[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 สิงหาคม 2563 16:23:11



หัวข้อ: การสร้างพระพุทธรูปปางทุกรกิริยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 สิงหาคม 2563 16:23:11

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/6/69/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B22.jpg)
ขอขอบคุณเว็บไซต์ วิกิพีเดีย (ที่มาภาพ)

ประวัติพระพุทธรูป ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

การสร้างพระพุทธรูปลักษณะปางทุกรกิริยานี้ ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความเพียรที่ปฏิบัติได้ยากยิ่งหาที่เปรียบมิได้ ไม่มีใครจะทำทุกรกิริยายิ่งกว่าพระบรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะได้อีก เพราะถ้าเพียรมากกว่านี้ก็ถึงกาลกิริยาแล้ว ซึ่งก็คือความตายนั่นเอง

คำว่า “ทุกร“ หมายถึง สิ่งที่ทำได้ยาก “ ทุกรกิริยา(ทุก-กะ-ระ-กิ-ริ-ยา)” หมายถึงการกระทำกิจที่ทำได้ยากยิ่ง โดยการบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงมุ่งหวังจะบรรลุธรรมวิเศษด้วยการทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการของโยคี เมื่อสร้างเป็นพระพุทธรูป จึงเป็นอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ (กระดูก) และพระนหารุ (เส้นเอ็น) ปรากฏ ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมจนเห็นหนังติดกระดูก

หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะได้สำเร็จฌานสมาบัติ ๘ จากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร  พระบรมโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาจากสำนักทั้งสองในกรุงราชคฤห์ ทรงออกแสวงหาหนทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ทิวเขาดงคสิริ ใกล้ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ โดยมีปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ถวายการอุปัฏฐาก

พระบรมโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยา คือการบำเพ็ญอย่างยิ่งยวดในลักษณะต่างๆ เช่น การอดพระกระยาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย จนมีพระวรกายซูบผอม พระโลมา (ขน) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจนไปทั่วพระวรกาย การทรมานพระวรกายโดยการกลั้นพระอัสสาสะ พระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก) การกดพระทนต์ การกดพระตาลุ ( เพดาน) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) เป็นต้น พระมหาบุรุษได้ทรงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาถึง ๖ ปี แต่ก็ยังคงไม่พบหนทางหลุดพ้นจากทุกข์แต่อย่างใด เพราะเป็นการปฏิบัติฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค (หมายถึง การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อนถึงที่สุด)

ต่อมาเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ทรงสดับเสียงพิณและพิจารณาว่า สายพิณเส้นหนึ่งที่หย่อน ถ้าเล่นไปเสียงจะผิดเพี้ยนไม่ไพเราะ สายพิณอีกเส้นหนึ่งที่ตั้งตึงมากเกินไป ถ้าเล่นไปสายก็จะขาด ส่วนสายพิณที่ตั้งไม่หย่อนไม่ตึง เสียงจะไพเราะ

ทางสายกลางต่างหากที่เป็นทางถูกต้อง ในที่สุดพระองค์กลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรงในการคิดค้นวิธีใหม่  

เมื่อพระมหาบุรุษเลิกล้มการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นครพาราณสี เป็นผลให้พระบรมโพธิสัตว์ได้ประทับอยู่ตามลำพังในที่อันสงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติดำเนินทางสายกลาง บำเพ็ญเพียรตามหนทางมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นหนทางพอดี จนสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ร่มโพธิพฤกษ์ในคืนเพ็ญเดือน ๖ ในที่สุด

“ปางพระพุทธรูป” ก็คือลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อในพระพุทธประวัติ โดยช่างในสมัยโยนก (คันธารราฐ) สมัยราชวงศ์คุปตะ (ราว พ.ศ.๘๖๓ - ๑๐๒๓) ซึ่งเป็นชาวกรีกพวกแรก ที่กำหนดรูปแบบพระพุทธรูปออกเป็นปางต่างๆ ขึ้นมาจำนวน ๙ ปาง รวมถึงพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วย ต่อมาช่างชาวอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นชาวกลิงคราฐ (ในปัจจุบันคือรัฐโอริสสา) รวมทั้งในยุคสมัยต่างๆ ในภายหลัง ก็ได้สร้างปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก



(https://pharkhruwimol.files.wordpress.com/2013/02/zsupn4bldl.jpg?w=300&h=300)
ขอขอบคุณเว็บไซต์ pharkhruwimol.wordpress.com (ที่มาภาพ)