[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 15 เมษายน 2564 13:19:36



หัวข้อ: พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภังกโร) วัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 15 เมษายน 2564 13:19:36

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80253774631354_6_Copy_.jpg)

พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภังกโร)
วัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

“พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภังกโร)” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าคุณเสน่ห์” เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

 พระเถราจารย์อาวุโสเชื้อสายรามัญ และเป็นพระนักพัฒนาที่พึ่งของชาวบ้านมีจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่น

มีนามเดิมว่า เสน่ห์ นามสกุล แดงเฟื่อง เกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2493 บ้านเลขที่ 28 ม.6 ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นบุตรของนายฉ่ำ และนางสนั่น แดงเฟื่อง

เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 4 เข้าพิธีบรรพชา เมื่ออายุ 12 ปี ที่วัดใหญ่สว่าง อารมณ์ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี วันที่ 4 ก.ค.2505 โดยมีพระนันทวิริยาจารย์ (กุหลาบ ธัมมวิริโย) เจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2513 ที่วัดเสาธงทอง ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีพระไตรสรณธัช (มาลัย ปุปผทาโม) วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาจำปี วัดโปรดเกษ ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูใบฎีกาพร้อม วัดเสาธงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2527 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

 เป็นพระเกจิชาวมอญที่ชาวบ้านเชื้อสายไทย-มอญที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกาะเกร็ด ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีจิตใจโอบอ้อมอารีชอบช่วยเหลือชาวบ้าน วางตัวปกติ สำรวมสง่างาม

สำหรับ วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งในหมู่ที่ 7 บ้านโอ่งอ่าง ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

เดิมชื่อ วัดปากอ่าว มีชื่อในภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฏพระเจดีย์มุเตา ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ

ต่อมาสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่เกาะมากขึ้น

วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบนเกาะเกร็ด

ตลอดระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัด จัดระเบียบการปกครองวัด พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปต้องปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

ในด้านการเผยแผ่ธรรม ใช้ธรรมะสั่งสอนชาวบ้านให้รู้จักทำมาหากินด้วยความสุจริต มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ใช้ชีวิตอย่างสมถะและพอเพียง

 งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกอบพิธีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนร่วมกับข้าราชการ พุทธศาสนิกชน จัดทำบุญในวันสำคัญต่างๆ

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2538 เป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร พ.ศ.2541 เป็นเจ้าคณะตำบลเกาะเกร็ด

พ.ศ.2545 เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ

 ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระครูวิมลธรรมาภรณ์

พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระสุเมธมุนี

พ.ศ.2559 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชญาณมงคล

 ช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านมีอาการอาพาธบ่อยครั้งตามประสาคนวัยชรา ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ กระทั่งเมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค. มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน คณะศิษย์รีบส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนนทเวช อ.นนทบุรี

คณะแพทย์พยายามรักษาเป็นการด่วน แต่อาการเข้าสู่ภาวะวิกฤต และมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 12.45 น. วันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค.2564 ด้วยภาวะหลอดเลือดสำคัญที่หน้าท้องโป่งพองและปริแตก เป็นเหตุให้ความดันโลหิตตกและถึงแก่มรณภาพ

สิริอายุ 71 ปี พรรษา 50
   ข่าวสดออนไลน์