[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 สิงหาคม 2564 20:11:50



หัวข้อ: ระนาดเอก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 สิงหาคม 2564 20:11:50
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99637152006228__Copy_.jpg)
ภาพจิตกรรมฝาผนัง วัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี

ระนาดเอก

ระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องตี ที่มีระดับเสียงมากที่สุด จำนวน ๒๑-๒๒ ระดับเสียง  ด้วยความที่มีจำนวนระดับเสียงถึง ๒๒ เสียงจึงทำให้ระนาดเอกมีช่วงพิสัย หรือความกว้างของระดับเสียงครอบคลุมถึง ๓ ช่วงทบเสียงซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนที่ของเสียงในการเดินทำนองเป็นไปอย่างไม่ซํ้าซากจำเจอยู่ที่ช่วงระดับเสียงใดเสียงหนึ่ง สามารถทำให้เกิดเสียงได้มากมาย และมากในเนื้อหาอารมณ์เกินกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ จะทำได้

ระนาดจึงกลายเป็นตัวนำในการบรรเลงเพลงไทยไปในที่สุด

สันนิษฐานว่า “ระนาด” วิวัฒนาการมาจากกรับ  แต่เดิมก็คงใช้ไม้กรับ ๒ อันตีเป็นจังหวะแล้วต่อมาเกิดความรู้เอาไม้มาทำอย่างกรับหลายๆ อัน วางเรียงตีให้เกิดเสียงอย่างหยาบๆ ขึ้นก่อน แล้วคิดทำไม้รองป็นรางวางเรียงราดไป เมื่อเกิดความรู้ความชำนาญขึ้นก็แก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้ แล้วใช้เชือกร้อย “ไม้กรับ” ขนาดต่างๆ นั้นให้ติดกันขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีให้เกิดเสียงดังกังวานลดหลั่นกันตามต้องการใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงได้ แล้วต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่ง ใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายลูกระนาด ถ่วงเสียงให้มีความไพเราะยิ่งขึ้น และเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ระนาด” เรียก “ไม้กรับ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นขนาดต่างๆ นั้นว่า “ลูกระนาด” และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน”  

ผืนระนาดต้องประกอบด้วยลูกระนาดที่ทำจากไม้ชนิดเดียวกันที่มีอายุที่เหมาะสม แต่ก่อนทำด้วยไม้ไผ่ ชนิดที่เรียกว่า ไผ่บงและไผ่ตง ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น ได้แก่ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้มะหาด มีขนาดลดหลั่นลงไปตามลำดับจนครบจำนวน โดยเจาะรูร้อยเชือกติดกันทั้งผืน ลูกระนาดแต่ละลูกต้องเทียบเสียงโดยติดขึ้ผึ้งผสมตะกั่วถ่วงเสียงในระดับเสียงที่ถูกต้อง เนื้อไม้ทำผืนระนาดต้องเรียบ ไม่ปรากฏข้อบกพร่อง เช่น รอยร้าว รอยแตก ร่องรอยการเจาะกัดกินของแมลง แต่ที่นิยมกันมากนั้นใช้ไม้ไผ่บงว่าได้เสียงเพราะดีทำรางเพื่อให้อุ้มเสียง เป็นรูปโค้งสวยงามคล้ายลำเรือ เสริมขอบรางด้านบนด้วยเส้นหวายพันผ้ากำมะหยี่ มีแผ่นไม้ที่เรียกว่า “โขน” ปิดส่วนหัวและท้ายของราง และมีตะขอโลหะสำหรับเกี่ยวผืนระนาดอยู่ข้างละ ๑ คู่  มีเท้ารองราง ตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยวรูปอย่างพานแว่นฟ้า และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า “ราง”  

แต่ก่อนมา ดนตรีวงหนึ่งก็มีระนาดเพียงรางเดียว และระนาดแต่เดิมคงมีจำนวนลูกระนาดน้อยกว่าในปัจจุบันนี้ ต่อมาได้เพิ่มลูกระนาดมากขึ้นและเมื่อมาคิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้มฟังนุ่ม ไม่แกร่งกร้าวเหมือนชนิดก่อนจึงเลยเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า “ระนาดทุ้ม” และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า “ระนาดเอก” เป็นคำผสมขึ้นในภาษาไทย

ระนาดเอกปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้นขนาดยาวราว ๓๙ เซนติเมตร กว้างราว ๕ เซนติเมตร และหนา ๑.๕ เซนติเมตร ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด มีขนาดยาว ๒๙ เซนติเมตร ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก “โขน” หัวรางข้างหนึ่งถึง “โขน” อีกข้างหนึ่งประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร

ไม้ตีระนาด มีด้วยกัน ๒๐ แบบ คือ ไม้นวม จะให้เสียงทีฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความไพเราะ นุ่มนวล ที่หัวของไม้จะใช้ผ้าพันให้เป็นนวมก่อน จากนั้นจะใช้เส้นด้ายพันทับอีกที ไม้ตีระนาดชนิดนี้นิยมใช้เล่นบรรเลงในวงมโหรี, วงปี่พาทย์ไม้นวม และไม้แข็ง ซึ่งจะให้เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความมีอำนาจ และแข็งแกร่ง ลักษณะของไม้จะพันเช่นเดียวกันกับไม้นวม เพียงแต่จะชุบด้วย "รัก" เป็นระยะ และที่ชั้นนอกสุด แล้วจึงพันอีกครั้งด้วยผ้าดิบบางๆ เป็นอันเสร็จ ทำให้ได้หัวไม้ที่แข็งและสังเกตได้ง่าย ที่สีของหัวไม้ซึ่งจะดำสนิท

เครื่องดนตรี “ระนาด” ปรากฏมีทั้งของชวา ของมอญและของพม่า  พม่าเรียกว่า “ปัตตลาว์” (Pattalarหรือ Bastran)

ที่มาข้อมูล :-
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง หน้า ๔๕๐๑-๔๕๐๒ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- เว็บไซท์ maehongsontoday.com
- เว็บไซท์ tcps.tisi.go.th
- เว็บไซท์ วิกิพีเดีย