11 พฤศจิกายน 2567 02:20:53
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
.:::
การฟังธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: การฟังธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี (อ่าน 1510 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1096
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 101.0.4951.41
การฟังธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
«
เมื่อ:
03 พฤษภาคม 2565 15:54:31 »
Tweet
การฟังธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสหลวงพ่อพระครูภาวนาปัญญาสาร ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอเจริญพรไปยังญาติโยมสาธุชนผู้ใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน
วันนี้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ล่วงมาถึงราตรีที่ ๗ แล้ว ก็เหลืออีก ๒ ราตรี เราก็จะได้อำลาจากกันไป คณะครูบาอาจารย์ที่มาบรรยายแต่ละรูปแต่ละท่าน ก็บรรยายในหัวข้อการประพฤติปฏิบัติ เน้นเรื่องการประพฤติปฏิบัติเป็นจำนวนหลายท่าน ส่วนวันนี้กระผมก็จะนำเอาธรรมะอันเบาๆ มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่าน ตามสมควรแก่สติปัญญา
วันนี้ก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่องการฟังธรรมมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟัง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น เอาสติไว้อยู่ที่หูคือตรงที่แก้วหูของเรา ตรงที่เสียงมันกระทบกับโสตประสาทของเรากำหนดว่า ”ได้ยินหนอๆ” หรือกำหนดว่า “เสียงหนอๆ” อย่างนี้ร่ำไป จนกว่าจิตใจของเราจะเป็นสมาธิ ถ้าจิตใจของเราเป็นสมาธิก็พยายามจำให้ได้ว่ามันเข้าสมาธิตอนผู้เทศน์ เทศน์ไปถึงตอนไหน มันดับไปตอนไหนพยายามจำให้ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟัง
การฟังธรรมนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอานิสงส์ไว้ ๕ ประการ แบ่งออกเป็นอานิสงส์ในปัจจุบัน แล้วก็อานิสงส์ในสัมปรายภพ คืออานิสงส์ของการฟังธรรมนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือประการแรกให้อานิสงส์ในปัจจุบันธรรม ประการที่ ๒ นั้นให้ผลในสัมปรายภพ ผลที่ให้ในปัจจุบันนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ ๕ ประการคือ
๑. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งที่เคยฟังแล้วไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจชัด
๓. บรรเทาความสงสัยลงได้
๔. ทำความเห็นให้ตรง
๕. ทำจิตของตนให้ผ่องใส
อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เราจะพึงได้ คือเราย่อมได้รับฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังมาก่อน อย่างเช่นญาติโยมทั้งหลายที่ไม่เคยมาฟังเทศน์ฟังธรรม เมื่อมาฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วย่อมเข้าใจ คณะครูบาอาจารย์ท่านเทศน์หลายเรื่องหลายอย่าง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เราก็ได้ฟังเทศน์หลายเรื่องหลายราวหลายทัศนะหลายคติ หรือว่าเราจะได้เข้าใจสิ่งที่เรายังไม่เคยเข้าใจ เช่นเรื่องที่เรายังไม่เคยฟัง
เช่นว่าการที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ เราจะเดินทางไปอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสทางเดินของเราไว้กี่สาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสทางเดินไว้ ๗ สาย คือ ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ประกอบไปด้วยความโกรธ คนชอบโกรธ คนอื่นว่านิดว่าหน่อยก็ไม่ได้เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ พวกนี้เรียกว่าโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อตายแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรก
หรือว่าบุคคลผู้ที่เป็นคนชอบโลภ โลภมาก ชอบกอบชอบโกย โกงกินเอาเพื่อนบ้าน หรือว่าโกงกินญาติพี่น้องของตนเอง โกงกินเงินของรัฐบาล หรือว่าโกงกินของบุคคลอื่นเอามาเป็นของตนเองโดยที่ไม่ชอบธรรม พวกนี้ตายไปแล้วก็จะไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง
หรือท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ประกอบไปด้วยโมหะ คือประกอบไปด้วยความหลง หลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในสัมผัส หลงในธรรมารมณ์ หลงในอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ เช่น หลงในกามราคะก็ดี หลงกินเหล้าเมายาก็ดี หลงสูบฝิ่นกินกัญชาก็ดี พวกนี้ตายไปแล้วก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
หรือท่านกล่าวไว้ว่าบุคคลที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นต้องบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ รักษากรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนั้นให้บริบูรณ์ ก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์
หรือว่าบุคคลใดอยากจะไปเกิดเป็นเทวดา ก็ต้องทำบุญทำทาน รักษาศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ หรือว่ารักษาศีลอุโบสถ ๘ ข้อ อย่างที่เรารักษาอยู่นี้แหละ หรือว่าเราจะมาให้ทาน ไหว้พระ เจริญสมถกรรมฐาน แต่ยังไม่ได้ฌาน เจริญวิปัสสนากรรมฐานยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ตายแล้วเราก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง นับตั้งแต่ชั้นจาตุม ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี หรือว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ชั้นใดชั้นหนึ่ง
หรือว่าถ้าเราอยากจะไปเกิดในพรหมโลก เราก็มาเดินจงกรมนั่งภาวนาเหมือนกับเรามาเดินอยู่นี้แหละ เราเดินจงกรมนั่งภาวนา ถ้าอุปนิสัยของเรามีในการสั่งสมในด้านสมถะมาแต่ภพก่อนชาติก่อน เวลาเราเดินจงกรมนั่งภาวนาไปจิตใจของเราจะน้อมไปในสมถะ คือจิตใจเรามันจะเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ แล้วจะสงบเป็นฌานไป เป็นอุปนิสัยของแต่ละรูปแต่ละท่าน เมื่อเราได้รูปฌานแล้วนั้นฌานของเราไม่เสื่อมตายไปแล้วเราก็ไปเกิดในพรหมโลก เกิดรูปฌานตามอำนาจวาสนาบารมี ตามฌานของเรา
หรือว่าเราอยากจะไปเกิดในอรูปพรหม เราก็เจริญจนกว่าได้อรูปฌาน คือจนทำให้อรูปฌานทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ให้เกิดขึ้นมาเราก็จะได้ไปเกิดในอรูปพรหมตามกำลังของฌานของเรา
หรือว่าเราอยากจะไปพระนิพพาน เราก็มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ เหมือนกับญาติโยมกำลังเจริญอยู่นี้แหละ เรียกว่าเรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าบารมีของเราเคยสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติก่อนโน้นมาก เราก็มาเดินจงกรมนั่งภาวนาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อุปนิสัยของเรานั้นน้อมไปในวิปัสสนาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปเห็นนาม เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ไล่ไปจนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ ผ่านวิปัสสนาญาณไปแล้วก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้เป็นหนทางที่เราจะไปสู่พระนิพพาน
เพราะฉะนั้น แต่ก่อนเมื่อเรายังไม่เคยฟังธรรม เมื่อเรามาฟังธรรมแล้วเราย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง สิ่งที่ฟังแล้วถ้าเราไม่เข้าใจชัดเราย่อมเข้าใจชัด คือการฟังบ่อยๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราซาบซึ้ง เพราะอะไรก็ตามถ้าเราทำบ่อยๆ แล้วจะเกิดความชำนิชำนาญ เกิดความคล่องแคล่ว เกิดความช่ำชองขึ้นมา เหมือนกับมนต์ถ้าเราไม่ท่องมันก็ลืมได้ เหมือนพระปาติโมกข์ ถึงเราท่องคล่องแคล่วว่องไวช่ำชองขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ท่องไม่ทวนไม่ฟังบ่อยๆ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มนต์ของเรานั้นมันเสื่อม หรือว่ามันเศร้าหมองไป
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมีความไม่หมั่นเป็นมลทิน ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส
เพราะฉะนั้นการที่เราฟังบ่อยๆ สิ่งใดที่เรายังไม่เข้าใจชัดเราย่อมเข้าใจชัด เหมือนกับเราฝนมีด เราฝนบ่อยๆ มีดมันก็คม เหมือนกับเราวางตุ่มน้ำไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกลงมาตกทีละนิดทีละหน่อยน้ำฝนมันก็มากขึ้นไปตามลำดับ ข้อนี้ฉันใด ถ้าเราฟังบ่อยๆ เราสะสมความรู้ เราฟังให้ดีเราก็ได้ปัญญาดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา
เพราะฉะนั้นการฟังบ่อยๆ สิ่งไหนที่เราไม่เข้าใจชัดเราก็เข้าใจชัด แล้วก็บรรเทาความสงสัยลงได้ การฟังธรรมนั้นสามารถที่จะบรรเทาความสงสัยลงได้ แต่ก่อนเราเคยนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่สำมะโนครัวพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เคยรักษาพุทธศาสนามาเราก็นับถือพุทธศาสนาตามท่าน เพราะอะไร เพราะว่าเราเป็นลูกเป็นหลานท่าน เรานับถือตามท่าน แต่เราไม่เคยเข้าใจพระพุทธศาสนาเลยว่า พุทธศาสนานั้นพระองค์สอนอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงประสูติที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหน แต่เมื่อเรามาฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วเราก็เข้าใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติอยู่ที่สวนลุมพินีวัน ครองราชย์อยู่ได้ ๒๙ พรรษา ออกบวช ๖ ปี บำเพ็ญภาวนาอยู่ ๖ ปี ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ที่ริมแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา เราก็เกิดความเข้าใจในพุทธศาสนา ในส่วนที่เป็นปริยัติ เราคลายความสงสัยในเรื่องของพระพุทธเจ้าแล้ว
หรือเราสงสัยในเรื่องพระธรรม ว่าพระธรรมนี้สามารถที่จะนำบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามให้พ้นไปจากทุกข์จริงหรือ เกิดความสงสัยขึ้นมา แต่เมื่อเรามาฟังบ่อยๆ ว่าพระธรรมนั้นถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสามารถได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ พระท่านยกธรรมบทมาแล้วเราก็ฟังไปๆ การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริง เหมือนกับพระสารีบุตร เหมือนกับพระโมคคัลลานะ เหมือนกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี เหมือนกับนางวิสาขา เป็นต้น สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เราก็คลายความสงสัยในเรื่องของพระธรรม หรือเราสงสัยในเรื่องพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์นี้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงไหม ปฏิบัติสมควรไหม นับเรียงคู่นับเรียงตัวได้ ๘ บุรุษจริงไหม มีพระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผลนั้นจริงไหม เกิดความสงสัยขึ้นมา
เมื่อเราเกิดความสงสัยขึ้นมาเรามาฟัง พอมาฟังแล้วท่านเทศน์ลำดับญาณเหมือนกับเรามาฟังอยู่นี้แหละ หลวงพ่อพระครูภาวนาปัญญาภรณ์ ก็ดี คณะครูบาอาจารย์หลายรูปท่านก็เทศน์เรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องวิปัสสนาญาณเราก็ฟังไปๆ พิจารณาไป เราก็จะเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริง แล้วเราก็คลายความสงสัยในเรื่องพระสงฆ์ที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
หรือว่าเราสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาปก็ดี เมื่อเรามาฟังแล้วท่านก็จะพูดเรื่องนรกให้ฟังว่า นรกทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๔๕๖ ขุม ขุมใหญ่ๆ มีอยู่ ๘ ขุม นับตั้งแต่สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาฏนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนรก มหาตาปนรก หรือว่าอเวจีมหานรก นี้ท่านก็จะกล่าวเรื่องนรกทั้งหมด จากนั้นก็มีนรกขุมเล็กๆ ขุมน้อยๆ มาแวดล้อมขุมใหญ่ รวมได้ทั้งหมด ๔๕๖ ขุม โดยเฉพาะขุมแรกคือ สัญชีวนรกนั้นเป็นนรกที่ สัตว์นรกนั้นตายไปแล้ว เมื่อตายไปแล้วก็ถูกนายนิรยบาล หอกบ้าง แทงบ้าง เอามีดแถเนื้อออกบ้าง ตายแล้วก็เกิดขึ้นมาเอง เรียกว่าสัญชีวนรก ทรมานอยู่อย่างนี้ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายในนรกอยู่อย่างนั้น ๕๐๐ ปีในนรกเมื่อเทียบกับปีในมนุษย์ ก็เท่ากับ ๙ ล้านปีของมนุษย์ ต้องเกิดต้องตายอยู่ในนรกนั้นจนกว่าจะพ้นกรรมของตัวเอง
เมื่อเรามาฟังพระท่านเทศน์เรื่องนรกเหล่านี้เป็นต้นก็เกิดความเข้าใจว่านรกมันมีจริง เราก็เชื่อตามที่เราเคยฟังมา นี้ก็จะบรรเทาความสงสัยของเราลงได้มากพอสมควร หรือว่าเราสงสัยในเรื่องสวรรค์ก็ดี พอเอามาเทศน์พระท่านก็เทศน์อุปมาอุปไมยเหมือนกับธรรมิกอุบาสก ขณะที่ท่านจะตายท่านก็ฟังสติปัฏฐานสูตร พอท่านฟังสติปัฏฐานสูตรก็มีเทวดาทั้ง ๖ ชั้น เอาราชรถมาแล้วก็เรียกร้องเชิญชวนท่านให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นของตน เราก็ฟังไปก็พิจารณาไปว่ามันก็มีจริง
หรือว่าเราฟังเรื่องเทพบุตรชื่อว่า มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ซึ่งไม่ได้ทำบุญทำทานเกิดในตระกูลที่พ่อแม่เป็นคนตระหนี่ เป็นเศรษฐีแต่ตระหนี่ ไม่ให้ทำบุญทำทาน พอป่วยจะตายก็ไม่กล้ารักษาโรค ลูกป่วยไม่กล้าซื้อยารักษาลูก จนลูกนอนป่วยพอดีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาต พระองค์ก็ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีให้เห็น มานพนั้นก็เกิดความดีใจ เห็นฉัพพรรณรังสีตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา อันนี้แสดงว่าสวรรค์มีจริงหรือเปล่าหนอ หรือว่าเราฟังเรื่องธรรมบทต่างๆ เราก็จะได้เห็นว่าเทวดานั้นมีจริงตามสูตร ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้เห็นด้วยตาหรือว่าได้เห็นด้วยนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะเชื่อว่าผลของกรรมดีมันมี ผลของกรรมชั่วมันมี ก็จะเกิดความบรรเทาการสงสัยได้ระดับหนึ่ง
หรือเราสงสัยในเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็มาเดินจงกรม นั่งภาวนาอยู่ในขณะนี้ บางรูปบางท่านก็ได้สมาธิ บางรูปบางท่านก็เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา บางรูปบางท่านอาจจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา อย่างนี้เป็นต้น ก็หายความสงสัยไปเป็นชั้นๆ ตามระดับภูมิธรรมของตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาฟังธรรมเราก็บรรเทาความสงสัยลงได้
หรือเราทำความเห็นของเราให้ตรง เมื่อเราฟังธรรมไปๆ จิตใจของเราก็จะเกิดความผ่องใสขึ้นมา เราปฏิบัติธรรมไปด้วยฟังธรรมไปด้วย จิตใจของเราก็จะผ่องใสขึ้นมาเป็นระยะ เป็นขณะลงไป เมื่อจิตใจของเราผ่องใสขึ้นมา จิตใจของเราก็จะลดมานะทิฏฐิ สามารถที่จะรับฟังคำสั่งสอนของบุคคลอื่น จะเป็นพระหนุ่ม เณรน้อย เทศน์ดีไม่ดีเราก็ตั้งใจฟัง เพราะเราคำนึงถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเราตั้งใจฟังธรรมะนั้นแหละก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
แต่ก่อนเราไม่เคยฟังธรรมะ เราปิดจิตปิดใจของเรา คว่ำจิตคว่ำใจของเราอยู่ เรามองโลกในแง่แคบ ไม่สามารถที่จะนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปพิจารณาให้เข้าใจได้ ก็เหมือนกับว่าเราคว่ำจิตคว่ำใจของเราไว้ ปิดจิตปิดใจไว้ย่อมไม่สามารถที่จะพิจารณาเห็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจลึกซึ้งได้ เพราะฉะนั้นเราเปิดออก เราจะได้เข้าใจธรรมเหมือนกับที่เราเคยฟังมาแล้วนั้นแหละ ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้เราก็เข้าใจมากกว่าที่เราไม่ได้มา
หรือท่านกล่าวว่าการฟังธรรมนั้นก็เหมือนกับการบอกทางแก่ผู้หลงทาง ใครเป็นผู้หลงทาง ก็ใจของเรานี้แหละเป็นผู้หลงทาง เหมือนกับคนที่เดินทางไปพบทางสามแพร่งไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ยืนรำพึงอยู่ว่าทางไหนหนอ ทางไหนหนอเป็นทางที่ต้องการที่เราจะไป รำพึงอยู่นั้นแหละ แต่ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่แท้จริง เหมือนกับคนที่เกิดขึ้นมานั้นแหละ หลงอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง หลงเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ วนเวียนไปอย่างนี้ตลอดไป ไม่รู้ว่าทางไหนจะตัดกงกรรมกงเกวียนแห่งสังสารวัฏให้หมดสิ้นไปไม่รู้ เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่ได้ฟังธรรม
เมื่อไม่ได้ฟังธรรมเราก็หลง เมื่อหลงเราก็ไม่ประพฤติปฏิบัติ ชั่วบ้าง ดีบ้าง สลับกันไป บางคนก็ปฏิบัติชั่วบ้าง ทำความไม่ดี ทำบาป ทำกรรม ตามอำนาจของจิตที่มันคิดชั่ว เมื่อจิตมันคิดชั่ว มันก็ทำชั่ว พูดชั่ว ในที่สุดร่างกาย วาจา ใจของเราก็เป็นคนชั่ว แต่ถ้าเราได้ฟังธรรมเราก็มีการยับยั้งชั่งใจขึ้นมา เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความเห็นของเรามันตรง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นความตรง จิตใจของเรามันตรง คือ ตรงต่อทาน ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรามาฟังธรรมบ่อยๆ ฟังธรรมเนืองๆ ฟังธรรมอยู่เป็นนิจก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราตรง ตรงต่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วท่านก็กล่าวอีกว่า การฟังธรรมนั้นเหมือนกับเราจุดแสงสว่างในที่มืด ตามธรรมดาบุคคลผู้อยู่ในที่มืดนั้นย่อมไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ แต่เมื่อเราเปิดไฟก็ดี เราเปิดไฟฉายก็ดี เราเปิดสวิตช์ไฟขึ้นมาก็ดีเราสามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ข้อนี้ฉันใด ถ้าจิตใจเรามืดมนอนธการ ด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง เราก็ไม่เห็นความดี ไม่เห็นความชั่ว ไม่เห็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญคือทาน คือศีล คือสมาธิ คือปัญญานี้ เป็นที่บำเพ็ญได้ เราก็ไปทำบาป ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล หรือว่าดื่มสุราเมรัยเป็นต้น อันนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าจิตใจของเราถูกปกคลุมไปด้วยความมืด คืออวิชชา คือความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เพราะฉะนั้นเรามาฟังเทศน์ ฟังธรรมนี้ จึงถือว่าเรามาทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นในจิตในใจ ดังคำโบราณที่ท่านกล่าวไว้ว่า “สว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงธรรม”
หรือประการสุดท้ายท่านกล่าวว่า บุคคลผู้ที่มาฟังธรรมนั้นจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจผ่องใส คือบุคคลผู้ที่มาฟังธรรมนั้นจิตใจจะเริ่มใสขึ้นๆ ประณีตขึ้นๆ ละเอียดขึ้นๆ เมื่อเราเข้าใจธรรมมากเท่าไรนั้นแหละ จิตใจของเราก็จะละเอียดมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจธรรมมากขึ้น คือถ้าเรายังไม่ได้สมาธิจิตใจของเราจะละเอียดระดับหนึ่ง แต่ถ้าจิตใจของเราได้สมาธิแล้วหิริและโอตตัปปะมันก็จะละเอียดเข้าไปอีกระดับหนึ่ง
แต่ถ้าเรายังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่ำ คือ วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จิตใจของเราก็จะละเอียดระดับหนึ่ง ถ้าเกิดวิปัสสนาญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ จิตใจของเราก็จะละเอียดระดับหนึ่ง ถ้าเกิดวิปัสสนาญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ จิตใจของเราก็จะละเอียดมีหิริและโอตตัปปะมากขึ้นไปตามลำดับๆ เห็นบาปนั้นเป็นบาปจริง เห็นบุญนั้นเป็นบุญจริง เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเราเมื่อฟังธรรมแล้ว เราเข้าใจธรรมแล้วมันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเริ่มละเอียดเข้าไปตามลำดับๆ อันนี้เป็นอานิสงส์ในปัจจุบันที่เราจะพึงได้
อานิสงส์เมื่อเราตายไปแล้วท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมพิสดารว่า เมื่อเราตายไปแล้วถ้าไปเกิดบนสวรรค์ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นสามารถที่จะแสดงธรรมแก่เทวดาเหล่าอื่นได้ แต่ถ้าเราจำไม่ได้ว่าเราไปเกิดบนสวรรค์แล้วเราจำไม่ได้ เมื่อมีเทพบุตรคนอื่นๆ เทวดาองค์อื่นมาตักเตือน เราก็สามารถที่จะระลึกถึงบทธรรมได้ แล้วเราก็สามารถที่จะแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่าอื่นได้
เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งประพฤติปฏิบัติธรรมไป ก็ยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ยังไม่ได้ฌาน ตายไปแล้วมีศีลบริสุทธิ์ก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะที่ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็เปลี่ยนจากที่เป็นภิกษุก็เป็นเทพบุตรที่มีผิวงาม มีรัศมีสว่างไสว เทวดาเทพธิดาทั้งหลายทั้งปวงก็มาแวดล้อม พอสะดุ้งขึ้นมาตกใจขึ้นมาก็เพราะว่าตนเองเป็นพระ แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมามีเทพธิดาแวดล้อมหมดก็ตกใจก็เลยถาม พอสำรวจดูตัวเองนั้นก็ไม่ใช่ภิกษุ แต่เป็นเทพบุตรแล้ว เรียกว่าตายจากความเป็นภิกษุมาเป็นเทพบุตรแล้ว เหมือนกับนอนหลับแล้วตื่น
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ถามเทพธิดาเหล่านั้นว่า “มาอะไร” เขาก็บอกว่า “มาฟังธรรม” นานๆ จะมีภิกษุที่ตายแล้วมาเกิดบนสวรรค์ จะได้ฟังธรรมจากภิกษุรูปนั้นก็ขอฟังธรรม เทพบุตรองค์นั้นก็นึกไปนึกมาแล้วก็เลยคิดว่า เราได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระเชตวัน พระองค์ทรงแสดงอย่างนั้นๆ ก็สามารถที่จะแสดงธรรมแก่เทพธิดาเหล่านั้นได้ เทพธิดาเหล่านั้นก็นำไปประพฤติปฏิบัติก็ตั้งอยู่ในคุณธรรม เรียกว่าเป็นผู้มีบุญที่มั่นคงมากไปกว่านั้นอีก
ประการที่ ๓ ท่านว่าถ้ายังระลึกไม่ได้อยู่ เมื่อเห็นพระเถระที่มีฤทธิ์อย่างพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร หรือว่าพระมาลัยนี้ขึ้นไปบนสวรรค์ก็สามารถที่จะเอาพระเถระนั้นเป็นอารมณ์ แล้วก็นึกถึงคำเทศน์ คำสอนที่ตนเองได้เคยฟังมาแล้วสามารถที่จะแสดงธรรมแก่หมู่เทพทั้งหลายทั้งปวงได้
หรือไม่อย่างนั้นเมื่อเห็นพระเถระแสดงธรรมก็ดี หรือเทพบุตรมีท้าวสักกะเป็นต้น แสดงธรรมก็ดี เราฟังแล้วเราก็จะระลึกได้แล้วก็สามารถที่จะแสดงธรรมแก่บุคคลอื่นแล้วก็สามารถที่จะได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมได้ไว ชาติสุดท้ายถ้าเรารับรู้แล้วก็จะแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ก็แตกฉานในอรรถในธรรมในภาษา อันนี้เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรมในสัมปรายภพข้างหน้า แต่เมื่อเราสรุปลงมาโดยย่อแล้วนี้ท่านกล่าวว่า การฟังธรรมนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. เราฟังธรรมเพื่อเอาความรู้
๒. เราฟังธรรมเพื่อเอาบุญ
๓. เราฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย
๔. เราฟังธรรมไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย เหมือนอย่างคณะครูบาอาจารย์กำลังทำอยู่นี้
การที่ท่านกล่าวว่าฟังธรรมเพื่อเอาความรู้นั้น หมายความว่าอย่างไร คือความรู้ในพุทธศาสนาของเรานั้น ท่านแบ่งไว้เป็น ๓ ประการ คือ
๑. สุตมยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการเล่าเรียนเขียนอ่าน
๒. จินตามยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากกาคิดพิจารณา
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการเจริญ
สุตมยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการเล่าเรียนเขียนอ่าน ใช้ตาเป็นครูใช้หูเป็นอาจารย์ ศึกษาเล่าเรียน ที่เป็นนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เปรียญธรรมประโยค ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗,๘,๙ หรือว่าอภิธรรมนับตั้งแต่ จุลตรี จุลโท ถึงมหาอภิธรรมบัณฑิต หรือว่าทางโลกนับตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก อันนี้ก็ถือว่าเป็นสุตมยปัญญา
ส่วนจินตมยปัญญานั้นก็คือ การที่เราศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ แล้วเอาออกมาคิด เมื่อมาคิดแล้วเราก็มาสร้างประโยชน์อย่างเช่น เราคิดสร้างถนนหนทางนี้ก็ถือว่าเกิดขึ้นมาด้วยจินตมยปัญญา หรือว่าเราสร้างรถขึ้นมาขี่ คิดค้นรถขึ้นมาขี่ เราคิดสร้างทีวีขึ้นมาดู สร้างโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ สร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมา หรือว่าเราสร้างเครื่องบินขึ้นมาขี่ไปทวีปโน้นทวีปนี้ประเทศโน้นประเทศนี้ หรือว่าสร้างยานอวกาศออกไปสำรวจดวงจันทร์ดวงดาวดาวอังคารอะไรต่างๆ หรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่พิจารณามวลอะตอม เอาพลังงานจากมวลอะตอมจากสสารเหล่านั้นมาแปรสภาพเป็นพลังงานปรมาณู สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นจินตมยปัญญา
เพราะฉะนั้นจินตมยปัญญานั้น จะถือว่าเป็นบุญนั้นก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นบาปก็ไม่ใช่ อันนี้แล้วแต่บุคคลว่าจะนำไปใช้เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เราจะการันตีว่าจินตมยปัญญานั้นจะพาเรามาเกิดเป็นมนุษย์ พาเราไปเกิดบนสวรรค์ พรหมโลกไม่ได้ ถ้าเราคิดผิด ทำผิดเราก็ไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ อันนี้ถือว่าเป็นจินตมยปัญญา
ส่วนภาวนามยปัญญา ก็คือ ญาติโยมทั้งหลายกำลังเดินจงกรม นั่งภาวนา มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตามเรามีรูปมีนามรู้มัน ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คู้ เหยียด ก้ม เงย รู้ จะนุ่งสบง ห่มจีวร เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ทำทุกอย่าง เรากำหนด เราจะกำหนดว่า “รู้หนอๆ” “คู้หนอ” “เหยียดหนอ” หรือไม่กำหนดแต่เราสำเหนียกอาการของรูปนามที่มันเกิดดับ อันนี้ก็ถือว่าเรามาเจริญภาวนามยปัญญา เราจะรู้ว่าเป็นภาวนามยปัญญา หรือไม่รู้ก็ตาม มันก็เป็นภาวนามยปัญญา เราจะรู้ว่าเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณหรือไม่รู้ มันก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณ
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาเจริญ รูป นาม เหมือนกับที่เราทำอยู่นี้แหละ มันก็จะเกิดวิปัสสนาญาณตั้งแต่ขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ สัจจานุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เกิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียว การเจริญสมถกรรมฐาน จะเหาะเหินเดินอากาศอย่างพระเทวทัตก็ไม่สามารถยังภาวนามยปัญญานี้ให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเราฟังความรู้นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราฟังไม่เป็นมันก็ไม่เกิดความรู้ ทั้งด้านที่เป็นความรู้โลกีย์ และโลกุตตระ ความรู้นี้เป็นทั้ง โลกิยะ และโลกุตตระ เหมือนกับพระสารีบุตรไปฟังกับสัญชัย นาฏบุตร ฟังมาจนจบลัทธิของสัญชัย แต่ก็ไม่ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม แต่เมื่อพระสารีบุตรมาฟังธรรมของพระอัสสชิเถระว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปรกติตรัสอย่างนี้”
ฟังเท่านี้ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ทำลายสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสนั้นหมดสิ้นไปจากจิตจากใจ โดยที่ไม่มีเหลือในจิตในใจเลย อันนี้เรียกว่าฟังเพื่อเอาความรู้
๒. เราฟังเพื่อเอาบุญ ฟังเพื่อเอาบุญนั้นเราฟังอย่างไร คือ ขณะที่เราฟังนั้นอาตมภาพก็ให้ญาติโยม ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น มีสติกำหนด “ได้ยินหนอๆ” เรื่อยไป ขณะที่เราฟังธรรมอยู่นี้เราฟังเพื่อเอาบุญก็คือ
กายของเราไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ทำบาป ไม่ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม วาจาของเราก็ไม่พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดส่อเสียด ยุยงให้คนแตกร้าวสามัคคีกัน ไม่ได้ไปดื่มสุราเมรัยอะไร หรือใจของเราก็ไม่คิดพยาบาท ไม่คิดโลภอยากได้ของบุคคลอื่น มีจิตใจมุ่งตรงต่อคุณงามความดี กายของเราก็เป็นบุญ วาจาของเราก็เป็นบุญ ใจของเราก็เป็นบุญ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็ถือว่าเป็นบุญ
จิตใจขณะที่เราฟังธรรม เราฟังไปด้วย ละวิตกวิจารณ์ ตั้งใจฟังธรรมไปด้วยมันก็เป็นบุญในขณะที่เราฟัง ถ้าเราฟังไปๆๆ จิตใจของเรามันสะอาดขึ้นเป็นสมาธิก็เป็นบุญอีกระดับหนึ่ง เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาก็เป็นบุญอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็ถือว่าเป็นบุญ
ท่านกล่าวว่าการฟังธรรมนั้นไม่ใช่เป็นบุญธรรมดา เป็นบุญมาก ใครที่ได้ฟังธรรมแล้วได้บุญมากกว่าการให้ทาน รักษาศีลอีก ดังที่เราได้ศึกษาในเรื่องของท้าวสักกะ ท้าวสักกะกับเทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ผูกปัญหากันขึ้นมาไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ปัญหา ๔ ข้อ
คือเทวดาทั้งหลายสงสัยว่า ทานอะไรหนอ เป็นทานที่เลิศกว่าทานทั้งปวง รสอะไรหนอเป็นรสที่เลิศกว่ารสทั้งปวง ความยินดีอะไรหนอ เป็นความยินดีที่เลิศกว่าความยินดีทั้งปวง การทำลายอะไรหนอจึงจะไม่เกิดความทุกข์
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมทานนั้นย่อมชนะซึ่งการให้ทั้งปวง สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสของพระธรรมย่อมชนะซึ่งรสทั้งปวง สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะซึ่งทุกข์ทั้งปวง
อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ได้ฟังธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือฟังธรรมะต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอานิสงส์กว่าบุคคลผู้ที่ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งแต่พื้นมนุษย์ของเราจนถึงขอบปากจักรวาล ตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจนไปถึงพรหมโลก เราบรรจุด้วยข้าวก็ดี เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยก็ดี ถวายแก่ท่านอานิสงส์นั้นก็ยังไม่เท่ากับเราฟังธรรมต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะว่าการถวายทานมากขนาดไหนก็ตาม รักษาศีลมากขนาดไหนก็ตามก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่เมื่อเราฟังธรรมเราสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นท่านจึงถือว่าเป็นบุญมาก เป็นบุญใหญ่ใครจัดให้มีการแสดงธรรมบุคคลนั้นก็ได้บุญมาก ประสบกับอานิสงส์ใหญ่ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นมหาบุญ มีอุทาหรณ์ คือ มีนิทานที่ท่านกล่าวไว้เหมือนกับเรื่องของ กบฟังธรรม
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พฤษภาคม 2565 15:57:25 โดย Maintenence
»
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1096
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 101.0.4951.41
Re: การฟังธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
«
ตอบ #1 เมื่อ:
03 พฤษภาคม 2565 15:56:58 »
การฟังธรรม
(ต่อ)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
คือในสมัยหนึ่งเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระเชตวัน ในขณะนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้งหลาย มีภิกษุเป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมไปๆ กบตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ริมสระโบกขรณี ขณะนั้นก็ศรัทธาในเสียงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เงี่ยหูฟังธรรมไปๆ ขณะนั้นมีเด็กเลี้ยงควายต้อนฝูงโคฝูงควายผ่านมาพอดี
ขณะนั้นก็ถือไม้เท้าไล่โคไปด้วยไล่ควายไปด้วยไม่ทันระวังไม้เท้านั้นก็ถูกกบตัวนั้นตาย กบตัวนั้นตายในขณะที่ยินดีในเสียงเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตายไปในขณะนั้นก็เหมือนกับหลับแล้วตื่น ฟื้นขึ้นมาก็ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเทพบุตรชื่อว่า มันฑูกเทพบุตร แปลว่าเทพบุตรกบ
เมื่อเกิดเป็นเทพบุตรแล้วก็พิจารณาว่า ชาติก่อนนั้นเราทำบุญอะไรหนอ เราจึงได้มาเกิดเป็นเทพบุตรมีวิมานอันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีอาหารอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ เป็นเพราะเหตุอะไรหนอ พิจารณาไปพิจารณามาก็รู้ว่าชาติเมื่อสักครู่นี้เกิดเป็นกบ ไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรเลยเพียงแต่ยินดีในการฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตายแล้วก็ได้รับอานิสงส์มากถึงเพียงนี้ ก็เลยคิดว่าจะไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทราบ ก็ลงมาที่พระเชตวันยังพระเชตวันให้สว่างไสว แล้วก็หมอบเข้าไปกราบเท้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีสีเหมือนกับทองคำ กราบแล้วกราบอีก
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า โก เม ปาทํ วนฺทติ ใครหนอมาไหว้เท้าของเราอยู่ มัณฑูกเทพบุตรก็กล่าวทูลว่า “ข้าพระองค์เองพระเจ้าข้า เมื่อสักครู่เป็นกบอาศัยอยู่ในสระโบกขรณี พอดีถูกไม้เท้าของคนเลี้ยงโคตายไป ยินดีในการฟังธรรมของพระองค์ ก็เลยไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ข้าพระองค์มานี้ เพื่อที่จะมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงแสดงธรรมโปรดข้าพระองค์เถิด”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมโปรดมัณฑูกเทพบุตร ก็ฟังไปๆ พิจารณาไปเหมือนกับเราฟังอยู่นี้แหละ เจริญวิปัสสนากรรมฐานไปด้วยฟังไปด้วย ในที่สุดมัณฑูกเทพบุตรก็ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วก็กลับไปสู่วิมานชั้นดาวดึงส์ ได้สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่เป็นเอนกกัปเอนกกัลป์ ด้วยอำนาจของการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บุญ ดังเรื่องที่กล่าวมาแล้ว แล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของแม่ไก่ฟังธรรม
คือในสมัยนั้น เป็นสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราชื่อว่า กกุสันโธ คือพระพุทธเจ้าชื่อว่า พระกกุสันโธ ในสมัยนั้นมีภิกษุอาศัยอยู่ในหอฉัน เรียกว่าศาลาโรงฉัน ในขณะนั้นท่านก็แสดงธรรมโปรดญาติโปรดโยม ขณะที่ท่านแสดงธรรมโปรดญาติโยมนั้นแหละ ก็มีแม่ไก่ตัวหนึ่งกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหาร กินอยู่ข้างหอฉัน ข้างศาลาแล้วก็คุ้ยเขี่ยกินไปด้วยก็ฟังธรรมไปด้วย
ในขณะนั้นมีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่งบินโฉบมาคาบเอาคอของแม่ไก่ตัวนั้นไป แม่ไก่ตัวนั้นขณะที่ฟังธรรมก็เกิดความดีใจ เกิดความปีตินั้นแหละ ก็ตายไปในขณะนั้น ขณะก่อนที่จะตายนั้นแหละแม่ไก่ตัวนั้นก็เหลือบไปเห็นธิดาของกษัตริย์กำลังเสด็จเลียบพระนคร ก็เอาธิดาของกษัตริย์นั้นเป็นอารมณ์ ตายไปแล้วไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ คิดดูซิแม่ไก่แท้ๆ สัตว์เดรัจฉานแท้ๆ ได้ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์แล้วก็เจริญวัยขึ้นมา ก็เข้าไปเวจกุฎี คือเข้าไปในห้องน้ำ แล้วก็เห็นหมู่หนอนเป็นจำนวนมาก ก็พิจารณาเกิดความสลดสังเวชใจเอาหมู่หนอนนั้นเป็นอารมณ์ ก็พิจารณาไปพิจารณามาๆ จิตใจเป็นเอกัคคตา เกิดปฐมฌานขึ้นมา ฌานไม่เสื่อมตายไปแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก
เมื่อตายจากพรหมโลกแล้วก็มาเกิดเป็นลูกของเศรษฐี ตายจากลูกของเศรษฐีแล้วก็มาเกิดเป็นลูกสุกรบ้าน ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรามีพระชนม์ชีพอยู่ในสมัยนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตพร้อมกับพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ลูกสุกรบ้านนั้นก็เหลือบเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เปี่ยมล้นด้วยมหาปุริสลักษณะ เปล่งพระฉัพพรรณรังษีอยู่ก็ดีใจ ค่าที่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วดีใจนั้นแหละ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์อีก
เมื่อตายจากธิดาของกษัตริย์แล้วก็มาเกิดเป็นธิดาของวัณณทาสีตายจากธิดาของวัณณทาสีแล้วก็ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์อีก ตายจากธิดาของกษัตริย์แล้วก็มาเกิดอยู่ในหมู่บ้านคามวาสี เมื่อตายจากธิดาของหมู่บ้านคามวาสีแล้วก็ไปเกิดเป็นธิดาของพ่อค้าม้า ตายจากธิดาของพ่อค้าม้าก็ไปเกิดเป็นธิดาของพ่อค้าสำเภา ตายจากธิดาของพ่อค้าสำเภาก็มาเกิดที่เมืองอนุราธบุรี เป็นธิดาของกุฎุมภีชื่อว่ามหาสุมนาเจริญเติบโตขึ้นมามารดาบิดาก็ยกไปให้อำมาตย์ อยู่ในเมืองอนุราธบุรี นางก็เป็นคนใจบุญสุนทาน นางทำบุญใส่บาตรทุกเช้า
วันหนึ่งพระอัตตคุตเถระ ไปบิณฑบาต พระอัตตคุตเถระนั้นเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เมื่อพระเถระไปบิณฑบาต ก็พิจารณาเห็นอุปนิสัยของนางกำลังใส่บาตรอยู่ พระเถระก็พิจารณาว่า เราพูดอย่างไรหนอ ธิดาคนนี้จึงจะได้ประโยชน์มาก พระอัตตคุตเถระก็เลยกล่าวกับภิกษุผู้เดินไปด้วยว่า “ท่านเห็นลูกสุกรบ้านไหม ท่านเห็นนางลูกสุกรบ้านไหม” พอนางได้ฟังคำว่า “ลูกสุกรบ้าน” เท่านั้นแหละก็เกิดระลึกชาติหนหลังได้เกิดความสลดใจ เกิดระลึกอตีตังสญาณเกิดความระลึกชาติขึ้นมา เห็นชาติที่ตนเองเกิดเป็นลูกสุกรแล้วก็ไล่มาๆ จนถึงปัจจุบันนี้ก็เกิดความสลดสังเวช ก็ไปอ้อนวอนสามี อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่าสามีก็ใจอ่อน
เมื่อสามีใจอ่อนแล้วก็ออกบวชไปบวชอยู่ในสำนักของภิกษุณี ออกบวชด้วยศรัทธาด้วยความเลื่อมใสตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งภาวนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้ก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรม เรียกว่าฟังเพื่อเอาบุญ
ต่อไปท่านกล่าวว่า ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย คือขณะที่เรามาฟังนี้ถึงว่าเราจะไม่เข้าใจในวันนี้ ไม่เข้าใจในวันหน้า ไม่เข้าใจในเดือนหน้า ไม่เข้าใจในปีหน้า ไม่เข้าใจในชาติหน้า แต่เราก็ต้องได้เข้าใจในวันใดวันหนึ่งแน่นอน เหมือนกับอุปนิสัยของแม่ไก่ หรือว่าอุปนิสัยที่กล่าวไว้ในอานิสงส์เบื้องต้นแน่นอน
เพราะว่าบุคคลผู้ที่ได้ฟังธรรมนั้นจะมีอุปนิสัยนั้นติดตามไปในภพน้อยภพใหญ่ ทำให้เราเข้าใจง่าย เมื่อเราฟังซ้ำอีกเราจะเข้าใจได้ไว เพราะฉะนั้นอานิสงส์ของการฟังธรรม ถ้าใครได้ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยแล้ว เวลาพระองค์นั้นขึ้นเทศน์องค์นี้ขึ้นเทศน์ เราก็จะเข้าใจไว แต่ถ้าบุคคลไหนไม่เคยมีอุปนิสัยในการฟังธรรมมาก่อน เวลาท่านพูดก็ไม่อยากฟัง อยากเคี้ยวหมาก อยากเหยียดแข้งเหยียดขา อยากคุยกัน เพราะตนเองไม่อยากฟังไม่มีอุปนิสัยในการฟังธรรม
บางครั้งก็เอามือขีดดินแหงนมองดูดวงดาว เหมือนกับที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทนั้นแหละ ก็เพราะอะไร ก็เพราะว่าเราไม่มีอุปนิสัยในการฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นอุปนิสัยที่เราควรสั่งสม เพราะว่าจะเป็นอุปนิสัยทำให้เราพ้นไปจากความทุกข์ พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร พ้นไปจากวัฏฏสงสารได้ก็เพราะอุปนิสัยของการฟังธรรมนี้แหละ มีเรื่องของค้างคาว ๕๐๐ ตัว
คือ ค้างคาว ๕๐๐ ตัวนั้นอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงธุดงค์ออกไปพักอยู่ถ้ำต่างๆ เมื่อท่านเดินธุดงค์ท่านไปเห็นถ้ำแห่งนั้น ท่านเห็นเป็นสัปปายะแก่ท่าน ท่านก็ทำความสะอา กวาดที่ กวาดอะไรต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็เดินจงกรม นั่งภาวนา แล้วท่านก็ทำวัตรสวดมนต์สาธยายอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เหมือนกับหลวงพ่อพระครูสาธยายเมื่อวานนี้แหละว่า กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา กะตะเม ธัมมา เป็นต้น จนไปถึง เหตุปัจจะโย อารัมมะณะปัจจะโย จนจบ
ค้างคาวที่ฟังธรรม ก็ฟังไปๆ เงี่ยหูฟังไป เกิดศรัทธา ค้างคาว ๕๐๐ ตัวฟังธรรมแล้วเกิดความยินดี ด้วยความยินดีในการฟังธรรมนั้นแหละ ตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สังสรันโต ท่องเที่ยวไปใน มนุษย์บ้างเทวดาบ้าง จนสิ้นพุทธันดรหนึ่ง
ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็มาเกิดอยู่ที่เมืองสาวัตถี เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร เมื่อได้ฟังธรรมที่พระสารีบุตรแสดงแก่ พวกเขาทั้งหลาย ทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นแหละก็มีความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาร เพราะอะไร ก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรมที่มีอุปนิสัยติดตามไปให้บุคคลผู้ที่เคยฟังตั้งแต่เป็นค้างคาวนั้นแหละ ฟังไม่เข้าใจแต่มีความดีใจ ขณะที่ฟังไม่เข้าใจนั้นยังเป็นอุปนิสัยให้เข้าใจพระอภิธรรมอันลึกซึ้งพิสดาร ที่กล่าวถึงเรื่องรูป เรื่องเจตสิก เรื่องจิต เรื่องพระนิพพานเป็นของละเอียดอ่อน ก็ยังสามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาติถัดมาได้
หรือมีเรื่องของโสณาชีวก ในสมัยนั้นท่านกล่าวไว้ว่า โสณาชีวกนั้นเป็นงูเหลือม คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีงูเหลือมตัวใหญ่ ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่โพรงไม้ข้างโรงธรรมสภาศาลา ในขณะนั้นพระท่านก็แสดงธรรมในเรื่องอายตนคาถา พรรณนาเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าควรสำรวมตาอย่างไร สำรวมหู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างไร ก็พรรณนาไปๆ ตาเป็นของร้อน หูเป็นของร้อน จมูกเป็นของร้อน ตาเป็นของเย็น หูเป็นของเย็น ท่านก็ภาวนาไป งูเหลือมก็ฟังไปๆ
ค่าที่งูเหลือมฟังไปด้วยความดีใจนั้นแหละ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ จากสวรรค์ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ อยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ก็มาเกิดในตระกูลของพราหมณ์ ในเมืองปาฏลีบุตร ก็เจริญเติบโตขึ้นมา แล้วก็ออกบวชเป็นอเจลกะ เป็นนักบวชชีเปลือย นุ่งลมห่มฟ้า เรียกว่าไม่นุ่งอะไร แต่เจริญฌานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌานโลกีย์ มีพระเจ้าแผ่นดินเลื่อมใส คือพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองเมืองปาฏลีบุตรในสมัยนั้นก็คือ พระเจ้าพินทุสาร เกิดความเลื่อมใสถวายตนเป็นอุปถัมภ์อุปฐาก เอามาไว้อยู่ในอุทยานบำรุงเช้าบำรุงเย็น
เมื่อบำรุงอยู่อย่างนั้น ในวันหนึ่งมเหสีของพระเจ้าพินทุสารนั้นเกิดอาการแพ้ท้องขึ้นมา เกิดอาการแพ้ท้องอย่างประหลาด คือพระนางนั้นอยากจะเหยียดเท้าข้างหนึ่ง อยากจะเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบพระจันทร์ อยากจะเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบดวงอาทิตย์ อยากจะเสวยหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ อยากจะเสวยง้วนดิน อยากจะเสวยป่าไม้ใหญ่ๆ เกิดอาการแพ้ท้องอย่างประหลาด
มหาดเล็ก แม่ครัวทั้งหลายก็ไปกราบทูลพระเจ้าพินทุสาร เมื่อพระเจ้าพินทุสารได้ทราบแล้วก็เกิดความดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ก็เลยสั่งให้ทหารนั้นจัดการทำอุบายเพื่อที่จะระงับอาการแพ้ท้อง ก็เลยสั่งให้มหาดเล็กและแม่ครัวทั้งหลายนั้นทำขนมเบื้อง ๒ แผ่น แผ่นใหญ่ๆ แผ่นหนึ่งสมมุติว่าเป็นดวงอาทิตย์ แผ่นหนึ่งสมมุติว่าเป็นดวงจันทร์ แล้วก็ให้แม่ครัวนั้นทำขนมต้มที่มีสีเหมือนกับดวงดาวนักขัตฤกษ์ทั้งหลาย แล้วก็ทำขนมให้เหมือนกับง้วนดินและแมกไม้ใหญ่ๆ
จากนั้นก็ให้ทหารนั้นทำความสะอาดพระลานหลวง เอาเสื่อลำแพนมาวงล้อมแล้วก็เจาะเป็นรูๆ หมด ช่องเหมือนกับดวงดาวแล้วก็เอาขนมต้มยัดเข้าไป แล้วก็เอาไปให้พระนางเสวยว่าอันนี้เป็นดวงเดือนนะ อันนี้เป็นดวงอาทิตย์นะ อันนี้เป็นดวงดาวนะ อันนี้เป็นง้วนดิน อันนี้เป็นแมกไม้ป่าไม้ ไม้ใหญ่ นางก็เสวยขนมเหล่านั้นอาการแพ้ท้องก็สงบระงับ พระเจ้าพินทุสารเกิดความสงสัยในอาการแพ้ท้องว่า อาการแพ้ท้องของพระอัครมเหสีนี้เป็นเพราะอะไรหนอ ถึงแพ้ท้องแปลกประหลาดอย่างนี้ ก็เลยไปเชิญโสณาชีวกมา แล้วก็ตรัสถามโสณาชีวก โสณาชีวกก็กราบทูลว่าพระโอรสที่อยู่ในท้องนั้นจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วก็จะได้ครอบงำพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๑๐๑ พระองค์ มีอำนาจแผ่ไปในเบื้องบน ๑ โยชน์ มีอำนาจแผ่ไปในทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก ตะวันออกนั้น อย่างละ ๑ โยชน์ เป็นผู้มีบารมีมาก
เมื่อโสณาชีวกพยากรณ์อย่างนั้นแล้ว โสณาชีวกก็ออกไปให้พ้นจากอำนาจของพระราชกุมาร ออกไปให้พ้นรัศมี ๑ โยชน์ เมื่อโสณาชีวกไปอยู่ที่นั้นแหละ อัครมเหสีของพระเจ้าพินทุสารเมื่อครบ ๑๐ เดือนแล้วก็คลอดลูกออกมา ตั้งพระนามว่าอโศกราชกุมารเจริญวัยขึ้นมาแล้วก็ได้ครองพระราชบัลลังก์แทนพระเจ้าพินทุสาร
เมื่อครองพระราชบัลลังก์อยู่นั้นแหละ วันหนึ่งพระมารดาก็เล่าเรื่องทั้งหมดของโสณาชีวกให้ฟัง ก็เกิดความศรัทธาในโสณาชีวก อยากทำบุญทำทานกับโสณาชีวก ก็ให้ทหารทั้งหลายแต่งคานทองไปเชิญโสณาชีวก โสณาชีวกก็ขึ้นคานทองทหารก็หามตามมรรคา ตามหนทางมาเรื่อยๆ ขณะที่เดินทางตามถนนหนทางนั้นแหละ ก็ผ่านวัดของพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า อุตระ
คือพระอุตระนี้เป็นพระอรหันต์ผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เป็นพระอรหันต์ผู้เพียบพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ มีเมตตาธรรมมาก เสือก็ดี สัตว์ก็ดี สุนัขจิ้งจอกก็ดี ราชสีห์ก็ดี เสือโคร่งก็ดี เสือเหลืองก็ดี พวกวัว พวกกวางก็ดี พวกเก้งก็ดี อาศัยรวมกันเป็นมิตรกัน ถ้าเข้ามาในวัดแล้วไม่กัดกัน โสณาชีวกถูกทหารหามผ่านมาก็เหลือบไปมองเห็นพวกสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ ว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร ก็บอกให้ทหารนั้นวางคานทองลง ก็เดินเข้าไปในวิหารของพระอุตรเถระ
เมื่อเดินเข้าไป ไปพบพระเถระแล้วก็ถามว่า “ท่านขอรับ สัตว์เหล่านี้มีชื่อว่ากระไรหนอ จึงได้มาอยู่ด้วยกัน ตามธรรมดามันเป็นศัตรูกัน แต่มาเป็นมิตรกันได้อย่างไร สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าอย่างไรหนอ มาจากที่ไหนถึงได้มารวมกันอยู่ตรงนี้” พระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ก็พิจารณาว่าอุปนิสัยของอเจลกะคนนี้ เคยฟังเทศน์ฟังธรรมเรื่องอะไรไว้หรือเปล่าหนอ เคยทำบุญทำทานอะไรไว้หรือเปล่าหนอ พระเถระก็พิจารณาว่าเราจะแสดงธรรมอย่างไรหนอ เราจะพูดอย่างไรหนอ อเจลกะ คนนี้จึงจะเกิดอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่า ก็ใช้อตีตังสญาณระลึกชาติหนหลังระลึกไปๆ พอระลึกไปก็เห็นชาติของ อเจลกะคนนี้เป็นงูเหลือมตั้งแต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เคยฟังธรรมเรื่องอายตนคาถา คิดดูซิ เคยฟังธรรมมาเป็นงูเหลือมมาสมัยโน้น พระเถระก็ยังสามารถระลึกถึงได้ เมื่อพระเถระระลึกถึงอย่างนั้นแล้วก็เลยกล่าวว่า “สัตว์เหล่านี้ชื่อว่า อายตนะ” แทนที่ท่านจะว่า อันนี้เป็นเสือนะ อันนี้เป็นกวางนะ แทนที่ท่านจะกล่าวอย่างนี้ท่านไม่กล่าว ท่านกล่าวว่า “สัตว์เหล่านี้ชื่อว่า อายตนะ”
พอโสณาชีวกได้ฟังคำว่า “อายตนะ” เท่านั้นแหละ เกิดปีติ เกิดโอตตัปปะ คิดถึงบาป คิดถึงบุญ รู้บาป รู้บุญ เพราะว่าตนเองได้ระลึกถึงบทธรรมที่ตนเองได้ฟังมาตั้งแต่สมัยโน้น ตั้งแต่สมัยเป็นงูเหลือม อยู่ที่โพรงไม้ข้างธรรมศาลา สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ก็เกิด หิริ โอตตัปปะขึ้นมา ก็นั่งยองย่อลง พระเถระก็โยนผ้าอาบน้ำให้ โสณาชีวกก็นุ่งห่มผ้าอาบน้ำ แล้วก็ขอบวชในสำนักของพระเถระ
เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจเดินจงกรม นั่งภาวนาเหมือนกับเราตั้งใจอยู่นี้แหละ ในไม่ช้าก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดารไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะว่าอุปนิสัยที่ได้สั่งสมอบรมมา
เพราะฉะนั้นเราฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันๆ ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจฟังให้ดี อุปนิสัยนี้แหละจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราสิ้นภพสิ้นชาติ จากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้น ที่ครูบาอาจารย์แต่ละรูปแต่ละท่านกล่าวไว้ว่า ก่อนที่ท่านจะขึ้นธรรมาสน์ ท่านจะมีว่า สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ เรียกว่าฟังธรรมโดยความเคารพ พระท่านจะกล่าวเป็นประจำ คืออยากให้เรานั้นได้อานิสงส์ เหมือนกับกบเคารพในการฟังธรรม เหมือนกับแม่ไก่เคารพในการฟังธรรม เหมือนกับงูเหลือมเคารพในการฟังธรรม เหมือนกับค้างคาวเคารพในการฟังธรรม จะเป็นอุปนิสัยติดตามเราไปให้เรานั้นได้รับความสุข ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นอุปนิสัยในการฟังธรรม
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ฟังไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย คือในขณะที่เราฟังธรรมนั้นมี ๒ ประการ คือ เราฟังแล้วเราจำเอาไว้ เมื่อเราจำได้แล้วเราก็น้อมไปปฏิบัติในวันหลัง เดือนหลัง ปีหลัง หรืออีกอย่างหนึ่งเราฟังในขณะนี้เราก็ปฏิบัติไปในขณะนี้ เหมือนกับเราทั้งหลายกำลังทำอยู่นี้แหละ ฟังไปด้วยกำหนดไปด้วย “ได้ยินหนอๆ” คือขณะที่เราฟังธรรมนี้ถ้าจิตของเราเป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อเป็นสมาธิขึ้นมามันดับฟึบลงไป ถ้ามันดับลงไปด้วยอำนาจของฌานชวนวิถี ก็ถือว่าเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป แต่ถ้ามันเป็นมรรควิถี ดับฟึบลงไปด้วยอำนาจของมรรควิถี ก็เป็นการบรรลุเป็นพระโสดาบัน บรรลุเป็นพระสกทาคามี บรรลุเป็นพระอนาคามี หรือว่าถ้ามันดับลงไปถึงครั้งที่ ๔ ก็ถือว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้การบรรลุธรรมในการฟังเทศน์ฟังธรรม
เราจะเห็นการบรรลุธรรมของพระสารีบุตรก็ฟังธรรม พระโมคคัลลานะก็ฟังธรรม หรือพระอานนท์บรรลุเป็นพระโสดาบันก็ฟังธรรม หรือว่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุธรรมก็เพราะการฟังธรรม พระยสกุลบุตรพร้อมด้วยมารดา บิดาของท่าน พร้อมกับภรรยาของท่านบรรลุธรรมก็เพราะการฟังธรรม ชฎิลทั้ง ๓ คนก็บรรลุธรรมเพราะการฟังธรรม บริวารของพระเจ้าพิมพิสาร ๑๑ หมื่นก็บรรลุมีดวงตาเห็นธรรมก็เพราะการฟังธรรม เพราะอะไร การฟังธรรมนี้ได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก ถ้าเราฟังเป็นเราก็สามารถที่จะได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม หรือว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่ฟังได้
หรือขณะที่ฟังธรรมในปัจจุบันนี้ตามที่ไปเผยแผ่ในสถานที่ต่างๆ ขณะที่แสดงธรรมลงแต่ละครั้งแต่ละวัน ถ้าเราแสดงธรรมดีๆ ผู้มาปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติธรรม เวลาเราแสดงธรรมลงไปก็จะมีคนนั่งสมาธิเข้าสมาธิตลอด ในบางครั้งก็เป็น ๓๐ นาที บางครั้งก็เป็น ๑ ชั่วโมง บางครั้งก็เป็น ๒ ชั่วโมง ก็แล้วแต่ว่าสมาธิของแต่ละท่านจะดับไปนานหรือไม่นาน มันก็เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะดับด้วยอำนาจของฌานชวนวิถีก็ถือว่าเป็นฌานไป แต่ถ้ามันดับด้วยอำนาจของมรรควิถี ก็ถือว่าเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานไป เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นยังมีอานิสงส์ ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันนี้ได้
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นเราต้องตั้งใจฟังจริงๆ ถ้าเราตั้งใจฟังธรรมจริงๆ แล้วอานิสงส์นั้นประมาณไม่ได้ เรียกว่ามีมากมายเป็นอเนกสหัสสานิ มากมายหลายประการเหลือเกิน ดังที่เรื่องของพาหิยทารุจิริยะ
คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี จะมีตระกูลหนึ่งมีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน พอดีพ่อก็ตายไปก็เหลือแม่กับลูกอยู่ด้วยกัน ๒ คน แม่ลูก อยู่ด้วยกันแม่กับลูกคุยกันไป แต่พอวันหนึ่งลูกเห็นความยากจนของแม่ ไม่อยากเห็นความยากจนของแม่ ไม่อยากจะให้แม่ได้รับความลำบากตอนแก่ ตนเองมีกำลังเรี่ยวแรงก็อยากจะหาเงินหาทอง ไม่อยากงอมืองอเท้า ก็เลยขอแม่ว่า “แม่ ผมอยากจะไปค้าขายทางเรือกับเขา เผื่อที่จะร่ำรวยมาเลี้ยงแม่ในยามแก่เฒ่าได้”
แม่ก็ว่า “อย่าไปเลย ลูกไปแล้วแม่จะอยู่กับใคร มีกันอยู่สองแม่ลูก ถ้าลูกไปแล้วแม่อยู่คนเดียวมันก็ลำบาก อย่าไปเลยลูก เพราะว่าการไปค้าขายทางเรือมันอันตราย เกิดคลื่นเรือแตกขึ้นมา ลูกจะทำอย่างไร เมื่อลูกตายไปแล้วแม่จะอยู่ยังไง” แม่ก็ไม่อยากจะให้ลูกไป แต่ลูกนั้นอดทนไม่ได้ที่จะเห็นแม่ยากจน ไม่อยากเห็นแม่ลำบาก ก็เลยไปค้าขายทางเรือ
ขณะที่เรือนั้นวิ่งไปได้ประมาณ ๗ วัน ออกไปล่องกลางทะเลได้ ๗ วันเรือก็ถูกพายุซัดเรือก็แตก เมื่อเรือแตกเรือก็จมลง คนทั้งหลายก็เป็นอาหารของเต่า ของปลาร้ายในทะเล ด้วยบุญกุศลของพาหิยทารุจิริยะนั้นแหละก็คว้าได้แผ่นกระดานแผ่นหนึ่งก็แหวกว่ายตามสายธารมา กว่าที่จะมาถึงอีกฝั่งชื่อว่า สุปารกะ
เสื้อผ้าที่นุ่งไปก็หลุดลุ่ยออกหมด เหลือแต่ชุดวันเกิด เมื่อมาถึงตนเองก็อดอาหารได้หลายวันก็ทิ้งแผ่นกระดานแล้วก็เดินโซซัดโซเซขึ้นมา เสื้อผ้าก็ไม่นุ่งไม่ห่มก็ไม่มีความอายเพราะมันเกิดความหิวก็เดินมา
แต่ชาวบ้านในละแวกนั้นถือบุคคลผู้นุ่งลมห่มฟ้า บุคคลผู้ชีเปลือยนั้นว่าเป็นพระอรหันต์ ชาวบ้านนั้นเห็นก็ว่า พระอรหันต์ของเรามาแล้ว ผู้วิเศษของเรามาแล้ว ก็วิ่งมาเอาอาหาร เอานม เอาเนย มาให้พาหิยทารุจิริยะนั้นรับอาหารมากิน พาหิยะที่หิวก็กินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ก็คิดว่าเราไม่มีคุณวิเศษอะไร เขามายกเราเป็นพระอรหันต์แล้วก็เอาอาหารดีๆ มากราบมาไหว้ เราจะประพฤติตัวเป็นอย่างนี้แหละ ปลอมตัวเป็นพระอรหันต์เลย เรียกว่าประพฤติอย่างนี้เพื่อที่จะได้รับลาภสักการะ
ร้อนถึงพระพรหม ในสมัยที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันตั้งแต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ไปเกิดบนพรหมโลกก็มายืนอยู่บนอากาศมาพูดว่า “ดูก่อน พาหิยะ เพศที่เธอถืออยู่นี้ไม่ใช่เพศของพระอรหันต์ แต่เป็นเพศอเจลกะ เป็นเพศชีเปลือย โน่น พุทโธ อุปปันโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว อยู่ที่เมืองสาวัตถี ธัมโม อุปปันโน พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ที่เมืองสาวัตถี สังโฆ อุปปันโน พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว ที่เมืองสาวัตถี” พอพาหิยทาจุจิริยะด ได้ฟังคำว่า “พุทโธ อุปปันโน ธัมโม อุปปันโน สังโฆ อุปปันโน” เท่านั้นแหละ เกิดปีติขึ้นมาอย่างล้นพ้น เกิดหิริโอตตัปปะ เกิดขนพองสยองเกล้า เกิดน้ำตาไหล เกิดใจฟู คิดว่าเราจะไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่หยุด นอน เราจะมีแต่วิ่ง กับเดินเท่านั้น เราจะไม่หยุดพักผ่อน ก็ออกวิ่งจากท่าชื่อว่าสุปารกะ ไปถึงเมืองสาวัตถี สิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ บางอาจารย์ก็บอกว่าไปด้วยอำนาจของเทวดาหรือพรหม บางอาจารย์ก็บอกว่าไปด้วยอำนาจของปาฏิหารย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปถึงเมืองสาวัตถีนั้นตอนเช้าพอดี ขณะที่ไปถึงเมืองสาวัตถีก็ไปสู่พระเชตวัน ขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีแล้ว ก็ไปเห็นภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่
ภิกษุรูปนั้นเมื่อเห็นพาหิยะมาแล้วก็ไปถามว่าท่านมาจากไหน
“กระผมมาจากท่าชื่อว่าสุปารกะ”
“ท่านมาไกลสิ้นระยะทางตั้ง ๑๒๐ โยชน์ ท่านคงเหน็ดเหนื่อยเดินทางมาทั้งคืน อาบน้ำชำระร่างกายพักผ่อนเถิด นั่นน้ำมันทาเท้า น้ำมันทามืออยู่ตรงนั้น เนยใสเนยข้นอยู่ตรงนั้น ท่านบริโภคเสียก่อน”
แต่พาหิยทารุจิริยะนั้นไม่ยอม ว่าถ้าข้าพเจ้าไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่ได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมทำอะไร ข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับประทานอะไร ข้าพเจ้าต้องการที่จะพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน
ภิกษุรูปนั้นก็บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาตในเมือง แล้วพาหิยะก็ไปตามตรอกตามซอยที่ภิกษุรูปนั้นบอก ก็เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเดินอยู่ในตรอก กำลังเปล่งพระฉัพพรรณรังสีออกมา พาหิยะเห็นแล้วก็เกิดศรัทธาขึ้นมา พอเห็นฉัพพรรณรังสี เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สง่างามดุจพรหม เป็นผู้มีฉัพพรรณรังสีแผ่ออกไปกระทบพาหิยะ แล้วก็เข้าไปในรัศมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไปกราบตรงหลังพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดปีติ เกิดขนพอง เกิดน้ำตาไหลขึ้นมา ปีติเกิดขึ้นมาอย่างมาก กราบลงไป ๓ ครั้งแล้วก็เงยหน้ามองดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า นานเหลือเกินที่ข้าพเจ้าจะได้เจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน พาหิยะ ขณะนี้ตถาคตกำลังบิณฑบาตอยู่” พาหิยะก็ไม่ฟัง ก็อ้อนวอนเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ขอพระองค์ จงแสดงธรรมโปรดข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์มาไกลเหลือเกิน”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน พาหิยะ ขณะนี้เราตถาคตกำลังบิณฑบาตอยู่ ต่อให้เราตถาคต ไปถึงพระเชตวันเสียก่อน เธอจึงฟังธรรม”
ขณะนั้นปีติของพาหิยะก็ลดลงไปๆ คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้ว่า ปีติของพาหิยะนั้นมากเกินไป เมื่อปีติมากเกินไปย่อมไม่พิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ พระองค์จึงบอกไม่แสดงธรรม ทำให้ปีติของพาหิยะนั้นลดลง เป็นปีติที่สมควรที่จะพิจารณาธรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พอพาหิยะอ้อนวอนเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ขอพระองค์จงเมตตาแสดงธรรมโปรดข้าพระองค์เถิด ถ้าข้าพระองค์จะรอให้พระองค์เสด็จไปถึงพระเชตวัน เกิดข้าพระองค์ตายก่อน จะว่าอย่างไร หรือเกิดพระองค์ปรินิพพานก่อน ข้าพระองค์ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการฟังธรรม ขอพระองค์จงแสดงธรรมโปรดหม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า” พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ตรัสว่า “ดูก่อน พาหิยะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงตั้งใจฟัง เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง ดูก่อนพาหิยะ เธอจงสำเหนียกในพระศาสนานี้ว่า ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้เห็นสักแต่ว่าได้เห็น”
พาหิยทารุจีริยะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เรียกว่าเป็นประเภท ขิปปาภิญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องให้เป็นเอตทัคค ในด้านการบรรลุมรรคผลนิพพานเร็ว เป็นขิปปาภิญญา
เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานนั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พิจารณาว่า พาหิยะ นี้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่เคยทำทานมาก่อน ไม่เคยถวายผ้ามาก่อน ไม่สามารถที่จะบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาได้ ผ้าอันเป็นทิพย์ไม่สามารถที่จะเกิดมาได้ พาหิยะก็อ้อนวอนบวช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ให้ไปแสวงหาจีวร แสวงหาบาตรเสียก่อน ตถาคตจะบวชให้ พาหิยะก็ไปแสวงหาผ้า
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1096
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 101.0.4951.41
Re: การฟังธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
«
ตอบ #2 เมื่อ:
03 พฤษภาคม 2565 15:58:40 »
การฟังธรรม
(จบ)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
[size=11pt ในขณะนั้นนางยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของพาหิยะ ก็แปลงเป็นแม่วัวลูกอ่อนมาดักอยู่ที่ข้างทาง ขณะที่พาหิยะเดินไปตามทางนั้นแหละ ด้วยความอิ่มใจในการบรรลุมรรคผลนิพพาน แม่วัวที่อยู่ในคราบของนางยักษิณีก็ขวิดเอาพาหิยะนั้นตายไป เมื่อตายไปแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปเห็นศพของนายพาหิยทารุจิริยะก็ทรงตรัสให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเอาศพไปทำฌาปณกิจ เมื่อฌาปณกิจศพแล้วก็เอากระดูกไปสร้างเป็นเจดีย์ไว้ในทางสี่แพร่งให้คนได้กราบได้ไหว้ ได้อานิสงส์
พอตอนเย็นพระสงฆ์ก็ประชุมกันที่ธรรมสภาศาลา สนทนากันว่า พาหิยทารุจิริยะนั้นเป็นอเจลกะมาจากท่าชื่อว่า สุปารกะ แล้วก็มาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตายไปแล้วจะไปเกิดในที่ไหนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาพอดี ก็เลยถามภิกษุว่า พวกเธอสนทนาธรรมกันเรื่องอะไร ภิกษุก็บอกว่า สนทนาธรรมกันเรื่องพาหิยะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า “บุตรของเรานั้นปรินิพพานแล้ว” ภิกษุทั้งหลายก็เลยตรัสถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่ากระไร”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า “บุตรของเราปรินิพพานแล้ว” ภิกษุทั้งหลายก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า บรรลุธรรมตอนไหน “พระองค์ทรงแสดงธรรมนิดเดียว เพียงแต่ว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน แล้วพาหิยะจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตอนไหนพระเจ้าข้า”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญว่าธรรมที่เราตถาคตแสดงนี้ น้อยหรือมาก บุคคลใดที่ฟังธรรมแม้นิดหน่อย ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพานสมกับตนเองปรารถนา แต่บุคคลใดฟังธรรมมาก ฟังแล้วฟังอีกๆ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้”
เมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนี้แหละ ภิกษุทั้งหลายเจริญวิปัสสนาตาม บางรูปก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน บางรูปก็ได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามี บางรูปก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี บางรูปก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ให้เราทราบว่าการฟังธรรมนั้น เราฟังไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย ก็สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกับอย่างญาติโยมทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัตินี้แหละ ฟังธรรมไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ถ้าเราฟังตั้งแต่วันแรกตั้งใจฟัง “ได้ยินหนอๆ” พระจะเทศน์ดีหรือเทศน์ไม่ดีก็ตาม เราตั้งใจฟัง ท่านกล่าวว่าพระจะเทศน์ดีหรือเทศน์ไม่ดี เทศน์แต่ภาษาบาลี เราฟังไม่เข้าใจก็ดี ท่านสวดมนต์นับตั้งแต่ อะเสวะนา จะ พาลานัง ไปนี้ถ้าเราตั้งใจฟังก็ถือว่าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าเราตั้งใจฟังแล้วท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมพิสดารว่า “บุคคลใดตั้งใจฟังธรรมแล้ว ตายแล้ว จะไม่ไปสู่ทุคติแสนกัลป์” อันนี้ท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมพิสดาร “ชาติสุดท้ายของบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจะได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔” คือ ไม่เป็นพระโสดาบันประเภท สุขวิปัสกะ ไม่เป็นพระโสดาบันประเภทที่วิชชา ๓ หรือ อภิญญา ๖ แต่เป็นพระอรหันต์ที่เป็นประเภท ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เรียกว่าแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา
เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลาย การฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังให้ดีเราย่อมได้ปัญญา ดังที่อาตมาได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา เพราะการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะว่ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ มีพระสาวกแสดงธรรมแล้วก็มีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าใจในธรรมจริง จึงสามารถแสดงธรรมได้
เพราะฉะนั้นการที่เราจะได้ฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นของยาก แล้วญาติโยมทั้งหลายก็มาเจอของหายากแล้ว แล้วก็ได้ประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นของยากแล้ว ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงตั้งใจรักษาการฟังธรรม มีการประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็มาเนืองๆ มาบ่อยๆ เพื่อที่จะเพิ่มพูนปัญญาบารมีของเราให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
วันนี้กระผมหรือว่าอาตมภาพได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่องการฟังธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่ได้มารวมกันประพฤติปฏิบัติธรรม จงเป็นผู้เพียบพูน สมบูรณ์ไปด้วย โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ขอให้ปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความมุ่งมาตรปรารถนา ขอให้มีโอกาสมาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือ มรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ
เริ่มโดย
ตอบ
อ่าน
กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence
0
1382
17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย
Maintenence
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence
1
1277
10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย
Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence
1
1361
02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย
Maintenence
การฟังธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence
2
1025
17 มกราคม 2565 14:23:45
โดย
Maintenence
การฟังธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม อุบลราชธานี
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence
2
677
17 กันยายน 2566 15:13:48
โดย
Maintenence
กำลังโหลด...