[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 02 ตุลาคม 2563 10:31:22



หัวข้อ: สมอเรือของใจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 ตุลาคม 2563 10:31:22
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91621542846163_116429985_3137882389583024_241.jpg)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31040902021858_120040893_3316275761743685_293.jpg)

สมอเรือของใจ

สมาธิจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสติ สติจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกัมมัฏฐาน “กัมมัฏฐาน” คืออารมณ์ผูกใจไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมานั่นเอง ถ้าเป็นเรือก็ต้องมีสมอเรือ ถ้าเรือไม่ทอดสมอเรือ เรือมันก็จะไหลไปตามกระแสน้ำ ถ้าไม่ทอดสมอเรือก็ต้องผูกไว้กับท่าเรือ ถ้าไม่ผูกไว้มันก็จะลอย กัมมัฏฐานนี้เป็นเหมือนสมอเรือของใจ เป็นเหมือนท่าเรือของใจ ถ้าอยากให้ใจนิ่งใจสงบจำเป็นต้องมีกัมมัฏฐานไว้ผูกใจเอาไว้ กัมมัฏฐานก็มี ๔๐ ชนิดด้วยกัน แต่เวลาเราใช้เราใช้เพียงชนิดเดียวในแต่ละครั้ง เช่น เราอาจจะใช้พุทธานุสสติ อันนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ มี ๒ แบบด้วยกันคือระลึกด้วยการสวดบทพุทธคุณ “อิติปิโส” หรือจะระลึกด้วยการบริกรรมพุทโธพุทโธไป ถ้าเราอยู่กับกัมมัฏฐานก็แสดงว่าเรามีกัมมัฏฐานผูกจิตไว้ จิตก็จะไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ เวลานั่งสมาธิจิตจะสงบได้ต้องมีกัมมัฏฐานไว้คอยผูกไว้ ถ้าไม่ผูกเดี๋ยวจิตมันจะย้ายไปย้ายมา คิดนู่นคิดนี่สร้างเรื่องนู้นสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาหลอกเราได้ แต่ถ้ามีกัมมัฏฐานมีสติมันจะไม่สามารถผลิตอะไรมาหลอกเราได้ มันจะสงบเพียงอย่างเดียว

นี่คือวิธีการทำสมาธิจำเป็นจะต้องมีสติมีกัมมัฏฐาน จะมีสติได้ก็ต้องมีกัมมัฏฐาน และต้องมีกัมมัฏฐานก่อนที่จะมานั่ง ถ้ายังไม่มีอย่าเพิ่งนั่ง นั่งก็ไม่มีประโยชน์อะไร นั่งแล้วเดี๋ยวใจก็ลอยไปลอยมา ต้องฝึกสติก่อนที่จะมานั่ง ฝึกได้ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาเลย พอตื่นขึ้นมาจะไปทำภารกิจส่วนตัวก็เอากัมมัฏฐานไปด้วย พุทโธไปในใจ อาบน้ำไปก็พุทโธ ล้างหน้าแปรงฟันก็พุทโธไป แต่งเนื้อแต่งตัวก็พุทโธ อาบน้ำอาบท่าก็พุทโธ นี่เราทำได้ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นฆราวาส เรามีช่วงที่เราไม่ต้องใช้ความคิดกัน อย่าปล่อยให้มันคิด ผูกมันไว้ดีกว่า ผูกมันไว้กับกัมมัฏฐานเพื่อมันจะได้มีสติ แล้วเวลาที่เรานั่งสมาธิมันจะได้สงบได้ ถ้าเราไม่ฝึกสติก่อนที่เราจะมานั่งสมาธินี่ นั่งไปเถิดนั่งไม่ได้หรอก ดีไม่ดีนั่งได้แค่ ๕ นาทีก็เกิดอาการอึดอัดขึ้นมาแล้ว อยากจะลุกขึ้นมาแล้ว เพราะจิตมันมีตัณหาความอยากชนิดต่างๆ ดันอยู่เรื่อยนั่นเอง มันเลยทำให้เรารู้สึกอึดอัดนั่งไม่ได้ เพราะเราไม่มีสติคอยดันกิเลสตัณหาให้กลับเข้าไปข้างใน ถ้าเราฝึกสติอยู่บ่อยๆ สติเราจะมีกำลังมาก เวลานั่งนี้สามารถดันให้กิเลสตัณหานี้ให้มันสงบตัว ไม่ให้มาสร้างความอึดอัดรำคาญใจได้ เราก็จะนั่งได้อย่างสบายและจะสงบได้

ดังนั้น ก่อนนั่งสมาธินี้ต้องฝึกสติให้มากๆ ก่อน ให้มีสติคอยกำกับคอยควบคุมใจได้อยู่เรื่อยๆ แล้วเวลานั่งสมาธิจิตจะสงบได้ง่ายและสงบได้นาน แล้วจะมีความสุขอย่างยิ่งจากการนั่งสมาธิ พอได้สมาธิแล้วขั้นต่อไปก็มาเพียรสร้างปัญญา ปัญญานี้จะเป็นผู้ที่จะมาสอนมาบอกว่าอะไรเป็นตัวที่มาสร้างความทุกข์ให้กับเรา เวลามันโผล่ขึ้นมาก็สอนวิธีที่จะกำจัดมัน เวลามีความอยาก ตัวที่ทำให้เราทุกข์กันนี่พระพุทธเจ้าทรงบอกคือความอยากต่างๆ อยากดูอยากมีอยากฟัง อยากเป็นนั่นอยากมีนี่ พอมันโผล่ขึ้นมาใจเราจะไม่สบายขึ้นมาทันที ถ้าอยากจะให้มันหายไปเราต้องมองสิ่งที่เราอยากว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราควรอยากได้ เพราะมันเป็นความสุขเพื่อความทุกข์ เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล สุขเดี๋ยวเดียวได้อะไรมาก็สุขเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป หรือมันหมดไป พอเปลี่ยนไปหมดไปมันก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ให้เห็นไตรลักษณ์ในสิ่งต่างๆ ที่ใจอยากได้แล้วมันจะทำให้ไม่อยากได้ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เราได้มาเป็นยาพิษเราอยากจะเอาไหม ถ้าเห็นสิ่งที่เราอยากได้เป็นระเบิดเวลา เป็นลูกระเบิดเราอยากได้หรือเปล่า แต่เราไม่เห็นกันเพราะมันถูกเขาห่อด้วยกล่องอย่างสวยงาม แล้วเขียนว่าเป็นขนม เขียนเป็นของดีมีราคา แต่พอเปิดออกมามันระเบิดใส่เรา อันนี้ก็เหมือนกันต้องฉลาดต้องมีปัญญา ต้องเห็นว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เช่น ลาภยศสรรเสริญ ความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ นี้ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เครื่องมือที่เราใช้ก็เป็นไตรลักษณ์ คือร่างกายของเรา มันก็ไม่เที่ยงอย่าไปอยากได้มัน อย่าไปอยากใช้มัน อย่าไปยุ่งกับมัน พูดง่ายๆ อยู่กับความสงบดีกว่า อยู่กับความสุขที่ได้จากสมาธิดีกว่า พอเรามีสมาธิเราก็มีทางเลือก เมื่อก่อนเราไม่มีทางเลือกถ้าเราไม่มีสมาธิ ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามันทุกข์ก็ยังยอมทุกข์ อย่างน้อยก็มีสุขบ้างเหมือนยาขมที่เคลือบน้ำตาล ถึงแม้มันจะขมอย่างน้อยมันก็มีรสหวานอยู่บ้าง แต่พอเราได้ความสุขจากสมาธิที่เป็นรสหวานทั้งแท่งแล้ว ทีนี้เราก็ไม่ต้องไปเอาน้ำตาลเคลือบยาขมมาอม อมสมาธิดีกว่า อมความสุขที่เป็นความสุขทั้งแท่งดีกว่า เราก็จะเลิกความอยากต่างๆ ได้ พอเลิกความอยากต่างๆ ได้ ตัวที่พาให้เราไปหาความทุกข์ก็หายไปหมด จิตเราก็หลุดพ้น วิมุตติก็ปรากฏขึ้นมาทันที .


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี