[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
09 พฤษภาคม 2567 03:34:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์ 'ผีตาโขน' วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  (อ่าน 3272 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 เมษายน 2559 14:22:07 »





พิพิธภัณฑ์ 'ผีตาโขน' วัดโพนชัย
ถนนแก้วอาสา หมู่ที่ ๓ บ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  

วัดโพนชัยหรือวัดโพน อยู่ในท้องที่บ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๘ ไร่ ๑ งาน ๕๔ ตารางวา (น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๔๔๑) อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๑๖๐ เมตร จดร่องน้ำสาธารณะ ทิศใต้ประมาณ ๒๒๒ เมตร จดร่องนาคำ ทิศตะวันออกประมาณ ๑๔๕ เมตร จดร่องนาคำ ทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร จดถนนแก้วอาสา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๔ แปลง เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๓๓ ตารางวา (น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๔๔๒, ๒๗๘, ๑๔๔๓ และ ๑๔๔๕)

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  ศาสนสมบัติของวัด มี พระประธานสร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร  เจดีย์พระธาตุศรีสองรักจำลอง ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้างประมาณ ๓.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร  

วัดโพนชัย สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร  ชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่ซึ่งเป็นรูปเนินคล้ายจอมปลวก มีเรื่องราวเล่าว่าเป็น ขุยของพญานาค จึงตั้งชื่อว่าวัดโพนชัย ชาวบ้านเรียกว่าวัดโพน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย คู่กับวัดพระธาตุศรีสองรัก  



พระประธานประจำอุโบสถ สร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร  


อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  


วัดโพนชัยและวัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองด่านซ้าย จ.เลย
วัดสองแห่งนี้อยู่ใกล้กัน และมีการสร้างเจดีย์พระธาตุศรีสองรักจำลอง
ขนาดกว้างประมาณ ๓.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร ไว้ที่วัดโพนชัยอีกแห่งหนึ่งดุ้วย


เทศกาลงานบุญผีตาโขน
วัดโพนชัยแห่งนี้ นอกจากเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคณะสงฆ์และเจ้านายแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมในการทำพิธีงานบุญประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีสางเทวดาของผู้คนในท้องถิ่นอำเภอด่านซ้าย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิมและยังคงปฏิบัติสืบทอดมาตราบจนปัจจุบัน คือ งานบุญหลวง

งาน “บุญหลวง” ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น เป็นการจัดงานบุญที่รวมเอาบุญประเพณีสองอย่างใน “ฮีตสิบสอง” (ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนของแต่ละปี)  โดยรวมเอา บุญพระเวส หรือบุญพระเวสสันดร (ฮีตเดือนสี่) ซึ่งนิยมทำกันในเดือนสี่ และงาน “บุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) ที่นิยมทำในเดือนหก มาจัดรวมเข้าด้วยกันเป็นงานบุญเดียวกัน  

“บุญพระเวสสันดร” ภาคกลางเรียก เทศน์มหาชาติ หรือเทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่ปฏิบัติสืบทอดให้มีกันมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ แต่ภาคอีกสานจะเทศน์กัณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย คือ พระมาลัยหมื่นมาลัยแสน เทศน์สังกาส   ชาวบ้านเชื่อกันว่าใครได้ฟังเทศน์ดังกล่าวจบในวันเดียว จะได้รับอานิสงส์แรงกล้าบันดาลให้เกิดผล ๕ ประการ คือ ๑.จะได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  ๒.จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  ๓.จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต  ๔.จะเป็นผู้มีลาภ ยศ และความสุข  ๕.จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา  

ส่วนงานบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง ถือเป็นงานประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

งาน “บุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ของวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย นิยมทำกันในเดือนแปดข้างขึ้น ภายหลังการทำพิธีบวงสรวงอารักษ์หลักเมือง หรือผีปู่ตา ซึ่งเรียกว่า “หอหลวง” และ “หอน้อย” ในเดือนเจ็ดข้างขึ้นของแต่ละปี เสร็จแล้ว  

“หอหลวง” เป็นศาลเจ้าที่ ตั้งอยู่ในป่าใกล้พระธาตุศรีสองรัก ห่างจากพระธาตุศรีสองรักไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร มีพระเสื้อเมือง เรียกว่า “เจ้าองค์หลวงและเจ้าองค์ไทย” สถิตอยู่     ส่วน “หอน้อย” ตั้งอยู่ในป่าริมห้วยน้ำศอก ถัดจากหมู่บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย ไปทางทิศตะวันตก  มีพระเสื้อเมือง เรียกว่า “เจ้าแสนเมือง” สถิตอยู่

เมื่อทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าที่ประจำปีดังกล่าวแล้ว จะมีพิธีทรงเจ้า รวม ๒ วัน โดยทำพิธีบวงสรวงที่หอหลวงเป็นวันแรกก่อน เสร็จแล้วจึงทำพิธีบวงสรวงที่หอน้อยในวันถัดมา  

ผู้ทำพิธีเข้าทรง ฝ่ายชายเรียกเจ้ากวน หรือกวนจ้ำ ฝ่ายหญิงเรียกนางเทียม

ผู้เข้าทรงที่หอหลวงมีทั้งเจ้ากวนและนางเทียม โดย “เจ้ากวน” จะเข้าทรงก่อน “นางเทียม”  จึงเข้าทรงต่อจนเสร็จพิธี  ส่วนที่หอน้อยซึ่งทำพิธีในวันที่สอง มีการเข้าทรงเฉพาะเจ้ากวนเท่านั้น  และในขณะที่ “เจ้ากวน” เข้าทรงที่ “หอน้อย”  เจ้ากวนจะสั่งอนุญาตให้จัดงานบุญหลวง โดยมีกำหนดจัดงาน ๓ วัน  ภายในงานให้มีการแสดงผีตาโขน ซึ่งมีทั้งผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก  ส่วนวัดอื่นๆ ในท้องที่อำเภอด่านซ้าย หากจะจัดให้มีงานบุญเช่นนี้ขึ้นก็ทำได้ แต่ต้องทำภายหลังงานบุญหลวงของวัดโพนชัย








ผีตาโขน เป็นชื่อการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เป็นพิธีปฏิบัติที่มีรากฐานความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ มีการอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าร่างทรง มีการขออนุญาตก่อนจัดงาน และมีการแห่ขบวนผีตาโขนไปคารวะผู้เข้าทรง "เจ้า" ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ให้ดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าทรง

การจัดงาน "บุญหลวง" แต่ละครั้ง จึงต้องมีการละเล่นผีตาโขนควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้งานสมบูรณ์ตามที่เคยปฏิบัติกันมา และยังเชื่อว่า 'การเล่นผีตาโขน' จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้านในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชผลทางการเกษตร

เทศกาลงานบุญผีตาโขน จะมีบรรดาผู้เล่นเป็นผีตาโขน ครอบศีรษะด้วยหน้ากากคละลวดลายต่างสีสัน ลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว ออกมาเต้นแสดงท่าทางต่างๆ เพิ่มความสนุกสนานครื้นเครง แก่ผู้เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมติให้สถานที่นอกวัดโพนชัย ได้แก่ บริเวณหมู่บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย เป็นที่ที่พระเวสสันดรและนางมัทรีประทับอยู่  มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรและนางมัทรี เสร็จแล้วอัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีแห่เข้าวัด ซึ่งสมมติให้วัดโพนชัยเป็น “เมือง” สีพีราษฎร์  

การแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองนี้ เข้าใจว่าคงได้เค้าเรื่องมาจาก เมื่อครั้งพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ อันเป็นช้างมงคลสำคัญของนครสีพี ให้แก่ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจจึงขอให้พระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดา ขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมือง

พระนางมัทรี และพระโอรส-พระธิดา (ชาลี-กัณหา) ได้ตามเสด็จไปอยู่ด้วย  ณ เขาวงกต  ภายหลังต่อมาชาวเมืองกลิงคราษฎร์นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาคืนและชาวเมืองสีพีหายโกรธ  พระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี ผู้เป็นพระราชบิดาและมารดา จึงเสด็จไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมืองสีพี




ผีตาโขนใหญ่ ส่วนศีรษะและลำตัว ทำจากไม้ไผ่สาน ส่วนหน้าจะใช้กระด้ง
และนำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่งเป็นตา จมูก ปาก  ส่วนลำตัวเป็นผ้าเก่าหรือมุ้งเก่าขาด
ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่ จะมีเฉพาะกลุ่มครอบครัวเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ
การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปี
หรือทำติดต่อกันอย่างน้อย ๓ ปี

ผีตาโขน
ผีตาโขน มี ๒ จำพวก ได้แก่ ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก หรือผีตาโขนทั่วไป

๑.ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นรูปผู้ชายตนหนึ่งและผู้หญิงตนหนึ่ง ช่างผู้จัดทำอยู่ในหมู่บ้านด่านซ้าย เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ช่างตระกูลนี้ถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องทำ เพราะถ้าปีใดไม่ทำ เชื่อว่าอาจทำให้คนในตระกูลนั้นเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เจ็บป่วยไข้ เกิดเภทภัยบางอย่าง เป็นต้น

การละเล่นผีตาโขนใหญ่  เนื่องจากผีตาโขนใหญ่ มีขนาดใหญ่โตมาก  เคลื่อนไหวไปมาได้โดยให้คนเข้าไปอยู่ในตัวหุ่น ชาวด่านซ้ายมีความเชื่อกันว่าการทำผีตาโขนใหญ่ในเทศกาลงานบุญหลวงแต่ละปีนั้น จะทำผีตาโขนใหญ่มากกว่า ๒ ตัวใน ๑ ขบวนไม่ได้  ผีตาโขนใหญ่จะทำเป็นคู่ คือ ผีตาโขนชาย ๑ ตัว และผีตาโขนหญิง ๑ ตัว  ผู้เล่นผีตาโขนใหญ่จะต้องเข้าไปอยู่ข้างในหุ่น ดังนั้นผู้เล่นต้องเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ และสุขภาพแข็งแรง เพราะต้องแสดงลีลาท่าทางในการเคลื่อนไหวตัวให้มีศิลปะ  เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนานและประทับใจ

การทำรูปผีตาโขนใหญ่เชื่อกันว่า จำลองมาจากร่างของคนแปดศอก (คนในสมัยโบราณมีขนาดความสูงถึงแปดศอก) ก่อนทำโครงร่างของผีตาโขนใหญ่ ผู้ทำจะต้องทำพิธีกรรมไหว้ครู โดยจัดดอกไม้และเทียนอย่างละ ๕ คู่ และ ๘ คู่ ใส่พานหรือขัน กล่าวคำขอขมาและขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน จึงลงมือทำ การทำโครงผีตาโขนใหญ่ ใช้ตอกไม้ไผ่สานปื้นแผ่นใหญ่ทั้งลำตัว แขน และศีรษะ ส่วนศีรษะสานเป็นทรงกลม หาผ้าผืนใหญ่มาหุ้ม แล้วหาวัตถุเป็นเส้นๆ เช่น เส้นใยของทางมะพร้าวหรือเส้นด้ายมาทำเป็นผม ทุบเอาเนื้อออกแล้ว หรือใช้เศษผ้าตัดเป็นริ้วยาวๆ เป็นต้น มาติดที่บนศีรษะ สมมติให้เป็นผม โดยให้ผมผู้หญิงยาวกว่าผมผู้ชาย ส่วนของใบหน้าสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นวงกลมคล้ายกระด้งฝัดข้าว นำมาผูกติดกับส่วนศีรษะ ตกแต่งปาก จมูก ตา คิ้ว หู และแต้มสีสันฉูดฉาดให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว  ใบหน้าของผีตาโขนผู้ชายจะเพิ่มหนวดเคราด้วย ส่วนลำตัวและแขนหุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ เช่น ผ้ามุ้ง ผ้าห่ม ฯลฯ ใช้ไม้หรือวัสดุอื่นทำอวัยวะเพศชาย ตอนปลายอวัยวะนิยมแต้มด้วยสีแดง แล้วนำผูกติดกับบั้นเอว ใต้สะดือ  ส่วนผีตาโขนเพศหญิง ก็ทำอวัยวะเพศหญิงใส่ ขนาดใหญ่ให้สมส่วนกับลำตัว อาจทำด้วยกาบกล้วย และตรงหน้าอกสองข้าง นำกะลามะพร้าว ลูกบอลผ่ากลาง หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะกลมๆ มาทำเป็นรูปนมติดไว้ ภายในลำตัวผีตาโขน เอาไม้ไผ่เป็นลำมามัดไขว้ผูกติดไว้ สำหรับให้คนยืนข้างในจับยกร่างผีตาโขนเคลื่อนไปได้ และด้านหน้าลำตัว เจาะรู ๒ รู ให้คนถือผีตาโขนมองเห็นได้ และใต้ช่องที่ตามองลอด เจาะรูขนาดแขนสอดเข้าออกได้ ๑ รู สำหรับสอดขวดเหล้าหรือสิ่งของเข้าไปได้ เมื่อมีคนให้เหล้าหรือสิ่งของแก่ผู้เชิดผีตาโขนใหญ่




๒.ผีตาโขนเล็ก หรือผีตาโขนทั่วไป คือการเล่นผีตาโขนแบบใส่หน้ากาก และใช้ผ้าคลุมร่างกายให้มิดชิด เนื่องจากการทำหน้ากากผีตาโขนเล็กไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเหมือนกับการทำผีตาโขนใหญ่ จึงทำให้เป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ผู้เล่นผีตาโขนเล็กใช้ “กะแหล่ง” ผูกบั้นเอว เวลาคนเดินจะมีเสียงดัง “กะแหล่ง ๆ ๆ” กะแหล่งบางทีใช้เขย่าเวลาแสดงการละเล่น เพื่อประกอบท่าทางของผู้แสดง

ชาวบ้านในละแวกบ้านที่จัดงานบุญและหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันจัดทำผีตาโขนเล็กมาสมทบในงาน คือ นำมารวมกัน ณ บริเวณวัดที่จัดงานตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยแบ่งออกเป็นคณะตามคุ้มหรือหมู่บ้าน สมัยก่อนนิยมทำหน้ากากด้วยโคนก้านทางมะพร้าวแห้ง โดยตัดเอาเฉพาะโคนก้าน และจัดตัดแต่งเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู แล้วเอาหวดนึ่งข้าวซึ่งไม่ใช้แล้ว มาเย็บติดกับหน้ากากดังกล่าว โดยหงายปากหวดขึ้นข้างบน ให้หูของหวดอยู่ทางซ้ายและขวาของศีรษะ ตรงก้นหวดกดให้เป็นรอยบุ๋มกลมๆ ขึ้นไป ให้มีขนาดพอที่จะสวมลงบนศีรษะ แล้วนำเอาผ้าเป็นผืนซึ่งส่วนมากเป็นผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาเย็บต่อหน้ากากลงมา ให้ผ้าคลุมรอบตัวอย่างมิดชิด ส่วนแขนจะทำเป็นรูปแขนเสื้อยาว เมื่อจะนำไปเล่นหรือแสดงก็เอาเครื่องแต่งกายผีตาโขนดังกล่าวสวมคลุมเข้ากับลำตัว สวมหน้ากากผีตาโขน เมื่อทำหน้ากากและเครื่องแต่งกายผีตาโขนเสร็จแล้วก็แต้มสีหน้ากากให้ดูน่าเกลียดน่ากลัวด้วย




อาจมีคนบางกลุ่มแต่งตัวแบบชาวป่า เปลือยกายท่อนบน ทาส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยดินหม้อหรือสีดำ และนำกระบอกไม้ไผ่ชนิดปล้องยาวๆ ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เฮี้ย” มาถือกระแทกกับพื้นเป็นจังหวะ ขณะเดินเป็นขบวนไปตามถนนหนทางก็มี การเล่นชนิดนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ทั่งบั้ง” (ทั่ง-กระทุ้ง, กระแทก, บั้ง-กระบอกไม้) และมีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สร้อยประคำสำหรับห้อยคอ ทำจากไม้เป็นท่อนขนาดเล็ก โตราวเท่าหัวแม่มือ ยาวประมาณ ๑ คืบ เอามาทำรูปอวัยเพศชาย แล้วร้อยเป็นพวงยาว คล้องคอบ้าง ผูกรอบติดบั้นเอวบ้าง และบางคนอาจนำวัตถุบางอย่างมาทำรูปอวัยวะเพศหญิง นำมาใช้ประกอบการละเล่นด้วย การทำเช่นนี้ คงมุ่งให้เป็นการสนุกสนานและขบขันเท่านั้น มิได้ถือเป็นเรื่องอุจาดลามกหรือหยาบคายเลย

นอกจากนี้ บางคนจะนำตอกไม้ไผ่มาสานเป็นรูปม้า หุ้มด้วยผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว โดยสานเว้นช่องตรงกลางลำตัวม้าไว้ สำหรับให้คนเอาลำตัวสอดเข้าไปถือม้า เมื่อนำม้ามาเข้าขบวนแห่หรือขณะนำม้าไปแสดงการละเล่น พร้อมกับมีดาบหรือง้าวดังกล่าวเป็นอาวุธ คนขี่ม้าจำลองนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ม้าตาโขน” สำหรับวิ่งไล่หยอกล้อผู้หญิงและเด็ก คนขี่ม้าปกติจะไม่สวมหัวผีตาโขน แต่จะทาหน้าและลำตัวด้วยสีต่างๆ ให้น่าเกลียดน่ากลัว มีสัตว์อีกสองชนิดที่นิยมนำตอกไม้ไผ่มาสานและหุ้มด้วยผ้าเก่า คือ รูปควายและช้าง โดยเฉพาะควายทำเป็นรูปหัวควายทุย มีผ้าเย็บต่อออกมา เวลาเล่นก็สอดศีรษะเข้าไปข้างในหัวควาย แล้ววิ่งไล่หยอกล้อผู้หญิงและเด็กเช่นกัน ส่วนรูปช้างไม่นิยมนำไปแสดงการละเล่น คงใช้ถือเข้าขบวนแห่ ขณะแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองเท่านั้น

การประดิษฐ์อวัยวะเพศชายหญิงมาใช้ประกอบการละเล่นผีตาโขนด้วยนั้น เชื่อกันว่าไล่ภูตผีเพราะภูตผีกลัวอวัยวะเพศ และในชุมชนกสิกรรมยอมรับว่าอวัยวะเพศเป็นสัญลักษณ์ของความงอกงาม นอกจากนี้ ผู้คิดอุบายให้สร้างและนำอวัยวะเพศมาประกอบการเล่น ก็เพื่อให้พวกมารหลงระเริงกับอวัยวะเพศฯ และหลงชมการละเล่นแปลกๆเหล่านั้น จนลืมขัดขวางการจัดงานบุญ เป็นการช่วยให้การจัดงานดำเนินไปด้วยความราบรื่น

สิ่งประกอบการแสดงของผีตาโขนเล็ก ที่สำคัญมี ๒ อย่างคือ
๑.อาวุธ ผีตาโขนเล็กทุกตัวจะต้องมีอาวุธประจำกายคือ “ดาบ” หรือ “ง้าว” ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน เป็นลำขนาดโตประมาณเท่าหัวแม่เท้า เช่น ไม้งิ้ว  ตรงด้ามจับหรือโคนด้ามดาบหรือง้าวแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชาย และนิยมทาสีแดงตรงปลายดาบ
๒.เครื่องดนตรี ที่ทำให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะประกอบท่าเดิน หรือ ท่าเต้น ได้แก่ “กะแหล่ง” ชาวบ้านมักเรียกว่า “หมากกะแหล่ง” (กะแหล่ง เป็นวัตถุคล้ายกระดิ่ง ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบน ใช้แขวนคอวัว ควาย)





ความเชื่อและความศรัทธา
ชาวบ้านมีต่อประเพณี ผีตาโขน
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพุธที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ 

จากวิทยานิพนธ์สาขาวิชาทัศนศิลปศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ผีตามคนเข้าเมือง ของ ธัญญ บัวระภา นำเสนอเรื่องความเชื่อและความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อประเพณี ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ว่า ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอําเภอด่านซ้าย เกิดขึ้นในเดือน ๗ ของทุกปี (เดือนมิถุนายน นับเดือนแบบไทย) จัดในวันที่ได้รับเลือกให้จัดขึ้นในแต่ละปีโดยคนทรงประจําเมือง งานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า "บุญหลวง" แบ่งออกเป็นเทศกาล ผีตาโขน ประเพณีบุญบั้งไฟ และ งานบุญหลวง (บุญผะเหวด)

ผีตาโขนเดิมชื่อเรียกว่า "ผีตามคน" หรือบ้างเรียก "ผีตาขน" จนเพี้ยนมาเป็น ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดก คู่ไปกับความเชื่อในการนับถือผี โดยเฉพาะผีเจ้านายที่ยังไม่ถูกทอดทิ้งไป ยังคงมีการเซ่นไหว้สักการะควบคู่ไปกับการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เล่ากันมาว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์ กลายเป็นผีตามคน หรือผีตาขน จนมาเป็นผีตาโขน ด้วยประการฉะนี้ แต่จะให้นับจริงๆ ก็ไม่มีผู้ใดจะบอกได้ถึงช่วงเวลากําเนิดพิธีกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า การละเล่นผีตาโขนของชาวด่านซ้ายเริ่มต้นจากประเพณีพื้นบ้านก่อน ต่อมาได้รับความสนใจจนกลายเป็นงานระดับประเทศที่ชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จัก จัดในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี และมีมานานกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว

ทั้งพบว่า ความเชื่อที่ว่าด่านซ้ายเป็นที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีประทับอยู่ นำสู่การมีพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี และการอัญเชิญเสด็จที่มีขบวนแห่ คือแห่เข้าวัด สมมติว่าเป็นเมือง โดยอัญเชิญพระพุทธรูปนําหน้า มีพระสงฆ์ ๔ รูป นั่งบนแคร่ตามหลัง ต่อจากนั้นเป็นขบวนแห่บั้งไฟ โดยเอาบั้งไฟมามัดรวมกันบนแคร่ และมี "เจ้ากวน" นั่งบนบั้งไฟ ตามด้วยขบวนผีตาโขน และการละเล่นอื่นๆ ขบวนนี้แห่รอบวัด ๓ รอบ ก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐาน ณ ที่เดิม นิมนต์พระสงฆ์ลงจากแคร่ และเชิญเจ้ากวนลงจากบั้งไฟ เป็นเสร็จพิธีแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง ตอนเย็นมีการจุดบั้งไฟ (เจ้ากวน คือผู้ชายที่ทําหน้าที่ให้ดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าทรง ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าพ่อกวน) สำหรับผีตาโขนก็นับเป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง ผู้เล่นต้องสวมหน้ากากที่วาดหรือแต้มให้น่ากลัว ชุดแต่งผีตาโขนใช้ผ้าเก่า ผ้ามุ้ง หรือใช้เศษผ้านํามาห่อหุ้มร่างกายให้มิดชิด เข้าขบวนแห่พร้อมไปกับการแสดงท่าทางต่างๆ

ผีตาโขน ความหมายเดิมไม่แน่ชัด เท่าที่สืบศึกษาพบแต่เพียงว่า เป็นผีที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว จากการสอบถามร่างทรง หรือเจ้ากวน ได้ความว่า ผีตาโขนมาจากคําว่าผีตามคน เข้ามาขออาหาร ขอส่วนบุญในเมืองมนุษย์ เล่นหยอกล้อผู้คน และเมื่อได้ข้าวปลาอาหารแล้วก็จะพากันกลับยังถิ่นที่อาศัยของตน

สำหรับชาวด่านซ้าย มีความเชื่อในการเล่นผีตาโขน ประการแรกเป็นการละเล่นเพื่อถวายดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีอํานาจการปกครองสูงสุดในเมืองด่านซ้าย ประการที่สอง เล่นเพื่อร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง อันเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ประการที่สาม เล่นเพื่อร่วมขบวนในการแห่บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และแห่ขอฝน ประการที่สี่ เล่นเพื่อความสนุกสนาน และประการสุดท้าย เล่นเพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทําด้วยกาย วาจา ใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ติดไปกับผีตาโขน โดยการนําไปล่องลําน้ำหมัน เป็นการเสร็จสิ้นพิธีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า เกี่ยวกับประเพณีส่งเสด็จพระเวสสันดรและพระนางมัทรีจากป่าสู่เมือง วันแรกจะเป็นเทศกาลผีตาโขน เรียกว่า วันรวม (วันโฮม) มีพิธีเบิกพระอุปคุตจากบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก วันที่สองมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายหลากหลาย การเต้นรำ และขบวนพาเหรด ส่วนในวันสุดท้ายจะได้ฟังเทศน์ และยังมีความเชื่อด้วยว่า คนที่เล่นหรือแต่งตัวเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีออกให้หมด นำไปทิ้งในลำน้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนถึงปีหน้าจึงค่อยทำเล่นกันใหม่




พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ผีตาโขน) วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เดิมเป็นศาลาหอฉัน ปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เมื่อปี ๒๕๔๗
ใช้งบประมาณจากที่ทำการปกครองอำเภอ เริ่มต้นดำเนินการ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท
เป็นสถานจัดแสดงน้ากากผีตาโขนชนิดต่างๆ และนิทรรศการการจัดทำหน้ากากผีตาโขน


















วัสดุอุปกรณ์ของการทำหุ่นผีตาโขน


วัสดุอุปกรณ์ของการทำหุ่นผีตาโขน


ร้านจำหน่ายของที่ระลึกของวัดโพนชัย สินค้าที่วางจำหน่ายประดิษฐ์หรือมีรูปผีตาโขน
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเพณีท้องถิ่นของชาวอำเภอด่านซ้าย





Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มิถุนายน 2559 16:02:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พิพิธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๗
สยาม ในอดีต
เงาฝัน 2 5490 กระทู้ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2553 20:54:17
โดย sometime
สัมผัสหนาวที่ยอดภูเรือ จังหวัดเลย
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 2 4336 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2557 13:43:24
โดย Kimleng
พิพิธภัณฑ์ "บ้านดำ "มรดกศิลป์ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ อ.ถวัลย์ ดัชนี จ.เชียงราย
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 2 3658 กระทู้ล่าสุด 06 มกราคม 2559 20:59:19
โดย Kimleng
พิพิธภัณฑ์ หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร จ.นครสวรรค์
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 3 5135 กระทู้ล่าสุด 05 ธันวาคม 2560 16:41:17
โดย Kimleng
พระครูสิริปัญญาวิสุทธิ์ (ปั่น ปัญญาธโร) วัดศรีคุณเมือง จังหวัดเลย
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 858 กระทู้ล่าสุด 23 กรกฎาคม 2561 14:31:29
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.777 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 02 พฤษภาคม 2567 17:38:30