• ลูกสะเดาน้ำผึ้งซาบ โซมปน
แล้วปลูกปองรสคนธ์ แอบอ้อย
ตราบเท่าออกดอกผล พวงดก
ขมแห่งสะเดาน้อย หนึ่งรู้โรยรา ฯ นำลูกสะเดาไปแช่น้ำผึ้งจนรสหวานซึมซาบทั่วผล
นำผลนั้นไปปลูกไว้ในไร่อ้อย ด้วยหวังจะได้รสหวานจากอ้อยอีกทางหนึ่ง
กาลเวลาผันผ่าน สะเดาน้อยเติบใหญ่ ออกดอกให้ผล
รสขมของลูกสะเดาต้นนี้ ก็หาได้จืดจางไปแต่อย่างใดไม่
เปรียบเช่น คนพาลปฏิบัติธรรม ย่อมไม่รู้อรรถรู้ธรรม นั่นแล. ภาพเขียนโดย ครูเหม เวชกร• กายเกิดพยาธิโรคร้าย ยาหาย
แต่พยศยาไป่วาย ตราบม้วย
ชาติเสือห่อนหายลาย ลบผ่อง
กล้วยก็กล้วยคงกล้วย กลับกล้ายฤามี ฯ อุปมาอุปไมย -
"สันดรขุดง่าย สันดานขุดยาก" กายมีโรคภัยเบียดเบียน รักษาให้หายได้โดยใช้ยารักษาโรค
แต่
พยศ ของผู้มีทิฐิดื้อรั้นถือตัว ให้การอบรมหวังว่าเขาจะเปลี่ยนอุปนิสัย ตราบจนตาย หวังได้ยาก
เสือ ย่อมมีสัญชาตญาณของความองอาจ ดุร้าย แม้ที่สุดจนตัวตายก็ยังคงน่าเกรงขาม
กล้วย นำพันธุ์ไปปลูกที่ไหนๆ ก็ยังสืบสายพันธุ์เป็นกล้วย ไม่กลับกลายเป็นกล้ายไปได้แน่นอน.[/color]
(กล้าย ลักษณะจะคล้ายกับพืชในสกุลกล้วยทั่วไป แต่ผลกล้ายจะแข็งและมีน้ำตาลน้อยกว่ากล้วย) ภาพวาดโดย ครูเหม เวชกร• มีอายุอยู่ร้อย ปีปลาย
ความเกิดและความตาย ไป่รู้
วันเดียวเด็กหญิงชาย เห็นเกิด ตายนา
ลูกอ่อนนั่นยิ่งผู้ แก่ร้อยปีปลายฯ - บุคคลเกิดมามีอายุอยู่เกือบร้อยปี เป็นผู้ไม่สนใจหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา เพื่อดำเนินไปสู่หนทางแห่งความดับทุกข์
มัวแต่หลงระเริงในกามสุข ยึดติดในใจด้วยอำนาจกิเลส
- เด็กทารกที่เกิดมาแม้มีอายุวันเดียว แต่เป็นผู้เข้าถึงกระแสธรรม
พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญเด็กนั้นว่า ประเสริฐกว่าคนมีอายุยืนร้อยปี. • ธิรางค์รู้ธรรมแม้่ มากหลาย
บ่กล่าวให้หญิงชาย ทั่วรู้
ดุจหญิงสกลกาย งามเลิศ
อยู่ร่วมเรือนผัวผู้ โหดแท้ขันที ฯ * บุคคลผู้รู้แจ้งในพระธรรมอันประเสริฐ แต่มิได้นำความจริงหรือสัจธรรมมาเผยแผ่ให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน
ความรู้ที่มีอยู่นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก...เปรียบเช่น หญิงที่มีรูปโฉมงดงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้อยู่เป็นคู่ครองกับขันทีผู้ปราศจากความรู้สึกทางเพศ...การอยู่ร่วมกัน ย่อมไร้ความสุข.
ภาพวาด ครูเหม เวชกร• จระเข้คับน่านน้ำ ไฉนหา ภักษ์เฮย
รถใหญ่กว่ารัถยา ยากแท้
เสือใหญ่กว่าวนา ไฉนอยู่ ได้แฮ
เรือเขื่องคับชเลแล้ แล่นโล้ไปไฉน * อุปมา
จระเข้คับคลอง การทะนงตน อวดตัวใหญ่โตเกินอัตภาพฐานะ
ย่อมมีลักษณะยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญกว่าตนเอง
บุคคลเช่นนี้ ย่อมพบอุปสรรคหรือได้รับความลำบากยากเข็ญในการดำรงชีวิตในสังคม.
ภาพวาด ครูเหม เวชกร• พระสมุทรไหวหวาดห้วย คลองสรวล
เมรุพลวกปลวกสำรวล ร่าเร้า
สีหราชร่ำคร่ำครวญ สุนัขเยาะ หยันนา
สุริยส่องยามเย็นเข้า หิ่งห้อยยินดีฯ *
ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม เคยมีอำนาจ วาสนา มาก่อน ถึงคราวตกต่ำลง ถูกหัวเราะเยาะหยัน ดูหมิ่นเหยียบย่ำจากผู้ที่ต่ำต้อยกว่า
โดยไม่ได้คำนึงว่า เขายังมี "บารมี" อยู่อีกมากล้น
เหมือนช้างตกหล่ม ที่อาจถอนตนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น.
ภาพวาด ครูเหม เวชกร• แมวล่าหนูแซ่ซี้ จรจรัล
หมาล่าวิฬาร์ผัน สู่หล้าง
ครูล่าศิษย์ละธรรม์ คบเพื่อน พาลนา
เสือล่าป่าแรมร้าง หมดไม้ไพรณฑ์ *
อุปมา - แมวไม่อยู่หนูร่าเริง การถูกควบคุมบังคับโดยผู้มีอำนาจมากกว่า ย่อมทำให้ผู้คนรู้สึกลบหรือต่อต้านขึ้นมาในใจทันที เพราะไม่ชอบการถูกบังคับ
เมื่อมีโอกาสหรือลับหลังเมื่อใด ย่อมไม่สามารถจะควบคุมตัวเองไว้ได้ จึงมีแต่เรื่องของการตามใจตัวเองให้ปล่อยไปตามอารมณ์
ตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความวุ่นวายและเสื่อมเสีย อธิบายศัพท์ ล่า ถอย ไม่อยู่ จากไป ทิ้งไป
แซ่ซี้ ส่งเสียงดัง
จรจรัล เที่ยวไป เดินกันขวักไขว่
สู่หล้าง ลงไปข้างล่าง ลงไปใต้ถุนบ้าน
ภาพวาด ครูเหม เวชกร• จามรีขนข้องอยู่ หยุดปลด
ชีพบ่รักรักยศ ยิ่งไซร้
สัตว์โลกซึ่งสมมติ มีชาติ
ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้ ยศซ้องสรรเสริญฯ จามรีเป็นสัตว์ที่มีขนหางละเอียดอ่อน ยาวเป็นพู่ มีธรรมชาตินิสัยรักหวงแหนขนที่หางของมันยิ่งชีวิต
หากขนหางไปติดกับอะไรก็จะค่อยขยับให้ขนหางหลุดจากสิ่งนั้น
พิจารณาโดยอรรถ...เป็นการสอนมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ ให้เป็นผู้ "มีสติ" รู้รักตน รู้จักใช้ปัญญาเป็นแสงสว่าง
มีเหตุผล รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนและวงศ์ตระกูล
ความดีเป็น “อิสริยยศ” ของคนดี และคนดีย่อมพอใจประดับความดีเป็นอาภรณ์ของตน
จึงควรมีสติ มุ่งเอาชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อมที่จะมาเป็นอุปสรรคแห่งความดี . ภาพวาด ครูเหม เวชกร• นพคุณใส่เบ้าสูบ แสนที
ค้อนเหล็กรุมรันตี ห่อนม้วย
บ่เจ็บเท่าธุลี สักหยาด
เจ็บแต่ท่านชั่งด้วย กล่ำน้อยหัวดำฯ
อธิบายความ
เอาค้อนเหล็กทุบทีทองคำในเบ้าหลอมนับแสนๆ ที ไม่ทำให้ทองนพคุณมีความรู้สึกเจ็บแม้เท่าเศษธุลี
แต่เจ็บปวดนักถ้านำเมล็ดมะกล่ำหัวดำที่ไร้ค่า มาชั่งน้ำหนักตีราคาเทียบกับทองคำ
ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรือผู้เกิดในตระกูลสูงส่ง แม้จะถูกลงโทษอย่างโหดร้ายทารุณเจ็บปวดเจียนตาย
ก็ไม่รู้สึกโกรธแค้นเสียใจเท่ากับการถูกตีค่าของตนให้เสมอกับไพร่กระฏุมพี หรือคนชั้นต่ำ
อุปมา “นักเลงถูกลูบคม” เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าเกียรติหรือศักดิ์ศรีของตนด้อยลงไป
.....อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ...
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดมนย่อมมีเมื่อนั้น. ชูชกพราหมณ์เข้าเฝ้าพระเวสสันดรทูลขอพระปิโยรส ‘กัณหา-ชาลี’ ก็ทรงประทานให้
ทรงกันแสง เมื่อชูชกใช้อำนาจเฆี่ยนตีสองพระกุมารให้เดินทางไปกับตน
(จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง)• เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณา ฯ
อธิบายความ
-เสียสินทรัพย์ เพื่อสงวนเกียรติอันสูงศักดิ์ของวงศ์ตระกูลมิให้มัวหมอง
-ลดศักดิ์ศรีเพื่อแลกวิชาความรู้ ให้ได้ปัญญาจากผู้รู้ที่ต่ำต้อยกว่า
-รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ต่อกันไว้ แม้จะเสียรู้ด้วยกลลวง
-รักษาสัจจะวาจา ด้วยความหนักแน่นยิ่งกว่าชีวิตของตน …ยอมสละชีวิตแต่อย่ายอมเสียสัตย์ฯ
(๔ ประการนี้ เป็นสิ่งพึงกระทำ)
อุปมา ‘ธรรมบท’ บทหนึ่งที่สอนว่า
ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตญจฺาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต
พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
พึงสละทรัพย์และชีวิตเพื่อรักษาธรรม • ตัดจันทน์ฟันม่วงไม้ จัมบก
แปลงปลูกหนามรามรก รอบเรื้อ
ฆ่าหงส์มยุรนก กระเหว่า เสียนา
เลี้ยงหมู่กากินเนื้อ ว่ารู้ลีลา ฯ
อธิบายความ
- ตัดต้นจันทน์ มะม่วง และจัมบก (ต้นจำปา)...พรรณไม้มีค่าทิ้ง
ใช้พื้นที่ปลูกวัชพืช ที่ไร้ประโยชน์และรกเรื้อแทน
- ฆ่าพญาหงส์ นกยูง สัตว์ตระกูลสูง สัญลักษณ์ของความมีเสน่ห์และงามสง่า
และฆ่านกกาเหว่า เพื่อเอาเนื้อไปเลี้ยงหมู่กา สัตว์กินเนื้อ
- โดยหวังว่า กาจะมีลีลารำแพนหางกรีดกรายไปมาได้สวยงามเยี่ยงนกยูง
และส่งเสียงร้องอันไพเราะได้เช่นเดียวกับนกกาเหว่า
‘ธรรมบท’ สอนว่า
ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ.
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงละเว้นมิตรชั่วเสีย
คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน. ขุ. เถร. ๒๖/๓๐๙.. • เอาสารเทียมอูฐโอ้ เป็นมูล
เก็บปัดเทียมแก้วปูน ค่าไว้
เมืองใดพิกัดพูน มีดั่ง นี้นา
นับแต่ไกลอย่าได้ ไต่เต้าเมืองเข็ญฯ
อธิบายความ
- เอาช้างซึ่งเป็นสัตว์สูงส่ง เป็นสัญลักษณ์สำคัญประดับพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ มาตีค่าเสมอกับ ‘อูฐ’ สัตว์ที่ต่ำต้อยกว่า
- เอาลูกปัดด้อยค่า มากำหนดราคาเสมอแก้วอัญมณี
- บ้านใดเมืองใดมีผู้นำความคิดวิปริต ไม่ปรกติ เช่นนี้ ควรหลีกหนีให้ห่างไกล
- เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน อย่าได้กรายใกล้เข้าไปอยู่อาศัย จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหน้า
• น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยว ยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงาม ว่าหญ้า
ตาทรายยิ่งนิลวาม พรายเพริศ
ลิงว่าหว้าหวังหว้า หว่าดิ้นโดยตาม ฯ
อธิบายความ
- สายน้ำไหลคดเคี้ยว นกยูงเข้าใจว่าเป็นงู จึงบินตามเพื่อจะจิกงูกินเป็นอาหาร
- เนื้อทรายแลเห็นขนคลุมโคนหางนกยูง มีสีเขียวยื่นยาวออกมา คิดว่าเป็นหญ้าก็เดินตามไป หมายจะได้กินหญ้า
- ตาทรายเรียวรี แวววาม สีดำขลับ สวยงามดังอัญมณี 'นิล' ลิงคิดว่าเป็นลูกหว้า หวังจะได้กินลูกหว้า
ผลสุดท้าย ทั้งนกยูง เนื้อทราย และลิง ต่างต้องพบกับความผิดหวัง ไม่ได้ลิ้มรสสิ่งที่คิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ
เพราะขาดการพินิจพิเคราะห์ และพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ.
• ไร้สิ่งสินอับแล้ว ปัญญา
อีกญาติวงศ์พงศา บ่ใกล้
คนรักย่อมโรยรา รสรัก กันแฮ
พบแทบทางทำใบ้ เบี่ยงหน้าเมินหนี ฯ
อธิบายความ
ถึงคราวตกทุกข์ ยากแค้นถึงแสนเข็ญ เมื่อเข้ามุมอับแล้ว ย่อมสิ้นปัญญา
ญาติมิตรที่เคยใกล้ชิดสนิทสนม ต่างก็พากันผละหนีถอยห่าง
คนเคยรักกัน ก็ตีตัวออกห่างเพราะเกรงจะทนความลำบากไม่ไหว
แม้แต่เดินสวนทางกับคนเคยรู้จักกัน เขาก็เมินหน้าหนีทำเป็นไม่รู้จักกันมาก่อน