[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2566 17:05:24



หัวข้อ: ใครคือพระนางปารวตี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2566 17:05:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/11345392341414__1_Copy_.jpg)

ใครคือพระนางปารวตี


พระนางปารวตี คือ พระชายาของพระศิวะ คนไทยมักนิยมเรียกว่า พระอุมาเทวี 

พระนางปารวตี ทรงมีพระนามถึง ๒๔ พระนาม ทั้งในภาคสวยงามและภาคดุร้าย เช่น อารยา เฮมาวตี ทุรคา กาลี เป็นต้น



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71222821002205__2_Copy_.jpg)

ก่อนมาเป็นพระนางปารวตี คือ พระนางสตี (Sati) เป็นชายาของพระศิวะกลับชาติมาเกิด

พระนางสตี (Sati) คือ ธิดาของพระทักษะปชาบดี (โอรสพระพรหม) เป็นชายาของพระศิวะในภาคของมุนีภพ แต่เป็นที่รังเกียจของพระทักษะเพราะมีผมและหนวดเครารุงรัง สวมสังวาลทำจากกระดูก นอนตามป่าช้า มีกลิ่นตัวเหม็นสาบ แต่ด้วยบารมีของพระนางสตี จึงมองเห็นรูปกายที่แท้จริงว่าเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ

ครั้งหนึ่งพระทักษะได้กล่าวประณามพระศิวะต่อหน้าเหล่าทวยเทพในระหว่างการประกอบพิธียัญกรรม  พระนางสตีอับอายจึงกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตาย (บางข้อมูลว่าพระนางสตีทรงเข้าตบะเพื่อขับเพลิงออกมาจากร่าง) เมื่อพระศิวะทราบก็พิโรธจึงส่งวีรภัทรเข้าไปทำลายพิธี จากนั้นพระศิวะได้เสด็จออกบำเพ็ญเพียรไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับผู้ใดอีก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53203883022069__3_Copy_.jpg)

อุมา – ปารวตี

พระนางสตีได้กลับชาติมาเกิดเป็นธิดาของท้าวหิมวัต มีนามว่า ปารวตี (Paravati) มาจาก “ปารวัต” (Parvata) คือ บรรพต แปลว่า ภูเขา  พระนามหนึ่งของท้าวหิมวัตพระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งภูเขา “ปารวตี” จึงแปลว่า นางแห่งภูเขา หรือ สตรีแห่งขุนเขา

พระนางเป็นสตรีที่งดงาม และเฝ้าบูชาเพียงพระศิวะพระองค์เดียว โดยบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า ไม่ยอมรับประทานอาหารใดๆ

พระนางเมนกาผู้เป็นมารดาเกรงว่าพระนางจะเสียชีวิตจึงอ้อนวอนให้เลิกบำเพ็ญเพียร โดยกล่าวว่า “อุ – มา” (แปลว่า โอ – อย่ากระทำเลย) พระนางจึงมีพระนามว่า พระอุมา

หลังการบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก พระศิวะได้ทรงยอมรับพระนางเป็นชายา


การนับถือพระนางปารวตี หรือ พระอุมา

พระนางปารวตี หรือ พระอุมา เป็นเทวสตรีผู้ทรงพลังและอำนาจ มีผู้นับถืออย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่าเป็นการผนวกเทพท้องถิ่นเข้ามาผสมกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยพระนามปารวตี ที่แปลว่า นางแห่งภูเขา หรือสตรีแห่งขุนเขา สะท้อนให้เห็นถึงการนับถือธรรมชาติที่มีมาก่อนยุคพระเวท สอดคล้องกับพระศิวะซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเขาไกรลาส

พระนางปารวตี หรือพระอุมา ได้รับการนับถือในฐานะพระชายาพระศิวะหรือศักติ โดยลัทธิศักติ (ศากติ) จะนับถือพระเทวีหรือพระชายาเป็นเทพสูงสุด



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/20071466060148__4_Copy_.jpg)

พระนางปารวตี หรือพระอุมา ในรูปประติมากรรม

พบในลักษณะพระนางคู่บารมี (consort) ของพระศิวะ มีบรรยายไว้ในคัมภีร์อุตตร – กามิกาคม ว่า ถ้าปรากฏองค์เดียวจะมี ๔ กร ๓ เนตร สวมการัณฑมกุฎ สวมผ้าไหม สองกรหลังถือปาศะ (บ่วงบาศ) และอังกุศะ (ขอสับช้าง) ส่วนสองกรหน้าจะเป็นปางประทานพรและปางประทานอภัย

ในลักษณะ ๖ กร โดย ๔ กรหลัง ถือปาศะ (บ่วงบาศ) อังคุสะ (ขอสับช้าง) สังข์ และจักร

ปางครั้งอาจมีถึง ๑๐ กร ๕ เศียร โดยทั้ง ๑๐ กร จะถืออาวุธประจำของพระศิวะ เป็นต้น

ถ้าปรากฏกายเคียงข้างเทพ (พระศิวะ) จะมี ๒ กร กรหนึ่งถือดอกบัวหรืออยู่ปางกฎกะมุทธา (ทำมือกำดอกไม้แต่ไม่มีดอกไม้ แสดงว่าน่าจะมีดอกไม้มาปักทุกวัน) ส่วนอีกกรหนึ่งจะปล่อยลงมาข้างลำตัว

บางครั้งก็อาจปรากฏกายเพียงองค์เดียว และมีเพียง ๒ กรได้ โดยจะอยู่ในรูปของสาวงาม อาจถือนกแก้ว หรือกระจก ดอกบัวสีฟ้า เป็นต้น


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
650-1