิดความสุข เพราะฉะนั้นสาระธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ ศรัทธา สาระธรรมคือศรัทธา ศีล สาระธรรมคือศีล สุตตะ สาระธรรมคือการสดับรับฟังด้วยการตั้งใจจริง จาคะ สาระธรรมคือการเสียสละสิ่งของทั้งภายนอกและภายใน ปัญญา สาระธรรมคือความรอบรู้ คือรอบรู้ทั้งภายนอกและภายใน คือรอบรู้การศึกษาทั้งวิชาทางโลก และทางธรรม

            เมื่อสาระธรรมทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลใดแล้วบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ไม่ว่างเปล่าจากสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์ บุคคลนั้นเกิดขึ้นมาแล้วย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา แก่ชาวโลก เพราะฉะนั้นสาระธรรมนั้นบุคคลใดที่ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ ก็ขอให้ทำให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ เมื่อบุคคลใดทำสาระธรรมให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจแล้ว บุคคลนั้นก็จะถึงสุข ตั้งแต่สุขเบื้องต่ำคือสุขในมนุษย์ สุขในท่ามกลางคือสุขในสวรรค์ สุขในเบื้องปลายคือสุขในพระนิพพาน รายการธรรมะก่อนนอนในวันนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา           

            ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ผู้ที่ไฝ่ในบุญไฝ่ในกุศล ไฝ่ในคุณงามความดี ตั้งใจรับฟังธรรมะก่อนนอน ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้ที่เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมะสารสมบัติ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงเป็นผู้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป ความคิดใด ปรารถนาใดที่โยมทั้งหลายได้ตั้งไว้โดยชอบ ประกอบด้วยกุศลธรรมก็ขอความคิดนั้นปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ จงทุกท่านทุกคนเทอญ.
5  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / สาระธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 30 เมษายน 2567 15:04:25



สาระธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

           เจริญพรญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ผู้ฝักไฝ่ในบุญในกุศลทุกท่าน วันนี้รายการธรรมะก่อนนอนจากสถานีวิทยุพระพุทธศาสนา จ.อุบลราชธานี วัดพิชโสภารามก็ได้เวียนมาบรรจบ ครบรอบอีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งวันนี้อาตมภาพ พระมหาชอบ พุทฺธสโร ก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในหัวข้อที่ชื่อว่า สาระธรรม มาบรรยายเพื่อที่จะให้ญาติโยมทั้งหลายที่ใคร่ในบุญในกุศลนั้น ได้น้อมนำเอาไปพินิจพิจารณาหาประโยชน์จากการฟังธรรมะในวันนี้

            สาระธรรมนั้นหมายถึงธรรมที่เป็นสาระเป็นแก่นสารของชีวิต ถ้าบุคคลใดไม่มีสาระธรรม บุคคลนั้นก็ชื่อว่าชีวิตไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแก่นสาร เพราะอะไร เพราะว่าสาระธรรมนั้นแหละเป็นแก่นของชีวิต เป็นสาระของชีวิต เพราะฉะนั้น สาระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกนั้น จึงเปรียบเสมือนกับการตัดสินว่าบุคคลนั้นเกิดมาแล้วประพฤติประโยชน์เป็นสาระแก่ตนเองหรือเปล่า หรือไม่เป็นสาระแก่ตนเองก็ต้องอาศัยธรรมะ ๕ ประการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้นั้นเป็นเครื่องตัดสิน สาระธรรมนั้นมีอยู่ ๕ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา

            ศรัทธา ที่ชื่อว่าสาระธรรม เป็นแก่นสารของชีวิตนั้น เพราะอะไรจึงชื่อว่าเป็นแก่นสารของชีวิต เพราะว่าศรัทธานั้นแปลว่าความเชื่อ ความเชื่อนั้นแหละเมื่อเกิดขึ้นในจิตในใจของบุคคลแล้ว ความเชื่อนั้นก็จะแต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้ชอบ แต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้งาม แต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้สดใสให้แล่นไปในคุณงามความดี เพราะว่าอาศัยศรัทธาเป็นพื้นฐาน ศรัทธานั้นเป็นแก่นสารของชีวิต เป็นสาระของชีวิตก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นพืชบุญ คือบุคคลผู้ที่ทำบุญทำทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ ทำคุณงามความดีต่างๆ ก็ต้องอาศัยศรัทธาเป็นพื้นฐาน

            ถ้าบุคคลใดไม่มีศรัทธาเป็นพื้นฐานบุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะให้ทานได้ ไม่สามารถที่จะรักษาศีลได้ ไม่สามารถที่จะเจริญภาวนาได้ ไม่สามารถที่จะทำวัตรสวดมนต์ทำคุณงามความดีต่างๆ ได้

            ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนกับว่า เราจะปลูกข้าวก็ดี ปลูกมะม่วงก็ดี ปลูกผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เราก็ต้องมีพืชต้องมีพันธุ์ของผลไม้ชนิดนั้นเสียก่อน เราจึงสามารถนำมาเพาะเป็นเมล็ด เป็นกล้า แล้วนำไปเพาะปลูกขึ้นมาเจริญเติบโตขึ้นมาออกดอกผลิผลให้เราได้รับประทานได้ฉันใด บุคคลผู้ที่จะทำบุญทำทานก็ต้องมีศรัทธา ศรัทธานั้นแหละเป็นพืชบุญที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเสียสละให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนานั้นได้

            ภาวนานั้นเปรียบเสมือนกับพืชภายในที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เพาะบุญ เพาะกุศลให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ศรัทธานั้นที่ชื่อว่าเป็นสาระธรรมก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นเครื่องฝังจิตของบุคคลนั้นลงในคุณงามความดี บุคคลผู้ที่มีศรัทธานั่นแหละ ย่อมฝังจิตของบุคคลนั้น ย่อมชักจูงจิตของบุคคลนั้น ย่อมแนะนำจิตของบุคคลนั้นให้ทำคุณงามความดี บุคคลผู้ที่ทำคุณงามความดี

            ถ้าเว้นเสียจากศรัทธาแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำคุณงามความดีได้ เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงเป็นเครื่องฝังจิตของบุคคลให้มั่นคงในคุณงามความดี ถ้าบุคคลใดศรัทธาด้วยการรับฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธาก็สามารถที่จะทำความดีได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าบุคคลใดเมื่อมารักษาศีลแล้วเกิดศรัทธา รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริง ว่าการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การไม่ฆ่าสัตว์ก็ดี การไม่ลักทรัพย์ก็ดี การไม่ประพฤติผิดในภรรยาสามีของรักของชอบใจของบุคคลอื่นก็ดีเป็นความสุข เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นำมาซึ่งความสุขจริง หรือว่าการไม่พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดคำหยาบ ไร้สาระ ไร้ประโยชน์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริงว่าการไม่ดื่มสุราเมรัยของมึนเมา มียาบ้า กัญชา ยาเสพติดต่างๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริง

            เมื่อเรารักษาศีลแล้วเราเกิดศรัทธาด้วยพิจารณาถึงอานิสงส์เหล่านี้แล้วศรัทธาของเราก็จะเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราออกมาเจริญภาวนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดปีติ เกิดสมาธิ เกิดฌานขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดศรัทธาขึ้นมาระดับหนึ่ง เรียกว่าศรัทธาจะฝังลงจิตของเรานั้นให้ลึกลงอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราน้อมกายน้อมใจของเรานั้นมาเจริญภาวนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมานับตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ปัญญารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกัน รู้ว่าร่างกายของเราจากพื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้ประกอบด้วยสิ่งสองประการคือ ๑ รูป ๒ นาม

            เมื่อเราเจริญวิปัสสนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา นับตั้งแต่ญาณที่ ๑ เป็นต้น ไล่ไปตามลำดับจนถึงญาณที่ ๑๖ นั่นแหละ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญภาวนานั้นฝังจิตฝังใจของเราให้เกิดศรัทธาขึ้นมาอีก เมื่อศรัทธาของเราเกิดขึ้นมาด้วยการเจริญภาวนา จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น ได้ชื่อว่าศรัทธานั้นฝังจิตของเราไว้ในคุณงามความดีโดยถาวร

            คือเมื่อเราเจริญวิปัสสนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ชั้น ก็ชื่อว่า เรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว ก็ชื่อว่าศรัทธานั้นแหละฝังจิตฝังใจของเราไว้ในคุณงามความดีโดยถาวร คือเมื่อบุคคลเจริญวิปัสสนาญาณจนถึงญาณที่ ๑๖ แล้ว จะไม่สามารถที่จะทำความชั่ว ทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ความชั่วใดๆ ซึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นำตนไปสู่อบายภูมิแล้ว บุคคลผู้ที่บรรลุธรรมนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น จะไม่ทำเป็นอันขาด

            แต่ว่าบาปกรรมอะไรที่สลั่งพลั้งพลาดไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพลั้งพลาดไปนิดๆ หน่อยๆ นั้นก็อาจจะมีบ้าง แต่สิ่งที่จะทำโดยเจาะจงกำหมัดกัดฟันชกต่อยยิงรันฟันแทงอะไรทำนองนี้ ไม่มี เพราะฉะนั้นศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการให้ทานก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการรักษาศีลก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการเจริญสมถะภาวนาก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ดี ก็จะมีความละเอียด มีความสุขุม มีความลุ่มลึก มีการฝังจิตฝังใจของเรานั้นให้มั่นคง ให้แน่นอนไปตามลำดับๆๆ เพราะฉะนั้น ศรัทธานั้นจึงชื่อว่าเป็นเครื่องฝังจิต เพราะฝังจิตของเราไว้ในคุณงามความดี

            ศรัทธานั้นที่ชื่อว่าสาระธรรมก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นตัวรวบรวมคุณงามความดี เปรียบเสมือนกับการรวบรวมเสบียง ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ ศรัทธานั้นเป็นเครื่องรวบรวมเสบียง

            เสบียงในที่นี้หมายถึงบุญกุศล เราเกิดมาในมนุษย์ก็ดีเราเกิดมาเพื่อที่จะรวบรวมเสบียงคือการบำเพ็ญคุณงามความดี ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป บุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้จักบำเพ็ญคุณงามความดี ทำแต่บาปแต่กรรมเป็นผู้ที่ประมาท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร เกิดมาแล้วก็ทำกายของตนเองให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทำวาจาของตนเองให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทำจิตทำใจของตนเองนั้นให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทั้งๆ ที่กายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี นี้สามารถที่จะทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น แต่ก็เป็นผู้ประมาท ละเลยการบำเพ็ญคุณงามความดี ก็เป็นคนที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร ไม่ได้บำเพ็ญคุณงามความดี ไม่ได้รวบรวมเสบียงที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบายในภพหน้าชาติหน้าได้ เพราะฉะนั้นศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจึงมีหน้าที่รวบรวมเสบียง คือบุญกุศล

            บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องอาศัยคุณงามความดี โดยอาศัย ศีล ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงสามารถเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ เราอยากจะไปเกิดเป็นเทวดาก็ต้องรวบรวมเสบียงคือรวบรวมการรักษาศีลอุโบสถ การให้ทาน การเจริญสมถะภาวนาแต่ยังไม่ได้ฌาน ก็ชื่อว่าเรารวบรวมเสบียงเพื่อที่จะไปเกิดในเทวโลก แต่ถ้าเราอยากจะไปเกิดในพรหมโลกเราก็ต้องรวบรวมเสบียง เสบียงที่จะให้ไปเกิดในพรหมโลกก็คือสมถะภาวนา นับตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในพรหมโลก

            หรือว่าเราอยากจะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดแล้วบรรลุมรรคผล เสพอารมณ์ของพระนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น เราก็ต้องรวบรวมเสบียงคือวิปัสสนาญาณให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้เสพพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ศรัทธานั้นจึงเป็นเครื่องรวบรวมเสบียง คือรวบรวมเสบียงทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปเกิดบนพรหมโลก รวบรวมเสบียงให้เรานั้นไปถึงพระนิพพาน เรียกว่าเสบียงขั้นต้นก็ดี ขั้นกลางก็ดี ขั้นสูงสุดก็ดี ก็ต้องอาศัยศรัทธานั้นเป็นเครื่องรวบรวม เป็นเครื่องให้ถึงเป็นเครื่องให้เกิด ศรัทธานั้นท่านยังเปรียบเสมือนกับเป็นทรัพย์อันประเสริฐ

            ทำไมศรัทธาจึงถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะว่าทรัพย์ที่เป็นโลกิยะ คือทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินทองก็ดี รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการก็ดี บ้าน เรือน เรือกสวน ไร่นา รถก็ดี สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพย์ภายนอกก็สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยศรัทธา ถ้าเราไม่มีศรัทธาในการทำการทำงาน ไม่มีศรัทธาที่จะรวบรวมทรัพย์ ไม่มีศรัทธาที่จะสร้างตนขึ้นมาจริงๆ แล้ว ขาดศรัทธาแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะทำทรัพย์ที่เป็นโลกิยะนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าเรามีศรัทธาจริงๆ มุ่งมั่นที่จะทำความดีจริงๆ มุ่งมั่นเพื่อที่จะสร้างตนจริงๆ เราก็สามารถที่จะมีศรัทธาในการเรียน

            เมื่อเรามีศรัทธาในการเรียน มีศรัทธาในการทำงานเราก็ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความจริงจัง ด้วยความอดทน ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความฝักไฝ่ที่จะให้เกิดผลสำเร็จ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดความสำเร็จในการงาน เมื่อเราประสบความสำเร็จในการงาน สิ่งที่เราต้องการคือเงิน คือทอง คือบ้าน คือสิ่งของต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ หรือว่าเราปรารถนาทรัพย์ที่เป็นภายใน เรียกว่าอริยทรัพย์ ๗ ประการ ซึ่งเป็นโลกิยะก็ตาม เป็นโลกุตตระก็ตาม ทรัพย์ภายใน ๗ ประการคือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ก็ต้องอาศัยศรัทธานี้แหละเป็นพื้นฐาน

            ทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระอย่างเช่นมรรคผลพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยศรัทธานั้นแหละเป็นพื้นฐานเป็นตัวให้เกิดให้มีขึ้น ถ้าบุคคลไม่มีศรัทธาในการรักษาศีล ไม่มีศรัทธาในการเดินจงกรม ไม่มีศรัทธาในการนั่งภาวนา ไม่มีศรัทธาในการกำหนดอารมณ์กรรมฐาน คืออาการพอง อาการยุบ ไม่มีศรัทธาในการกำหนดขวาย่างซ้ายย่างอาการคู้เหยียดอาการก้มอาการเงย สมาธิมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อสมาธิไม่เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิดขึ้นมาทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระคือมรรคผลนิพพานนั้นเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงถือว่าเป็นสาระธรรม เป็นธรรมที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตของเรานั้นมีสาระ มีความหมาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตของเรานั้นมีแก่นแห่งคุณงามความดี เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงชื่อว่าเป็นสาระธรรม

            สาระธรรมประเภทที่ ๒ นั้นก็คือ ศีล ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณ อานิสงส์มากมายหลายประการสุดที่จะพรรณนาได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

                 สีเลน สุคตึ ยนฺติ            สีเลน โภคสมฺปทา

                 สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ          ตสฺมา สีลํ วิโสธเย.

          สีเลน สุคตึ ยนฺติ  หมายถึงว่า ศีลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงสุคติ คือบุคคลผู้ใดมีศีลแล้ว รักษาศีลดี มีศีลเป็นอารมณ์ ตายในขณะที่มีศีลเป็นอารมณ์นั้น ย่อมไปสู่สุคติจะไม่ไปสู่เปรต นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานเป็นอันขาด หรือว่าจะไม่ไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด

            สีเลน โภคสมฺปทา  คือ ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโภคทรัพย์ ทั้งทรัพย์ที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นประสบซึ่งโภคทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม

            สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน

            ตสฺมา สีลํ วิโสธเย  เพราะฉะนั้น นักปราชญ์สัตบุรุษพึงรักษาศีล พึงสมาทานศีล

            เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณงามความดีมากมายปลายประการ เพราะอะไร เพราะศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนนั้นมีภาวะที่ปกติ บุคคลจะมีกายปกติ มีวาจาปกติ ก็เพราะรักษาศีล ศีลนั้นยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นชำระความเศร้าหมองทางกาย ทางวาจา ให้หมดไป เพราะว่ากายของเราเศร้าหมอง เราสามารถที่จะชำระด้วยสบู่ ด้วยการอาบน้ำ ด้วยเครื่องชำระร่างกายได้

            แต่ถ้าสภาพจิตใจของเรานั้นเศร้าหมอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายของเราทำบาป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วาจาของเราทำบาป เราก็ต้องชำระด้วยการรักษาศีล เมื่อเราชำระด้วยการรักษาศีลกายของเราก็ไม่ทำบาป วาจาของเราก็ไม่ทำบาป เพราะอะไร ก็เพราะว่าเรามีศีลเป็นเครื่องชำระ ศีลนั้นจึงถือว่าเป็นเครื่องชำระบาปให้หมดไปจากทางกาย หมดไปจากทางวาจาของเรา แล้วก็ศีลนั้นท่านยังเปรียบเสมือนกับศีรษะของบุคคล ทำไมท่านจึงเปรียบเสมือนกับศีรษะของบุคคล เพราะว่าศีลนั้นเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงชีวิต

            ภิกษุผู้ที่บวชเข้ามาแล้วในพุทธศาสนา ถ้าไม่มีศีลก็เปรียบเสมือนกับภิกษุที่ตายแล้ว ภิกษุที่หัวขาด ทำไมจึงเปรียบเสมือนกับภิกษุที่ตายแล้ว เพราะว่าภิกษุที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนาแล้ว ถ้าไม่มีศีลก็เปรียบเสมือนกับผู้ที่ตายแล้ว คือตายจากคุณงามความดี ตายจากคุณธรรมที่จะพึงบังเกิดขึ้น หรือว่าญาติโยมที่รักษาศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ถ้าไม่มีศีลก็ชื่อว่าตายจากคุณงามความดีแล้ว สามเณรก็ดี แม่ชีก็ดีที่ไม่มีศีล ก็เปรียบเสมือนกับคนหัวขาด คือขาดจากคุณงามความดีที่จะพึงบังเกิดขึ้น

            เพราะว่าคุณงามความดีในพุทธศาสนานี้ ถ้าบุคคลใดไม่รักษาศีลเป็นเบื้องต้น ไม่สมาทานศีลเป็นเบื้องต้นแล้วจะไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่สามารถที่จะทำวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ อย่างที่บุคคลนับถือศาสนาอื่น จะนับถือศาสนาคริสต์ก็ดี จะนับถือศาสนาอิสลามก็ดี บุคคลเหล่านี้ถ้านับถือศาสนาอื่นแล้วจะมานับถือศาสนาเราก็ต้องสมาทานศีล เมื่อสมาทานศีลแล้วก็ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๓ เดือน เพราะเป็นคนนอกรีต

            เมื่อบุคคลผู้นอกรีตจะมานับถือศาสนานั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๓ เดือนซะก่อน คืออยู่ประพฤติวุฏฐานวิธี ๓ เดือน ขณะที่อยู่ประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นแหละรักษาศีล สมาทานเป็นพุทธมามกะ ปฏิญาณตนว่าเรานั้นนับถือพระศาสนาแล้วก็อยู่ประพฤติเพื่อที่จะปรับปรุงอุปนิสัยของตนเองใน ๓ เดือน เมื่อปรับปรุงแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานมันเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาได้

            บุคคลผู้ที่จะยังคุณงามความดีให้เกิดขึ้นมานั้นก็ต้องอาศัยศีล บุคคลไม่มีศีลก็ถือว่าขาดจากคุณงามความดี ก็เปรียบเสมือนกับบุคคลที่มีศีรษะขาด หรือว่าหัวขาด ศีลนั้นยังเปรียบเสมือนกับสิ่งที่ทำให้จิตใจมนุษย์ของเรานั้นเย็น ทำไมจึงเปรียบเสมือนกับว่าสิ่งที่ทำให้จิตใจของมนุษย์ของเรานั้นเย็น เพราะว่าสิ่งที่มนุษย์ของเรานั้นประสบพบอยู่ทุกวันนี้ ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเร่าร้อนทางจิตใจ อย่างเช่น ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี เป็นเครื่องทำให้จิตใจของเราเร่าร้อน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้จะปรากฏอยู่หน้าทีวีก็ดี อยู่ทางหนังสือพิมพ์ก็ดี อยู่ในการสื่อสารต่างๆ ก็ดี หรือว่าเราออกจากบ้านเดินไปตรงโน้นเดินไปตรงนี้ เราก็จะประสบกับรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะมันเกิดขึ้นมา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โทสะเกิดขึ้นมา

            เพราะว่าคนทุกวันนี้เป็นบุคคลผู้ที่ขาดขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี การแต่งกายก็แต่งในลักษณะที่ยั่วยวน ถ้าเป็นผู้หญิงก็แต่งกายในลักษณะที่ยั่วยวนผู้ชาย ผู้ชายก็แต่งกายในลักษณะที่ยั่วยวนผู้หญิง เมื่อต่างคนต่างยั่วยวนซึ่งกันและกัน ไฟคือราคะมันก็ต้องสุมอกทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สภาวะสังคมมันเร่าร้อนขึ้นมา เมื่อสภาวะของสังคมเร่าร้อนขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อารมณ์ก็ดี กายก็ดี วาจาก็ดีมันก็ร้อนตาม สังคมก็ร้อนตามขึ้นมาไปตามลำดับ

            ศีลนั้นแหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งเหล่านี้มันเย็น ถ้าต่างคนต่างมีศีล ชายก็มีศีล หญิงก็มีศีล เด็กก็มีศีล ผู้ใหญ่ก็มีศีล เมื่อต่างคนต่างมีศีล ต่างคนก็ต่างรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีอันสมควร แต่งกายให้พอเหมาะพอสม การพูดจาก็ดี การคบหากันก็ดี คบหากันในทางที่ถูกที่ต้องก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเย็น เพราะศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเย็นทั้งกลางวันกลางคืน ไม่เหมือนกับความเย็นทางโลก เช่นความเย็นในห้องแอร์ก็ดี เราเข้าห้องแอร์มันก็เย็นเฉพาะเวลาเราเข้า เราเปิดพัดลมมันก็เย็นเฉพาะเราเปิดพัดลม หรือว่าเราอาบน้ำมันก็เย็นเฉพาะเวลาที่เราอาบ

            แต่เมื่อเราออกจากสิ่งเหล่านั้นแล้วมันก็เกิดความร้อนขึ้นมา หรือว่าความเย็นที่เกิดจากแสงจันทร์ก็ดีก็เย็นเฉพาะเวลากลางคืน เมื่อเวลากลางคืนผ่านไปมันก็ร้อน แต่ความเย็นที่เกิดขึ้นมาจากการรักษาศีล จะเป็นเด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี คนเฒ่าคนชราก็ดี เมื่อรักษาศีลแล้ว ศีลนั้นย่อมทำให้บุคคลนั้นเย็น เย็นทั้งกลางวัน เย็นทั้งกลางคืน เย็นทั้งในขณะที่เดิน เย็นทั้งในขณะที่นั่ง เย็นทั้งในขณะที่พูดที่กินที่ดื่มที่คิด เย็นทั้งในขณะที่เรานั่งเรานอนเราหลับ เกิดความเย็นขึ้นมาตลอด เพราะฉะนั้นศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีกาย มีวาจา มีใจที่เย็น ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงแดนเกษม แดนเกษมคืออะไร แดนเกษมคือพระนิพพาน ดังที่อาตมาได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย นั่นแหละ เพราะศีลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน อันนี้เป็นสาระธรรมข้อที่ ๒

            สาระธรรมข้อที่ ๓ คือ สุตตะ สุตตะคืออะไร สุตตะคือการฟัง การฟังนี้ถ้าเราฟังด้วยดีเราก็ย่อมเกิดคุณเกิดประโยชน์มากมายหลายประการ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไวว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ– ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ฟังด้วยดีนั้นฟังอย่างไร คือเราตั้งใจฟัง เมื่อเราตั้งใจฟังก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้เข้าใจความหมายของธรรมะที่เราฟัง เมื่อเราเข้าใจความหมายของธรรมะที่เราฟัง เราก็จะเอาธรรมะนั้นแหละมาตริมาตรอง เมื่อเราเอามาตริมาตรองธรรมะอันสมควรแก่การประพฤติของเราแล้ว เราก็น้อมไปประพฤติปฏิบัติ

            เมื่อเราน้อมไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติเกิดผลขึ้นมา เมื่อเราเกิดผลขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้รับประโยชน์จากการฟัง มีการเกิดศรัทธา เกิดคุณ คือสมาธิ คือความสงบเป็นต้นเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ก็ชื่อว่าการฟังนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณ ตั้งแต่คุณเบื้องต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุด ตลอดถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะว่าการฟังนั้นสามารถที่จะทำให้เรานั้นได้คุณตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ถึงที่สุดได้ ยกตัวอย่างในสมัยครั้งพุทธกาล ปฐมสาวก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระสงฆ์องค์แรกในทางพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร เกิดขึ้นมาได้เพราะการฟัง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้

            เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วพระองค์ทรงไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อยู่ที่ ป่าอิสิปมฤคทายวัน แคว้นเมืองพาราณสี ก่อนพุทธศาสนาประมาณ ๔๕ ปี เรียกว่าพุทธศาสนาของเราล่วงเลยมาแล้ว ๒,๕๔๗ ปี บวกไปอีกประมาณ ๔๕ ปี ในสมัยนั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระอัญญาโกณฑัญญะนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วก็ได้เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยการฟัง หรือว่าพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือทั้ง ๔ คนคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ก็อาศัยการฟังธรรมนั้นแหละ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในภายหลัง

            แม้แต่พระยส พระยสเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมามากก็ได้บรรลุธรรมเพราะอาศัยการฟังธรรมเหมือนกัน พระยสนั้นบำเพ็ญบารมีมามากขนาดไหน เป็นลูกชายของเศรษฐี เพราะลูกชายของเศรษฐีมีหญิงบำรุงบำเรอ หญิงฟ้อนหญิงระบำนั้นบำรุงบำเรอมากมาย แต่พระยสนั้นก็ไม่หลงในสิ่งเหล่านั้น วันหนึ่งเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นนางรำนั้น มารำๆ แล้วก็นอน นอนแล้วก็น้ำลายไหลบ้าง กรนบ้าง ปล่อยให้ผ้าหลุดลุ่ยบ้าง สภาพสิ่งเหล่านั้นแหละปรากฏแก่พระยสนั้น เปรียบเสมือนกับซากศพ เกิดปัญญาขึ้นมา พระยสนั้นก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาก็เลยเดินออกจากเรือน บ่นว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอที่นี่ขัดข้องหนอๆ” เดินไปเรื่อย

            ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ในราวป่า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนยสที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” พระยสก็เดินเข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพีกถา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระยสนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ภรรยาของพระยสก็ดี บิดามารดาของพระยสก็ดี สหธรรมิก สหายทั้ง ๕๕ คนของพระยสก็ดี บรรลุธรรมก็ด้วยการฟังธรรม หรือว่าภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ คนตามหาหญิงแพศยา พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟังก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำ เป็นพระอนาคามีอย่างสูง

            ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๓ คน มีอุรุเวลกัสสปะ คยากัสสปะ นทีกัสสปะ ซึ่งมีบริวารรวมแล้ว ๓ คนนั้นถึง ๑,๐๐๐ คน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เพราะการฟังธรรม หรือว่าพระเจ้าพิมพิสารบรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อมด้วยบริวาร ๑๑๐,๐๐๐ คน ก็เพราะการฟังธรรมอนุปุพพีกถา อีก ๑๐,๐๐๐ คนนั้นถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ก็เพราะการฟังธรรมเรื่องอนุปุพพีกถา พรรณนาเรื่องทาน เรื่องศีล พรรณนาเรื่องสวรรค์ พรรณนาเรื่องโทษของกาม แล้วก็พรรณนาเรื่องอานิสงส์ของการออกบวช ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๑๑๐,๐๐๐ ก็เพราะอาศัยอานิสงส์ของการฟังธรรม

            อัครสาวกอย่างพระสารีบุตรก็ดีผู้มีปัญญามาก สามารถนับเมล็ดฝนได้ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมด้วยตนเองก็ต้องอาศัยการฟังธรรมจึงสามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ สำเร็จเป็นอัครสาวกในพุทธศาสนา เป็นผู้เลิศทางปัญญาในทางพุทธศาสนาได้ก็เพราะอาศัยการฟัง หรือว่าพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์เดชมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บรรลุธรรมได้ก็เพราะอาศัยการฟังธรรม

            การฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังธรรมด้วยดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณเกิดอานิสงส์มากมายหลายประการ ตั้งแต่เบื้องต่ำ ท่ามกลาง จนถึงที่สุดคือพระนิพพานได้ ถ้าเราฟังแล้วเราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของการฟังธรรม การฟังธรรมที่เราตั้งใจฟังด้วยดีนั้นแหละ ไม่คะนองมือไม่คะนองไม้ ไม่พูดกันในขณะที่ฟังธรรม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การฟังธรรมของเรานั้นเกิดบุญเกิดกุศลขึ้นมาเป็นอุปนิสัยให้เรานั้นเกิดปัญญาในภพหน้าชาติหน้าได้ ดังมีเรื่องเล่าไว้หลายเรื่องหลายประการ อย่างเรื่องกบฟังธรรมก็ดี ค้างคาวฟังธรรมก็ดี งูเหลือมฟังธรรมก็ดี แม่ไก่ฟังธรรมก็ดี

            มีแม่ไก่ตัวหนึ่งฟังธรรมอยู่ข้างศาลาเป็นที่แสดงธรรม ขณะที่พาลูกน้อยกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหารนั้นแหละ ขาก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารไป ปากก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารให้ลูกกินไป แต่หูนั้นก็ฟังธรรมไปเรื่อยๆ ขณะที่ฟังธรรมไปเรื่อยๆ หาอาหารเลี้ยงลูกนั้นแหละ แม่เหยี่ยวตัวหนึ่งก็มาเฉี่ยวเอาแม่ไก่ตัวนั้นไปแล้วแม่ไก่ตัวนั้นก็ตายไป ขณะที่ตายไปก็ระลึกถึงอารมณ์ที่ตนเองได้ฟังธรรมมีจิตใจกำลังยินดีในการฟังธรรมนั้นแหละ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดบนสวรรค์ เกิดบนสวรรค์แล้วจุติจากสวรรค์แล้วก็ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ก็มาเกิดในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มาเกิดเป็นบุตรของสุมนาราชเทวี เมื่ออาศัยการฟังธรรมนั้นก็สามารถที่จะระลึกชาติหนหลังได้ว่าตนเองเคยฟังธรรมเรื่องนั้นๆๆ แล้วก็เกิดความสลดสังเวชในภพชาติของตนเองว่า ตนเองเคยเกิดเป็นลูกหมูบ้าง เกิดเป็นสุกรบ้าง เกิดเป็นคนยากจนบ้าง เกิดเป็นคนรวยบ้าง สลับสับสนปนเปกันไปมาก็เลยเกิดความสลดสังเวชแล้วก็ลาสามีออกบวชแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะอาศัยอานิสงส์ของการฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

            สาระธรรมประการที่ ๔ ก็คือ จาคะ จาคะคือการเสียสละ เสียสละบริจาคทรัพย์ภายนอกคือปัจจัย ๔ คืออาหารบิณฑบาต ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม นี้เรียกว่าเป็นการบริจาคภายนอก หรือว่าการบริจาคภายในเรียกว่า ปคฺขนฺทานปริจฺจาโค เรียกว่าการบริจาคภายใน การบริจาคภายในนั้นมีตั้งแต่ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง คือการบริจาคด้วยการรักษาศีล การรักษาศีลก็ถือว่าเป็นการบริจาคเหมือนกัน อย่างเช่นเรารักษาศีล ๕ เราไม่เบียดเบียนไม่ฆ่าสัตว์ก็ชื่อว่าเราบริจาคเสียสละ เราบริจาคชีวิตให้เป็นธรรมทาน คือเราไม่ฆ่าสัตว์เราไม่ตบยุง เราไม่ฆ่าปูฆ่าปลาในวันพระก็ถือว่าเราบริจาคชีวิตให้เป็นทานแล้ว เราไม่ลักทรัพย์ของบุคคลอื่นก็ถือว่าเราบริจาคทรัพย์ที่เราจะหยิบได้ เราก็ไม่หยิบฉวยเอาชื่อว่าเราบริจาคเหมือนกัน หรือว่าเราพอที่จะทำชู้สู่สมกับเมียคนอื่นได้เราไม่ทำ ทำชู้สู่สมกับบุตรกับสามีคนอื่นได้เราไม่ทำชื่อว่าเราบริจาคเหมือนกัน เราสามารถที่จะหลอกลวงบุคคลอื่นได้ หลอกลวงเอาเงินเอาทอง หลอกลวงเอาทรัพย์สมบัติต่างๆ ได้ แต่เราไม่หลอกลวง ก็ถือว่าเราบริจาคเหมือนกัน

            เราไม่ดื่มสุราเมรัยก็ชื่อว่าเราบริจาค บริจาคความชั่วนั้นให้หมดไปจากจิตจากใจ เหลือแต่คุณงามความดี หรือว่าเราบริจาคด้วยการรักษาศีลแล้วเราก็บริจาคด้วยการเจริญสมาธิ บริจาคด้วยการเจริญวิปัสสนา บริจาคด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ถือว่าเป็นการบริจาคเหมือนกัน ทำไมถึงชื่อว่าเป็นการบริจาค เพราะคุณงามความดีของเราเมื่อมันสูงขึ้นไปๆๆ ความชั่วนั้นก็หมดไปๆๆ หมดไปตามลำดับจนกว่าความชั่วนั้นจะหมดจากจิตจากใจของเรา ก็ชื่อว่าเราบริจาคโดยสิ้นเชิง โดยถาวร เพราะฉะนั้นจาคะ คือการบริจาคนั้นคือการบริจาคทั้งภายนอกและภายใน

6  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ เวรัญชกัณฑ์ เมื่อ: 26 เมษายน 2567 15:34:08


เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์
      [๙] ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลาเวรัญชพราหมณ์.
      ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์รับสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.
      เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวาย ไทยธรรมอันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทยธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
      หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
  ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละสำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น


เวรัญชภาณวาร จบ.

ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
7  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ เวรัญชกัณฑ์ เมื่อ: 26 เมษายน 2567 15:31:42


พระวินัยปิฎก เล่ม ๑
มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.


เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์

     [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูลประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบโลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพและมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี.


เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
      [๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้ นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป.
      ว. ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมมีปกติไม่ไยดี ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่มีสมบัติ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างรังเกียจดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างกำจัด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพ ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างกำจัด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ พราหมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมช่างเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.
      ว. ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด.
      ภ. มีอยู่จริงๆ พราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด พราหมณ์ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมไม่ผุดเกิด ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว.


ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
      [๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดทำลายกระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.
      ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.


ทรงแสดงฌาน ๔ และวิชชา ๓
      ภ. เราก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟองอันกระเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกระเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.


ปฐมฌาน
      เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.


ทุติยฌาน
      เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.


ตติยฌาน
      เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.


จตุตถฌาน
      เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.


บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัลป์ เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพโน้นนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพโน้นนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทส พร้อมทั้งอาการ ด้วยประการฉะนี้ พราหมณ์ วิชชาที่หนึ่งนี่แล เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไปแล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ฉะนั้น.


จุตูปปาตญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือว่าหมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หมู่สัตว์ผู้เกิดเป็นอยู่เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมด้วยประการดังนี้ พราหมณ์ วิชชาที่สองนี้แล เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งจิตไป แล้วอยู่ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


อาสวักขยญาณ
      เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกระเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.


เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
      [๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่จำพรรษา ที่เมืองเวรัญชาของข้าพเจ้าเถิด.
      พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไป.


เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย
      [๕] ก็โดยสมัยนั้นแล เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้นพวกพ่อค้าม้าชาวอุตราปถะ มีม้าประมาณ ๕๐๐ ตัว ได้เข้าพักแรมตลอดฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาได้ตกแต่งข้าวแดงสำหรับภิกษุรูปละแล่งไว้ที่คอกม้า เวลาเช้าภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา เมื่อไม่ได้บิณฑบาต จึงเที่ยวไปบิณฑบาตที่คอกม้า รับข้าวแดงรูปละแล่ง นำไปสู่อารามแล้วลงครกโขลกฉัน ส่วนท่านพระอานนท์บดข้าวแดงแล่งหนึ่งที่ศิลา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่บดถวายนั้นอยู่ ได้ทรงสดับเสียงครกแล้ว.


พระพุทธประเพณี
      พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง.
      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงครกหรือหนอ จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ดีละ ดีละ อานนท์ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะวิเศษแล้ว พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลังจักดูหมิ่นข้าวสาลีและข้าวสุกอันระคนด้วยเนื้อ.


พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท
      [๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชา มีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดินผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่ไม่มีตัวอ่อนฉะนั้น ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงพลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระพุทธเจ้าข้า.
      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำอย่างไรแก่สัตว์เหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลายจะพึงได้รับผลตรงกันข้าม.
      ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น?
      ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.
      ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย.


เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
      [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.
      ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.
      ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.
      ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?
      ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้
ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
      ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.


ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
      [๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคตถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้
พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน.
      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ ดูกรสารีบุตรก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.


8  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / บัญญัติ 2 และ 6 เมื่อ: 26 เมษายน 2567 15:21:48


        บัญญัติ 2 และ 6

บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

ที่มา :  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
9  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ว่าด้วยราคาข้าวสาร เมื่อ: 26 เมษายน 2567 15:13:48




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ว่าด้วยราคาข้าวสาร

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ พระโลฬฺทายีเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

สมัยนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตร ได้เป็นพระภัตตุเทสก์ของสงฆ์ เมื่อพระทัพพมัลลบุตรนั้นแสดงสลากภัตเป็นต้น แต่เช้าตรู่ บางคราวพระอุทายีก็ได้ภัตดี บางคราวก็ได้ภัตเลว ในวันที่ได้ภัตเลว พระอุทายีนั้น ก็กระทำโรงสลากให้วุ่นวาย ด้วยการกล่าวว่า มีเพียงพระทัพพะเท่านั้น ที่รู้การให้สลากหรือ ? พวกเราไม่รู้หรือ ? เมื่อพระอุทายีนั้นทำโรงสลากให้วุ่นวายอยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงได้ให้พระอุทายีนั้นเป็นผู้ให้สลาก

นับแต่พระอุทายีนั้นได้เป็นผู้ให้สลากแก่สงฆ์ แต่เมื่อท่านไม่รู้วิธีการที่เหมาะสม เมื่อจะให้ ก็ไม่รู้ว่า นี้ภัตดีหรือภัตเลว หรือ ไม่รู้ว่า ภัตดีตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ภัตเลวตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ไม่ได้กำหนดว่า บัญชีแสดงยอดจำนวนอยู่ในโรงโน้น ? จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย จึงกล่าวกะพระอุทายีนั้นว่า ดูก่อนอาวุโสอุทายี เมื่อท่านเป็นผู้ให้สลาก ภิกษุทั้งหลายพากันเสื่อมลาภ ท่านไม่สมควรให้สลาก จงออกไปจากโรงสลาก แล้วฉุดคร่าออกจากโรงสลาก ขณะนั้น ในโรงสลาก ได้มีความวุ่นวายมาก.

พระศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสถามพระอานนท์เถระว่า อานนท์ ในโรงสลากมีความวุ่นวายมาก นั่นชื่อว่าเสียงอะไร พระเถระได้กราบทูล เรื่องนั้นแด่พระตถาคต พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ อุทายีกระทำความเสื่อมลาภแก่คนอื่น เพราะความที่ตนเป็นคนโง่ มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน พระเถระทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตไว้ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต อยู่ในพระนคร พาราณสี แคว้นกาสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายได้เป็นพนักงานตีราคาทองของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ได้ตีราคาช้างและราคาม้าเป็นต้น และแก้วมณีกับทองเป็นต้น ครั้นตีราคาแล้วให้มูลค่าอันสมควรแก่เจ้าของทรัพย์นั้น แต่พระราชาทรงเป็นคนโลภ จึงทรงดำริว่า พนักงานตีราคาคนนี้ เมื่อตีราคาอยู่อย่างนี้ ไม่นานนัก ทรัพย์ในวังของเราจักถึงความหมดสิ้นไป เราควรตั้งคนอื่นให้เป็นพนักงานตีราคาจะดีกว่า

พระราชานั้นจึงทรงให้เปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดูพระลานหลวง ทรงเห็นบุรุษชาวบ้านคนหนึ่งผู้ทั้งเหลวไหลและโง่เขลา จึงทรงพระดำริว่า

“ผู้นี้จักอาจกระทำงานในตำแหน่งพนักงานตีราคาของเราได้”

จึงรับสั่ง ให้เรียกเขามา แล้วจึงทรงตั้งบุรุษเขลาคนนั้นไว้ในงานของผู้ตีราคา เพื่อต้องการรักษาทรัพย์ของพระองค์ ตั้งแต่นั้น บุรุษผู้โง่เขลานั้น เมื่อจะตีราคาช้างและม้าเป็นต้น ก็ตีราคาเอา ตามความชอบใจ ทำให้เสียราคา เพราะเมื่อเขาดำรงอยู่ในตำแหน่งนั้น เขากล่าวคำใด คำนั้นนั่นแหละเป็นราคา

ครั้งหนึ่งพ่อค้าม้าคนหนึ่ง นำม้า ๕๐๐ ตัว มาจากแคว้นอุตตราปถะ พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษนั้นมาให้ตีราคาม้า บุรุษนั้นได้ตั้งราคาม้า ๕๐๐ตัว ด้วยข้าวสารทะนานเดียว และเมื่อตีราคาแล้ว จึงกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงให้ข้าวสารหนึ่งทะนานแก่พ่อค้าม้า แล้วให้พักม้าไว้ในโรงม้า.”

พ่อค้าม้าจึงไปยังสำนักของพนักงานตีราคาคนเก่า บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วถามว่า

“บัดนี้ ควรจะทำอย่างไร ?”

พนักงานตีราคาคนเก่านั้นกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงให้สินบนแก่บุรุษนั้นแล้วถามอย่างนี้ว่า ม้าทั้งหลายของพวก ข้าพเจ้ามีราคาข้าวสารทะนานเดียว ข้อนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้าประสงค์จะรู้ราคาของข้าวสารทะนานเดียว ท่านสามารถจะตีราคาข้าวสารหนึ่งทะนาน ต่อเบื้องพระพักตร์พระราชาหรือไม่ ถ้าเขาพูดว่า สามารถทำได้เช่นนั้น พวกท่านก็จงพาเขาไปยังพระราชวัง และเราก็จะไปในที่นั้นด้วย”

พ่อค้ารับคำพระโพธิสัตว์แล้วก็ให้สินบนแก่นักตีราคา แล้วบอกเนื้อความนั้น นักตีราคานั้นพอได้สินบนเท่านั้นก็กล่าวว่า

“เราสามารถจะตีราคาข้าวสารหนึ่งทะนานได้”

พ่อค้าม้ากล่าวว่า

“ถ้าอย่างนั้น พวกเราจงพากันไปยังพระราชวังเถิด”

แล้วได้พานักตีราคานั้นไป พระโพธิสัตว์ก็ดี อำมาตย์เป็นอันมากก็ดี ได้พากันไปอยู่ ณ ที่นั้น พ่อค้าม้าถวายบังคมพระราชา แล้วทูลถามว่า

“ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้ทราบว่าม้า ๕๐๐ ตัวมีราคาเท่าข้าวสารหนึ่งทะนาน แต่ข้าวสารหนึ่งทะนานนี้มีราคาเท่าไร ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดถามพนักงานตีราคา พระเจ้าข้า”

พระราชาไม่ทราบความเป็นไปนั้นจึงตรัสถามว่า

“ท่านนักตีราคาผู้เจริญ ม้า ๕๐๐ ตัวมีราคาเท่าไร ?”

พนักงานตีราคากราบทูลว่า

“มีราคาข้าวสารหนึ่งทะนานพระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า

“แล้วข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น มีราคาเท่าไร ?”

บุรุษโง่ผู้นั้นกราบทูลว่า “ข้าวสารหนึ่งทะนานย่อมถึงค่าเมืองพาราณสี ทั้งภายในและภายนอก พะย่ะค่ะ.”

ได้ยินว่า ในกาลก่อน บุรุษโง่นั้นสนองพระราชประสงค์ของพระราชา จึงได้ตีราคาม้าทั้งหลายด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง แต่เมื่อได้สินบนจากมือของพ่อค้า กลับตีราคาเมืองพาราณสีทั้งภายในและภายนอก ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น ก็ในกาลนั้น เมืองพาราณสีได้ล้อมกำแพงประมาณ ๑๒ โยชน์ และถ้าจะรวมแคว้นทั้งภายในและ ภายนอกเมืองพาราณสีนี้ก็จะมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์ บุรุษโง่นั้นได้ตีราคาเมือง พาราณสีทั้งภายในและภายนอกอันใหญ่โตอย่างนี้ ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนาน ฉะนี้.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถานี้ว่า

“ข้าวสารหนึ่งทะนานมีราคาเท่าไร

พระนครพาราณสีทั้งภายในนอกมีราคาเท่าไร

ข้าวสารทะนานเดียว มีราคาม้า ๕๐๐ ตัวเทียวหรือ.”

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงพากันตบมือหัวเราะ และทำการเยาะเย้ยว่า “เมื่อก่อน พวกเราได้มีความสำคัญว่า แผ่นดินและราชสมบัติหาค่ามิได้ นัยว่าราชสมบัติในเมืองพาราณสีพร้อมทั้งพระราชวังอันใหญ่โตอย่างนี้ มีค่าเพียงข้าวสารทะนานเดียว โอ ! ความเพียบพร้อมของพนักงานตีราคาเช่นท่าน ช่างเหมาะสม กับพระราชาของพวกเราทีเดียว”

ครั้งนั้น พระราชาทรงละอาย ให้ฉุดคร่าบุรุษโง่นั้นออกไป แล้วได้พระราชทานตำแหน่งพนักงานตีราคาแก่พระโพธิสัตว์ตามเดิม พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดกว่า


พนักงานตีราคาผู้เป็นชาวบ้าน โง่เขลาในกาลนั้น ได้เป็นพระโลฬุทายีในบัดนี้
พนักงานตีราคาผู้เป็นบัณฑิต ในกาลนั้น ได้เป็น เราผู้ตถาคต แล.


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
10  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด อภิธัมมนิทาน เมื่อ: 26 เมษายน 2567 15:07:04
                   

                    อภิธัมมนิทาน


กะรุณา  วิยะ  สัตเตสุ                 ปัญญายัสสะ  มะเหสิโน

เญยยะธัมเมสุ  สัพเพสุ                ปะวัตติตถะ  ยะถารุจิง

ทะยายะ ตายะ  สัตเตสุ                สะมุสสาหิตะมานะโส

ปาฏิเหราวะสานัมหิ                    วะสันโต  ติทะสาละเย

ปาริจฉัตตะกะมูลัมหิ                   ปัณฑุกัมพะละนามะเก

สิลาสะเน  สันนิสินโน                  อาทิจโจวะ  ยุคันธะเร

จักกะวาฬะสะหัสเสหิ                   ทะสะหาคัมมะ  สัพพะโส

สันนิสินเนนะ เทวานัง                  คะเณนะ  ปะริวาริโต

มาตะรัง  ปะมุขัง  กัตวา               ตัสสา  ปัญญายะ  เตชะสา

อะภิธัมมะกะถัง  มัคคัง                 เทวานัง  สัมปะวัตตะยิ

ตัสสะ  ปาเท นะมัสสิตวา               สัมพุทธัสสะ  สิรีมะโต

สัทธัมมัญจัสสะ  ปูเชตวา              กัตวา  สังฆัสสะ  จัญชะลิง

นิปัจจะการัสเส   ตัสสะ                กะตัสสะ  ระตะนัตตะเย

        อานุภาเวนะ  โสเสตวา                   อันตะราเย  อะเสสะโต

        อิติ  เม ภาสะมานัสสะ                    อะภิธัมมะกะถัง อิมัง

        อะวิกขิตวา   นิสาเมถะ                   ทุลละภา  หิ  อะยัง  กะถา ฯ


เอกัง  สะมะยัง  ภะคะวา  เทเวสุ วิหะระติ  ตาวะติงเสสุ  ปาริจฉัตตะ-

กะมูลัมหิ  ปัณฑุกัมพะละสิลายัง ตัตระ โข  ภะคะเว  เทวานัง  ตาวะติง-

สานัง  อะภิธัมมะกะถัง กะเถสิ


        จิตตะวิภัตติรูปัญจะ                        นิกเขโป  อัตถะโชตะนา

        คัมภีรัง   นิปุณัง  ฐานัง                   ตัมปิ  พุทเธนะ  เทสิตัง ฯ


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
11  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / ปฏิจจสมุปบาท เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:41:57


ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)

       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)

       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8  อวิชชา 4; อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ สังขาร 3๒ หรือ อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูปขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); รูป 2๑, 28; มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; รูป 2๒
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับอภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้

       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 หรือ ไตรวัฏฏ์

       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)

       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น

       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)

       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ

       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท

       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.



ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
12  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๔.จุลลกเศรษฐีชาดก ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:31:05




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๔.จุลลกเศรษฐีชาดก ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ใน ชีวกัมพวัน ทรงปรารภ พระจุลลปันถกเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้ เบื้องต้น พึงกล่าวการเกิดขึ้น และการบรรพชาของพระจุลลปันถกในอัมพวันนั้นก่อน มีกถาตามลำดับดังต่อไปนี้

      ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ได้ทำความเชยชิดกับทาสของตนเอง กลัวว่า แม้คนอื่นจะรู้กรรมนี้ของเรา จึงกล่าวอย่างนี้ ถ้าบิดามารดาของเราจักรู้โทษนี้ จักกระทำให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ พวกเราจักไปอยู่ต่างประเทศ จึงถือของสำคัญที่จะถือไปได้ ออกทางประตูลับ.

   แม้ทั้งสองคนได้พากันไปด้วยคิดว่า จักไปยังที่ที่คนอื่นไม่รู้จัก แล้วอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง. เมื่อผัวเมียทั้งสองนั้นอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกัน ธิดาเศรษฐีก็ตั้งครรภ์. ธิดาเศรษฐีนั้นอาศัยครรภ์แก่ จึงปรึกษากับสามี แล้วกล่าวว่า

  “ครรภ์ของเราแก่แล้ว ชื่อว่าการคลอดบุตร ในที่ที่ห่างเหินจากญาติและพวกพ้อง ย่อมเป็นทุกข์แท้สำหรับเราทั้งสอง พวกเราจักไปเฉพาะยังเรือนของตระกูล.”

   สามีนั้นคิดว่า ถ้าเราจักไปบัดนี้ ชีวิตของเราจะไม่มีจึงผลัดวันอยู่ว่า จะไปวันนี้จะไปวันพรุ่งนี้.

   ธิดาเศรษฐีนั้นคิดว่า สามีนี้เป็นคนโง่ ไม่อุตสาหะที่จะไปเพราะโทษของตนมีมาก ธรรมดาว่า บิดามารดามีประโยชน์เกื้อกูล โดยส่วนเดียวในบุตรธิดา สามีนี้จะไปหรือไม่ก็ตาม เราควรจะไป เมื่อสามีนั้นออกจากเรือน นางจึงเก็บงำบริขารในเรือน บอกถึงความที่ตนไป เรือนของตระกูลแก่ชาวบ้านใกล้เคียง แล้วเดินทาง.

   ลำดับนั้น บุรุษนั้นมาเรือนไม่เห็นนาง จึงถามคนที่คุ้นเคย ได้ฟังว่า ไปเรือนตระกูล จึงรีบตามไปทันในระหว่างทาง. ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นก็ได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้น นั่นเอง. สามีนั้นถามว่า

   “นางผู้เจริญ นี่อะไร.”

   ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นกล่าวว่า “บุตรคนหนึ่งเกิดแล้ว.”

   สามีกล่าวว่า “บัดนี้ พวกเราจักทำอย่างไร.”

   ธิดาเศรษฐีกล่าวว่า “พวกเราจะไปเรือนของตระกูล เพื่อประโยชน์แก่กรรมใด กรรมนั้นได้สำเร็จแล้ว ในระหว่างทาง พวกเราจักไปที่นั้นทำอะไร พวกเราจักกลับ.”

   แม้ทั้งสองคนเป็นผู้มีความคิดเป็นอันเดียวกันกลับแล้ว.

   ก็เพราะทารกนั้นเกิดในระหว่างทาง บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่าปันถก ไม่นานเท่าไรนัก นางก็ตั้งครรภ์อื่นอีก เรื่องราวทั้งปวงพึงให้พิศดาร โดยนัยก่อนนั่นแหละ. ก็เพราะทารก แม้คนนั้นก็เกิดในหนทาง บิดามารดาจึงตั้งชื่อ บุตรผู้เกิดทีแรกว่า มหาปันถก ตั้งชื่อบุตรคนที่สองว่า จุลลปันถก สามีภรรยานั้นพาทารก แม้ทั้งสองคนมายังที่อยู่ของตน นั่นแล.

   เมื่อสามีภรรยาทั้งสองนั้นอยู่ในที่นั้น มหาปันถกทารกได้ฟังคนอื่นๆ พูดว่าอา ว่าปู่ ว่าย่า จึงถามมารดาว่า

   “แม่จ๋า พวกเด็กอื่นๆ พูดว่าปู่ พูดว่าย่า ญาติของเราไม่มีหรือ.”

   มารดากล่าวว่า “จ้ะพ่อ ในที่นี้ ญาติของพวกเราไม่มี แต่ในพระนครราชคฤห์ พวกเรามีตาชื่อว่ามหาธนเศรษฐี ญาติของพวกเรามีอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นมาก.”

   มหาปันถกกล่าวว่า “เพราะเหตุไร พวกเราจึงไม่ไปที่เมืองราชคฤห์นั้น ละแม่.”

   นางไม่บอกเหตุที่ตนมาแก่บุตร เมื่อบุตรทั้งสองรบเร้าถามอยู่ จึงกล่าวกะสามีว่า

   “เด็กเหล่านี้ทำเราให้ลำบากเหลือเกิน บิดามารดาเห็นพวกเราแล้ว จักกินเนื้อเทียวหรือ มาเถิดพวกเราจักแสดงตระกูลของตาแก่เด็กทั้งหลาย.”

   สามีกล่าวว่า “เราจักไม่อาจไปประจัญหน้า แต่เราจักนำไป.”

   ภรรยากล่าวว่า “ดีแล้ว พวกเด็กๆ ควรจะเห็นตระกูลของตานั่นแล โดยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง.”

   ชนแม้ทั้งสองนั้นพาทารกทั้งสองไปถึงเมืองราชคฤห์โดยลำดับ แล้วพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งใกล้ประตูเมือง แล้วให้บอกบิดามารดา ถึงความที่มารดาของทารก พาเอาทารก ๒ คนมา.
             ตายายเหล่านั้นได้ฟังข่าวนั้น แล้วกล่าวว่า

   “คนชื่อว่าไม่ใช่บุตร ไม่ใช่ธิดา ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายผู้เที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ คนเหล่านั้นมีความผิดมากแก่พวกเรา คนเหล่านั้นไม่อาจเพื่อจะดำรงอยู่ในคลองจักษุของพวกเรา ชนแม้ทั้งสองจงถือเอาทรัพย์ชื่อมีประมาณเท่านี้ ไปยังที่ที่ผาสุกเลี้ยงชีวิตอยู่เถิด แต่จงส่งทารกทั้งสองคนมาไว้ที่นี้.”

   ธิดาเศรษฐีถือเอาทรัพย์ที่บิดามารดาส่งมา แล้วส่งทารกทั้งสองให้ไปในมือของพวกทูตที่มา นั่นแหละ. ทารกทั้งสองเจริญเติบโตอยู่ในตระกูลของตา.

   บรรดาทารกทั้งสองนั้น จุลลปันถกยังเยาว์เกินไป ส่วนมหาปันถกไปฟังธรรมกถาของพระทศพลกับตา เมื่อมหาปันถกนั้นฟังธรรมในที่พร้อมพระพักตร์ของพระศาสดาเป็นนิตย์ จิตก็น้อมไปเพื่อบรรพชา. เขาจึงกล่าวกะตาว่า

   “ถ้าท่านยอมรับ กระผมจะบวช.”

   ตากล่าวว่า “เจ้าพูดอะไร พ่อ เจ้าเป็นที่รักของตา การบรรพชาเฉพาะของเจ้าเท่านั้น ดีกว่าการบรรพชา แม้ของชาวโลกทั้งสิ้น ถ้าเจ้าอาจ จงบวชเถอะพ่อ.”

   ครั้นรับคำแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า

   “ท่านมหาเศรษฐี ท่านได้ทารกนี้มาหรือ.”

   มหาเศรษฐีกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทารกนี้เป็นหลานของข้าพระองค์ เขาพูดว่า จะบวชในสำนักของพระองค์.”

   พระศาสดาจึงทรงสั่งภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งว่า “เธอจงให้ทารกนี้บวช.”

   พระเถระบอกตจปัญจกกรรมฐานแก่มหาปันถกนั่น แล้วให้บวช มหาปันถกนั้นเรียนพุทธวจนะเป็นอันมาก มีพรรษาครบบริบูรณ์แล้ว ได้อุปสมบทเป็นอุปสัมบัน กระทำกรรมฐานโดยโยนิโสมนสิการ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว.

   พระมหาปันถกนั้นยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌานและความสุขในมรรค จึงคิดว่า เราอาจไหมหนอเพื่อจะให้สุขนี้แก่จุลลปันถก. ลำดับนั้น ท่านมหาปันถกจึงไปยังสำนักของเศรษฐีผู้เป็นตา กล่าวว่า

   “ท่านมหาเศรษฐี ถ้าท่านยินยอม อาตมภาพจักให้จุลลปันถกบวช.”

   มหาเศรษฐีกล่าวว่า “จงให้บวชเถิดท่านผู้เจริญ.” พระเถระให้จุลลปันถกทารกบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐.

   สามเณรจุลลปันถกพอบวชแล้วเท่านั้น ได้เป็นคนเขลา สมดังที่ท่านกล่าวว่า โดยเวลา ๔ เดือนไม่อาจเรียนคาถาเดียวนี้ว่า

   “ดอกบัวโกกนุทมีกลิ่นหอม ไม่ปราศจากกลิ่นหอม พึงบานแต่เช้าฉันใด ท่านจงดูพระอังคีรสผู้ไพโรจน์ เหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงจ้าในอากาศ ฉะนั้น.”

   ได้ยินว่า พระจุลลปันถกนั้นบวชในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญา ได้ทำการหัวเราะเยาะ ในเวลาที่ภิกษุผู้เขลารูปหนึ่งเรียนอุเทศ. ภิกษุนั้นละอาย เพราะการเย้ยหยันนั้น จึงไม่เรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย. เพราะกรรมนั้น พระจุลลปันถกนี้พอบวชเท่านั้นจึงเกิดเป็นคนเขลา เมื่อท่านเรียนบทเหนือๆ ขึ้นไป บทที่เรียนแล้วๆ ก็เลือนหายไป เมื่อท่านจุลลปันถกนั้นพยายามเรียนคาถานี้เท่านั้น ๔ เดือนล่วงไปแล้ว

   ลำดับนั้น พระมหาปันถกจึงคร่าพระจุลลปันถกนั้นออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า

   “จุลลปันถก เธอเป็นผู้อาภัพในพระศาสนานี้ โดย ๔ เดือนไม่อาจเรียนคาถาเดียวได้ ก็เธอจักทำกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดได้อย่างไร จงออกไปจากวิหาร.” พระจุลลปันถกไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ เพราะความรักในพระพุทธศาสนา.

   ในคราวนั้น พระมหาปันถกได้เป็นพระภัตตุเทสก์ผู้แจกภัต. หมอชีวกโกมารภัจถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมาก ไปยังอัมพวันของตน บูชาพระศาสดา ฟังธรรม แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระทศพล แล้วเข้าไปหาพระมหาปันถก ถามว่า

   “ท่านผู้เจริญในสำนักของพระศาสดา มีภิกษุเท่าไร?”

   พระมหาปันถกกล่าวว่า “มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป.”

   หมอชีวกกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ท่านจงพาภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ไปรับภิกษาในนิเวศน์ของผม.”

   พระเถระกล่าวว่า “อุบาสก ชื่อว่าพระจุลลปันถก เป็นผู้เขลา มีธรรมไม่งอกงาม อาตมภาพจะนิมนต์ เพื่อภิกษุที่เหลือ ยกเว้นพระจุลลปันถกนั้น.”

   พระจุลลปันถกได้ฟังดังนั้น จึงคิดว่า พระเถระพี่ชายของเรา เมื่อรับนิมนต์เพื่อภิกษุทั้งหลาย มีประมาณเท่านี้ก็รับ กันเราไว้ภายนอก พี่ชายของเราจักผิดใจในเรา โดยไม่ต้องสงสัย. บัดนี้ เราจะประโยชน์อะไรด้วยพระศาสนานี้ เราจักเป็นคฤหัสถ์กระทำบุญ มีทานเป็นต้น เลี้ยงชีวิต.

   วันรุ่งขึ้น พระจุลลปันถกนั้นไปแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่าจักเป็นคฤหัสถ์. ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจโลก ได้ทรงเห็นเหตุนั้นนั่นแล จึงเสด็จไปก่อนล่วงหน้า ได้ประทับยืนจงกรม อยู่ที่ซุ้มประตู ใกล้ทางที่พระจุลลปันถกจะไป. พระจุลลปันถก เมื่อจะเดินไปสู่เรือน เห็นพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้า แล้วถวายบังคม.

   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระจุลลปันถกนั้นว่า

   “จุลลปันถก ก็เธอจะไปไหน ในเวลานี้.”

   พระจุลลปันถกกราบทูลว่า

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพี่ชายฉุดคร่าข้าพระองค์ออก ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์จะไปด้วยคิดว่า จักเป็นคฤหัสถ์.”

   พระศาสดาตรัสว่า “จุลลปันถก ชื่อว่าการบรรพชาของเธอในสำนักของเรา เธอถูกพระพี่ชายฉุดคร่าออกไป เพราะเหตุไร จึงไม่มายังสำนักของเรา มาเถิด เธอจะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นคฤหัสถ์ เธอจักอยู่ในสำนักของเรา”

   แล้วทรงพาพระจุลลปันถกไป ให้พระจุลลปันถกนั้นนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ตรัสว่า

   “จุลลปันถก เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จงอยู่ในที่นี้แหละ ลูบคลำผ้าท่อนเก่าไปว่า รโชหรณํ รโชหรณํ ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป”

   แล้วทรงประทานผ้าเก่าอันบริสุทธิ์ ซึ่งทรงปรุงแต่งด้วยฤทธิ์. เมื่อเขากราบทูลเวลา (ภัตตาหาร) ให้ทรงทราบ จึงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังนิเวศน์ของหมอชีวก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดแล้ว

   ฝ่ายพระจุลลปันถกมองดูพระอาทิตย์ นั่งลูบท่อนผ้าเก่านั้นว่า รโชหรณํ รโชหรณํ เมื่อพระจุลลปันถกนั้น ลูบท่อนผ้าเก่านั้นอยู่ ผ้าได้เศร้าหมองไป แต่นั้น พระจุลลปันถกจึงคิดว่า ท่อนผ้าเก่าผืนนั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แต่เพราะอาศัยอัตภาพนี้ จึงละปรกติ เกิดเศร้าหมองอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ จึงเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อม เจริญวิปัสสนา.

   พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของจุลลปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า

   “จุลลปันถก เธออย่ากระทำความสำคัญว่า ท่อนผ้าเก่านั่นเท่านั้น เป็นของเศร้าหมองย้อมด้วยฝุ่นธุลี แต่ธุลีคือราคะเป็นต้นเหล่านั้น มีอยู่ในภายใน เธอจงนำธุลีคือราคะเป็นต้นนั้นไปเสีย” แล้วทรงเปล่งโอภาสเป็นผู้มีพระรูปโฉมปรากฏ เหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

   “ราคะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่าธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของราคะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

   โทสะเรียกว่าธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของโทสะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

   โมหะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่า ธุลี นี้เป็นชื่อของโมหะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.”

   ในเวลาจบคาถา พระจุลลปันถกบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ปิฎกทั้งสามมาถึงแก่พระจุลลปันถกนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายเทียว.

   ได้ยินว่า ในกาลก่อน พระจุลลปันถกนั้นเป็นพระราชา กำลังทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโทไหลออกจากพระนลาต จึงเอาผ้าสาฎกบริสุทธิ์เช็ดพระนลาต ผ้าสาฎกได้เศร้าหมองไป พระราชานั้นทรงได้อนิจจสัญญา ความหมายว่าไม่เที่ยง ว่าผ้าสาฎกอันบริสุทธิ์เห็นปานนี้ ละปรกติเดิม เกิดเศร้าหมอง เพราะอาศัยร่างกายนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ด้วยเหตุนั้น ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีออกไปเท่านั้น เกิดเป็นปัจจัยแก่พระจุลลปันถกนั้น.

   ฝ่ายหมอชีวกโกมารภัจน้อมนำนํ้าทักษิโณทกเข้าไปถวายพระทศพล พระศาสดาเอาพระหัตถ์ปิดบาตร โดยตรัสว่า

   “ชีวก ในวิหารมีภิกษุอยู่มิใช่หรือ.”

   พระมหาปันถกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารไม่มีภิกษุมิใช่หรือ พระเจ้าข้า.” พระศาสดาตรัสว่า “ชีวก มีภิกษุ.” หมอชีวกจึงส่งบุรุษไป โดยสั่งว่า “พนาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงไป อนึ่ง จงรู้ว่า ในวิหารมีภิกษุหรือไม่มี.”

   ขณะนั้น พระจุลลปันถกคิดว่า พี่ชายของเราพูดว่า “ในวิหารไม่มีภิกษุ” เราจักประกาศความที่ภิกษุทั้งหลายมีอยู่ในวิหาร แก่พี่ชายของเรานั้น แล้วบันดาลให้อัมพวันทั้งสิ้น เต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ภิกษุพวกหนึ่งทำการจีวรกรรม ภิกษุพวกหนึ่งทำกรรม คือย้อมจีวร ภิกษุพวกหนึ่งทำการสาธยาย ท่านนิรมิตภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ซึ่งเหมือนกันและกันอย่างนี้ บุรุษนั้นเห็นภิกษุมากมายในวิหาร จึงกลับไปบอกหมอชีวกว่า ข้าแต่นาย อัมพวันทั้งสิ้นเต็มด้วยภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นั้นแหละ แม้พระเถระ

   ก็นิรมิตอัตภาพตั้งพัน [ล้วนเป็น] พระปันถกนั่ง

   อยู่ในอัมพวันอันรื่นรมย์จนกระทั่งประกาศเวลา

   [ภัต] ให้ทราบกาล.

   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า

   “ท่านจงไปวิหาร กล่าวว่า พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อว่า จุลลปันถก.”

   เมื่อบุรุษนั้นไป กล่าวอย่างนั้นแล้ว ปากตั้งพัน ก็ตั้งขึ้นว่า อาตมะชื่อจุลลปันถก อาตมะชื่อจุลลปันถก. บุรุษไปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า ภิกษุแม้ทั้งหมด ชื่อจุลลปันถกทั้งนั้น.”

   พระศาสดาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปจับมือภิกษุผู้พูดก่อนว่า อาตมะชื่อจุลลปันถก ภิกษุที่เหลือจะอันตรธานไป”

   บุรุษนั้นได้กระทำอย่างนั้น ทันใดนั้นเอง ภิกษุประมาณพันรูปได้อันตรธานหายไป พระเถระได้ไปกับบุรุษนั้น.

   ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดาตรัสเรียกหมอชีวก มาว่า ชีวก ท่านจงรับบาตรของพระจุลลปันถก พระจุลลปันถกนี้จักกระทำอนุโมทนาแก่ท่าน. หมอชีวกได้กระทำอย่างนั้น พระเถระบันลือสีหนาท ดุจราชสีห์หนุ่มยังปิฎกทั้ง ๓ ให้กำเริบ กระทำอนุโมทนา.

   พระศาสดาเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จไปยังพระวิหาร เมื่อภิกษุทั้งหลายแสดงวัตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ประทับยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานโอวาทของพระสุคตแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสบอกพระกรรมฐาน ทรงส่งภิกษุสงฆ์ไป แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎีอันอบด้วยของหอมอันมีกลิ่นหอม ทรงเข้าสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา

   ครั้นในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายประชุมกันรอบด้าน ในโรงธรรมสภา นั่งเหมือนวงม่านผ้ากัมพลแดง ปรารภเรื่องพระคุณของพระศาสดาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระมหาปันถกไม่รู้ อัธยาศัยของพระจุลลปันถก ไม่อาจให้เรียนคาถาเดียวโดยเวลา ๔ เดือน ฉุดออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า “จุลลปันถกนี้ โง่เขลา. แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่พระจุลลปันถกนั้น ในระหว่างภัตคราวเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ปิฎกทั้งสามมาพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทีเดียว น่าอัศจรรย์ ชื่อว่า พุทธพลังใหญ่หลวง.”

   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปของเรื่องนี้ในโรงธรรมสภา ทรงพระดำริว่า วันนี้ เราควรไป จึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธไสยา ทรงนุ่งผ้าสองชั้นอันแดงดี ทรงผูกรัดประคดประดุจสายฟ้าแลบ ทรงห่มมหาจีวรขนาดพระสุคตเช่นกับผ้ากัมพลแดง เสด็จออกจากพระคันธกุฎีอันมีกลิ่นหอม เสด็จไปยังโรงธรรมสภา ด้วยความงามอันเยื้องกราย ดุจช้างตัวประเสริฐอันซับมันและดุจราชสีห์ และด้วยพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ เสด็จขึ้นบวรพุทธอาสน์ที่ลาดไว้ ทรงเปล่งพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการเสมือนทรงยังท้องทะเลให้กระเพื่อม ประดุจพระอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ เหนือยอดเขายุคนธร ฉะนั้น ประทับนั่งท่ามกลางอาสนะ.

   ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอสักว่าเสด็จมา. ภิกษุสงฆ์ได้งดการพูดจา นิ่งอยู่แล้ว. พระศาสดาทรงแลดูบริษัท ด้วยพระเมตตาจิต อันอ่อนโยน ทรงพระดำริว่า บริษัทนี้งามเหลือเกิน การคะนองมือคะนองเท้า หรือเสียงไอเสียงจาม แม้ของภิกษุรูปเดียว ก็มิได้มี. ภิกษุแม้ทั้งปวงนี้ มีความเคารพด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า อันเดชของพระพุทธเจ้าคุกคามแล้ว เมื่อเรานั่ง ไม่กล่าวแม้ตลอดกัป.

   ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งถ้อยคำขึ้นกล่าวก่อน ชื่อว่าวัตรในการตั้งเรื่อง เราควรจะรู้ เราแหละจักกล่าวก่อน จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ด้วยพระสุรเสียง ดุจเสียงพรหมอันไพเราะ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไรที่พวกเธอพูดค้างไว้ในระหว่าง.

   ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั่งอยู่ในที่นี้ ไม่กล่าว เดียรฉานกถาอย่างอื่น แต่นั่งพรรณนาพระคุณทั้งหลายของพระองค์เท่านั้น ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระมหาปันถกไม่รู้อัธยาศัยของพระจุลลปันถก ไม่อาจให้เรียนคาถาเดียวโดย ๔ เดือน ฉุดออกจากวิหาร โดยกล่าวว่า พระจุลลปันถกนี้โง่เขลา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทาน พระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่พระจุลลปันถกนั้น ในระหว่างภัตครั้งเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม น่าอัศจรรย์ ชื่อว่า พระกำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ใหญ่หลวงนัก.”

   พระศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสว่า

   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระจุลลปันถกบรรลุถึงความเป็นใหญ่ในธรรม ในธรรมทั้งหลายในบัดนี้ เพราะอาศัยเราก่อน แต่ในปางก่อน จุลลปันถกนี้ถึงความเป็นใหญ่ในโภคะ แม้ในโภคะทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยเรา.”

   ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำ เหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้.

   ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้ว ได้รับตำแหน่งเศรษฐีได้ชื่อว่าจุลลกเศรษฐี จุลลกเศรษฐีนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม รู้นิมิตทั้งปวง. วันหนึ่ง จุลลกเศรษฐีนั้นไปสู่ที่บำรุงพระราชา เห็นหนูตายในระหว่างถนน คำนวณนักขัตฤกษ์ในขณะนั้นแล้ว กล่าวคำนี้ว่า "กุลบุตรผู้มีดวงตา คือปัญญา อาจเอาหนูตัวนี้ไปกระทำการเลี้ยงดูภรรยา และประกอบการงานได้."

   กุลบุตรผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อว่าจูฬันเตวาสิก ได้ฟังคำของเศรษฐีนั้น แล้วคิดว่า ท่านเศรษฐีนี้ไม่รู้ จักไม่พูด จึงเอาหนูไปขายในตลาดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นอาหารแมว ได้ทรัพย์กากณึกหนึ่ง จึงซื้อนํ้าอ้อยด้วยทรัพย์หนึ่งกากณึกนั้น แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักนํ้าไป เขาเห็นพวกช่างดอกไม้มาจากป่า จึงให้ชิ้นนํ้าอ้อยคนละหน่อยหนึ่ง แล้วให้ดื่มนํ้ากระบวยหนึ่ง พวกช่างดอกไม้เหล่านั้นได้ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา.

   แม้ในวันรุ่งขึ้น เขาก็เอาค่าดอกไม้นั้น ซื้อนํ้าอ้อยและนํ้าดื่มหม้อหนึ่ง ไปยังสวนดอกไม้ทีเดียว พวกช่างดอกไม้ได้ให้ กอดอกไม้ที่เก็บไปแล้ว ครึ่งกอแก่เขาในวันนั้นแล้วก็ไป ไม่นานนัก เขาก็ได้เงิน ๘ กหาปณะ โดยอุบายนี้.

   ในวันมีฝนเจือลมวันหนึ่ง ไม้แห้งกิ่งไม้ และใบไม้เป็นอันมาก ในพระราชอุทยาน ถูกลมพัดตกลงมาอีก คนเฝ้าอุทยานไม่เห็นอุบายที่จะทิ้ง เขาไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วกล่าวกะคนเฝ้าอุทยานว่า

   "ถ้าท่านจักให้ไม้และใบไม้เหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักนำของทั้งหมด ออกไปจากสวนนี้ของท่าน"

   คนเฝ้าอุทยานนั้นรับคำว่า "เอาไปเถอะ นาย."

   จูฬันเตวาสิกจึงไปยังสนามเล่นของพวกเด็กๆ ให้นํ้าอ้อย ให้ต้นไม้และใบไม้ทั้งหมด ออกไปโดยเวลาครู่เดียว ให้กองไว้ที่ประตูอุทยาน. ในกาลนั้น ช่างหม้อหลวงเที่ยวหาฟืนเพื่อเผาภาชนะดินของหลวง เห็นไม้และใบไม้เหล่านั้นที่ประตูอุทยาน จึงซื้อเอาจากมือของจูฬันเตวาสิกนั้น. วันนั้น จูฬันเตวาสิกได้ทรัพย์ ๑๖ กหาปณะ และภาชนะ ๕ อย่างมีตุ่มเป็นต้น ด้วยการขายไม้.

   เมื่อมีทรัพย์ ๒๔ กหาปณะ จูฬันเตวาสิกนั้นจึงคิดว่า เรามีอุบายนี้ แล้วตั้งตุ่มนํ้าดื่มตุ่มหนึ่งไว้ ในที่ไม่ไกลประตูพระนคร บริการคนหาบหญ้า ๕๐๐ คนด้วยนํ้าดื่ม. คนหาบหญ้า แม้เหล่านั้นกล่าวว่า สหาย ท่านมีอุปการะมากแก่พวกเรา พวกเราจะกระทำอะไรแก่ท่าน (ได้บ้าง). จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า เมื่อกิจเกิดขึ้นแก่เรา ท่านทั้งหลายจักกระทำ แล้วเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ได้กระทำความสนิทสนม โดยความเป็นมิตรกับคนผู้ทำงานทางบก และคนทำงานทางนํ้า.

   คนทำงานทางบกบอกแก่จูฬันเตวาสิกนั้นว่า

   "พรุ่งนี้ พ่อค้าม้าจักพาม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครนี้."

   นายจูฬันเตวาสิกนั้นได้ฟังคำของคนทำงานทางบกนั้นแล้ว จึงกล่าวกะพวกคนหาบหญ้าว่า

   "วันนี้ ท่านจงให้หญ้าแก่เราคนละกำ และเมื่อเรายังไม่ได้ขายหญ้า ท่านทั้งหลายอย่าขายหญ้าของตนๆ คนหาบหญ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว นำหญ้า ๕๐๐ กำ มาลงที่ประตูบ้านของจูฬันเตวาสิกนั้น."

   พ่อค้าม้าไม่ได้อาหารสำหรับม้าในพระนครทั้งสิ้น จึงให้ทรัพย์หนึ่งพันแก่จูฬันเตวาสิกนั้น แล้วถือเอาหญ้านั้นไป.

   แต่นั้นล่วงไป ๒-๓ วัน สหายผู้ทำงานทางนํ้าบอกแก่จูฬันเตวาสิกนั้นว่า เรือใหญ่มาจอดที่ท่าแล้ว. จูฬันเตวาสิกนั้นคิดว่า มีอุบายนี้. จึงเอาเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบริวารทั้งปวง แล้วไปยังท่าเรือด้วยยศใหญ่ ให้แหวนวงหนึ่งเป็นมัดจำแก่นายเรือ ให้วงม่าน นั่งอยู่ในที่ไม่ไกล สั่งคนไว้ว่า

   "เมื่อพ่อค้าภายนอกมา พวกท่านจงบอก โดยการบอกประวิงไว้สามครั้ง."

   พ่อค้าประมาณร้อยคนจากเมืองพาราณสีได้ฟังว่า เรือมาแล้ว จึงมาโดยกล่าวว่า

   “พวกเราจะซื้อเอาสินค้า.”

   นายเรือกล่าวว่า “พวกท่านจักไม่ได้สินค้า พ่อค้าใหญ่ในที่ชื่อโน้น ให้มัดจำไว้แล้ว”

   พ่อค้าเหล่านั้นได้ฟังดังนั้น จึงมายังสำนักของจูฬันเตวาสิกนั้น. คนผู้รับใช้ใกล้ชิด จึงบอกความที่พวกพ่อค้าเหล่านั้นมา โดยการบอกประวิงไว้สามครั้ง ตามสัญญาเดิม. พ่อค้าประมาณ ๑๐๐ คนนั้น ให้ทรัพย์คนละพัน เป็นผู้มีหุ้นส่วนเรือกับจูฬันเตวาสิกนั้น แล้วให้อีกคนละพันให้ปล่อยหุ้น ได้กระทำสินค้าให้เป็นของตน จูฬันเตวาสิกถือเอาทรัพย์สองแสน กลับมาเมืองพาราณสี คิดว่า เราควรเป็นคนกตัญญู จึงให้ถือเอาทรัพย์แสนหนึ่งไปยังที่ใกล้จุลลกเศรษฐี.

   ลำดับนั้น จุลลกเศรษฐีจึงถามจูฬันเตวาสิกนั้นว่า “ดูก่อนพ่อ เธอทำอะไรจึงได้ทรัพย์นี้.”

   จูฬันเตวาสิกนั้นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในอุบายที่ท่านบอก จึงได้ทรัพย์ภายใน ๔ เดือนเท่านั้น แล้วบอกเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่หนูตายเป็นต้นไป.”

   ท่านจุลลกมหาเศรษฐีได้ฟังคำของจูฬันเตวาสิกนั้น แล้วคิดว่า บัดนี้ เรากระทำทารกเห็นปานนี้ให้เป็นของเรา จึงจะควร จึงให้ธิดาของตนผู้เจริญวัยแล้ว กระทำให้เป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งสิ้น.

   เมื่อท่านเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกนั้นก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในนครนั้น. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ได้ไปตามยถากรรม.

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมยิ่งทีเดียว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

   บุคคลผู้มีปัญญารู้จักใคร่ครวญ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุน แม้มีประมาณน้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.

   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จุลลปันถก อาศัยเราแล้ว ถึงความเป็นใหญ่ในธรรม ในเพราะธรรมทั้งหลาย ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็อาศัยเรา จึงถึงความเป็นใหญ่ในโภคะ แม้เพราะโภคะทั้งหลาย แล้วตรัสเรื่อง ๒ เรื่อง สืบอนุสนธิกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า



จูฬันเตวาสิกในกาลนั้น ได้เป็น พระจุลลปันถก ในบัดนี้
         ส่วนจุลลกมหาเศรษฐีในกาลนั้น ได้เป็น เราผู้ตถาคต แล.

 
          พระคาถาประจำชาดก
อปฺปเกนปิ เมธาวี ปาภเฏน วิจกฺขโณ    สมุฏฐาเปติ อตฺตานํ อณุ อคฺคีว สนฺธนํ

คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนแม้น้อย
ดุจคนก่อไฟน้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง

13  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ปฐมพุทธะวะจะนะ เมื่อ: 24 เมษายน 2567 09:26:17
                    

                    ปฐมพุทธะวะจะนะ


                    อะเนกะชาติสังสารัง                         สันธาวิสสัง  อะนิพพิสัง

                    คะหะการัง  คะเวสันโต                      ทุกขา  ชาติ  ปุนัปปุนัง

                    คะหะการะกะ  ทิฏโฐสิ                       ปุนะ  เคหัง  นะ กาหะสิ

                    สัพพา เต  ผาสุกา  ภัคคา                  คะหะกูฏัง  วิสังขะตัง

                    วิสังขาระคะตัง  จิตตัง                       ตัณหานัง  ขะยะมัชฌะคาติ ฯ


ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
14  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๓. เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช เมื่อ: 21 เมษายน 2567 12:02:54




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต ๑. อปัณณกวรรค
๓. เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ รูปหนึ่งผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ดังนี้ก็พระศาสดาทรงเห็นภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลาย นำมาโดยนัยก่อนนั่นแล จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ  เธอบวชในศาสนาอันให้ มรรคผลเห็นปานนี้ เมื่อละความเพียรเสีย จักเศร้าโศกตลอดกาลนาน เหมือน เสรีววาณิชเสื่อมจากถาดทองอันมีค่าแสนหนึ่งฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอน พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงเรื่องนั้น ให้เเจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงอดีตนิทานไว้ดังนี้ในอดีตกาล ในกัปที่ ๕ แต่ภัทรกัปนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพ่อค้าเร่  ในแคว้นเสริวรัฐ เสรีววาณิชนั้น เมื่อออกเดินทางไปค้าขายก็ไปกับพ่อค้าเร่ผู้โลเลคนหนึ่ง ชื่อว่า เสรีวะ ก็ข้ามแม่น้ำชื่อว่า นีลพาหะ แล้วเข้าไปยังพระนครชื่อว่า อริฏฐปุระ แบ่งเขตถนนในนครกันแล้ว ต่างก็ไปเที่ยวขายสินค้าในถนนที่เป็นเขตของตนก็ในนครนั้น ได้มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลเก่าแก่ บุตร พี่น้อง และทรัพย์สินทั้งปวง ได้หมดสิ้นไป ได้มีเด็กหญิง คนหนึ่งเหลืออยู่กับยาย ยายหลานแม้ทั้งสองนั้น กระทำการรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีวิต ก็ในเรือนได้มีถาดทองที่ได้รับตกทอดมาถูกเก็บไว้กับภาชนะอื่น ๆ เมื่อไม่ได้ใช้สอยมานาน เขม่าก็จับ ยายและหลาน เหล่านั้นไม่รู้ว่าถาดนั้นเป็นถาดทองคำสมัยนั้น วาณิชโลเลคนนั้น เที่ยวร้องขายของว่า “มีเครื่องประดับมาขาย มีเครื่องประดับมาขาย”ครั้นได้ไปถึงประตูบ้านนั้น กุมาริกานั้นเห็นวาณิช นั้นจึงกล่าวกะยายว่า “ยาย ขอยายจงซื้อเครื่องประดับอย่างหนึ่งให้หนู”ยายกล่าวว่า “หนูเอ๋ย เราเป็นคนจน จักเอาอะไรไปซื้อ”กุมาริกากล่าวว่า “พวกเรามีถาดใบนั้นอยู่ และถาดใบนั้นไม่มีประโยชน์แก่พวกเรา จงให้ถาดใบนี้แล้ว แลกเอาเครื่องประดับมาเถิด” ยายจึงให้เรียกนายวาณิชมาแล้วให้นั่งบนอาสนะ ให้ถาดใบนั้นแล้วกล่าวว่า “เจ้านาย ท่านจงถือเอาถาดนี้ แล้วให้เครื่องประดับ อะไร ๆ ก็ได้แก่หลานสาวของฉัน” นายวาณิชเอามือจับถาดนั้น คิดว่าจักเป็นถาดทอง จึงพลิกเอาเข็มขีดที่หลังถาด รู้ว่าเป็นทอง จึงคิดว่า เราจักไม่ ให้อะไร ๆ แก่คนเหล่านี้ จักนำเอาถาดนี้ไป แล้วกล่าวว่า “ถาดใบนี้จะมีราคาอะไร ราคาของถาดใบนี้แม้กึ่งมาสกก็ยังไม่ถึง”จึงโยนไปที่พื้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.พระโพธิสัตว์คิดว่า คนอื่นย่อมเข้าไปยังถนนที่นายวาณิชเจ้าของเขตนั้น เข้าไปขายของและออกไปแล้วได้ จึงเข้าไปยังถนนนั้นร้องขายของว่า “มีเครื่องประดับมาขาย”และได้ไปถึงประตูบ้านนั้นแหละ กุมาริกานั้นกล่าวกะยายเหมือนอย่างนั้นแหละอีก ลำดับนั้น ยายได้กล่าวกะกุมาริกานั้นว่า “หลานเอ๋ย นายวาณิช ผู้มายังเรือนนี้ โยนถาดนั้นลงบนพื้นไปแล้ว บัดนี้ เราจักให้อะไรแลกกับเครื่องประดับ”กุมาริกากล่าวว่า “ยาย นายวาณิชคนนั้นพูดจาหยาบคาย ส่วนนายวาณิชคนนี้ น่ารัก พูดจาอ่อนโยน คงจะรับเอา”ยายกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นจงเรียกเขามา”กุมาริกานั้นจึงเรียกนายวาณิชนั้นมา ลำดับนั้น ยายและหลานได้ให้ถาดใบนั้นแก่พระโพธิสัตว์นั้น ผู้เข้าไปยังเรือนแล้วนั่ง พระโพธิสัตว์นั้นรู้ว่าถาดนั้นเป็นถาดทอง จึงกล่าวว่า “แม่ ถาดใบนี้มีค่าตั้งแสน สินค้าอันมีค่าเท่าถาด ไม่มีในมือของเรา” ยายและหลานจึงกล่าวว่า “เจ้านาย นายวาณิชผู้มาก่อนพูดว่า ถาดใบนี้มีค่าไม่ถึงแม้กึ่งมาสก แล้วเหวี่ยงถาดลงพื้นไป แต่ถาดใบนี้จักเกิดเป็นถาดทอง เพราะบุญของท่าน พวกเราให้ถาดใบนี้แก่ท่าน ท่านให้อะไร ๆ ก็ได้แก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดใบนี้ไปเถิด”ขณะนั้น พระโพธิสัตว์จึงให้กหาปณะ ๕๐๐ ซึ่งมีอยู่ในมือ และสินค้าซึ่งมีราคา ๕๐๐ กหาปณะ ทั้งหมด แล้วขอเอาไว้เพียงเท่านี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงให้ตาชั่งนี้กับ ถุง และกหาปณะ ๘ กหาปณะแก่ข้าพเจ้า แล้วถือเอาถาดนั้นหลีกไป”พระโพธิสัตว์นั้นรีบไปยังฝั่งแม่น้ำ ให้นายเรือ ๘ กหาปณะ แล้วขึ้นเรือไป ฝ่ายนายวาณิชพาล หวนกลับไปเรือนนั้นอีก แล้วกล่าวว่า “ท่านจง นำถาดใบนั้นมา เราจักให้อะไร ๆ บางอย่างแก่ท่าน”หญิงนั้นบริภาษนายวาณิชพาลคนนั้นแล้วกล่าวว่า “ท่านได้กระทำถาดทองอันมีค่าตั้งแสนของพวกเรา ให้มีค่าเพียงกึ่งมาสก แต่นายวาณิชผู้มีธรรมคนหนึ่งเหมือนกับนายท่านนั่นแหละ ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกเรา แล้วถือเอาถาดทองนั้นไปแล้ว”นายวาณิชพาล ได้ฟังดังนั้น คิดว่า เราเป็นผู้เสื่อมจากถาดทองอันมีค่าตั้งแสน วาณิชคนนี้ ทำความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแก่เราหนอ เกิดความโศกมีกำลัง ไม่อาจดำรง สติไว้ได้ จึงสลบไป (พอฟื้น) ได้โปรยกหาปณะที่อยู่ในมือ และสิ่งของไว้ที่ประตูเรือนนั่นแหละ ทิ้งผ้านุ่งผ้าห่ม ถือคันชั่งทำเป็นไม้ค้อน หลีกไปตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำนั้น เห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปอยู่ จึงกล่าวว่า “นายเรือผู้เจริญ ท่านจงกลับเรือ”พระโพธิสัตว์ห้ามว่า “อย่ากลับ.”เมื่อนายวาณิชพาล แม้นอกนี้ เห็นพระโพธิสัตว์ไปอยู่นั่นแล เกิดความโศกมีกำลัง หทัยร้อน เลือดพุ่งออกจากปาก หทัยแตก เหมือนโคลนในบึงฉะนั้น วาณิชพาลนั้นผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัตเป็นครั้งแรก พระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ได้ไปตามยถากรรม.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วแล ได้ตรัสพระคาถานี้ว่าถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง สิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อ เสรีวะผู้นี้ ฉะนั้นพระศาสดาทรงถือเอาถาดทองด้วยพระหัตถ์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ แก่ภิกษุนี้อย่างนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ แม้พระศาสดาก็ทรงตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า วาณิชพาลในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็น เราเอง ทรงให้เทศนาจบลงแล้ว. 

คาถาประจำชาดก
อิธ เจ นํ วีราเธสิ  สทฺธมฺมสฺส นิยามกํจิรํ ตวํ อนุตปฺเปสิ  เสริวายํว วาณิโชติถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง สิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อ เสรีวะ ผู้นี้ ฉะนั้น




ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัว
15  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด ภัทเทกะรัตตะคาถา เมื่อ: 21 เมษายน 2567 11:56:25


ภัทเทกะรัตตะคาถา

        อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ                  นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

        ยะทะตีตัมปะหีนันตัง                       อัปปัตตัญจะ    อะนาคะตัง

        ปัจจุปปันนัญจะ  โย  ธัมมัง               ตัตถะ  ตัตถะ ตัตถะ  วิปัสสะติ

        อะสังหิรัง  อะสังกุปปัง                     ตัง  วิทธา มะนุพรูหะเย

        อัชเชวะ  กิจจะมาตัปปัง                   โก  ชัญญา มะระณัง สุเว

        นะ  หิ โน  สังคะรันเตนะ                  มะหาเสเนนะ  มัจจุนา

        เอวัง  วิหาริมาตาปิง                       อะโหรัตตะมะตันทิตัง

        ตัง  เว  ภัทเทกะรัตโตติ                    สันโต  อาจิกขะเต  มุนีติ ฯ
16  สุขใจในธรรม / สมถภาวนา - อภิญญาจิต / Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี เมื่อ: 21 เมษายน 2567 11:51:36



ต้องปรากฎตอนที่มีปัญหา
ถาม : บางทีเราไม่ตั้งใจพิจารณา ก็ขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ : ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นมาก็ขึ้นมา

ถาม : เหมือนอย่างเวลาถูบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ปรากฏขึ้นมาเองว่า นี่ไม่ใช่บ้าน เป็นอิฐเป็นหิน ไม่ใช่ของเรา เดิมเป็นของแม่ พอแม่ตายไป ก็สมมุติว่าเป็นของเรา ปรากฏขึ้นเองเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : ถ้าปรากฏขึ้นมาตอนที่ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องปรากฏตอนที่มีปัญหา ถึงจะได้ประโยชน์ เช่นตอนที่ธนาคารจะมายึดบ้าน


นั่งสมาธิแล้ว ใจสงบไหม
ถาม : นั่งสมาธิกับน้องสาว น้องสาวจะใช้พุทโธๆ แต่หนูชอบใช้ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : ช่ แต่ต้องดูที่ผล ว่านั่งแล้วใจสงบไหม

ถาม : สงบค่ะ

พระอาจารย์ : ต้องสงบเย็นสบาย ไม่คิดปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ การใช้ลมหายใจนี้เป็นการดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ธรรมดาใจชอบคิดเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ทำให้มีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าควบคุมความคิดได้ ด้วยการบังคับใจให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ความคิดต่างๆก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว ใจก็จะมีความสุข ความสบายใจ ความอิ่มใจ นี่คือผลที่เราต้องการ ต้องนั่งให้ได้นานๆ ครึ่งชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงถึงจะดี ถ้านั่งเพียง ๕ นาที  ๑๐ นาที ยังไม่ได้ผลมาก ต้องนั่งบ่อยๆนั่งนานๆ ต่อไปเวลาไม่สบายใจก็นั่งสมาธิ ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็จะหายจากความไม่สบายใจ ถ้ากลับไปคิดเรื่องนั้นอีก ก็จะไม่สบายใจอีก  ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องคิดว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยากของเราเอง อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่สบายใจ เพราะไม่ได้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ต้องสอนใจว่า อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นไปตามความอยากของเราไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป เช่นเขาอาจจะไม่ชอบเรา โกรธเกลียดเรา ก็อย่าไปอยากให้เขารักเรา ปล่อยเขาไป วันนี้เขาโกรธเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะรักเราก็ได้ วันนี้เขารักเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเบื่อเราก็ได้ ให้คิดอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่ไปทุกข์กับเขา ต้องคิดว่าเขาไม่แน่นอน เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ วันนี้เขาดีพรุ่งนี้เขาร้ายก็ได้ วันนี้เขาร้ายพรุ่งนี้เขาดีก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็จะหายจากความไม่สบายใจได้ คืออย่าไปอยากให้เขาเป็นไปตามความอยากของเรา ต้องยอมรับความจริง เขาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วเราจะหายจากความไม่สบายใจ


ปฏิบัติง่ายๆ
ถาม : ขอคติธรรม เพื่อนำไปปฏิบัติง่ายๆ

พระอาจารย์ : นั่งสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ ทุกเช้าเย็น


ง่วง
ถาม : เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมเจริญสติ แล้วถูกความง่วงครอบงำ ควรจะทำอย่างไร

พระอาจารย์ : ต้องกินอาหารให้น้อยลง กินมื้อเดียว ต้องยอมหิวหน่อย ความจริงไม่ได้หิวที่ร่างกายหรอก แต่หิวที่ใจ ร่างกายกินอาหารเกินความต้องการอยู่แล้ว มีอาหารสะสมอยู่มาก ก็อย่างที่บอก ต้องถือศีล ๘ ให้ได้ อย่างน้อยก็ไม่กินหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว การภาวนาต้องยอมอด ถึงจะได้ผล ถ้าอยากจะมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส การภาวนาจะมีอุปสรรคมาก ถ้าไม่ง่วงเหงาหาวนอนก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ชอบอดอาหารก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว ไปนั่งในป่าช้าจะไม่ง่วง.


แล้วแต่ใจว่า หยาบหรือละเอียด
ถาม : ก่อนที่จะนั่งสมาธินี้ ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน หรือว่านั่งเลย อย่างไหนจะดีกว่ากันครับ

พระอาจารย์ : อยู่ที่จิตของเรา ว่าหยาบหรือละเอียด ถ้าจิตหยาบคิดมาก นั่งไม่ได้ ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน เพื่อทำให้จิตละเอียดลงไป ให้ความคิดปรุงแต่งหมุนช้าลง พอคิดน้อยลงไปแล้ว ก็ดูลมได้

ถาม : หมายความว่าไม่จำเป็นต้องสวดมนต์มากมายหลายบท
พระอาจารย์ : ก็อย่างที่บอก แล้วแต่ใจของเราว่า หยาบหรือละเอียด อย่างสมัยที่เราเริ่มนั่งแรกๆนี้ ต้องท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปประมาณ ๔๐ นาทีก่อน ถึงจะดูลมได้ แต่ตอนหลังนี้ไม่ต้องท่องแล้ว เพียงแต่กำหนดสติให้ดูลมปั๊บ มันก็สงบได้ การท่องนี้เพื่อพัฒนาสติ ให้มีกำลังหยุดความคิดปรุงแต่ง พอสติมีกำลังมากๆ ก็เหมือนเบรกที่มีกำลังมาก แตะนิดเดียวก็หยุดกึ๊กเลย ถ้าเบรกไม่ดีนี้ เหยียบจนติดพื้นก็ยังไม่หยุด ถ้ารถวิ่งเร็วมาก ก็จะไม่หยุดง่าย  ถ้าภาวนาบ่อยๆ หยุดความคิดปรุงแต่งบ่อยๆ จะเหมือนรถที่วิ่งช้าลงไปเรื่อยๆ เวลาภาวนาให้สงบนี้จะสงบเร็วมาก เพียงกำหนดแป๊บเดียว ไม่ต้องภาวนาพุทโธ เพียงตั้งสติปั๊บ ความคิดปรุงแต่งก็หยุดแล้ว การควบคุมจิตนี้เหมือนกับการขับรถ ตอนเริ่มทำใหม่ๆนี้ เหมือนกับรถที่ไม่มีเบรกและวิ่งเร็ว เหมือนรถวิ่งลงเขา พอสร้างเบรกให้มีกำลังมากขึ้นๆ เจริญสติมากขึ้นๆ ก็จะทำให้วิ่งช้าลง การภาวนาจะง่ายขึ้นๆ สงบเร็วขึ้น สงบได้นานขึ้น ต้องดูตอนจะนั่งว่า ใจของเราเป็นอย่างไร ไม่ฟุ้งซ่านมากก็นั่งง่าย ฟุ้งซ่านมากก็นั่งยาก เพราะชีวิตของฆราวาสยังต้องวุ่นวายกับการงาน ถ้ามีอารมณ์ตกค้างจะนั่งไม่ได้ ดูลมไม่ได้ พุทโธไม่ได้ อย่างนี้ก็สวดมนต์ไปก่อน ถ้าสวดไม่ได้ ก็ฟังเทศน์ไปก่อน ถ้าไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม แล้วก็ซ้ายขวาซ้ายขวาไป เดินให้หมดแรงก่อน ถึงค่อยมานั่ง.


สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้
ถาม : เวลามีสิ่งมากระทบ อ่านข่าวแล้วเกิดอารมณ์ไม่พอใจ แล้วเกิดสติรู้ทัน ก็พิจารณาว่าทำไม เพราะอะไร จนอารมณ์ความรู้สึกเบาบางลงไป แล้วก็กลับมาบริกรรมต่อ

พระอาจารย์ : ถ้าใจสงบแล้ว จะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ถ้าใจทุกข์กับสิ่งที่ได้ยิน ก็ต้องใช้สมาธิหรือใช้ปัญญาแก้ ถ้าใช้สมาธิก็ให้บริกรรมไป ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่ได้ยินมา จนกว่าจิตจะสงบแล้วลืมเรื่องนั้นไป ถ้าจะใช้ปัญญาก็พิจารณาว่าเป็นธรรมดาของโลก มีเจริญมีเสื่อม มีสุขมีทุกข์ แต่ใจเรามีอคติ ชอบฟังแต่เรื่องสุขเรื่องเจริญ พอได้ยินเรื่องทุกข์เรื่องเสื่อมก็จะหดหู่ใจ ต้องสอนใจว่า ต้องฟังได้ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องสุขก็ได้ เรื่องเจริญก็ได้ เรื่องทุกข์ก็ได้ เรื่องเสื่อมก็ได้ เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ให้สักแต่ว่ารู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปมีปฏิกิริยา ถ้ามีปฏิกิริยาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  เรื่องจะร้ายแรงขนาดไหนก็ต้องยอมรับ จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ถ้าแก้ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันไป แม้แต่ความตายก็ต้องอยู่กับมันไป ยอมรับมันไป ต้องทำใจเป็นเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ สมมุติว่าถ้าต้องหยุดหายใจขณะนี้ ถ้าใจรู้แล้วเฉยได้ ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ บรรลุได้ ถ้าหายใจไม่ออกแล้วตกใจกลัว แสดงว่าสอบตก จะสอบผ่านก็ต้องเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนที่จะตายก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทำใจให้เฉยเหมือนตอนนี้ จะเฉยได้ก็ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญา ที่เราต้องเจริญให้มาก พอมีมากแล้วจะรักษาใจให้นิ่งเฉยได้ ถ้าไม่มีก็จะถูกกิเลสดึงไป จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ต้องปฏิบัติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่พวกเราไม่ปฏิบัติกัน ไม่ตั้งสติกัน ปล่อยให้ใจไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ พอไปเจออารมณ์ไม่ดีก็หยุดไม่ได้ จึงต้องหัดหยุดให้ได้ ต้องสร้างอุเบกขาให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญสติและสมาธิ พอมีอุเบกขาแล้วก็เจริญปัญญา เตรียมรับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ต้องพร้อมอยู่ทุกเวลา ถ้าพร้อมแล้วจะไม่ตื่นตระหนก ไม่ทุกข์ทรมานใจ จะตั้งอยู่ในความสงบ เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้


ทุกข์ในจิต ทุกข์ในขันธ์
ถาม : อุเบกขากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาเหมือนกันไหมครับ

พระอาจารย์ : เป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคนละเรื่องกัน เวทนาเป็นเรื่องของขันธ์ อุเบกขาเป็นความสงบนิ่งของใจ ขันธ์เป็นอาการของใจ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เขาเรียกว่าอาการหรือแขนขาของใจ เวทนาก็มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ตามการสัมผัสรับรู้กับอายตนะภายนอก ถ้าเห็นภาพที่ไม่ชอบก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่ชอบก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่เป็นกลางก็จะเกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เป็นเรื่องของขันธ์ ในขณะที่เกิดเวทนานี้ ก็จะมีทุกข์หรือไม่ทุกข์ในใจได้ด้วย ถ้าเกิดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ทุกข์ในจิตกับทุกข์ในขันธ์เป็นคนละอย่างกัน อุเบกขาในจิตกับในอุเบกขาในขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เวทนาขันธ์นี้เราควบคุมบังคับไม่ได้ แต่เราควบคุมบังคับอุเบกขาในจิตได้ ควบคุมด้วยสติปัญญา.
17  สุขใจในธรรม / นิทาน - ชาดก / ๒. วัณณุปถชาดก ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:25:51




ขุททกนิกายภาค ๑  เอกนิบาต
๒. วัณณุปถชาดก ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน

ดังได้สดับมา เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในนครสาวัตถี มีกุลบุตร ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ไปเชตวันวิหาร สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส เห็นโทษในกามและอานิสงส์ในการออกจากกาม จึงบวช อุปสมบทได้ ๕ พรรษา เรียนได้มาติกา ๒ บท ศึกษาการประพฤติ วิปัสสนา รับพระกรรมฐานที่จิตของตนชอบ ในสำนักของพระศาสดาเข้าไป ยังป่าแห่งหนึ่ง จำพรรษา พยายามอยู่ตลอดไตรมาสไม่อาจทำสักว่าโอภาสหรือ นิมิตให้เกิดขึ้น ลำดับนั้นภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสบุคคล ๔ จำพวก ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น เราคงจะเป็นปทปรมะ เราเห็นจะไม่มี มรรคหรือผงในอัตภาพนี้ เราจักกระทำอะไรด้วยการอยู่ป่า เราจักไปยังสำนัก ของพระศาสดา และดูพระรูปของพระพุทธเจ้าอันถึงความงามแห่งพระรูปอย่างยิ่ง ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะอยู่ (จะดีกว่า) ครั้นคิดแล้วก็กลับมายัง พระเชตวันวิหารนั่นแลอีก

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนเห็นและคบกัน กล่าวกะภิกษุนั้นว่า

"ดูก่อนอาวุโส ท่านเรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปด้วยหวังใจว่า จักกระทำสมณะธรรม แต่บัดนี้มาเที่ยวรื่นรมย์ด้วยการคลุกคลีอยู่ กิจแห่งบรรพชิตของท่านถึงที่สุดแล้วหรือหนอ ท่านจะเป็นผู้ไม่มีปฏิธิแลหรือ"

ภิกษุนั้นกล่าวว่า "ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้มรรคหรือผล จึงคิดว่าเราน่า จะเป็นอภัพพบุคคล จึงได้สละความเพียรแล้วมาเสีย" ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "ดูก่อนอาวุโส ท่านบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความมั่นแล้ว ละความเพียรเสีย กระทำสิ่งอันมิใช่เหตุแล้ว มาเถิดท่าน พวกเราจักแสดงท่านแด่พระตถาคต" ครั้นกล่าวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้พาภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระศาสดา.

พระศาสดาพอทรงเห็นภิกษุนั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พาภิกษุผู้ไม่ปรารถนารูปนี้มาแล้ว ภิกษุนี้ทำอะไร"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนี้บวชในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ไม่อาจกระทำสมณธรรม ละความเพียรเสียมาแล้ว"

ลำดับนั้นพระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า "ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอละ ความเพียรจริงหรือ"

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า."

พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ทำไมจึงไม่ให้เขารู้จักตนอย่างนี้ว่า เป็นผู้มักน้อย หรือว่าเป็นผู้สันโดษหรือว่าเป็นผู้สงัด หรือว่าเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ให้เขารู้จัก เป็นภิกษุผู้ละความเพียร เมื่อครั้งก่อน เธอได้เป็นผู้มีความเพียรมิใช่หรือ เมื่อเกวียน ๕๐๐เล่ม ไปในทางกันดาร เพราะทราย พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้น้ำดื่มมีความสุข เพราะอาศัยความเพียรซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว เพราะเหตุไร บัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสีย" ภิกษุนั้นได้กำลังใจด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความที่ความเพียรอันภิกษุนี้สละแล้ว ปรากฏแก่ ข้าพระองค์ทั้งหลายในบัดนี้แล้ว ก็ในกาลก่อน ความที่โคและมนุษย์ทั้งหลาย ได้น้ำดื่มมีความสุขในทางกันดารเพราะทราย เหตุอาศัยความเพียรที่ภิกษุนี้ กระทำ ยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ทั้งหลาย ปรากฏแก่พระองค์ผู้ทรงบรรลุ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ขอพระองค์จงตรัสนี้แม้แก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังการเกิดสติให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยพระดำรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง แล้วได้ทรงกระทำเหตุการณ์อันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ."

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน พระโพธิสัตว์นั้น เจริญวัยแล้ว เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม พระโพธิสัตว์นั้นเดินทางกันดารเพราะทรายแห่งหนึ่งมีระยะประมาณ ๖๐ โยชน์ ก็ในทางกันดารนั้น ทรายละเอียดกำมือไว้ยังติดอยู่ในมือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นมีความร้อน เหมือนกองถ่านเพลิง ไม่อาจข้ามไปได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อดำเนินทางกันดารนั้นจึงเอาเกวียนบรรทุกฟืน น้ำ น้ำมัน และข้าวสารเป็นต้น ไปเฉพาะกลางคืน

ในเวลาอรุณขึ้นกระทำเกวียนให้เป็นวงแล้ว ให้ทำปะรำไว้เบื้องบนทำกิจในเรื่องอาหารให้เสร็จแต่เช้าตรู่แล้วนั่งในร่มเงาจนหมดวัน เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว บริโภคอาหารเย็น เมื่อพื้นดินเกิดความเย็น จึงเทียมเกวียนเดินทางไป การไปเหมือนกับการไปในทะเลนั่นแหละ ธรรมดาผู้บอกทางควรจะมี เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์นั้น จึงให้กระทำการไปของหมู่เกวียนไปตามสัญญาของดวงดาว

ในกาลนั้น พ่อค้าเกวียนนั้น เมื่อจะไปยังทางกันดารนั้น ก็ดำเนินการตามทำนองนี้นั่นแล จึงไปได้ ๕๙ โยชน์ คิดว่า บัดนี้ โดยราตรีเดียวเท่านั้น จักออกจากทางกันดาร จึงบริโภคอาหารเย็น ใช้ฟืนและน้ำทั้งปวงให้หมดสิ้นแล้วจึงเทียมเกวียน ๑ คนนำทาง เช่นเดียวกับคนนำร่องในทางน้ำไป คนนำทางให้ลาดอาสนะในเกวียนเล่มแรก นอนดูดาวในท้องฟ้าบอกว่า จงขับไปข้างนี้ จงขับไปข้างโน้น คนนำทางนั้นเหน็ดเหนื่อยเพราะไม่ได้หลับ เป็นระยะกาลนาน จึงหลับไป เมื่อโคหวนกลับเข้าเส้นทางที่มาเดิม ก็ไม่รู้สึก โคทั้งหลายได้เดินทางไปตลอดคืนยังรุ่ง คนนำทางตื่นขึ้นในเวลาอรุณขึ้น มองดูดาวนักษัตรแล้วกล่าวว่าจงกลับเกวียน จงกลับเกวียน และเมื่อคนทั้งหลายพากันกลับเกวียนทำไว้ตามลำดับ ๆ นั่นแล อรุณขึ้นไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า นี่เป็นที่ตั้งค่ายที่พวกเราอยู่เมื่อวานนี้ แม้ฟืนและน้ำของพวกเราก็หมดแล้ว บัดนี้พวกเราฉิบหายแล้ว จึงปลดเกวียนพักไว้โดยเป็นวงกลมแล้วทำปะรำไว้เบื้องบน นอนเศร้าโศกอยู่ภายใต้เกวียนของตน ๆ

พระโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเราละความเพียรเสีย คนทั้งหมดนั้นจักพากันฉิบหาย พอเวลาเช้า จึงเที่ยวไปในเวลาที่ยังมีความเย็น เห็นกอหญ้าแพรกกอหนึ่งจึงคิดว่า หญ้าเหล่านี้จักเกิดขึ้น เพราะความเย็นของน้ำข้างล่าง จึงให้คนถือจอบมาให้ขุดลงยังที่นั้น คนเหล่านั้นขุดลึกลงไปได้ ๖๐ ศอก เมื่อคนทั้งหลาย ขุดไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ จอบได้กระทบหินข้างล่าง พอจอบกระทบหิน คนทั้งปวงก็พากันละความเพียรเสีย ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่า ภายใต้หินนี้จะพึงมีน้ำ จึงลงไปยืนที่พื้นหิน ก้มลงเงี่ยหูฟังเสียง ได้ยินเสียงน้ำเบื้องล่าง จึงขึ้นมาบอกกะคนรับใช้ว่า

"ดูก่อนพ่อ เมื่อเธอละความเพียรเสีย พวกเราจักฉิบหาย เธออย่าละความเพียร จงถือเอาค้อนเหล็กนี้ลงไปยังหลุม ทุบที่หินนี้"

คนรับใช้นั้นรับคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ไม่ละความเพียรในเมื่อคนทั้งปวงละความเพียรยืนอยู่ จึงลงไปทุบหิน หินแตก ๒ ซีกตกลงไปข้างล่างได้ตั้งขวาง กระแสน้ำอยู่ เกลียวน้ำประมาณเท่าลำตาลพุ่งขึ้น คนทั้งปวงพากันดื่มกิน แล้วอาบ ผ่าเพลาและแอกเป็นต้นที่เหลือเพื่อหุงข้าวยาคูและภัตบริโภคและให้โคกิน และเมื่อพระอาทิตย์อัสดง จึงผูกธงใกล้บ่อน้ำ แล้วได้พากันไปยัง ที่ที่ปรารถนาแล้ว ๆ คนเหล่านั้นขายสินค้าในที่นั้นแล้วได้ลาภ ๒ เท่า ๓ เท่า จึงได้พากันไปเฉพาะที่อยู่ของตน คนเหล่านั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นจนชั่ว อายุแล้วไปตามยถากรรม ฝ่ายพระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้น ได้ไปตามยถากรรมเหมือนกัน.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงตรัสกับภิกษุผู้ละความเพียรนั้นว่า

"ดูก่อนภิกษุ ในกาลก่อน เธอนั้นกระทำความเพียรเพื่อต้องการทางน้ำ บัดนี้ เพราะเหตุไร เธอจึงละความเพียรในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เพื่อประโยชน์แก่ มรรคผลเห็นปานนี้."

พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ อย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ๔ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัต อันเป็นผลอันเลิศ ทรงประชุมชาดกแสดงว่า คนรับใช้ผู้ไม่ละความเพียร ต่อยหินให้น้ำแก่มหาชน ในสมัยนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ละความเพียรรูปนี้ ในบัดนี้ บริษัทที่เหลือในสมัยนั้น เป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียนได้เป็นเรา ดังนี้


คาถาประจำชาดก
อกิลาสุโน วณฺณปเถ ขณนฺตา  อุทงฺคเณ ตตฺถ ปป อวินฺทํ
เอวํ มุนิ วิริยพลูปปนฺโน  อกิลาสุ วิทฺเท หทยสฺส สนฺติ

ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย
ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้ง ฉันใด
มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรกำลัง
เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจฉันนั้น

ที่มา วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
18  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / บทสวด พุทธะอุทานะคาถา เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:20:17


พุทธะอุทานะคาถา

           ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
อะถัสสะ กังขา วะปะยันติ สัพพา
ยะโต ปะชานาติ สะเหตุธัมมัง ฯ

          ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
อะถัสสะ กังขา วะปะยันติ สัพพา
ยะโต ขะยัง ปัจจะยานัง อะเวทิ ฯ

          ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา
อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ
วิธูปะยัง ติฏฐะติ มาระเสนัง
สูโรวะ โอภาสะยะมันตะลิกขันติ ฯ



ที่มา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง
19  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / นครเพตรา จอร์แดน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อ: 17 เมษายน 2567 15:13:58




 
นครเพตรา จอร์แดน สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 
นครเพตรา (Petra) ซ่อนตัวอย่างลึกลับในหุบเขาวาดี มูซา หุบเขาที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบเดดซี กับทะเลอัคบาในประเทศจอร์แดน นครนี้ในสมัยโบราณนั้นเป็นนครแห่งการค้าขนาดใหญ่ เป็นเมืองหลวงของชนเผ่านาบาเชียน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจอร์แดนในสมัยก่อน และถูกละทิ้งเป็นเวลานานกว่า 700 ปี ซึ่งได้ถูกค้นพบโดย นักสำรวจชาวสวิตเซอร์แลนด์ โจฮันน์ ลุควิก เบิร์กฮาร์ท ในปี ค.ศ.1812

ชาวนาบาเชียนสร้างเมืองแห่งนี้โดยใช้วิธีการแกะสลักหินให้เป็นช่องอุโมงค์ โรงละครของเมืองแห่งนี้ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงละครแบบกรีก-โรมัน ส่วนหน้าของวิหารเอล เดียร์ ซึ่งสูง 42 เมตร ในเมืองแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอีกแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณ ทำให้นครเปตราได้รับลงทะเบียนจากองค์กร UNESCO ให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2528
20  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / ป่าแอมะซอน เมื่อ: 14 เมษายน 2567 16:55:01
.



          ภาพมุมสูงป่าแอมะซอน

          ป่าแอมะซอน

วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ Amazon (แอมะซอน)  แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิดไปว่าจะเป็นร้านกาแฟยี่ห้อดังที่เราคุ้นเคย เพราะแอมะซอนที่กำลังจะนำเสนอนี้ คือชื่อป่าสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในทวีปอเมริกาใต้นั่นเอง ส่วนที่ว่าจะมหัศจรรย์ยังไง ติดตามอ่านกันได้เลย

ลักษณะทั่วไปทางภูมิศาสตร์
          แอมะซอน (Amazon) ป่ามหัศจรรย์ของโลกก็เนื่องมาจากลักษณะสำคัญต่างๆ อย่างมากมาย เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ขนาดพื้นที่และอีกมากมาย นับเป็นป่าที่ถูกยกให้เป็นป่าลึกลับและเป็นปอดของโลก อันเนื่องมาจากเป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยมีอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ประมาณ 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ คือ บราซิล เปรู โคลอมเบีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา โดย 60% ตั้งอยู่ในประเทศบราซิล และมีแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกไหลผ่าน คือ แม่น้ำแอมะซอน  ทิศตะวันตกของป่าคือภูเขาแอนดีส ส่วนทิศตะวันตกคือมหาสมุทรแอตแลนติก มีปริมาณน้ำตลอดปี เนื่องจากมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งขนาดใหญ่รวมถึงแม่น้ำใต้ดินที่ชื่อว่า แม่น้ำริโอแฮมซ่า ที่มีพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์

          ป่าแห่งนี้เป็นป่าที่ถือว่ามีระบบนิเวศที่สมบูรณ์สุดในตอนนี้ แหล่งรวมพืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งชนิดที่หายากและชนิดที่ยังรอการสำรวจและค้นพบอีกมากมาย  จากข้อมูลการสำรวจและประมาณการของนักสำรวจ กล่าวว่า พบต้นไม้ประมาณ 390 พันล้านต้นและมีพันธุ์ไม้ประมาณ 16,000 ชนิด  พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าทึบ ต้นไม้สูงใหญ่จะมีใบขึ้นในส่วนที่สูงที่สุดของลำต้น ทำให้แสงอาทิตย์ไม่สามารถสอดส่องไปยังพื้นดินได้ ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียง 1% เท่านั้น  ดินในผืนแห่งนี้จะมีลักษณะไม่หน่าแน่น ทำให้ต้นไม้ต้องหยั่งลึกรากลึกลงไปกินรัศมีในวงกว้าง

          พืชพรรณหายากสามารถหาได้จากผืนป่าแห่งนี้ เช่น ต้นไม้ระเบิด ที่เป็นต้นไม้ที่มีการขยายพันธุ์ที่โดยการระเบิดตัวเองกลายเป็นเม็ดพันธุ์ โดยสามารถขยายพันธุ์ด้วยแรงระเบิดไปได้ไกลถึง 150 ฟุต

          สัตว์ป่าหายากก็สามารถพบได้ที่ป่าแอมะซอนได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างสัตว์ที่พบในป่านี้เท่านั้นก็อย่างเช่น เคเมนหรือไคเมน สีขาว (Caiman) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มเดียวกับจระเข้

          ในป่าแห่งนี้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นป่าที่รวบรวมสัตว์ดุร้าย รวมถึงมีพิษมากที่สุดในโลก เช่น มดหัวกระสุน ชื่อก็บอกถึงความเจ็บปวดราวกับถูกกระสุนปืนยิงได้เลย โดยความเจ็บนี้อาจเทียบได้ 30 เท่าเมื่อเทียบกับการถูกผึ้งต่อย  เสือจากัวร์ ที่มีความดุร้ายรุนแรงจนสามารถทำกะโหลกของสัตว์ที่เป็นเหยื่อแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้ในพริบตา นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่น ๆ อีกมากมายเช่น กบลูกศรพิษ ที่มีความสวยงามแต่มีพิษร้ายแรง รวมไปถึงสัตว์น่ากลัวที่เรารู้จักกันดีอย่าง อนาคอนด้างูยักษ์ และปลาที่ดุร้ายที่สุดอย่างปลาปิรันยา


แม่น้ำสายสำคัญ
          ป่าแอมะซอนมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำแอมะซอน ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีความยาวประมาณ 4,100 ไมล์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและสัตว์ป่าในกลุ่มลุ่มแม่น้ำแอมะซอน


กลุ่มชาติพันธุ์
         จากข้อมูลนักสำรวจ ได้รายงานว่า ป่าแอมะซอนเป็นบ้านเกิดของกลุ่มคน 300 กลุ่ม รวมถึงยังมีหลายชนเผ่า ที่คงยังเป็นชนเผ่าที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก ไม่ติดต่อและรับคนต่างถิ่นเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด


https://www.scimath.org
หน้า:  [1] 2 3 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.532 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 03 พฤษภาคม 2567 10:45:10