[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2559 16:24:27



หัวข้อ: พุทธมามกะ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2559 16:24:27

(http://f.ptcdn.info/898/001/000/1359976030-o.jpg)

พุทธมามกะ

เอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนา อธิบายไว้ว่า พุทธมามกะ แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หมายถึง การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน แต่ทั้งนี้ การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดียว ทำซ้ำๆ ตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้

ความเป็นมาของการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ ยุคสมัยนั้นความนิยมในการบวชสามเณรลดลง พร้อมกับการส่งลูกหลานไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น มีพระราชปริวิตกว่า "เด็กๆ จักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา" จึงโปรดให้พระราชโอรส ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนไปศึกษาต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเป็นพระองค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่พระราชชนกทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมพฎพงศ์บริพัตร พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ ก่อนจะไปศึกษาในยุโรป ก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน

เหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ สืบต่อกันมาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน โดยปฏิบัติกันเมื่อ

๑.เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง ๑๒-๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อให้สืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป

๒.เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา

๓.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา ส่วนมากโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม อาจจะเป็นปีละครั้ง และ

๔.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ

ระเบียบพิธี นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป เข้าพระอุโบสถ หรือศาลา หรือสถานที่ที่เหมาะสม คณะผู้ปฏิญาณตนนั่งพร้อมกันหน้าพระสงฆ์ ผู้แทนจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ถ้านั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่า ถ้านั่งบนเก้าอี้ให้ยืนประนมมือ) แล้วกล่าวคำบูชาตามผู้นำ ว่า อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้ อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้

จากนั้นผู้ปฏิญาณตนหันหน้าไปทางพระสงฆ์ แล้วว่า นะโม ตามผู้กล่าวนำ ดังนี้ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น (ว่า ๓ จบ) ต่อด้วยว่า คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ดังนี้

เอเต มะยัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามะ, ธัมมัญจะ สังฆัญจะ, พุทธะมามะกาติ โน, สังโฆ ธาเรตุ. ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า

(ถ้าปฏิญาณคนเดียว เปลี่ยนคำปฏิญาณจาก เอเต มะยัง เป็น เอสาหัง, คัจฉามะ เป็น คัจฉามิ, พุทธะมามะกาติ ชายเปลี่ยนเป็น พุทธะมามะโกติ หญิงเปลี่ยนเป็น พุทธะมามิกาติ, โน เป็น มัง แปลว่าข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพุทธมามกะ)

พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ สาธุพร้อมกัน จากนั้นผู้ปฏิญาณตนนั่งประนมมือฟังโอวาทจากพระสงฆ์ หลังจากจบโอวาทแล้วผู้แทนนำกล่าวคำอาราธนาศีล ลำดับจากนี้ ถ้ามีเครื่องไทยธรรม พึงนำเครื่องไทยธรรมมาถวายพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ปฏิญาณกรวดน้ำรับพร เสร็จแล้วกราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี


คอลัมน์ รู้ไปโม้ด/ข่าวสดออนไลน์