11 พฤศจิกายน 2567 02:23:15
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
.:::
พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค”
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค” (อ่าน 1308 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
Thailand
กระทู้: 2457
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค”
«
เมื่อ:
03 ธันวาคม 2564 15:39:00 »
Tweet
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว
“สังฆราช 18 ประโยค”
สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์
ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่ : ศิลปวัฒนธรรม - วันพฤหัสที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่
[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้แอดมินได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออกเพื่อความกระชับในการเผยแพร่
ตอนที่ 1
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค”
ตอนที่ 2
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”
พระชาติกำเนิด
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีชาติกำเนิดตามที่ พระเทพกวี หรือ พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สาม หนึ่งในศิษย์ผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ได้รวบรวมไว้เมื่อปี พ.ศ.2458 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมชื่อ สา ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1175 (ตรงกับ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2356) เวลาเพลประมาณ 5 โมงครึ่ง
บิดาของท่านชื่อ จัน บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบางเชิงกราน แขวงเมืองราชบุรี เมื่อครั้งเป็นภิกษุมีความเชี่ยวชาญในการเทศน์มิลินท์และมาไลย จนมีฉายาที่เรียกขานกันหลังจากครั้นลาสิกขาแล้วว่า จันมิลินท์มาไลย
มารดาชื่อ ศุข ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบุตรีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมุหกลาโหมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบางไผ่ แขวงเมืองนนทบุรี ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งท่านศุขได้มีถิ่นพำนักบริเวณตำบลคลองบางไผ่ใหญ่ ก่อนที่ท่านจันจะวิวาหมงคลอยู่กับท่านศุข ณ ตำบลเดียวกันนี้ พร้อมกับมีบุตรชายหญิงรวมกัน 5 คน คือ
•หญิงชื่อ บวบ
•ชายชื่อ ช้าง เป็นพระสุภรัตกาสายานุรักษ์
•ชายชื่อ สา คือสมเด็จพระสังฆราช
•ชายชื่อ สัง อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่พระสุนทรมุนี ภายหลังลาสิกขา
•หญิงชื่อ อิ่ม
นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ เทียนวรรณ นักคิดผู้เรียกร้องการปฏิรูปบ้านเมืองคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากท่านศุขมีพี่น้องอีก 2 คนคือ แจ่มและจันทร์ ซึ่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองบางขุนเทียน แขวงเมืองนนทบุรี โดยเทียนวรรณเป็นหลานของยายแจ่ม ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นั้นมีฐานะเป็นลุงของเทียนวรรณ และเคยอบรมสั่งสอนเทียนวรรณซึ่งบวชเป็นสามเณร ขณะจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ ซึ่งเทียนวรรณได้บันทึกถึงช่วงเวลาดังกล่าวอันสะท้อนความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของพระสาสนโสภณ ที่อบรมเทียนวรรณเป็นอย่างดี ดังนี้
พยายามเรียนวินัยเข้าใจจริง
แล้วเรียนธรรมกรรมฐานแลญาณเก้า
ไม่นิ่งเปล่าเรื่องวิชาหาทุกสิ่ง
จนออกชื่อลือชาว่ากล้าจริง
ไม่มีสิ่งมัวหมองครองวินัย
สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ศึกษาเบื้องต้นกับบิดาของท่านซึ่งมีความถนัดในทางศาสนามาแต่เดิม ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดใหม่ ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อบางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี(ปัจจุบันคือ วัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี) ภายหลังย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักนายอ่อนอาจารย์เนื่องมาจากสาเหตุตามที่พระเทพกวี หนึ่งในศิษย์บันทึกว่า “บิดาของท่านพอแปลได้บ้างเล็กน้อย จะเรียนต่อไปบิดาของท่านบอกได้แต่ไม่ชำนาญจึงมาเรียนในสำนักนายอ่อนอาจารย์”
ครั้นปี พ.ศ.2369 พระชนมายุได้ 14 พรรษา เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเล่าถึงการสอบดังกล่าวให้กับพระเทพกวี ความว่า “เมื่อเป็นสามเณรอายุได้ 14 เข้าแปลประปริยัติธรรมได้ 2 ประโยค ตกประโยค 3 ต้องเป็นเปรียญวังหน้า ครั้งในรัชกาลที่ 3”
“เปรียญวังหน้า” ตามที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวถึงนั้น เป็นด้วยเหตุที่ว่า ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมสมัยนั้น ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ 3 ประโยคในคราวเดียวจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง 3 ประโยค เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลประโยค 1 ไปใหม่ ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์อุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนมิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย ถ้ารูปใดแปลได้ 2 ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น จึงพากันเรียกว่า เปรียญวังหน้า
ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งยังเป็นสามเณรได้ไปถวายตัวและเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประทับผนวชอยู่ ณ วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส เมื่อถึงคราวสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นประธานในการสอบ ครั้งนั้นสามเณรสา สามารถแปลได้ 9 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญเอกในรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุได้ 18 ปี นับเป็นสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
อุปสมบทครั้งแรก
สามเณรสาอุปสมบทครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดราชาธิวาส มีฉายาครั้งแรกว่า ปุสฺโส โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร แต่สันนิษฐานว่าขณะนั้นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ ซึ่งมีพระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยรูปหนึ่ง และเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราช คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นถึงปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชอุปสมบทได้ 4 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชขณะอุปสมบทได้ 6 พรรษา เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร
หลังจากนั้น พระอมรโมลี (สา) อยู่ในสมณเพศมาระยะเวลาหนึ่งก่อนจะลาสิกขาด้วยสาเหตุที่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่มีความสามารถมาถวายพระธรรมเทศนา พร้อมกับตั้งพระทัยถวายเครื่องไทยธรรมและเงินติดกัณฑ์เทศน์เป็นจำนวนมากถึง 10 ชั่ง ครั้งแรกทรงอาราธนาพระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบุรณะ ผู้มีความสามารถในการเทศนาและแต่งหนังสือไทยอย่างแตกฉานในสมัยนั้น แต่พระเทพโมลี (ผึ้ง) ไม่ปรารถนาปัจจัยจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงลาสิกขาไปก่อน ทำให้ทรงต้องอาราธนาพระอมรโมลี (สา) ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน
ศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4
เมื่อพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาไปใช้ชีวิตในเพศฆราวาสนั้น เป็นช่วงที่เรื่องราวของท่านมิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการ มีเพียงเรื่องเล่าในหมู่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิด หรือพระภิกษุสงฆ์ในวัดราชประดิษฐฯ บางรูปเท่านั้น ดังที่ ทองอินทร์ แสนรู้ ซึ่งศึกษาวิชาโหราศาสตร์กับเจ้าคุณพระเทพเมธากร หรือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สี่ และได้ทราบเรื่องช่วงชีวิตฆราวาสของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าอาวาสว่า
“ข้าพเจ้ายกครูเรียนโหรจากท่านเจ้าคุณพระเทพเมธากร (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯองค์ปัจจุบัน ศิษย์เอกผู้สืบต่อตำราของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาโส แย้ม) ท่านได้พร่ำสอนข้าพเจ้าเสมอว่า วัดราชประดิษฐ์นี้มีอาถรรพ์ สึกออกไปแล้วไม่เสือผู้หญิงก็นักเลงชั้นยอด ท่านไม่เคยให้เหตุผล แต่ท่านชอบเล่าอดีตเหมือนผู้ใหญ่ทั้งหลาย เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเป็นนักเลงของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสะเทวะ) ว่า เคยสำเร็จเป็นเปรียญ 9 ประโยค แล้วสึกออกไปเป็นนักเลงแถวหน้าโรงหวย จนในหลวงรัชกาลที่ 4 จับบวช และแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชในกาลต่อมา”
และยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในเพศฆราวาสนั้น มหาสาได้ออกไปครองเรือนมีครอบครัว ท่านมีภรรยา 2 คน จึงเป็นที่มาของสองนามสกุล คือ “ปุสสเทโว” และ “ปุสสเด็จ” ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังมีผู้สืบสกุลในท้องที่จังหวัดนนทบุรีที่ล้วนเป็นเครือญาติกัน ถ้าเป็นดังข้อมูลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวที่ทรงครองเรือนมีครอบครัว ซึ่งนับเป็นความพิเศษอีกประการหนึ่งในพระประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) กลับมาอุปสมบทใหม่ในปี พ.ศ.2394 ซึ่งตรงกับปีแรกในรัชกาล เมื่ออายุ 39 ปี มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งต่อมาลาสิกขาได้รับราชการดำรงตำแหน่งพระยาศรีสุนทรโวหาร การอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ได้รับฉายาว่า ปุสฺสเทโว
ส่วนฉายา ปุสฺสเทว อันเป็นอีกนามหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่ามีการเรียกกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เห็นได้จากสร้อยพระนามคือ “ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต” เมื่อครั้งทรงสถาปนาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณในปี พ.ศ.2434 ฉายา ปุสฺสเทว มีความหมายว่า เทวดาผิวขาว อันอาจบ่งชี้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องประดุจเทวดาและมีผิวพรรณสัณฐานที่ขาวผุดผ่องเป็นราศีของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้
การอุปสมบทครั้งที่ 2 มีเรื่องเล่ากันว่าภายหลังจากพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาอยู่ในเพศฆราวาสเป็น มหาสา นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกริ้วมากเพราะพระอมรโมลีมิได้กราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียมของพระราชาคณะที่ต้องปฏิบัติ พระองค์ทรงให้กรมการติดตามจับตัวมหาสาซึ่งพำนักที่บ้านมารดาที่บางไผ่ใหญ่ แขวงเมืองนนทบุรี แต่มหาสาก็หลบหนีไปอยู่บ้านญาติฝ่ายบิดาที่บ้านกร่าง แขวงเมืองราชบุรี และถูกจับกุม ณ ที่แห่งนั้น แล้วนำมาเข้าเฝ้า ด้วยเหตุที่มหาสาเมื่อครั้งอยู่ในสมณเพศเป็นที่โปรดปรานมาก จึงทรงเสียพระทัยต่อการกระทำโดยพลการของมหาสาคราวนี้ ดังนั้นจึงทรงลงโทษ ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อุปสมบทใหม่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ในฐานะอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติดี
การอุปสมบทคราวนี้พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ปรากฏโดดเด่นไม่น้อยกว่าการอุปสมบทคราวก่อนโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งรู้จักกันในนามของ “พระมหาสา 18 ประโยค” เนื่องจากการอุปสมบทครั้งที่ 2 นั้น ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม (คือสอบใหม่) ด้วยเพราะครั้งนั้นผู้ที่เป็นเปรียญเมื่อลาสิกขาแล้วถือว่าหมดสิทธิในการเป็นเปรียญ เพราะเปรียญเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง และทรงสอบได้เป็นเปรียญเอก 9 ประโยคอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชได้รับการกล่าวขานต่อมาว่า “สังฆราช 18 ประโยค” ซึ่งมีพระองค์เดียวในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาในปี พ.ศ.2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ โดยได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นเงิน “ 4 ตำลึง 2 บาท” ทุกเดือน สาเหตุที่แต่งตั้งตำแหน่งพระราชาคณะในครั้งนั้นเนื่องจาก พระสาสนโสภณ หรือ ขรัวสา ได้เข้าไปถวายเทศน์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่พอพระทัย แต่เพราะพระที่เข้าไปถวายเทศน์นั้นจะต้องเป็นพระราชาคณะซึ่งขณะนั้นไม่มีพระภิกษุรูปใดที่สามารถถวายเทศน์ได้ต้องพระทัย แม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังเคยลงจากธรรมาสน์โดยไม่เทศน์ถวายเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพระธรรมอย่างถ่องแท้ขณะทรงผนวชมาแล้ว อีกทั้ง ขรัวสา ก็บวชมาแล้วถึง 7 พรรษา เลยกำหนด 6 ปีที่จะเป็นพระราชาคณะได้
สำหรับนาม พระสาสนโสภณ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์พระราชทานตามนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ สา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า
“พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่า อาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม 1 พระสาสนโสภณ นาม 1 โปรดให้พระสรสาตรไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่า นามสาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณ ก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา ได้ความเข้าที”
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระสาสนโสภณรูปแรก และทรงโปรดนามนี้มากแม้จะทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2415 ก็คงใช้นามว่า “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม” เท่ากับทรงพระกรุณาโปรดให้ยกตำแหน่งที่พระสาสนโสภณขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองในครั้งนี้
จนถึงปี พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และไม่ได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามพระสาสนโสภณเป็นเวลาถึง 21 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2443 จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามรูปที่สอง เป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นับแต่นั้นมาสมณศักดิ์ตำแหน่งที่พระสาสนโสภณ ได้เป็นตำแหน่งของเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สืบมาจนปัจจุบัน
ความไว้พระทัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระสาสนโสภณ (สา) ยังเห็นได้จากภายหลังการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.2407 เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายใช้ศึกษาเล่าเรียน และให้ผู้ที่ศรัทธาในพระธรรมยุติกานิกายใช้ทำบุญ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟมีโรงทานสำหรับทำบุญของชาวบ้านมาก่อน รวมทั้งให้สอดคล้องกับธรรมเนียมการสร้างวัดประจำเมืองสมัยโบราณที่ต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน
เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จสิ้นจึงโปรดเกล้าฯให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2408 โดยในวันนั้นโปรดเกล้าฯให้มีขบวนแห่ประกอบด้วยธงทิว พิณพาทย์ และรถอีกหลายคันรับพระสาสนโสภณจากวัดบวรนิเวศวิหารมายังพระอารามแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรมแด่พระสาสนโสภณ (สา) อีกด้วย
พระสาสนโสภณ (สา) นอกจากจะช่วยดูแลพระอารามแห่งใหม่แล้วยังช่วยพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีเช่นที่พระเทพกวี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้บันทึกไว้ว่า
“สมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี แต่ครั้งเสด็จดำรงอยู่ในพระผนวช ภายหลังเมื่อเป็นพระสาสนโสภณแล้ว ถ้าพระราชาคณะหรือเปรียญจะถวายเทศน์ ต้องมาให้ตรวจเสียก่อน ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็ทรงแต่งให้ แลได้ทรงรจนาหนังสือที่เป็นพระสูตรแลกถามรรคต่างๆมาก แลได้ทราบได้เห็นมีอยู่ในที่วัดอื่นๆที่ใช้เทศน์กันอยู่ก่อนๆหรือปัจจุบันนี้ เป็นหนังสือที่ทรงรจนามาก”
นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมอบหมายให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความสัมพันธ์ในฐานะพระอาจารย์และศิษย์หลวง คือพระจริยวัตรที่แสดงถึงความสนิทสนมกันดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกดังนี้
“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์อยู่เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราซึ่งนั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แนะชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”
อีกส่วนหนึ่งมาจากระยะทางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักทำให้เดินทางสะดวกโดยไม่จำกัดเวลา เช่นที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจโดยมากจะเสด็จฯทรงพระแคร่คนหาม ออกทางประตูเทวาพิทักษ์มายังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แล้วประทับสนทนากับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่ที่กุฏิของท่านนานๆ จนบางคราวถึงกับลงบรรทมคว่ำสนทนากัน หรือในบันทึกของนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรของพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ล.ศิริ อิศรเสนา) กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า
“สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่างพระราชกิจในเวลาราตรี มักจะเสด็จไปทรงคุยธรรมะกับพระสาสนโสภณ (สา) ในโบสถ์วัดราชประดิษฐ์เป็นเวลาจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงเล่าว่า เจ้านาย พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอเล็กๆที่ตามเสด็จไปพร้อมกับเจ้าจอมมารดา ต้องนอนหลับตากยุงอยู่บนแท่นสี่มุมโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ จนกระทั่งเสด็จฯกลับ”
สายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังปรากฏอยู่เสมอจวบจนวาระแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ปีมะโรงอันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์ ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการ พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าในพระที่บรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์เป็นมคธภาษา ทรงลาและขมาพระสงฆ์จากนั้นทรงโปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เชิญไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พอถึงเวลา 9 นาฬิกา (21.00 น.) ก็เสด็จสวรรคต เล่ากันว่าครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ท่านนั่งฟังด้วยน้ำตาไหล
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
Thailand
กระทู้: 2457
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ
Re: พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค”
«
ตอบ #1 เมื่อ:
03 ธันวาคม 2564 15:45:49 »
พระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
(ภาพจากเพจวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม )
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
“พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”
ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่ : ศิลปวัฒนธรรม - วันพฤหัสที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่
[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออก
ตอนที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค”
ตอนที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”
ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2556), หน้า 108-128 อนึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สามารถสอบถามไปได้ที่เพจวัดราชประดิษฐฯ
พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5
ภายหลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพียง 4 ปี คือในปี พ.ศ.2415 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสาสนโสภณ (สา) ให้เป็นพระธรรมวโรดม ทำหน้าที่เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ทำหน้าที่สนองงานพระพุทธศาสนา คือ “สั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระอารามทั้งปวงซึ่งขึ้นในคณะ” โดยยังคงราชทินนามพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลก่อนทำให้มีการเรียกเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”
ภายหลังได้รับตำแหน่งพระธรรมวโรดมเพียงปีเดียว พระสาสนโสภณ (สา)ได้รับมอบหน้าที่สำคัญคือการเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2416 พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่พุทธรัตนสถานมนทิรารามในพระบรมมหาราชวังชั้นใน โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่จนครบคณะสงฆ์ ครั้งนั้นทรงผนวชอยู่ 15 วัน ก่อนจะลาผนวชแล้วประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การปฏิบัติหน้าที่เป็นพระกรรมวาจารย์ในคราวผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ต้องทำทัฬหีกรรม หรือ อุปสมบทซ้ำ อีกครั้งหนึ่ง เพราะพระเถระผู้ร่วมคณะสงฆ์ประกอบพระราชพิธีส่วนมากทำทัฬหีกรรมแล้วทั้งสิ้น (เว้นแต่เพียงหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา อีกองค์หนึ่งเท่านั้น)
สมเด็จพระสังฆราชทรงทำทัฬหีกรรมหลังจากอุปสมบทครั้งหลังได้ 22 พรรษาแล้ว โดยไม่พบหลักฐานว่าทำที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์คือ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม สำหรับสถานที่ประกอบพิธีสันนิษฐานว่ากระทำที่แพโบสถ์ตรงวัดราชาธิวาส และมีขั้นตอนเช่นที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)
“แต่ครั้งทูลกระหม่อม [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เป็นที่สิ้นสงสัยไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่อรรถกถาจารย์ แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำในสีมาน้ำ เรียกว่าทำ ทัฬหิกรรม สำนักวัดบวรนิเวศหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ไม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก
สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า 20 พรรษาแล้ว พึ่งได้ทำทัฬหิกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาเมื่อล้นเกล้าฯทรงผนวชพระ [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] เสด็จพระอุปัชฌายะ [สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์] ตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะไม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้าธรรมุณหิศธาดาผู้ไม่ได้ทำอีกองค์หนึ่ง…
ครั้งเราบวช ความนับถือในพระบวชสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราเป็นผู้ยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเป็นหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเป็นผู้เข้าได้กับทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี
เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ (พระจันทรโคจรคุณ - ยิ้ม จันทรํสี) ขอท่านเป็นธุระจัดการให้…เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพระพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพสิรินทร์ ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ”
ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ในฐานะพระกรรมวาจาจารย์แต่ครั้งยังทรงผนวชยังปรากฏอยู่เสมอมาแม้ว่าจะทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ทรงฉลองพระราชศรัทธาด้วยการเสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำสงกรานต์ รวมทั้งทรงประทับตรัสด้วยคราวละนานๆ อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินมาวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ.2419 ดังนี้
“เสด็จพระราชดำเนิรมาประทับตรัสกับพระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมอยู่ประมาณ 40 นาที แล้วจึงทรงสรงน้ำแลถวายผ้าไตร แก่พระสาสนโสภณในการสรงน้ำสงกรานต์ โดยท่านเปนพระกรรมวาจาจารย์”
หรือ เหตุการณ์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ของปีเดียวกัน ความว่า “เสด็จมาถวายพุ่มขี้ผึ้งแลเครื่องสการบูชา เครื่องจำพรรษาแก่พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมกับพรงสงฆ์วัดราชประดิษฐเสร็จแล้ว ประทับตรัสอยู่กับพระสาสนโสภณประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ”
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่เสมอมา นอกเหนือจากพระราชจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิดดังกล่าวแล้ว ยังทรงสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.2422 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรักษาเกียรติยศของพระกรรมวาจาจารย์ในพระองค์ ด้วยการเร่งไต่สวนหาผู้กระทำผิดในกรณี “ลักโคมหลวง” เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) มาร่วมพิธีมหาสมณุตตมาภิเศกสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งปรากฏข้อความจากจดหมายพระราชกิจรายวัน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)
“อนึ่ง ในการสมณุตมาภิเศกครั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลาเช้าสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์วัดราชประดิษฐ มารับพระราชทานฉันท์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วได้รับเครื่องไทยทานฃองหลวงที่โปรดให้สมเดจถวายแก่พระสงฆ์ คือวันนั้นสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ได้โคมกับเครื่องบริขานอื่นๆให้สิทธิถือตามหลังไปถึงน่าวัดมหรรณพาราม โปลิศเข้าจับเอาสิทธิสมเดจว่าลักเอาโคมของหลวงไป นำตัวเอาไปส่งให้พระประสิทธิสัลการที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระประสิทธิสัลการถามได้ความแล้วจึ่งว่าถ้าโคมของหลวงหายไปไม่พ้นตัวนายคนนี้ที่เปนสิทธิสมเดจแล้วสั่งให้ปล่อยตัวไป
สิทธิสมเดจจึงได้ไปเรียนความกับสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ ครั้นเวลาค่ำสมเดจพระพุทธมาสวดมนต์จบแล้ว จึ่งถวายพระพรกล่าวโทษพระประสิทธิว่าเปนการปมาท จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิอธิบดีกรมพระนครบาล ว่ายศสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ก็เสมอกบยศสมเดจเจ้าพระยา ซึ่งพระประสิทธิกล่าวเหลือเกินดังนี้ ให้พระประสิทธิไปสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ในวัดราชประดิษฐทั้งวัด แล้วให้มีลครสมโภชด้วยวันหนึ่ง ครั้นต่อมาพระประสิทธิก็ทำตามพระบรมราชโองการแล้ว”
หลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านพ้นไปแล้ว ในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าเพิ่มอิศริยศสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะทรงระลึกถึงในฐานะสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นอาจารย์ถวายข้อธรรมะให้ทรงศึกษาระหว่างผนวช ซึ่งยากที่จะมีพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือนได้ ดังข้อความจากประกาศสถาปนาเพิ่มอิศริยยศ ดังนี้
“ได้เปน พระกรรมวาจาจารย์ให้สมเร็จอุปสมบทกิจการพระราชกุศลส่วนผนวชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งได้เรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยถวายให้ทรงศึกษาในข้อปฏิบัติต่างๆ เปนอันมาก…พระสงฆ์ที่จะได้เปนกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้มิได้มีมากเหมือนพระสงฆ์สามัญ นานๆ จะได้มีสักครั้งหนึ่ง”
การสถาปนาในคราวนี้ทรงมีพระราชประสงค์ “สมควรที่จะมีอิศริยยศให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆมา” ดังนั้น จึงทรงเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีนิตยภัตรเดือนละ 11 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 12 รูป มากกว่า สมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งมีนิตยภัตรเดือนละ 6 ตำลึง 7 ตำลึง และ 10 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 8 รูป และ 10 รูป สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระมหาเถระรูปที่ 2 ได้รับพระราชทานราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณประมาณ 1 ปี ครั้นปี พ.ศ.2435 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุ 83 พรรษา ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่จะมีงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก สมควรที่จะมีพระสังฆราชประกอบพิธีอันสำคัญนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จอริยวงศาคตญาณ (สา) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 อันเป็นปีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชนมายุครบ 80 ปี การสถาปนาคราวนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก” ในการที่ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดให้มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัตรเดิม โดยโปรดเกล้าฯให้ตั้งพระสุพรรณบัตรสมโภชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานเฉพาะใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น ในคราวเดียวกันนี้ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งฐานานุกรมได้ 16 รูป นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้ต่างได้รับพระราชทานสิทธิให้ตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป เป็นประเพณีตลอดมา จนแม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชที่สืบลำดับต่อมาก็มีสิทธิตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังนับเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่าก่อนหน้านี้พระพิมลธรรม (อู่) จะได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกจากการพระราชทานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 แต่ก็มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันแสดงถึงพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ปฏิบัติศาสนกิจและปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442 ขณะพระชนมายุ 87 ปี ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระสังฆราช 6 ปีเศษ และครองวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 34 ปี หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงว่างอยู่ถึง 11 ปี (พ.ศ.2442-2453)
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ธันวาคม 2564 15:48:36 โดย ใบบุญ
»
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ
เริ่มโดย
ตอบ
อ่าน
กระทู้ล่าสุด
เปรียญธรรม ๙ ประโยค
เกร็ดศาสนา
Kimleng
0
2567
27 กันยายน 2556 18:24:44
โดย
Kimleng
ความเป็นมา ‘สังฆราช’ แห่งสยาม
สุขใจ ห้องสมุด
Maintenence
0
1444
08 กุมภาพันธ์ 2560 14:44:11
โดย
Maintenence
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ ๕”
สุขใจ ห้องสมุด
ใบบุญ
0
1154
19 สิงหาคม 2561 18:42:32
โดย
ใบบุญ
คำว่า “สังฆราช”
เกร็ดศาสนา
Kimleng
1
2895
14 กันยายน 2563 08:48:27
โดย
ฉงน ฉงาย
[ข่าวเด่น] - เจ้าสาว ดร.คณิตศาสตร์แต่งงาน เจ้าบ่าวต้องแก้โจทย์ยาก แต่ผ่านเพราะ 2 ประโยค
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด
0
202
22 ธันวาคม 2566 20:49:17
โดย
สุขใจ ข่าวสด
กำลังโหลด...