[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 ตุลาคม 2566 13:55:00



หัวข้อ: ที่มา "ทุ่งกุลาร้องไห้" ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 ตุลาคม 2566 13:55:00

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72462635735670_8_Copy_.jpg)
เด็กแฝดกำลังโหนเกวียน บ้านขี้เหล็ก อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๗

ทุ่งกุลาร้องไห้
·

ทุ่งกุลาร้องไห้ เคยเป็นท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลมาก่อน ผนวกกับการปลูกข้าวหอมมะลิบนผืนดินแห่งนี้ ต้องเผชิญกับสภาพ ๕ มหาโหด คือ ดินทราย รสเค็ม น้ำท่วมหนัก สภาพแห้งแล้ง อากาศหนาวเย็น และหมอกลงจัด ซึ่งบ่มเพาะให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติ และกลิ่นอันแตกต่างจากข้าวหอมมะลิในพื้นที่อื่นๆ

เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้างนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูแล้งบรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า “เผ่ากุลา” ได้นำสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ ๒๐-๓๐ คน

เวลาเดินทางไปไหนมาไหนพวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ที่เรียกว่า “ถึงกระเทียว” มาขายจะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อยๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อยๆ

ครั้งหนึ่ง ได้มี “กุลา” พวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์ พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกกุลาได้ซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่อพอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล มาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่เมืองป่าหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ

แต่ทว่าพ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งแห่งนี้มาก่อนทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลานอยู่หลัดๆ หาทราบไม่ว่า “ใกล้ตาแต่ไกลตีน(สำนวนภาษาอีสาน แปลว่า มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล)

ขณะเดินทางข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากและในช่วงนั้นเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงต้นเดียวก็ไม่มี ทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างพากันอิดโรยไปตามๆ กันครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งแห่งนี้เป็นแน่แท้ จึงพากันร้องไห้ไปตามๆ กันพวกกุลาต่างพากันร้องไห้ (ครั้งแรก)

จากนั้นได้นั่งพักผ่อน พอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไป แต่ครั่งที่หาบมามันหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งน้อยทิ้งหมด (ครั่งน้อย คือ ครั่งที่แยกตัวครั่งออกแล้วราคาไม่คอยดี) ซึ่งจุดที่ทิ้งครั้งน้อยนี้ ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านดงครั่งน้อย” อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อพวกกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ทั้งหมดทิ้ง (ครั่งใหญ่ คือ ครั่งที่ยังไม่แยกตัวครั่งออกจากครั่งเพราะเวลาย้อมไหมจะมีสีแดงสดและได้ราคาดี) คงเหลือไว้แต่อาหารเท่านั้น บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านดงครั่งใหญ่” อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุงดูเพื่อจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าที่จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีก (ครั้งที่สอง) ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”มาตราบเท่าทุกวันนี้


ขอบคุณที่มา (เรื่อง/ภาพ) : เพจ บอกข่าว เล่าเรื่อง
(ภาพจาก รศ. ดร. วิโรฒ ศรีสุโร
สถานที่ ทุ่งกุลาร้องไห้  อ.ปทุมรัตน์  จ.ร้อยเอ็ด
ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗)
ขอบคุณข้อมูลจาก www.tewfree.com