[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 กรกฎาคม 2564 20:16:45



หัวข้อ: โบราณสถาน วัดเตว็ด ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กรกฎาคม 2564 20:16:45
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33169543329212_3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56157437008288_4_Copy_.jpg)

โบราณสถานวัดเตว็ด
ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วัดเตว็ด เป็นวัดร้าง  ตั้งอยู่ริมคลองปทาคูจาม ทางทิศใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา ในเขตพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร  

วัดเตว็ดถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นอยุธยาในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยอยุธยาตอนกลางกับตอนปลาย สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือหลังจากนั้น เพราะอุโบสถของวัดเตว็ดถูกสร้างในรูปแบบคล้ายๆ กับโบสถ์คริสต์ตามสไตล์ตะวันตก อีกทั้งอาคารเป็นแบบยกใต้ถุนสูง และชื่อของวัดปรากฏอยู่ในพงศาวดาร รวมถึงแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ก็ระบุตำแหน่งวัดแห่งนี้ไว้

จากหลักฐานอาคารตำหนัก ยกใต้ถุนสูงของวัดเตว็ด สันนิษฐานว่าเป็นพระตำหนักของกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระอัครมเหสีฝ่ายขวาของสมเด็จพระเพทราชา และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เป็นพระตำหนักซึ่งได้เสด็จมาผนวชเป็นแม่ชี พร้อมกับเจ้าฟ้าตรัสน้อย ผู้เป็นพระราชโอรสที่เสด็จมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดแห่งนี้


อุโบสถวัดเตว็ด : ลักษณะเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ยกพื้นมีใต้ถุนสูง เจาะช่องประตูเป็นรูปวงโค้ง ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักหลังคา ขนาดอุโบสถกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๒  เมตร มีร่องรอยผ่านการบูรณะมาหลายสมัย ปัจจุบันตัวอาคารเหลือเพียงฐานไพที ผนังสกัดหน้าอยู่เพียงด้านเดียว และฐานใบเสมาหนึ่งแห่ง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95835732627246_1.1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/24775234195921_1_Copy_.jpg)

หน้าบันอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนปูนแบบ “กระเท่เซ” (ไม่มีไขราหน้าจั่ว) รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ประดับลวดลายปูนปั้น แสดงศิลปะแบบยุโรปผสมลวดลายไทยได้อย่างลงตัว โดยขอบหน้าบันประดับลายพรรณพฤกษา ศิลปะแบบยุโรป ส่วนที่เป็นหางหงส์ทำเป็นรูปศีรษะชายฝรั่งหันด้านข้างผูกผ้าพันคอ สวมวิกผมยาวเป็นลอน สวมเสื้อมีระบาย ผูกผ้าพันคอ  ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปวิมานมีลายเครือเถาประดับ แต่ใบไม้ที่อยู่ในลายเครือเถาเป็นใบอะแคนทัสของกรีกโบราณ แทนลายกระหนกของไทย ส่วนบนของลายมีลายนกคาบซึ่งเป็นลายไทยผสมเข้าไปด้วย  จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นอิทธิพลของฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยไทยได้รับแบบอย่างศิลปะนี้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน

(ใบอะแคนทัส : ใบไม้จากบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนที่มีลักษณะคล้ายใบทิสเซิล, ต้นฝิ่น หรือพาร์สลีย์ ในงานสถาปัตยกรรมจะเป็นประติมากรรมที่แกะหินหรือไม้ นิยมใช้ลักษณะใบอะแคนทัสเป็นลวดลายประดับ พบมากในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔-๑๖ ของฝรั่งเศส)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79492441978719_6_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71143321568767_9_Copy_.jpg)

ท่าน้ำ (Waterside) จากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดเตว็ดซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๘ ได้มีการขุดค้น และขุดแต่งโบราณสถานในบริเวณวัด อาทิ เจดีย์ อุโบสถ มณฑปและวิหาร มีการแบ่งเขตสังฆาวาสและพุทธาวาส ต่อมาได้พบแนวอิฐที่ถูกเรียงในลักษณะเป็นทางเดินจากอาคารของวัดมุ่งสู่ “คลองคูจาม” ซึ่งปัจจุบันมีถนนที่ถูกสร้างขึ้นเลียบคลองในภายหลังคั่นอยู่ จึงทำการขุดแต่งที่เผยให้เห็นการเรียงของอิฐซึ่งนำด้านสันหงายขึ้นด้านบน ลักษณะเป็นลายก้างปลา คาดว่าเป็นฉนวนทางเดินลงท่าน้ำสมัยอยุธยาซึ่งอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อย่างมาก การพบทางเดินดังกล่าว ทำให้ทราบถึงระดับน้ำในคลองคูจามในอดีต ซึ่งอยู่ต่ำลงไปกว่าในปัจจุบันอย่างมาก และขนาดของคลองก็คาดว่าเคยมีความกว้างกว่าในปัจจุบันด้วย  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41778387501835_2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42550379203425_5_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33791394987040_7_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66989494984348_8_Copy_.jpg)

อ้างอิง :
- ข้อมูลกรมศิลปากร
- มติชนออนไลน์
- โพสต์ทูเดย์ ดอทคอม
- วิกิพีเดีย