[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 สิงหาคม 2555 19:33:48



หัวข้อ: อาการพระประชวรจนถึงสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 สิงหาคม 2555 19:33:48
.
(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ6whfuYZZKX_sT-hWrgF0WS_LCL-R2OnhU0N6U-E25-YOccdgr)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : chaoprayanews.com

อาการพระประชวรจนถึงสวรรคต
ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)

เมื่อปลายปี ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ ๕๓ พรรษา บังเกิดพระโรคเบียดเบียนไม่เป็นที่ทรงพระสำราญ ด๊อกเตอร์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ของกรมทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้ถวายการอภิบาลได้ตรวจพระอาการลงสันนิษฐานว่า พระโกฏิธาตุภายในพระวรกายไม่เป็นไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนี้ไม่ถูกกับอากาศชื้น เช่น ในฤดูฝนชุกและฤดูร้อนจัด เช่น ฤดูคิมหันต์  ประเทศที่จะรักษาพระโรคเช่นนี้ได้เหมาะดีที่สุดก็มีแต่ยุโรปเท่านั้น  จึงกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำเพื่อเสด็จประพาสยุโรปบำรุงพระวรกายให้คืนเป็นปกติ  ในเวลาที่พระโรคยังไม่ทันจะเจริญขึ้น

โดยคำแนะนำของนายแพทย์นี้  จึงได้เสด็จประพาสยุโรปออกจากพระมหานครเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙  เสด็จกลับถึงพระมหานครเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐  ในขณะประทับอยู่ที่เมืองซันเรโม  ประเทศอิตาลี  ได้มีนายแพทย์เยอรมันและอังกฤษชั้นโปรเฟสเซอร์รวม ๓ นายได้ประชุมตรวจพระอาการเห็นว่า พระอวัยวะทุกส่วนยังเป็นปกติ  ไม่มีสิ่งใดแสดงว่าจะเป็นไปในทางที่ร้ายแรง  ได้ถวายคำแนะนำการเสวยและบรรทมให้มากพอและลดทรงการงานให้น้อย  ให้งดการงานที่เป็นการหนักทุกอย่าง  ได้มีการทำนายในทางลับว่า ถ้าพระอาการเป็นเช่นนี้จะทรงพระชนม์ชีพไปได้สัก ๓ ปี  แต่หมอก็ถวายการรับรองต่อพระองค์ว่า ถ้าผ่อนงานให้น้อยและบรรทมให้มากขึ้นอีกจะดำรงพระชนมายุไปได้ถึง ๘๐ เว้นแต่จะมีพระโรคอื่นมาแทรกแซง

เมื่อเสด็จกลับสู่พระมหานครแล้ว  ดูทรงจะสำราญดีกว่าเมื่อก่อนเสด็จประพาสยุโรป  จะมีที่ไม่ปกติเล็กน้อยก็ในเรื่องพระนาภี  เพราะพระบังคลหนักไปไม่สะดวก ต้องทรงใช้พระโอสถระบายอยู่เสมอ ๆ  แต่การประชวรที่เรียกกันว่าถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้นไม่ปรากฏเลย  ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

ในวันนั้นได้ทรงขับรถไฟฟ้าเสด็จออกประพาสทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศที่พญาไท  แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง มีรับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยจะสบาย  จะรีบกลับ”  แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว  มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น  หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดิ์  พระธิดาพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช  วิ่งขึ้นรถยนต์พระที่นั่งร้องพลาดหกล้มเข้าไปติดขัดอยู่ที่ลูกล้อ  แต่ผู้ขับหยุดรถไว้ได้ทัน ไม่ทันทับ  เป็นแต่ถลอกเล็กน้อย และตกพระทัยเป็นลมแน่นิ่งไป  รับองค์ขึ้นรถมาแก้ไขจนฟื้นดี


ในวันที่ ๑๗-๑๘-๑๙ ตุลาคม  มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปี  ถวายรัชกาลที่ ๔  ในพระบรมมหาราชวัง  แต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปกติ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  มกุฎราชกุมาร  เสด็จไปแทนพระองค์

ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ,   พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ,   พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช  และเจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม)  ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน  ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต  เสด็จมาทีหลังตามขึ้นไปเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการและตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้า เหมือนเวลาทรงพระสำราญ

วันที่ ๒๐ ตุลาคม  เวลา ๓ โมงเช้า  คุณพนักงานออกมาบอกว่า  สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอเบอร์เกอร์  หมอไรเตอร์  และหมอปัวซ์ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว  สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่งแก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ)   ให้จัดอาหารเลี้ยงหมอและจัดให้หมออยู่ประจำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจพระอาการกลับลงมา  ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการ   หมอไรเตอร์ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคลหนักคั่งอยู่นาน  เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคลหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย  พระกระเพาะอาหารอ่อนไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่  ควรพักบรรทมนิ่ง  อย่าเสวยพระอาหาร  สัก ๒๔ ชั่วโมงก็จะเป็นปกติ  หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  พระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชการมาฟังพระอาการมากด้วยกัน  ตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ได้บรรทมหลับเป็นปกติ  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์  หมอฝรั่ง  หมอไทย  และมหาดเล็กอยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา


วันที่ ๒๑  ตุลาคม  ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่าพระศอแห้ง  แล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง  รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไร ๆ ให้ชุ่ม ๆ พระศอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้น ๑ ผล  พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด  สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัย เรียกหมอทั้ง ๓ คนขึ้นไปตรวจพระอาการ  หมอกราบบังคมทูลว่า ที่เสวยน้ำผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดี  เพราะพระกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่  เพราะฉะนั้นเมื่อเสวยพระกระยาหารหรือพระโอสถจึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมดและเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่ง ๆ ดีกว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วหมอว่าอาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ได้กิน  ให้นอนนิ่งอยู่เฉย ๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษามันจะหายอย่างไรได้  และตรัสต่อไปว่าเชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้  ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้

เมื่อหมอกลับลงมาแล้ว มีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า ให้ไปตามใคร ๆ มาพูดจาปรึกษากันดูเถิด  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้าให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ,  พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงฯ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ  และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์  ในเวลาย่ำรุ่งนั้น  สมเด็จพระบรมราชินีนาถลงมาทรงเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ฟัง  แล้วเจ้านายซักถามหมอ  หมอก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไร  บรรทมอยู่นิ่ง ๆ ดีกว่า  เจ้านายพากันเห็นจริงตามหมอไปหมด  รวมกันถวายความเห็นว่าที่หมอรักษาอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว  สมเด็จพระบรมราชินีนาถะเสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย ๔ พระองค์เสด็จมาแล้วได้ซักถามหมอและเห็นด้วยตามที่หมอขี้แจง   ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไรต่อไป

เวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านายและหมออยู่นั้น  มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่ง เป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคูประมาณ ๑ จานสุป  หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี  ตั้งแต่นี้ต่อไปก็มีพระอาการซึม  บรรทมหลับอยู่เสมอ  สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า  “การเจ็บครั้งนี้ จะรักษากันอย่างไรก็ให้รักษากันเถิด”  ตามที่รับสั่งเช่นนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริง ๆ

ตอนเที่ยงเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่ามีแต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา  มีพระบังคลเบาครั้งหนึ่งประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ  สีเหลืองอ่อน  สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก  สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านายผลัดเปลี่ยนกันประจำ  ฟังพระอาการอยู่เสมอไป

ตอนบ่ายมีความร้อนในพระองค์ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔  แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง  มีพระบังคลเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน  ในเรื่องพระบังคลน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้  เจ้านายออกจะสงสัยทรงถามหมอ  หมอก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร  เสวยแต่พระสุธารสชั่ว ๒ – ๓ ช้อนเท่านั้น ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด  เพราะฉะนั้นพระบังคลเบาจึงน้อยไป ไม่เป็นอะไร  เมื่อเสวยพระกระยาหารและพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคลเบาก็คงจะมีเป็นปกติ  แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับยังมีอยู่เสมอ

ตอนเย็นเมื่อเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  ข้าพเจ้าได้ยินรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว”  แล้วก็ไม่ตรัสสั่งอะไรอีก  เมื่อเจ้านายและหมอกลับลงมาคราวนี้ พากันรู้สึกว่าพระอาการไม่ใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียว เป็นทางพระวักกะ  เครื่องกรองพระบังคลเบาเสียด้วย  มีพระบังคลเบาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ  ตอนนี้หมอและเจ้านายแน่ใจทีเดียวว่าเป็นพระวักกะพิการ  หมอได้รีบประชุมกันประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคลเบาและเร่งให้มีพระบังคลเบาโดยเร็ว  และที่สุดใช้เครื่องสวนพระคลบังคลเบา แต่ไม่ได้ผลเพราะไม่มีพระบังคลเบาเลย

ตอนค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ  และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย  เห็นพระพักตร์แต่ห่าง ๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้  เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด  ได้ยินเสียงหายพระทัยดังและยาว ๆ มาก บรรทมหลับอยู่  ถ้าจะถวายพระโอสถ  พระอาหารหรือพระสุธารสก็ต้องปลุกพระบรรทม  หมอกลับลงมาได้ความว่าการหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่  ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้วเห็นจะไม่เป็นไร  หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคลเบาน้อยอีก  ประมาณ ๑ ทุ่มเศษ  มีพระบังคลเบาเป็นครั้งที่ ๕ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือและเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ค่ำวันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการผู้ใหญ่  ผู้น้อย  มาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง  และเจ้านายก็ยังเชื่อกันว่าพระบังคลเบาคงจะมีออกมามากแน่  ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคลหนัก ๓ ครั้ง  เป็นน้ำสีดำ ๆ  หมอฝรั่งหมอไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคลเบาปนอยู่ด้วย  วันนี้เสวยน้ำซุปไก่เป็นพัก ๆ พักละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปไว้ถวายให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง  หมอฝรั่งหมอไทยไม่คัดค้านอะไร  คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกลับดึกกว่าคืนก่อน ๆ



หัวข้อ: Re: อาการพระประชวรจนถึงสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 สิงหาคม 2555 19:45:03
.

วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม  เวลาเช้า  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ  และหมอฝรั่ง ๓ คน  ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย  เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี  ได้ความว่าพระอาการหนักมาก  พระบังคลเบา ที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี  พิษของพระบังคลเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์  จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ  หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคลเบาแรงขึ้นทุกที

พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการ  ยื่นต่อเจ้านาย  เสนาบดีว่าพระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ  และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้าได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้  ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่าควรให้พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย  ข้าพเจ้าจึงให้นายฉัน  หุ้มแพร (ทิตย์  ณ สงขลา)  รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที  พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไร  พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นไร  เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่องซึมอยู่นั้นเป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่าง ๆ  พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น  เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปกติดี พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้ง  ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ทรงตรัสทักว่า “หมอมาหรือ”  ได้เท่านั้น แล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็นไม่มีพระบังคลหนักและเบาเลย  พระหฤทัยอ่อนลงมาก  ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ  ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วยและเห็นหายพระทัยดังยาว ๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์พ่นแรง ๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล  สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง  แต่พระกรรณยังได้ยิน  สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ  ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ”  แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทางพระกรรแสง  พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจรตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์  การหายพระทัยค่อยเบาลง ๆ ทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย  คงบรรทมหลับอยู่เสมอ  เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่าเสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบเมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ  พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้าโศกอาลัย  ทรงพระกรรแสงคร่ำครวญสะอึกสะอื้นทั่วกัน  ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั้นด้วย  กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส  ร่ำร้องไห้มิได้หยุดหย่อนเลย

ในที่พระบรรทมและตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงมเซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป  ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลงพายุใหญ่พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด  บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมดล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น   ด้วยความเศร้าโศกาดูรเป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพรรณให้สิ้นสุดได้

ข้าพเจ้าต้องวิ่งลงไปตามหมอขึ้นไปแก้ท่านที่ประชวรพระวาโยกันเป็นการใหญ่ และต้องเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปส่งที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู  เพราะทรงประชวรพระวาโยและทรงชักกระตุกด้วย  เจ้านายพระองค์อื่นและเจ้าจอมมารดาที่เป็นลมก็มีผู้ช่วยพากันไปส่งตำหนักที่อยู่กันเรื่อย ๆ ไป  ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  ซึ่งประชวรพระวาโยบรรทมอยู่ที่เก้าอี้ปลายพระแท่นนั้น ก็ต้องใช้เก้าอี้หามเชิญเสด็จไปยังพระตำหนักของพระองค์ท่าน

เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ให้เสด็จกลับลงไปชั้นล่างประทับห้องแป๊ะเต๋ง  พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์  เสนาบดีผู้ใหญ่  องคมนตรี  และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งทรงพระกรรแสงและร้องไห้กันเสียงระงมเซ็งแซ่ทั่วไปทั้งพระที่นั่ง

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช  ทรงคุกพระชงฆ์ลงกราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  อัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  สืบสนองพระองค์สมเด็จพระชนกาธิราชต่อไปทันที  พระบรมวงศานุวงศ์  เสนาบดี  ข้าราชการผู้ใหญ่  ผู้น้อย  ก็กราบถวายบังคมทั่วกัน  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ทรงเรียกประชุมพร้อมกันในเวลานั้นเพื่อหารือที่จะจัดการสรงน้ำพระบรมศพและเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังในวันพรุ่งนี้  และออกประกาศข่าวการสวรรคตและอื่น ๆ

ในระหว่างที่ประชุมกันอยู่นี้  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมขุนสรรพสิทธิฯ  และข้าพเจ้า พร้อมกับเจ้าหมื่นสรรพเพ็ธภักดี (เพิ่ม  ไกรฤกษ์)  เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ)  ขึ้นไปกราบถวายบังคม  แล้วได้ฉลองพระเดชพระคุณช่วยกันเชิญพระองค์เลื่อนขึ้นไปหนุนพระเขนย  จัดตบแต่งพระเขนยและผ้าลาดพระที่  ทั้งจัดแต่งพระองค์ให้เรียบร้อย แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมขุนสรรพสิทธิฯ  กับข้าพเจ้าถวายพระภูษาคลุมพระบรรทมคนละข้าง  พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวีประทับเป็นประธานอยู่ด้วย  ครั้นจัดเรียบร้อยปิดพระวิสูตรแล้ว  กราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง  พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย  เพิ่งเสร็จการประชุมและกลับไปเมื่อจวนสว่าง  ในคืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับแรมอยู่ที่ห้องพระบรรทมขาว  พระที่นั่งอัมพรสถานมีตำรวจหลวงและทหารมหาดเล็กล้อมวงรักษาการตามราชประเพณีตลอดคืน


วันอาทิตย์ที่ ๒๓  ตุลาคม  เวลาเช้า  ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมพระบรมศพอีกครั้งหนึ่ง   พร้อมด้วยเจ้าหมื่นสรรพเพ็ธภักดี   เจ้าหมื่นเสมอใจราช และหลวงศักดิ์นายเวร (ม.ร.ว.ลภ  อรุณวงศ์)  พร้อมกันเชิญพระบรมศพจากพระแท่นที่พระบรรทมไปประทับพระแท่นสำหรับสรง  แล้วรื้อพระแท่นที่พระบรรทมออก  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี  ประทับเป็นประธานในการถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นส่วนฝ่ายใน  ครั้นเสร็จแล้วจึงเชิญพระบรมศพขึ้นพระแท่นที่จัดไว้ใหม่สำหรับพระเกียรติยศเพื่อถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นพระราชพิธีตอนบ่าย

ในเวลานี้ ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมที่พระบาทยุคลถวายน้ำหอมสรงพระบาท และซับพระบาทด้วยผ้าเช็ดหน้าไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นที่สักการะบูชา  ได้พิศดูพระพักตร์ในเวลานี้เหมือนกำลังบรรทมหลับ พระพักตร์ยิ้มน้อย ๆ ดูสง่างามเหลือเกิน ทำให้ตื้นตันใจต้องร้องไห้ด้วยความอาลัยเศร้าทวียิ่งขึ้น  มิใคร่จะจากพระบาทยุคลไปได้เลย  ได้ทำหน้าที่ไปพลางร้องไห้คร่ำครวญไปพลางจนแล้วเสร็จ  กราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพ  เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓  พระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติมาไว้ ๔๓ พรรษา


จดหมายเหตุบันทึกตอนทรงพระประชวรและสวรรคตเพียงนี้.

(http://img504.imageshack.us/img504/8037/67651031nd4.jpg)
ภาพกระบวนแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



คัดลอกจากหนังสือ "เรื่อง ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕" จัดพิมพ์ขึ้นเป็นพิเศษ ในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีวันสวรรคต พ.ศ. ๒๕๕๓  ซึ่งนายแพทย์นวรัต  ไกรฤกษ์  เรียบเรียงขึ้นจากคำบอกเล่าของท่านผู้เป็นบิดา  คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ   ขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่คอยถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด ตราบจนเสด็จสวรรคต