[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 พฤษภาคม 2567 02:04:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จินเย่จื่อ ทองใบหนานซ่ง  (อ่าน 21707 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2334


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2557 19:06:19 »

.

จินเย่จื่อ ทองใบหนานซ่ง


          ทองก้อน

ช่วงที่มีข่าวดังเรื่องขุดพบทองจังหวัดพัทลุงนั้น ในข่าวระบุว่าทองแผ่นมีอักษรจีน ไม่นานนักก็เห็นภาพหนึ่งว่า ทองพัทลุงมีรอยประทับตรงกลางเห็นเป็นอักษร 2 ตัวว่า เรือนสกุลหวัง... (王宅) และสองมุมบนเห็นอักษร 2 ตัวประทับไว้ว่า...ย่านเหนือ (北街)

จากข่าวนั้นทองนี้อายุประมาณ 700-800 ปี หากนับเวลาไปก็ตรงกับยุคหนานซ่งของจีน (ราวปี พ.ศ. 1670-1822) เมื่อค้นคว้าเอกสารดูแล้ว จึงได้พบเรื่องน่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับทองคำในสมัยหนานซ่งนี้



          จินเย่จื่อ ทองใบหนานซ่ง

สมัยหนานซ่งนั้นมีความเจริญหลายด้านไม่ว่า วิทยาศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ ดนตรี รวมทั้งการค้าขาย ทองคำที่ใช้เวลานั้นมีอยู่สองชนิดคือ ทองก้อนและทองใบ

ทองก้อน (金锭) ในสมัยซ่งและหยวน (มองโกล) จะทำเป็นก้อนเรียบๆ แบนๆ บ้างทำเป็นป้ายทองก็มี ต่อมาในสมัยหมิงจึงใช้วิธีประทับกดก้อนทองให้ขอบสองข้างเชิดขึ้นเป็นเงินง้วนป้อที่คุ้นตากัน

ส่วนทองใบนั้น ครั้งแผ่นดินหนานซ่งมีการนำทองมาตีเป็นแผ่นบางแล้วชั่งตวงน้ำหนักระบุลงแผ่นทองนั้นไป ชาวจีนเรียกว่า จินเย่จื่อ หรือ ทองใบหนานซ่ง (南宋金叶子货币) ทองชนิดนี้แผ่นบางเฉียบ และใช้ทองคำบริสุทธิ์มากจึงพับงอได้ทั้งแผ่น ขั้นตอนการทำนั้น จะใช้แผ่นทองบางมากๆ ซ้อน 4 ชั้น มาตัดพับแล้วกดอัดเป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งนี้ทองใบ เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสมัยหนานซ่ง ใช้กันในหมู่ขุนนางเท่านั้น

ทองใบจีนในยุคซ่งนั้นเรียกกันอยู่ 3 ชื่อ ชื่อแรกคือ ทองเปลว (金箔) จีนเป็นประเทศ ที่เก่าที่สุดที่ใช้ทองเปลว ในสมัยราชวงศ์ซาง (1223-503 ปีก่อนพุทธกาล) มีการใช้ทองเปลวกับ “เบี้ยทองห่อ (包金贝)” สมัยหนานซ่งไม่มี



          เบี้ยทองห่อ

การใช้เบี้ยทองห่อ คำว่าทองเปลวในยุคหนานซ่งจึงสื่อความหมายถึงทองใบ

ชื่อที่สอง คือ กระดาษทอง (金纸) ในบันทึกเมิ่งเหลียง ของ อู๋จือมู่ ระบุว่า “นครหลิงอัน แถวสะพานราชบัณฑิตหลี่ มีร้านกระดาษทองสกุลวั่ง”

ชื่อที่สาม คือ ทองใบ (叶子金) ทั้งนี้คำว่า เย่ (叶) ที่แปลว่า ใบ อย่างใบไม้นี้ ยังมีความหมายถึง เย่ (页) ด้วยว่าหมายถึง พับ อย่างพับทบแผ่นหนังสือตำรา

จากบันทึกและหลักฐานที่มีอยู่ ทองใบทางจีนเหนือจะตีเป็นรูปร่างคล้ายใบไม้ ขณะที่จีนใต้จะทำเป็นแผ่น พับทบไปมาได้รูปร่างคล้ายทบตำรา

ทั้งนี้ รูปลักษณะสำคัญของทองใบหนานซ่งจะประทับรอยอักษรไว้ 3 อย่าง คือ

1) บอกตำแหน่งที่ตั้งร้าน โดยประทับไว้ทั้งสี่มุมของแผ่นทอง สถานที่ที่ปรากฏบนทองใบก็มีอย่าง กวนเซียงย่านแรก, ป้าเป่ยย่านตะวันตก, หัวมุมในตรอกสุย, ตะวันตกสะพานเทียนสุย,ในประตูเฉียวเทียน เป็นต้น

2) บอกชื่อ โดยประทับไว้ตรงกลางแผ่นทองเพื่อบ่งบอกชื่อร้าน เจ้าของร้าน หรือช่างทอง ทั้งนี้ชื่อ เฉินเอ้อหลาง กับ หานซื่อหลาง เป็นชื่อที่พบมากที่สุดในตอนนี้ ตามบันทึกเมิ่งเหลียง ของอู๋จือมู่ ระบุว่า “ร้านเงินทองร้อยแซ่ในนครหลิงอัน กรุงเก่าเมื่อครานั้น มีประมาณ 120 กว่าร้าน”



          ทองผืนสยาม-ด้านบนสุดคือเตียบลงมุก

ที่ใช้ชื่อก็มีอย่าง หลี่ลิ่วหลาง อู่อี้หลาง สวีซานหลางที่ใช้ชื่อร้านก็มีอย่าง ร้านสือหยวน ร้านเสิ่น ร้านโจวอู่หลาง

ที่เป็นชื่อบ้านก็มีอย่าง เรือนสกุลซ่ง เรือนสกุลซู เรือนสกุลหวัง หรืออย่าง เรือนเซียหลี่ เรือนจ้าวซุน หากเป็นสองสกุลรวมกันเช่นนี้จะเป็นร้านทองที่ทั้งสองตระกูลร่วมกันเปิดกิจการ

3) บอกลักษณะทอง โดยประทับไว้ตรงกลางแผ่นทอง อยู่ใต้ชื่อคนหรือร้านลงมา มักประทับพิมพ์

คำว่า ทองแบ่งสิบ หรือ ทองคำแดงสิบส่วน อันหมายถึงทองแท้ 99% อย่างในปัจจุบัน ถ้าทองบริสุทธิ์ลงไปกว่านั้นก็จะประทับระบุไว้ เช่น แบ่งเก้าสี่ลี้ เป็นต้น โดยมากแล้วลักษณะทองมักประทับพิมพ์ต่อกับชื่อร้าน ชื่อคน เช่น หานซื่อหลางทองแบ่งสิบ หลี่ซานหลางทองแบ่งสิบ เป็นต้น ส่วนใหญ่ทองใบแผ่นหนึ่งมักหนักประมาณ 1 ตำลึง เท่าที่ปรากฏว่าประทับระบุทองหนักที่สุดก็คือ อ๋องเหอตงทองบริสุทธิ์สองชั่ง

รูปร่างทองใบแต่ละแผ่นนั้นจะคล้ายปึกกระดาษโดยจะพับทบกันให้ตัดแบ่งได้สะดวก ปกติแล้วจะตัดได้ 10 ชิ้น โดยมาตราชั่งน้ำหนักโบราณมีดังต่อไปนี้


          ทองใบหนานซ่ง

จากภาพตัวอย่าง ทองใบหนานซ่งนี้ยาว 9.5 มม. กว้าง 35 มม. หนา 0.7 มม. หนัก 37.9 กรัม นับตามหน่วยวัดน้ำหนักจีนโบราณแล้ว คือ 1 ตำลึง โดยมีรอยประทับดังนี้

1) ทั้งสี่มุมประทับว่า ตรอกเถี่ยเซียน บ่งบอกถึงร้านอยู่ตรอกเถี่ยเซียน ตรอกนี้เป็นย่านหนึ่งในนครหลิงอัน ตั้งอยู่แถวถนนโหยวเตี๋ยน เมืองหังโจวในปัจจุบัน

2) ตรงกลางระบุว่า เฉินเอ้อหลาง และ ทองแบ่งสิบ ทำให้ทราบว่ามาจากร้านเฉินเอ้อหลาง และเป็นทองบริสุทธิ์มาก

ทั้งนี้ ชาวจีนยังเรียกทองอีกแบบที่รูปร่างละม้ายกัน แต่ที่มานั้นต่างกันมาก เรียกว่า จินเย่เปียว หรือ ทองผืนสยาม ครั้งกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2324 ราชสำนักชิง รัชกาลเฉียนหลง ฮ่องเต้ได้จิ้มก้องจากราชอาณาจักรสยามเป็นทองคำผืนขนาด 28.5×16.3 ซม. พร้อมด้วยช้างพลาย ช้างพังอย่างละหนึ่ง ไม้หอม ฯลฯ ชาวจีนเรียกแผ่นทองนี้ว่า ทองผืนสยาม โดยจิ้มก้องนี้ ไทยก็เคยส่งให้ทางจีนมาตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์หมิง

ร้านทองแหล่งสำคัญในยุคหนานซ่งจะอยู่แถบเจ๋อเจียง หังโจว เวินโจว อันฮุย เป็นต้น ยุคนั้นทองคำขาดแคลน ราชสำนักจึงต้องดูแลทำกิจการร้านทอง จึงออกกฎบังคับว่าต้องรับรองคุณภาพโดยให้ระบุชื่อร้าน ชื่อเจ้าของหรือช่างทอง ปริมาณทอง และที่ตั้งร้าน

ความเจริญทางการค้าทำให้ขาดแคลนเงินกษาปณ์ ถึงขนาดต้องนำเหรียญมาตัดแบ่งเอา ทองใบก็เข้ามาแก้ปัญหานี้ เนื่องจากทองคำในยุคหนานซ่งทำออกมาได้น้อย ราคาจึงสูง ทองหนึ่งตำลึงแลกเหรียญทองแดงได้กว่า 2 หมื่น 4 พันเหรียญ ทั้งที่ทองหนึ่งตำลึงนั้นหนักไม่ถึง 40 กรัม


          ภาพตัวอย่าง ทองใบหนานซ่ง มีจุดเด่นที่รอยประทับทั้งสี่มุมบอกที่ตั้งร้าน และตรงกลางบอกชื่อร้านและลักษณะทอง ทั้งยังพับทบเป็นหน้าๆ แบบตำราโบราณ

นอกจากนี้ ทองใบ พกพาสะดวก ตัดแบ่งง่าย เวลาจะตัดแบ่งทองใบนั้นจะตัดแบ่งแล้วทำเครื่องหมาย ทำให้พิสูจน์ได้ง่ายว่าทองใบแผ่นไหนตัดแบ่งมาแล้ว ไม่เพียงจับจ่ายภายในอาณาจักร ยังรวมถึงใช้กับการค้าพาณิชย์นอกแผ่นดินต้าซ่งอีกด้วย

ยุคหนานซ่งนั้น จีนเดินเรือสำเภาที่หังโจว มีสินค้านำเข้า ส่วนใหญ่เป็นนอแรด งาช้าง ไข่มุก ของหอม ธูปหอม ราชสำนักจีนจะจ่ายค่าสินค้านั้นเป็นทองคำ เงิน ผ้าทอ เครื่องเคลือบ และจ่ายเป็นปี้ ทั้งนี้ เงินและทองคำถือเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน

ที่สำคัญที่สุดการเดินเรือในยุคนั้นคงหนีไม่พ้นต้องกล่าวถึง จ้าวหรู่ซื่อ ขุนนางกรมขนส่งทางเรือผู้เดินทางไปห้าสิบกว่าแคว้นจากจีนผ่านจามปา ศรีวิชัยจนถึงชวา ทางตะวันออกเดินทางผ่าน ลูซอน ริวกิว จนถึงญี่ปุ่น ส่วนตะวันตกผ่านเมกกะ อเล็กซานเดรีย ซิซิเลีย จนถึงแคว้นอัลโมราวิค (โมรอคโกปัจจุบัน) นับว่าสำเภาจีนโล้ไกลถึงแอตแลนติกเหนือฝั่งตะวันออกเลยทีเดียว การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่นี้ ในปี พ.ศ.1768 จ้าวหรู่ซื่อจึงได้เขียนหนังสือชื่อ “จูฟานจี่” (บันทึกสู่แดนฮวน-ฮวนคือคำที่ชาวจีนเรียกคนต่างเผ่า)

ในบันทึกได้เล่าถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและการค้าขายแลกเปลี่ยนมากมาย อย่างความตอนหนึ่งในบทดินแดน ตามพรลิงค์ และ ลังกาสุกะ ได้เล่าถึงการค้าขายแลกเปลี่ยนเงินตราไว้ชัดเจนว่า

ที่ตามพรลิงค์ บ้านขุนนางทำจากไม้ บ้านราษฎรใช้ไผ่ ใช้ใบไม้คลุม ชาวบ้านทำขี้ผึ้ง เครื่องหอม งาช้าง นอแรด ในตลาดต่างชาติก็ขายร่มกันฝนกัน และทำเครื่องเงินเครื่องทอง


          ทองพัทลุง

จากตามพรลิงค์แล่นเรือหกวันหกคืนก็จะถึงลังกาสุกะ เจ้าแคว้นสวมเสื้อเรียบไร้ลวดลายเดินเท้าเปล่า ผู้คนตัดผม ในตลาดต่างชาติกับพวกค้าเร่ต่างใช้เหล้า ข้าว เครื่องดินเผาเป็นสินค้า ก่อนซื้อจะเทียบราคาสินค้ากับเงินหรือทองคำ เหล้าหนึ่งไห เท่ากับเงินหนึ่งตำลึง ไม่ก็ทองสองสลึง ส่วนข้าวสองหน่วย เท่ากับเงินหนึ่งตำลึง ถ้าสิบหน่วย เท่ากับทองหนึ่งตำลึง (ตามพรลิงค์-ลังกาสุกะ คือดินแดนแถบนครศรีธรรมราชไปจนถึงปัตตานีจนพื้นที่บางส่วนของมาเลเซียตอนบนในปัจจุบัน)

ภายหลังยุคหนานซ่งไม่ปรากฏว่านำทองใบมาใช้ในเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนอีก คาดว่าอาจนำทองใบไปหลอมเป็นทองรูปพรรณชนิดอื่นๆ บ้างก็เก็บรักษาไว้เป็นของล้ำค่าจากอดีต จารึกไว้อยู่ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์

ไม่เพียงเป็นเงินตราจึงได้ราคา กาลเวลาก็สร้างคุณค่าให้เช่นกัน.

โดย : ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 กรกฎาคม 2557 19:08:23 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.334 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 12 พฤษภาคม 2567 22:36:38