[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 11:44:11



หัวข้อ: ชัมบาลา : บทที่ ๒ ค้นหารากฐานแห่งความดีงาม
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 11:44:11


(http://www.chinabooks.ch/catalog/images/61.0041.jpg)

ชัมบาลา : บทที่ ๒ ค้นหารากฐานแห่งความดีงาม

" อาศัยเพียงการหยุดตั้งมั่นลงตรงนั้น ชีวิตของคุณ
ก็อาจกลายเป็นหนทาง และแม้กระทั่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์
ทีเดียว คุณย่อมตระหนักได้ว่า
คุณสามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ดุจราชันหรือราชินี ความสูงส่ง
ของสภาวะนี้ ขานไขให้เห็นถึง
ความยิ่งใหญ่ซึ่งก่อเกิดการหยุดนิ่งและเรียบง่าย "

......ความปั่นปวนสับสนมากมายในโลกอุบัติขึ้น เพราะเหตุที่ผู้คนมิได้แลเห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะการที่ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจและอ่อนโยนต่อตัวเอง เขาจึงไม่อาจเข้าถึงความกลมกลืนหรือสันติสุขภายในได้ ดังนั้นเองสิ่งที่เขากระทำต่อผู้อื่นจึงขาดความกลมกลืนและสับสนด้วยเช่นกัน แทนที่จะแลเห็นคุณค่าความหมายของชีวิต เรามักจะไม่ใส่ใจต่อภาวะการดำรงอยู่ของเรา หรือไม่ก็รู้สึกว่ามันกดดันหน่วงหนัก ผู้คนถูกบีบคั้นให้ฆ่าตัวตาย เพราะเขาไม่ได้รับสิ่งที่เขาคิดว่าควรจะได้จากชีวิต เขาข่มขู่ผู้อื่นด้วยการฆ่าตัวตาย ขู่ว่าเขาจะฆ่าตัวตายถ้าสิ่งนั้นไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแน่นอนว่า เราควรจะจริงจังกับชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องผลักดันตัวเองไปจนถึงขอบเขตแห่งหายนะ โดยการบ่นพร่ำถึงปัญหาของตัวเอง หรือตำหนิติเตียนโลก เราจะต้องรับผิดชอบตัวเองเพื่อที่จะสามารถยกชีวิตของตนให้สูงขึ้น
 
..... เมื่อใดที่คุณเลิกประณามหรือลงโทษตัวเอง เมื่อคุณผ่อนคลายมากขึ้น และให้ความสำคัญแก่ร่างกายและจิตใจ เมื่อนั้นคุณก็เริ่มรู้สึกได้ถึงรากฐานแห่งความดีงามในตัวเอง ด้วยเหตุนี้เอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องมีความตั้งใจ ที่จะเปิดเผยตัวเองให้ตนเองได้รับรู้ การสร้างเสริมความรู้สึกอ่อนโยนต่อตนเองจะช่วยเอื้อให้คุณเห็นทั้งปัญหาและ ศักยภาพของตนได้อย่างชัดแจ้ง คุณไม่จำเป็นต้องเพิกเฉยต่อปัญหาหรือโอ่อวดศักยภาพของตน ความรู้สึกอ่อนโยนต่อตนเองและการเห็นคุณค่าของตนเองนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก มันคือพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น
 
......ในฐานะมนุษย์ เรามีวิถีทางอยู่ภายในตัวเองแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถยกระดับภาวะภายในและนำความผ่องแผ้วเบิกบานมาสู่ตัวเรา วิถีทางสายนั้นรอคอยให้เราก้าวเดินไปอยู่ตลอดเวลา เรามีจิตใจและมีร่างกาย ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสมบัติล้ำค่าของเรา เพราะเหตุที่เรามีจิตและร่าง เราจึงสามารถเรียนรู้และเข้าใจโลกนี้ได้ ภาวะการดำรงอยู่นั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์และทรงคุณค่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ดังนั้นในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เหตุใดจึงไม่ใช้มันอย่างเต็มเปี่ยม และก่อนที่จะใช้มัน เหตุใดเราจึงไม่ตระหนักถึงคุณค่าของมันอย่างเต็มที่
 
......เราจะค้นพบการตระหนักถึงคุณค่านี้อย่างไร การคิดใฝ่ฝันหรือ เพียงแค่การพูดถึงก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ในวัฒนธรรมชัมบาลา วิธีในการสร้างเสริมความอ่อนโยนต่อตัวเอง และการตระหนักถึงความหมายของโลกนี้ ก็คือการนั่งสมาธิ การปฏิบัติสมาธินี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนสั่งเมื่อกว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมชัมบาลา สืบมาตั้งแต่บัดนั้น มันยืนพื้นอยู่บนวัฒนธรรมของการบอกเล่า ตั้งแต่ครั้งพระพุทธองค์ การปฎิบัติแนวนี้ได้ถูกถ่ายทอดจากคนคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยนัยนี้ มันจึงยังเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิต ดังนั้น แม้ว่ามันจะเป็นแบบแผนการปฎิบัติอันเก่าแก่ แต่มันก็ยังคงใหม่สดอยู่เสมอ ในบทต่อไปนี้ เรากำลังจะถกด้วยเรื่องวิธีการปฎิบัติสมาธิ และรายละเอียดต่างๆ แต่จำเป็นที่จะต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ถ้าคุณต้องการจะเข้าใจถึงการปฎิบัตินี้อย่างแจ่มชัด คุณจำต้องได้รับคำแนะนำอบรมเป็นส่วนตัว
 
......สมาธิภาวนาในที่นี้เราหมายถึงสิ่งธรรมดาสามัญอันเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุด และมิใช่สมบัติเฉพาะของวัฒนธรรมใด เรากำลังพูดถึงกิจกรรมพื้น ๆ ที่สุด เช่นการนั่งลงบนพื้น ขยับกายให้มั่นคงและสร้างความรู้สึกว่าตัวเราอยู่ตรงนี้ อยู่บนพื้นโลกขึ้นมา นี่คือวิธีการในการค้นหาตัวเองและความดีงามพื้นฐาน เป็นวิธีการสำหรับปรับตนเข้าสู่การรับถึง สัจจะอันแท้จริง โดยปราศจากความคาดหวังหรือความนึกคิดคาดเดาใด ๆ
 
......คำว่าสมาธิภาวนาบางครั้งก็ใช้หมายถึงการเพ่งพินิจพิจารณาดูบางสิ่งบางอย่าง ภาวนาในเรื่องนี้ โดยการภาวนาตริตรึกในปัญหาหรือข้อยุ่งยากบางประการ เราก็อาจพบทางออกได้ บางครั้งสมาธิภาวนายังถูกใช้เพื่อนำไปสู่สภาวะทางจิตบางอย่างโดยการเข้าฌานสมาบัติ แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงสมาธิภาวนาโดยความหมายซึ่งแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คือสมาธิที่ปราศจากเหตุและปัจจัย ปราศจากจุดหมายหรือความคิด คิดในจิต ในวัฒนธรรมชัมบาลาสมาธิภาวนาเป็นเพียงการฝึกฝนสภาวะแห่งการดำรงอยู่เพื่อให้กายและจิตบรรสานกัน โดยการปฏิบัติสมาธิภาวนา เราอาจเรียนรู้ที่จะเลิกหลอกตนเอง เผชิญความจริงและดำรงชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
 
......ชีวิตของเราเป็นการเดินทางอันไร้จุดจบ เหมือนกับหนทางใหญ่ที่ทอดยาวออกไปสู่เบื้องหน้ามิรู้สิ้นสุด การปฎิบัติสมาธิภาวนาเอื้อให้เกิดยานที่จะใช้เดินทางไปบนเส้นทางสายนั้น ในการเดินทางของเราเต็มไปการขึ้น ๆ ลงตลอดเวลา ทั้งความมุ่งหวังและความกลัว แต่มันก็เป็นการเดินทางที่ไม่เลว
การปฎิบัติสมาธิเอื้อให้เราสามารถรับรู้ถึงพื้นผิวของถนนซึ่งเรากำลังเดินทางไป โดยการปฎิบัติสมาธิ เราจะเริ่มพบว่าภายในตัวเองนั้นไม่มีรากฐานของความไม่พึงพอใจต่อใครหรือต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เลย
 
การทำสมาธิเริ่มด้วยการนั่งลงขัดสมาธิบนพื้น คุณจะเริ่มรู้สึกได้ว่าอาศัยเพียงการหยุดตั้งมั่นลงตรงนั้น ชีวิตของคุณก็อาจกลายเป็นหนทางและแม้กระทั่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทีเดียว คุณย่อมตระหนักได้ว่าคุณสามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ดุจดังราชันหรือราชินี ความสูงส่งของสภาวะนี้ขานไขให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการหยุดนิ่งและเรียบง่าย
 
......ในการปฎิบัติสมาธิ การตั้งกายตรงเป็นสิ่งสำคัญมาก การเหยียดหลังตรงมิใช่ท่าทางที่ขัดธรรมชาติ หากเป็นธรรมชาติพื้นฐานที่สุดของร่างกายมนุษย์ เมื่อร่างกายของคุณโอนเอียงง่อนแง่น นั่นแหละจึงผิดธรรมชาติ คุณไม่อาจหายใจได้สม่ำเสมอเมื่อร่างกายโอนเอียง ความโอนเอียงนี้ยังเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการยอมจำนนแก่โรคจิตประสาท ดังนั้นเมื่อคุณนั่งตัวตรง คุณจึงอาจประกาศก้องต่อตนเองและต่อโลกทั้งมวลว่าคุณกำลังจะเป็นนักรบ เป็นมนุษย์ที่แท้จริงแล้ว
 
......การยึดการตั้งตรงไม่จำเป็นที่จะต้องไปฝืนตัวเองโดยการเกร็งตัวยกไหล่ ความตั้งตรงนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการานั่งอย่างง่าย ๆ ทว่ามั่นอกมั่นใจ ไม่ว่าจะนั่งอยู่อยู่บนพื้นหรือบนเบาะ ต่อจากนั้น เพราะเหตุที่หลังของคุณตั้งตรง คุณจึงไม่รู้สึกขวยเขินกระดากกระเดื่องแต่อย่างใด ดังนั้นคุณจึงมิได้ก้มหัวลง คุณจะไม่ยอมโอนอ่อนให้แก่สิ่งใด ดังนั้นเอง หัวไหล่ของคุณจึงเหยียดตรงโดยอัตโนมัติ นี่เองคุณจึงรู้สึกได้ถึงท่าทางอันเหมาะสมของศีรษะและไหล่ จากนั้นคุณจึงอาจพักขาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ในท่วงท่าขัดสมาธิ เข่าของคุณจึงไม่จำเป็นต้องราบชิดกับพื้น คุณทำให้ท่วงท่านี้สมบูรณ์ขึ้นโดยการวางมือลงแผ่วๆ หันฝ่ามือลงบนขาอ่อน นี่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า เราได้ดำรงอยู่ในที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว
 
......ในท่วงท่าดังกล่าว คุณไม่จำเป็นต้องเพ่งมองไปรอบๆ อย่างไร้จุดหมาย เพราะเหตุที่คุณมีความรู้สึกว่าคุณดำรงอยู่ตรงนั้นอย่างเหมาะสมแล้ว ดังนั้นดวงตาของคุณจึงเปิดอยู่ แต่สายตาเพ่งตรงออกไปบนพื้นเบื้องหน้า ห่างสัก 6 ฟุต โดยนัยนี้ สายตาของคุณก็จะไม่วอกแวก ทว่ามีความรู้สึกถึงความรอบคอบรัดกุมและหนักแน่นมั่นคงยิ่ง คุณอาจพบท่วงท่านี้ได้จากงานปฎิมากรรมบางชิ้นของอิยิปต์และอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับรูปปฎิมากรรมของทางตะวันออก มันเป็นท่วงท่าสากลมิได้จำกัดอยู่กับวัฒนธรรมหรือยุคสมัยใด
 
......ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน คุณจำต้องตระหนักถึงท่วงท่าของตนเองทั้งศีรษะและไหล่ ต้องรู้ว่าเดินอย่างไร มองดูคนอื่นอย่างไร แม้ในขณะที่คุณมิได้ทำสมาธิ คุณก็อาจดำรงไว้ซึ่งสภาวะอันลุ่มลึกนี้ได้ คุณอาจขึ้นอยู่เหนือความกระดากอายของตนเอง และมีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นมนุษย์ ความภาคภูมิใจดังกล่าวเป็นสิ่งดีงามและสามารถยอมรับได้
 
......ขั้นต่อมาในการปฎิบัติสมาธิ หลังจากที่คุณนั่งได้ถนัดดีแลัว คุณก็ต้องหันมาพิจารณาดูลมหายใจ เมื่อคุณหายใจ คุณก็ต้องตระหนักรู้ว่าตัวเองดำรงอยู่ที่นั่นและดำรงอยู่อย่างเหมาะสม เมื่อผ่อนลมหายใจออก ลมก็หายใจออกอีก ดังนั้นจึงมีการออกไปกับลมหายใจออกอยู่ตลอดเวลา เมื่อคุณหายใจออก ตัวคุณก็จางไป กระจายหายไป ครั้นแลัวลมหายใจเข้าก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คุณไม่จำเป็นต้องติดตามกลับเข้ามา คุณเพียงแต่กลับมาอยู่กับท่วงท่า และพร้อมที่จะหายใจออกอีก ออกไปและละลายตัวเองไป พรู กลับมาอยู่ที่ท่วงท่าอีก แล้วก็พรู และกลับมาอยู่กับท่วงท่าอีกครั้ง
 
......ครั้นต่อมาก็มีสิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เกิดขึ้น ปิ๊ง! ความคิดนั่นเอง พอถึงจุดนี้คุณก็เพียงแต่พูดว่า "ความคิด" ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาดังๆ เพียงแต่กล่าวในใจว่า "ความคิด" การเอ่ยเรียกความคิดจะช่วยปรับให้กลับมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจใหม่ เมื่อมีความคิดหนึ่งใดชักนำคุณหันเหออกนอกทางที่คุณเดินอยู่ เมื่อคุณไม่รู้ตัวว่ากำลังนั่งอยู่บนเบาะ จิตของคุณไพล่ไปอยู่เสียที่ซานฟรานซิสโกพรือที่นิวยอร์ค คุณก็เพียงแต่พูดว่า "เจ้าความคิด" และกลับมาสู่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง
 
......ไม่สำคัญหรอกว่าจะมีความคิดแบบใดเกิดขึ้น เพราะในการนั่งสมาธิ ไม่ว่าคุณจะมีความคิดอันเลวทรามหรือสูงส่ง ทั้งหมดถูกถือเป็นความคิดเช่นเดียวกัน ไม่มีทั้งบุญหรือบาป คุณอาจมีความคิดอยากฆ่าพ่อของตัวเอง หรืออาจอยากชงน้ำมะนาวกินกับคุ๊กกี้ โปรดอย่าได้ตกอกตกใจกับความคิดของตนเอง ความคิดทุกประการล้วนเป็นเพียงความคิดเท่านั้น ไม่มีความคิดใดที่จะได้รับรางวัลหรือถูกประฌาม เพียงแต่ปิดป้ายยี่ห้อว่า "ความคิด" แล้วก็กลับไปสู่ลมหายใจอย่างเก่า "ความคิด" กลับไปสู่ลมหายใจ "ความคิด" กลับไปสู่ลมหายใจ
 
......การปฎิบัติสมาธินั้นเป็นสิ่งแน่นอนตายตัวยิ่ง มันจะต้องดำรงอยู่ ณ ที่นั้น หยังลงตรงจุดนั้น มันเป็นงานที่หนักหน่วงไม่น้อย แต่ถ้าคุณจดจำความสำคัญของท่วงท่าการนั่งได้ นั่นจะช่วยปรับสัมพันธภาพระหว่างกายกับจิต ถ้าคุณนั่งไม่ถูกต้อง การปฎิบัตินั้นก็จะต้องเป็นเหมือนกับม้าขาเสีย ที่จะพยายามลากเกวียน มันคงไม่สำเร็จผลเป็นแน่ ดังนั้นขั้นแรกคุณจึงต้องนั่งลงและจัดท่วงท่าให้เหมาะสม ถัดมาก็เฝ้าติดตามลมหายใจพรู ออก กลับมาสู่ท่วงท่า พรู กลับมาสู่ท่วงท่า พรู เมื่อเกิดมีความคิดขึ้นก็ปิดป้ายฉลากเรียกมันว่า "ความคิด" และกลับมาสู่ท่าเดิม กลับมาสู่ลมหายใจ คุณจะมีจิตกระทำการร่วมไปกับลมหายใจ และมีร่างกายเป็นจุดกำหนด คุณมิได้กระทำการร่วมกับจิตใจเพียงลำพังเท่านั้น หากร่วมไปกับจิตและกายพร้อมกันเลยทีเดียว และเมื่อทั้งสองส่วนร่วมกันเป็นอันดีแล้ว คุณก็จะไม่ห่างเหินไปจากความเป็นจริง
 
สภาวะอุดมคติแห่งความสงบนั้นก่อเกิดจากประสบการณ์แห่งการประสานสอดคล้องระหว่างกายและใจ ถ้ากายและใจไม่ประสานกันเมื่อนั้นร่างกายก็จะโอนเอนไม่มั่นคง จิตก็จะฟุ้งซ่านไป มันเหมือนกับกลองชั้นเลวที่ทำขึ้นมาอย่างลวกๆ หนังกลองนั้นขึงไม่พอดีกับขอบกลองดังนั้น ไม่ขอบกลองแตกก็หนังฉีกขาด ขาดความคงทนถาวร ดังนั้นเมื่อกายและจิตประสานกัน และด้วยเหตุที่ดำรงอยู่ในท่วงท่าอันเหมาะสม ลมหายใจของคุณก็จะดำเนินไปตามธรรมชาติ และด้วยเหตุที่ท่วงท่าและลมหายใจประสานกัน จิตของคุณก็จะมีหลักยึดสำหรับเหนี่ยวรั้งตนเอง ดังนั้นจิตของคุณจึงออกไปกับลมหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ
 
......วิธีในการประสานจิตกับกายเข้าด้วยกันนี้ คือการฝึกตนเองให้เรียบง่ายที่สุดและให้รู้สึกได้ว่าตนเองไม่ได้มีความพิเศษแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นคนธรรมดาสามัญ สามัญอย่างยิ่ง คุณเพียงแต่นั่งง่าย ๆ ประดุจดั่งนักรบ และจากจุดนี้เองที่ความรู้สึกภาคภูมิของปัจเจกชนได้ผุดขึ้นมา คุณนั่งอยู่บนพื้นโลกและคุณก็ตระหนักได้ว่าโลกยอมรับคุณและคุณก็ยอมรับโลกนี้ คุณดำรงอยู่ที่นั่นอย่างเต็มเปี่ยมเพียงลำพังและแท้จริง ดังนั้นการปฎิบัติสมาธิในแนวชัมบาลาจึงมุ่งเพื่อขัดเกลาคนให้เป็นคนจริงและสัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง
 
......ในบางแง่มุม เราจะต้องถือว่าเรามีภาระหน้าที่อยู่ คือภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันแก้ไขแบ่งเบาปัญหาของโลกนี้ เราไม่อาจละเลยความรับผิดชอบต่อผู้อื่นได้ แต่ถ้าหากเราปฎิบัติภาระหน้าที่นี้อย่างเบิกบาน เราก็อาจช่วยไถ่กู้โลกได้จริง ๆ ทีเดียว หนทางคือเริ่มต้นที่ตนเอง จากความเปิดกว้างและสัตย์ซื่อต่อตนเอง เราก็อาจเรียนรู้ที่จะเปิดเผยต่อผู้อื่น ดังนั้นเราก็อาจกระทำการร่วมกับโลกทั้งหมด จากพื้นฐานของความดีงามซึ่งเราค้นพบในตนเอง ดังนั้น การปฎิบัติสมาธิจึงถือเป็นวิถีทางที่ยอดเยี่ยมในการยุติสงครามที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามภายในตนเองหรือสงครามภายนอก

(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRGUW8s2tDZInOf6nKbpUfvMr7O0UGaHhgnW0yQcfZ0QRaT5j6gwA)

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,6621.0.html