[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 มกราคม 2558 13:13:40



หัวข้อ: ศาสนาผี ของผู้หญิง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 มกราคม 2558 13:13:40
.

ระบบความเชื่อในศาสนาผี เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์
หรืออาเซียนโบราณมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์มากกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22393774530953_1.jpg)
ภาพเล่าเรื่องพิธีกรรมในศาสนาผีของชุมชนหมู่บ้านทั่วอุษาคเนย์
ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น นกกระเรียน ตะกวด (แลน) ฯลฯ
(ลายเส้นบนหน้ากลอง (มโหระทึก) ในวัฒนธรรมดองซอน พบที่เวียดนาม)


ศาสนาผี ของผู้หญิง

ผี
 
คนอุษาคเนย์ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว นับถือศาสนาผีเหมือนกัน แต่เรียกชื่อผีต่างกัน เช่น
มอญ เรียก ผีเม็ง, เขมร เรียก ผีมด, ลาว เรียก ผีฟ้า (ผีแถน), พม่า เรียก ผีนัต
ผี หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติ บันดาลให้เกิดสถานการณ์ต่างๆ เช่น ฟ้าแลบ, ฟ้าร้อง, ฟ้าผ่า, ฝนตก, น้ำท่วม, น้ำแล้ง, แผ่นดินไหว, ฯลฯ
คนทำหน้าที่สื่อสารเชื่อมโยงกับผี ล้วนเป็นผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของศาสนาผี [ตรงข้ามกับผู้ชาย เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์, พุทธ]


 
ผีดี ผีร้าย
ผี มีทั้งดีและร้าย
ผีดีมีคุณคอยปกป้องคุ้มครองมนุษย์ ส่วนผีร้ายให้โทษมนุษย์และเป็นเสนียดจัญไร
ในโองการแช่งน้ำ วรรณกรรมยุคต้นอยุธยา พรรณนาถึงผีทั้งดีและร้ายให้คุณและโทษต่อมนุษย์ ดังนี้ 
“ผีดงผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ หล่อหลวงเต้า ทั้งเหง้าภูตพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์
ยักษกุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผงแรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงถับเสียงเยียชระแรงชระแรง
แฝงข่าวยินเยียชระรางชระราง รางชางจุบปากเยียจะเจี้ยวจะเจี้ยว เขี้ยวสระคานอานมลิ้นเยียละลาบละลาบ ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพะพลุ่งพะพลุ่ง—-”

 
ผีกับเทวดา
คำลาว-ไทย ว่า ผี มีความหมายเดียวกับคำบาลี-สันสกฤตว่า เทวดา, เทพยดาที่อยู่บนฟ้า มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า
กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”
หมายถึง เมื่อแต่ก่อนนานมาแล้ว มีดินมีหญ้ามีฟ้ามีแถน ผีกับคนติดต่อไปมาหาสู่กันได้ไม่ขาด ผี ในที่นี้ตรงกับคำปัจจุบันว่าเทวดาอยู่บนฟ้า     
นิทานเรื่องขุนบรมเรียกแถนอยู่บนฟ้าว่า “ผีฟ้าผีแถน” ซึ่งคนทั้งหลายที่อยู่กับดินต้องเซ่นวัก “เลี้ยงฟ้าเลี้ยงแถน” ประจำฤดูกาล
   

ผีฟ้า
เมื่อชุมชนหมู่บ้านแบบชนเผ่าดั้งเดิมเติบโตเป็นบ้านเมือง แล้วรับวัฒนธรรมอินเดียทั้งด้านศาสนาและการเมืองการปกครอง มีพระเจ้าแผ่นดินหรือกษัตริย์ ซึ่งบางทีก็เรียกด้วยคำเดิมว่า ผีฟ้า
ผีฟ้า หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน มีในศิลาจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) ว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ” หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงยโสธร (นครธม) ในกัมพูชา
ผีฟ้า คือ แถน ซึ่งคนในตระกูลลาว-ไทยเรียกรวมๆ ว่าผีฟ้าผีแถน ยกย่องเป็นผีบรรพชนใหญ่สุด ไม่ระบุเพศว่าหญิงหรือชาย
ในพิธีเลี้ยงผีต้องเชิญผีฟ้าผีแถนเป็นประธาน ปากชาวบ้านเรียกพิธีเข้าทรง ผีฟ้า, ลำผีฟ้า ก็คือเข้าทรงผีแถน, ลำผีแถน

 
เจ้าฟ้า
แถนเป็นเจ้าบนฟ้า หรือเจ้าฟ้า มีเรียกในโคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง เมื่อเชิญแถนมากินเลี้ยง ครั้นกินเสร็จแล้วแถนจะกลับคืนฟ้า
บรรดาผู้คนพากันสั่งความแก่แถน เรียกแถนว่าเจ้าฟ้า “ขอเหนี่ยวเจ้าฟ้าอย่า ลาไล” [หมายถึงขอวอนเจ้าฟ้า (คือแถน) อย่า (เพิ่ง) ทิ้ง อย่า (เพิ่ง) ลา]
เจ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ผู้นำ, ผู้มีอำนาจ ตรงกับคำดั้งเดิมว่า ผี เช่น ไหว้เจ้าไหว้ผี หรือไหว้ผีไหว้เจ้า [ผีบ้านผีเรือน เรียกว่าเจ้าบ้านเจ้าเรือนก็ได้
]
 

หินตั้ง ไหว้สาฟ้าแถน
คนยุคดึกดำบรรพ์ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยกหินตั้งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเชื่อมโยงดินกับฟ้า สำหรับเซ่นวักไหว้สาฟ้าแถน
ในตำนานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง บอกว่าแต่ก่อนมี “ข้อหลวง” เชื่อมฟ้ากับดินให้ผีกับคนเที่ยวไปมาหากันได้สะดวก
ต่อมา “แถนหลวงจึ่งให้ตัดข้อหลวง” นับแต่นั้นผีกับคนไปมาหากันไม่ได้เหมือนเดิม
คนพากันทำหินตั้งไหว้สาผีฟ้าผีแถนนับแต่นั้นมา
แล้วดัดแปลงให้มีรูปร่างหลายอย่างต่างๆ ไป เช่น หินตั้งบนภูพระบาท (อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี), หินตั้งบนเขาพุหางนาค (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี), ฯลฯ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74505980933705_2.jpg)
พิธีเลี้ยงผีบรรพชนปู่เยอ-ย่าเยอ ที่หลวงพระบาง (ภาพเก่าจากลาว)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49295406374666_3.jpg)
ฟ้อนผีเม็ง (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๙ , ๒๕๔๒


ที่มา (ข้อมูลและภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (4) ศาสนาผี ของผู้หญิง" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์