[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2557 18:13:21



หัวข้อ: วิชาไร่ขมิ้น
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2557 18:13:21
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQTIX4p4VRrEXiH2AAtOZ89u449vY-2Q1AOm-UofC0LIpnOgI7h)

วิชาไร่ขมิ้น

หนังสือวิชาอาชีพชาวสยาม ที่ผู้รู้เขียนไว้ ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ระหว่าง ร.ศ.๑๐๙-๑๑๐ กรมศิลปากร รวบรวมพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ มีอาชีพต่างๆ ของคนในสมัยนั้น

นับแต่ตีผึ้ง ทำไร่ฝ้าย ทำป่าจาก เลี้ยงตัวไหม ทำเส้นไหม ทำน้ำมันยางและไต้ อาชีพกางเคย ทำชีพทำหวี วิธีทำบัว ฯลฯ และอาชีพสุดท้าย ลำดับที่ ๒๕ เรื่องทำไร่ขมิ้น

ผู้เขียนเดินทางไปบ้านบางพระ แขวงเมืองบางละมุง วันหนึ่งออกไปเที่ยวป่า ถึงภูเขาแห่งหนึ่ง คนแถวนั้นเรียกชื่อว่า ภูเขาไพล เจอคนมากมายยืนอยู่เป็นหมู่หน้าภูเขา ถามก็ได้ความว่ากำลังขุดหลุมปลูกขมิ้น

การทำไร่ขมิ้น เป็นอาชีพขึ้นหน้าขึ้นตา... เป็นทางหาเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรมของคนพวกหนึ่ง

เมื่อถึงฤดูเดือน ๓ คนที่อยากทำ ก็ต้องไปเที่ยวเดินดูทำเลที่จะทำไร่ขมิ้น ที่ไหนควรทำ ที่ไหนไม่ควรทำ ที่ซึ่งควรทำได้ จะต้องเป็นที่ดินร่วนๆ ไม่มีต้นไม้ใหญ่มาก พื้นที่ที่มีแต่หญ้าและต้นไม้เล็กๆ ถือเป็นพื้นที่ดีใช้ได้

ได้ทำเลไร่ขมิ้นแล้ว ก็ต้องเตรียมเครื่องมือซึ่งก็ไม่สู้มีอะไรมากนัก มีแต่เพียงมีด เสียม เหลียน ขวาน จอบจีน คราดมือ สิ่งละเล่มสองเล่ม สุดแล้วแต่ควร

ครั้นถึงเดือน ๔ ข้างขึ้น จึงจะลงมือแผ้วถาง เสร็จแล้วทิ้งไว้ถึงเดือน ๕ กลางเดือนหรือข้างแรม สุดแล้วแต่ต้นไม้ใบหญ้าที่แผ้วถางนั้นจะแห้ง เห็นว่าแห้งสนิทควรจะจุดไฟได้ ก็จุดเผาหญ้าหรือต้นไม้ เหลือบ้างเล็กน้อย ก็จะกวาดมูลเผาต่อไปจนไม่มีเหลือ

เวลาที่จะปลูกขมิ้น กำหนดแน่นักไม่ใคร่ได้ สุดแล้วแต่ฝน

ถ้าฝนตกเดือน ๖ มาก ก็ปลูกเดือน ๖ ข้างขึ้น ถ้าฝนแล้งไม่ใคร่จะตก ก็ปลูกต่อเดือน ๗ กลางเดือน หรือข้างแรม ก็สุดแท้แต่โอกาส

ขมิ้นที่เตรียมไว้ทำพันธุ์ เลือกเอาแต่ที่เหง้าใหญ่ๆ เวลาจะปลูกก็ต้องเผาเสียก่อน ถ้าเหง้าใหญ่ ก็ผ่า ๘ ซีกบ้าง ๖ ซีกบ้าง ถ้าเหง้ากลางๆ ก็ผ่า ๔ หรือผ่า ๓ ผ่า ๒ ตามควร

ก่อนปลูก เป็นการปลูกคราวละมากๆ จึงต้องจ้างคนมาขุดหลุม และทิ้งขมิ้นลงในหลุม

ค่าจ้างขุดหลุม คนหนึ่งวันละสลึง ค่าจ้างทิ้งขมิ้นลงหลุมวันละ ๑ เฟื้อง

ครั้นปลูกแล้ว ก็ทิ้งไว้เลย ไม่ต้องรดน้ำ สุดแล้วแต่ฝน

จนถึงเดือน ๑๒ ข้างแรม ถึงกำหนดขมิ้นนั้นแก่ จึงเริ่มขุด เครื่องมือที่ขุด คือ จอบจีน มีด เสียม ก่อนขุดขมิ้นต้องหักต้นก่อน แล้วจึงขุดต่อ

ค่าจ้างหักต้นคนหนึ่งวันละ ๑๐ อัฐ ค่าจ้างขุดขมิ้นคนหนึ่ง วันละสลึง

ขุดขมิ้นขึ้นมาแล้ว ก็ต้องต้มเสียที่ไร่ แล้วจึงบรรทุกเกวียนมาตากที่บ้านอีก ๙ วัน ๑๐ วัน ครั้นแห้งสนิทแล้ว จึงเก็บไว้ในที่ที่สมควร

การขุดหลุมตอนปลูกนั้น ไร่หนึ่งคงเส้นคงวา วันหนึ่ง ๖ คน จึงจะแล้ว

ถ้าขุดขมิ้นขึ้นวันหนึ่ง ๑๐ คน จึงจะแล้ว

อนึ่ง ขมิ้นสดที่อย่างงามดี ตวงถัง ๒๐ ได้ไร่ละ ๒๐๐ ถัง ถ้าอย่างกลางๆ ไม่สู้งาม ได้เพียง ๑๔๐ ถังบ้าง ๑๕๐ ถังบ้าง ขมิ้นสด ๒๐๐ ถังตากแห้งแล้ว ได้ ๕๐ ถัง ลงตัว ๓ ส่วน หรือส่วน ๑

ราคาที่ซื้อขายกันอยู่กับที่ ขมิ้นสดถังละเฟื้อง ถ้าอย่างแพง ๗ ถังบาท ถ้าขมิ้นตากแห้งแล้ว ถังละ ๒ สลึงเฟื้อง อย่างแพง ถังละ ๑ บาทเฟื้อง

ผู้รู้อธิบายไล่เรียง กระบวนการทำไร่ขมิ้น ไปจนหมดสิ้นแล้ว บอกไว้ด้วยว่า การทำไร่ขมิ้นคนหนึ่งนั้น ได้ผลประโยชน์ ปีละ ๑๐๐ บาท เป็นอย่างมาก

ยังมีของแถม...จากการทำไร่ขมิ้น...เป็นขมิ้นอีกชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในไร่ขมิ้นตามธรรมดา เพียงแต่สัณฐาน ตั้งแต่ต้น ใย เหง้าใหญ่กว่าขมิ้นธรรมดาสองส่วน ชาวไร่เรียกกันว่า เจ้าขมิ้น

นับถือกันว่า ถ้าเจ้าขมิ้นเกิดขึ้นในไร่ของผู้ใด เขาว่าผู้นั้นทำไร่ได้ผลประโยชน์ในปีนั้นมาก

แต่เจ้าขมิ้น เป็นเรื่องของบุญวาสนา จึงหายาก บางคนทำถึง ๔ ปี ๕ ปี จึงจะมีสักปีหนึ่ง บางคนก็ไม่มีเลย

ถึงวันนี้ อาชีพทำไร่ขมิ้นยังมีอยู่ ผู้คนสมัยใหม่ยังต้องใช้ขมิ้นประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของภาคใต้ อย่างแกงเหลือง หรือใช้ขมิ้นฝนทาผิวหนัง

พระสมัยเก่าเมื่อโกนศีรษะ ยังใช้ขมิ้นทา จนมีคำเล่าเรื่อง หัวล้านหัวเหลือง

ผู้ใหญ่ใช้ขมิ้นทารักษาผิวหนังให้เด็กอ่อน

แต่ผู้คนสมัยเก่า อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๕ นิยมใช้ขมิ้นมากกว่านั้น ว่ากันว่า พวกผู้ดี นิยมให้บ่าวไพร่ใช้ขมิ้นทาฝ่าเท้า...

พวกพ่อค้าจีน...สมัยแรกเริ่มเดิมที เมื่อจะเอาเงินไปติดสินบนพวกขุนนาง ก็จะใช้คำบอกอย่างนอบน้อมว่า เป็นค่าขมิ้นสีฝ่าเท้า

สมัยที่การติดสินบนเฟื่องฟู ขมิ้นจึงเป็นสินค้าขายดี ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมใช้ขมิ้นสีฝ่าเท้าลดลงไป สำนวนค่าขมิ้นสีฝ่าเท้าจึงเปลี่ยนไป เป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา สำนวนนี้ยังนิยมใช้กันมาจนถึงวันนี้.


(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQcNUMWZqBF67LxYerIw6lgl3ef1Vb-ZXuerAULk5vK-FRuOvxZ)

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTAtXw8Woc6jXRS3WPDnHCEOOhxLt07XQm5In7PJ_Au-6sKpmE8oQ)



ที่มา : "วิชาไร่ขมิ้น"  โดย บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๗