[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 มีนาคม 2565 12:45:15



หัวข้อ: วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี จ.ลำพูน - จิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มีนาคม 2565 12:45:15
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56326401564809_277364390_1349798192202524_394.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13267138062251_277254211_1349798365535840_421.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/43830343418651_277254324_1349799118869098_267.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11964028618401_277464466_1349798495535827_598.jpg)
ความสวยงามของเจดีย์ สถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่าที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ซึ่งเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95645156668292_277247114_1349799192202424_194.jpg)
ถ่ายภาพตัวเองจากเงาสะท้อนกระจกภายในเจดีย์วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


                      จิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
                      วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
                      อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้ อยู่ด้านทิศใต้ของจังหวัดลำพูน ที่มีอาณาเขตติดกับอำเภอเถินจังหวัดลำปาง

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นศาสนสถานที่สำคัญและศูนย์รวมจิตใจของบ้านห้วยต้ม ซึ่งคนในหมู่บ้านเป็นชาวเขาเผ่าปกาเญอะหรือกะเหรี่ยงทั้งหมด บริเวณทางเข้าวัดจะมีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่  ภายในมีเอกลักษณ์ที่สวยงามด้วยเอกลักษณ์ล้านนา ทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด สถานที่สำคัญได้แก่ วิหารพระเมืองแก้ว ที่องค์พระธาตุได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นสถานที่บรรจุสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38715355553560_277297950_1349798805535796_482.jpg)
ภาพจิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รอบองค์พระเจดีย์ มีทั้งหมด ๓๑ ภาพ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65533575539787_1_Copy_.jpg)

๑. เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๑๑๑ พระราชโอรสก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นรัชกาลที่ ๑๖ ราชวงศ์ “สุพรรณภูมิ” ทรงพระนามว่า “พระมหินทราธิราช” บ้านเมืองเกิดศึกมากมาย สาเหตุพระเจ้าหงสาวดีต้องการจะยึดกรุงศรีอยุธยา จึงพยายามให้ไทยแตกความสามัคคี ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อพระมหาธรรมราชา ราชบุตรเขยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้ไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ เมืองพิษณุโลก สิ้นความยำเกรงต่อกรุงศรีอยุธยา หันไปฝักใฝ่กับพม่าแทน พระเจ้าหงสาวดีจึงถือเป็นโอกาสยกกองทัพเข้ามาตีไทยอีกครั้ง เสียเอกราชเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๑๒ ทำให้คนไทยได้มีองค์พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงเป็น “มหาราช” พระองค์แรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75596020246545_2_Copy_.jpg)

๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระมหาธรรมราชา กับ พระวิสุทธิกษัตริย์ สืบเชื้อสายราชสกุลมาจากราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย  พระราชมารดาเป็นธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับ สมเด็จพระสุริโยทัย (วีรกษัตรีย์ที่สิ้นพระชนม์บนคอช้าง เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑) ราชวงศ์สุพรรณภูมิ  ทรงพระราชสมภพเมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๐๙๘ ณ พระราชวังจันทร์ เมืองพิษณุโลก ขณะยังทรงพระเยาว์มีพระนามสามัญว่า “พระองค์ดำ” ทรงมีพระพี่นางองค์หนึ่งพระนามว่า “พระสุพรรณเทวี” (สุพรรณกัลยาณี) พระอนุชาหนึ่งองค์ พระนามว่า “พระเอกาทศรถ” (พระองค์ขาว)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71541106121407_3_Copy_.jpg)

๓. ก่อนที่พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) จะเลิกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๑๒ ฐานะเมืองประเทศราช  ในเวลาเดียวกันก็ทรงขอพระองค์ดำ ขณะที่ทรงเจริญพระชันษาได้ ๑๓ พรรษาเป็นราชบุตรบุญธรรมให้ตามเสด็จไปประทับ ณ กรุงหงสาวดี ทรงรักใคร่เอ็นดูเสมอด้วยองค์ราชบุตร ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงไว้อย่างใกล้ชิด ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ ให้มิยิ่งหย่อนไปกว่าราชบุตรองค์ใดของพระองค์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33480529362956_4_Copy_.jpg)

๔. วันหนึ่งในราชสำนัก มีการตีไก่พนันกันขึ้นระหว่างพระองค์ดำกับมังกะยอชวา ปรากฏว่าการตีไก่ในวันนั้นไก่ของพระองค์ดำเป็นฝ่ายชนะ ทำให้มังกะยอชวาทรงเคือง ดำรัสประชดประชันเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามออกมาอย่างผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ”  ฉะนั้น พระองค์จึงทรงดำรัสตอบโต้เป็นเชิงท้าทายอยู่ในทีว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันเล่นๆ อย่างกีฬาในวังเหมือนเช่นวันนี้เลย จะตีพนันบ้านพนันเมืองกันก็ยังได้” มังกะยอชวาถึงกับอึ้งไปด้วยความละอาย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34661556656161_5_Copy_.jpg)

๕. เมื่อพระองค์ดำทรงเจริญพระชันษาย่างเข้า ๑๙ พรรษา เป็นหนุ่มฉกรรจ์สมควรที่จะเสด็จกลับเมืองไทย มาช่วยรับพระราชภารกิจการบ้านเมืองได้แล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทูลวอนขอพระราชโอรสต่อพระเจ้าหงสาวดีให้ทรงอนุญาตพระองค์ดำกลับไปเป็นกำลังในการฟื้นฟูบ้านเมืองที่ยังระส่ำระสาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ได้ถวาย “พระสุพรรณเทวี” (สุพรรณกัลยาณี) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่เป็นองค์ประกันแทน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60437622335221_6_Copy_.jpg)

๖. เมื่อพระองค์ดำเสด็จกลับมาประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงแน่พระทัยว่าพระราชโอรสทรงมีพระปรีชาสามารถมาก พอที่จะทรงวางพระราชหฤทัยให้บังคับบัญชากิจการงานเมือง จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาแต่งตั้งพระองค์ดำขึ้นเป็น พระนเรศวร ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก หัวเมืองฝ่ายเหนือ  ส่วนพระองค์ขาวพระราชโอรสพระองค์น้อย เพิ่งจะจำเริญรุ่นพระชันษานั้น โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระเอกาทศรถ” แล้วให้ประทับอยู่ที่พระนครเพื่อรับการฝึกสอนอบรมกิจการงานเมืองไว้เป็นกำลังสำคัญต่อไปในวันข้างหน้า


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12374065816402_7_Copy_.jpg)

๗. พระเจ้าหงสาวดีได้กวาดต้อนผู้คนตลอดจนข้าราชการกรุงศรีอยุธยาที่มีความเกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชไปยังเมืองพม่าเกือบทั้งหมด พระนเรศวรจึงต้องหาข้าราชการใหม่ขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบกับพระอุปนิสัยของพระองค์ทรงเป็นนักรบจึงทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษในการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ให้มาฝึกเพลงอาวุธ และไม่ทรงละเว้นแม้แต่พระพี่เลี้ยงหรือบุตรหลานของข้าหลวงเดิม บรรดาชาวเมืองเหนือและหัวเมืองใกล้เคียงต่างชื่นชมยินดี พร้อมใจกันให้ความร่วมมือ ต่างก็หวังกันไว้ว่า “พระมหาอุปราช” เมืองพิษณุโลกพระองค์นี้จะต้องนำเอาความเป็นเอกราชกลับคืนมาให้ประเทศไทยอีกครั้ง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19290383242898_8_Copy_.jpg)

๘. เมื่อพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกได้ไม่นาน พระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งเกณฑ์ทัพกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปช่วยปราบปรามเมืองศรีสัตนาคณหุต (เวียงจันทน์) พระนเรศวรตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาในราชการทัพครั้งนี้ด้วย ระหว่างทางเสด็จยกกองทัพถึง “หนองบัวลำภู” พระนเรศวรทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ ไม่อาจที่จะเสด็จเดินทัพต่อไปได้ พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ใกล้จะเสร็จสิ้นการสงครามแล้ว พระองค์จึงโปรดฯ ให้กองทัพไทยเลิกทัพกลับพระนคร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67198893262280_9_Copy_.jpg)

๙. พระยาจีนจันตุนั้น ได้พยายามสืบเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ทางฝ่ายไทยตลอดเวลา ครั้นได้รู้การงานทั้งปวงในพระนครแล้ว พอสบโอกาสก็ลอบลงเรือสำเภาหนี พระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) ลงเรืออีกลำหนึ่งติดตามไป เรือพระที่นั่งได้ตามไปทันเรือพระยาจีนจันตุที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น พระนเรศวรดำรัสฝีพายเร่งเรือพระที่นั่งให้พายขึ้นไปข้างหน้าแซงเรือลำอื่น แล้วเสด็จยืน “ทรงพระแสงปืนนกสับ” เป็นปืนใหญ่ทหารราบ มีขาหยั่ง ๒ ขา คล้ายขานกยาง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88727620989084_10_Copy_.jpg)

๑๐. พระทศราชากับพระสุรินทราธิราช เป็นแม่ทัพนำกำลังกองทัพเขมรเข้ามาตีเมืองนครราชสีมาแตก แล้วแบ่งกำลังกองทัพยกมาตีเมืองสระบุรีทัพหนึ่ง หมายจะยึดเอาไว้ในอำนาจอีกเมืองหนึ่ง เมื่อพระนเรศวรทรงทราบจึงทูลอาสาพระบรมชนกนาถนำกำลังทหารเสด็จไปพร้อมกับพระเอกาทศรถ สมทบกับทัพเมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓  พระนเรศวรกับพระเอกาทศรถนำกองทัพจากนครช่วยตีกระหนาบเข้ามาอีกด้านหนึ่ง ช่วยกันฆ่าฟันทหารเขมรล้มตายลง กองทัพก็แตกยับเยิน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36606373223993_11_Copy_.jpg)

๑๑. ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีเสด็จสวรรคต ในเวลาต่อมา พระมหาอุปราชนันทบุเรง เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เฉลิมพระนามเดิมว่า “พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง” และทรงสถาปนาองค์ราชบุตร “มังกะยอชวา” เป็น “พระมหาอุปราชมังชัยสิงห์” กรุงหงสาวดีเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บรรดาเจ้าเมืองประเทศราชต่างก็พากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่ตามประเพณีที่เป็นเมืองขึ้น พระนเรศวรทรงมีพระชันษาได้ ๒๖ พรรษา จึงทูลอาสาสมเด็จพระชนกเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพแทน ด้วยมีพระประสงค์จะไปฟังเพื่อหยั่งดูท่าทีว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างในเมืองพม่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ครั้งนั้นเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคัง (เมืองรุม) คิดตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าหงสาวดีจึงทรงรับสั่งให้พระนเรศวรยกทัพไปปราบ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76518128729528_12_Copy_.jpg)

๑๒. ครั้นถึงกำหนดวันที่พระนเรศวรจะต้องเป็นฝ่ายนำกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองคังบ้าง พระองค์ลอบนำทหารออกจากค่ายไปในเวลากลางคืน มุ่งหน้าไปสู่ที่หมายทางด้านหลังเมืองคังแล้วบุกขึ้นไปสู่ตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ไม่ทันให้ทหารไทยใหญ่รู้ตัว พอรุ่งเช้าทหารไทยก็สามารถกรูเข้าในตัวเมือง จับกุมเจ้าฟ้าเมืองคังไว้ได้ เจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงได้ยอมจำนน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74596845110257_13_Copy_.jpg)

๑๓. พระเจ้าหงสาวดีทรงวางแผนกำจัดพระนเรศวร โดยแต่งตั้งให้พระยาเกียรติ พระยาราม ขุนนางมอญ จับพระนเรศวรปลงพระชนม์เสีย พระยาเกียรติ พระยาราม ต่างนิยมรักใคร่พระนเรศวรนับแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จึงไม่เต็มใจที่จะรับปฏิบัติ ชวนกันไปนมัสการพระมหาเถรคันฉ่อง พระอาจารย์ของตน พร้อมกับนำความลับมาขยายให้อาจารย์และพรรคพวกฟัง พอล่วงเข้าเดือน ๖ ปีวอก พ.ศ.๒๑๒๗ พระนเรศวรยกทัพไปถึงเมืองแครง เข้านมัสการพระมหาเถรคันฉ่อง แล้วท่านพิจารณาเห็นว่า พระเจ้าหงสาวดีกษัตริย์พม่าประพฤติปฏิบัติไปในทางมิชอบ ปราศจากทศพิธราชธรรม จึงเรียกหาพระยาเกียรติ พระยาราม ให้เข้ามาเฝ้าพระนเรศวร พระมหาเถรคันฉ่องจึงทูลฝากฝังศิษย์ทั้งสองไว้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90773561721046_14_Copy_.jpg)

๑๔. ทรงประทับนั่งอย่างสำรวมพระอิริยาบถ พอได้เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อันเป็น “พิชัยมงคลฤกษ์” พระสงฆ์เริ่มสวดมงคลคาถา จึงทรงนำน้ำพระพุทธมนต์อันเป็นมงคล และชัยวารีนั้นบรรจุลงสู่สุวรรณภิงคาร น้ำเต้าทอง ยกขึ้นจบพระเศียรน้อมคารวะ แล้วหลั่งสิโณทกตกต้องพื้นปฐพี ตรัสประกาศแก่เทพยดาอารักษ์ ด้วยพระสุรเสียงอันดังเป็นที่ได้ยินกันทั่ว ทรงประกาศอิสรภาพ ณเมืองแครง วันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๙๔๖ (วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๑๒๗)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30084904366069_15_Copy_.jpg)

๑๕. เมื่อการประกาศอิสรภาพสิ้นสุดแล้ว พระนเรศวรก็ทรงนิมนต์พระเถรคันฉ่อง พระภิกษุสงฆ์ พร้อมศิษย์พระยาเกียรติ พระยาราม กรมการเมืองแครง (มอญ) และหัวเมืองใกล้เคียงเข้ารวมเป็นกระบวนเดียว ให้รีบเดินทางข้ามลำน้ำสะโตงล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์จะเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากเมืองแครง เมื่อเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ตรงไปยังกรุงหงสาวดี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71208321385913_16_Copy_.jpg)

๑๖. พระมหาอุปราชาได้รับหมายรับสั่งให้ติดตามกองทัพพระนเรศวร จึงให้สุรกรรมาเป็นทัพหน้า กองทัพหน้าของสุรกรรมามาทันทัพไทยที่ลำน้ำสะโตง ขณะนั้นพระนเรศวรข้ามลำน้ำสะโตงมาแล้ว พระนเรศวรทรงยิงด้วยพระแสงปืนกลับ ขนาดความยาว ๙ คืบ ไปถูกสุรกรรมา แม่ทัพพม่า ขาดใจตายทันดี ทหารพม่าเสียขวัญ พากันถอยหนี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72546275870667_17_Copy_.jpg)

๑๗. สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช โปรดให้พระนเรศวรทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินและป้องกันพระนคร ทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้ดำรงตำแหน่ง “พระสังฆราช” ว่าการทางฝ่ายพุทธศาสนา รองลงมาจาก “สมเด็จพระสังฆราช” (พระวันรัตน์) พระยาเกียรติ พระยาราม เป็นขุนนางผู้ใหญ่ถือยศเยี่ยงอำมาตย์ราชมนตรีไทย พระราชทานที่ดินบ้านเรือนให้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98005351424217_18_Copy_.jpg)

๑๘. พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย ตั้งตนเป็นใหญ่กระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรมีรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิดเมืองสวรรคโลก เอาปืนขึ้นตั้งยิงพวกทหารรักษาหน้าที่บนเชิงเทิน เผาประตูเมืองดอนแหลมทางด้านใต้ จนทลายลง กองทัพพระนเรศวรเข้าเมืองได้ จับตัวพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัยได้ แล้วรับสั่งให้ประหารทั้งสองคน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23408209698067_19_Copy_.jpg)

๑๙. พิธี “ตัดไม้ข่มนาม” ณ ทุ่งลุมพลี  (พิธีตัดไม้ข่มนามนี้เป็น “พิธีบำรุงขวัญทหาร” เพื่อให้มีความฮึกเหิม กล้าหาญอยู่เสมอ) ตามตำรับโบราณว่า ให้เอาดินใต้สะพาน ดินท่าน้ำ และดินในป่าช้า อย่างละ ๔ แห่ง มาผสมกันปั้นเป็นหุ่นแล้วเขียนชื่อแม่ทัพข้าศึก ลงยันต์พุทธจักรบรรลัยจักรกับชื่อนั้น เอาต้นกล้วยกับต้นไม้ที่พ้องกับนามข้าศึกมาปลุกเสกโรงพิธี แล้วเอาหุ่นผูกกับต้นกล้วย ให้ผูกประกบไว้กับต้นไม้นั้น พราหมณ์สวดพระเวทอัญเชิญพระอิศวร พระนารายณ์ พระวิศวกร ได้ฤกษ์พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ขุนพลไปฟันไม้นามข้าศึก รูปหุ่นกับต้นกล้วยให้ขาดใน ๓ นาที


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30242961645126_20_Copy_.jpg)

๒๐. พระเจ้าเชียงใหม่ให้ “ชัยยะกะยอสู” กับ “นันทกะยอสู” เป็นทัพหน้า ยกลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทรา แขวงเมืองพรม คอยสืบข่าวถึงกองทัพพระยาพสิม เพื่อคิดอ่านกำหนดวางแผนการที่จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน พระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปกับพระเอกาทศรถ แล้วตั้งทัพอยู่ ณ “บ้านชะไว” เห็นกำลังข้าศึกมากกว่าจึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่าแล้วแต่งเป็นกองโจรออกปล้นฆ่าฟัน แย่งชิงช้าง ม้า พาหนะ ตลอดจนเสบียงอาหาร มิให้เอาไปเลี้ยงกันในค่าย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89028227908743_21_Copy_.jpg)

๒๑. เมื่อเดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้ามืด ๕.๐๐ น. พระนเรศวรเสด็จนำทหารออกจากทำการปล้นค่ายพระยานคร ณ ตำบลพุดเลา ข้าศึกไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่าย รับสั่งให้จุดไฟเผาค่ายพระยานครเสีย แล้วเสด็จคืนพระนคร  เมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลากลางคืน ทรงพาทหารคู่พระทัยเสด็จเข้าปล้นค่ายข้าศึก ทหารไทยไล่ฟันแทงไปจนถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี พระนเรศวรเสด็จลงจากหลังม้าแล้วทรงคาบพระแสงดาบนำหน้าทหารขึ้นปีนค่าย (เพนียด) ถูกทหารพม่าใช้ทวนแทงตกลงมาหลายครั้งหลายหน (พระแสงดาบนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย”)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/64719391945335_22_Copy_.jpg)

๒๒. ความองอาจเฉพาะพระองค์ของสมเด็จพระนเรศวร ที่แอบปีนค่ายข้าศึกอย่างกล้าหาญ ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงรับสั่งให้ลักไวทำมู นายทหารมีฝีมือคุมทหารออกไปจับเป็นสมเด็จพระนเรศวรให้จงได้ แต่แล้วลักไวทำมูก็กลับถูกพระแสงทวนของสมเด็จพระนเรศวรเสียชีวิตในที่รบ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95780819447504_23_Copy_.jpg)

๒๓. ใน พ.ศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42233235802915_24_Copy_.jpg)

๒๔. พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งพลับพลาค่ายหลวง ณ บ้านม่วงหวาน  ใกล้ทุ่งป่าโมก ณ ที่นั้นทรงพระสุบินนิมิตว่า ได้ลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตรงเข้ามาจะทำร้ายพระองค์ แต่ก็ทรงประหารจระเข้นั้นสิ้นชีวิตลงได้ โหรทำนายว่าจะทรงชนะศึกหงสาวดี ด้วยวิธีรบตัวต่อตัว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55323186806506_25_Copy_.jpg)

๒๕. ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถกำลังตกมัน เมื่อเห็นข้าศึกวิ่งหนีจึงไล่ตามอย่างเมามันจนเข้าไปถึงทัพหลวงของพม่า เมื่ออยู่ท่ามกลางข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรก็ไม่ได้ตกพระทัยเลยแม้แต่น้อย กลับทรงไสช้างไปท้าพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถีเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ทั้งสองชาติ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44829347439938_26_Copy_.jpg)

๒๖. พระมหาอุปราชาทรงรับคำท้าและไสช้างออกมาชนกับช้างของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรทรงต่อสู้กับพระมหาอุปราชาอย่างองอาจกล้าหาญและจ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวที่อังสะจนขาดซบสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ทำให้กองทัพพม่าต้องเลิกทัพกลับไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74755300250318_27_Copy_.jpg)

๒๗. เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการทำศึกครั้งนี้ ภายหลังจึงมีการสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงบริเวณที่ทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชา เจดีย์นี้เรียกว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31745371470848_28_Copy_.jpg)

๒๘. ศึกช้างเมืองหงสาวดี แม้ยังเผด็จศึกไม่ได้ราบคาบแต่ก็พอทุเลาลงจากสงครามยุทธหัตถี ทำให้ทรงคิดที่จะจัดการกับพระยาละแวกเมืองเขมร ซึ่งมักลอบซ้ำเติมทัพไทยขณะติดพันศึกหงสาวดี ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงให้ยกกองทัพไปตีเมืองเขมร จับนักพระสัฏฐาได้แล้วทรงให้ทำพิธีปฐมกรรมและยกทัพกลับ พร้อมทั้งให้กวาดต้อนครอบครัวเชลยเข้ามายังพระนครอีกจำนวนมาก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25747568988137_29_Copy_.jpg)

๒๙. นับแต่นั้นมา พระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็แผ่ไพศาล หัวเมืองล้านนายอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ใน พ.ศ.๒๑๔๒ จึงทรงยาตราทัพหมายเข้าหักเอาเมืองหงสาวดีให้ได้ แต่กองทัพเมืองตองอูพาเอาพระเจ้าหงสาวดีหนีไปเสียได้ และกองทัพเมืองยะไข่ก็เผาผลาญเมืองหงสาวดีเสียยับเยิน กลายเป็นเมืองร้าง เพื่อมิให้เป็นที่มั่นแก่สมเด็จพระนเรศวรฯ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65434446765316_30_Copy_.jpg)

๓๐. ขณะประทับอยู่เมืองหาง สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี หรือโรคผิวหนังมีเม็ดเป็หนอง) ที่พระพักตร์ มีพระการหนักมาก สมเด็จพระเอกาทศรถจึงรีบเสด็จกลับมาเฝ้า หลังจากนั้นเพียง ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคตด เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ รวมพระชันษา ๕๐ พรรษา เสวยราชย์๑๕ ปี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63708545060621_31_Copy_.jpg)
๓๑. สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นยอดนักรบที่ประสูติมาเพื่อกู้ชาติไทยโดยแท้ ประชาชนชาวไทยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าฯ จึงได้ถวายพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

---------------------------------

“จิตรกรรม” เป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ จากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน ถ่ายทอดปรากฏเป็นรูปธรรมบนแผ่นภาพพร้อมกับการใช้สี  เพื่อให้เกิดความศรัทธาน่าเลื่อมใสต่อพุทธศาสนา และเกิดความประทับใจต่อผู้พบเห็น ซึ่งการถ่ายทอดด้วยภาพจิตรกรรมง่ายกว่าการอ่านจากตัวหนังสือ โดยเฉพาะสามารถทำให้ผู้ไม่รู้หนังสือได้เข้าใจและเกิดความศรัทธาได้อย่างลึกซึ้ง

ภาพจิตรกรรมส่วนมากแสดงเรื่องราวต่างๆ  ดังนี้
๑. เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธประวัติ  ประวัติพระพุทธเจ้า พระอดีตพระพุทธเจ้า (โดยเฉพาะเรื่องมหาชาติ หรือพระเวสสันดรชาดก และทศชาติเรื่องอื่นๆ) นอกจากนั้นได้แก่ เรื่องไตรภูมิ และพระมาลัย ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า ประวัติมหาสาวก มักจะเป็นส่วนประกอบเท่านั้น
๒. เรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและประเพณี เช่น ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีวันเข้าพรรษา - วันออกพรรษา ประเพณีแห่นางแมว ประเพณีสู่ขวัญข้าว ประเพณีบุญบั้งไฟ ฯลฯ
๓. เรื่องเกี่ยวกับวรรณดี ที่นิยมนำมาเขียนเป็นภาพมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องสังข์ทอง ฯลฯ
๔. เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการนำเอาเรื่องราวในพระราชพงศาวดารมาวาดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ได้แก่  เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นต้น




โปรดติดตามตอนต่อไป


หัวข้อ: Re: วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี จ.ลำพูน-จิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2565 18:28:30
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97828291977445_3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18177553266286_2_Copy_.jpg)

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ความเป็นมาของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่า “ดอยนางพี่” ได้ประทานพระเกศาธาตุ ๑ เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า “ดอยนางนอนจอมแจ้ง” (เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า) ต่อมามีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก ๘ คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้าไม่มีอะไรจะถวายจึงเอาเนื้อมาถวาย พระพุทธองค์ก็ไม่ฉัน พวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉันและให้ศีลให้พรพวกละว้า พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้และทรงรับสั่งว่า “ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนอยู่ไกล” จากนั้นจึงทรงประทานนามที่นั่นว่า “ห้วยต้มข้าว” ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “ห้วยต้ม” ซึ่งเป็นชื่อวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน

บ้านห้วยต้มเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเญอะหรือกะเหรี่ยงประมาณ ๖๐๐ หลังคาเรือนมีคนอาศัยอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ คนซึ่งพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยต้มเมื่อปี ๒๕๑๔ หลังจากที่ทางราชการได้มีการสร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพลขึ้น ชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน การอพยพเข้ามาอยู่ในระยะแรกมีความยากลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและสภาพทั่วไปมีความแห้งแล้ง ชาวกะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องอพยพไปอยู่ในที่ใหม่ พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำงานต่อสู้กับอุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ
...ที่มา เชียงใหม่นิวส์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92845113078753_245142612_180331544245740_6783.jpg)
ขอขอบคุณ เพจวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน (ที่มาภาพ)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22506398003962_245405358_181721027440125_5345.jpg)
ขอขอบคุณ เพจวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน (ที่มาภาพ)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89462686081727_9_Copy_.jpg)
รูปปั้นเหมือนครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หน้าวิหารพระเมืองแก้ว วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาวงศ์

ประวัติ : เกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะยากจน นามเดิมชื่อ ด.ช.ชัยวงศ์ ต๊ะแหงม เกิดวันอังคาร ที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๗ เหนือ (เดือน ๕ ใต้) ปีฉลู ณ ที่บ้านก้อหนอง หมู่ ๒ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน บิดาชื่อ พ่อน้อย จันทะ - มารดาชื่อ แม่บัวแก้ว ต๊ะแหงม เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๙ คน เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ด.ช.ชัยวงศ์ ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดก้อท่า หรือวัดแม่ปิงเหนือ  ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านมีความลำบากยากแค้น ท่านเคยเล่าว่าเมื่อายุประมาณ ๓ ขวบท่านชอบเอาดินมาปั้นแต่งเป็นบ้าน ปั้นวัว ปั้นควายและพระพุทธรูป เอาข้าวเปลือกมตบแต่งเป็นพระเนตรแล้วก็กราบไหว้เอง จนเมื่อายุได้ประมาณ ๖ ปีพอที่จะช่วยโยมพ่อทำงานได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งโยมพ่อพาลูกๆ ออกไปทำไร่ โยมแม่ได้นำอาหารกลางวันมาส่งให้ หลังจากที่กินอาหารเรียบร้อยแล้วโยมพ่อจึงอบรมสั่งสอนลูกๆ ว่า “ตอนนี้พ่อแม่ก็อดลูกทุกคนก็อดแต่ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ บุญมีภายหน้าก็จะสบาย”

หลวงปู่บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖ ใต้) ณ วัดแก่งสร้อย ต.มืดกา อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยมีพระครูบาชัยลังกา เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งชื่อให้ว่า"ชัยยะลังก๋าสามเณร" และเป็นศิษย์อีกรูปหนึ่งที่เจริญรอยปฏิบัติธรรมตามแนวหลักของครูบาเจ้าศรีวิไชย

ตอนบวชเป็นสามเณรท่านมีความขยันหมั่นเพียรและเคารพครูบาอาจารย์เป็นที่สุด จนเพื่อนที่บวชด้วยกันเกิดความไม่พอใจพากันกลั่นแกล้ง กระทั่งเมื่อหลวงพ่ออายุได้ ๒๐ ปีจึงได้อุปสมบทโดยมีครูบาพรหมจักรเป็นพระอุปัชฌาย์และออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมกับท่านเป็นเวลา ๒ ปี หลังจากนั้นท่านก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านได้บุกเบิกปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง อาทิ วิหารครอบรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจำนวนกว่า ๘ หมื่น ๔ พันองค์ โดยเฉพาะวิหารครอบรอยพระพุทธบาทใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง ๓๔ ปี

หลวงปู่ครูบาวงศ์ เมื่อครั้งยังมีชีวิตนอกจากจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในด้านศีลาจริยาวัตรที่ดีงาม และมีเมตตาสูงยิ่งนัก และยังเป็นผู้ที่มีความเชียวชาญทางด้านเป็นช่างสถาปนิก ก่อสร้างทั้งงานปูนและงานไม้ได้เป็นเยี่ยมอีกด้วย  ท่านเป็นที่เคารพรักอย่างยิ่งของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มิใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น ใครก็ตามที่ได้พบ ได้ฟังคำสั่งสอนของท่าน และได้ทราบประวัติ ต่างจะยิ่งบูชาหลวงปู่มากยิ่งขึ้น หลวงปู่ท่านเป็นพระนักพัฒนา ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านห้วยต้ม นำชาวเขาชาวกะเหรี่ยงสู่การดำรงชีพที่ดีขึ้น

หลวงปู่ครูบาวงศ์ มรณภาพ รวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17876549023720_1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87614833273821_4_Copy_.jpg)

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่มีความสวยงามทางด้านศิลปกรรมแบบผสมระหว่างล้านนากับพม่า โดยเฉพาะพระธาตุเจดีย์ทรงแหลมเรียวรายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กอีก ๑๖ องค์ ภายในศาลารอบองค์พระธาตุเจดีย์จะมีรูปปั้นของเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศกว่า ๓๐ องค์ และภายในศาลาหลังใหญ่ยังเป็นที่ตั้งศพของครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบรรจุในโลงแก้วให้ศรัทธาประชาชนได้กราบไหว้ นอกจากนั้นในบริเวณด้านเหนือของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อจำลองซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระมณฑป ได้จัดให้มีพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไปเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔

พระเจ้าเก้าตื้อที่ประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปวัดพระบาทห้วยต้ม ได้จำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อในอุโบสถวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือสกุลช่างเชียงแสนผสมสุโขทัยหน้าตักกว้างประมาณ ๑๒๐ นิ้ว ว่ากันว่าพระเจ้าเก้าตื้อองค์จริงที่วัดสวนดอกสร้างขึ้นในสมัยของพระยารัตนเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) อันนับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองไพบูลย์ของศาสนาในเชียงใหม่มากที่สุด พระเจ้าเก้าตื้อองค์นี้นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามได้สัดส่วน และเนื่องด้วยที่พระองค์นี้มีน้ำหนัก ๙ ตื้อ ซึ่งเป็นมาตราชั่งของคนล้านนา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกกันต่อมาว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ”

ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในแผ่นดินลี้ยังแผ่ขยายปกคลุมให้ชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยต้มจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาวงศ์ ทุกๆ วันพวกเขาจะไม่ทานเนื้อสัตว์และจะเคร่งครัดยึดมั่นในศีล จะเห็นได้จากที่เวลาชาวบ้านไปทำบุญที่วัดมักจะถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่ที่หน้าประตูวัด ซึ่งภาพเช่นนี้มีให้พบเห็นไม่บ่อยนักหากไม่นับรวมกับความศรัทธาของชาวไทใหญ่แห่งพม่าที่ยังคงยึดถือปฏิบัติความเชื่อเช่นนี้เหมือนกัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46975143791900_5_Copy_.jpg)  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28958305799298_6_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80981538982854_7_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30825008079409_8_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57116783617271_16_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65710930112335_17_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26108103866378_277223622_1349794398869570_354.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84991078782412_277311428_1349794525536224_514.jpg)
แมงสี่หู ห้าตา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

เรื่องเล่าในตำนานล้านนา "แมงสี่หูห้าตา" ของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
กาลครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มกำพร้าผู้หนึ่งฐานะยากจนขัดสนมาก แต่ก็ยังมีที่ดินทำกินเพียงน้อยนิดไว้สำหรับปลูกข้าว มีอยู่ปีหนึ่งเหมือนว่าฝนฟ้าจะไม่เป็นใจกับชายหนุ่มมากนัก ต้นข้าวที่ปลูกไว้แห้งตายมากพอสมควร แต่ก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง มีพระอินทร์บนสวรรค์อีกท่านหนึ่งซึ่งมองเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชายหนุ่มผู้นี้ พระอินทร์ผู้มีศักดิ์คิดลงมาอยากจะช่วยเหลือชายหนุ่มกำพร้าให้พ้นจากความทุกข์ยาก จึงแปลงร่างมาปรากฏเป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ซึ่งมีหู ๔ หู มีตาอีก ๕ ดวง ในโลกมนุษย์ไม่มีสัตว์ประเภทแบบนี้เลยก็ว่าได้ และสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้มาทำลายต้นข้าวที่ยังเหลืออีกส่วน บังเอิญชายหนุ่มซึ่งได้มาเห็นต้นของของตนที่ถูกทำลาย จึงเกิดความโมโหขึ้นมาทันที คิดจะฆ่าสัตว์ตัวนี้แต่ก็ไม่มีอาวุธใด และพยายามหาวิธีจะกำจัดให้พ้นๆ ไปแต่ก็ไม่รู้จะทำวิธีการใดอีก  ระยะเวลาผ่านไป จนกระทั่งชายหนุ่มจับสัตว์ประหลาดนั้นได้ จึงพามายังที่พักเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ และได้ผูกติดกับต้นเสา พอตกย็นใกล้ถึงหัวค่ำชายหนุ่มก็ได้นำอาหารที่มีอยู่ตามประสาคนจนพอมีพอกิน และให้สัตว์ประหลาดตัวนั้น มันไม่ยอมกินอาหารแต่อย่างใด แต่มันทำตัวดูเหมือนว่ากำลังหนาวจัด คงต้องการความอบอุ่นมาก ชายหนุ่มจึงหาฟืนมาก่อไฟให้มัน จนระยะเวลาผ่านไป ชายหนุ่มรู้สึกง่วงนอนมาก จึงคิดจะกลับไปนอนพักผ่อน พอหันกลับมาอีกทีเห็นสัตว์ประหลาดตัวนั้นกำลังจับถ่านไฟแดงร้อนจัดกินเข้าไปอย่างไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด จนกระทั่งชายหนุ่มเผลอหลับไป มารู้สึกตัวอีกทีก็สว่างพอดี และยังรู้สึกงงอยู่มากที่ได้พบสัตว์ประหลาดตัวนี้ แต่ยังพบความแปลกประหลาดมากไปกว่านั้นอีก ที่ชายหนุ่มต้องตกตะลึงมาก คือสัตว์ตัวนั้นกินถ่านไฟซึ่งไม่เคยพบเจอมาก่อนและยังขับถ่ายออกมาเป็นทองคำแท้อีกด้วย ชายหนุ่มกำพร้าจึงร่ำรวยมาเรื่อยๆ  ชายหนุ่มจึงกลับมาทบทวนความคิดอีกครั้ง...เออ...ดีนะที่เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ประหลาดตัวนั้น มิเช่นนั้นเราคงไม่มีทรัพย์สมบัติมากมายอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ชายหนุ่มกำพร้าผู้นี้ยังมีความเมตตาอยู่บ้าง ถึงแม้ต้นข้าวที่ถูกทำร้ายจนเกิดความเสียหายจนโมโหมาก แต่ก็ยังคิดจะละเว้นชีวิตให้สัตว์ตัวนั้น  นิทานเรื่องนี้อ้างอิงมาจากเรื่องเล่าของหลวงปู่ชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) อยากให้ทุกคนมั่นรักษาศีล ภาวนาให้มากๆ และมีพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าคนเรายึดถือสิ่งเหล่านี้ได้ชีวิตเราจะพบแต่ความสุขตลอดกาล

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45720318208138_1_Copy_.jpg)
รูปปั้น แมงสี่หูห้าตา ด้านหน้าพระอุโบสถศรีณสังวร (ศรีวิชัยจอมคีรี) ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73952691753705_2_Copy_.jpg)
รูปปั้น แมงสี่หูห้าตา ด้านหน้าพระอุโบสถศรีณสังวร (ศรีวิชัยจอมคีรี) ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

แมงสี่หูห้าตา วัดอนุสาวรีย์จอมคีรีศรีวิชัย (ศรีวิชัยจอมคีรี) ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
จากคัมภีร์ใบลานของล้านนา ที่เชื่อมโยงไปถึงชื่อเมืองเก่าแก่ของเชียงราย เรื่องนี้ต่างจากเรื่องเล่าของหลวงปู่ชัยยะวงศาพัฒนา
ได้เนื้อความจากคัมภีร์ใบลานชื่อ “ธรรมสี่หู ห้าตา” ของวัดแช่ช้าง ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนา จำนวน ๑ ผูก (๖๑ หน้าลาน) ผู้จารคือ “พิมมสารภิกขุ” เมื่อจุลศักราช ๑๒๗๖ (พ.ศ.๒๔๕๗)
ความในคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องแมงสี่หูห้าตา กับทั้งยังได้เชื่อมโยงสัตว์นี้เข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย โดยว่าจำนวนสี่หูและ
ห้าตานั้นที่แสดงถึงหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ และศีล ๕  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19798500008053__17_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66883765699134__18_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42389693442318__19_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53039815442429__20_Copy_.jpg)

 
การเดินทางไปยังวัดพระพุทธบาทห้วยต้มใช้เส้นทางสายลำพูน – ลี้ ระยะทางประมาณ ๑๐๘ กิโลเมตร
จะมีทางแยกขวามือเข้าสู่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อีกประมาณ ๘ กิโลเมตร   สำหรับศรัทธาประชาชน
ต้องการไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย รอยพระพุทธบาทจำลอง พระเจ้าเก้าตื้อที่งดงามที่สุด
รวมถึงเคารพศพครูบาวงศ์ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว สามารถเดินทางได้ตามเส้นทางดังกล่าว
.


หัวข้อ: Re: วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี จ.ลำพูน - จิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2565 19:57:39
พลังแห่งความเคารพและศรัทธาอย่างสูงสุด
ของชาวเขาเผ่าปกาเญอะหรือกะเหรี่ยง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ที่มีต่อหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในด้านศีลาจริยาวัตรที่ดีงาม และมีเมตตาสูงยิ่งนัก   ก่อให้เกิดศาสนสถานใน
พระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรือง เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นอันยิ่งใหญ่งดงามตระการตา
ซุกซ่อนอยู่ในผืนแผ่นดินแห่งนี้

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35859496270616__7_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98141827020380__5_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36811011450158__6_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77448369148704__170_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68112758381499__10_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73880899738934__43_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/86486608742011__65_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42075156751606__59_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63285393599006__120_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56632719685633__99_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44598636072542__115_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22705307147569__97_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/86155484161443__118_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65696041699912__123_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19988337904214__135_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63376119608680__136_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72808479559090__126_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75074299549063__40_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93360706377360__153_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38170040729972__163_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51990701589319__75_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82492918645342__13_Copy_.jpg)