[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2565 15:25:08



หัวข้อ: ประเพณีวันพระ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2565 15:25:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28613517060875_2015_05_03_173035.jpg)
ขอขอบคุณเว็บไซต์ "วัดป่ามหาชัย" จ.นครพนม (ที่มาภาพประกอบ)

ประเพณีวันพระ

'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ ๔ วัน ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุกๆ วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน ๘ ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ) แล้วแต่กรณี

หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ โดยเชื่อกันว่าการทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น ๑๔ ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้

ย้อนไปในสมัยต้นพุทธกาล เมื่อพระบรมศาสดามาประกาศพระสัทธรรมใหม่ๆ ในแผ่นดินมคธ ว่ากันว่าสมัยนั้นยังไม่มีระบบระเบียบอะไรมากมาย ศีลและวินัยของพระสงฆ์ยังไม่มากข้อ การเรียนการปฏิบัติธรรมก็เป็นไปแบบสบายๆ พระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งอาณาจักรมคธ ผู้ครอบครองชมพูทวีปไปกว่าครึ่ง มีศรัทธาปสาทะในบวรพุทธศาสนาถวายพระราชอุทยานสวนไผ่ให้เป็นวัดแรกในพุทธศาสนาเรียกกันว่า "พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน" ท้าวเธอก็ทรงพระวิริยะอุตสาหะบำรุงพระพุทธเจ้าแลหมู่สงฆ์ให้ได้รับความสะดวกในภัตตาหารแลกัปปิยะภัณฑ์อันควรแก่สงฆ์เรื่อยมา

อยู่ต่อมามิช้านาน ท้าวเธอมีเหตุปริวิตกอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความสามัคคีพร้อมเพรียงในหมู่พุทธบริษัท ๔ ด้วยว่าสมัยนั้นศาสนิกในศาสนาเชนของพระมหาวีระ อันประดิษฐานในแผ่นดินมคธมีระบบระเบียบแบบแผนในเรื่องนี้ปราณีตมากกว่า

กล่าวกันว่า ศาสนาเชน กำหนดให้มีการประชุมของนักบวชและศาสนิกมารวมตัวกันทุกกึ่งเดือน (พระจันทร์เต็มดวง) เพื่อประชุมทำกิจกรรมในศาสนาตามลัทธิความเชื่อของตน

เพราะเหตุปริวิตกในข้อนี้ พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งมคธ จึงเข้าเฝ้ากราบทูลความดังที่ทรงปริวิตกนี้ถวายแด่พระศาสดา แล้วกราบทูลขอพรต่อพระบรมศาสดาว่า "แต่นี้ไปขอให้พุทธศาสนามีวันพระ หรือ วันธรรมะสวนะ"

พระบรมศาสดาใคร่ครวญด้วยดีแล้วจึงถวายพระพรอนุญาติให้กำหนดมีวันธรรมะสวนะขึ้นในพุทธศาสนา แต่ให้ย่อยกว่ากึ่งเดือน กำหนดให้หมู่สงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมในวันพระ ๑๕ ค่ำ (อย่างที่ปรากฏมีในปัจจุบัน) และวันพระในข้างขึ้น หรือข้างแรม ๘ ค่ำ เพราเห็นเหตุที่ว่าศาสนิกพุทธบริษัทจะได้มาประชุมกันรักษาอุโบสถศีลและเพื่อฟังธรรมอันจะนำประโยชน์มาซึ่งสวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ดังนี้