[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 ธันวาคม 2559 13:35:14



หัวข้อ: วัด ในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 ธันวาคม 2559 13:35:14

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46402687910530_5.jpg)
พระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัด

วัด คือคำเรียก ศาสนสถานของศาสนาพุทธในประเทศไทย กัมพูชา และลาว หมายถึงสถานที่อันเป็นเอกเทศต่างหากจากบ้านผู้คน เป็นที่อยู่และสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสามเณร มีโบสถ์ สถูป เจดีย์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมรุ เป็นต้น  

คำว่า “วัด” ตามความหมายดั้งเดิมเป็นคำกริยา แปลว่า กะ กำหนดนับ คำนวณ หรือหมาย ฯลฯ  สำนักของพระสงฆ์สามเณรได้ชื่อว่า “วัด” หรือ “วัดวา” ซึ่งเป็นคำพูดติดปากของคนโบราณเป็นการเน้นให้เห็นมูลเหตุว่าวัดคือ มาตรฐานหรือบรรทัดฐานในการกำหนด หรือคำนวณคุณธรรมของคน เพราะคำว่า “วา” เป็นมาตรสำหรับวัดของไทย ความหมายดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุให้ควรสันนิษฐานได้ว่า “วัด” คำนี้หมายถึง การกะการนับ  ได้ใช้พูดถึงหรือเรียกสถานที่พำนักของพระสงฆ์สามเณรว่า “วัดวาอาราม” ติดปากคนมาจนกระทั่งปัจจุบัน


มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศไทย
จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่า ชาวอินเดียได้มาสอนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่นานนัก จึงน่าสันนิษฐานว่า เมื่อก่อนรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น จะมีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาหรือประกอบการค้าขายอยู่ในประเทศสยามนี้มากอยู่แล้ว ทูตที่มาสอนพระพุทธศาสนาคงมาสอนพวกชาวอินเดียก่อนด้วยพูดเข้าใจภาษากัน เมื่อพวกอินเดียเหล่านั้นรู้ภาษาสยามจึงถ่ายทอดพระพุทธศาสนาแก่พวกชาวสยามในสมัยนั้น

ต่อมาครั้นมีพุทธศาสนิกชนขึ้นเป็นอันมาก จึงไปขอพระบรมธาตุและคณะสงฆ์มาจากอินเดียแล้วสร้างพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ และผู้ที่ศรัทธาจะขอบวชก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย จึงเกิดมีวัดและมีสังฆมณฑลขึ้นในประเทศไทย


ที่ดินของวัด
ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงปาฐกถาเรื่องมูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยามไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ สรุปได้ว่า วัด คือ ที่ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ วัดแห่งหนึ่งๆ มีพื้นที่อยู่ในการดูแลรักษาขนาดกว้างใหญ่ต่างๆ กันออกไปตามกำลังศรัทธาของผู้เป็นต้นคิด การสร้างวัดขึ้นถวายไว้ในพระพุทธศาสนา พื้นที่วัดหรือสังฆมณฑล ประกอบด้วยที่ดิน ๓ ประเภทร่วมกันคือ
๑.ที่วัด คือพื้นที่อันเป็นที่ตั้งวัดตลอดไปทั้งเขตแดนของวัดนั้น พื้นที่ของวัดตามปกติจะแบ่งออกเป็น ๓ แปลง แต่มิได้แบ่งปันให้ขาดออกจากกันตามขนาดพื้นที่ แต่แบ่งออกตามหน้าที่และความสำคัญในทางศาสนาเท่านั้น คือ
      
เขตพุทธาวาส คือพื้นที่แปลงหนึ่งซึ่งกำหนดเป็นพุทธมณฑล เป็นบริเวณที่ประดิษฐานปูชนียสถานและปูชนียวัตถุอันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมโดยตรง มีสิ่งก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นต้นว่า พระอุโบสถ พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร พระสถูป หรือพระมหาธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระมณฑปที่เก็บพระไตรปิฎกอันเป็นพระธรรมเจ้า ฯลฯ ล้วนสร้างขึ้นภายในเขตพุทธาวาสนี้ทั้งสิ้น

เขตสังฆาวาส คือที่ดินที่ต่อจากเขตพุทธาวาสเป็นบริเวณที่พำนักของภิกษุและสามเณรมีสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่นี้คือ กุฎี หอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ เป็นต้น

เขตที่ปรก คือ พื้นที่ถัดจากเขตสังฆาวาสออกมา ตามปกติปล่อยเป็นที่ว่างไม่ปลูกสร้างอาคารสถานใดๆ ปลูกแต่ต้นไม้ยืนต้นให้เกิดร่มเงา เป็นที่สงัดเงียบ สำหรับพระภิกษุได้ไปกระทำกิจทางวิปัสสนาธุระหรือปฏิบัติกรรมฐาน

๒.ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ดินที่มีผู้ศรัทธาถวายหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด เป็นที่นาบ้างที่สวนบ้างอยู่ในที่ใกล้หรือติดกับวัด สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด

๓.ที่กัลปนา คือที่ดินที่มีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์อันได้จากพื้นที่นั้นถวายแก่วัดหรือพระศาสนา การถวายกัลปนานอกจากจะเป็นประเพณีในส่วนชนสามัญแล้วยังเป็นพระราชประเพณีมีมาแต่โบราณคือ พระเจ้าแผ่นดินทรงอุทิศผลประโยชน์ของหลวงซึ่งได้จากที่ดินแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง มีค่านา เป็นต้น ให้ใช้บำรุงพระอารามใดอารามหนึ่ง ที่ดินประเภทนี้ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยแท้


เขตแดนของวัด
เขตแดนของวัด เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” หมายถึงเขตที่แยกจากหมู่บ้านหรือเขตของคฤหัสถ์ หรือ หมายถึงเขตทำอุโบสถสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์ วิสุงคามสีมานี้ทางวัดได้มาด้วยการรับพระราชทานหรือขอพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัด ให้ยกเว้นภาษีอากรและเป็นทรัพย์ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

การกำหนดวิสุงคามสีมา นัยว่าเป็นคติเกิดขึ้นแต่ภายหลัง เพราะแต่เดิมพระสงฆ์ยังมีจำนวนไม่มาก การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยการกำหนดเขตสีมา เมื่อมีจำนวนพระภิกษุสงฆ์มากขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล การจะเรียกมาประชุมพร้อมกันให้ได้หมดเป็นการลำบากจึงได้กำหนดสีมา เช่น เอาท้องที่อำเภอหนึ่งเป็นเขต เวลามีการประชุมก็เรียกแต่พระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตนั้นประชุมพร้อมกัน พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในอำเภออื่นใดก็ประชุมพร้อมกันในอำเภอนั้นๆ ครั้งพระพุทธศาสนารุ่งเรือง มีจำนวนพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตนั้นมากขึ้นก็ต้องร่นเขตสีมาให้เล็กเข้าเพื่อสะดวกในการประชุม จนถึงมีการกำหนดเขตสีมาให้วัดเป็นอันหนึ่งอันเดียว

เขตแดนของวัดหรือวิสุงคามสีมานี้ เมื่อทางวัดได้รับพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์แล้วต้องประกาศเป็นพัทธสีมา คือการผูกให้เป็นแดนที่มีกำหนดขนาดเป็นที่แน่นอน เพื่อจะทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น การทำอุโบสถสังฆกรรม การอุปสมบท การรับกฐิน เป็นต้น ได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าหากเขตแดนซึ่งจะกำหนดให้เป็นวัดยังมิได้ผูกเขตมีที่หมายแน่นอน พื้นที่นั้นท่านเรียกว่า อพัทธสีมา คือ แดนที่มิได้ผูก จะทำเป็นวัดไม่ได้ ทำการสังฆกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ คงเป็นแต่สำนักสงฆ์เท่านั้น

วิสุงคามสีมาซึ่งได้รับการประกาศและผูกเป็นเขตแดนมีที่หมายกำหนดแน่นอน ซึ่งเรียกว่า “พัทธสีมา” มีขนาดต่างกันเป็น ๒ ขนาด คือ

ขัณฑสีมา เป็นเขตสีมาอย่างย่อมๆ ตามพระบาลีกำหนดให้สมมติเขตสีมาขนาดนี้มีกำหนดกว้างและยาวไม่เล็กเกินไปจนจุพระภิกษุได้ไม่ถึง ๒๑ รูป หรือไม่เป็นที่คับแคบจนพระภิกษุจำนวน ๒๑ รูปนั่งหัตถบาสไม่ได้ การที่มีกำหนดขนาดขันฑสีมาในพระบาลีเช่นว่านี้ก็เนื่องมาแต่เหตุที่ต้องการพื้นที่ภายในขันฑสีมาในการสังฆกรรม บางโอกาสที่ต้องประชุมสงฆ์ถึง ๒๑ รูป มีเป็นต้นว่า การประชุมพระสงฆ์สวดระงับอาบัติสังฆาทิเสสของพระภิกษุที่เรียกว่า “อัพภาน”

ขนาดของขันฑสีมา กำหนดโดยใช้สีมาหรือเสมาเป็นที่หมายเขตอันจะเห็นได้บนพื้นดินปักติดกับตัวโบสถ์ทั้ง ๔ มุม และระหว่างกลางของสีมาทั้ง ๔ ด้านก็มี และปักห่างออกจากพระอุโบสถพอสมควรก็มีเขตแดนภายในสีมาขนาดย่อมๆ นี้เรียกว่า ขันฑสีมา

มหาสีมา เป็นเขตสีมาขนาดใหญ่ คือ ให้สมมติเขตแดนส่วนที่เป็นพุทธาวาสทั้งหมดหรือเขตวัดทั้งหมดให้เป็นพัทธสีมาหรือแดนที่ผูกแล้วโดยมีที่หมายแน่นอน คือ ใบสีมา ปักให้แลเห็นได้บนพื้นดิน โดยปักไว้ตามมุมกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถทั้ง ๔ มุม และระหว่างกลาง หรือปักไว้ที่มุมกำแพงล้อมเขตวัดทั้ง ๔ มุม และในย่านกลางของกำแพงนั้นแต่ละด้านเป็นสิ่งกำหนดขนาดมหาสีมา

พัทสีมาหรือแดนที่ผูกขึ้นแล้วทั้งขันฑสีมาและมหาสีมา ย่อมแสดงขนาดแน่นอนของเขตแดนด้วย “สีมาสมมติ” คือ ที่หมายในการแสดงเขต คตินิยมทำสีมาสมมติตั้งแต่โบราณมาใช้ก้อนศิลานำมาสลักเกลาให้มีสัณฐานกลม เรียกว่า “นิมิต” มีกำหนดจำนวน ๘ ลูก นำเอามาวางตรงมุมของพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมทั้ง ๔ มุม มุมละลูก และตรงย่านกลางระหว่างด้านสกัดหัวและสกัดท้ายกับด้านรีหรือด้านยาวทั้งสองด้าน ซึ่งเรียกว่า “สีมันตริกร” ต้องเอาลูก “นิมิต” นี้วางลงตรงย่านกลางด้านละ ๑ ลูก เป็นลำดับไปทุกด้าน

การกระทำพัทธสีมาเป็นภาระและหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ต้องทำตามธรรมเนียม กล่าวคือ เมื่อพระสงฆ์ได้รับพระบรมราชานุญาตหรือได้รับอนุมัติจากทางราชการให้มีกรรมสิทธิ์บนพื้นดินแปลงที่สร้างขึ้นเป็นวัดได้แล้ว พระสงฆ์จะต้องปันเขตแดนกำหนดกว้างยาวตามขนาดที่จะกระทำพัทธสีมาออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วจึงเรียกประชุมภิกษุในคณะมาพร้อมกันกระทำสมมติสีมาหรือพัทธสีมาร่วมกัน

ธรรมเนียมในการสมมติสีมาหรือทำพัทธสีมาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ฝังลูกนิมิต” นี้ก่อนที่จะลงมือทำพิธีจะต้องทำการสวดถอนสีมาเดิมเสียก่อน พิธีตอนนี้เรียกว่า “สีมาสมุคฆาตะ” ซึ่งจะต้องทำให้ที่บริเวณนั้นเป็นที่บริสุทธิ์ไม่เป็นที่มีสีมาหรือสิทธิครอบครองของบุคคลอื่นต่อไป

การสมมติสีมาจะกระทำโดยพระสงฆ์ไปร่วมประชุมกันอยู่ภายในเขตแดน ซึ่งจะทำการสมมติสีมาหรือจะกระทำให้เป็นพัทธสีมาต่อไปนั้นโดยพร้อมกัน แล้วพระสงฆ์จำนวน ๔ รูป ก็จะพากันเดินไปยังตำแหน่งที่กำหนดจะวางนิมิตไว้ตามทิศต่างๆ ทั้ง ๔ มุม ๔ ด้าน โดยเริ่มต้นทิศบูรพาเป็นลำดับแรก แล้วพระภิกษุในจำนวน ๔ รูป จะถามผู้เป็นประธานหรือผู้ที่มีศรัทธาอุทิศที่ดินถวายให้สร้างวัดนั้นโดยธรรมเนียมเป็นภาษาบาลีว่า “ปุรตฺถิมาย ทิสาย กิํ นิมิตฺตํ” แปลความว่า ทิศบูรพานี้มีอะไรเป็นเครื่องหมาย (แห่งเขตแดน) ผู้เป็นประธานในที่นั้นจะต้องตอบเป็นภาษาบาลีเช่นกันว่า “ปาสาโณ ภน เต” แปลว่า “มีลูกหินเป็นเครื่องหมายเจ้าข้า” การถามตอบในพิธีการนี้ถ้าเป็นการผูกพัทธสีมาเพื่อสร้างพระอารามหลวง พระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงตอบเรียกว่า “ทักนิมิต” การถามตอบนี้ต้องทำไปจนครบทุกทิศ ทุกมุมที่วางลูกนิมิตลูกสุดท้ายแล้ว ก็กลับทวนถามเวียนกลับไปจนบรรจบถึงนิมิตลูกต้นอีกรอบหนึ่ง จึงเป็นการทักนิมิตสมบูรณ์ตามธรรมเนียม แต่ถ้าทำไม่ครบหรือเวียนทักไปเพียงรอบเดียว ถือว่าไม่สมบูรณ์ ถือว่านิมิตขาดใช้ไม่ได้

เมื่อพระสงฆ์ทั้ง ๔ รูป ทักนิมิตครบตามธรรมเนียมแล้วกลับเข้าไปยังที่ประชุมคณะสงฆ์ในย่านกลางเขตแดนสีมาสวดประกาศสมมติสีมาขึ้นพร้อมกันจนสิ้นกระบวนเป็นเสร็จการสมมติสีมาหรือกำหนดพัทธสีมา อนึ่งพื้นที่ภายในเขตสีมาซึ่งผูกเป็นเขตแดนมีขนาดกำหนดแน่นอนด้วยที่หมายคือลูกนิมิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วนี้เรียกว่า “สมานสังวาสสีมา” แปลว่า “แดนที่เสมอกัน”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84778573032882_4.jpg)
พัทสีมา วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81726146323813_10_2_.JPG)
อุโบสถหลังเก่า วัดโกเสยเขต จังหวัดหนองคาย
จะเห็นได้ว่าไม่มีพัทสีมา ซึ่งคงจะได้ทำพิธี “สีมาสมุคฆาตะ” คือการสวดถอนสีมาเดิม
ให้ที่บริเวณนั้นเป็นที่บริสุทธิ์ไม่เป็นที่มีสีมาหรือสิทธิครอบครองของบุคคลอื่นต่อไป


คติในการสร้างวัด
คติในการสร้างวัดทางพุทธศาสนาอันมีมาแต่สมัยโบราณ ควรพิจารณาเห็นได้เป็น ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ สร้างเป็นวัดพุทธเจดีย์ กับสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์ วัดทั้ง ๒ ลักษณะนี้มีข้อต่างกันในด้านคตินิยมและความเชื่อ มีดังต่อไปนี้

วัดพุทธเจดีย์ เป็นวัดที่เกิดขึ้นก่อนวัดอื่นใด กล่าวคือเมื่อแรกที่สมณทูตเข้ามาสอนพระพุทธศาสนาแก่ชนชาวไทยในสมัยนั้น มีคนเรียนรู้ธรรมมาก และมีผู้ศรัทธาจะขอบวชก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย ครั้นมีพุทธศาสนิกชนขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงไปขอพระบรมธาตุมาจากอินเดีย แล้วสร้างพระพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุนั้นขึ้นไว้ กำหนดให้เป็นปูชนียสถานเสมอด้วยองค์พระบรมศาสดาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในที่แห่งนั้นๆ จึงเกิดมีวัดพุทธเจดีย์ขึ้นในประเทศไทยมาแต่ครั้งนั้น วัดพุทธเจดีย์ในชั้นเดิมคงจะมีแต่พระสถูปเจดีย์สิ่งสำคัญเป็นประธานในวัดแต่ละแห่ง บางทีจะมีวิหารขนาดย่อมเป็นที่ประชุมพระสงฆ์หรือสำหรับสัปปบุรุษสร้างต่อออกมาข้างหน้าพระสถูปเจดีย์อีกอย่างหนึ่ง แต่โบสถ์นั้นยังไม่ปรากฏว่ามีเพราะพระสงฆ์ยังมีน้อย การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยเขตสีมา กุฎีพระก็จะมีอยู่ด้วยในวัดพุทธเจดีย์ แต่พระสงฆ์ครั้งนั้นมิได้อยู่ประจำวัด คงถือประเพณีอย่างพุทธสาวกเที่ยวสอนพระศาสนาไปในที่ต่างๆ เป็นกิจวัตร ไม่อยู่ประจำ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง สภาพของวัดพุทธเจดีย์ในภายหลังเมื่อรับสิทธิพระพุทธศาสนาหินยานอย่างลังกาวงศ์มาถือมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ เกิดมีโบสถ์และพัทธสีมา แต่โบสถ์ซึ่งทำขึ้นในชั้นแรกมักทำเป็นหลังเล็กๆ เหมือนกัน อาศัยปลูกไว้ในที่ซึ่งไม่กีดขวาง ปูชนียสถานในสมัยนี้ยกย่องพระสถูปเจดีย์เป็นศูนย์กลางของพระอาราม ข้างหน้าพระสถูปออกมามีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่ ต่อมาในสมัยสุโขทัยนิยมทำโบสถ์ขยายใหญ่ขึ้นและถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ในวัด ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ที่สร้างและปฏิสังขรณ์วัดจึงถือเอาการสร้างพระอุโบสถเป็นสำคัญ วัดพุทธเจดีย์จึงเกิดเป็นแบบอย่างมีลักษณะเด่นชัดเอาในสมัยนี้แล้วได้กลายเป็นนิยมเอาแบบมาสร้างสืบๆ กันมาในภายหลัง

วัดอนุสาวรีย์ เป็นวัดที่เกิดขึ้นต่อมาในภายหลัง สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณสถาน คะเนว่าคงจะเริ่มมีแต่สมัยสุโขทัย ในการสร้างวัดเกิดขึ้นในสมัยที่กล่าวนี้ ด้วยเกิดนิยมในฝ่ายคฤหัสถ์ว่าที่บรรจุอัฐธาตุของวงศ์ตระกูลควรจะสร้างเป็นเจดีย์วัตถุอุทิศต่อพระศาสนา เวลาผู้ต้นตระกูลถึงมรณภาพ เผาศพแล้วจึงมักสร้างพระสถูปแล้วบรรจุเจดีย์วัตถุ เช่น พระพุทธรูปหรือพระธาตุไว้เบื้องบน ข้างใต้นั้นทำเป็นกรุบรรจุอัฐิธาตุของผู้มรณภาพนั้น และสำหรับบรรจุอัฐิของเชื้อสายในวงศ์ตระกูลต่อมา ข้างหน้าพระสถูปสร้างวิหารไว้หลังหนึ่งเป็นที่หรับทำบุญ จึงเกิดมีวัดอนุสาวรีย์ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ขึ้นไปจนขนาดใหญ่ ตามกำลังของตระกูลนั้นสร้างที่เป็นวัดขนาดใหญ่และสร้างพระเจดีย์ ที่บรรจุอัฐเรียงรายไปในวัดเดียวนั้นก็มี ในวัดจำพวกซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์ดังกล่าวมา ที่ปรากฏอยู่ในเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยหามีอุโบสถ หามีที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ไม่ ตัวอย่างเช่น เมืองสวรรคโลกเก่า มีวัดหลวงใหญ่ๆ สร้างไว้ถึง ๕ วัด มีเขตสร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่ได้แต่เพียงวัดเดียวเท่านั้น ที่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยมีวัดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์ มีเรียงรายไปตามระยะทางมากกว่ามาก ล้วนมีพระเจดีย์องค์หนึ่งกับวิหารหลังหนึ่งแทบทุกวัด

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คติการถือพระศาสนาก็เหมือนอย่างครั้งกรุงสุโขทัย มีพระอารามหลวงที่สำคัญคือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างขึ้นในบริเวณพระราชวังเหมือนอย่างวัดมหาธาตุที่เมืองสุโขทัย เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายในราชสกุล และมีวัดอื่นทั้งของหลวงและของราษฎร์สร้างไว้อีกมากมาย จนเป็นคำกล่าวกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ว่า เมื่อครั้งบ้านเมืองดีเขาสร้างวัดไว้ให้ลูกเล่น ที่จริงนั้นคือใครตั้งวงศ์สกุลได้เป็นหลักฐาน ก็สร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของสกุลวงศ์ มักสร้างเจดีย์ขนาดเขื่อง ๒ องค์ไว้ข้างหน้าโบสถ์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุต่อบิดาองค์หนึ่ง มารดาองค์หนึ่ง ส่วนสมาชิกในสกุลนั้น เมื่อใครตายลงเผาศพแล้วก็สร้างสถูปเจดีย์ขนาดย่อมลงมาเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุรายไปรอบโบสถ์ เรียกกันว่า “เจดีย์ราย” ครั้นถึงเวลานักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษสงกรานต์พากันออกไปทำบุญ ให้ทานอุทิศเปรตพลีที่วัดของสกุล พวกเด็กๆ ได้โอกาสตามออกไปด้วยก็ไปวิ่งเล่นในลานวัด เมื่อเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้จึงเกิดคำที่กล่าวว่าสร้างวัดให้ลูกเล่น

วัดแต่ละแห่งๆ ซึ่งสร้างขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณและมีในลำดับสมัยต่อมานั้นล้วนแสดงออกให้เราเห็นความสำคัญชวนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยสิ่งก่อสร้างทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยการตกแต่งประณีตศิลปด้วยความวิจิตรนานาประการ การที่ทางวัดจัดการก่อสร้างถาวรวัตถุและถาวรสถานต่างๆ ให้เพียบพร้อมไปด้วยศิลปะลักษณะดังกล่าวนี้ มิใช่พระภิกษุสงฆ์ในวัดแห่งนั้นมีความต้องการจะได้พำนักในอาคารหรือใช้สอยสรรพวัตถุที่สร้างทำขึ้นอย่างประณีตวิจิตร เพราะบรรพชิตผู้เป็นพุทธสาวกทั้งปวงย่อมพอใจใคร่ละวางต่อสิ่งสวยงาม แต่การที่วัดแต่ละแห่งสร้างศาสนสถานที่มีความวิจิตรงดงามด้วยศิลปลักษณะทั้งในด้านสถาปัตยกรรมเป็นหลักสำคัญและศิลปกรรมอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ ดังที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนและในปัจจุบันนั้นล้วนเป็นผลอันเนื่องมาแต่เหตุสำคัญคือ สิ่งศิลปกรรมต่างๆ ย่อมอาศัยคุณลักษณะในด้านความงาม ก่อให้เกิดอิทธิพลในการปลูกศรัทธาให้งอกงามขึ้นในจิตใจแห่งวิญญูชนได้โดยง่าย ทางวัดจึงส่งเสริมให้มีการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นเพื่อการเจริญศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนแต่ในชั้นแรก วัดจึงเป็นแหล่งของศิลปกรรมโดยเฉพาะมีสถาปัตยกรรมเป็นประธานและร่วมด้วยศิลปกรรมแขนงอื่นเป็นส่วนประกอบ


จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ เรียบเรียง - หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง