[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
03 พฤษภาคม 2567 11:33:48 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์  (อ่าน 1762 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5470


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2560 17:04:18 »



คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์
เลขทะเบียน ๐๑/๔/๒๕๑๗(๒)
แบบศิลปะ/อายุสมัย รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ชนิด ใบลาน ไหม ไม้ลงรักปิดทองเขียนสี
ขนาด กว้าง ๖ เซนติเมตร ยาว ๕๖.๕ เซนติเมตร
ประวัติ ศาสตราจารย์เดือน บุนนาค มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๗
สถานที่เก็บรักษา ห้องประณีตศิลป์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติต์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ กระทรวงวัฒนธรรมมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์” ณ พระนั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘-๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างอเนกอนันต์ต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด พัฒนา และเผยแพร่งานประณีตศิลป์ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย โดยคัดสรรผ้าไทยและเครื่องแต่งกายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศมาจัดแสดง

หัวข้อแรกของนิทรรศการวิจิตรภูษาพัสตราภรณ์ คือ “ภูมิหลังคลังผ้า” กล่าวถึงหัตถกรรมผ้าว่าเป็นการประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ทุกท้องถิ่น ทุกชุมชนในแผ่นทดินที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน กรมศิลปากรเก็บรวบรวมและจัดแสดงผ้าและเครื่องแต่งกายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่ล้วนมีคุณค่าทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะและชาติพันธุ์วิทยา แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอในการสร้างสรรค์หนึ่งในวัตถุชิ้นเยี่ยมในความดูแลของกรมศิลปากรที่คัดเลือกมาจัดแสดงในหัวข้อ คือ คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์

คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์ อักษรขอมภาษาบาลี ทอด้วยเส้นไหมเป็นผืนยาว พื้นสีแดงตัวอักษรสีเหลืองทอง จำนวน ๒๖ ลาน มีข้อความจำนวน ๒๒ ลาน และเป็นแผ่นเปล่าจำนวน ๔ ลาน แต่ละลานมีสองด้านโดยทอเป็นสองผืนเสริมความแข็งแรงด้วยใบลานและเย็บริมให้ติดกันเป็นชิ้นเดียว มีสายสนองไหม ร้อยในรูที่เจาะเอาไว้กลางลานฝั่งซ้ายเพื่อมัดลานทอรวมเข้ากันเป็นผูก กึ่งกลางริมซ้ายด้านหลังของแต่ละลานมีตัวเลขบอกลำดับของลาน ท้ายคัมภีร์จำแนกพระไตรปิฎก ได้แก่ พระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสูตร ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมเป็น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  คัมภีร์ลานทอมีไม้ประกับลายกำมะลอเป็นลายเถาไม้ ๑ คู่ ห่อด้วยผ้าเข้มขาบ

โดยปกติคัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์จัดแสดงในห้องประณีตศิลป์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คัมภีร์นี้เป็นงานทอเป็นตัวอักษรด้วยไหมสี ซึ่งช่างผู้ทอจะต้องมีความสามารถทั้งด้านการทอและรู้หนังสือขอม สันนิษฐานว่าทอโดยช่างในราชสำนักราวรัชกาลที่ ๓-๔



บน หน้าลานสุดท้าย ริมซ้ายของลานมีตัวเลข ๒๒ บอกลำดับลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์
ล่าง รายละเอียดของเส้นใยการทอตัวอักษร คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์


ห่อคัมภีร์ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉบับรดน้ำดำโท รัชกาลที่ ๓ พร้อมฉลากผ้าทอ
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ อาคาร ๒ ชั้น ๔

พนักงานกลับกระช่างทอผ้า รัดคัมภีร์ที่มีตัวหนังสือขอม
ในพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ สมณศาสนพระเถระธรรมยุติกา มีไปยังลังกาทวีป เป็นเอกสารที่ระบุว่าช่างทอผ้ารัดคัมภีร์ที่มีตัวหนังสือขอม (ฉลากทอ) มีตำแหน่งเรียกว่า “พนักงานกลับกระ” โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงเริ่มเรียนหนังสือขอมกับคุณนก พนักงานกลับกระ ดังนี้

“เมื่อพระชนม์ได้ ๗ พรรษา ได้ทรงศึกษาหนังสือในชั้นต้นในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ พระองค์เจ้าหญิงกฤษณาอยู่ ๒ ปี พอทรงอ่านเขียนได้แล้วทรงเรียนเลขกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ กรมหลวงวรเสรฐสุดา จนบวกลบคูณหารได้ แล้วหัดอ่านหนังสือขอมกับคุณนกพนักงารกลับกระ (คือช่างทอผ้ารัดคัมภีร์ที่มีตัวหนังสือขอม) แลทรงเรียนมคธภาษา กับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) เมื่อยังเปนหลวงราชาภิรมย์”

การศึกษาชั้นต้นของพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นเหมือนกันคือ ในชั้นต้นจะศึกษากับครูผู้หญิงที่ในพระบรมมหาราชวังเหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง โดยเริ่มเรียนภาษาไทยเมื่อเจริญพระชนม์ ๓ ชันษาไปจนถึงราว ๗ ชันษา การเล่าเรียนของพระองค์ชายกับพระองค์หญิงจึงเริ่มแยกกัน พระองค์ชายเรียนภาษามคธกับครูผู้ชาย สำหรับพระองค์หญิงก็เริ่มฝึกหัดการเรือนกับครูผู้หญิง

ครูผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำ ว่า “ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้เด็กผู้หญิงลูกผู้ดีที่ไปอยู่ในวังเรียนอ่านและหัดเขียนหนังสือไทยหนังสือขอม ให้อาลักษณ์สอนที่ตำหนักแพ ผู้ที่เรียนสำเร็จได้รับราชการเป็นเสมียน อยู่มาได้เป็นครูสอนหนังสือเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์หลายคน

คุณนกพนักงานกลับกระ นอกจากจะเป็นผู้สอนหนังสือขอมแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์แล้ว ยังเป็นครูสอนหนังสือไทยแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอนุชาอีกด้วย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงบันทึกใน พระประวัติตรัสเล่า ดังนี้ “...เราได้รับความศึกษาเป็นครั้งแรกที่นกพนักงานซึ่งเราเรียกว่า คุณยายนก อายุเท่าไรไม่แน่ แต่ยังเด็กมาก ยายของเรา [ท้าวทรงกันดาล (ศรี) – ผู้เขียน] ฝากให้เรียนหนังสือไทย ไปเรียนเป็นเวลาแล้วกลับมาตำหนักฯ ขอบคุณคุณครูนกของเรา แกเป็นผู้มีใจดี มีอัชฌาสัยเยือกเย็น ไม่ดุ น่ารัก น่านับถือ เป็นผู้มีสัตย์ ไม่กลับคำให้เสียความวางใจ แรกแกสอนให้อ่านและจำตัว ก ข เพียง ก ถึง ง และว่าถ้าจำได้แล้ว วันนั้นจักให้หยุดและให้เล่น เราเชื่อแก อ่านครู่เดียวจำได้ แกให้หยุดจริงๆ แต่ในวันหลังๆ แกเห็นว่าเรียนวันละตอนคล่องแล้ว แกก็เพิ่มเป็นสองตอนขึ้น แจกลูกวันละไม่ถึงแม่ หรือแม่หนึ่งขึ้นไปโดยลำดับ เราเชื่อคุณครู เราสมัครทำตาม ด้วยไม่พักเดือดร้อน เรียนแต่อ่าน ไม่ได้หัดเขียน ความรู้หนังสือที่เราได้จากแกครั้งนั้นไม่เท่าไรนัก แต่เราได้คุณสมบัติสำคัญจากแก คือ รู้จักสมัครทำตามคำของครู เป็นเหตุไม่ต้องถูกเคี่ยวเข็ญถูกดุถูกตี เพราะการเล่าเรียนเลย เรียนในสำนักครูผู้ใด ครูผู้นั้นรักทุกคราวมา ครั้นเราเป็นครูเขาขึ้นเอง เราก็ไม่ชอบดุ แม้ปกติของเรามีโทษะเป็นเจ้าเรือนฯ”


สำหรับประวัติของคุณนกนี้ จาก “ข่าวตาย” ของท่าน ซึ่งตีพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา ระบุไว้ ดังนี้
“๏ หม่อมนก พนักงานกรับกระเปนบุตรนายกันครูหัดมโหรี นายกันคนนี้ เปนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แลหม่อมนกนั้นก็ได้เปนมะโหรีมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่งห้าตำลึง ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปนพนักงานกรับกระได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดคงอยู่ตามเดิม มาจนแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลในแผ่นดินปัตยุบันนี้ก็คงได้รับราชการอยู่อย่างเดิม ไม่มีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกๆ แผ่นดินมา ครั้นณวันเดือนหก ปีกุน สัปตศก ป่วยนอนไม่ใคร่จะหลับ รับประทานอาหารไม่ใคร่จะได้ ให้แน่นให้เฟ้อ ครั้น ณ วันเดือนแปด นายดิดมหาดเล็กมารับไปอยู่ที่บ้านนายดิด อาการให้หิวอ่อน ได้หาหอมชะเลยศักมาดูว่าเปน โรคชราประกอบยาให้รับประทาน อาการให้บวมมือบวมเท้า รับประทานอาหารได้แต่มื้อละถ้วยชา ครั้น ณ วันเดือนอ้าย แรมค่ำหนึ่ง ไปอุจจาระวันละสองครั้งบ้างสามครั้งบ้างรับประทานได้แต่กระยาคู มื้อละห้าช้อนบ้างหกช้อนบ้างให้อ่อนเปลี้ยลงทุกวันทุกเวลา ป่วยมาได้ ๙ เดือนเสศ  ครั้นณวันเสารเดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ให้ร้อนกระสับกระส่าย มาจนเวลาตี ๑๐ ทุ่มเสศ ก็ถึงอนิตยกรรมอายุ ๗๘ ปี พระราชทานหีบเชิงชายให้ใส่ศพเปนเกียรติยศ ๚ะ”



"๏ พระมชิมมนิกาย ๑๙ ผูก ๚ะ๛"
ฉลากผ้าทอ หน้าห่อคัมภีร์ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ฉบับทองทึบ
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ อาคาร ๒ ชั้น ๔


พระคัมภีร์ลานทอพระอภิธรรมสังคิณีมัตถสังคหะ
จัดแสดงที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ อาคาร ๒ ชั้น ๔

การทอเส้นไหมเป็นตัวอักษร
ปัจจุบันคัมภีร์ลานทอด้วยเส้นไหมเป็นตัวอักษรขอม นับว่าเป็นศิลปโบราณวัตถุที่หาได้ยาก และเข้าใจว่าคงจะมีน้อยผูกมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ด้วยในพุทธศักราช ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงตั้งหอธรรมที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ให้เป็นที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฎก หนังสือ จารึก ตู้พระธรรม และพระราชทานนามว่า “หอพุทธสาสนสังคหะ” บรรดาพระเถระและผู้ที่สะสมหนังสือโบราณเนื่องในพระพุทธศาสนา ได้มีศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลถวายหนังสือและสิ่งของแก่หอพุทธสาสนสังคหะ จำนวนมาก

จาก “รายนามผู้ถวายหนังสือแลสิ่งของสำหรับหอพุทธสาสนสังคหะ” ในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า “๓.พระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบุรณะถวาย... ...พระคัมภีร์พระอภิธรรมสังคิณีทอด้วยไหม ๑ ผูก...” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงพระคัมภีร์ทอด้วยไหมผูกนี้ ในพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ดังนี้

“ถึง กรมหมื่นสมมต
ฉันได้จดหมายตอบสมเด็จพระพุทธรับกรอบหนังสือแลคำภีรพระอภิธรรมทอ

ฉันเข้าใจว่าของฉันแท้ๆ หนังสือทอเช่นนี้ได้เคยเหนได้เคยอ่าน อยู่ที่ไหนจำไม่ได้ น่าจะมี ๗ คัมภีร์ ที่ไหนเขาจะสร้างแต่สังคินี แต่กระจัดกระจายไปอยู่แห่งใดบ้างเท่านั้น...”

ปัจจุบันคัมภีร์ลานทอพระอภิธรรมสิงคิณีผูกนี้ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร อาคาร ๒ ชั้น ๔

แม้คัมภีร์ที่ทอด้วยเส้นไหมจะเป็นสิ่งหายาก แต่งานทอตัวอักษรขอมที่สามารถพบตัวอย่างได้มากกว่า คือ “ฉลากทอ” ฉลาก หรือ ป้ายบอกชื่อคัมภีร์ ชื่อเรื่องของหนังสือใบลาน ซึ่งมัดอยู่นอกผ้าห่อคัมภีร์ ตามปกติแล้วจะใช้วัสดุที่มีความแข็ง เช่น ไม้ ทองเหลือง งาช้าง มาทำฉลาก แต่บางโอกาสพบว่ามีการทำฉลากด้วยการทอเส้นไหมเป็นลายรูปตัวอักษรขอม จึงเรียกว่า “ฉลากทอ”

ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยที่พบว่ามีการใช้ฉลากทอ ในวัฒนธรรมมอญ-พม่า ก็มีการทอสายรัดคัมภีร์ที่มีตัวอักษร (Sazigyo) แต่มีความแตกต่างกับไทยคือจะมีความยาวมากกว่า และใช้ทอบอกวันเดือนปี ชื่อผู้อุทิศ คำอธิษฐานถวาย รวมถึงลวดลายรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

เทคนิคการทอเส้นไหมเป็นตัวอักษรขอมนี้ หากเทียบเคียงกับกรรมวิธีการทอสายรัดคัมภีร์ของพม่า พบว่าใช้เทคนิคการทอด้วยบัตรแข็ง (Tablet Weaving, Card Weaving) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้เฉพาะการทอชิ้นงานที่มีหน้าแคบ ด้ายเส้นยืนจะถูกร้อยในบัตรแข็งหรือวัสดุอื่นที่แข็งและบางซึ่งเจาะรูไว้ โดยบัตรแข็งที่เจาะรูเหล่านี้จะทำหน้าที่แยกเส้นด้ายยืนให้ขึ้นลงเช่นเดียวกับตะกอในกี่ทอผ้า เวลาทอช่างจะหมุนบัตรแข็งแต่ละแผ่นไปมาในทิศทางต่างกัน เพื่อยกเส้นด้ายยืนตามลวดลายของแต่ละอักษร จากนั้นจึงสอดเส้นด้ายพุ่งเข้าไปขัดระหว่างด้ายเส้นยืน

อนึ่ง จากข้อจำกัดของเทคนิคการทอด้วยบัตรแข็งที่ทอได้เฉพาะชิ้นงานที่มีหน้าแคบ ก็ทำให้นึกถึงการทอรัดประคดของบ้านสาย ซึ่งอยู่ริมคลองรอบกรุงฝั่งทิศตะวันออกตรงข้ามวัดเทพธิดาราม กล่าวกันว่าการทอสายรัดประคดที่บ้านสายเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระยารามณรงค์สงคราม (บัว) ดำรงตำแหน่งราชการในหัวเมืองเหนือและพบช่างชาวอินเดียผู้มีความรู้ในการทอสายรัดประคด จึงได้เชิญมาเป็นครูฝึกสอนบุตรหลานในตระกูล เกสรบัวอุบลสวรรค์ ได้เขียนถึงขั้นตอนของการทอสายรัดประคดของบ้านสายในอดีตไว้ดังนี้

“การทอสายรัดประคดมีอุปกรณ์และขั้นตอนสำคัญ โดยเริ่มด้วยการเลือกใช้ไหมญี่ปุ่นเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะมีความเหนียวคงทน สีติดง่าย จากนั้นจึงทำการเตรียมด้ายเพื่อให้สะดวกในการใช้งาน แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมด้ายยืน หรือที่เรียกว่าการเดินด้าย และการค้นสาย โดยเอาด้ายที่ม้วนแล้ว จากฝั่งหางของกี่มาส่งให้ผู้ที่นั่งอยู่ฝั่งหัวกี่ ด้วยการร้อยด้ายเข้ารูกระ จำนวนเที่ยวที่จะเดินขึ้นอยู่กับความกว้างของสายรัดประคดที่ต้องการทอ จากนั้นจึงทำการ “ทอสาย” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องใช้คน ๒ คน คือ “คนทอ” และ “คนกลับ” ช่วยกันส่งสลับด้ายที่เตรียมไว้จนสอดไขว้สานกันเป็นลวดลาย ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวของสายรัดประคดที่ต้องการแล้วจึงเว้นช่วงสำหรับถักหางและปักพู่ ก่อนเริ่มทอสายรัดประคดเส้นใหม่ต่อจนสุดความยาวของกี่”

“การร้อยด้ายเข้ารูกระ” และ “คนกลับ” ก็ทำให้นึกถึงชื่อตำแหน่งของ “พนักงานกลับกระ” พนักงานทอผ้ารัดคัมภีร์ที่มีตัวหนังสือขอม (ฉลากทอ) ว่าเหตุที่เรียกว่า “กลับกระ” อาจด้วยขั้นตอนของการทอที่ใช้บัตรแข็ง ซึ่งช่างผู้ทอจะต้องพลิกบัตรแข็งแต่ละแผ่นกลับไปมาก่อนจะพุ่งเส้นด้ายยืนแต่ละครั้งนั่นเอง


สรุป
คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์ ซึ่งจัดแสดงในห้องประณีตศิลป์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นศิลปโบราณ วัตถุที่สำคัญ นอกจากจะเป็นตัวอย่างงานช่างในอดีตที่หาได้ยากแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงแรงศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาของคนไทยในอดีตที่ตกแต่งพระคัมภีร์ด้วยงานหัตถกรรมอย่างประณีต “พนักงานกลับกระ” ช่างผู้ทอก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหนังสือขอม และต้องอาศัยเวลาและความเพียรในการทอพระคัมภีร์แต่ละผูก


การผลิตรัดประคตของบ้านสายในอดีต
ในภาพแถวหน้าจากซ้ายไปขวา คนถักหาง-ปักพู่ คนกลับ (ถือกระในมือขวา)
คนทอ (ถือมีดโต้ไม้ในมือขวา) คนปั่นไนกรอด้ายเข้าหลอด และคนสาวด้ายจากเข็ดเข้าระวิง

ที่มา (ภาพ-ข้อมูล) : "คัมภีร์ลานทอพระภิกขุปาฏิโมกข์" โดย ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 พฤษภาคม 2560 17:09:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.556 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 มีนาคม 2567 07:40:06