[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2556 18:42:20



หัวข้อ: วัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี วัดในหน้าประวัติศาสตร์ และจิตรกรรมฝาผนังแต่ครั้งกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2556 18:42:20
.
วัดใหญ่อินทารามนามขนาน        วัดโบราณนานแท้แน่นักหนา
ประเพณีสืบเนื่องเรื่องมีมา          ชาวประชาชนรู้อยู่ระบือ
การวิ่งควาย, ม้า, วัว แต่งตัวขำ    มีประจำตำหรับหลักนับถือ
ข้างขึ้นสิบสี่ค่ำ คนร่ำลือ            เดือนสิบเอ็ดลัวะ ลื้อ ฮือมากมาย.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85716818811164_1.JPG)
พระประธานพระอุโบสถ  วัดใหญ่อินทาราม  จังหวัดชลบุรี

วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง)
Wat Yaiintharam Royal Monastery
ถนนเจตน์จำนง ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี

วัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง  เป็นโบราณสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา คู่บ้านคู่เมือง มาแต่อดีตสมัยหลายร้อยปี  กรมศิลปากรที่ได้ขึ้นทะเบียนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๙ ตอนที่พิเศษ ๑๒๙ ง. ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕  ได้แก่พระอุโบสถ  จิตรกรรมฝาผนัง พระวิหาร พระมณฑป

เป็นวัดสังกัดมหานิยาย กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๕  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดใหญ่อินทาราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘  

เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า วัดหลวง หรือ วัดอินทาราม  มีวัดที่สร้างในสมัยเดียวกันคือ วัดคงคาลัย วัดสมรโกฏ วัดสวนตาล  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางทราย และตำบลบางปลาสร้อย  

ปัจจุบันวัดทั้งสามแห่งนี้ได้ร้างไปเสียนานแล้ว แต่ยังคงทิ้งหลักฐานร่องรอยไว้

ตามตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช (พระนครอินทร์) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จประพาสเมืองชลบุรี โดยขบวนพยุหะยาตราทางชลมารค มีพระราชศรัทธาให้สร้างวัดที่ตำบลบางปลาสร้อย เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๕๕  และได้พระราชทานนามพระอารามนี้ว่า “วัดอินทาราม”  เพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชนามเดิมของพระองค์ว่า “พระนครอินทร์”  ชาวบ้านในสมัยนั้นนิยมเรียกว่า วัดหลวงบ้าง วัดใหญ่บ้าง  ส่วนทางราชการเรียกชื่อเต็มว่า วัดใหญ่อินทาราม

มูลเหตุที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดหลวงบ้าง วัดใหญ่บ้าง  หมายความว่าเป็นวัดที่ใหญ่ในทางฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง  และใหญ่ในด้านขนาดของพระอุโบสถ ซึ่งเป็นธรรมเนียมนิยมของสมัยอยุธยาตอนต้นสืบเนื่องถึงอยุธยาตอนกลาง ที่สร้างพระอุโบสถให้มีขนาดใหญ่เหมือนท้องพระโรง  

คำว่า “โรง” คือ อาคารที่สูงโปร่งขนาดใหญ่ จุคนได้มาก สามารถที่จะประชุมและตั้งบัลลังก์ชั่วคราวทำเป็นท้องพระโรงเข้าเฝ้าได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49131503783994_11.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53825106554561_12.JPG)


พระอุโบสถ วัดใหญ่อินทาราม
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77832495793700_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44426484654347_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66496921868787_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70856809077991_7.JPG)
รอยพระพุทธบาทจำลอง ในวัดใหญ่อินทาราม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/94802730778853_6.JPG)
พลแบก ประดับแท่นประดิษฐานพระประธาน
*พลแบก มักหมายถึง ไพร่พล เช่น ยักษ์ ลิง อยู่ในท่าแบกฐานอาคารสิ่งก่อสร้าง
มักพบทั่วไปในงานช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น. อ้างอิง : ศาสตราจารย์ ดร.สันติ  เล็กสุขุม



จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม
ฝีมือบรรพชนไทยโบราณ สมัยกรุงศรีอยุธยา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49592343593637_1_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23119957869251_1_3.JPG)
รอยชำรุดโก่งตัวของผนังและสี เห็นได้ชัดเจนตรงส่วนเว้าเกือบปลายยอดแหลมของปราสาท
ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นจำนวนมากกับจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดอินทาราม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49150200933217_1_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49208799997965_1_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/21884134494595_1_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/25104320752951_1_7_2_.JPG)
ฝีมือ ชั้นเชิงช่าง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  
สาระที่ช่างนำมาวาด คือแนวเรื่องพุทธประวัติ หรือชาดก อุดมคติอันเนื่องในพุทธศาสนา  
ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุด ลบเลือน อันอาจเกิดจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ ความชื้นเป็นสำคัญ  
หรือภัยความร้อนของอุณหภูมิโลกที่นับวันสูงขึ้น หรือภัยจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง  
ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล และนับวันจะวิกฤตยิ่งขึ้น.


จิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23307718874679_1_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86118201580312_1_10.JPG)
อุดมคติของภาพ สื่อถึงการดำรงชีวิตของสังคมในสมัยโบราณได้อย่างเด่นชัด
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75008968884746_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30973929746283_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95569505376948_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83179783655537_5.JPG)
พระราชกรณียกิจ การกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73019778438740_2.JPG)
พระราชกรณียกิจ การกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช




สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเกี่ยวข้องอย่างไร? กับวัดใหญ่อินทาราม

เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก  ความคิดของผู้ที่มีกำลังและอำนาจตามหัวเมืองได้เปลี่ยนแปลง  พระยาจันทบุรีก็นิ่งเฉยอยู่  ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องกรมการเก่าเมืองระยอง  ซึ่งเคยปล้นค่ายพระยาตากแล้วหนีไปนั้น ก็ไปตั้งกำลังซ่องสุมอยู่ที่เมืองแกลง  อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองจันทบุรี คุมสมัครพรรคพวกมาปล้นแย่งชิงช้าง ม้า  พาหนะของพระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ในหมู่นั้นด้วย

พระยาวชิรปราการ จึงยกกำลังไปกำราบ  ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้ จึงหนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี  พระยาวชิรปราการเห็นว่า การจะทำกำลังให้เป็นปึกแผ่นในพื้นที่ภาคตะวันออก จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน

ในขณะนั้น เมืองชลบุรี มีนายทองอยู่  นกเล็ก  ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่  พระยาวชิรปราการ จึงยกกำลังมายังเมืองชลบุรี ตั้งกำลังอยู่ที่หนองมนต่อแดนเมืองบางละมุง  แล้วยกกำลังต่อไปยังเมืองชลบุรี  มาตั้งค่ายพักไพร่พลอยู่บริเวณหน้าวัดหลวง (วัดใหญ่อินทาราม) ครั้งเมื่อยังมีต้นหว้าใหญ่อยู่ จนถึงสะพานหัวค่าย (สะพานป้อมค่าย)  จากนั้นบัญชาการเข้าปราบนายทองอยู่  นกเล็ก ส่งคนไปเกลี้ยกล่อม นายทองอยู่  นกเล็ก  ให้เข้ามอบตัวสวามิภักดิ์

นายทองอยู่  นกเล็ก เห็นจะสู้รบไม่ไหว  จึงยอมเข้ามอบตัวมาสวามิภักดิ์ จึงโปรดตั้งให้เป็น พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร.




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27900498815708_1_64_.JPG)
ศาลที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดใหญ่อินทาราม

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวชลบุรี  เพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่ได้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย  ทั้งยังเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ ครั้งที่พระองค์ทรงยกทัพผ่านจังหวัดชลบุรี เพื่อไปเมืองจันทบูน (จันทบุรี)

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ เป็นวันสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ หลังพระราชกรณียกิจสำคัญคือการกอบกู้เอกราช จนได้สมัญญา
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

พระทรงใช้เวลา ๕ เดือนเศษ ในการรวบรวมไพล่พล แล้วยกทัพไปต่อสู้กับพม่า  ซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นธนบุรี  ได้รับชัยชนะในที่สุด  เป็นการกอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมา หลังจากเสียกรุงแก่พม่าเพียง ๗ เดือน อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูล อัญเชิญขึ้น ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔  แต่เรียกขนานนามพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี  และทรงครองราชย์ ๑๕ ปี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ขององค์พระเจ้าตากสินมหาราช  ทางรัฐบาลอีกทั้งปวงประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพากันถวายพระเกียรติ  ประกาศให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ ให้เป็นวันระลึก “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน”




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96423321548435_9.JPG)
หมอชีวกโกมารภัจจ์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58721412345766_8.JPG)
"หมอสุกเทวดา"
ปูชนียบุคคลที่ชาวจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพยิ่ง

หมอสุกเทวดา เป็นแพทย์แผนโบราณ รักษาโรค เช่น ฝีในท้อง โรคฝีเม็ดเล็ก และโรคอื่นๆ
ท่านรักษาโรคอย่างได้ผลยิ่ง ท่านไม่คิดค่ารักษาและไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ
จึงเป็นที่รักและศรัทธาของชาวจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง  
ชาวบ้านต่างพากันขนานนามท่านว่า “พ่อหมอสุกเทวดา"  
ชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือถึงกับได้รับความไว้วางพระทัย
ให้ถวายการตรวจรักษาพระอาการพระประชวรของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา
พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67262889403435_15.JPG)
ม้า วัว ควาย ตายเหลือเนื้อหนังเขา
ช้างตายเน่าเหลืออยู่คู่งาสอง
มนุษย์ตายชายหญิงทิ้งซากกอง
ดีชั่วก้องคงอยู่คู่โลกา... •