[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 พฤศจิกายน 2561 16:08:05



หัวข้อ: นาฏกรรมการแสดงโขนของไทย ทำไมจึงต้องใช้ศรในการสู้รบกัน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 พฤศจิกายน 2561 16:08:05

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89421413052413_1_1024x768_.jpg)

นาฏกรรมการแสดงโขนของไทย
ทำไมจึงต้องใช้ศรในการสู้รบกัน

โขน ศิลปะการแสดงชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทยที่มีมาแต่โบราณ จัดว่าเป็นมหรสพหลวงและเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่เดิมพระมหากษัตริย์ของไทยทรงถือว่า โขนเป็นราชูปโภคส่วนพระองค์อย่างหนึ่ง จนปรากฏว่าในสมัยโบราณจัดเป็นการแสดงที่ต้องห้ามมิให้เอกชนมีไว้ นอกจากโขนหลวงที่มีประจำอยู่ในราชสำนักเท่านั้น โขนจึงเป็นนาฏกรรมหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สืบมาถึงปัจจุบัน เห็นได้จากพระปรีชาสามารถที่เด่นชัดในการพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๖ ที่กรมศิลปากรนำมาเรียบเรียงเป็นบทการแสดงโขน นอกจากนี้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ยังมีคุณูปการต่อการแสดงโขนในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก

เรื่องที่นิยมนำมาแสดงโขน คือ รามเกียรติ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นขัตติยะกวีของไทยแต่โบราณ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นบทร้อยกรองจากเรื่องรามายณะของอินเดียที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก แต่มีบางตอนดำเนินเรื่องต่างไป และดำเนินความยืดยาวกว่ารามายณะ เนื้อหาส่วนใหญ่ของเรื่องรามเกียรติ์กล่าวถึงสงครามระหว่างพระรามกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยากับทศกัณฐ์พญายักษ์ผู้ครองกรุงลงกา ตัวละครแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายพระราม ซึ่งมีเสนาวานรเป็นกองทัพ เรียกว่า “ฝ่ายพลับพลา” และฝ่ายทศกัณฐ์ ซึ่งมีเสนายักษ์กับพวกพ้องพงศ์พันธุ์เป็นกองทัพเรียกว่า “ฝ่ายกรุงลงกา” ต้นเหตุของสงคราม คือ พระรามกับนางสีดาพระมเหสี และพระลักษมณ์ พระอนุชา ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า แล้วทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดามาไว้ในกรุงลงกา พระรามกับพระลักษณ์จึงยกกองทัพวานรติดตามมา แต่เนื่องจากเรื่องรามเกียรติ์มีเนื้อเรื่องยืดยาวมาก ในการแสดงโขนแต่ละครั้งจึงนิยมนำเรื่องเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งมาปรับปรุงแสดงให้เหมาะสมแก่เวลาและโอกาส เรียกว่า “ชุด” และแต่ละชุดต่างก็มี “กลเม็ด” ที่ปรมาจารย์ทางศิลปะการแสดงโขนได้แทรกเข้าไว้ในแต่ละตอนด้วย

การทำสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์และพวกพ้องพงศ์พันธุ์ อาวุธที่ใช้ในการรบส่วนมากจะเป็นศร เพราะปรากฏตามบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งปรมาจารย์ด้านศิลปะการแสดงโขนของไทยได้สร้างสรรค์กระบวนท่ารบด้วยการใช้ศรเป็นอาวุธอย่างหลากหลาย ตามบทพระราชนิพนธ์ไว้อย่างวิจิตรสวยงาม ตามหลักทฤษฎี แบบแผน จารีตประเพณี และมีสุนทรียะทางด้านนาฏศิลป์

ศร เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ใช้ยิงด้วยกำลังสายให้ลัดลูกออกไป มีคันศรและลูกศร สำหรับศรที่ใช้ในการแสดงโขนนั้นมีความแตกต่างจากศรทั่วๆ ไป คือไม่มีสาย มีรูปร่างโค้งเล็กน้อย ปลายศรด้านบนเป็นรูปพญานาค ปลายศรด้านล่างแหลม มีขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร เป็นอาวุธประจำกายของตัวละครที่ใช้สู้รบกัน ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ดังปรากฏเรื่องศรของพระรามที่ได้รับจากพระวสิษฐ์กับพระสวามิตร ซึ่งเป็นศรที่พระอิศวรได้ชุบในขณะที่ทั้งสองพระมุนีตั้งพิธีกองกูณฑ์กาลากิจ เพื่อชุบศรในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า
 

         เมื่อนั้น       ฝ่ายพระอิศวรรังสรรค์
เสด็จเหนืออาสน์พรายพรรณ     ในสุบรรณตรีมุขพิมาน
พร้อมฝูงสุรางค์อัปสร       จับระบำรำฟ้อนขับขาน
ไม่แสนเกษมสำราญ       . ให้บันดาลเร่าร้อนฤทัย
จึ่งเล็งทิพเนตรลงมา     เห็นสองพระมหาอาจารย์ใหญ่
กองกูณฑ์พิธีกะลาไฟ       จะชุบศิลป์ให้พระนารายณ์ ฯ
ฯ ๖ คำ ฯ

ควรกูจะประสาทศรสิทธิ์       ให้สัมฤทธิ์อาวุธทั้งหลาย
คิดแล้วเข้าที่สงัดกาย     ร่ายเวทสำรวมจิตใจฯ

ฯ ๒ คำ ฯ

บัดเดี๋ยวเกิดเป็นลูกศร       สิบสองเล่มฤทธิรอนจำเพาะให้
กับทั้งศรสิทธิ์ฤทธิไกร       ก็โยนไปในกองอัคคี ฯ
ฯ ๒ คำ ฯ

         เมื่อนั้น     ทั้งสองพระมหาฤๅษี
เห็นศรพิชัยโมลี       เกิดขึ้นที่กลางกาลา
พร้อมสิบสองเล่มเรืองฤทธิ์       มีจิตแสนโสมนัสสา
ก็หยิบออกมาพิจารณา     เห็นจารึกอักษรเป็นสำคัญ
มีนามสามราชวรนุช       กับพระทรงครุฑรังสรรค์
ศรนี้ฤทธีต่างกัน       สำหรับปราบอาธรรม์พาลา
แล้วส่งให้สี่พระกุมาร     ว่าศรพระทรงญาณนาถา
จารึกประสาทลงมา       อานุภาพเลิศล้ำธาตรี ฯ
ฯ ๘ คำ ฯ

เมื่อกรมศิลปากรนำบทละคร เรื่องรามเกียรติ์มาจัดทำเป็นบทการแสดงโขน ดำเนินเรื่องด้วยการ พากย์ เจรจา และขับร้อง จึงปรากฏบทโขนตอนที่ตัวละครสู้รบกันด้วยอาวุธศรอยู่หลายตอน เช่น บทโขน ตอนพระรามรบทศกัณฐ์ในการแสดงโขนชุดหนุมานอาสา ณ โรงละครแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๙๕ ดังบทเจรจาโขนว่า

ทศกัณฐ์ขุนมาร เข้าต่อกรรอนราญมิได้หยุดยั้ง เสียงเทพศัตราวุธกระทบกระทั่งดังฉาดๆ ประดุจสายอัสนีฟาดเห็นเป็นประกาย ต่างเขม้นหมายมุ่งล้างชีวิตของกันและกัน ครั้นจอมอสุรกุมภัณฑ์พลาดพลั้งเสียท่วงที พระจักรีก็หวดด้วยคันพระแสงศรทะนง ต้องพระองค์จอมพระนครลงกา หันเหเซถลาปิ้มว่าชีวิตจะวายปราณ สมเด็จพระอวตารก็ชักศรขึ้นพาดสาย พระเนตรหมายทศกัณฐ์จอมอสุรินทร์ แล้วผาดแผลงพระแสงศิลป์ไปด้วยศักดา ต้องพระหัตถ์ตัดพระเศียรจอมอสุราขาดกระเด็นในทันที บัดนี้ฯ


- ศรทะนง -
บทโขน ตอนอินทรชิต (แปลงเป็นพระอินทร์) แผลงศรต้องพระลักษมณ์ ในการแสดงโขน
ชุดพรหมาสตร์ ณ โรงละครศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๐๓ ดังบทขับร้องว่า

ร้องเพลงเห่เชิดฉิ่ง
พาดสายหมายเขม้นเข่นเขี้ยว       น้าวเหนี่ยวด้วยกำลังอังสา
สังเกตลงตรงพระลักษมณ์อนุชา       อสุราก็ลั่นไปทันใด

- ปี่พาทย์ทำเพลงรัว -
ร้องเพลงร่ายรุด

ลูกศรกระจายเป็นสายฝน       ต้องพวกลิงพลไม่ทนได้
ต้องพระอนุชาเสนาใน       สลบไปไม่เป็นสมประดี ฯ

- ปี่พาทย์ทำเพลงโอด -
บทโขน ตอนอินทรชิต (แปลงเป็นพระอินทร์) ตีหนุมาน ในการแสดงโขน ชุดพรหมมาสตร์
ณ โรงละครศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๐๓ ดังบทขับร้องว่า


ร้องเพลงลิงลาน
          เมื่อนั้น       อินทรชิตฤทธิไกรใจหาญ
ไม่หลีกหลบขบฟันประจัญบาน       รอนราญผัดผันทันท่วงที
หันเหียนเปลี่ยนท่าง่าศรจ้อง       ตีต้องหนุมานชาญชัยศรี
ตกกระเด็นไปกับเศียรกรี       สลบพับอยู่กับที่ยุทธนา ฯ

- ปี่พาทย์ทำเพลงโอด -
บทโขนตอน ทศกรรฐ์ไล่ตีพิเภษณ์ ในการแสดงโขน ชุดพิเภษณ์ถูกขับ บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังบทเจรจาโขนว่า
ทศกรรฐ์     ทศเศียรอสุรียิ่งทรงฟังยิ่งคั่งแค้น ทะลึ่งแล่นขวัดแขว่งพระแสงศร
.                         ไล่พิเภษณ์ไม่ผันผ่อนตลุยไปจนออกพ้นพระโรงชัยในฉับพลัน

- ปี่พาทย์ทำเพลงเชิด -
บทโขน ตอนพระรามตามกวาง ในการแสดงโขน ชุดสีดาหาย บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังบทขับร้องว่า
ร้องเพลงขึ้นพลับพลา
          เมื่อนั้น       พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี
ต้อยตามสุวรรณมฤคี       เข้าที่ปาชัดสงัดพล
ครั้นจะดักจับเป็นเห็นไม่ได้       จะติดตามต่อไปไม่เป็นผล
พระจึงจับศรสิทธิ์ฤทธิรณ       ภูวดลก็ผาดแผลงไป

- ปี่พาทย์ทำเพลงเชิดฉิ่ง – ศรทะนง – รัว -
บทโขนตอนพระรามรบพญาขร พญาทูษณ์ ในการแสดงโขน ชุดปราบพญาขร พญาทูษณ์ ของกรมศิลปากร ดังบทเจรจาโขนว่า
พญาขร         ฮะเฮ้ย เหวย ธชีจะหนีไปไหน จงเตรียมรับกรรมที่ทำไว้ในบัดนี้ กริ้วพลางสองอสุรี
.       แผลงฤทธาโจนลงจากราชรถาและพาชี ต่างกวัดแกว่งพระแสงศาสตร์เข้าราวี
.       (พญาขรโจนลงจากราชรถ พญาทูษณ์ลงจากหลังม้า (ตลกนำม้าแผงเข้าเวที)
.       (สองยักษ์เข้ารบกับพระราม พระรามตีสองยักษ์เซถลาไป)

- เจรจา -
สองพญายักษ์       สองจอมอสุรีต้องคันศรศรีพระจักรา ให้ปวดร้าวราวชีวาจะอาสัญ ยิ่งทวีแค้นแน่นชีวัน
.       พลันชักลูกศรยิง ลูกศรพญาขรก็วิ่งไปต้องคันศรทรงพระจักรี

- ปี่พาทย์ทำเพลงรัว – เชิด -
(พญาขร พญาทูษณ์ แผลงศร ตลกลูกศร ๒ คน ออก ต่างเข้ารบกับพระราม
ตลกลูกศรพญาขรตีคันศรพระรามหล่นลงพื้นเวที สมมติว่าคันศรหัก และเก็บเข้าเวที)


- เจรจา -
พระราม       สมเด็จพระระฆุบดีครั้นสิ้นคันศร องค์พระภูธรทรงนิ่งนึกตรึกตรา ว่าสองจอมกุมภัณฑ์ นั้น
.       ฤทธาน่าเกรงขาม จำเราจะใช้คันศรปรศุรามที่ถวายให้ ซึ่งฝากไว้กับพระวรุณบนสวรรค์ นำมาบำราบ
.       ปราบอาธรรม์ริษยา คิดแล้วทรงตับหัตถาเปล่งพระสุรเสียง ได้ยินไปเฉพาะเพียงเทพวรุณโปรดกระทำคุณ
.       นำคันศรมาสู่ให้ใช้ปราบมาร

- ปี่พาทย์ทำเพลงรัว – เชิด – โอด -
(พระรามตบหัตถ์ขอศร พระวรุณออกนำคันศรมาถวายพระราม แล้วเข้าเวที)
(พระรามแผลงศรฆ่าพญาขร พญาทูษณ์ แล้วเข้าเวที)

-----------------------------------------------------------
ตัวสะกดตามบทพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖


ที่มา : นาฎกรรมการแสดงโขนของไทย ทำไมจึงต้องใช้ศรในการสู้รบกัน
โดย ชวลิต สุทรานนท์ นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร
ตีพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ฉบัยที่ ๔ ก.ค. - ส.ค. ๒๕๖๑