[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 กันยายน 2566 14:51:35



หัวข้อ: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กันยายน 2566 14:51:35

(https://cdn.royalgrandpalace.th/images/discover/banner_history_xs.jpg)
พระบรมมหาราชวัง  ขอขอบคุณเว็บไซต์ cdn.royalgrandpalace.th (ที่มาภาพประกอบ)

ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สืบเนื่องจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ และความสับสนในปลายกรุงธนบุรี รวมถึงภัยจากข้าศึกศัตรูภายนอกยังไม่สิ้นไป จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะย้ายราชธานีไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลที่ว่า กรุงธนบุรีถึงแม้ว่าจะเป็นเคยเป็นเมืองเดิมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและมาเป็นราชธานีนั้น เหมาะเพียงจะเป็นที่รวมกำลังในระยะเริ่มแรกหลังจากการสูญสลายของกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องด้วยลักษณะของเมืองธนบุรีเป็นเมืองที่มีแม่น้ำกว้างใหญ่อยู่กลาง ยากต่อการส่งกำลังบำรุงในการศึกสงครามทำให้รักษาเมืองได้โดยยาก นอกจากนั้นพระราชวังซึ่งเป็นศูนย์กลางของการปกครองก็ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นคุ้งน้ำ เป็นเหตุให้น้ำเซาะตลิ่งพังได้โดยง่ายและจะเป็นอันตรายต่อพระราชวังด้วย อีกทั้งพระราชวังยังถูกขนาบด้วยวัด ๒ วัด คือ วัดโมฬีโลกยาราม และวัดอรุณราชวราราม ไม่สามารถจะขยายเขตพระราชวังออกไปได้  ส่วนทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิที่ดีกว่าเพราะลักษณะเป็นหัวแหลม มีคลองคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรีเป็นคลองที่ป้องกันข้าศึกศัตรูทางด้านทิศตะวันออกได้ดี  นอกจากนั้นถ้ามีการขุดคลองชั้นที่ ๒ เพิ่มขึ้นทางทิศตะวันออกอีกชั้นหนึ่งแล้ว การป้องกันข้าศึกศัตรูจะทำได้ดียิ่งขึ้น ส่วนทางฝั่งตะวันตกคงรักษาแต่พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นแนวป้องกันข้าศึกต่อไป ด้วยเหตุนี้การสถาปนาราชธานีใหม่จึงเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างพระบรมมหาราชวังซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการปกครองใน พ.ศ.๒๓๒๕ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

การสถาปนาราชธานีครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คลองคูเมืองเดิมสมัยกรุงธนบุรีมาเป็นแนวเขตพระนครชั้นที่ ๑ และขุดคลองคูเมืองเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า คลองรอบกรุงเป็นแนวเขตพระนครชั้นที่ ๒ นอกจากนั้นยังขุดคลองเล็กๆ ขึ้นอีก ๒ คลองเป็นทางเชื่อมคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุงใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและการสาธารณูปโภคเรียกว่าคลองหลอด  หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการริมคลองรอบกรุงและริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการป้องกันข้าศึกศัตรู

ส่วนพระบรมมหาราชวังก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ดินแปลงใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นบ้านพระยาราชาเศรษฐีและชุมชนชาวจีน ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างวัดสลักและวัดโพธาราม ซึ่งต่อมาทรงพระราชทานนามวัดสลักว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และวัดโพธารามว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส" (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนสร้อยนามวัดเสียใหม่ว่า"วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม")    โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนใหม่ ณ ที่สวนตั้งแต่ปากคลองวัดสามปลื้มจนถึงปากคลองสำเพ็ง และให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางสำหรับพระนครใหม่ในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นบ้านพระยาราชาเศรษฐีและชุมชนชาวจีน มีเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ ถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงขยายออกไปอีก ๒๐ ไร่ ๒ งาน ปัจจุบันจึงมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน มีกำแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านเหนือยาว ๔๑๐ เมตร ด้านตะวันออกยาว ๕๑๐ เมตร ด้านตะวันตกยาว ๖๓๐ เมตร ด้านใต้ยาว ๓๖๐ เมตร

พระบรมมหาราชวังได้เป็นที่ประทับถาวรของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม ๕ รัชกาล เป็นระยะเวลากว่าร้อยปี  ครั้นถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานครแล้ว ก็ได้เสด็จฯ ไปประทับยังพระราชวังดุสิตบ้าง และเสด็จกลับคืนประทับในพระบรมมหาราชวังเช่นเดิมบ้าง ในรัชกาลต่อมาจะไม่ค่อยเสด็จประทับในพระบรมมหาราชวังนานนัก คงประทับอยู่ ณ พระราชวังอื่นเป็นส่วนมาก  พระบรมมหาราชวังจึงเป็นเพียงที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของชาติ  อาทิ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตราบจนทุกวันนี้


 
ที่มาข้อมูล
- "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา
- "ประวัติและที่ตั้งกรุงเทพมหานคร" เว็บไซต์  ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ หอสมุดวังท่าพระ ม.ศิลปากร
- "พระราชวังในกรุงเทพมหานคร" เว็บไซต์ saranukromthai.or.th
- "กรุงเทพมหานคร" วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


หัวข้อ: Re: ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง - ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 กันยายน 2566 16:29:25

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39308463906248_1920px_The_Grand_Palace_map_in.jpg)
ผังบริเวณ เขตพระราชฐานชั้นใน (พระบรมมหาราชวัง)
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (ที่มาภาพประกอบ)

ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง

การเลือกที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง คงจะเลือกให้สอดคล้องกับการป้องกันเมือง โดยนำรูปแบบของการตั้งทัพในตำราพิชัยสงครามแบบ “นาคนาม” มาใช้ด้วย การสันนิษฐานนี้วิเคราะห์จากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครโดยขุดคูคลองต่างๆ สร้างป้อมปราการ และโปรดเกล้าฯ ให้วางตำแหน่งที่ตั้งของวังหลวง วังหน้า วังหลัง และวังของพระราชวงศ์ผู้ใหญ่หลายพระองค์ไว้ตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อสัมพันธ์กับการป้องกันพระนคร กล่าวคือ

วังหลวงหรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ถือเป็น ค่ายหลวง  นับเป็นศูนย์กลางของกองทัพตั้งอยู่ส่วนกลางวังหน้าหรือที่ประทับของพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นับเป็น ค่ายด้านหน้า หรือทัพหน้า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง  ส่วนวังหลวงหรือที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขนับเป็น ค่ายด้านหลัง หรือทัพหลัง ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกน้อยเยื้องกับพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกจากนั้นยังมีวังที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้สัมพันธ์กับการป้องกันพระนครกล่าวคือ วังริมป้อมพระสุเมรุที่ปากคลองบางลำพู วังริมป้อมจักรเพ็ชรที่ปากคลองโอ่งอ่าง  ส่วนที่พระนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ปากคลองมอญก็ดี  พระราชวังเดิมหรือะระราชวังของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปากคลองบางกอกใหญ่ก็ดี รวมทั้งพระนิเวศน์เดิมของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีที่ใกล้กับปากคลองบางกอกน้อยก็ดี ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปประทับเพื่อรักษาพระนครเช่นกัน  ฉะนั้นถ้าจะนำรูปแบบ “นาคนาม” ของตำราพิไชยสงครามมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังและวังต่างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ที่ตั้งของ “ค่าย” ทุกแห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ไปรักษา “ค่าย” นั้นๆ ทุกแห่งไป

ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นคล้ายคลึงกับพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยามากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับพระราชวังโดยส่วนรวม กล่าวคือที่บริเวณภายในพระบรมมหาราชวังแบ่งเป็นพระราชฐานชั้นนอกซึ่งเป็นที่ทำการของสมุหนายก  สมุหพระกลาโหมและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งทหารรักษาวังด้วย บริเวณดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ บริเวณส่วนกลางเป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ซึ่งเป็นหัวใจของพระบรมมหาราชวัง จัดเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่เสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน รวมทั้งเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญของชาติ และเสด็จพระราชดำเนินให้ทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ในโอกาสต่างๆ กัน  บริเวณด้านในของพระบรมมหาราชวังซึ่งต่อเนื่องกับพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับของพระมเหสีเทวี พระราชธิดา และที่อยู่ของเจ้าจอมตลอดจนข้าหลวงที่เป็นหญิงล้วน บริเวณนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง นอกจากนั้นยังมีวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการแบ่งเขตพระราชฐานเป็นส่วนๆ ดังนี้ ก็เพื่อประโยชน์ใช้สอยและยังบอกถึงตำแหน่ง สิทธิและหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยในพระราชวังที่หญิงและชายสามารถเข้าออกได้ด้วย  การแบ่งเขตมักจะใช้กั้นด้วยอาคารและมีประตูติดต่อถึงกันได้ ส่วนที่เข้าออกได้ เฉพาะสตรี จะกั้นด้วยกำแพงสูงปิดทึบ ติดต่อกันได้เฉพาะทางประตูเท่านั้น นอกจากนั้นในบางแห่งที่ต้องการรักษาความปลอดภัยสูงยังมีประตูชั้นนอกและประตูชั้นในเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนพื้นที่รอบนอกพระบรมมหาราชวัง ด้านทิศเหนือเป็นพระลานกว้างต่อเนื่องกับท้องสนามหลวงแบบที่เคยมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและมีทางเดินเชื่อมติดต่อกับพระราชวังบวรสถานมงคล พระลานกว้างนี้ใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสต่างๆ รวมทั้งการเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นสนามที่เรียกว่า สนามไชย มีพลับพลาสูงตั้งอยู่ค่อนไปทางด้านทิศใต้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรจากที่สูงหรือบางครั้งเป็นที่ประกอบพระราชพิธี พลับพลาสูงนี้ปัจจุบันคือ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาท พื้นที่บริเวณสนามไชยและพลับพลาสูงนี้มีลักษณะคล้ายกับสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ที่กรุงศรีอยุธยา  ฉะนั้น บางครั้งจึงเรียกสนามนี้ว่า สนามหน้าจักรวรรด์  พื้นที่ด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของบ้านเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติราชการในพระราชวัง  พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค  จากประตูเทวาภิรมย์ไปสู่พระตำหนักน้ำหรือที่เรียกว่าตำหนักแพในเวลาต่อมา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายอาณาเขตพระบรมมหาราชวังไปทางด้านทิศใต้เพื่อขยายเขตพระราชฐานชั้นในให้กว้างขวางกว่าเดิม เพื่อให้มีที่ปลูกตำหนักและเรือนต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีการขยายเขตพระบรมมหาราชวังอีกเลยจนถึงปัจจุบัน



ที่มาข้อมูล - "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา


หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2566 17:29:23


อาณาเขตของพระบรมมหาราชวัง

อาณาเขตของพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกสร้่างมีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๒ ไร่ ตามแนวกำแพงที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีดังนี้

ด้านทิศเหนือ นับจากป้อมมุมพระบรมมหาราชวัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกไปจนจดป้อมมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว ๔๑๐ เมตร

ด้านทิศตะวันออก นับจากป้อมมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศใต้ไปจนจดป้อมมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาว ๔๖๐ เมตร

ด้านทิศใต้ นับจากป้อมทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปจนจดป้อมมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาว ๔๐๐ เมตร

ด้านทิศตะวันตก นับจากป้อมมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจนจดป้อมมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาว ๕๐๐ เมตร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายอาณาเขตพระบรมมหาราชวังไปทางทิศใต้ในเขตที่เป็นที่ตั้งเคหะสถานของเสนาบดีจนจดเขตวัดพระเชตุพนวิลมลมังคลารามและให้สร้างถนนกั้นเป็นเขตระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนฯ มีชื่อว่า ถนนท้ายวัง พื้นที่ที่ขยายใหม่มีประมาณ ๒๐ ไร่ ๒ งาน รวมเนื้อที่ของพระบรมมหาราชวังตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๕๒ จนถึงปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน  การขยายเขตพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงต่อจากแนวกำแพงเดิมและสร้างป้อมขึ้นใหม่ที่มุมกำแพง และระหว่างกลางกำแพง รวมทั้งรื้อประตูของเดิมและสร้างขึ้นใหม่อีกหลายแห่ง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อป้อมและประตูที่สร้างขึ้นใหม่ ลำดับให้คล้องจองกับชื่อป้อมและประตูของเดิม  อาณาเขตของพื้นที่ขยายใหม่ คือ

ด้านทิศตะวันออก ต่อจากป้อมมุมของเดิมทางใต้ ก่อกำแพงเป็นแนวตรงกับกำแพงเดิมความยาว ๕๐ เมตร

ด้านทิศใต้ รื้อกำแพงเดิมระหว่างป้อมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้แล้วสร้างกำแพงใหม่ ความยาว ๓๖๐ เมตร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85579308784670_392944703_1719890761859930_103.jpg)
อาณาเขตพระบรมมหาราชวัง ประตู และป้อม สมัยรัชกาลที่ ๑

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95462400052282_393313729_1719892068526466_257.jpg)
อาณาเขตพระบรมมหาราชวัง ประตู และป้อม สมัยรัชกาลที่ ๒


ที่มา (ข้อมูล/ภาพประกอบ)  "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา


หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 ตุลาคม 2566 17:59:43
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35527177030841_Dusit_Maha_Prasat_06.23_Copy_.jpg)
พระมหาปราสาท
สถาปัตยกรรมที่แสดงพระราชอิสริยยศและอิสริยศักดิ์แห่งพระมหากษัตริย์


การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง

การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง เริ่มในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๕ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานด้วยเครื่องไม้ และรายรอบพระบรมมหาราชวังด้วยเสาระเนียดเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ทันกับการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕

ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชมณเฑียรสถานและระเนียดล้อมรอบพระราชวังจากเครื่องไม้มาเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน สร้างป้อมปราการและประตูรอบพระราชวังเช่นเดียวกับป้อมปราการของกรุงเทพมหานคร  สร้างพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา พระราชทานทานนามว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (เป็นการสืบทอดพระราชประเพณีที่มีมาแต่เดิม)  เมื่อการสร้างพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานเป็นการถาวรเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนและขนบประเพณีที่มีมาแต่อดีตกาลอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๒๘

ครั้นเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกๆ พระอารามทั้งในกรุงและนอกกรุงขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกๆ ใบเสมาๆ ละ ๑ รูปรอบพระนคร  พระราชทานเงินและขอแรงให้ข้าราชการทำข้าวกระทงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งสิ้น ตั้งโรงทานรายรอบพระนครพระราชทานเลี้ยงยาจกวนิพก มีมหรสพฉลอง ๓ วัน เป็นการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปพร้อมกันด้วย  ครั้นเสร็จการฉลองแล้วจึงพระราชทานพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์



ที่มา - (ข้อมูล)  "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา
      - (ภาพประกอบ) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 ตุลาคม 2566 17:42:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12810697365138_2_Copy_.jpg)
เครื่องยอดพระมหาปราสาท

ความสำคัญของรูปแบบสถาปัตยกรรม

ในสมัยที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบรมมหาราชวังคือศูนย์กลางของทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรเป็นสัญลักษณ์ในฝ่ายอาณาจักรและวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นสัญลักษณ์ในฝ่ายศาสนจักร สถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นแนวความคิดที่มีความหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพตามคติของพระพุทธศาสนาและทรงเป็นเทวราชหรือเทวราชาของศาสนาพราหมณ์

ตามแนวความคิดของสมมติเทพในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานยกฐานะของพระมหากษัตริย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ทรงปกครองโดยอาศัยหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาและทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงประกอบสังคหะวัตถุ ๔ เจริญพรหมวิหารตามรอยพระเจ้าธรรมิกราชที่มีกล่าวไว้ในไตรภูมิ นอกจากนั้นแนวคามคิดดังกล่าวนี้ยังถวายพระเกียรติในฐานะสมมติเทพในทางพระพุทธศาสนา คือ การยกฐานะขึ้นเทียบเสมอพระพุทธเจ้า ถวายพระนามว่า สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์ อันเป็นภาคหนึ่งแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนแนวความคิดของศาสนาพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทวราชา เปรียบดังพระวิษณุหรือพระนารายณ์อวตารลงมาดูทุกข์สุขของปวงชน ดังเช่นพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ นอกจากนั้นยังเปรียบเทียบฐานะของพระมหากษัตริย์เท่ากับพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในเทวภูมิ และสถิตอยู่ ณ ดาวดึงส์เหนือยอดเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีนามพระที่นั่งองค์ต่างๆ ที่คล้อยตามกับนามของพระอินทร์ ได้แก่พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีบัลลังก์ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็นเทวราชเหนือเขาพระสุเมรุโดยสร้างฐานพระราชบัลลังก์ประดับด้วยรูปสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขาในป่าหิมพานต์ เช่น สิงห์ ครุฑ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในพระบรมมหาราชวังจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความหมายกับองค์พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องให้ทรงเป็นสมมติเทวราชและการยอมรับในทางพุทธศาสนาให้เป็นสมเด็จพระหน่อพุทธางกูร อาคารและสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงเกิดขึ้นจากความศรัทธา ก่อให้เกิดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจงตามจินตนาการของช่างที่ได้ปรุงแต่งขึ้นแล้วแปลออกมาในรูปของสถาปัตยกรรมที่คาดว่าควรจะเกิดขึ้นในเทวโลก ทำให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

อิทธิพลของแนวความคิดดังกล่าวนี้สืบทอดมาจากวัฒนธรรรมของอินเดียทั้งทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ การรับอิทธิพลของแนวความคิดดังกล่าวนี้มิได้รับมาโดยตรงจากอินเดีย แต่รับมาจากวัฒนธรรมของขอมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) องค์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้ทรงรบชนะขอมซึ่งมีอำนาจในแถบสุวรรณภูมิมาช้านาน การรบชนะครั้งนี้ถือเป็นพระเกียรติยศให้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน  จึงทรงรับคติความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทวราชเปรียบดั่งพระนารายณ์หรือพระวิษณุอวตารลงมาให้ความอนุเคราะห์ด้วยการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ด้วยสถานภาพทางสังคมดังกล่าวนี้เป็นผลให้ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วยพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรที่งดงามวิจิตรตระการตาและมีรูปแบบที่แตกต่างไปกว่าคนสามัญและมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับความเป็นเทวราชขององค์พระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น  ฉะนั้นรูปแบบของพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรและศาสนสถาน จึงมีสัญลักษณ์ต่างๆ ตามแนวความคิดของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ประกอบกัน ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือ

พระมหาปราสาท เป็นงานสถาปัตยกรรมที่แสดงพระราชอิสริยยศและอิสริยศักดิ์แห่งพระมหากษัตริย์ มีลักษณะเป็นเรือนยอด ตัวอาคารเป็นรูปจตุรมุข มีองค์ประกอบตั้งแต่ยอดพระมหาปราสาทจนถึงฐานของอาคารที่มีความหมายถึงความเป็นเทวราชขององค์พระมหากษัตริย์

เครื่องยอด แบ่งได้เป็น ๓ ตอน ตอนแรกทำเป็นหลังคาซ้อนหลายชั้น ชั้นล่างมีขนาดใหญ่ ชั้นถัดขึ้นไปค่อยเล็กลงตามลำดับ หลังคาแต่ละชั้นมีหน้าจั่วจำลองที่เรียกว่า บันแถลง ประดับอยู่เป็นระยะๆ มีตัวไม้แบบนาคเบือนที่เรียกว่านาคปักอยู่ตามมุมหลังคาของทุกชั้น หลังคาตอนกลางเป็นรูปคล้ายระฆังแต่เป็นทรงสี่เหลี่ยมครอบอยู่บนยอดหลังคาชั้นแรกเรียกว่า คอระฆัง หลังคาชั้นบนสุดเป็นรูปคล้ายส่วนยอดของพระปรางค์เรียกว่า เหม ถัดจากนั้นไปเป็นส่วนปลายสุดลักษณะเรียวแหลม

แต่ละส่วนของเครื่องยอดดังกล่าวนี้มีความหมายเฉพาะตัวดังกล่าวคือ ส่วนแรกเป็นหลังคาแทนเขาพระสุเมรุหมายถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ ตามคติของไตรภูมิ ส่วนที่สองเป็นองค์ระฆังเป็นรูปจำลองของพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์สัญลักษณ์แทนองค์พระบรมศาสดา ส่วนเหมเป็นสัญลักษณ์ที่ประกาศให้เห็นความจริงในชั้นภูมิทั้งสาม เหนือขึ้นไปเป็นบัวกลุ่มแทนสภาพของจิตที่ปฏิบัติให้หลุดพ้น ปลีคือความสงบสุขหรือฌานขั้นต้น ลูกแก้วหมายถึงดวงปัญญาอีกขั้นหนึ่งคือมรรคแห่งการหลุดพ้น หยาดน้ำค้างคือสุญตาคือการหลุดพ้น

ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการจำลองเอาจักรวาลหรือไตรภูมิเทินไว้บนยอดหลังคา ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคติความเชื่อในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เข้าด้วยกัน ภายใต้รูปจำลองของจักรวาลดังกล่าวนี้มักจะตั้งพระแท่นราชบัลลังก์กางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ประดับของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระแท่นราชบัลลังก์ดังกล่าวนี้ก็จะมีฐานเป็นชั้นๆ แทนเขาพระสุเมรุ และแต่ละชั้นประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น สิงห์ และครุฑ ดังที่กล่าวแล้ว  นอกจากนั้นยังมีฐานชั้นเทพหรือเทวดาตั้งอยู่บนสุด ส่วนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงแผ่พระบารมีไปแปดทิศและทิศธรณีอีก ๑ ทิศ



ที่มา - (ข้อมูล/ภาพ)  หนังสือ "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา


หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 พฤศจิกายน 2566 18:52:38

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72435799530810_400048153_1732770930571913_599.jpg)
ครุฑรับไขยอดปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64229833707213_400091871_1732770793905260_286.jpg)
กำแพงแก้วล้อมรอบพระมหาปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88437819025582_399644441_1732771780571828_367.jpg)
เทวดารักษาพระทวาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44971432992153_399711996_1732770843905255_670.jpg)
หงส์รับไขยอดปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72480076675613_400078862_1732770743905265_566.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92207127685348_400039828_1732770690571937_826.jpg)
ซุ้มพระทวารเป็นทรงปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49462344621618_399337452_1732772397238433_394.jpg)
พระนารายณ์ทรงครุฑประดับที่หน้าบัน


ครุฑหรือหงส์รับไขรา  ในสมัยอยุธยา  ส่วนของรักแร้ปราสาทมักจะทำเป็น รูปหงส์ รับไขราของยอดปราสาท หงส์เป็นสัญลักษณ์ของพาหนะของพระพรหมซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าคู่กันกับพระอินทร์ซึ่งมีช้างเอราวัณเป็นช้างทรง แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังมีทั้งครุฑและหงส์รับไขราของยอดปราสาท เช่นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทซึ่งมีครุฑและหงส์รับไขรายอดปราสาทตามลำดับ สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้หมายถึงสัตว์หิมพานต์ทั้งสองเป็นผู้อภิบาลพระเป็นเจ้าหรืออีกนัยหนึ่งคือองค์พระมหากษัตริย์

คันทวย มีลักษณะเป็นนาคห้อยหัวลงมาเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงเป็นผู้ดูแลพระพุทธเจ้าตามคติของท้าวมหาชมพูบดีสูตรจึงนำนาคมาเกี้ยวไว้ตามชายคาหรือสองข้างบันไดเป็นการดูแลทางเข้าออก

ซุ้มพระทวารและพระบัญชร มีลักษณะเป็นทรงปราสาท เปรียบเสมือนซุ้มของทวยเทพที่จะรักษาพระมณเฑียร   ดังนั้นที่บานพระทวารและพระบัญชรจึงมักเขียนรูปทวารบาลเป็นรูปเทวดาเพื่อรักษาพระทวารและพระบัญชรนั้นๆ
 
หน้าบัน มักจะแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า พระนายรายณ์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์  ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ส่วนครุฑยุดนาคนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการสู้รบในหมู่สัตว์หิมพานต์

เครื่องลำยอง หมายถึงครุฑยุดนาคประกอบไปด้วยช่อฟ้าซึ่งหมายถึงหัวครุฑ ตัวลำยองแทนแขน ใบระกาแทนขนปีกของครุฑครึ่งหนึ่ง และครีบของนาคครึ่งหนึ่ง หางหงส์แทนตัวนาค

ทรงหลังคา หลังคาของพระมหาปราสาทมักจะเป็นหลังคาซ้อนกันหลายชั้นถือเป็นพระเกียรติยศยิ่ง หลังคาซ้อนมากขึ้นยิ่งถือเป็นผู้มีศักดิ์สูง  นอกจากนั้นวัสดุมุงมักจะใช้กระเบื้องทำด้วยดีบุกหรือหุ้มด้วยดีบุกซึ่งถือเป็นของสูงเช่นกัน

ฐานของอาคาร มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ ซึ่งเป็นคติที่รับมาจากวัฒนธรรมอินเดียที่ถือว่าสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติและความกล้า  ในหมู่ศากยวงศ์ก็ถือว่าสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของสกุล โดยที่อินเดียเป็นแม่บทของวัฒนธรรมและศาสนาที่หลายชาติยอมรับนับถือวัฒนธรรมนี้จึงได้แพร่ขยายมาในประเทศไทย

พระราชมณเฑียร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เปรียบได้กับเรือนของสามัญชน แต่มีการจัดระเบียบการใช้สอยและเพิ่มขนาดให้กว้างกว่าเรือนสามัญ ทรงหลังคามักจะซ้อนหลายชั้นเพื่อแสดงถึงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ส่วนพื้นจะมีหลายระดับ การเปลี่ยนระดับเช่นนี้ก็ถือเป็นการแสดงฐานะทางสังคมเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในหมู่พระมหามณเฑียร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระที่นั่งที่มีระดับพื้นสูงสุด เนื่องด้วยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ ส่วนพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีระดับพื้นสูงรองลงมาเนื่องด้วยเป็นที่ประทับและที่เฝ้าแหน และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมีระดับพื้นต่ำที่สุด เนื่องด้วยเป็นที่เสด็จออกขุนนางซึ่งถือว่ามีศักดิ์ที่ต่ำกว่า นอกจากนั้นที่หน้าบันของพระที่นั่งองค์ต่างๆ ในหมู่พระมหามณเฑียรจะแกะสลักไม้เป็นรูปเทวดาประจำทิศต่างๆ เพื่อปกป้องรักษาพระมหามณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้นพระมหาปราสาทและพระราชมณะฑียรจะล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเช่นเดียวกับกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ ทั้งนี้ก็ด้วยคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมเด็จพระหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์เสด็จลงมาเสวยพระชาติบำเพ็ญพระบารมีในโลกมนุษย์  พระมหาปราสาทอันเป็นที่ประทับนั้นเปรียบได้กับธรรมสภา จึงสมควรทำกำแพงแก้วจำลองขึ้นเพื่อแสดงถึงฐานะนั้นด้วย

สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ได้ปรากฏที่พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในแต่ละรัชกาล และได้ยุติลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังอื่นเป็นส่วนมาก พระบรมมหาราชวังจึงเป็นเพียงสถานที่ประกอบพระราชพิธีเท่านั้น

ตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีในช่วง ๕ รัชกาลนั้นได้มีการสร้างและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังหลายประการ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว หลังจากนั้นได้มีการสร้างอาคารเพิ่มเติมและรื้อถอนอาคารบางหลังออกไป มีการบูรณปฏิสังขรณ์ มีการปรับปรุงผังบริเวณ ตัดถนนเป็นเส้นทางสัญจรใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยในบางอาคาร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุผลและอิทธิพลด้านต่าง ๆ เช่น ด้วยพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ด้วยความเหมาะสมกับนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งอิทธิพลจากต่างประเทศในทางการค้ากับจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทางการเมืองกับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ล้วนเป็นเหตุให้เกิดลักษณะของรูปทางของสถาปัตยกรรมที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงรัชกาล



ที่มา - (ข้อมูล/ภาพ)  "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา


หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มกราคม 2567 19:06:09
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57902641097704_70_1280_Copy_.jpg)
พระราชฐานชั้นกลาง
http://wikimapia.org/ (ที่มาภาพประกอบ)

พระราชฐานชั้นกลาง

พระราชฐานชั้นกลางมีบริเวณอยู่ในส่วนกลางของพระบรมมหาราชวัง ด้านทิศเหนือติดต่อกับพระราชฐานชั้นนอกและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับพระราชฐานชั้นใน ส่วนด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดกับกำแพงพระราชวังชั้นในทั้งสองด้าน

พระราชฐานนี้เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ซึ่งเป็นอาคารที่สำคัญสูงสุดในพระบรมมหาราชวัง ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่เสด็จออกขุนนางเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในการปกครองประเทศ ตลอดจนเป็นที่เสด็จออกรับพระราชสาส์นตราตั้งจากทูตานุทูตต่างประเทศ ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระราชวังอื่นเป็นส่วนมาก พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานจึงเป็นมณฑลที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น  นอกจากนั้นยังเป็นที่เสด็จออกรับพระราชสาส์นตราตั้งจากทูตานุทูตต่างประเทศเช่นเดียวกับในอดีตและเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะอีกด้วย

พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานแห่งนี้ ส่วนใหญ่ได้สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงเทพมหานครก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นพร้อมๆ กัน โดยให้สร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นหมู่หนึ่งเป็นการชั่วคราว และได้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่พระราชมณเฑียรแห่งนี้ หลังจากนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานเป็นการถาวรขึ้น ๒ หมู่ ได้แก่ หมู่พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทและหมู่พระมหามณเฑียร พื้นที่ทั้ง ๒ ข้างของพระที่นั่งทั้งสองหมู่ให้จัดเป็นสวนในพระราชวัง เรียกว่า สวนซ้าย และ สวนขวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สวนขวา” ของพระมหามณเฑียรให้จัดเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสที่งดงามยิ่ง หลังจากที่พระที่นั่งอินทราภิเษกปราสาทได้สร้างสำเร็จลงก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชทานพิธีพบรมราชาภิเษกเต็มตามโบราณราชประเพณีอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.๒๓๒๘ ต่อมาพระที่นั่งองค์นี้ถูกเพลิงไหม้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทนในตำแหน่งที่ตั้งเดิม นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เขื่อนเพ็ชร กั้นระหว่างพระมหาปราสาทและพระมหามณเฑียรทั้งสองหมู่ พื้นที่ด้านทิศเหนือเป็นเขต ฝ่ายหน้า และด้านทิศใต้เป็นเขต ฝ่ายใน

พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ประทับอยู่ที่พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานแห่งนี้ตลอดมาถึง ๓ รัชกาล รวมระยะเวลาประมาณ ๗๐ ปี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อกับประเทศทางตะวันตก เช่น การเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษในสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย การติดต่อกับบาทหลวงในทางการศาสนา และจากการที่รัชกาลที่ ๔ ทรงมีความรู้ทางภาษาอังกฤษอยู่แล้วและทรงตระหนักดีว่าการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและการติดต่อกับต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทรงเห็นว่าควรจะมีพระที่นั่งที่เหมาะสมกับการต้อนรับแขกเมืองตามธรรมเนียมของชาวตะวันตก และมีที่จัดวางเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับมาจากต่างประเทศให้เหมาะสมด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรแบบตะวันตกขึ้นหมู่หนึ่งในสวนขวา พระราชทานนามว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ และได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระราชมณเฑียรแห่งใหม่นี้จนเสด็จสวรรคต ณ ที่นั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงที่มีการติดต่อกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และอินเดียเมื่อต้นรัชกาล ได้ทอดพระเนตรความเจริญของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้พัฒนาไปตามแบบตะวันตกแล้ว เมื่อเสด็จกลับมาจึงได้นำสถาปนิกชาวอังกฤษผู้ซึ่งเคยออกแบบทำเนียบรัฐบาลของสิงคโปร์มาออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสวนซ้ายของพระมหามณเฑียร พระราชทานนามว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และต่อมาก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกหลายองค์ต่อเนื่องกันไปกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมเป็นพระราชมณเฑียรหมู่ใหญ่ และได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระที่นั่งหมู่นี้จนถึงปลายรัชกาล และต่อมาได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ.๒๔๕๓

ในรัชกาลต่อมา พระมหากษัตริย์ได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระราชวังอื่นเป็นส่วนมาก พระบรมมหาราชวังจึงเป็นเพียงมณฑลที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ จึงไม่มีการสร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นอีก นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งบางองค์ขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/14569172180361__Copy_.jpg)
“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช ๒๓๓๒”
จิตรกรรมจากโคลงพระราชพงศาวดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมกวีและจิตรกร
แต่งโคลงและวาดภาพพระราชพงศาวดาร จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน
(พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกในพระบรมมหาราชวัง สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งองค์ )


หมู่พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท
หรือ หมู่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท

พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระที่นั่งองค์แรกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ณ ด้านทิศตะวันตกของพระราชฐานชั้นกลาง อันเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในปัจจุบัน

เมื่อการสร้างพระที่นั่งสำเร็จลงใน พ.ศ.๒๓๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เต็มตามโบราณราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งที่พระที่นั่งองค์นี้ อีกทั้งยังเสด็จฯ มาประทับเป็นครั้งคราว โดยทรงใช้พระฉากกั้นมุขหลังเป็นที่บรรทมและเสด็จออกว่าราชการที่มุขหน้า

ใน พ.ศ.๒๓๓๒ ได้เกิดฝนตกฟ้าผ่าตรงมุขเด็จพระที่นั่ง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่เครื่องบนพระมหาปราสาท และไฟได้ลามไม้จนหมดองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อออกทั้งองค์ และสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทองค์ปัจจุบันขึ้นแทน

ลักษณะสถาปัตยกรรม พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นตามแบบแผนของพระมหาปราสาทราชมณเฑียรครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ มีพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งประธาน มี พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนจันทร์ เป็นเรือนบริวาร มีขนาด และ ความสูง เท่ากับ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มีพระราชวังหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นพระที่นั่งรูปจตุรมุข ตรงกลางยกยอดปราสาท มุขหน้าและมุขหลังยาวกว่ามุขด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนมุขหลังยาวไปจดพระปรัศว์ซ้ายและพระปรัศว์ขวา พระที่นั่งองค์นี้หลังคาดาดด้วยดีบุก ยอดหลังคามีบราลี และใช้คันทวยรับไขรายอดปราสาททั้ง ๔ มุม


ที่มาข้อมูล (ยกเว้นคำบรรยายประกอบภาพ)  "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง" สำนักราชเลขาธิการ จัดพิมพ์น้อมเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา