เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 13:10:47 » |
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #2 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 14:00:31 » |
|
ศัพทานุกรม นิพพาน การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ปฐมสมโพธิกถา ชื่อคัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิต และเทวดาอัญเชิญ ให้มาอุบัติในมนุษยโลก ออกบวช ตรัสรู้ ประกาศศาสนา ปรินิพพาน จนถึงแจกพระธาตุ ต่อท้ายด้วยเรื่องพระเจ้าอโศกยกย่องพระศานา และการอันตรธานแห่งพระศาสนาในที่สุด หนังสือปฐมสมโพธิกถาที่เป็นวรรณคดีสำคัญ คือ ฉบับที่เป็นพระนิพนธ์ของพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยทรงชำระฉบับของเก่า ตัดและขยายความสำคัญบางตอน จัดเป็นบทตอนเพิ่มขึ้น มีทั้งฉบับบาลี และฉบับแปลเป็นไทย (ฉบับบาลีมี ๓๐ ปริเฉท แบ่งปริเฉทที่ ๑ เป็น ๒ ตอน ฉบับแปลไทยมี ๒๙ ปริเฉท) ไตรปิฎก " ปิฎกสาม" ปิฎก แปลว่า กระจาดหรือตะกร้า ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎกพระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อดังนี้ ... ธรรมวินัย ธรรมและวินัย คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย ธรรม--คำสอนแสดงหลักความจริง และแนะนำความประพฤติ วินัย--เครื่องควบคุมกายและวาจา โพธิสัตว์ ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้โดยชอบแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุด และ คัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระโคดม พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ แห่งภัทรกัป ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย) พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑.พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสป ๒๕. พระโคตมะ (จาก คัมภีร์พุทธวงศ์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ โคตมพุทธเจ้า เจริญในศากยสกุล ดังเรื่องราวปรากฏในหนังสือนี้ พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บุตรพราหมณ์ เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ เรียนจบไตรเพท ต่อมาพบพระเรวตะ โต้ตอบปัญหาสู้พระเรวตะไม่ได้ จึงขอบวชเรียนพระธรรมวินัย มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตะเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬกลับเป็นภาษามคธ ท่านถูกพระเถระแห่งมหาวิหารในเกาะลังกาทดสอบความรู้ โดยให้คาถามา ๒ บท พระพุทธโฆสได้แต่งคำอธิบายคาถา ๒ บทนั้น เป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค และได้ทำงานแปลคัมภีร์ได้ตามประสงค์ ทำงานเสร็จแล้ว ท่านก็เดินทางกลับชมพูทวีป พุทธกิจประจำวัน กิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญในแต่ละวัน ๕ อย่าง คือ๑. เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต ๒. เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ๓. เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ ๔. เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา ๕. จวนสว่างทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่ พุทธกิจ ๔๕ พรรษา พรรษา ที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โปรดปัญจวัคคีย์ พรรษาที่ ๒-๓-๔ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ระยะประดิษฐานพระพุทธศาสนา พรรษาที่ ๕ กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี โปรดพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์ โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี พระนางมหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์ พรรษาที่ ๖ มกุลบรรพต ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี พรรษาที่ ๗ ดาวดึงสเทวโลก แสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา พรรษาที่ ๘ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ พบนกุลบิดาและนกุลมารดา พรรษาที่ ๙ โฆษิตาราม เมืองโกสัมพี พรรษาที่ ๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน) พรรษาที่ ๑๑ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา พรรษาที่ ๑๒ เมืองเวรัญชา พรรษาที่ ๑๓ จาลิยบรรพต พรรษาที่ ๑๔ พระเชตวัน พระราหุลอุปสมบท พรรษาที่ ๑๕ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์ พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์) พรรษาที่ ๑๗ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ พรรษาที่ ๑๘-๑๙ จาลิบรรพต พรรษาที่ ๒๐ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลีมาล พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ พรรษาที่ ๒๑-๔๕ ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม นครสาวัตถี (อรรถกถาว่า ประทับที่เชตวัน ๑๙ พรรษา ที่บุพพาราม ๖ พรรษา) พรรษาที่ ๔๕ เวฬุคาม ใกล้นครเวสาลี พุทธธรรม ๑. ธรรมของพระพุทธเจ้า พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คัมภีร์มหานิทเทสระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้ อรรถกถาโยงความให้ว่า ได้แก่ ๑. กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามญาณ (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเข้าใจ) ๒. วจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๓. มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน, คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งฑีฆนิกาย จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ ๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต ๒. ไม่ทรงมีวจีสุจริต ๓. ไม่ทรงมีมโนทุจริต ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน ๗. ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๘. ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๙. ทรงมีมโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๑๐. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ (ฉันทะไม่ลดถอย) ๑๑. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ (ความเพียรไม่ลดถอย) ๑๒. ไม่มีความเสื่อมสติ ๑๓. ไม่มีการเล่น ๑๔. ไม่มีการพูดพลาด ๑๕. ไม่มีการทำพลาด ๑๖. ไม่มีความผลุนผลัน ๑๗. ไม่มีพระทัยที่ขวนขวาย ๑๘. ไม่มีอกุศลจิต ๒. ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้า ได้แก่ พุทธการกธรรม คือ บารมี ๑๐ ๓. ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ มรรคมีองค์ ๘ ขันธ์ ๕ ปัจจัย ๒๔ เป็นอาทิ มหาบุรุษลักษณ์
ลักษณะของมหาบุรุษ มี ๓๒ ประการ คือ
๑. มีฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน ๒. ลายพื้นพระบาทเป็นจักร ๓. มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔ พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓) ๔. มีนิ้วยาวเรียว (นิ้วพระหัตถ์ และพระบาทด้วย) ๕. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจข่าย ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำอัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน ๘. พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
๑๑. มีฉวีวรรณดุจสีทอง ๑๒. พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย. ๑๓. มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ ๑๔. เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน ๑๕. พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
๑๖. มีมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสะทั้ง ๒ กับลำพระศอ) ๑๗. มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ ๑๘. พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน ๑๙. ส่วนพระกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) ๒๐. มีลำพระศอ กลมงามเสมอตลอด
๒๑. มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี ๒๒. มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์) ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) ๒๔. พระทนต์เรียบเสมอกัน ๒๕. พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
๒๖. เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์ ๒๗. พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้) ๒๘. พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก ๒๙. พระเนตรดำสนิท ๓๐. ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
๓๑. มีอุณาโลมาระหว่างพระขนงเวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ ๓๒. มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ มหาปุริสลักษณะ ก็เรียก
วันสำคัญต่างๆ
๑. วิสาขบูชา--การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ คือ วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
๒. มาฆบูชา--การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสวันคล้าย วันประชุมใหญ่ แห่งพระสาวก เรียกว่า 'จาตุรงคสันนิบาต' ณ พระเวฬุวันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง 'โอวาทปาฏิโมกข์' (การปลงพระชนมายุสังขารก็ตรงกับวันนี้)
๓. อาสาฬหบูชา--การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ เพื่อรำลึกถึง คุณพระรัตนตรัย เป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะ ทำให้ครบพระรัตนตรัย
๔. เข้าพรรษา--อยู่ประจำวัดสามเดือนในฤดูฝน คือ
ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (เรียกปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง) วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา
สมันตปาสาทิกา
ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความใน พระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยปรึกษาอรรถกถาภาษาสิงหฬ ที่มีอยู่ก่อน ชื่อ มหาปัจจริยและกุรุนที
สังคายนา
การสวดพร้อมกัน การร้อยกรองพระธรรมวินัย การประชุมตรวจชำระสอบทานและ จัดหมวดหมู่ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว
สังคายนาครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้
ครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุ ผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และเพื่อให้พระธรรมอยู่สืบไป ประชุมทำหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระมหากัสสปเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือน
ครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรมนอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวนได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาสิการาม เมืองเวลาลี เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือน
ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔ พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือน
ครั้งที่ ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือน
ครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวก คือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพระพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก์ (ครั้งที่ ๔ และ ๕ ไม่เป็นที่รับรองทั่วไป)
อรรถกถา
คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก แต่งโดยพระอาจารย์รุ่นหลังๆ ตัวอย่างเช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่แต่งโดย พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น
อรหันต์
ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด
พระอรหันต์ ๒ คือ ๑. พระสุกขวิปัสสก--ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น ๒. พระสมถยานิก--ผู้มีสมถะเป็นญาณ ผู้เจริญสมถะกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อ
พระอรหันต์ ๔ คือ ๑. พระสุกขวิปัสสก ๒. พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ คือ รู้ระลึกชาติได้ รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย รู้ทำอาสวะให้สิ้น) ๓. พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ทายใจผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป) ๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔)
พระอรหันต์ ๕ คือ ๑.พระปัญญาวิมุต ๒.พระอุภโตภาควิมุต ๓.พระเตวิชชะ ๔.พระฉฬภิญญะ ๕.พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ ๕ นัย คือ
๑. ไกลจากกิเลส ๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ๓. เป็นผู้หมดสังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ๕. ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง
อริยบุคคล
บุคคลผู้เป็นอริยะ ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษ มี ๔ ชั้น คือ ๑. พระโสดาบัน ๒. พระสกทาคามี ๓. พระอนาคามี ๔. พระอรหันต์
อริยสัจ
ความจริงอย่างประเสริฐ มี ๔ คือ ๑. ทุกข์ ๒. สมุทัย ๓. นิโรธ ๔. มรรค
โอวาทปาฏิโมกข์
หลักคำสอนสำคัญ หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถา กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้ สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้ แทนต่อมา)
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน) มีดังนี้
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ ฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมก์เข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ ฯ
คำแปล
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ การสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันโดยมาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #3 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 14:25:42 » |
|
ภาพที่ ๑
เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตเมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุม ปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็เล็งว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า
ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่
๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดทนสูงสุด ๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด ๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด ๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์ ๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด ๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด ๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด ๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด ๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด ๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักการให้ทานสูงสุด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #4 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 14:35:19 » |
|
ภาพที่ ๒
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์
ภาพนี้เป็นภาพตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระมารดา ได้อภิเษกสมรสไม่นาน
คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงเข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิพรรณาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
"...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบแล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทร ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี..."
ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่าเป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดาว่า
"...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างหนึ่งพระอุทรแห่งพระมารดา ดุจสุวรรณปฎิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่โพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี..."
วันที่พระโพธิสัตวเจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์ กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้น เช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับ ได้ยิน
ตอนนั้น ถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่ากลองทิพย์บันลือลั่นนั้น คือ 'นิมิต' หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอด หูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้วจะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้งมองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #5 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 14:46:45 » |
|
ภาพที่ ๓
พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว
ภาพนี้เป็นตอนประสูติ คนที่เคยอ่านพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ และเคยเห็นภาพตามผนังโบสถ์ในวัดมาแล้ว คงพอเข้าใจและดูออกว่าคืออะไร
ทารกที่เห็นนั่นคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประวัติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวาและเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลีแปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า
"เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว" กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้นคือพระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่าไม้รังหรือเต็งรังอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นไม้พันธุ์ในตระกูลยางซึ่งมีอยู่ในอินเดียที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย
สถานที่ประสูตินี้เรียกว่า 'ลุมพินี' อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือเมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือกบิลพัสดุ์ และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวหะ กษัตริย์และเจ้านายจากสองเมืองนี้ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส
เมื่อพระนางมายาจวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระสามี คือพระเจ้าสุทโธนะ เพื่อประสูติพระโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรพระครรภ์เสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น
วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นคือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #6 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 14:55:08 » |
|
ภาพที่ ๔
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม
ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าวพระนางมายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุมพินี แล้วรับสี่งให้เสด็จกลับเมืองแล้ว
ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ 'อสิตดาบส' หรือบางแห่งเรียกว่า 'กาฬเทวินดาบส' ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย
เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่ จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส
พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้ม หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ
ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอย่างครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้ จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้
ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #7 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 15:02:32 » |
|
ภาพที่ ๕
พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร ถวายพระนามว่า พระสิทธัตถะ
ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘แต่พราหณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้ คือ
๑. รามพราหมณ์ ๒. ลักษณพราหมณ์ ๓. อัญญพราหมณ์ ๔. ธุชพราหมณ์ ๕. โภชพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์ ๗. สุยามพราหมณ์ ๘. โกณทัญญพราหมณ์
ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่าพระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวณไทยในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ
พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร' ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า 'นามสกุล' คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'
พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเห็นเป็น ๒กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ ถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก
มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้จักเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า 'พระอัญญาโกณทัญญะ' นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #8 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 15:18:42 » |
|
ภาพที่ ๖
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ
ภาพนี้เป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชนมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประทับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงสะพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น
ตอนที่เห็นในภาพนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า 'ชมพูพฤกษ์' ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ ก็เพราะพระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี พระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย
ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกัน จะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหาย พระพี่เลี้ยง และมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรณาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียว ประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน..." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"
แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบพระเจ้าสุทโธนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปาฎิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรบสอง"
พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #9 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 15:48:47 » |
|
ภาพที่ ๗
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง
พอเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า 'วิศวามิตร' เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธ และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์
ภาพที่เห็นนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีแล้ว และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน
หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสอง คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพราะราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช
แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑปที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู
ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า 'สหัสถามธนู' แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า 'ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย'บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครึ้มคราวไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายยิงธนู ต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร
เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้น คือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูกขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า "ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน" พระญาติวงศ์ทั้งปวง จึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #10 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 15:51:38 » |
|
ภาพที่ ๘
พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา
ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่า พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดา และฝ่ายบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ฝ่ายมารดามีชื่อว่า 'โกลิยวงศ์' ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ 'ศากยวงศ์' ครองเมืองกบิลพัสดุ์
ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ
พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือ น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรส คือ เทวทัต พระธิดา คือ พระนางพิมพายโสธรา
ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติคือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ ๑. พระนางพิมพายโสธรา ๒. พระอานนท์ ๓. กาฬุทายีอำมาตย์ ๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก ๕. ม้ากัณฐกะ ๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)
พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #11 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 16:00:33 » |
|
ภาพที่ ๙
เสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต
พระเจ้าสุทโธทนะผู้มีพระราชบิดา และ พระญาติวงศ์ทั้งปวงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย
ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวฑูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวฑูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน
ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช..."
ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สาม เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี
ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."
เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่ง ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #12 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 16:35:27 » |
|
ภาพที่ ๑๐
ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว
ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นเทวฑูตที่ ๔ คือนักบวช จนตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จออกบวชแน่นอนแล้ว ก็เสด็จด้วยรถพระที่นั่ง ที่ปฐมสมโพธิว่า "เทียมด้วย มงคลวรสินธพทั้ง ๔ มีสีดังดอกโกกนุทปทุมบุปฝาชาติ (ดอกบัวสีแดง)" เสด็จไปถึงพระราชอุทยาน
เมื่อเสด็จไปถึง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งแวดล้อมไปด้วยคณานางอเนกนิกรสุรางคศักยราชกัญญาก็เสด็จลงสรงสนานในสระโบกขรณี ที่เรียงรายระดาดาดด้วยเบญจปทุมชาติ
เสด็จอยู่ที่พระราชอุทยานเกือบทั้งวัน จนเกือบเย็นจึงมีเจ้าพนักงานจากราชสำนักผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้นำข่าวมาทูลให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบ เจ้าพนักงานกราบทูลว่าพระนางพิมพายโสธราประสูติพระโอรสแล้ว
พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาธรรมบทได้พรรณาความตอนนี้ไว้ว่าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงทราบข่าวว่า พระชายาของพระองค์ประสูติพระโอรสแล้ว ทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรักลูกยิ่งนัก
ความรักนั้นเกิดขึ้นแล้ว หนักหน่วงในพระทัย ผูกมัดรัดรึงพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก จนทรงอุทานออกมาว่า
"พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง"
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" คำที่แปลว่า "ห่วง" ในพระอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะคือ ราหุลัง หรือ ราหุล ต่อมาคำนี้ได้ถวายเป็นพระนามของราหุลกุมาร
ที่เจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอุทานขึ้นมาว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" นั้น หมายถึงว่า พระองค์กำลังตัดสินพระทัยจะเสด็จออกบวช กำลังจะตัดห่วงหาอาลัยในฆราวาสอย่างอื่น ก็เกิดมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดเสียแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #13 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 16:52:25 » |
|
ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท
เป็นภาพตอนต่อเนื่องมาจากตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน แต่ตอนนี้เป็นตอนเสด็จกลับเข้าเมืองพร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ สตรีที่ยืนเยี่ยมมองทางสิงหบัญชรหรือหน้าต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิบอกว่าเป็น 'นางขัตติยราชกัญญาองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์' ทรงพระนามว่า 'กีสาโคตมี' เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไร ไม่ได้บอกไว้
แต่ในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่า เธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา (หญิง) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐา หรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาพระองค์ไหนแน่ ท่านก็ไม่ได้บอกไว้
พระนางกีสาโคตมี ได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณี ในพระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรวปีติโสมนัส จึงตรัสพระคาถา ชมเจ้าชายสิทธัตถะบทหนึ่ง พระคาถา คือคำกลอนหรือโศลกที่กวีแต่งร้องกรองความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า
"นิพพุตา นูน สา มาตา นิพพุโต นูนโส ปิตา นิพพุตา นูน สา นารี ยัสสายัง อีทิโส ปติ" ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทยว่า "ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดาและพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายาสตรีนั้น ก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ"
เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยินก็ชอบพระทัย ที่ทรงชอบที่สุดคือคำว่า 'ดับ' ซึ่งพระองค์ทรงหมายพระทัยถึง 'นิพพุต' หรือนิพพาน จึงทรงเปลื้อง 'แก้วมุกดาหาร' เครื่องประดับพระศอราคาแสนกหาปณะ มอบให้ราชบุรุษนำไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่า เจ้าชายทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในพระนางก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #14 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 16:59:12 » |
|
ภาพที่ ๑๒
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช
ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง
ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.." มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง
ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี
มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ..."
เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวมคือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า "ใครอยู่ที่นั่น"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #15 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 17:05:50 » |
|
ภาพที่ ๑๓
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิทเป็นนิมิตอำลาผนวช
พอสิ้นพระดำรัสถามของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีเสียงทูลขานรับ เจ้าของเสียงระบุชื่อ ตัวเองว่า 'ฉันนะ' นายฉันนะ คือ มหาดเล็กคนสนิทของเจ้าสิทธัตถะและเป็นสหชาติ คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายด้วย
ถ้าจะอุปมาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นดุจบทละคร นายฉันนะก็เป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ความสำคัญนั้นคือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะได้โดยเสด็จออกบวชด้วย พระฉันนะกลายเป็นพระหัวแข็ง ใครว่ากล่าวไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวเพราะพระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เขาใช้สรรพนามเรียกเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าติดปากมาจนกระทั่งบวชเป็นพระอยู่เดียวว่า 'พระลูกเจ้า'
ในตอนที่กล่าวนี้ นายฉันนะนอนอยู่ที่ภายนอกห้องบรรทมของเจ้าชาย ศีรษะหนุนกับธรณีพระทวาร เมื่อเจ้าชายรับสั่งให้ไปเตรียมผูกม้า นายฉันนะก็รับพระบัญชารีบลงไปที่โรงม้า
ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรสที่เพิ่งได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก
ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสีย ได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"
แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #16 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 17:21:46 » |
|
ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา
ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า 'กัณฐกะ' เป็นสหชาติคือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ (หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"
ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ ถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ หรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง
เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบ ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป..." ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง
ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามาก ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้
จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ 'พระยาบาลทวาร' โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้วงจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #17 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 17:26:33 » |
|
ภาพที่ ๑๕
พระยามารห้ามบรรพชาว่า อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรแต่ไม่ทรงฟัง
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทรงม้าพระที่นั่งผ่านประเทศออกมาในเวลาราตรี ที่มีแสงจันทร์กระจ่าง ก็มีเสียงคล้ายเสียงดนตรีขึ้นที่ข้างประตูนอกเมือง เสียงนั้นร้องห้ามเจ้าชายมิให้เสด็จออกบวช
เจ้าชายสิทธัตถะ "ท่านนี้มีนามชื่อใด" เจ้าของเสียง "เราชื่อวัสสวดีมาร"
พระยามารแจ้งข่าวให้เจ้าชายทรงทราบว่า อีกเจ็ดวันในเบื้องหน้า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จักรแก้วจักเกิดขึ้น ผู้จะได้เป็นเจ้าของจักรแก้วนั้นคือเจ้าชาย จักรแก้วตามความหมายของพระยามารในที่นี้คือ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
เจ้าชาย "เรื่องนี้เราทราบแล้ว" พระยามาร "ถ้าเช่นนั้น ท่านจะเสด็จออกบวชเพื่อประโยชน์อันใด" เจ้าชาย "เพื่อสัพพัญญุตญาณ"
สัพพัญญุตญาณตามความหมายในพระดำรัสของเจ้าชาย คือ ความได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความที่บรรยายมาทั้งหมดนั้น บรรยายตามความในวรรณคดีที่กวีท่านแต่ไว้ในปฐมสมโพธิ และที่พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ในอรรถกถาธรรมบท โดยท่านสาธกให้เห็นเป็นปุคคลาธิษฐาน
ปุคคลาธิษฐาน คือ การแปลสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา หรือสัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ที่เรียกว่า 'นามธรรม' แปลออกมาให้เป็นฉาก เป็นบุคคลซึ่งเป็นตัวแสดงในเรื่อง เหมือนนักเขียนนวนิยายที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาตัวละคร ถ้าไม่สาธกอย่างนี้คนก็จะไม่เข้าใจ และท้องเรื่องก็จะจืด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #18 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 17:48:13 » |
|
ภาพที่ ๑๖
ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"
ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศา กับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบเหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา
เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพราหมณ์นำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง
ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา
เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า 'พระมหาบุรุษ' ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ
ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 7493
ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0
|
|
« ตอบ #19 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2553 18:13:30 » |
|
ภาพที่ ๑๗
เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วโจษจันกันทั่วเมือง
เมื่อนายฉันนะ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์กลับคืนไปแจ้งข่าวทางเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว พระมหาบุรุษ หรือก่อนแต่นี้คือเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จจากหาดทรายชายฝั่งแม่น้ำอโนมาไปยังตำบลที่มีป่ามะม่วงมากแห่งหนึ่ง ที่เรียกโดยชื่อว่า 'อนุปิยอัมพวัน' ตำบลนี้อยู่ในเขตแขวงมัลลชนบท ประทับอยู่ที่นี่ หนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ ๘ จึงเสด็จจารึกเข้าแคว้นมคธไปโดยลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นนี้ในสมัยนั้น
แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่ มั่งคั่ง มากด้วยพลเมืองและมีอำนาจมากเท่าเทียบกับอีกแคว้นหนึ่ง ในสมัยเดียวกันนี้คือ แคว้นโกศล ซึ่งมีกรุงสาวัตถีเป็นเมืองหลวง
กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ของกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ ในสมัยที่กล่าวนี้ทรงพระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระมหาบุรุษ ขณะที่กล่าวนี้จึงทรงเป็นกษัตริย์หนุ่ม
เวลาเช้า พระมหาบุรุษเสด็จเข้าเมือง ชาวเมืองเกิดอาการที่ปฐมสมโพธิรายงานไว้ว่า "ตื่นเอิกเกริก โกลาหลทั่วพระนคร" เพราะได้เห็นนักบวชที่ทรงรูปสิริลักษณะเลิศบุรุษ จะว่าเป็นเทวดา หรือ นาค สุบรรณ (ครุฑ) คนธรรพ์ ทานพ (อสูรจำพวกหนึ่งในนิยาย) ประการใดก็มิได้รู้ เข้ามาสู่พระนคร เที่ยวโคจรบิณฑบาตประหลาดนัก ต่างก็โจษจันกันทั่วเมือง
เจ้าชายสิทธัตถะ หรือขณะนี้คือพระมหาบุรุษ และต่อมาคือพระพุทธเจ้า ทรงเกิด ในขัตติยสกุล คือสกุลกษัตริย์ ทรงเป็นอุภโตสุชาต คือ ทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นกษัตริย์บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายมารดา ทรงมีผิวพรรณที่ภาษาบาลี เรียกว่า 'กาญจนวัณโณ' แปลตามตัวว่าผิวทอง ความหมายก็คือผิวเหลืองขาว ทรงมีพระรูปโฉมสง่างาม ถึงแม้จะทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ และทรงนุ่มห่มผ้ากาสาวพัสดุ์อย่างนักบวชผู้สละทิ้งความงามทางฆราวาสวิสัยแล้วก็ตาม แต่พระอาการกิริยาเวลาเสด็จดำเนินก็ยังคงลีลาของกษัตริย์ชัดเจน คือสง่างามผิดแผกสามัญชน
เพราะเหตุนี้ เมื่อชาวเมืองราชคฤห์ได้เห็น จึงแตกตื่นกัน จนความทราบไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระราชาธิบดีแห่งกรุงราชคฤห์
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มิถุนายน 2553 02:42:55 โดย เงาฝัน »
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
กำลังโหลด...