[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 23:57:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 167 168 [169] 170 171 ... 275
3361  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พระพุทธคันธารราษฎร์ - พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เมื่อ: 19 พฤศจิกายน 2558 11:44:17
.


พระพุทธคันธารราษฎร์  พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์
พระคันธารราษฎร์ เลขทะเบียน ร.ส.๙๗
อายุสมัย/แบบศิลปะ : สมัยรัตนโกสินทร์ แบบศิลปะคันธารราษฎร์
ชนิด : สัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง
ขนาด : สูงพร้อมฐาน ๗๓.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๒๓.๕ x ๒๓.๕ เซนติเมตร
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี ช่างชาวอิตาเลียนปั้น
โดยอนุโลมตามพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓
ราชบัณฑิตยสภารับมาจากพระที่นั่งมหิศรปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร


พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

จากนิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร พิมพ์-เผยแพร่

“พระพุทธคันธารราษฎร์” คือพระพุทธรูปปางขอฝน สร้างขึ้นโดยอาศัยมูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ที่มีมาในพระไตรปิฎก ครั้งแรกสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์ นับถือเป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเดือนหก พระราชพิธีพรุณศาสตร์ หรือพระราชพิธีขอฝนเดือนเก้า และพระราชพิธีไล่เรือ หรือพระราชพิธีไล่น้ำ (ออกจากไร่นาในฤดูเก็บเกี่ยว) เดือนอ้าย เป็นการพึ่งพิงอาศัยพระพุทธานุภาพบันดาลสิริสวัสดิ์แก่การพระราชพิธีให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพียงพอหล่อเลี้ยงข้าวกล้าอาหาร ยังความอุดมสมบูรณ์แก่การกสิกรรมในถิ่นฐานบ้านเมือง สืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน

มูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ปรากฏในอรรถกถามัจฉชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก กล่าวปรารภเหตุชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝนว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดภัยพิบัติ ฝนไม่ตกลงเลย ข้าวกล้าทุกตำบลก็เหี่ยวแห้งไป บึงบ่อสระโบกขรณีใหญ่น้อยทุกแห่ง น้ำแห้งจนพื้นแตกระแหง แม้แต่สระโบกขรณีเชตวัน ซึ่งมีน้ำใสเย็นเป็นพุทธบริโภคก็เหือดแห้ง เหล่านกกาต่างพากันมาจิกกินฝูงปลาและเต่าที่หลบซ่อนอยู่ในเปือกตม พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น ก็เกิดความกรุณา ดำริจะให้ฝนตกบรรเทาความทุกข์เดือดร้อนให้สิ้นไป จึงเสด็จมาทรงสถิตที่บันไดขั้นแรกสระโบกขรณีเชตวัน ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎก (ผ้าชุบสรง) จากพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากเพื่อจะสรงน้ำ พระเถระกราบทูลว่าสระโบกขรณีน้ำแห้งขาดเสียแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคำอยู่ เมื่อพระเถระเชิญผ้ามาถวายแล้ว พระศาสดาทรงนุ่งผ้าอุทกสาฎกด้วยชายข้างหนึ่ง ชายอีกข้างหนึ่งทรงห่มคลุมพระสรีระ ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบเหตุ จึงมีเทวบัญชาเรียกวลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝน บันดาลให้เกิดมหาเมฆและห่าฝนตกลงในแคว้นโกศล ครู่เดียวน้ำก็ท่วมท้นเต็มสระโบกขรณีและที่อันควร มีน้ำขังทุกแห่ง พระบรมศาสดาจึงลงสรงน้ำแล้วเสด็จกลับยังพระคันธกุฎี มหาชนและสัตว์ทั้งหลายจึงรอดพ้นจากความพินาศ ได้ความสุขจากน้ำฝนโดยทั่วกัน

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราษฎร์ผู้เลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ได้สดับเรื่องพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ในแคว้นโกศล ปรารถนาคุณพระพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกในแว่นแคว้นของตน จึงให้สร้างพระพุทธปฏิมากรทรงนั่ง พระกรหนึ่งทรงกวักเมฆเรียกฝน พระกรหนึ่งหงายรองรับน้ำฝน เมื่อปีใดเกิดฝนแล้งก็เชิญพระพุทธปฏิมาออกตั้งสักการบูชา ขอพระพุทธเดชานุภาพให้ฝนตกลงในเขตแคว้นของตน ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้สร้างพระพุทธรูปแสดงปางขอฝนว่า “พระพุทธคันธารราษฎร์” เพราะสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์เป็นต้นแบบมาแต่เดิม

การตั้งบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์เพื่ออำนวยให้ฝนตก มีเค้ามูลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ระบุว่ามีการอัญเชิญพระพุทธรูปสมาธิองค์หนึ่ง และรูปปลาช่อนมาตั้งในโรงพิธีแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๒๐ รูป มาสวดคาถาว่าด้วยชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝน (มัจฉชาดก) ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ๓ วัน และป่าวร้องให้ราษฎรนำน้ำมารดสรงพระพุทธรูปและรูปปลา เพื่อให้ฝนตก





ตามหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่า พระนครศรีอยุธยามีพระพุทธรูปที่ทรงพุทธานุภาพอันเป็นหลักพระนคร ๘ พระองค์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระพุทธคันธารราษฎร์ ลักษณะเป็นพระปฏิมานั่งสมาธิ หน้าตักศอกหนึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประวัติว่าลอยน้ำมาจากปักษ์ใต้ อัญเชิญขึ้นไว้ยังพระวิหารวัดธรรมมิกราช มีพุทธานุภาพมาก ขอฝนให้ตกได้ เป็นต้นเค้าแสดงถึงประเพณีการสร้างพระพุทธรูปขอฝนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

พระพุทธคันธารราษฎร์รุ่นเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา สร้างเป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งตามธรรมเนียมสืบมาแต่แคว้นคันธารราษฎร์ อาทิ พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะพระปฏิมานั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกขึ้น งอนิ้วพระหัตถ์เป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา แบบศิลปะจีนปนไทย คือครองจีวรคลุมพาหาทั้งสอง แหวกพระอุระกว้าง คาดรัดประคดที่พระอุทร แบบพระจีนญวนหรือพระจีน พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีรูปเปลวเพลิง พระเกตุมาลาทรงมะนาวตัด เม็ดพระศกเป็นขมวดเล็ก พระขนงโค้งเป็นสันคม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เหยียดกว้าง ใบพระกรรณยาว ประทับบนฐานบัวหงายซ้อนเหนือแข้งสิงห์ ลักษณะฐานแอ่นโค้ง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ เป็นต้นแบบพระพุทธรูป ซึ่งเจ้าจอมเอิบในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้หล่อขยายอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปัจจุบัน





ภาพถ่ายเก่าพระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๖




พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๒




พระคันธารราษฎร์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปที่พระระเบียงพระอุโบสถ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หน้า ๑๑๓


------------------------------------------------
”แจ้งความราชบัณฑิตยสภา” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๔๔ ตอน๐ง, วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๗๐ : ๔๙๗.
จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๖๘ มัดที่ ๑๒๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ ; พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๕๔),๔๔,๒๘๓,๓๗๖
พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒ (กรุงเทพฯ : ศิวพร,๒๕๕๖.มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕), ๒๐๔-๒๑๐.
พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๘๘-๒๘๙
จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๑ จ.ศ.๑๑๔๘ (พ.ศ.๒๓๒๙) เลขที่ ๒, พิธีว่าด้วยพิธีพิรุณศาสตร์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ.
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๕), ๔๐-๔๑.
ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดพระพุทธรูปคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาและชาติกำเนิด เจ้าจอมเอิบ เกิดที่เมืองเพชรบุรี



ภาพพระคันธานุราชจาก "ตำราพระพุทธรูป ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ"
เลยที่ ๕๐ มัด ๗ ตู้ ๑๑๗ ชั้น ๔/๑ ภาพจากหนังสือตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ
ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า ๘๖

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นสมัยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมตามแบบอย่างครั้งบ้านเมืองดีในสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำริถึงโบราณราชประเพณี อันเอื้อประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีพิบัติกังวลเพราะฝนแล้ง จึงโปรดให้ช่างหล่อพระปฏิมาคันธารราษฎร์สำหรับพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ๒ พระองค์ ตามรูปทรงสัณฐานพระปฏิมาโบราณซึ่งเคยทอดพระเนตร มีลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิ ถ่ายแบบจากศิลปะอยุธยา เป็นการถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ของพระปฏิมาคันธารราษฎร์แต่โบราณ คือ พระคันธารราษฎร์ใหญ่องค์ ๑ และพระคันธารราษฎร์จีนองค์ ๑

พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อสำเร็จเมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖) ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๗.๔๐ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๖๓.๑๐ เซนติเมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ไม่มีสังฆาฏิบนพระอังสาซ้าย จีวรจีบเป็นริ้วคล้ายพระพุทธรูปแบบจีน เดิมหล่อสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง มีแต่องค์ไม่มีแท่นฐาน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายช่างหล่อพุทธอาสน์ และให้กะไหล่ทองคำทั้งองค์ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลมที่พระนลาฏ ปัจจุบันประดิษฐานที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระคันธารราษฎร์จีน ขนาดตักกว้าง ๒๙.๓๐ เซนติเมตร สูง ๓๗.๘๐ เซนติเมตร และสูงรวมฐาน ๔๘.๑๐ เซนติเมตร ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์และการครองจีวรเป็นแบบจีน พระหัตถ์ขวายกขึ้น แสดงดรรชนีมุทรา (พระดรรชนียกสูงขึ้น เป็นท่าตักเตือนหรือข่มขู่ มีความหมายถึงการป้องกันอันตราย) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย และช้อนตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดไว้ในระหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา และโปรดให้กะไหล่ทองทั้งองค์พระพุทธรูปและเครื่องประดับ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงตรวจสอบคัดเลือกพระพุทธอิริยาบถที่ปรากฏในคัมภีร์ รวบรวมไว้เป็นตำราได้ ๔๐ ปาง  ครั้งนั้นได้รวมพระพุทธคันธารราษฏร์ไว้ในสมุดภาพตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียกในตำราว่า “พระคันธานุราช” ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายกวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ขวาวางหงายเหนือพระชงฆ์รองรับน้ำฝน ตามรูปแบบที่สืบมาจากครั้งรัชกาลที่ ๑



(ซ้าย) พระคันธารราษฎร์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๖ สูงรวมฐาน ๘๗.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง
(ขวา) พระคันธารราษฎร์จีน รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒
ภาพจากนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง


สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อการพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์เป็นอย่างมาก ดังโปรดให้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ ฉางข้าวหลวง พลับพลาและมณฑลพิธีสำหรับประกอบการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไว้ในท้องสนามหลวงแห่งหนึ่ง ทรงปรับปรุงการพระราชพิธีให้มีบัณฑิตอ่านประกาศการพระราชพิธีและทรงผูกพระคาถาสำหรับพระสงฆ์สวดในพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้ทรงโปรดให้กะไหล่ทองพระพุทธคันธารราษฎร์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ พระองค์ และโปรดให้หล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔ เป็นองค์ขนาดย่อมองค์หนึ่ง โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยไต่สวนเนื้อความตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า เมื่อเวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงในสระโบกขรณีนั้น เสด็จประทับยืนที่ปากสระ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อเป็นพระพุทธรูปเสด็จประทับยืนอยู่บนฐานบัวแข้งสิงห์ ที่ฐานมีขั้นอัฒจันทร์ลงไป ๓ ขั้น หมายถึงขั้นบันไดลงในสระ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงสอบสวนพระพุทธลักษณะในคัมภีร์ต่างๆ มีความใกล้เคียงกับมนุษย์สามัญมากขึ้น คือ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ไม่มีพระเกตุมาลา ใบพระกรรณสั้นแบบหูมนุษย์ พระพักตร์ตรง พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจับชายลูกบวบหงายพระหัตถ์ขึ้นรองรับน้ำฝน ครองจีวรเฉียง ห่มเป็นริ้วผ้าเสมือนจริงตามธรรมชาติ แบบอิทธิพลแนวสัจนิยมตะวันตก จึงเกิดมีพระพุทธคันธารราษฎร์ประทับยืน บูชาร่วมกับพระพุทธคันธารราษฎร์นั่ง สำหรับการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ อันเป็นผลจากการสอบความจริงตามพระไตรปิฎกขึ้นในครั้งนั้น

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เนื่องจากพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้คัดเลือก และสร้างตำราไว้ ๔๐ ปาง ทรงให้หล่อพระปฏิมาไว้ด้วยแร่ทองแดง ปางละ ๑ องค์ เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ๓๓ พระองค์ กรุงธนบุรี ๑ พระองค์ และกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ พระองค์ คงเหลือพระพุทธรูปจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนแต่ ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปปางลองหนาว และพระคันธารราษฎร์ ประกอบกับเหตุที่มีมาในพระราชประวัติว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภาพ ต้นปีฝนแล้งติดต่อเนื่องมาจากปีชวดจัตวาศก ทำให้ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ เกิดฝนตกใหญ่ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการเกิดฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ ในรัชสมัยนี้จึงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นเป็นจำนวนมาก



พระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔
สูงรวมฐาน ๕๗ เซนติเมตร ภาพจากหนังสือ
พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๔๙

พระพุทธคันธารราษฎร์ประจำพระชนมพรรษา สร้างขึ้นเท่าจำนวนพระชนมายุ ๕๘ พระองค์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรตามแบบแผนอย่างโบราณ พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบเป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจีบวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา ดวงพระพักตร์เป็นอย่างใหม่ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ไม่มีพระเกตุมาลา มีแต่เฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ สังฆาฏิเป็นแถบกว้าง จีวรเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานบัวคว่ำบัวหงายมีเกสรบัวอย่างโบราณ แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีฉัตรทองกั้น จำนวน ๑๕ พระองค์ เท่ากับพระชนมพรรษาเมื่อยังมิได้เสวยราชย์ และที่มีฉัตรทองปรุกั้น จำนวน ๓๔ พระองค์เท่าพระชนมพรรษาตั้งแต่เสวยราชสมบัติจนเสด็จสวรรคต


พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปางขอฝน ตักกว้าง ๗.๑๐ เซนมิเตร สูงรวมฐาน ๑๔.๖๐ เซนติเมตร สูงรวมฉัตร ๓๑.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๗๖,๓๗๘.

พระพุทธคันธารราษฎร์ประทับขัดสมาธิเพชรอย่างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์โปรดมาก จึงกราบบังคมทูลขอหล่อขึ้นด้วยเงินอีกองค์หนึ่ง ทรงนำไปตั้งในพิธีขอฝนหลายครั้ง มีคุณดีวิเศษ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ของหลวงต่อมาด้วย

นอกจากนี้โปรดให้หล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ประดิษฐานภายในซุ้มมณฑปหน้าพระอุโบสถ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา สำหรับราษฎรประกอบพิธีฝน โดยให้จารึกพระคาถาและวิธีสวดบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์ไว้บนแผ่นศิลาอ่อนติดไว้ที่ฐานพระพุทธรูปด้วย พุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระคันธารราษฎร์สมัยรัชกาลที่ ๔ คือมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ประทับยืนตรง มีเฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา เม็ดพระศกเล็ก เป็นแนวหย่อนลงที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอังสาจีบ เป็นกิริยาเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับบั้นพระองค์ จีบนิ้วพระหัตถ์หงายรองรับน้ำฝน ครองจีวรเป็นริ้ว ขมวดชายลูกบวบยาวตลอดถึงชายจีวรแบบธรรมชาติ ฐานบัวแข้งสิงห์ประดับลวดลายเทศ



(ซ้าย) ซุ้มพระคันธารราษฎร์ หน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
จารึกแผ่นหินอ่อนความว่า "พระคันธารราษฎร์สำหรับขอฝน"
(ขวา) พระคันธารราษฎร์ยืน สมัยรัชกาลที่ ๕ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา



ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ยืนองค์หนึ่ง ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๕ โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นหล่อ เป็นพระพุทธปฏิมายืนปางขอฝนบนฐานบันไดสระโบกขรณี ตามเนื้อความในอรรถกถามัจฉชาดก รูปแบบศิลปกรรมเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์ อันเป็นพุทธศิลป์ที่เจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในดินแดนที่ชาวกรีกเคยครอบครองเป็นใหญ่ มีความงามตามสุนทรีภาพของกรีก-โรมัน พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้ากรีก พระศกยาว เกล้าเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ คอรงผ้าสาฎกเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือขั้นบันไดสระโบกขรณี ทำขั้นบันได ๓ ขั้น มีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษยนาค (นาคแปลง) มีความหมายถึงน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์ พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน ทำอาการดุจเรียกฝน ฐานและพระองค์ถอดออกจากันได้เป็น ๓ ส่วน

พระพุทธรูปพระองค์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวิจารณ์ฝีมือสร้างไว้ในลายพระหัตถ์ ซึ่งมีไปประทานหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ดังนี้ “พระคันธารราษฎร์ องค์ที่เป็นฝรั่งนั้น กรมพระนเรศรรับสั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จัดให้ นายโตนาเรลี ช่างอิตาเลียนในกรมศิลปากรปั้น ที่เปนเช่นนั้นก็ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดพระฝีมือกรีกที่เสด็จพ่อเอามาแต่อินเดีย พระกรีกนั้นอาว์ก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่ชอบพระที่นายโตนาเรลีปั้น เหตุใดจึ่งเป็นเช่นนั้น เหตุด้วยกลับกันไปทางช่างกรีกเขาทำเอางามเปนที่ตั้ง เอาเหมือนคนเข้าประกอบ ซึ่งมาโดนทางเดียวกันเข้ากับที่อาว์พยายามจะทำ คือเอารูปทรงงามของรูปภาพตัวท้าวตัวพญาของไทยเปนที่ตั้ง เอาสิ่งที่เหมือนคนเข้าประกอบ ส่วนที่นายโตนาเรลีทำนั้น เอาเหมือนคนเปนที่ตั้ง อาว์ไม่ชอบที่เห็นว่าเปนพระเจ้าหาได้ไม่ชอบกลนักหนา จะว่าไทยไม่รู้จักจะทำรูปให้เหมือนคนก็ไม่ได้ เขาพยายามทำให้เหมือนคนก็มี แต่เขาเรียกว่า “ภาพกาก” ไม่ทำในภาพ ตัวท้าวตัวพญา ฐานพระองค์นั้นที่เปนกะไดก็ด้วยกรมพระนเรศรออกความคิดให้ตาฝรั่งนั้นทำ โดยหลักว่าพระเจ้าเสด็จยืนที่หัวกะไดสระน้ำในเมืองสาวัตถี ซึ่งสระนั้นน้ำแห้ง ตรัสเรียกผ้าชุบสรงมาทรงแล้วตรัสเรียกฝน เทวดา จึ่งบันดาลให้ฝนตกลงมาตามพระประสงค์จนเต็มสระ ตาฝรั่งแกไม่เข้าใจว่ากะไดสระควรเปนอย่างไร แกก็ทำเปนกะไดฝรั่ง มีพนักข้างเดียว อย่างกะไดที่ลงจากรักแร้ตึกฝรั่ง ก็เอาดีแหละ เพราะฝรั่งเขาทำ เรื่องพระคันธารราษฎร์ขอฝนนั้นเปนของที่คิดผิดคาด ที่แท้เปนพระเจ้าปางเทศนาธรรมจักรของบุราณมีแต่นั่งห้อยพระบาทกับพับพะแนงเชิงไม่มียืน ที่ทำยืนก็เพื่อจะให้ต้องตามอาการที่ได้คิดคาด เปนของใหม่ทั้งนั้น




พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
ฝีมือนายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



ฐานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ตกแต่งภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมและภาพมนุษย์นาค
มีความหมายถึงน้ำและความอุดมสมบูรณ์
3362  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2558 16:18:44

 คูณแดง
ไม้ต้นนี้ เพิ่งพบมีกิ่งตอนวางขายเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีภาพถ่ายของดอกจากต้นจริงโชว์ให้ชมด้วย และ มีชื่อ วิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ว่า RED SHOWER TREE CASSIA MARGINATA  พร้อมบอกวงศ์ว่า CAESALPINIACEAE ไม่มีรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ของลักษณะต้นและดอกแจ้งไว้ ผู้ขายบอกเพียงว่า “คูนแดง” มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศออสเตรเลีย เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่นมาก

ใบ ดูจากต้นกล้าที่วางขาย  เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยออกตรงกันข้ามเป็นคู่ๆไม่ต่ำกว่า ๑๐-๑๒ คู่ ใบเป็นรูปรีคล้ายใบของต้น กระพี้จั่น คือ ปลายและโคนใบมน หรือเกือบแหลม สีเขียวสด ใบดกให้ร่มเงาดียิ่ง

ดอก ดูจากภาพถ่ายที่โชว์ไว้แต่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งพอจะบรรยายได้คือ ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นตามซอกใบใกล้ปลายยอด และที่ปลายยอด  แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากลักษณะดอกมองไม่ออกว่าเป็นแบบไหน  จากภาพเป็นสีแดงสดใส  เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นตามภาพถ่ายจะดูงดงามมาก “ผล” ผู้ขายบอกว่าเป็นฝักยาว ภายในมีเมล็ด ดอกออกช่วงเดือนไหนของปีผู้ขายบอกไม่ได้อีกเช่นกัน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “คูนแดง” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ที่บริเวณโครงการ ๙  เป็นกิ่งพันธุ์ที่เพาะด้วยเมล็ด ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เหมาะจะปลูกประดับทั่วไปโดยเฉพาะตามสวนสาธารณะ ปลูกเป็นแถวตามริมถนนตลอดแนว หรือปลูกประดับตามรีสอร์ตเชิงเขา รีสอร์ตชายทะเล เมื่อต้นเติบโตเต็มที่ นอกจากจะให้ร่มเงาสร้างบรรยากาศร่มรื่นแล้ว เวลาถึงช่วงมีดอกบานสะพรั่งพร้อมๆ กันทั้งต้นจะดูสวยงามมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ

  มะยมแดง
มะยมแดง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศบราซิล ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายได้รับความนิยมจากผู้ปลูกอย่างแพร่หลาย มาช้านานแล้ว และ “มะยมแดง” มีชื่อเรียกในบ้านเราอีกว่า “เชอร์รี่สเปน” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ EUGENIA UNIFLORA LINN. ชื่อสามัญ SURINAM CHERRY, CAYENNE CHERRY, PITANGA อยู่ในวงศ์ MYTACEAE

มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๓-๘ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรูปไข่ หรือรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพู มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เวลามีดอกจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมโชยเข้าจมูกตอนยืนใกล้ๆ เป็นที่ชื่นใจยิ่ง

ผล รูปทรงกลมแป้นคล้ายผลมะยม รอบผลแบ่งเป็นพูย่นๆ ๗-๘ พู ภายในมี ๑ เมล็ด ผลดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองและแดงตามลำดับ ผลสุกรับประทานได้ รสชาติเปรี้ยวปน หวานชุ่มคออร่อยดี ส่วนใหญ่นิยมนำเอา ผลสุกไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม หรือ ปั่นใส่นํ้าเชื่อมนํ้าแข็งอร่อยมาก ติดผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง เวลาติดผลจะดกเต็มต้นดูสวยงามยิ่งนัก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “มะยมแดง” หรือ “มะยมฝรั่ง”-“เชอร์รี่สเปน” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามกับโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป ชอบแดดไม่ชอบนํ้าท่วมขัง หลังปลูกรดนํ้าพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอเดือนละครั้งจะติดผลดกเต็มต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 มังตาล ทะโล้
มังตาล ทะโล้ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงสูงประมาณ ๑๕-๒๕ เมตร ขนาดวัดรอบลำต้นได้ถึง ๑.๕ เมตร เปลือกนอกขรุขระและมักแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีเทาปนน้ำตาลอ่อน เปลือกในสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว เป็นพิษต่อผิวหนัง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกตามปลายกิ่งสลับกันไปและมักติดเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง โคนและปลายใบสอบเรียว ขอบใบเรียบหรือบางมีหยักตื้นๆ ตามขอบ หลังใบมักมีสีเขียวเข้ม ท้องใบและเส้นกลางใบมีขนขึ้นประปราย

ดอกสีขาวหรือขาวนวล ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ กลิ่นหอม ก้านดอกยาว กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีจำนวนเท่ากันอย่างละ ๕ กลีบ กลีบดอกล่างมักเล็กกว่ากลีบอื่น เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก สีเหลือง เกสรตัวเมียมีอันเดียวสั้น ผลค่อนข้างกลม ผิวแข็งโตประมาณ ๒.๕-๓ ซม. เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเข้มและจะแตกออกตามรอยประสาน เป็น ๔-๕ ส่วน แต่ละส่วนมีเมล็ด ๔-๕ เมล็ดสรรพคุณทางแพทย์แผนไทย ต้นและรากนำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคนิ่วชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นิยมนำมารักษา เนื้อไม้ ใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน เช่น ไม้กระดาน ฝาบ้าน ลำต้นชาวลั้วะนิยมเอามาทำฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง. นสพ.เดลินิวส์  


 ขิงจีน
โดยปกติต้นขิงที่นิยมปลูกเพื่อเก็บเหง้าหรือหัวขายนำไปปรุงเป็นอาหารอย่างแพร่หลายนั้นมี ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศอินเดีย ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE ชื่อสามัญ GINGER อยู่ในวงศ์ ZINGI-BERACEAE ออกดอกช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม-ธันวาคม ทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าหรือหัว ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารแล้วยังใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรด้วย และขิงชนิดนี้ใบจะเรียบเป็นมัน

ส่วน “ขิงจีน” ที่พบมีต้นวางขายทีแรกคิดว่าเป็นเฟิร์น แต่ผู้ขายบอกว่าเป็นขิงชนิดหนึ่งนำเข้าจากยูนนาน ประเทศจีน นอกจากชื่อที่เรียกในประเทศ ไทยว่า “ขิงจีน” แล้ว ผู้ขายบอกว่ามีชื่อเรียกอีกคือ “ขิงไหหลำ” มีชื่อภาษาอังกฤษเฉพาะว่า ALPINIA RUGOSA อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงที่กล่าวข้างต้นคือ ZINGIBERACEAE

มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่ผู้ขายบอกว่าเหมือนกับขิงชนิดแรกทุกอย่าง จะแตกต่างกันที่ใบของ “ขิงจีน” หรือ “ขิงไหหลำ” จะย่นและหยักเป็นคลื่นชัดเจนดูสวยงามแปลกตามาก ผู้นำเข้าจึงขยายพันธุ์ออกจำหน่ายเป็นไม้ปลูกประดับโชว์ความงามของใบ กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ ส่วนเหง้าหรือหัวของ “ขิงจีน” จะรับประทานได้หรือไม่นั้น ผู้ขายให้คำตอบไม่ได้

ขิงจีน หรือ “ขิงไหหลำ” เป็นไม้ ล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าสีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อนอยู่ใต้ดิน ชูใบเหนือดินสูงกว่า ๑ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบ เนื้อใบหนา ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบย่นและเป็นคลื่นตามภาพ ประกอบคอลัมน์ เป็นสีเขียวและเป็นมันสวยงามมาก ปัจจุบันมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔  ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 รากหญ้าคา-หนวดข้าวโพด-หญ้าหนวดแมว แก้วปวดข้อนิ้วมือข้อเท้า
แก้ปวดข้อนิ้วมือข้อเท้าอาการ ปวดตามข้อนิ้วมือและข้อเท้าอันเกิดจากมีกรดยูริกในเลือดสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเกาต์ มีวิธีแก้ โดยให้เอา “รากหญ้าคา” ชนิดแห้ง ๓ กำมือ กับ “หนวดข้าวโพด” แห้ง ๖ กำมือ และต้น “หญ้าหนวดแมว” แห้งเช่นกัน จำนวน ๒ กำมือ ต้มน้ำรวมกันจนเดือดแล้วดื่มแทนน้ำ ครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยให้อาการปวดตาม ข้อนิ้วมือและข้อเท้าตามที่กล่าวข้างต้นหายได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากดื่มยาตามสูตรนี้แล้ว ผู้ดื่มจะต้องงดกินอาหารจำพวกที่มีกรดยูริกสูงควบคู่ไปด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสัตว์ปีกและยอดผักชนิดต่างๆ  ถ้าปฏิบัติได้ จะไม่เป็นอีก

หญ้าคา หรือ IMPERATA CYLINDRICA BEAUV. อยู่ในวงศ์ GRA-MINAE รากหรือเหง้าเป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระเพาะปัสสาวะ อักเสบ ปัสสาวะแดง บำรุงไต ขับระดูสตรี มีชนิดแห้งขายตามร้านยาแผนไทยทั่วไป

หญ้าหนวดแมว หรือ CAT’S WHISKER ORTHOSIPHON GRANDI- FLORUS BOLDING อยู่ในวงศ์ LABIATAE ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะแก้โรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว ใบเป็นยารักษาโรค เบาหวาน และลดความดันโลหิต มีการทดลองใช้ใบแห้งเป็นยาขับปัสสาวะ ขับกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์และรักษาโรคนิ่วในไตกับผู้ป่วย โดยใช้ใบแห้ง ๔ กรัม ชงกับน้ำเดือด ๗๕๐ ซีซี ดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวัน ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ใบมีเกลือโปแตสเซียมสูง ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรใช้

ข้าวโพด หรือ ZEA MAYS LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINAE เมล็ดฝาดสมาน บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร ต้น ใบ และ “หนวดข้าวโพด” ตากแห้ง ต้มน้ำดื่มรักษานิ่วได้ ข้าวโพดที่เป็นฝักสดสามารถไปซื้อได้ที่แหล่งขายใหญ่ๆ เช่น ตลาดไท นำไปปอกเปลือกนำเอา “หนวดข้าวโพด” ตากแห้งใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ดาเลีย
ดาเลีย เป็นไม้ดอกเมืองหนาวที่มีรูปลักษณ์และสีสันที่สะดุดตา เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นทั่วไป เป็นไม้ดอกซึ่งเป็นที่รู้จัก และปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว คาดว่ามีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดาเลียส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง ภายในลำต้นมีลักษณะกลวง บางชนิดเป็นไม้เลื้อย ในต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับสวน ไม้กระถาง หรือใช้เป็นไม้ตัดดอก ซึ่งมีความนิยมมากขึ้น. นสพ.เดลินิวส์  


 
ต้นพะยอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูง ๑๕-๓๐ เมตร และมีเนื้อไม้แข็ง สีเหลืองอ่อนแกมสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว แผ่นใบรูปมนรี เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ท้องใบเป็นเส้นแขนงใบนูนมองเห็นชัด ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ สีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปีกคล้ายผลยาง

พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับจันทน์กะพ้อมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายหลายชื่อเช่น พะยอมดง พะยอมทอง กะยอม ขะยอม ขะยอมดง เชี่ยว เชียง แคน และยางหยวก พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สีน้ำตาล ผิวแตกเป็นร่องยาวแคบ เรือนยอดเป็นพุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวลู่ลง เรียงตัวแบบสลับ รูปใบรีแกมรูปใบหอก ยาว ๘-๑๒ ซม. กว้าง ๓-๔ ซม. ปลายและโคนใบมน เนื้อใบเหนียว ผิวใบด้านบนเขียวและมัน ด้านล่างเขียวนวล

เป็นไม้ผลัดใบ แต่แตกใบชุดใหม่เร็ว ใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลิใบใหม่ก่อนช่อดอกเล็กน้อย ดอกดกออกเป็นช่อใหญ่แทบทุกกิ่ง สีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ขนาดดอกประมาณ ๒ ซม. กลีบดอกมี  ๕ กลีบ โคนกลีบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบแต่ละกลีบกางออกจากกัน ม้วนเรียวแคบลงและบิดเล็กน้อย  ผลมีกลีบเลี้ยงคลุมและส่วนปลายของกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ยาว ๓ ปีกช่วยในการกระจายพันธุ์  ช่วงฤดูออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะสังเกตเห็นต้นพะยอมได้ง่าย โดดเด่นจากพืชอื่นเนื่องจากมักจะมีดอกดกเต็มต้นสีขาวนวลและมีใบสีเขียวอ่อนสวยงามขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด  เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องมือ เปลือกมีรสฝาดใช้กันบูด ฟอกหนังและเป็นยา ยางหรือชันใช้ยาเรือและเป็นยา ดอกใช้ประกอบอาหารและเป็นสมุนไพร แก้ไข้ เปลือกใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูด ฟอกหนังและกินแทนหมากแก้ลำไส้อักเสบ ท้องร่วงคนโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีอุปนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะพะยอม คือ การยินยอม ตกลง ผ่อนผันประนีประนอม นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่า จะไม่ขัดสน เพราะบุคคลทั่วไปมีความเห็นใจและยอมให้สิ่งที่ดีงาม.
 นสพ.เดลินิวส์  


 กระพังโหม
กระพังโหม เป็นต้นเดียวกันกับต้นตูดหมูตูดหมา ต่อมาชื่อ ตูดหมูตูดหมา ฟังแล้วหยาบคายไม่น่าฟัง จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อในปทานุกรมใหม่ว่า “กระพังโหม” มีด้วยกัน ๒ ชนิด แตกต่างกันที่ลักษณะของใบเท่านั้นคือ เรียวแหลมและยาว กับเรียวแหลมและสั้นกว่า ทั้ง ๒ ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PAEDERIA TOMENTOSA, BLUME, VAR GLALAR, KURZ- PAEDERIA FOETIDA อยู่ในวงศ์ RUSIACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปเรียวยาว ปลายแหลม โคนสอบ ใบสดมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากมีสาร METHGL–MEAREAPTAN เป็นสารระเหยได้ บางพื้นที่นิยมรับประทานเป็นผักสด เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ ลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ อินเดีย ปรุงในซุปให้คนชราที่ฟื้นไข้กินดีมาก ดอก เป็นช่อออกตามซอกใบ เป็นสีชมพูอมม่วง “ผล” รูปกลม ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
 
ประโยชน์ ใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็นตามที่กล่าวข้างต้น กินแก้ตานซาง แก้ดีรั่ว เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน เป็นยาขับไส้เดือนในเด็ก “กระพังโหม” ทั้ง 2ชนิด ทั้งต้นรวมรากแบบสดบดละเอียดทาหรือพอกบาดแผลที่ถูกงูกัดเป็นยาถอนพิษ ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปให้แพทย์ช่วยเหลือ ในบางพื้นที่ใช้ใบสดตำอุดรูฟันแก้รำมะนาด รากสดฝนกับน้ำหยอดตาแก้พิษ ตาฟาง ตาแฉะ ตามัวดีมาก สมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเกือบทุกจังหวัด
 
เป็นพืช ที่มีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป มีชื่อ เรียก ในประเทศไทยอีกคือ กระพังโหม ตูดหมูตูดหมา (ภาคกลาง) ตดหมา หญ้าตดหมา ตืดหมา ขี้หมาคารั้ว (ภาคเหนือ, พายัพ, อีสาน) พาโหมต้น ย่าน (ภาคใต้) และ ย่านพาโหม (สุราษฎร์ธานี)
 
ปัจจุบัน “กระพังโหม” ไม่มีต้นขายที่ไหน ส่วนใหญ่จะหาปลูกตามบ้านกันเองเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารและเป็นยาตามที่กล่าวข้างต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ตะคร้อ กับประโยชน์น่ารู้
คนรุ่นใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักต้น “ตะคร้อ” แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบทจะรู้จักดี เพราะ ผลแกะเปลือกจะมีเนื้อในฉ่ำน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวจัดนำไปปรุงเป็นส้มตำ รับประทานอร่อยมาก หรือเอาเนื้อฉ่ำน้ำติดเมล็ดแช่ซีอิ๊วหมักไว้ ๑-๒ อาทิตย์กินกับข้าวต้มร้อนๆ สุดยอดมาก ประโยชน์ทางยา แก่นของต้นต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง เปลือกผลเป็นยาสมานแผลในลำไส้ เปลือกต้นบดละเอียดเป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด ขูดเปลือกต้นตำใส่มดแดงมะม่วงกินแก้ท้องร่วง ใบขยี้พอกศีรษะหรือหลังเท้าแก้ปวดหัวได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ทำครกกระเดื่องทนทานมาก
 
ตะคร้อ หรือ SCHLEICHERA OLEOSA MERR. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๒๐ เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๔ ใบ เนื้อใบหยาบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เวลาแตกใบอ่อนทั้งต้นจะสวยงามน่าชมยิ่งนัก ใบแก่เป็นสีเขียวสด
 
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นสีเหลือง “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นพวงจำนวนมาก เปลือกผลเรียบและหนา สีเขียวคล้ำ หรือสีเขียวปนน้ำตาล ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ เนื้อในหุ้มเมล็ดเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีแดง ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดสีน้ำตาลเป็นรูปโค้งงอ ตอนเป็นเด็กบ้านนอกนิยมนำเอาเมล็ดดังกล่าวเสียบบริเวณติ่งหูทำเป็นต่างหูดูสวยงามและสนุกตามสไตล์ของเด็กชนบทในยุคนั้น ซึ่ง “ตะคร้อ” จะมีดอกและติดผลแก่จัดในช่วงฤดูฝนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเกือบทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกคือ เคาะจ้ก, มะจ้ก, มะโจ้ก (ภาคเหนือ) หมากค้อ (ภาคอีสาน) ปั้นรัว (สุรินทร์) ปั้นโรง (บุรีรัมย์) และตะคร้อไข่ (ภาคกลาง) มีต้นขายทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเองครับ  นสพ.ไทยรัฐ  


 กุหลาบมอญสุโขทัย
กุหลาบชนิดนี้ไม่มีใครระบุได้ว่ามีที่มาของสายพันธุ์เป็นเช่นไร ผู้ขายกิ่งตอนบอกได้เพียงว่าเป็นกุหลาบโบราณชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกทั่วไปมาช้านานแล้ว และมีชื่อเรียกว่า “กุหลาบมอญสุโขทัย” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีลักษณะประจำพันธุ์ครองใจผู้ปลูกคือ ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง สีสันของดอกสวยงาม เวลามีดอกบานพร้อมกันหลายๆดอก จะส่งกลิ่นหอมกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง ทำให้ผู้ปลูกรู้สึกสดชื่นเมื่อเข้าไปยืนใกล้ๆ เป็นที่ประทับใจยิ่งนัก
 
กุหลาบมอญสุโขทัย หรือ ROSA DAMAS CENA MILL. ชื่อสามัญ DAMASE ROSE SUMMER DAMASE ROSE อยู่ในวงศ์ ROSA CEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับกุหลาบทั่วไปคือ เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปไข่ ปลายแหลม โคนมนหูใบแนบติดกับก้านใบ สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีดอกย่อย ๑-๓ ดอก อาจมีมากกว่านั้นได้อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ลักษณะดอกมีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย มีกลีบดอกหลายชั้น เป็นรูปกลมมน กลีบดอกชั้นนอกสุดจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกที่อยู่ในชั้นถัดไปอย่างชัดเจน เมื่อแรกบานเป็นสีชมพูอ่อน หลังจากนั้นเมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มขึ้นหรือเป็นสีชมพูอมม่วงสวยงามมาก ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕.๗-๖ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรงตามที่กล่าวข้างต้น “ผล” รูปไข่ เมื่อผลสุกเป็นสีแดง มี ๑ เมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด
 
มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 จำปีแดง
ไม้ต้นนี้ มีกิ่งตอนวางขายพร้อมมีภาพถ่ายของดอกจากต้นจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขาย บอกว่า “จำปีแดง” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย เป็นลูกผสมระหว่างไม้ดอกสวยงามในวงศ์แมกโนเลียด้วยกัน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นระหว่างตัวไหนกับตัวไหน ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกดกสีสันงดงามมากในทุกสภาพอากาศของบ้านเรา
 
โดยเฉพาะ ผู้ขายบอกต่อว่า “จำปีแดง” ปลูกได้ทั้งลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวันและปลูกลงดินกลางแจ้ง เป็นไม้ดูแลง่ายเพราะ “จำปีแดง” ไม่ชอบน้ำเยอะหรือน้ำท่วมขัง เนื่องจากจะทำให้รากเน่า ต้นตายยืน เป็นไม้ชอบแดดจัดและ “จำปีแดง” เป็นสายพันธุ์ที่แตกใบอ่อนพร้อมมีดอกได้ตลอดเวลาหรือบ่อยที่สุด ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบาน พร้อมกันทั้งต้นดูสีสวยงามมาก
 
จำปีแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ตามที่ผู้ขายกิ่งตอนเขียนติดไว้คือ MAGNOLIA LILIIFLORA อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้ต้น สูงเพียง ๒-๔ เมตรเท่านั้น ไม่ได้สูงใหญ่เหมือนกับไม้สกุลเดียวกันที่จะสูงกว่า ๕ เมตรขึ้นไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนเกือบมน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ดอกตูมรูปกระสวย มีกลีบดอกหลายชั้น รูปกลีบรีกว้าง สีชมพูเข้ม ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอกออกทั้งปีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบัน “จำปีแดง” มีกิ่งตอนขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ เป็นกิ่งที่ขยายพันธุ์ด้วยระบบเสียบยอดกับตอจำปาพื้นเมืองของไทย มีรากแก้วแข็งแรงทุกต้น เมื่อนำไปปลูกจะทำให้เติบโตเร็ว แข็งแรงและมีดอกดกสวยงามตามภาพ ประกอบคอลัมน์ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ลิตเติ้ลเจมส์
ไม้ต้นนี้ มีต้นวางขายมีภาพถ่ายดอกจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขายกิ่งตอนบอกว่า “ลิตเติ้ลเจมส์” เป็นไม้ในวงศ์ MAGNOLIACEAE อยู่ในกลุ่มเดียวกับจำปี จำปา มณฑา และยี่หุบ ซึ่ง “ลิตเติ้ลเจมส์” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกประดับในประเทศไทยบ้านเรานานแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกได้ดีไม่แพ้ปลูกในประเทศบ้านเกิด มีข้อโดดเด่นคือ ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง ขนาดของต้นไม่สูงใหญ่นัก ดอกดกไม่ขาดต้น จึงทำให้เป็นที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
 
ลิตเติ้ลเจมส์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มต้น สูง ๒-๓.๕ เมตร แตกกิ่งก้านกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบรูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ขนาดใบใหญ่ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ ขอบใบเรียบ
 
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ลักษณะดอกตูมทรงกลมป้อม มีกลีบรองดอก ๓ กลีบ หนาและแข็ง กลีบดอกมี ๖-๑๒ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปกลมมนหรือแหลมเล็กน้อย กลีบดอกสีขาว ดอกขนาดใหญ่ มีดอกดกเต็มต้น มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” เป็นผลกลุ่ม สีเขียว มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปีและดอกดกเต็มต้นโดยธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอดกับตอแมกโนเลียพันธุ์พื้นเมือง
 
ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑  ปลูกได้ในดินทั่วไปและทุกพื้นที่ในประเทศไทย เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เดือนละครั้ง จะทำให้มีดอกดกเต็มต้นสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมาก ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 พุดบุญรักษา
ไม้ต้นนี้ มีต้นวางขาย ผู้ขายบอกว่าชื่อ “พุดบุญรักษา” มีถิ่นกำเนิดจาก เกรนาด้า ในแถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๓-๔ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีดอกสวยงามในสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา โดยผู้ขายบอกต่อว่า “พุดบุญรักษา” เป็นชื่อไทยที่ถูกผู้นำเข้าตั้งขึ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ POSOGNERIA LATIPOLIA อยู่ในตระกูลพุดทั่วไป
 
มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ประจำพันธุ์คือ เป็นไม้พุ่มต้น สูงเต็มที่ไม่เกิน ๒.๕-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มโปร่งๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันตามข้อ ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ เนื้อ ใบค่อนข้างหนาและแข็ง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวหม่นทั้งต้นใบ และดอกคล้ายต้นสาวสันทราย
 
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอดและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกมีทั้งตั้งขึ้นและห้อยลง ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปรี ปลายกลีบดอกมน สีขาวสดใส ดอกมีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว เวลามีดอกช่อดอกจะดูคล้ายทั้งดอกเข็มและดอกปีบ แต่ไม่ใช่ไม้ในวงศ์เข็มและปีบ เวลามีดอกดกและดอกบานทั้งต้นจะดูสวยงามแปลกตาและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” ผู้ขายไม่ได้บอกว่าเป็นอย่างไร ดอกออกตลอดทั้งปีไม่ขาดต้น ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบันต้น “พุดบุญรักษา” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งในที่มีแดดส่องทั้งวัน เวลามีดอกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 เหลืองจันทน์
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศ ไทย พบมากที่สุดทางภาคเหนือและภาคใต้ มีชื่อ วิทยาศาสตร์เฉพาะคือ POLYALTHIA SP. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ระหว่าง ๓-๕ เมตรเท่านั้น เปลือกต้นเป็นสีเทาหรืออมน้ำตาลแดง แตกกิ่งก้านน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวสด เวลามีใบดกจะดูแปลกตายิ่งนัก
 
ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๓-๕ ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยวตามลำต้นและกิ่งก้านบริเวณเหนือรอยแผลใบที่ร่วงไป ดอกห้อยลง ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวจำนวน ๓ กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบเลี้ยงมักกระดกขึ้น ส่วนกลีบดอกมี ๖ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ขณะดอกยังอ่อนจะเป็นสีเหลืองอมเขียว เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสวยงามน่าชมมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงเฉพาะในช่วงสายๆ จากนั้นกลิ่นหอมจะจางลงเป็นธรรมชาติ กลีบดอกชั้นนอกจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบดอกที่อยู่ชั้นในอย่างชัดเจน ดอกบานทนได้ประมาณ ๒-๓ วัน จึงร่วงโรย “ผล” เป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมากประมาณ ๑๐-๒๐ ผลต่อช่อ ผลเป็นรูปกลมรี ใน ๑ ผล จะมีเมล็ด ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง
 
ปัจจุบันต้น “เหลืองจันทน์” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑  ราคาอยู่ที่ขนาดของต้นหรือสอบถามต่อรองกันเอง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เป็นไม้ไม่ชอบน้ำท่วมขัง จึงต้องทำทางระบายน้ำก้นกระถางให้ดีอย่าให้มีน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง บำรุงปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นเล็กน้อย เดือนละครั้งสลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ครึ่งเดือนครั้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งประจำ จะทำให้ “เหลืองจันทน์” มีดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมไม่ขาดต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

    ถังทอง  สวยกับความเชื่อดีๆ
ถังทอง เป็นกระบองเพชรชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบทิศตะวันออกของประเทศเม็กซิโก ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้สูง ที่เกิดตามธรรมชาติและจัดอยู่ในจำพวกไม้หายากในธรรมชาติ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ECHINOCACTUS GRUSONII ชื่อสามัญ GOLDEN BARREL CACTUS ลำต้นเป็นรูปทรงกลมดูคล้ายถัง มีหนามแหลมเป็นสีเหลืองทองกระจายทั่วทั้งต้นสวยงามน่าชมยิ่ง

ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์นานหลายปีแล้ว มีต้นวางขายทั้งต้นขนาดกะทัดรัดปลูกในกระถางเล็ก ยกเคลื่อนย้ายได้ง่าย และต้นขนาดใหญ่ปลูกในกระถางใหญ่ โดย ผู้ขายบอกว่า ปัจจุบันนักจัดสวนนิยมนำเอาต้นขนาดใหญ่ไปปลูกจัดสวนในบริเวณบ้าน สำนักงาน บริษัทห้างร้านอย่างแพร่หลาย ใช้ดินปลูกแคคตัสเฉพาะมีขายทั่วไปลงก่อนที่จะนำต้น “ถังทอง” ลงปลูก เวลาต้นมีขนาดใหญ่และมีหนามแหลมเป็นสีเหลืองทองทั้งต้นจะดูงดงามยิ่งนัก หากปลูกเลี้ยงไปนานๆ ต้นสามารถสูงได้ถึง ๑ เมตร และถ้ามีอายุได้ ๒๐ ปี จะมีดอกบริเวณส่วนยอดของลำต้น กลีบดอกเป็นแฉกสีเหลืองทอง ขอบกลีบเป็นสีน้ำตาลดูคล้ายแสงอาทิตย์รุ่งอรุณสดใสมาก การปลูกต้นขนาดเล็กลงกระถาง เครื่องปลูกจะต้องโปร่งระบายน้ำได้ดีทั้งดินที่ผสมเอง หรือดินปลูกแคคตัสโดยเฉพาะ เป็นไม้ชอบแดด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หลังปลูกรดน้ำให้ชุ่ม ๕ วันครั้ง นอกจากปลูกเพื่อความสวยงามแล้ว “ถังทอง” ยังมีความเชื่อว่าปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้มีโชคลาภ เพราะต้นคล้ายถังและหนามสีเหลืองทองช่วยป้องกันเภทภัยต่างๆ ด้วย

มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๔ ราคาสอบถามกันเองครับ.   ไทยรัฐ


3363  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2558 15:05:45
 สร้อยมณีแดง
ไม้ชนิดนี้ เป็นไม้ในตระกูลเดียวกับสร้อยฟ้าชนิดที่มีดอกเป็นสีม่วงและนิยมปลูกประดับอย่างกว้างขวางมาช้านานแล้ว ซึ่งสร้อยฟ้าดอกสีม่วงดังกล่าว มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอังกฤษเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง PALATA กับ PCAERULEA ไม่ใช่พันธุ์แท้

ส่วน “สร้อยมณีแดง” มีถิ่นกำเนิดจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดอกเป็นสีแดง บางคนเรียกว่า สร้อยฟ้าฮาวาย ที่สำคัญถือเป็นจุดเด่นของ “สร้อยมณีแดง” ได้แก่ ดอกจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแป้งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้สูดดมแล้วจะรู้สึกชื่นใจยิ่ง

สร้อยมณีแดง หรือ PASSIFLORA X ALA- TO–CAERULEA LINDL. อยู่ในวงศ์ PASSI-FLORACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เถาเป็นเหลี่ยม มีมือออกตามซอกใบเลื้อยได้ไกลกว่า ๕-๗ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ รูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนมน ซึ่งจะแตกต่างกับใบของสร้อยฟ้าอังกฤษที่จะเป็นแฉกลึกรูปนิ้วมือ

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง๕ แฉก กลีบดอกมี ๑๐ กลีบ คล้ายกลีบบัว ด้านหน้ากลีบเป็นสีแดงอมม่วง หลังกลีบเป็นสีขาวหม่น มีระยางเป็นเส้นจำนวนมาก เป็นสีม่วงเข้ม มีสีขาวแต้ม ซึ่งจะแตกต่างจากระยางของสร้อยฟ้าอังกฤษอย่างชัดเจน บริเวณใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้ ๕ อัน ปลายเกสรตัวเมียเป็น ๕ แฉก ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแป้งตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” เป็นรูปรี ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่งและตอนกิ่ง

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการ  นสพ.ไทยรัฐ  

 นมแมว
ไม้ต้นนี้พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย ในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแถบชนบทเพื่อสูดดมกลิ่นหอมจากดอกในตอนพลบค่ำ ซึ่งดอกของ “นมแมว” จะส่งกลิ่นหอมแรงมากคล้ายกลิ่นน้ำหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงให้ลมพัดโชยเข้าบ้านยามค่ำคืนเป็นที่รัญจวนใจยิ่งนัก และจากกลิ่นหอมดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในไม้ดอกหอมของไทยที่ถูกนำไปใส่ไว้ในบทเพลง “ชมสวน” ขับร้องโดยนักร้องหญิงชื่อดังในอดีตคือ “คุณวงษ์จันทร์ ไพโรจน์” โดยคนที่มีอายุระหว่าง ๕๐ ปีปลายๆ ขึ้นไปจะจำเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะในยุคสมัยก่อนนิยมเปิดตามสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำทุกวัน แต่ปัจจุบันหาฟังได้ยากแล้ว และคนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จักต้น “นมแมว” หรือบทเพลงดังกล่าว
 
นมแมว หรือ MELODORUM SIAM-ENSE (SCHEFF.) BAN. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๒.๕ เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายแหลมโคนป้าน ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม สีเขียวอ่อน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น เป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกเป็นรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมแรงตั้งแต่พลบค่ำเรื่อยไปจนกระทั่งรุ่งเช้ากลิ่นจะจางลงเป็นธรรมชาติ “ผล” รูปกลมรี ผลสุกเป็นสีเหลืองมีเมล็ดสีดำแข็ง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง
 
ประโยชน์ รากสด “นมแมว” ตำผสมกับน้ำปูนใสทาถอนพิษแมลงกัดต่อย รากสดกะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดดื่มขณะอุ่นครั้งละ ๑ แก้ว แก้ประจำเดือนสตรีไม่ปกติ นอกจากนั้น รากสดของ “นมแมว” ยังนำไปผสมกับรากสดต้นไส้ไก่ และรากสดต้นหนามพรมจำนวนเท่ากันต้มน้ำเดือดดื่มขณะอุ่นวันละ ๑-๒ แก้ว แก้ริดสีดวงจมูกดีมาก
 
มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๘ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

 บุหงาส่าหรี
“บุหงาสาหรี” มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากหมู่เกาะเวสต์อินดีส ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๕๐-๖๐ ปี แล้ว โดยมีการเรียกชื่อเป็นภาษาไทยหลายชื่อคือ “บุหงาสาหรี” บุหงาบาหลี และ บุหงาแต่งงาน เป็นต้น

บุหงาสาหรี มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ CITHA-REXYLUM SPINOSUM LINN. อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นรูปแท่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ กลีบ ดอกเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

สมัยก่อน “บุหงาสาหรี” นิยมปลูกประดับกันอย่างกว้างขวางทั้งตามบ้านและตามสถานที่ราชการทั่วไป ปัจจุบัน ค่านิยมที่มีต่อ “บุหงาสาหรี” ได้ลดน้อยลงไปตามกาลเวลาทำให้มีกิ่งตอนหรือต้นพันธุ์วางขายน้อยมาก จนเชื่อว่าอีกไม่นาน “บุหงาสาหรี” จะกลายเป็นไม้ที่ถูกลืมเหมือนกับไม้ดอกหอมโบราณหลายชนิดที่หาดูได้ยากแล้วในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม “บุหงาสาหรี” ยังพอมีต้นขายประปราย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ไม่ชอบนํ้าท่วมขังครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

 สายหยุด
โดยปกติของสายหยุดที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมปลูกประดับมาแต่โบราณ เป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนตอนใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานมากจนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า DESMOS CHINENSIS LOUR. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย หรือไม้กึ่งเลื้อย  ยอดมักเกาะพาดพันได้ไกล ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตรงกันข้าม ใบดอกห้อยลง มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีกลีบดอก ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ดอกขณะยังตูมจะเป็นสีเขียว เมื่อบานหรือแก่จัดเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตอนเช้าพอสายกลิ่นหอมจะหายไป จึงถูกตั้งชื่อว่าสายหยุด “ผล” เป็นกลุ่ม ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายทั่วไป

ส่วน “สายหยุดต้น” ที่เพิ่งพบกิ่งตอนวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้พุ่มต้น ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อยหรือรอเลื้อย ต้นสูงประมาณ ๓ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น โคนมน หรือเว้าเล็กน้อย สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ดอกห้อยลง มีกลีบดอก ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบเหมือนกับชนิดแรก แต่ขนาดของดอก “สายหยุดต้น” จะมีขนาดใหญ่และหนากว่าอย่างชัดเจน ดอกเมื่อบานเต็มที่หรือแก่จัดเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะช่วงเช้าเหมือนกัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมประทับใจมาก “ผล” เป็นกลุ่ม ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “สายหยุดต้น” มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ—พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑  ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้าน เวลามีดอกดกจะสวยงามส่งกลิ่นหอมมากครับ นสพ.ไทยรัฐ  


 การเวก
ลักษณะของการเวกที่นิยมปลูกประดับกันแพร่หลายมาช้านานแล้วนั้น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่พม่า อินโดนีเซีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ARTABOTRYS SIAMENSIS MIQ อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE นิยมปลูกให้ต้นไต่หรือเลื้อยพันซุ้มประตูหน้าบ้านและพันรั้วบ้าน เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง เป็นที่ประทับใจมาก ซึ่งการเวกชนิดเถาเลื้อยนี้จะมีดอกช่วงเดือนมีนาคมเท่านั้น

ส่วน “การเวกต้น” ที่พบวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้พุ่มไม่ใช่ไม้เถาเลื้อยเหมือนชนิดที่กล่าวข้างต้น สูง ๒-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีกว้างและใหญ่ ปลายใบแหลม โคนใบมน สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก ๑-๓ ดอก ออกตามกิ่งก้านหรือตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กสีเขียวอ่อน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบด้านนอกรูปขอบขนาน ปลายกลีบแหลม กลีบด้านในเล็กกว่า ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงมาก เวลามีดอกดกและดอกสุกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม พร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” กลมรี ผลย่อย ๑๐-๑๕ ผล มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ดอกของ “การเวกต้น” ออกทั้งปี แตกต่างจากการเวกเถาออกตามฤดูกาลปีละครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

การเวกต้น มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ทั้งลงดินกลางแจ้งและลงกระถางขนาดใหญ่ เวลามีดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงชื่นใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 จำปีอะมาวะสี
จำปีชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจากรัฐอะมาวะสี ประเทศอินเดีย มีลักษณะเด่นคือ “จำปีอะมาวะสี” ต้นจะไม่สูงมากนัก เวลามีดอกจะดกกว่าจำปีทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอมแรง ที่สำคัญกลีบดอกของ “จำปีอะมาวะสี” จะหนากว่าจำปีทั่วไป ทำให้กลีบดอกไม่ร่วงง่าย สามารถบานได้ทนกว่าจำปีสายพันธุ์อื่น ซึ่ง “จำปีอะมาวะสี” ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว ผู้นำเข้าเห็นว่า “จำปีอะมาวะสี” เติบโตได้ดีและมีดอกดกเหมือนกับปลูกในถิ่นกำเนิดเดิม จึงขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อตามแหล่งนำเข้าว่า “จำปีอะมาวะสี” กำลังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปลูกไม้ดอกหอมอยู่ในขณะนี้

จำปีอะมาวะสี มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับจำปีทั่วไปคือ MICHELIA ALBA DC. ชื่อสามัญ WHITE CHAMPAK อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา หน้าใบเรียบ สีเขียวสดเป็นมัน หลังใบสีเขียวด้าน ใบจะ ดกและหนาแน่นในส่วนปลายกิ่ง

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด ลักษณะดอกเมื่อยังตูมอยู่จะเป็นรูปกระสวย ยาวประมาณ ๓-๕ ซม. มีกลีบดอก ๘-๑๒ กลีบ เนื้อกลีบดอกจะมีความหนามากกว่ากลีบดอกจำปีทั่วไป จึงทำให้เวลาดอกบานจะอยู่ได้ทนนานกว่าจำปีทั่วไป คือ บานได้ทนประมาณ ๒-๓ วัน กลีบดอกจึงจะร่วง เป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอมแรง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมีย ๑๐-๑๒ อัน ดอกเมื่อบานจะมีขนาดใหญ่เท่ากับจำปีทั่วไป  เวลามีดอกจะดกเต็มต้น  และดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง ดอกออกตลอดปี  ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเสียบยอด

โดยเฉพาะ ในช่วงที่ “จำปีอะมาวะสี” มีดอกกำลังตูมใกล้จะบานสามารถเก็บไปร้อยปลายมาลัยดอกมะลิ หรือเก็บดอกขายเพิ่มรายได้ดีมาก เพราะกลีบดอกจะไม่เหี่ยวหรือร่วงง่ายนั่นเอง

สรรพคุณทางสมุนไพรของจำปีทั่วไป ใบสดต้มน้ำเดือดดื่มขณะอุ่นเป็นยาระงับอาการไอเรื้อรัง และแก้อาการหลอดลมอักเสบได้ ปัจจุบันต้น “จำปีอะมาวะสี” มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกประดับทั่วไป เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ประทับใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 พุดจีบ
พุดจีบเป็นไม้พุ่มเตี้ย ทรงพุ่มแน่น ใบมีรูปร่างมนรี สีเขียวเข้ม ปลายใบแหลมเป็นติ่งยาวตามลำต้นและใบมียางสีขาว มีกลีบดอกซ้อนกัน ๓ ชั้น ชั้นละ ๕ กลีบ กลีบดอกมีรอยยับย่นบิดเป็นริ้วๆ มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ไม้-เป็นยาเย็น  ลดไข้  น้ำจากต้นขับพยาธิ ใบ-ในมาเลเซียนำมาชงกินกับน้ำตาลแก้ไอ  ในอินเดียนำน้ำตามใบใส่แผล ดอก-น้ำคั้นจากดอกผสมน้ำมัน ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ราก-ขับพยาธิ เคี้ยวแก้ปวดฟัน ใช้เป็นยาบำรุง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบสารสกัดจากต้นพุดจีบว่ามีสรรพคุณแก้โรคอัลไซเมอร์ในหนูทดลองพบว่าสารสกัดในต้นพุดจีบที่มีฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาท และมีสรรพคุณใกล้เคียงกับยารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเป็นการทดลองในระดับเซลล์  ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คือการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซติลโคลีน เอสเทอเรสและเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท ซึ่งสารสกัดจากต้นพุดจีบสามารถให้ผลเช่นเดียวกับตัวยากาเลนทามินที่รับประทานแก้โรคอัลไซเมอร์เมื่อทดลองในหนูทดลองและนำเซลล์สมองมาวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งการศึกษานี้จะมีการต่อยอดเพื่อการพัฒนาขบวนการผลิตยาที่สกัดมาจากพุดจีบต่อไป. นสพ.เดลินิวส์  


 ปัญจขันธ์
“เจียวกู่หลาน” ชื่อภาษาอังกฤษคือ Miracle grass, Southern ginseng หรือ 5-Leaf ginseng หรือภาษาไทยเรียกว่า “ปัญจขันธ์” มีสารที่มีฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยให้นอนหลับลดระดับไขมันในเลือดเสริมระบบภูมิคุ้มกัน  โดยปัญจขันธ์เป็นพืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยขนานกับพื้นดิน รากงอกออกจากข้อเป็นประเภทแตง น้ำเต้า มีใบ ๓-๕ ใบ ด้านบนและด้านล่างใบมีขนอ่อนสีขาวปกคลุมส่วนที่นำมาใช้คือส่วนเหนือดินของพืชที่มีอายุ ๔-๕ เดือนขึ้นไป

ตอนนี้ปัญจขันธ์แพร่หลายมากขึ้น  มีหลายหน่วยงานนำพืชชนิดนี้ไปวิจัยมากขึ้น คนที่นิยมสมุนไพรก็รู้จักสมุนไพรชนิดนี้กันมาก มีการนำปัญจขันธ์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์กันหลากหลาย เช่น ชาปัญจขันธ์ ปัญจขันธ์แคปซูลหรือบางทีก็นำเอาสารสกัดจากปัญจขันธ์นี้ไปผสมกาแฟก็มี  มีคนบอกว่า ปัญจขันธ์เป็นสมุนไพรอมตะ บางคนว่าเป็นยาอายุวัฒนะก็มี แสดงว่ามีสรรพคุณดีแน่นอน ฉะนั้น ปัญจขันธ์จึงได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นพืชสมุนไพรแห่งชาติปี ๒๕๔๘

มีผู้คนบอกว่า...ปัญจขันธ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้นอนหลับ ช่วยคลายเครียด ช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ซ่อมแซม DNA ที่ถูกทำลายจากสารพิษ บุหรี่ แอลกอฮอล์ รักษาสมดุลของฮอร์โมนและเอนไซม์ ช่วยปกป้องหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต  ช่วยรักษาความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นของผิวพรรณ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและทางเพศ ปัญจขันธ์มี สารยิเพ็นโนไซด์ (Gypenosides) ที่พบในโสมแต่ในปัญจขันธ์มีมากกว่าโสม ๓-๔ เท่า เป็นสารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเซลล์ ยับยั้งเซลล์มะเร็งต้านการอักเสบ ยับยั้งการก่อตัวของเกล็ดเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลด LDL (ไขมันเสีย) เพิ่ม HDL (ไขมันดี ) ช่วยเพิ่มขบวนการเผาผลาญ แก้ปวด แก้ไอ  ขับเสมหะ  รักษาแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปวด-บวม ฟกช้ำดำเขียว ทำให้ผิวหนังเต่งตึง แก้ท้องผูก ลำไส้อักเสบ  โรคตับ  เชื้อราที่เท้า ผมหงอก ผมร่วง  ปวดหัว ไมเกรน  ความจำเสื่อม   คางทูม  ทอนซิล  หวัด ขับเสมหะ แก้ไอ หอบหืด  ลดกรด….เห็นไหมมีสรรพคุณที่ครอบคลุมและครอบจักรวาลดี

แต่ข้อมูลจากจดหมายข่าวผลิใบของกรมวิชาการเกษตร คอลัมน์ขอคุยด้วยคนโดย “มธุรส วงษ์ครุฑ” เขียนถึงการดื่มชาปัญจขันธ์ไว้ว่าห้ามดื่มติดต่อกันนานเกิน ๗ วัน โดยเมื่อดื่มครบ ๗ วันก็ให้หยุดดื่ม ๑-๒ วัน แล้วค่อยเริ่มต้นดื่มใหม่หรือถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มึนงง ปวดศีรษะ ตาพร่าลายก็ต้องหยุดดื่มเช่นกัน...อันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำตามนะครับ

ปัญจขันธ์ หรือเจียวกู่หลาน ปัจจุบันมีจำหน่ายตามร้านสมุนไพรทั่วไป หาซื้อได้ง่ายสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางเสาะแสวงหาเฉกเช่นแต่ก่อนเก่าดังที่เล่ามา. นสพ.เดลินิวส์  


 ขนนก หรือ แผ่บารมีมหาเศรษฐี
ไม้ต้นนี้ พบมีต้นขายมีป้ายชื่อเขียนติดไว้ชัดเจนว่าต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” และชื่อรองว่า “ขนนก” ซึ่งทั้ง ๒ ชื่อ ผู้ขายเป็นคนตั้งขึ้นเอง เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ซื้อไปปลูกประดับ ผมเองเห็นว่าลักษณะต้นและใบมีความแปลกตาและสวยงามมาก จึงสอบถามผู้ขายได้รับคำตอบว่า ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแอฟริกา ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว แต่ผู้ขายไม่มีชื่อภาษาอังกฤษและชื่อวงศ์เฉพาะ บอกได้เพียงว่า ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีความพิเศษคือ ใบดก และใบ จะมีความอ่อนนุ่มมาก เมื่อทดลองใช้ฝ่ามือลูบรู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยว่านุ่มสบายมือจริงๆ ไม่แข็งเหมือนใบไม้ทั่วไป ถ้าได้ลูบแล้วอยากจะลูบอีก เนื่องจากทำให้สบายฝ่ามือนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เท่าที่ดูจากสายตาที่เห็นคล้ายต้นหูกระจง แต่ผู้ขายบอกว่าต้นไม่สูง โตเต็มที่ไม่เกิน ๒ เมตร แตกกิ่งแขนงแผ่กว้างเป็นวงกลมเหมือนกับต้นหูกระจงและเป็นชั้นๆ ใบออกสลับหนาแน่นตามกิ่งแขนง รูปกลมรี ปลายแหลม โคนมน สีเขียวสด ใบมีความเป็นพิเศษและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือจะนุ่มไม่กระด้างตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีใบดกใช้ฝ่ามือลูบจะทำให้รู้สึกสบายมือดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

ปัจจุบัน ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบนํ้าท่วมขัง นิยมปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้ง และปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับบ้านอาคารในมุมที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน หลังปลูกรดนํ้าพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เล็กน้อยเดือนละครั้ง จะทำให้ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีใบดกสวยงามและนุ่มมือครับ นสพ.ไทยรัฐ  


 ลดาวัลย์ออสเตรเลีย
โดยปกติลดาวัลย์ที่นิยมปลูกประดับตามบ้านมาแต่โบราณเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า และ มาเลเซีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PORANA VOLUBILIS BURM.F. ชื่อสามัญ  BRIDAL CREEPER, SNOW CREE-PER, BRIDAL WREATH. อยู่ในวงศ์ CONVOLVULACEAE

มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า ๘ เมตร ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อนแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูประฆัง สีขาวนวล เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕-๐.๘ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมเย็น เวลามีดอกจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจยิ่ง “ผล” กลม มี ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายทั่วไป

ส่วน “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” ที่เพิ่งพบมีต้นวางขาย มีดอกบานเต็มต้นสวยงามมาก ผู้ขายบอกว่าเป็นสายพันธุ์นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับลดาวัลย์ที่กล่าวข้างต้นทุกอย่าง แตกต่างกันที่ดอกของ “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” ช่อใหญ่และดอกย่อยมีขนาดใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ที่สำคัญ ดอกจะดกไม่ขาดต้น ดอกมีกลิ่นหอมเย็นเหมือนกัน ทำให้เวลามีดอกบานสะพรั่งดูงดงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” รูปทรงกลม มีเมล็ด ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบนํ้าท่วมขัง เหมาะจะปลูกให้ต้นเลื้อยซุ้มต่างๆ เวลามีดอกดกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ


   กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น  ดอกหอมแรง
กุหลาบชนิดนี้ มีต้นวางขายมีดอกสีสันเข้มข้นสวยงามน่าชมยิ่ง ขนาดของดอกไม่ใหญ่โตนัก คิดว่าเป็นกุหลาบยี่สุ่นไทยที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ผู้ขายบอกว่าเป็นคนละต้นกันมีชื่อภาษาไทยว่า “กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น” นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นนานหลายปีแล้ว มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์คือ ดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากุหลาบยี่สุ่นของไทยอย่างชัดเจน และที่สำคัญผู้ขายยืนยันต่อว่า ดอกของ “กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น” จะมีกลิ่นหอมแรงกว่าด้วย สามารถสูดดมพิสูจน์กลิ่นได้เนื่องจากมีต้นกุหลาบยี่สุ่นไทยวางขายใกล้ๆ กัน ซึ่งเมื่อสูดดมกลิ่นแล้วเป็นอย่างที่ผู้ขายบอกทุกอย่างจริงๆ

กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือน กับกุหลาบทั่วไปทุกอย่างคือ ROSA SPP AND HYBRID ชื่อสามัญ ROSE อยู่ในวงศ์ ROSA- CEAE เป็นไม้พุ่ม ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑-๑.๕ เมตร ต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เป็นรูปไข่ ปลายแหลมโคนมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หูใบแนบติดกับก้านใบ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ ๑-๓ ดอก ที่ปลายกิ่ง ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย มีกลีบเลี้ยง ๕ แฉก กลีบดอกหลายชั้นเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบ รูปกลมกว้าง ปลายกลีบเกือบมนหรือแหลมเล็กน้อย กลีบดอกเป็นสีชมพูเข้ม มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามสดใสและส่งกลิ่นหอมกระจายเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” รูปไข่ เมื่อสุกเป็นสีแดง มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และติดตามีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๘ ราคาสอบถามกันเองครับ.


  ชงโคแคระดอกม่วง  ปลูกประดับสวย
ชงโคชนิดนี้ ผู้ขายต้นพันธุ์บอกว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๔-๕ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีดอกสีสันงดงามมาก กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินปนสีคราม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑.๕-๒.๕ เมตร เท่านั้น ผู้นำเข้าจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยตามลักษณะต้นและสีสันของดอก ว่า “ชงโคแคระดอกม่วง” มีชื่อเฉพาะเรียกในประเทศออสเตรเลียว่า BLUE ORCHID กำลังเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยเวลานี้

ชงโคแคระดอกม่วง อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยรวมเหมือนกับชงโคดั้งเดิมเกือบทุกอย่าง แต่ต้นจะเตี้ยกว่า (ปกติชงโคดั้งเดิมต้นจะสูง ๕-๑๐ เมตร) ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าลึก โคนมนหรือเว้าเหมือนกัน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยไม่น้อยกว่า ๓-๕ ดอกขึ้นไป มีกลีบดอก ๕ กลีบ เช่นเดียวกับดอกชงโคดั้งเดิม กลีบดอกเมื่อบานจะกางออกเห็นแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นดอกชงโค กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินปนสีครามอย่างชัดเจน ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้หลายอันยื่นยาวพ้นกลีบดอก ปลายเกสรเป็นสีเหลืองเข้ม เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น สีสันของกลีบดอกจะตัดกับสีสันของสีเกสรดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบนและยาว ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ผลแก่แตกอ้าเป็น ๒ ซีก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมทุกปี ขยายพันธุ์ทั่วไปด้วยเมล็ด

ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านทั้งปลูกลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางตั้งในที่มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เดือนละครั้ง เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.   ไทยรัฐ


  นีออน
นีออน หรือ LEUCOPHYLLUM FRU-TESCENS (BERL.) L.M. ชื่อสามัญ JOHNST., BAROMETER BUSH, ASH PLANT. อยู่ในวงศ์ SCROPHULARIACEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเม็กซิโก ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยนานมากแล้ว เป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๑-๒ เมตร แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับจำนวนมาก รอบกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้นเรื่อยไปจนถึงปลายยอด ใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี สีเขียวอมเทา มีขนยาวและนุ่มปกคลุม ใบมักบิดหรือห่อขึ้นเล็กน้อย เวลาใบดกจะน่าชมยิ่งนัก ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยหลายดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ หลอดดอกเป็นสีม่วงจางๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วงสดถึงสีชมพูอมม่วงแดง ดอกออกทั้งปี เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน สีสันของดอกจะตัดกับสีของใบที่เป็นสีเขียวอมเทาสวยงามแปลกตามาก ขยายพันธุ์ปักชำกิ่ง

ปัจจุบันต้น “นีออน” มีขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากัน หรืออยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดดจัด ไม่ชอบน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งลงดินกลางแจ้ง และปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน และมีลมพัดโกรกดีตลอดเวลา รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นเล็กน้อยเดือนละครั้ง สลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ครึ่งเดือนครั้ง ครั้งละ ๕-๗ เม็ด จะทำให้ต้นแข็งแรงมีดอกและใบดกสวยงามครับ.
3364  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2558 16:02:06

ชุดภาพประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี
(จบ)



























































จบ ภาพเมืองลพบุรีในอดีต
3365  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดสิงห์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ชมศาสนสถานโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2558 18:07:02
.



วัดสิงห์
ตำบลสามโคก  อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วัดสิงห์ เป็นวัดตั้งอยู่ริมคลองไม่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกบริเวณคุ้งน้ำที่กว้างใหญ่ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ซึ่งขุดลัดเตร็ดใหญ่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ตรงหน้าวัดไก่เตี้ย

ที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากริมแม่น้ำลึกเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร โดยมีลำคลองสำหรับเรือเข้าออก เรียกว่า “คลองวัดสิงห์” อยู่ทางทิศใต้ของวัด แผ่นดินบริเวณนี้เรียกว่า “บ้านสามโคก”

“วัดสิงห์” เป็นวัดโบราณเก่าแก่คู่เมืองสามโคกมานาน  สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เดิมเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงอยุธยาเป็นราชธานี สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

 
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพม่ารบกับจีน ในปี พ.ศ.๒๐๒๒ ชาวมอญที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพพม่า ได้พากันหลบหนีจากกองทัพพม่า โดยพาครอบครัวประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ออกจากแว่นแคว้นเมืองเมาะตะมะ มาทางเมืองสมิ ถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์  ในปีระกา นพศกนั้น จึงสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นาย ก็แต่งหนังสือบอกให้รามัญ ถือเข้ามาแจ้งกิจการแก่พระยากาญจนบุรีว่าจะเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยากาญจนบุรีก็ส่งหนังสือบอกเข้ามาถึงอัครมหาเสนาธิบดี ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกให้ทรงทราบเหตุ  ก็ทรงพระโสมนัสดำรัสให้สมิงรามัญเก่าในกรุงถือพลพันหนึ่ง ออกไปรับครัวเมืองเมาตะมะเข้ามายังพระมหานคร แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พวกครัวมอญใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่สามโคกบ้าง ที่คลองคูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปุบ้าง โดยพระภิกษุที่อพยพหนีศึกพม่ามาด้วยกันได้อยู่พักจำพรรษาที่วัดแห่งนี้  ดังนั้น วัดสิงห์จึงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสามโคกที่มีมาก่อนชาวรามัญจะอพยพเข้ามาอยู่บ้านสามโคก

ต่อมาราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนชุมชนบริเวณอำเภอสามโคกมากขึ้น และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จนเป็นวัดมอญดังเช่นปัจจุบัน
 

ด้วยความที่วัดสิงห์เป็นวัดเก่าแก่โบราณ
ทำให้สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างล้วนสะท้อนศิลปะอยุธยา
ไม่ว่าจะเป็นวิหารโถง หรือที่เรียกว่าศาลาดิน วิหารน้อย โกศพญากราย ฯลฯ











วิหารน้อย เป็นวิหารทรงไทยก่อด้วยอิฐไปจรดอกไก่ มุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบู
ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา ฐานของอาคารทำเป็นท้องสำเภาก่ออิฐเป็นฐานปัทม์แอ่นโค้ง
ผนังเจาะเป็นช่องลูกกรงแทนหน้าต่าง มีประตูเข้าช่องทางเดียว วงกบประตูทำด้วยไม้สักทอง
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชีประดับกระจกสีเขียว
ด้านข้างมีพระพุทธรูปยืนพนมมือ


วิหารโถง หรือที่เรียกว่าศาลาดิน เป็นอาคารทรงไทยจั่วลูกฟักหน้าพรหม
มีมาลัยโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องกาบู กระเบื้องเชิงชายทำเป็นบันแถลงรูปสามเหลี่ยม
ปลายเรียวโค้งรูปเทพนมสลับกับดอกบัวอ่อนช้อยสวยงาม  




หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทอง ปางมารวิชัย
ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อายุมากกว่า ๓๒๐ ปี ประดิษฐานในวิหารโถง หรือ ศาลาดิน


หลวงพ่อเพชร  พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (ปางสุบินนิมิต)
ขนาดยาว ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว อยู่ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วหลวงพ่อโต


มีพระยิ้มและพระหน้าบึ้ง ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า
ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกันมาก


โกศพญากราย ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปแบบโกศโถทรงกระบอกกลมปากผาย
บรรจุอัฐิพระเถระมอญที่อพยพเข้ามาจากเมืองเมาะตะมะ เมื่อราว ๒๐๐ ปีก่อน  
ลักษณะโกศมีขนาดใหญ่ สร้างตามรูปแบบศิลปะแบบมอญผสมไทย
ประดับลวดลายปูนปั้นและประดับกระจกอย่างประณีตงดงาม
สะท้อนถึงความเป็นอริยสงฆ์ ศูนย์รวมแห่งศรัทธาสักการะของผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างดี


เมื่อคราวที่เมือง "สามโคก" นี้จะได้รับพระราชทานนามว่า “ประทุมธานี”
จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พรรณนาถึงพระองค์
ดังความปรากฏในนิราศภูเขาทอง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๑ ว่า
“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี
ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

นิราศข้างต้นเกิดขึ้นหลังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่นาน
และ กล่าวถึง “สามโคก” ซึ่งเป็นนามเมืองเก่า อันมีรากเหง้าความเป็นมาอย่างยาวนานกว่า ๓๘๕ ปี
ก่อนที่จะได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “ประทุมธานี” ด้วยเหตุที่เมืองนี้มีดอกบัวเหลือคณนา
และมีส่วนสำคัญต่อการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันประณีตลุ่มลึกและหลากหลาย
ในสังคมเมืองหลวงจนสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแก่ลูกหลานในปัจจุบัน
3366  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม / การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ (สุวรรณลิงคํ) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2558 12:44:03
.



การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ
สุวรรณลิงคํ : หลักฐานโบราณคดีและจารึกวิทยา
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-----------------------------------------

การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ (สุวรรณลิงคํ) ขนาดจิ๋วโดยชาวท้องถิ่นในถ้ำเขาพลีเมือง ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ทำให้ผู้เขียนดำเนินการสืบค้นเรื่องราวของศิวลึงค์ทองคำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมจากหลักฐานโบราณคดีและศิลาจารึก เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ขนบประเพณีในการบูชาศิวลึงค์ทองคำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม ดังต่อไปนี้

ในบรรดาศิลาจารึกรุ่นแรกๆ ซึ่งพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศิลาจารึกจากวัดหลวงเก่า แขวงจำปาสัก ทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ นับเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการประดิษฐานและบูชาศิวลึงค์ โดยกล่าวว่า ได้ประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขาและเรียกภูเขาว่า “ศรี ลิงคปรฺวตะ” (ศรีลิงคบรรพต) ทำให้เข้าใจได้ว่า กลุ่มชนที่ประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขานี้เชื่อว่าภูเขาเป็นศิวลึงค์ธรรมชาติที่แทนองค์พระศิวะ นอกจากนี้ยังพบชฎาลิงคํ หรือมุขลึงค์รูปแบบหนึ่งที่โบราณสถานโต๊ะโม๊ะ เมืองปะทุมพร แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

มุขลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่มีรูปพระพักตร์พระศิวะที่เก่าแก่ที่สุดพบที่แหล่งออกแอวในเมืองอานซาง ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ต่อมาในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ปรากฏมุขลึงค์และศิวลึงค์ทั่วไปในศาสนสถานหลายแห่งของรัฐโบราณในภูมิภาคนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความที่กล่าวถึงการประดิษฐานและการบูชาศิวลึงค์ในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคติการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายที่แพร่หลายกว้างขวางในช่วงเวลาดังกล่าว

การใช้คำ “สิวลิงคํ” แทนนามพระศิวะปรากฏเก่าแก่ที่สุดในจารึกกะไดอัง ของอาณาจักรเขมรโบราณ อายุพุทธศักราช ๑๒๑๑ และในจารึกภาษาสันสกฤตพุทธศักราช ๑๒๓๐ พบที่โบราณสถานหมีเซิน บี ๖ (Myson B ๖) จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นเทวาลัยของอาณาจักรจัมปา กล่าวถึงการอุทิศถวายศิวลึงค์แด่พระ “อิศเนศวร” (หมายถึงพระศิวะ) และสร้าง “โกษะ” หรือสิ่งหุ้มหรือครอบองค์ศิวลึงค์และถวายมงกุฎแด่พระ “ภัทเรศวร”



ซ้าย : มุขลึงค์ (Mukhalinํga) ในรูปแบบที่อาจเรียกว่าเป็น ชฎาลิงคํ
พบที่โบราณสถานโต๊ะโม๊ะ เมืองปะทุมพร แขวงจำปาสัก ลาว พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
ขวา : ศิวลึงค์ทองคำ [The Gold Sivalinํga (Suvarnฺalinํgam)] หรือ สุวรรณลิงคํ
บนฐานเงิน พบในถ้ำเขาพลีเมือง นครศรีธรรมราช


จารึกพุทธศักราช ๑๓๒๖ ของพระเจ้าศรี สัตยวรมัน ในราชอาณาจักรจัมปา พบที่วัดหว่าลาย กล่าวถึงการสร้างวัดแห่งนี้เพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะและถวาย “โกษะ” (หรือ โกศะ) ที่ทำด้วยทองและเงิน ขนบประเพณีการถวาย “โกษะ” ทำด้วยทองหรือเงินให้สวมครอบศิวลึงค์เช่นนี้ สืบทอดต่อมาในกลุ่มชนของอาณาจักรจัมปาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ ตามประจักษ์พยานที่พบคือ “ลิงคโกษะ” หรือสิ่งที่สวมครอบศิวลึงค์เป็นรูปพระพักตร์ของพระศิวะทำด้วยกะไหล่ทองและเงิน ๒ ชิ้น พบที่จังหวัดด่าหนัง (ดานัง) ประเทศเวียดนาม มีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษนี้

นอกจากนี้ยังพบศิวลึงค์ที่ติดกับฐานทำด้วยแก้วผลึก (rock crystal) ในภาคใต้ของเวียดนาม ภาคใต้ของลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ศิวลึงค์พร้อมฐานหรือ “ลิงค-โยนิ” ขนาดจิ๋วเช่นนี้ จัดว่าเป็น “จรลิงคํ” หรือ ศิวลึงค์ ที่เคลื่อนที่ได้ พกพาไปประดิษฐานที่ใดก็ได้ อย่างไรก็ดีศิวลึงค์ทองคำประดิษฐานบนฐานทองคำ ซึ่งพบที่เมืองมาลัง ภาคกลางของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ แม้มีขนาดเล็ก ไม่ถือเป็น “จรลิงคํ” แต่ถือว่าเป็นศิวลึงค์ที่ประดิษฐานบูชาประจำที่มากกว่า



ซ้าย : มุขลิงคํ (Mukhalinํga) ในรูปแบบชฎาลิงคํ พบที่อู่ทอง อ.อูทอง จ.สุพรรณบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ขวา : ลิคโกษะ (Lingakosฺa) ทำด้วยทองและเงิน ของอาณาจักรจัมปา
พบในเวียดนาม พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานอารยธรรมโบราณ ประเทศสิงคโปร์



บน : ศิวลึงค์ทำด้วยแก้วผลึก ฐานทำด้วยสำริด พบที่ปราสาทบ้านปราสาท
อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
ล่าง : ศิวลึงค์ทองคำขนาดจิ๋วบนฐานเงิน บรรจุในผอบเงิน พบที่ถ้ำเขาพลีเมือง
อ.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒

ศิวลึงค์ทองคำ ๔ องค์ซึ่งพบในถ้ำเขาพลีเมือง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้ของไทย มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แต่ละองค์ใส่ไว้ในผอบเงิน ผอบเงินที่บรรจุศิวลึงค์ทองคำ ๒ ผอบ มีหูสำหรับห้อยแขวนพกพาไปได้ จึงสันนิษฐานว่า โยคีผู้พกพาศิวลึงค์เหล่านี้นำศิวลึงค์ทองคำใส่ผอบมาประดิษฐานในถ้ำหรือนำมาฝังไว้ในถ้ำเพื่อประกอบพิธีบูชา เป็นโยคีในศาสนาฮินดูไศวนิกายลัทธิปาศุปตะ ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตพุทธศักราช ๑๔๑๑ คือจารึกบ่ออีกา จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏการใช้คำว่า “สุวรรณลิงคํ” เรียกศิวลึงค์ทองคำ อย่างไรก็ดีในสมัยต่อมา ผู้ที่นับถือลัทธิปาศุปตะได้นำคำว่า “สุวรรณลิงเคคํ” (แปลว่า ลึงค์ทองคำของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) มาใช้เรียกแทนคำว่า “สุวรรณลิงคํ” (แปลว่า ลึงค์ทองคำ) เพื่อแสดงความศรัทธาสูงสุด โดยใช้กับศิวลึงค์ทองคำที่นำไปประดิษฐานบนยอดเขา ตามปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้ง หมายเลข ๗ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ณ ที่นี้ คือเทวาลัยศาสนาฮินดูไศวนิกายที่ยิ่งใหญ่ และเป็นสมัยแห่งความเจริญสูงสุดของลัทธิปาศุปตะ ผู้นิยมบูชาศิวลึงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิวลึงค์ทองคำ


ที่มา (เรื่อง/ภาพ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร - พิมพ์เผยแพร่
3367  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น เมื่อ: 11 พฤศจิกายน 2558 18:38:02
.



ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น (น้ำใส)
สูตรขายตึก (ขายตึกเก่าไปซื้อตึกใหม่)

• เดรื่องปรุง
- ขั้วตับหมู 500 กรัม
- กระดูกเอี๊ยะเล้ง หรือเอียวเล้ง (สำหรับต้มน้ำซุป) 200 กรัม
- เครื่องตุ๋นสำหรับทำก๋วยเตี๋ยว 1 ซอง (ซองละ 10 บาท)
- ตะไคร้ 1 ต้น
- ข่า 3 แว่น
- ใบเตยหอม 1-2 ใบ
- ซีอิ๊วขาว 3 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วดำหวาน 1 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ
- น้่ำตาลกรวด 1 ช้อนชา
- น้ำสะอาด 10 ถ้วยตวง
- น้ำมันกระเทียมเจียว
- ต้นหอม ใบผักชีฝรั่ง
- เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือหมี่ และผักสด เช่น ถั่วงอก หรือกะหล่ำปลี หรือผักบุ้ง


• วิธีทำ
1. ล้างขั้วตับหมู และกระดูกหมูให้สะอาด  ใส่ในหม้อสำหรับตุ๋น เติมน้ำสะอาด 10 ถ้วยตวง  
2. ใส่เครื่องตุ๋น โดยแบ่งมาปรุงเพียง 1/3 ส่วน ของซองบรรจุ...ใส่เครื่องปรุงรส ได้แก่ ซีอิ๊วขาว
    ซีอิ๊วดำหวาน ซอสปรุงรส และน้ำตาลกรวด ยกขึ้นตั้งไฟ
3. พอน้ำเดือดใส่ข่าหั่นแว่น ตะไคร้ทุบให้แตก และใบเตยฉีกขมวดเป็นปม  ตุ๋นไปจนกว่าหมูเปื่อยนิ่ม
    (ผู้ทำตุ๋นด้วยไฟเตาถ่าน ใช้เวลาตุ๋น 4 ชั่วโมง)
4. ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว และผักสดรองก้นชาม ใส่หมูตุ๋นหั่นชิ้นพอคำ และ/หรือ ลูกชิ้นลวก ใส่น้ำมันกระเทียมเจียว
    น้ำปลาดี พริกไทยป่น ราดด้วยน้ำซุปหมูตุ๋น  





รอให้น้ำเดือดจึงใส่ข่า ตะไคร้ ใบเตยฉีกขมวดเป็นปม











 

ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม

น้ำส้มพริกดอง นำพริกสดไปคั่วให้สุกหอมจึงนำไปปั่นหรือโขลก ละลายกับน้ำส้มสายชู  
3368  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: อัญมณี - และความเชื่อเรื่องโชคลาภ เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2558 19:10:20
.



เทอร์คอยซ์

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า เทอร์ควอยซ์ (Turquoise) หรือพลอยสีขี้นกการเวก จัดเป็นอัญมณีประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ (๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) โดยเฉพาะในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งชนพื้นเมืองบางเผ่ามีความเชื่อในโชคลางเกี่ยวกับการสวมใส่เทอร์ควอยซ์ ว่าสามารถคุ้มครองไม่ให้เกิดอันตรายขณะที่ขี่ม้าได้ นอกจากนี้เทอร์ควอยซ์ยังถูกจัดให้เป็นอัญมณีประจำเดือนธันวาคม อัญมณีประจำวันเสาร์ และอัญมณีครบรอบแต่งงานปีที่ ๑๑ ด้วย

เทอร์ควอยซ์เป็นอัญมณีที่มีสีฟ้าถึงสีฟ้าอมเขียว มีองค์ประกอบทางเคมี คือ CuAl6(PO4)4(OH)8.5H2O สีฟ้าเกิดจากธาตุทองแดง (copper, Cu) ส่วนสีเขียวเกิดจากธาตุมลทินเหล็ก (iron, Fe) ประกอบกับธาตุทองแดง มีความแข็งประมาณ ๕-๖ ตามระดับความแข็งของโมห์ (Moh"s scale) ค่าดัชนีหักเหประมาณ ๑.๖๑ และค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ ๒.๗๖ โดยทั่วไปเทอร์ควอยซ์ที่จัดว่ามีคุณภาพสูงเป็นที่นิยมจะมีสีฟ้าสม่ำเสมอ หรือที่มีลักษณะลวดลายแบบร่างแห (spider web) ซึ่งเกิดจากมลทินแร่ชนิดอื่นที่เกิดร่วมกับเทอร์ควอยซ์ แหล่งเทอร์ควอยซ์ที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศอิหร่าน สหรัฐอเมริกา และจีน

เนื่องจากเทอร์ควอยซ์เป็นอัญมณีที่มีความแข็งไม่สูงและมีความพรุนสูง ทำให้เทอร์ควอยซ์ธรรมชาติที่พบมีเนื้อร่วนซุย ไม่สามารถเจียระไนได้ ดังนั้นเทอร์ควอยซ์ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดจึงมักจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพมาแล้วแทบทั้งสิ้น การปรับปรุงคุณภาพที่พบได้มากคือการอัดด้วยสารโพลีเมอร์ ซึ่งอาจจะเป็นแว็กซ์หรือสารเรซินเข้าไปในเนื้อพลอยเพื่อเพิ่มความคงทนแข็งแรง ทำให้เจียระไนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยที่พบว่ามีการย้อมสี หรืออัด ด้วยโพลีเมอร์สีร่วมด้วย ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในตลาด นอกจากเทอร์ควอยซ์ปรับปรุงคุณภาพแล้ว ยังมีเทอร์ควอยซ์เทียมปะปนอยู่ในท้องตลาดอีกเป็นจำนวนมาก เช่น แก้ว พลาสติกหรือพลอยชนิดอื่นนำมาย้อมสีให้มีลักษณะคล้ายเทอร์ควอยซ์ ดังนั้นการจะเลือกซื้อเทอร์ควอยซ์จึงควรอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ยังมีข้อมูลจากสถาบันอัญมณีวิทยาว่า เทอร์ควอยซ์มี ๒ ชนิด คือ ชนิดที่มีเมทริกซ์ (Matrix-เส้นลาย หินที่เกิดขึ้นใน เทอร์ควอยซ์ เป็นสีน้ำตาลหรือดำ) คล้ายใยแมงมุม กับชนิดที่ไม่มีเมทริกซ์ เทอร์ควอยซ์พบในสายแร่ มีทั้งชิ้นใหญ่และชิ้นเล็ก ยากที่จะพบในเหมืองร่องน้ำ เทอร์ควอยซ์ที่มีคุณภาพดีจะมีความเหนียว ถูกจัดเป็นพลอยประจำเดือนธันวาคมร่วมกับเพทาย

แหล่งกำเนิดเทอร์ควอยซ์
๑.เนซาเบอร์ อิหร่าน เป็นแหล่งกำเนิดเทอร์ควอยซ์ที่มีสีสวยที่สุด แต่เหมืองนี้กลายเป็นเหมืองประวัติศาสตร์แล้ว เพราะเป็นเมืองร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑
๒.ซีไน เพนนินซูลา เป็นเหมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยก่อนคริสต์ศักราช ๕,๕๐๐ ปี อยู่ในสภาพขุดหมดไปแล้ว และ
๓.สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในโลกที่รัฐอริโซนา เนวาดา และนิวเม็กซิโก

มีเอกสารระบุว่า ชื่อ เทอร์ควอยซ์แปลว่า หินจากตุรกี หรือ เทอร์คิช สโตน (Turkish Stone) นักรบชาวยุโรปที่ไปร่วมรบในสงครามครูเสดนำอัญมณีชนิดนี้กลับมา ชาวอียิปต์และชาวแอซเท็ก ชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของเปรูเชื่อว่าเทอร์ควอยซ์เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง ชาวแอซเท็กจะนำมาประดับหน้ากากที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเรียกฝน ชาวมุสลิมใช้ประดับคู่กับไข่มุกบนหมวกโพกศีรษะเพื่อคุ้มครองตนจากสิ่งชั่วร้าย ส่วนอินเดียนแดงเชื่อว่าเทอร์ควอยซ์เป็นสัญลักษณ์แห่งท้องฟ้า เป็นดังลมหายใจและนำมาซึ่งจิตวิญญาณของท้องฟ้าและท้องทะเล ทำให้ยิงธนูได้แม่น ขี่ม้าไม่ตก และหากนำเอาเทอร์ควอยซ์ไปภาวนาในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วโยนลงแม่น้ำจะนำฝนมาให้ พวกเขาเชื่อกันว่าเทอร์ควอยซ์ที่ดีที่สุดถูกซ่อนไว้ในดินแดนสุดปลายสายรุ้ง

สีของเทอร์ควอยซ์มีตั้งแต่สีฟ้าไปจนถึงสีเขียวอมเทา แต่ที่นิยมมากที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุด คือสีฟ้าของท้องฟ้า ในเนื้อพลอย มักจะมีลายเส้นบางๆ พาดพันไปมาเป็นลวดลายสวยงามเหมือน ใยแมงมุม
...นสพ.ข่าวสด
3369  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร ไส้อ่อนผัดพริก เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2558 14:48:45
.



ไส้อ่อนผัดพริก

• เดรื่องปรุง
- ไส้อ่อนหมู
- พริกอ่อนเขียวแดง หั่นแฉลบ
- ผงปรุงรส (ฟ้าไทย รสดี คนอร์ ฯลฯ...ผู้ทำชอบใช้ยี่ห้อฟ้าไทย รสหมู)
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
- ซอสปรุงรส
- น้ำตาลทรายขาว
- น้ำซุปหรือน้ำสะอาด (1-2 ช้อนโต๊ะ สำหรับจานเสิร์ฟขนาดเล็ก)


• วิธีทำ
1. ล้างไส้หมูกับเกลือป่น ให้สะอาด นำไปต้มจนสุกนิ่ม...หั่นชิ้นยาวประมาณ 1 นิ้ว  
2. เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ลดไฟอ่อนสุด ใส่ซอสหอยนางรม ผงปรุงรส น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว และน้ำซุปหรือน้ำสะอาด
    ชิมรสชาติตามชอบ  เคี่ยวให้ส่วนผสมเข้ากันดีสุกครู่  เร่งไฟปานกลาง ใส่ไส้หมูและพริกอ่อนผัดให้เข้ากันโดยใช้เวลาเล็กน้อย
3. ตักใส่จานเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ





เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ลดไฟอ่อนสุด ใส่ซอสหอยนางรม ผงปรุงรส น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว (อย่างละเล็กน้อย)
ใส่น้ำซุปหรือน้ำสะอาด 1-2 ช้อนโต๊ะ (ชิมรสตามชอบ)


เร่งไฟปานกลาง ใส่ไส้หมู พริกอ่อน ผัดเบาๆ ให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟ


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้โพสท์ไปรับประทานที่จังหวัดพิษณุโลก
เขาเสิร์ฟใส่จานเปลขนาดเล็ก มีไส้หมูชิ้นเล็กๆ สิบกว่าชิ้น ขายจานละตั้ง 60 บาท


ไส้อ่อนหมูทอดกระเทียมพริกไทย


ดูสูตรและวิธีทำ "ไส้อ่อนหมูทอดกระเทียมพริกไทย" โดยกดที่ตัวอักษรสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=73415.msg103560#msg103560


ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
3370  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2558 13:06:07
.


มหานครนิพพาน

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี
The Thonburi Version of the Pictorial Paper Book on “Trai Bhum”
---------- * ----------

 
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เป็นหนังสือสมุดไทยขาวที่ทำจากเยื่อเปลือกข่อยเนื้อดี มีสีขาวตามธรรมชาติของเยื่อเปลือกข่อย ขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นสมุดไทยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับเขียนเรื่องไตรภูมิ จึงกำหนดเรียกชื่อสมุดใหญ่ขนาดนี้ว่า สมุดไตรภูมิ ตามประวัติกล่าวว่า เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ

ความสำคัญที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของกรมศิลปากร อันเนื่องมาจากเป็นเอกสารต้นฉบับที่มีบานแพนก บอกเล่าถึงความเป็นมาของต้นฉบับ และมีภาพเขียนสีน้ำยาตามแบบไทยประเพณีเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในอุดมคติของสังคมไทยทั้งในภาคสวรรค์ เมืองพระนิพพาน และเมืองนรกขุมต่างๆ ตามขนาดของบาปกรรมและความชั่วที่คนกระทำขณะยังมีชีวิตอยู่

บานแพนกของสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของต้นฉบับดังกล่าวว่า เมื่อผ่านพุทธศักราช ๒๓๑๙ ไปได้ ๔ เดือนเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ทรงพิจารณาเรื่องราวในหนังสือไตรภูมิพระร่วงจนรู้แจ้งแล้ว มีพระราชประสงค์จะเผยแผ่ความรู้นี้ให้สามัญชนและประชนทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องภพภูมิทั้ง ๓ และคติทั้ง ๕ ซึ่งเป็นที่เกิดของเทวดา มนุษย์ นรก และหมู่อสูร เปรต รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งปวงโดยทั่วกัน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อัครมหาเสนาบดี ไปจัดหาหนังสือสมุดไทยชนิดที่มีคุณสมบัติดี ส่งไปให้ช่างเขียน เพื่อเขียนเรื่องไตรภูมิในพระอารามของสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชตรวจสอบ และบอกเนื้อหาเรื่องราวที่ปรากฏในพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้เข้าใจว่า คือ สมเด็จพระสังฆราช ศรี เดิมอยู่วัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงแตกหนีพม่าลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพบเมื่อเสด็จฯ ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จึงทรงนิมนต์มาอยู่วัดระฆัง แล้วทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๑ สิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎก



บานแพนกหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ

ต้นฉบับสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ แบ่งการสร้างสรรค์ผลงานเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เขียนภาพพระไตรภูมิ ซึ่งต้นฉบับใช้ว่า “เขียนแผนพระไตรภูมิ” ประกอบด้วย หลวงเพชรวกรรม นายนาม นายบุญษา และนายเรือง รวม ๔ คน ซึ่งตำแหน่งหลวงเพชวกรรมนี้ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง กฎหมายตราสามดวง ให้รายละเอียดข้อมูลว่า เป็นเจ้ากรมช่างเขียนขวา มีศักดินา ๘๐๐ ดังนั้น นายนาม นายบุญษา และนายเรือง น่าจะเป็นกลุ่มช่างสังกัดกรมช่างเขียนด้วยกันทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งเป็นอาลักษณ์ที่เขียนคำอธิบายด้วยตัวอักษรประกอบในเล่ม ซึ่งมีทั้งอักษรขอมและอักษรไทย ประกอบด้วย นายบุญจับ นายเชด นายเสน และนายทองคำ รวม ๔ คน

ข้อมูลในบานแพนกดังกล่าว บอกทั้งอายุของต้นฉบับว่าเป็นของที่สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงโดยศักราชที่ปรากฏ ทั้งยังบันทึกแบบพุทธศักราชและจุลศักราช ซึ่งเป็นศักราชที่นิยมใช้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาประกอบไว้โดยละเอียดให้สามารถสอบทานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังบอกมูลเหตุความเป็นมาของการสร้างต้นฉบับเล่มนี้ รวมถึงแจ้งรายนามช่างเขียนและอาลักษณ์ผู้บันทึกตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน เป็นเครื่องแสดงความเป็นต้นฉบับหลวงโดยแท้จริงอย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอันใดทั้งสิ้น



       สัญชีพนรก


       เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานเห็นเทวทูตทั้ง ๔


       มารผจญ


       พระอินทร์ดีดพิณแสดงคติธรรม

การเขียนภาพเล่าเรื่อง
ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เฉพาะเลขที่ ๑๐ มีภาพเล่าเรื่องเฉพาะ ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ จนถึงพระมหานครนิพพาน ซึ่งเขียนไว้ที่หน้าต้นเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่การเรียงลำดับภาพจะแตกต่างจากคำบรรยายในคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึงแดนนรกก่อน ต่อด้วยแดนของสัตว์เดรัจฉาน แดนเปรต แดนอสุรกาย แดนมนุษย์ แดนสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงพระนิพพาน ส่วนสมุดภาพทุกเล่ม เริ่มต้นด้วยสมุดภาพมหานครนิพพานก่อน แล้วค่อยลดระดับลงมาทีละชั้นจนถึงนรกภูมิ มีผู้รู้สันนิษฐานว่า “อาจเป็นเพราะถ้าเริ่มต้นจากนรกภูมิก่อน เวลาคลี่สมุดออกเป็นแผ่นยาวติดต่อกันแล้ว จะเห็นนรกภูมิอยู่ข้างบน และมหานครนิพพานอยู่ล่างสุด ซึ่งคงเป็นภาพที่ทั้งจิตรกรแลคนดูทั่วไปจะพอใจนักเป็นแน่” กล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้เปิดดู เปิดอ่านให้พบสิ่งมงคลก่อน นอกจากนั้นตอนท้ายของสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้จำนวน ๑๐ หน้าสมุดไทย จิตรกรเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญจำนวน ๘ ตอน ตามลำดับ คือ

๑.ภาพตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๒.ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานพบนิมิตทั้ง ๔ คือ คนชรา คนเจ็บป่วย คนตาย และบรรพชิต จึงสังเวชในเทวทูตทั้ง ๓ แต่ทรงพอพระทัยในสมณเพศ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๓.ตอนพระอินทร์ดีดพิณถวาย จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกทรงผนวชแล้วทรงทรมานพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้พบทางแห่งพระโพธิญาณแต่ก็ไม่เป็นผล พระอินทร์จึงเสด็จมาให้สติด้วยการดีดพิณสายตึงเกินไป สายหย่อนเกินไป และสายกลางอันเป็นมัชฌิมปฏิปทา
๔.ตอนนางสุชาดาเตรียมข้าวมธุปยาสไปแก้บนต่อรุกขเทวดา จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย ในภาพแสดงกระบวนของนางสุชาดา ใกล้ต้นไทรใหญ่ในวันเพ็ญเดือนหก แลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร มีรัศมีออกจากพระวรกายไปทั่วปริมณฑล จึงเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา
๕.ตอนสมเด็จพระพุทธเจ้าลอยถาด หลังจากพระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีลอยถาดทองลงในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปจมลงสู่นาคพิภพไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์ พญานาคราชซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพ ได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว
๖.ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ป่าเลไลย์ จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย แสดงภาพลิงและช้าง นำน้ำผึ้งและรวงผึ้งมาถวาย โดยแสดงภาพดอกบัวบานแทนภาพพระพุทธเจ้า
๗.ตอนมารผจญ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย ภาพหลักกลางหน้าสมุดไทยเป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมกองทัพพระยามารทั้งหลาย ภาพตอนนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะแสดงภาพชาวต่างชาติตะวันตกที่สวมหมวกปีก และสวมวิกผมยาวหยักเป็นลอน การแต่งกายคล้ายกับการแต่งกายของราชสำนักนักฝรั่งเศส หลายคน บางคนถือปืนคาบศิลาอยู่บนหลังช้าง บางคนแต่งกายคล้ายแขกเปอร์เซีย จีน และอื่นๆ ในกองทัพพระยามารสะท้อนสภาพสังคมที่มีชาวต่างชาติเข้ามาปะปนอยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก
๘.ตอนเสด็จไปเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย


ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ
การเขียนภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ มักแสดงด้วยภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันสาระของเรื่องก็มีความสำคัญต่อโครงสร้างของสังคมไทยและหมู่ชนในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งลัทธิเถรวาทและมหานิกาย ด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ปลูกฝังคติความเชื่อตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันคติความเชื่อเหล่านั้นอาจลดความสำคัญและความน่าเชื่อถือลงไปมากแล้ว แต่สังคมไทยก็ยังมีภาพสวรรค์และนรกในมโนคติของแต่ละบุคคลอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีองค์ประกอบและรายละเอียดของภาพเล่าเรื่องแต่ละภาพก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยในยุคสมัยที่สร้างสมุดภาพแต่ละเล่มได้เป็นอย่างดี นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง



       ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส


       พญายมโลกสอบถามเรื่องบุญบาป

คุณค่าและความสำคัญ
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่๑๐ แม้จะมีภาพเล่าเรื่องไตรภูมิเพียงอย่างเดียว แต่ภาพที่แสดงออกก็มีคุณค่าและสาระทางศิลปะอย่างชัดเจนครบถ้วนทั้งในรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในตำนาน เช่น ความเชื่อเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ เขาพระสุเมรุ มหาสมุทรทั้ง ๔ สวรรค์ชั้นต่างๆ ตลอดจนพิภพแห่งครุฑและนาค เป็นต้น โดยรายละเอียดของภาพแต่ละภาพจะสะท้องสาระอันเป็นคติความเชื่อที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน หากเคยอ่านศึกษาจนเข้าใจจะสามารถเชื่อมโยงรายละเอียดของภาพกับคติในตำนานได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดีสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี จึงมีความชารุดเสื่อมสภาพเป็นอย่างมาก เมื่อจัดพิมพ์เผยแพร่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นให้หอสมุดแห่งชาติใช้สถานภาพของหน่วยงานของรัฐเพื่อขอภาพสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลินมาจัดพิมพ์เผยแพร่โดยให้เหตุผลว่าเป็นต้นฉบับที่สวยงาม ฝีมือเขียนภาพดีกว่าฉบับกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก แต่เมื่อศึกษารายละเอียดจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสาส์นสมเด็จแล้ว ทำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสมุดภาพไตรภูมิฉบับเลขที่ ๑๐ เพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนั้นยังเกิดความเข้าใจในสภาพความชำรุดที่เกิดขึ้นด้วย สันนิษฐานได้ว่าสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐ น่าจะมีปกหนังสือเป็นปกประดับมุก ซึ่งแสดงความเป็นต้นฉบับหลวง แต่อาจถูกฉีกออกไปเสียก่อนแล้ว ดังปรากฏรายละเอียดพระนิพนธ์ ความว่า

“...เมื่อไปถึงเมืองเบอร์ลิน หม่อมฉันให้ถามที่หอสมุดสำหรับเมืองเช่นนั้นอีก พวกเยอรมันก็รับด้วยความยินดีขอบใจ และจัดห้องให้ตรวจเช่นเดียวกับที่เมืองอังกฤษ แต่ตรวจกันวันเดียวก็เสร็จ เพราะหนังสือไตรปิฎกที่เจ้าปิยะว่า เยอรมันได้ซื้อไปราคา ๑,๐๐๐ บาท เขาก็เอามาอวด เขายกย่องเป็นยอดสมุดหนังสือไทยที่เขามี แต่ประหลาดใจที่ไม่พบหนังสือเรื่องซึ่งไม่มีฉบับในเมืองไทย แม้หนังสือไตรภูมิที่ว่านั้นก็เป็นหนังสือฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี มีบานแผนกและฝีมือเขียนรูปภาพเหมือนอย่างหนังสือไตรภูมิฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะหมดทุกอย่าง คือ ฝีมือเดียวกันทั้ง ๒ เล่ม แต่ผิดกันเป็นน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยฉบับที่เยอรมันได้ไปในปกกระดาษของเดิมยังอยู่บริบูรณ์ แต่ฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ถวายนั้นใบปกเป็นรอยลอกชั้นนอกออกทั้ง ๒ ข้าง น่าสันนิษฐานว่าฉบับคุณท้าววรจันทร์เดิมเห็นจะมีใบปกประดับมุกเป็นตัว “ฉบับหลวง” ฉบับที่เยอรมันได้ไปทำแต่ใบปกกระดาษมาแต่เดิม น่าจะเป็น “ฉบับรองทรง”
...




       พระอริยบุคคล ๘ จำพวก
       ได้แก่ พระอรหัตตมรรค  พระอรหัตตผล  พระอนาคามิมรรค  พระอนาคามิผล
       พระสกทาคามิมรรค  พระสกทาคามิผล  พระโสดาปัตติมรรค  พระโสดาปัตติผล


       พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหู :  แสดงวิถีการเดินของพระอาทิตย์ใน ๓ ฤดู

สรุป
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นอกจากจะบันทึกภาพเล่าเรื่องในไตรภูมิให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสอดแทรกสาระสะท้อนสภาพสังคมอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนด้วยสีสันและลวดลายจิตรกรรมแบบไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งมีบานแพนกยืนยันความเป็นมาและอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้ไว้อย่างชัดเจน หากไม่มีบานแพนกดังกล่าวนี้ เราจะต้องสันนิษฐานอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้จากเส้น รายละเอียดในภาพ รวมถึงพัฒนาการของลักษณะตัวอักษรไทย สามารถกำหนดช่วงเวลาเป็นประมาณพุทธศตวรรษเท่านั้น

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ จึงนับเป็นของชิ้นเอกฉบับสำคัญของกรมศิลปากรของประเทศไทยด้วย



พุทธประวัติ : ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
พระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง


ภาพปกสมุดขาด มีรอยปกชำรุดแหว่งหายไป สันนิษฐานว่าเกิดจากถูกลอกปกประดับมุขออกไป


มหาสมุทรทั้ง ๔ มีชื่อเรียกตามสีของผลึกแต่ละเหลี่ยมของเขาพระสุเมรุ


-----------------------------------------
     ข้อมูลบอกรายละเอียดประวัติความเป็นมา วันเดือนปี และผู้ดำเนินถึงการจัดทำเอกสารฉบับนั้นๆ
     เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเป็นข้าราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักเรียกกันว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เฒ่า นับเป็นผู้รู้ในตำราแบบธรรมเนียมราชการ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี จึงได้คัดเลือกให้เป็นผู้บอกขนบธรรมเนียมราชการในสมัยราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๓ และต่อมาได้เป็นราชทูตไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๔ ท่านถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าท่านคือเจ้าพระยาศรีธรรมราชาธิราช (ตักโตโหน)

เรื่อง-ภาพ : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารงาน กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
3371  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2558 19:50:00


ภาพจาก : เว็บไซต์ bangkrod.blogspot.com
ปางโปรดพระนันทะ (๑)

นันทกุมาร เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า คือท่านเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ นันทกุมารมีกนิษฐานามว่า รูปนันทา ต่อมา รูปนันทาก็ไปบวชเป็นภิกษุณี

ในวันที่ ๕ หลังจากเสด็จนิวัตพระนครกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปในงานอาวาหมงคลของเจ้าชาย นันทะกับพระนางชนบทกัลยาณี เสวยภัตตาหาร ประทานอนุโมทนาแล้ว ขณะจะเสด็จกลับนิโครธาราม ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือตามเสด็จ

ขณะนันทกุมารอุ้มบาตรตามเสด็จ พระนางชนบทกัลยาณีร้องสั่งว่า "เสด็จพี่รีบกลับมานะ" ตั้งใจว่าส่งเสด็จพระพุทธองค์แล้วก็จะรีบกลับ แต่พอไปถึงนิโครธาราม พระพุทธองค์หันมาตรัสถามว่า "นันทะ เธออยากบวชใช่ไหม"

เล่นตรัสถามแบบไม่มีทางปฏิเสธอย่างนี้ นันทกุมารก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร นอกจาก Yes Sir ด้วยความเกรงพระทัย ว่าแล้วพระองค์ก็ประทานการอุปสมบทให้นันทกุมารพระอนุชาทันที เป็นเจ้าบ่าวหมาดๆ ยังไม่ทันได้ส่งตัว บัดนี้กลายเป็นพระภิกษุหนุ่มเสียแล้ว

ตำราอรรถกถาเล่าว่า หลังจากพระนันทะบวชแล้ว จิตใจว้าวุ่น ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม หูก็แว่วเสียงสั่งของชายาว่า เสด็จพี่ให้รีบกลับมานะ ตลอดเวลา ก็น่าเห็นใจคนกำลังแต่งงานใหม่ๆ ถูกจับบวชเสียนี่ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบความเป็นไปดี แต่ก็ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปสักเล็กน้อย วันหนึ่งเสด็จไปหาพระนันทะ ตรัสถามว่า "นันทะ เธอยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่หรือ"

พระนันทะก็กราบทูลตามตรงว่า ไม่มีกะจิตกะใจปฏิบัติธรรมเลย เพราะคิดถึงแต่พระชายาที่เพิ่งเข้าพิธีอภิเษกสมรส พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "ชนบทกัลยาณี ชายาของเธอ สวยมากนักหรือ จึงคิดถึงเหลือเกิน"

"สวยมาก พระเจ้าข้า ไม่มีนางใดสวยเท่าอีกแล้ว" เป็นใครก็ต้องตอบอย่างนี้ (ยกเว้นแต่งงานไปนานๆ นั่นแหละ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไป)

ขณะนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลฤทธิ์ จับแขนพระนันทะแล้วพาเหาะลิ่วๆ ขึ้นท้องนภากาศ ไปยังดาวดึงส์สวรรค์ ระหว่างทางทรงชี้ให้ดูกาดำจับอยู่ที่ตอไม้ซึ่งถูกไฟไหม้ เมื่อถึงสวรรค์ก็ปรากฏมีนางเทพอัปสรจำนวนมาก ล้วนรูปร่างสวยงาม สุดจะพรรณนาได้ ทำให้ภิกษุหนุ่มแลตะลึงลานด้วยความอัศจรรย์ใจ

พระพุทธองค์ทรงทราบความในใจของพระภิกษุหนุ่มดี จึงตรัสถามว่า "นางอัปสรเหล่านี้สวยไหม นันทะ"
"สวยมากพระเจ้าข้า" กราบทูลไปตาก็ชำเลืองแลนางฟ้าเหล่านั้นไป



ปางโปรดพระนันทะ (จบ)

"เทียบกับชายาของเธอ เป็นอย่างไร ใครสวยกว่ากัน" ตรัสถาม

"เทียบกันไม่ได้เลย พระเจ้าข้า นางอัปสรเหล่านี้สวยกว่าชนบทกัลยาณีมาก ถ้านางมาอยู่ต่อหน้านางอัปสรเหล่านี้ นางคงเหมือนกาดำตัวที่จับอยู่ตอไม้ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง" (ไหมล่ะ พอเห็นคนใหม่สวยกว่า ทำเป็นลืมคนเก่าเสียแล้ว)

"เธออยากได้นางเหล่านี้ไหม" พระสุรเสียงรับสั่งถาม
"อยากได้ พระเจ้าข้า" พระหนุ่มกระซิบตอบ
"ถ้าอย่างนั้น กลับวัด เราตถาคตจะบอกวิธีที่จะให้ได้นางเหล่านี้"

ว่าแล้วก็จับแขนพระอนุชา เหาะลิ่วๆ กลับมายังพระวิหารที่ประทับ

พระพุทธองค์ประทานกรรมฐานให้พระภิกษุหนุ่มปฏิบัติ แต่มิได้ตรัสบอกตรงๆ พระหนุ่มก็นึกว่าปฏิบัติอย่างนี้คือวิธีที่จะได้นางฟ้ามาครอง จึงขะมักเขม้นฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ลืมนึกถึงพระชายาคนงามเสียแล้วละครับ

ข่าวพระนันทะปฏิบัติธรรมเพื่อแลกนางฟ้าก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กัน เห็นพระนันทะเดินผ่านไป ก็จะกระซิบกระซาบ "นั่นไง พระนันทะปฏิบัติธรรมแลกนางฟ้า จวนจะได้สักนางหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มไม่สนใจใครจะว่าอย่างไร ยังคงตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระพุทธองค์ ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ (คำหลังนี้มาจาก ขีณาสโว = ผู้มีอาสวะอันสิ้นแล้ว คือหมดอาสวะ อาสวะคืออะไร อาสวะคือกิเลส กิเลสคืออะไร แล้วกัน ถามอะไรละเอียดนัก ไม่รู้อะไรสักอย่างเลยหรือ ฮิฮิ)

วันหนึ่ง ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายพบท่านนันทะ จึงกระเซ้า (เหมือนเดิม) ว่า "ว่าไงท่านนันทะ ใกล้จะได้นางฟ้าหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มตอบอย่างสงบว่า "เดี๋ยวนี้ ผมไม่ปรารถนาอะไรแล้ว ไม่ว่านางฟ้าหรือนางอะไร ผมหมดความยินดีอยากได้นั่นอยากได้นี่แล้ว"

คำพูดอย่างนี้มิใช่มีความหมายธรรมดาเสียแล้ว แสดงว่าผู้พูดจะต้องบรรลุคุณวิเศษสูงสุด (คือพระอรหัตผล) แน่นอน เหล่าภิกษุทั้งหลายได้ยินเข้า ก็เข้าใจว่าพระนันทะอวดอุตริมนุสธรรม อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า (เรียกว่าไปฟ้องจึงจะถูก พระสมัยโน้นก็ฟ้องเก่งเหมือนกัน) ว่า พระนันทะอวดอ้างตนได้บรรลุพระอรหัตผล

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าพระนันทะได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปถึงไหน จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นันทะมิได้อวดอ้าง สิ่งที่นันทะพูดนั้นเป็นความจริงทุกประการ

พระพุทธองค์ได้ใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมแก่อุปนิสัยของพระนันทะ สอนเธอจนได้บรรลุจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิตแล้วด้วยประการฉะนี้ เทคนิคนี้อาจเรียกว่า กุศโลบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คงไม่มีใครพิเรนทร์คิดว่าพระพุทธเจ้าทรงหลอกพระนันทะแน่นอน





ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๑)
ว่ากันว่าหลังประกาศพระพุทธศาสนาได้ ๖-๗ ปี พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย ประชาชนทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสและเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามากขึ้นตามลำดับ สถาบันพระพุทธศาสนาอันประกอบด้วยพุทธบริษัทสี่ เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความมั่นคง

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาย้ายจากเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มาอยู่ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นพระประมุข พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง

ในสังคมชมพูทวีปสมัยนั้น มิใช่มีเพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นที่มีอยู่ก่อนและมีผู้นับถือจำนวนมากก็มีศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาเรียกศาสนาฮินดู) และศาสนาเชน (ศาสนาของมหาวีระ หรือ นิครนถ์ นาฏบุตร) เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับความเอาใจใส่จากพระราชามหากษัตริย์เป็นพิเศษ พวกเขาก็ย่อมจะอิจฉาตาร้อนเป็นธรรมดา นี้คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์

บังเอิญในช่วงนี้ เศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีท่านหนึ่งได้บาตรไม้จันทน์มาลูกหนึ่ง เศรษฐีแกคิดอยากพิสูจน์อะไรสักอย่าง คงจะเป็นด้วยว่าเรื่องที่ว่านี้กำลังเป็นฮอตอิสชุ (hot issue) ในสมัยนั้นก็ได้ นั่นก็คือ ข่าวลือเรื่องพระอรหันต์ทรงอภิญญา บ้างก็ว่าพระคุณเจ้ารูปนั้นเป็นพระอรหันต์มีอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าพระคุณเจ้าวัดโน้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ไม่ต่างอะไรกับที่ลือกันในเมืองไทยปัจจุบันนี้แหละครับ

เศรษฐีจึงเอาบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้กลางอากาศ วิธีของแกก็คือเอาบาตรครอบไว้บนปลายไม้ ยกขึ้นตั้งไว้สูงเท่าลำตาล แล้วประกาศทั่วเมืองว่า "ได้ยินว่ามีผู้อ้างว่าเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามากมาย ถ้ามีจริงก็ขอให้เหาะมาเอาบาตรของข้าพเจ้าภายในเจ็ดวัน ถ้าเลยเจ็ดวันแล้วไม่มีใครเหาะมาเอาได้ข้าพเจ้าจะถือว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา"

ตำราอรรถกถาเล่าเรื่องออกจะไม่ให้เกียรติศาสนาอื่นนิดหน่อยว่า พวกเดียรถีย์ (ลัทธิศาสนาอื่นจากพระพุทธศาสนา เน้นพวกนิครนถ์) อยากได้บาตรไม้จันทน์ก็พากันมายังนิเวศสถานของเศรษฐี ขอให้ถวายบาตรแก่พวกเขา เศรษฐีกล่าวว่า

"ถ้าท่านมีฤทธิ์เหาะไปเอาได้ กระผมถวายแน่นอน นิมนต์เหาะไปเอาเถิด"

"ท่านเศรษฐี ธรรมดาว่าอิทธิปาฏิหาริย์ เขาไม่สำแดงเพราะเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ จะสำแดงก็ต่อเมื่อเรื่องใหญ่ๆ บาตรลูกนี้เหมาะแก่อาตมภาพ ขอให้แก่อาตมภาพเถิด" หัวหน้าเดียรถีย์อ้อน พอๆ กับอ้อนให้เขาเซ็นเช็กเงินล้านสร้างพระประดับเจดีย์ ทำนองนั้น

"กระผมประกาศแล้วว่าจะถวายแก่ท่านผู้ใดก็ได้ที่สามารถเหาะไปเอา ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขนี้ก็ถวายไม่ได้" เศรษฐียืนยัน


ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๒)
หัวหน้าเดียรถีย์ จึงขยับขากางแขนทั้งสองออก ร้องว่า "ถ้าเช่นนั้นอาตมภาพก็จะเหาะไปเอาละ เอาละนะ..."

ทันใดนั้นบรรดาลูกศิษย์อยู่ข้างๆ ก็เข้ามากอดแข้งกอดขา พลางร้องห้ามว่า "ท่านอาจารย์ แค่บาตรลูกเดียว ไม่จำต้องสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรก็ได้ เอาไว้สำแดงเฉพาะกรณีสำคัญๆ ดีกว่า"

เมื่อเห็นบรรดาลูกศิษย์กอดแข้งกอดขาแน่นหนา หัวหน้าเดียรถีย์จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า "ท่านเศรษฐี ลูกศิษย์ไม่ยอมให้อาตมภาพสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านจงเอาบาตรมาให้อาตมภาพเถิด"

เศรษฐีกล่าวว่า "ให้ไม่ได้ เมื่อท่านไม่สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะไปเอา ก็ไม่มีสิทธิ์ได้"

เป็นอันว่าบาตรที่แขวนอยู่บนอากาศก็ยังคงแขวนอยู่ ล่วงเข้าวันที่ ๗ แล้ว ยังไม่มีอรหันต์รูปใดเหาะไปเอาเลย ประชาชนก็โจษจันกันไปทั่วว่า มีแต่ราคาคุย เอาจริงๆ แล้ว ไม่ปรากฏมีพระอรหันต์ทรงอภิญญาสักองค์เลย

เช้าวันนั้นพระโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑละ ภารทวาชะ ออกไปบิณฑบาตในเมือง ได้ยินประชาชนพูดในทำนองดูหมิ่นว่าไม่มีผู้ทรงอภิญญาจริง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงบอกท่านปิณโฑละว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ประชาชนกำลังดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา ขอนิมนต์ท่านสำแดงให้เขาหายสงสัยทีเถิด"

พระปิณโฑละ ภารทวาชะ จึงเข้าฌานสมาบัติ เหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์นั้นลงมา เศรษฐีเห็นดังนั้นก็มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง นิมนต์ท่านขึ้นไปฉันภัตตาหารบนคฤหาสน์ เสร็จแล้วก็อุ้มบาตรตามไปส่งท่านที่พระเชตวัน ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของ "แขกมุง" จำนวนมาก

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ ทรงทราบความแล้ว แทนที่จะทรงสรรเสริญ กลับทรงตำหนิการกระทำของท่านปิณโฑละ พระองค์ตรัสเรียกท่านเข้าไปยังประชุมสงฆ์ ตรัสตำหนิว่า การสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพราะบาตรลูกเดียวเป็นการสำแดงเพื่อลาภสักการะ ไม่เหมาะไม่ควรที่สมณศากยบุตรจะพึงกระทำ ไม่ต่างอะไรกับหญิงโสเภณีเปิดอวัยวะของตนเองเพื่อแลกเงินและทองฉะนั้น

คำเปรียบเทียบนี้แรงเอาการทีเดียว จากเหตุการณ์ครั้งนี้เอง พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกของพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในเวลาต่อมา

พวกเดียรถีย์ทราบข่าว ก็เรียกประชุมกันวางแผนเล่นงานพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทันที

"ได้ทราบว่า พระสมณโคดม ห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ ก็เท่ากับห้ามตัวเองด้วย เป็นโอกาสของพวกเราจะปฏิบัติการเชิงรุก (ฮั่นแน่ ใช้คำทันสมัยเสียด้วย) พวกเราต้องประกาศไปเลยว่า จะท้าพระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกัน ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยง เมื่อพวกเราประกาศออกไป พระสมณโคดมก็ไม่สามารถสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ พวกเราก็ได้ทีประกาศชัยชนะแบบไร้คู่แข่ง ทีนี้พระศาสนาของเราก็จะปรากฏเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วโลก

ครับเมื่อวางแผนอะไร ก็มักจะฟังดูหรูหราเป็นธรรมดา แต่ผลจะเป็นดังคาดหวังหรือไม่ต้องรอดูกันตอนหน้าเสียแล้วละครับ



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๓)
เมื่อข่าวพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แพร่ไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ทรงร้อนพระทัย เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงปรารภว่า จะอย่างไรละทีนี้

"ทำอะไรดี หมายถึงอะไร มหาบพิตร" พระพุทธองค์มีกระแสรับสั่งถาม
"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามพระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว พวกเดียรถีย์ประกาศท้าทายพระองค์แสดงแข่งกับพวกเขา พระองค์จะทรงทำอย่างไร"
"ตถาคตก็แสดงเองสิ มหาบพิตร" พระพุทธองค์รับสั่ง
"ก็พระผู้มีพระภาค ทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แล้ว พระผู้มีพระภาคก็แสดงไม่ได้มิใช่หรือ"

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
"มหาบพิตร สมมติว่า มีคนมาเอาผลมะม่วงจากพระราชอุทยานของพระองค์ไปกิน มหาบพิตรจะทำอย่างไร"
"ข้าพระองค์ก็จะทำโทษเขา ฐานขโมยมะม่วงของข้าพระองค์"
"ถ้ามหาบพิตรเอามาเสวยเอง มหาบพิตรจะทำโทษพระองค์เองไหม"
"ไม่ พระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์เป็นเจ้าของสวนมะม่วง ย่อมมีสิทธิ์กินมะม่วงตามปรารถนา"
"ฉันใดก็ฉันนั้นแล มหาบพิตร ตถาคตห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ มิได้หมายความว่าตถาคตห้ามตนเอง เพราะตถาคตเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับเจ้าของสวนมะม่วงเก็บผลมะม่วงกินตามปรารถนา ฉะนั้น"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น ก็เบาพระทัย ทูลถามอีกว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ ที่ไหน"
"ณ ต้นมะม่วงใหญ่ ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ มหาบพิตร"

เหล่าเดียรถีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งนอกเมือง พากันไปโค่นต้นมะม่วงจนหมด (ไม่ถูกจับ ฐานโค่นต้นไม้ทำลายป่าหรืออย่างไร ไม่ทราบ) คิดตื้นๆ ว่า เมื่อไม่มีต้นมะม่วง แล้วพระสมณโคดมจะแสดงปาฏิหาริย์ได้อย่างไร

คิดผิดครับ ปาฏิหาริย์คือปาฏิหาริย์ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ บริเวณต้นมะม่วง ก็ย่อมจะมีต้นมะม่วงขึ้นมา ด้วยปาฏิหาริย์จนได้

เช้าวันที่กำหนด พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เสด็จออกมาสวนทางกับนายคัณฑะ คนเฝ้าอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล นายคัณฑะได้มะม่วงผลใหญ่พิเศษผลหนึ่ง ตั้งใจจะนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนใจนำเอาไปถวายพระองค์



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (จบ)
พระพุทธองค์เสวยมะม่วงผลนั้นแล้ว ทรงเอาเมล็ดเพาะลงในดิน เอาน้ำล้างพระหัตถ์รด ทันใดนั้น เมล็ดมะม่วงนั้นก็ค่อยงอกขึ้นๆ เป็นลำต้นโตขึ้นตามลำดับ แผ่กิ่งก้านสาขา มีดอกมีผลภายในไม่กี่นาที เป็นที่มหัศจรรย์

เมื่อได้เวลา พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังบริเวณต้นมะม่วงใหญ่ ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วเหนือต้นมะม่วง เสด็จขึ้นประทับนั่งยังจงกรมแก้ว ทรงบันดาลปาฏิหาริย์ให้บังเกิดท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณ ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา สายน้ำ พุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออก จากช่องพระนาสิกข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง สายน้ำพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง เป็นคู่ๆ สลับกันทั่วพระวรกาย มีสีสันต่างๆ สลับกัน ๖ สี คือ สีเขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท และประภัสสร

เมื่อสีออกจากแสงไฟ ซึ่งพุ่งมากระทบน้ำ ก็ทำสายน้ำให้มีสีต่างๆ ไปตามสีไฟ สลับกันไปมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทั้งท่อไฟสายน้ำที่พุ่งออกมาก็ไปไกล ทำให้ท้องนภากาศสว่างไสวเห็นกันทั่วทุกทิศ

จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง มีพระรูปโฉมโนมพรรณคล้ายองค์จริงทุกประการ ทรงกระทำพระอาการสลับกันโดยตลอดคือ

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรม พระพุทธนิรมิตทรงยืน พระพุทธนิรมิตเสด็จจงกรม พระพุทธเจ้าทรงยืน เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าประทับ (นั่ง) พระพุทธนิรมิตทรงสำเร็จสีหไสยา (นอนตะแคงขวา) พระพุทธนิรมิตประทับ พระพุทธเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสถาม พระพุทธนิรมิตตรัสตอบ พระพุทธนิรมิตตรัสถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ เป็นคู่หนึ่ง

นี้แลเรียกยมกปาฏิหาริย์ เป็นที่ชื่นชมมหัศจรรย์ของประชาชนผู้เฝ้าดูเป็นอย่างยิ่ง เหล่าเดียรถีย์เห็นพุทธานุภาพเช่นนั้น ต่างก็พากันหลบลี้หนีไป ไม่กล้าอยู่ให้ขายหน้าประชาชนต่อไป ด้วยประการฉะนี้แล


3372  สุขใจในธรรม / เอกสารธรรม / "พระคติธรรม" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2558 16:07:58

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บทพระนิพนธ์
พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

               ---------- * ----------

ในบรรดาความไม่ประมาททั้งหลาย  ความไม่ประมาทในความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นต้นสายของความไม่ประมาททั้งปวง

ความคิดเป็นเรื่องของใจ และใจนั้นท่านก็แสดงไว้แจ้งชัดว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ การพูด การดู การฟัง การทำ
เป็นไปตามที่ใจคิดทั้งนั้น ความคิดให้เกิดความเห็นชอบ คือความคิดด้วยอาศัยเหตุผล อาศัยปัญญาให้ตรงให้ถูกต้องตามความจริง
ความจริงเป็นอย่างไรต้องอาศัยปัญญา ต้องไม่ประมาทปัญญา คิดให้เห็นตามความจริงนั้้น ไม่คิดให้เห็นผิดจากความเป็นจริง.
              ---------- * ----------


ทางที่ถูกควรจะเอาชนะอุปสรรคในทางที่ชอบ และพยายามส่งเสริมความดีของตน คิดให้เห็นว่า เราทำความดี
ก็เพื่อความดี มิใช่เพื่อให้ใครชม ใครจะชมหรือติ เราก็ยังไม่ควรรับหรือปฏิเสธ ควรนำมาคิดสอบสวนตัวเราเองดู เพื่อแก้ไขตัวเราเอง
ให้ดีขึ้น แต่ไม่รับมาเป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าวิเศษเพราะเขาชม หรือเลวทรามเพราะเขาติ เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะดีหรือไม่ดี
อยู่ที่การกระทำของเราเอง.
              ---------- * ----------
              


การคบหาสมาคมกันระหว่างบุคคลนั้น ท่านสอนให้เลือกคบ คือให้คบแต่บัณฑิตอันหมายถึงคนดี ไม่ให้คบคนพาล
อันหมายถึงคนไม่ดี เพราะเมื่อคบกันก็หมายถึงว่าจะต้องมีวิสาสะ คือความคุ้นเคยไว้วางใจกัน ถ้าไปไว้วางใจในคนไม่ดีก็จะเกิดอันตราย
จึงได้ตรัสเตือนไว้ว่าภัยเกิดจากวิสาสะ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลอื่น แม้ตนเองจะไว้ใจตนเองเสมอไปได้หรือถ้ายังมีกิเลส คือ โลภ โกรธ
หลง อยู่ จะไว้ใจที่มีกิเลสดังกล่าวนี้หาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ควรจะไว้ใจตนเองได้เสมอไปแล้ว จะไว้ใจผู้อื่นโดยไม่เลือกไม่พิจารณาได้อย่างไร
              ---------- * ----------


พื้นแผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนเรามีปัญญาถมให้เป็นถนน ขุดให้เป็นแม่น้ำลำคลอง ทำสะพาน
ข้ามแม่น้ำใหญ่ สร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดอุโมงค์ทะเลภูเขา เรียกว่าใช้กรรมปัจจุบันปรับปรุงธรรมชาติ ฉันใด  ความขรุขระของชีวิตเพราะกรรมเก่า
ก็ฉันนั้น เหมือนความขรุขระของแผ่นดินตามธรรมชาติ คนเราสามารถประกอบกรรมปัจจุบัน ปรับปรุงสกัดกั้นกรรมเก่า เหมือนอย่างสร้างทำนบ
กั้นน้ำ เป็นต้น เพราะคนเรามีปัญญา.
              ---------- * ----------
              


ถ้าเป็นเรื่องจริง เมื่อถึงเวลาที่ควรติก็ต้องติ เมื่อถึงเวลาที่ควรชมก็ต้องชม แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง ก็ไม่ควรพูดแท้
และแม้เป็นเรื่องจริง หากไม่ถึงเวลาที่ควรติหรือชม ก็อย่าไปติหรือชม นิ่งเสียดีกว่า ฉะนั้น ความมีกาลัญญุตา ในที่นั้นๆ
จึงเป็นหลักสำคัญ คือ เวลาที่ควรนิ่งก็นิ่ง เวลาที่ควรพูดก็พูด หรือเวลาที่ควรอุเบกขาก็วางอุเบกขา เวลาที่ไม่ควรอุเบกขาก็พูดออกไป
สุดแต่ว่าเวลาไหนจะควรติหรือชม.
              ---------- * ----------


ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ทุกๆ คนพิจารณาให้ทราบหลักกรรมเนืองๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาท พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี
เพราะทุกๆ คนสามารถละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมที่ดีได้ การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาให้รู้ตระหนักในหลักรรม
และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน  ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธาความเชื่อดังกล่าว จึงละกรรมชั่ว
ทำกรรมดีได้ตามสมควร.
              ---------- * ----------
              


มงคล คือเหตุให้ถึงความเจริญนั้น มี ๒ อย่าง คือ มงคลภายนอกอย่างหนึ่ง มงคลภายในอย่างหนึ่ง มงคลภายนอกนั้น
ได้แก่ สิ่งที่ตามองเห็น เรื่องที่หูได้ยิน และสิ่งต่างๆ ที่ประสบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดจนถึงที่ปรากฏแก่ใจ ซึ่งสมมติกันถือกันว่าเป็นมงคล
คือเหตุที่ให้ถึงความเจริญ ส่วนมงคลภายในนั้น ทางพระพุทธศาสนามุ่งถึงความประพฤติดี ประพฤติชอบของตนเอง ที่เป็นส่วนเหตุอันจะให้เกิดผล
คือความสุขความเจริญ.
              ---------- * ----------


พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจในกรรม ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม
แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน  คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า
จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญาเป็นต้น อันเป็นส่วนจิตและศีลอันหมายถึง
ตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำอยู่ในขอบเขตอันควร
              ---------- * ----------


อำนาจของกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจ
ทำลายอำนาจของกรรมชั่วและอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี อย่างมากที่สุดที่มีอยู่ คืออำนาจของกรรมดี
แม้ให้มาก ให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามมาถึงได้ยากดังมีเครื่องขวางกั้นไว้ หรือไม่
เช่นนั้น ก็ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ย่อมยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน
ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมชั่ว ก็หาใช่อะไรอื่น คือความความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง
              ---------- * ----------
              


ในชีวิตมนุษย์... ความเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุขก็ตาม ความตกต่ำทุกข์ร้อนก็ตาม ย่อมเกิดจากกรรม
ย่อมมีกรรมเป็นเหตุให้เกิดอย่างแน่นอนเสมอไป ผลดีทั้งปวง ย่อมเกิดจากกรรมดี มีกรรมดีเป็นเหตุ ผลไม่ดีทั้งปวง ย่อมเกิด
จากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุกรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของผู้อื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจัก
ได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลไม่ดีเป็นความตกต่ำและเป็นความทุกข์ร้อน.

              
---------- * ----------
              


ทั้งคนและสัตว์ ต่างถูกอำนาจกรรมทำให้เป็นไป คนก็ตาม สัตว์ก็ตาม เกิดด้วยอำนาจของกรรม
กรรมนำให้เป็นคน และกรรมนำให้เป็นสัตว์ เชื่อไว้ก่อนย่อมมีโอกาสที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ เพราะเมื่อเชื่อว่ากรรม
มีอำนาจถึงเพียงนั้น ก็ย่อมขวนขวายทำกรรมที่จะไม่นำให้ต้องไปเป็นสัตว์ ไม่มีใครที่ไม่กลัวความเป็นสัตว์ และมีโอกาส
ที่จะได้เกิดเป็นสัตว์แน่ในภพภูมิข้างหน้า แม้บังเอิญไปทำกรรมที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้นโดยจะรู้หรือไม่รู้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม
พลาดพลั้งไปทำกรรมผิดเข้า ก็จะไม่อาจปฏิเสธผลของกรรมได้เลย .
              ---------- * ----------


การที่จะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มีปัญญา ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดี
ปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบการงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แม้จะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริงแต่ก็อาจจะทำการ
ที่เป็นโทษ แม้อย่างอุกฤษฎ์ก็ได้ คนเรานั้น นอกจากจะมีปัญญาแล้ว ยังต้องมีความคิดอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่างๆ
ในโลก วิสัยของบัณฑิตคือคนที่ฉลาดนั้นย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่รัดรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลาย
เอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้ และเป็นธรรมดาอยู่ ที่คนฉลาดกว่าย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้.
              ---------- * ----------
              


อันความรัก หรือที่รัก เมื่อผู้ใดมีร้อยหนึ่ง ผู้นั้นก็มีทุกข์ร้อยหนึ่ง รักเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ หกสิบ ห้าสิบ เป็นต้น
จำนวนทุกข์ก็มีเท่านั้น  ถึงแม้มีรักเพียงอย่างหนึ่งก็มีทุกข์อย่างหนึ่ง ต่อเมื่อไม่มีรักจึงจะไม่มีทุกข์ ผู้หมดรักหมดทุกข์นั้น
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "เป็นผู้ไม่มีโศก ไม่มีธุลีใจ ไม่มีคับแค้น".

               ---------- * ----------


การพลาดพลั้งทำกรรมไม่ดีนำไปสู่ทุคติ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาตินี้ และสามารถมีญาณหยั่งรู้ภพชาติในอดีต
ของตนที่เป็นสัตว์ เช่น ท่านพระอาจารย์องค์สำคัญที่ท่านเล่าไว้ว่าเคยเกิดเป็นไก่ ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นคนกับเป็นสัตว์
ย่อมได้ความสลดสังเวช และความหวาดกลัวความต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นที่สุด เพราะได้รู้ชัดด้วยตนเองแล้วว่า การพลาดพลั้งทำกรรมไม่ดี
ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจคือการนำไปสู่ทุคติต่างๆ อันไม่เป็นที่พึงปรารถอย่างยิ่ง อันจักก่อให้เกิดความทุกข์ร้อนนานาประการ.

               ---------- * ----------


"คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดเป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะเหตุเพียงเกิดมามีรูปร่างเป็นคน
ต่อเมื่อมีการปฏิบัติประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสมกับความเป็นคน จึงเรียกว่าเป็นคนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนสมบูรณ์
แม้คำในหิโตประเทศ ก็กล่าวว่า การกิน การนอน ความกลัว และการสืบพันธุ์ของคนและดิรัจฉานเสมอกัน แต่ธรรมของคน
และดิรัจฉานเหล่านั้นแปลกกว่ากัน เว้นจากธรรมเสีย คนก็เสมอกับดิรัจฉาน...".

               ---------- * ----------


ศรัทธาความเชื่อของคนนั้น ถ้าเชื่อผิดก็เท่ากับก้าวไปในทางผิดครึ่งทางแล้ว ถ้าเชื่อถูกก็เท่ากับก้าวไปในทางถูกครึ่งทางแล้ว
เช่นเดียวกัน  ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงได้สอนย้ำให้เชื่อกรรม หมายถึงความดีความชั่ว ว่ามีผลที่ผู้ทำจะต้องเป็นผู้รับ เมื่อเชื่อดังนี้แล้ว
ก็จะไม่ก้าวไปในทางชั่วหรือในทางอันตรายแน่


              
3373  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / นาฏกรรมในวังหน้า - หุ่นกระบอกไทย เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2558 15:46:26
.


พระฉายาลักษณ์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ภาพจาก : static.naewna.com


นาฏกรรมในวังหน้า

วังหน้า เป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นตำแหน่งรองมาจากพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้วังหน้าจึงเป็นสถานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง วังหน้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ มาปกครอง ๖ พระองค์ แต่ประทับอยู่ในพระบวรราชวังเพียง ๕ พระองค์ ดังนี้
     ๑.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิมว่า บุญมา ทรงสถาปนาพระบวรราชวังให้มีความวิจิตรงดงาม ตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา ทรงครอบครองอยู่ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๒๕ ถึงพุทธศักราช ๒๓๔๖ รวม ๒๑ ปี
     ๒.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศรสุนทร ทรงได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาอุปราช สืบต่อจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงในปลายรัชกาลที่ ๑ ทรงรับตำแหน่งมหาอุปราชตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๔๙ ถึงพุทธศักราช ๒๓๕๒ รวม ๓ ปี แต่มิได้มาประทับที่พระบวรราชวัง คงประทับที่พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี จนกระทั่งขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
     ๓.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระอนุชาร่วมพระชนก พระชนนี เดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ครอบครองวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๕๒ ถึงพุทธศักราช ๒๓๖๐ รวม ๘ ปี
     ๔.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเจ้านายที่ใกล้ชิดคู่พระทัยของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเสวยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาพระปิตุลา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ทรงครอบครองและประทับอยู่ในพระราชวัง ระหว่างพุทธศักราช ๒๓๖๗ ถึงพุทธศักราช ๒๓๗๕ รวม ๘ ปี
     ๕.พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอนุชาธิราชร่วมพระชนก พระชนนีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาให้มีพระอิสริยยศ เทียบเท่าพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ ได้ครอบครองวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๙๔ ถึงพุทธศักราช ๒๔๐๘ รวม ๑๔ ปี
     ๖.กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณจอมมารดาเอม ทรงได้รับการอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๑ ถึงพุทธศักราช ๒๔๒๘ รวม ๑๗ ปี นับเป็นวังหน้าองค์สุดท้าย

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชชาญทิวงคตลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นแทน เป็นที่หมายว่าคือ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

ตำแหน่งวังหน้าที่กล่าวถึงโดยสังเขปนี้ มีพระบรมวงศ์ประทับอยู่ในพระบวรราชวังเพียง ๕ พระองค์ ฉะนั้นในเอกสารบางฉบับจึงนับเนื่องว่ามีวังหน้า ๖ พระองค์ ในที่นี้ขอทำความเข้าใจไว้เบื้องต้นด้วย

ดังกล่าวแล้วว่า ตำแหน่งวังหน้า คือตำแหน่งรองจากพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นแบบแผนการมีนาฏศิลป์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างหนึ่งจึงยังคงมีอยู่แทบทุกพระองค์ แต่ความรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับพระอุปนิสัยว่าจะโปรดปรานในแนวทางใดเป็นพิเศษ

เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องนาฏศิลป์ในวังหน้าของเรียบเรียงเป็นลำดับในแต่ละรัชกาลโดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารหลักฐานเท่าที่ปรากฏ บางเรื่องเป็นมุขปาฐะที่ครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์เล่าขานสืบทอดผ่านกันมา

๑.ช่วงสมัยวังหน้า ในรัชกาลที่ ๑ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)
เป็นช่วงสมัยที่วังหน้าเจริญรุ่งเรืองด้วยสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนเชื่อว่า นาฏศิลป์ดนตรี ก็คงจะมีความรุ่งเรืองเช่นกัน ดังที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ได้กล่าวอ้างไว้ว่า “โขนละครของหลวง ก็ได้โปรดให้หัดขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า เว้นแต่ละครผู้หญิงซึ่งเป็นของต้องห้ามมิให้เอกชนมีไว้ ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ละครผู้หญิงจึงมีแต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียว”

ในส่วนของละครวังหน้าในรัชสมัยนี้ ไม่ปรากฏรายละเอียด แต่เชื่อว่ามีคณะละครผู้หญิง แต่ไม่สู้แพร่หลายมีชื่อเสียงมากนัก แต่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าจอมละครท่านหนึ่ง ปรากฏเรื่องราวของนางละครที่เจ้าจอมว่า ภู่ สีดา มีมารดาชื่อเอี้ยง เป็นนายวิเศษ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดพระราชทานทั้งลูกสาวและแม่ แด่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทั้งสองแม่ลูกจึงมาอยู่ ณ พระบวรราชวัง เอี้ยงมารดามาเป็นนายวิเศษปากบาตร (มีหน้าที่จัดเตรียมอาหารใส่บาตรพระสงฆ์) ในพระบวรราชวัง  เจ้าจอมภู่ เป็นหญิงที่ลือชื่อว่างามมากในครั้งกระโน้น (พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๔) แต่ยังมิทันที่เจ้าจอมภู่ สีดา จะปรากฏชื่อเสียงอย่างไร ก็มาเกิดเรื่องขึ้นในวังหน้า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๖ ตามที่ปรากฏในพงศาวดาร สรุปความได้ว่า มีคนร้าย ๒ คน แอบเข้าไปคิดซุ่มประทุษร้ายกรมพระราชวังบวร แต่ด้วยพระบารมีบุญญาภินิหารให้คลาดแคล้ว คนร้ายถูกจับกุมได้ และซัดทอดไปถึงขุนนางผู้ใหญ่ (พระยาอภัยรณฤทธิ์) และเอี้ยงวิเศษปากบาตร เมื่อมีพระบัณฑูรให้สอบสวน เอี้ยงรับว่าหลงเชื่อคนร้าย ซึ่งเมื่อข้าราชการหลายท่านและคนร้ายทำสำเร็จจะยก “ภู่” ขึ้นเป็นพระมเหสี จึงลงพระอาญาให้ประหารชีวิตพวกกบฏ และผู้ร่วมคิดรวมทั้งเอี้ยง และเจ้าจอมภู่ด้วย

ตัวละครในวังหน้าอีกท่านหนึ่งชื่อ “จุ้ย” เป็นตัวหนุมาน ได้เป็นตัวละครในพระบวรราชวังในรัชกาลหลังๆ ต่อมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในพระบวรราชวังยังมีการแสดงละครในเรื่อง รามเกียรติ์

นาฏกรรมสำคัญที่ปรากฏชื่อเรื่องของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ โขน ซึ่งมีเหตุการณ์บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งแสดงถึงโขนวังหน้ากับโขนวังหลวงพิพาทกันในขณะแสดง

สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจธรรมชาติของการแตกความสามัคคีนั้น ถึงแม้ว่าระดับเจ้านายจะเป็นพี่น้องรักใคร่ปรองดองกันอย่างไร แต่ก็อาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ โดยเฉพาะเมื่อต่างฝ่ายต่างถือข้างเจ้านายของตนเป็นใหญ่ ดังเช่นเรื่องราวของโขนวังหน้ากับโขนวังหลวง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๙ ในงานฉลองพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร สรุปความได้ว่า ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและโขนวังหน้า เล่นประสมโรงกันกลางแปลง บริเวณสนามระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง (ท้องสนามหลวงส่วนหนึ่งในปัจจุบัน) แสดงตอนประเดิมศึกลงกา หรือทศกัณฐ์ยกทัพพร้อมสิบขุนสิบรถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระรามยกออกจากพระบวรราชวัง เล่นรบกันในสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงใส่กัน กล่าวง่ายๆ คือต่างฝ่ายต่างสู้กันจริง ฝ่ายทศกัณฐ์ไม่ยอมแพ้ตามบทบาท รบกันจริงถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย เสร็จจากงานครั้งแล้วปรากฏความบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนต่างฝ่ายต่างเอาปีนขึ้นป้อมกำแพงเข้าหากัน สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ต้องทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ต่างฝ่ายจึงเลิกแล้วคืนดีเป็นปกติ

จากที่กล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่านาฏศิลป์ในส่วนของโขนเป็นมหรสพสำคัญที่ปรากฏทั้งในวังหลวงและวังหน้า ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี นับเป็นมหรสพชั้นสูงประจำพระราชวัง




หุ่นจีน ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ในภาพ : หุ่นตัวนางผู้สูงศักดิ์ ศีรษะประดับศิราภรณ์งดงาม

๒.ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร)ถึงแม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องละครเกิดขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานเรื่องละครอิเหนา ว่า “ละครผู้หญิงก็มีแต่ของหลวง เล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม โปรดให้หัดละครเด็กๆ ผู้หญิง แล้วเอาเรื่องอุณรุทครั้งกรุงเก่ามาตัดทอนให้เล่น ถูกพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกริ้วจึงต้องเลิก” ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงเปลี่ยนเป็นคณะละครผู้ชายที่ยังคงเล่นละครใน เมื่อเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๒ แล้ว จึงทรงตั้งคณะละครหลวงในพระองค์ขึ้น มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่ง เป็นครูท่านสำคัญต่อมา

๓.ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
ถึงแม้ว่าจะทรงมีเจ้าจอมเป็นละครหลายท่าน เช่น ภู่ อิเหนา ซึ่งเดิมเป็นละครหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นตัวอิเหนา และต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรสคือ กรมหมื่นสิทธิสุขุม ต้นสกุล รองทรง

มี บุษบา เข้าใจว่าเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ต่อในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นนางบุษบา และเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าชายสุดวอน

พลับ จินตะหรา เข้าใจว่าเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นตัวนางจินตะหรา และเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าชายรัชนิกร ต้นสกุล รัชนิกร

การที่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีเจ้าจอมเป็นละครตัวเอกหลายตัว ก็น่าจะเชื่อได้ว่า คงจะมีคณะละครประจำพระองค์บ้าง ไม่สู้จะเปิดเผยมีชื่อเสียง แต่ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ ทรงมีคณะงิ้วผู้หญิง  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ในเชิงอรรถ เรื่องตำนานละครอิเหนา ข้อ ๑๖ หน้า๓๘๖ (ฉบับรวมพิมพ์ของมติชน) ว่า “งิ้วผู้หญิงของกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๒ อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ คนหนึ่ง ชื่อ คล้าย เป็นพนักงานเลี้ยงนกในพระบรมมหาราชวัง เคยร้องงิ้วถวายเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เนืองๆ”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงตัวละครหลวงชุดกลาง ในรัชกาลที่ ๒ อีก ๓ ท่านคือ ปราง สายใจ อ่อน พระลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่าได้แต่วังหน้า รัชกาลที่ ๒ (ตำนานเรื่องละครอิเหนา ฉบับพิมพ์รวมเล่ม หน้า ๙๙)

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๓ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์)
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงหัดละครผู้หญิงทั้งโรง เล่นทั้งเรื่องพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ และเรื่องอื่นๆ ที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครชั้นนอกขึ้นใหม่ มี ๔ เรื่อง ในหนังสือพระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑ กล่าวถึงบทละครนอกอีก ๔ เรื่อง
     เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนุมานอาสา แต่งบทให้นางเบญกายกับนางสุวรรณกันยุมา หึงกัน ทำนองเรื่องไกรทอง
     เรื่อง กากี ตอน ครุฑลักพานางกากี
     เรื่อง พระลอ ตอน พระลอคลั่ง
     เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ลาวทองมาพบกันนางวันทอง ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ตอน นางวันทองห้ามทัพ

พระบวรราชนิพนธ์บทละครนอก ๔ เรื่อง ได้แก่
     เรื่อง จับลิงหัวค่ำ
     เรื่อง รำบรรเลงหางนกยูง
     เรื่อง ยักษ์สองกรวรวิก สองพี่น้องตั้งพิธี
     เรื่อง ไพจิตราสูร

สิ่งที่น่าสังเกต ว่าเหตุใดกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงตั้งคณะละครผู้หญิงอย่างเปิดเผย ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่า ประการแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลิกละครหลวงในพระราชสำนัก ประกอบกับ กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้โดยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าอา โดยความสนิทเสน่หา ทรงเป็นขุนพลคู่พระทัย ในชุดกรมหมื่นรักษรณเรศร์ (พระองค์เจ้าไกรสร) ซึ่งต่อมาต้องพระราชอาญาปลดยศศักดิ์และถูกสำเร็จโทษ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) ต่อมาเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) ทั้ง ๔ พระองค์ ล้วนเป็นขุนพลทำการรบป้องกันพระราชอาณาเขตมาด้วยกันตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงตั้งคณะละครผู้หญิงในพระบวรราชวัง แต่เป็นการเฉพาะ มิได้เปิดเผยให้เป็นแบบอย่างกับข้างนอกแต่อย่างไร



หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์

ครูละครในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ท่านสำคัญ คือ ครูน้อยงอก ไกรทอง (ตัวละครหลวงในรัชกาลที่ ๒) ภายหลังกรมพระราชวังบวรฯ ทิวงคตแล้ว ได้ไปเป็นครูละครของเจ้าพระยานคร (น้อย ณ นคร) ถึงรัชกาลที่ ๔ กลับมาเป็นครูละครของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเป็นครูละครของเจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบวรราชวังในรัชกาลที่ ๕ ศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงต่อมา คือ ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ขรัวยายของพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นผู้ควบคุมคณะละครหลวงในรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย

มีเหตุการณ์ที่เป็นข้อยืนยันว่า กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้มีคณะละครผู้หญิงในสังกัด คือ เมื่อทิวงคตแล้ว พระราชทานเครื่องละครและตัวละครผู้หญิงของพระองค์หลายคน ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) เพราะเป็นพระญาติ ตัวละครหลายคนได้ไปเป็นครูที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองตะกั่วป่า เล่นสืบมาในรัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ แต่เนื่องจากเสด็จมาประทับในอาณาบริเวณพระบวรราชวัง ในที่นี้ผู้เรียบเรียงจึงขอจัดกลุ่มให้อยู่ในวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มความต่อเนื่องของบทความนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงว่า ในหนังสือตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์, เล่มมติชน หน้า ๓๕๐) ว่า
“ละครพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์ โรงหนึ่ง เล่ากันว่ากระบวนเล่นเป็นแต่กระนั้นเอง เพราะเจ้าของไม่สู้เอาพระทัยใส่ ทรงเล่นอยู่หน่อยก็เลิกเสียแต่เมื่อยังไม่เป็นกรม โปรดทรงแต่ปี่พาทย์”

มีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่า ถึงแม้วังหน้าในรัชกาลที่ ๔ จะไม่มีคณะละครของพระองค์เอง แต่พระราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์ ของพระองค์ คือ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภา (พระองค์ตุ้ย) และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ (พระองค์ปุก) ทรงหัดละครในพระบวรราชวังขึ้นโรงหนึ่ง ได้ครูผู้หญิงละครหลวง ครั้งรัชกาลที่ ๒ ฝึกหัดเล่นทั้งละครในและละครนอก และเล่นรับงานหาด้วย เล่นมาถึงรัชกาลที่ ๕ ตลอดจนพระชนมายุของพระองค์เจ้าหญิงดวงประภา

พระราชธิดาทั้งสองของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดจากเจ้าจอมมารดามาลัย เชื้อสายของท่านก็มีเหล่าศิลปินเกี่ยวข้องกับจางวางต่อ ณ ป้อมเพชร ซึ่งมีคณะโขนคณะละครและหุ่นกระบอกโรงใหญ่ของตนเอง มีชื่อเสียงมากในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภาได้ให้ตำรานาฏศิลป์ ซึ่งเป็นภาพเขียนลายเส้นตำราท่ารำฉบับหนึ่ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ให้บริการ ณ หอสมุดแห่งชาติ นับเป็นฉบับที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด

นอกจากนี้ เจ้าคุณจอมมารดา เอม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีอุปนิสัยชอบในการละครเป็นพิเศษ ถึงกับมีคณะละครของตนเอง แต่น่าจะเชื่อว่าเป็นการตั้งคณะละครโดยสมบูรณ์ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงละครโรงนี้ในช่วงสมัยกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๕



เจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านเป็นเจ้าของคณะละครวังหน้า ในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ



ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม (ในภาพตัวละครทุกตัวสวมเล็บ)

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาเอม ธิดาเจ้าสัวบุญมี บุรพชนเป็นจีน (ตามหลักฐานหนังสือประวัติราชินิกุล รัชกาลที่ ๔ ของสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หน้า ๑๔๕) มีพระญาติร่วมพระชนก พระชนนีเจ้าคุณจอมมารดา ๕ พระองค์ แต่ที่มีพระชนม์อยู่สืบราชสกุล ๒ พระองค์ คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านวรัตน์ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ (ต้นราชสกุล นวรัตน์)

เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเอม ตั้งคณะละครขึ้นในพระบวรราชวังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ กล่าวไว้ ในตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์มติชน หน้า ๓๗๘) ว่า “ละครของเจ้าคุณจอมมารดาเอม หัดขึ้นในวังหน้าโรงหนึ่ง เล่นตามแบบละครหลวงเป็นพื้น กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกให้เล่นบ้าง มีตัวละครโรงนี้ได้ไปเป็นครูละครที่อื่น คือ
๑.ชื่อ ปลิง เป็นตัวอิเหนา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา
๒.ชื่อ เล็ก เป็นตัวสังคามาระตา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา
๓.ครูที่ปรากฏชื่อ ของละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม เชื่อว่าน่าจะเป็นตัวละครหลวง รัชกาลที่ ๒”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า ในตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์มติชน หน้า ๓๗๑) ว่า
“หม่อมแสง (ลูกเจ้ากรับ) เป็นตัว นางจินตะหรา ได้เป็นครูเจ้าจอมมารดาเอม วังหน้า”

นอกจากนี้ ละครวังสวนกุหลาบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ครูที่เป็นตัวละครสำคัญของเจ้าคุณจอมมารดาเอม ไปเป็นผู้วางรากฐาน คือ หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน และหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา (หม่อมในกรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์) ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม มีหลักฐานปรากฏเป็นภาพถ่ายเก่า มีลักษณะเป็นละครโบราณ สวมเล็บอ่อนโค้ง ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบละครหลวงรุ่นเก่าตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และหมดความนิยมไปในยุคหลัง (ราวรัชกาลที่ ๕ ลงมา) เพราะการสวมเล็บขาดความคล่องตัวโดยเฉพาะในกระบวนท่ารบ ด้วยเหตุนี้คณะละครวังสวนกุหลาบ และละครกรมมหรสพ รวมทั้งละครคณะอื่นๆ ในสมัยนั้นจึงไม่สวมเล็บโค้ง จะมีปรากฏเพียงภาพถ่ายเก่าเท่านั้น



ซ้าย หม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา หรือหม่อมครูนาง  ขวา หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน หรือหม่อมครู ฝ่ายพระ
ทั้ง ๒ ท่าน เชื่อกันว่าเป็นละครเจ้าคุณจอมมารดา

มุขปาฐะ เกี่ยวกับละครสวมเล็บนี้ ผู้เรียบเรียงได้ฟังคำบอกเล่าจากคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ที่กล่าวว่าเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕ ที่เคยเป็นละครหลวงรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๔ และเป็นละครหลวงในต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น คุณครูลมุลเล่าว่า ท่านเจ้าจอมเล่าว่า เมื่อท่านสวมเล็บทองคำร่ายรำ ปลายนิ้วของท่านอ่อนโค้งลงมาถึงข้อมือ และท่านก็ตั้งวงมือให้คุณครูลมุลได้ดู ท่านกล่าวว่านิ้วมือของท่านเจ้าจอมอ่อนโค้งสมจริง

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงพระนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง พระสมุทร ตั้งแต่พระสมุทรเข้าสวนจนถึงท้าวรณจักรล้ม ประทานให้คณะละครนี้ ในส่วนพระองค์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเชี่ยวชาญในงานช่างทั้งปวง ในส่วนของมหรสพ ทรงสร้างหุ่นเล็กขึ้น ๒ ชุด หุ่นเล็กชุดแรก เป็นหุ่นจีน (แบบถุงมือ) ซึ่งเป็นลักษณะหุ่นฮกเกี้ยนของจีน ยังคงปรากฏบทเจรจาและบทที่ใช้แสดง เรื่อง ซวยงัก ฯ

หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์ เป็นชุดหุ่นไทยที่ทรงคิดทำขึ้นใหม่ ดำเนินวิธีคล้ายหุ่นหลวง หรือหุ่นใหญ่แต่โบราณ มีแขนขาเต็มตัว มีไม้แกนกับสายใยชักอวัยวะต่างๆ ให้เคลื่อนไหว แต่ทำตัวหุ่นให้มีขนาดเล็ก ทำโรงคล้ายๆ โรงละครฝรั่งหากแต่เล่นหุ่นอย่างไทย

หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์ ได้เคยเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรในงานสมโภชช้างเผือกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ครั้งหนึ่ง ดังมีปรากฏในหนังสือข่าวราชการ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พลับพลาหน้าโรง ทอดพระเนตรหุ่นอย่างใหม่ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงคิดใหม่นั้น ปลูกโรงลงในท้องถนนตรงหน้าพลับพลา โรงนั้นยาว ๑๐ วา ตัวหุ่นนั้นสูงประมาณ ๘ นิ้ว ฯลฯ เมื่อเชิดนั้นไม่เห็นตัวคนเชิด แลเจรจาหรือพากย์ก็ดี ไม่เห็นตัวคนพากย์เจรจา มีแต่ตัวหุ่นออกมาเต้นรำทำร่าทำท่าต่างๆ และในโรงนั้นรางพื้นและรางเพดาน เพื่อจะได้เชิดหรือเหาะ”

และยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาว่า “ในงานทำบุญวันสมภพ ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ ครบ ๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดหุ่นไปช่วยเพลาหนึ่ง” หุ่นที่แสดงนี้เป็นหุ่นจีน

ในส่วนรายละเอียดที่เป็นหลักฐาน วิธีการเชิดหุ่นเล็ก รูปแบบโรงจะเป็นเช่นไร ไม่มีหลักฐานปรากฏ จะมีอยู่เพียงตัวหุ่นเล็กบางส่วนที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เท่านั้น

ในส่วนมหรสพด้านอื่นๆ ก็เป็นการเล่าขานสืบมาว่า ทรงมีคณะงิ้ว ซึ่งเรียกกันว่างิ้ววังหน้า แสดงแบบงิ้วหลวงปักกิ่ง แต่ก็เป็นเพียงมุขปาฐะ ดังเช่นเมื่อครั้งกรมศิลปากรจัดแสดงละครพันทางเรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา มีกระบวนท่าออกกราวของพลทหารจีนที่เรียกว่า พวกหน้าขี้ไก่ กระบวนท่าออกกราวของตัวเอกคือ โจเปียว และกามนี รวมทั้งท่ารบของกามนีและสมิงพระราม ก็เล่าขานกันว่าจดจำมาจากงิ้ววังหน้า โดยมีคุณครูผัน โมรากุล ซึ่งเป็นละครของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕) ซึ่งเป็นลูกสาวของหม่อมครูเครือ (มังรายกะยอชวา) ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) และคุณครูสะอาด แสงสว่าง ละครโรงเดียวกัน เป็นผู้จดจำมาถ่ายทอด เล่ากันว่า เมื่อคุณครูผันพาศิษย์ไปดูท่างิ้วที่โรงงิ้วเยาวราช ซินแสที่สอนงิ้วรู้ว่าเป็นลูกหม่อมเครือ ก็ลงมาต้อนรับ แม้ในคณะละครวังสวนกุหลาบ หม่อมครูหงิม ซึ่งเป็นตัวละครของคณะเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เป็นครูของครูลมุล ยมะคุปต์ เคยถ่ายทอดท่ารบไม้จีน ๑๔ ไม้ ที่เรียกว่า “ไม้บู๊” ให้กับศิษย์ละครวังสวนกุหลาบ ซึ่งสันนิษฐานให้เห็นเค้าเงื่อน การถ่ายทอดท่างิ้ววังหน้า ซึ่งจะเป็นงิ้วของกรมพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๕ ไม่อาจยืนยันความชัดเจนได้

ที่กล่าวมาทั้งสิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าวังหน้า ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่พระบรมวงศ์ชั้นสูงเคยปกครองดูแลอยู่ มิใช่เป็นเพียงที่รวมแห่งศูนย์อำนาจการปกครองเป็นแหล่งที่ ๒ แต่ยังเป็นคลังสรรพวิชาความรู้อันหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของนาฏกรรม ซึ่งบางสิ่งบางอย่างยังคงอยู่ และสืบทอดเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้ชนชาติไทยได้เกิดความภาคภูมิใจสืบไปชั่วกาลนาน



ที่มา
(เรื่อง-ภาพขาวดำ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
(ภาพสี) : หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต เว็บไซต์สุขใจดอทคอม


หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต
กดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=70502.0
3374  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: โขน นาฏศิลป์ประจำชาติ และ “รามเกียรติ์” จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2558 15:18:55
.



โขน : มหรสพสมโภช

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑.มหกรรมบูชา ได้การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง  ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒.เนื่องในพระราชพิธี ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือคเชนทรัศวสนานและมีมหรสพต่างๆ สมโภช และกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ตำนานละครอิเหนา ว่า ...การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวงปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓.งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพ และบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานพระศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง

...โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป

โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวน อีกโรงหนึ่งเล่นชุดศึกอินทรชิต

งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขน งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน



"โขนสดในสมัยอยุธยา" ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๔.งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ “ในวัน ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ มีโขน...” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค่ำวันนี้มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษก สมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในงานมหรสพสมโภชดังนี้
     พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง
     สื่อเมืององคตพดหาง
     ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง
     ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี

ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕.งานบันเทิงและบำรุงศิลปะ การแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่นโขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า...จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอย ณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทาน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้นมาดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๔๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

หน่วยงานของรัฐคือกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่นในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากรโดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธีที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา



"การแสดงโขนและมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุทศกัณฐ์"
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ณ พระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๖.งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพต รับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้ว โขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา มีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น
[…] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมา ธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้นไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขา

ตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทิวเช่นที่นิยมปฏิบัติ

ในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนากดึกดำบรรพ์หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่าการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์...” ดังนั้น การแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช” เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
3375  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: มันมากับอาหาร เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2558 19:41:57

   อะคริลาไมด์...ในเฟรนช์ฟราย
หนึ่งในบรรดาอาหารทานเล่นในดวงใจของเด็กๆ ไทย ขณะนี้คงหนีไม่พ้นประเภทปิ้ง ย่าง ทอด ที่เห็นมากในขณะนี้คงเป็นพวกไก่ทอด เฟรนช์ฟราย มันฝรั่งทอดกรอบ

ปัจจุบันการปรุงอาหารจำพวกนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่จะมีขายแบบ กึ่งสำเร็จรูปตามห้างสรรพสินค้า แค่นำมาทอดให้สุก หรืออบให้ร้อนก็ทานได้

แต่หารู้ไม่ว่าอาจมีภัยเงียบแอบแฝงมากับเฟรนช์ฟรายทอดกรอบร้อนๆ ด้วยก็ได้

ภัยเงียบที่ว่า คือ สารอะคริลาไมด์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อตัวขึ้นในอาหารจำพวกธัญพืช มันฝรั่ง อาหารที่มีแป้งสูงในระหว่างที่ถูกนำไปให้ความร้อนสูงๆ (สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส) หรือนำไปผ่านการ อบ ทอด ปิ้ง ย่าง เป็นเวลานานๆ เมื่อ สารอะคริลาไมด์ เข้าสู่ร่างกาย มันจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว ณ บริเวณที่มีการย่อยอาหาร หลังจากนั้นมันจะถูกขับออกอย่างรวดเร็วทางปัสสาวะ ฉะนั้นอะคริลาไมด์ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง

สำหรับอันตรายของ สารอะคริลาไมด์  นั้นหน่วยงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศได้จัดให้สารอะคริลาไมด์ เป็นสารกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงในการก่อให้เกิดมะเร็งในคน

ปัจจุบันมีวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับ สารอะคริลาไมด์ เข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร ซึ่งผู้ผลิตควรนำไปปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนี้

การผลิตมันฝรั่งทอดกรอบให้นำมันฝรั่งมาลวกน้ำก่อน จะช่วยลดปริมาณของอะคริลาไมด์ ที่อาจเกิดในระหว่างทอดมันฝรั่งได้ 50% ถ้าเป็นประเภทเฟรนช์ฟราย ให้นำมันฝรั่งมาลวกในสารละลายกรด (กรดซิตริกหรือแลกติก) ก่อนนำไปทอด จะช่วยลดปริมาณของอะคริลาไมด์ ที่อาจเกิดในระหว่างทอดเฟรนช์ฟรายได้ถึง 80%

เพื่อเป็นการให้ความรู้และป้องกันภัยเงียบจากสารอะคริลาไมด์   สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วน และร้านค้าต่างๆ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณ สารอะคริลาไมด์ ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง

ปัจจุบันไทยยังไม่กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในอาหาร

ฉะนั้น ผู้บริโภคหรือผู้ปกครองควรแนะนำวิธีเลือกอาหารให้แก่เด็ก เพราะมีโอกาสได้รับสารนี้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยแนะให้ลดอาหารประเภทธัญพืช มันฝรั่งทอด หรืออาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูงจนมีสีเหลืองเข้ม หรือสีน้ำตาล

ควรทานให้หลากหลายทั้งผักและผลไม้ ทานอาหารไทยที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เพื่อชีวิตที่ปลอดภัย.



   สารปรอทในปลาดุกย่าง
ปรอท เป็นโลหะหนักชนิดที่เป็นพิษ และปัจจุบันพบปนเปื้อนได้ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำ ทั้งหนอง คลอง บึง แม่น้ำ และในท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเรา  หากปรอทปนเปื้อนอยู่ในอาหารแล้ว ปรอทจะมีความคงตัวสูง คือ ไม่ว่าจะนำอาหารไปปรุงหรือผ่านความร้อนก็ไม่สามารถทำให้สารปรอทหายไปจากอาหารได้

การปนเปื้อนของสารปรอทในอาหาร มักเกิดจากแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งของปลา หอย หมึก สัตว์น้ำและสัตว์ทะเลต่างๆ มีการปนเปื้อนของน้ำทิ้งและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยังทำให้มีสารเคมีต่างๆ รวมทั้งปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งหากแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของปรอท สัตว์น้ำที่อยู่ในบริเวณแหล่งน้ำนั้นก็ปนเปื้อนปรอทไปด้วย เช่น ปลาดุก ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาปรุงและประกอบอาหารหลากหลายชนิด

ไม่ว่าจะเป็นยำปลาดุกฟู ผัดเผ็ดปลาดุก ปลาดุกย่างที่ทานคู่กับน้ำปลาหวานสะเดา หรือทานกับน้ำปลาพริก หรือที่นิยมทานคู่กับข้าวเหนียวและส้มตำ ถ้าเราทานอาหาร เช่น ปลาดุกที่มีปรอทปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายบ่อยๆ ปรอทมันจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อสะสมจนถึงระดับหนึ่ง สารปรอทจะค่อยๆ จับตัวกับเนื้อเยื่อในระบบประสาท ทำให้เป็นอันตรายต่อสมองและอวัยวะต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท ทำให้สมองฝ่อ แขนขาอ่อนแรงคล้ายคนพิการได้

สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาดุกย่าง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของปรอท ผลปรากฏว่า เป็นความโชคดีของคนไทยที่วันนี้ไม่พบการปนเปื้อนของปรอทในปลาดุกย่างทุกตัวอย่าง แต่ขอแนะเพิ่มเติมว่า ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ทานอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ เพื่อความปลอดภัย.



   ลูกชิ้นปิ้งกับสารกันบูด
ลูกชิ้นปิ้งอาหารทานเล่นฮอตฮิต ที่คนไทยหาซื้อได้ทุกหัวระแหง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะตรอก ซอก ซอยใด ก็หาลูกชิ้นปิ้งทานได้ตามรถเข็นแทบจะ 24 ชั่วโมง

ลูกชิ้นมีหลายชนิด ทั้งลูกชิ้นหมู เนื้อ ปลา กุ้ง หมึก และลูกชิ้นสาหร่าย และนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายแบบ เช่น นำมาปิ้ง ทอด ย่าง อบ ราดน้ำจิ้มแล้วทานกับผักสด หรือนึ่งแล้วนำมาทำเป็นยำลูกชิ้น หรือใช้เป็นเครื่องสำหรับทำก๋วยเตี๋ยวก็อร่อยไม่แพ้กัน

ทว่าวันนี้ ลูกชิ้นที่คนไทยชื่นชอบกันนั้นอาจมีสิ่งที่เราไม่ต้องการแฝงมาด้วย สิ่งที่ว่าคือ “สารกันบูด” คงอาจเป็นเพราะลูกชิ้นเป็นอาหารยอดนิยมและเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่อาจเน่าเสียได้ง่ายซึ่งต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเท่านั้น ทำให้ผู้ผลิตบางรายจึงใส่สารกันบูดลงในลูกชิ้นเพื่อให้สามารถยืดอายุของลูกชิ้นสดให้เก็บไว้ขายได้นานๆ

สารกันบูดที่ผู้ผลิตใส่ในลูกชิ้นมีทั้ง กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยเฉพาะกรดเบนโซอิกและเกลือเบนโซเอตเป็นสารกันบูดชนิดที่ใช้กันมาก ราคาถูก หาง่าย และมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคและเชื้อที่ทำให้อาหารเน่าเสียได้หลายชนิด ซึ่งทำให้เก็บลูกชิ้นไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย ไม่มีเมือก ไม่มีกลิ่นเหม็น

แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะเป็นสารกันบูดที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากได้รับวันละไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน จากการทานอาหาร ร่างกายของคนปกติทั่วไปจะยอมรับได้ คือ ตับและไตจะสามารถกำจัดสารชนิดนี้ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ ถ้าได้รับเกินกว่า 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันทุกวัน

ตับและไตจะต้องรับภาระหนักในการกำจัดสารออกจากร่างกายทุกวัน นานเข้าจะสะสมในร่างกาย พร้อมกับประสิทธิภาพของตับและไตจะลดลงด้วย ทำให้เจ็บป่วยและอาจเป็นโรคเกี่ยวกับไตได้

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างลูกชิ้นหมูปิ้งจำนวน 5 ตัวอย่าง จากรถเข็นขายลูกชิ้นปิ้งในกรุงเทพฯ จาก 5 ย่านการค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณตกค้างของกรดเบนโซอิก ผลปรากฏว่าทุกตัวอย่างพบการตกค้างของสารกันบูดชนิดนี้ และพบในปริมาณมาก ฉะนั้นอยู่ที่ท่านแล้วว่าจะเลือกทานกันหรือไม่ ทางที่ดีอย่าทานกันบ่อยมากเพื่อความปลอดภัยของตับและไต.



   หมึกปิ้งกับอหิวาตกโรค
นอกจากลูกชิ้นปิ้งและไส้กรอกย่างแล้ว หมึกปิ้งนับเป็นอาหารยอดฮิตอีกชนิดของคนไทยที่พบเห็นได้ทั่วไป  ทว่าหากนำมาทานไม่ล้างให้สะอาดก่อนและไม่ผ่านการปรุงให้สุกด้วยความร้อน หมึกปิ้งย่างที่รสชาติอร่อยล้ำแค่ไหน ก็อาจทำให้เราป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลได้เพราะอหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค เป็นโรคที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า วิบริโอ คลอเรลลา (Vibrio cholera) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ตามเขตน้ำกร่อย บริเวณปากแม่น้ำที่ติดทะเล จึงไม่แปลกที่จะพบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนในอาหารทะเลจำพวก กุ้ง หอย ปู และหมึก

วิบริโอ คลอเรลลา เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษ Cholera toxin ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค

โดยธรรมชาติเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้ดีและสร้างสารพิษเฉพาะในลำไส้ของคน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อจากการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนเชื้ออาจเพิ่มจำนวน/ปริมาณมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ เช่น ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำทันที โดยไม่ปวดท้อง

ลักษณะเฉพาะของอุจจาระผู้ป่วยคือ มักจะมีสีขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งอาเจียน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแล้วหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง

สถาบันอาหารได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกปิ้งย่าง ที่จำหน่ายตามรถเข็นย่านต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์หาเชื้อ วิบริโอ คลอเรลลา ปนเปื้อน ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า หมึกย่างทั้ง 5 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อ วิบริโอ คลอเรลลา เลย

เพื่อความสบายใจ ก่อนซื้อหรือก่อนนำมาทานต้องมั่นใจว่า หมึกปิ้งหรือย่างนั้นผ่านการให้ความร้อนจนสุกสนิท และควรทานหลังจากให้ความร้อนแล้วเท่านั้น เพื่อความอร่อยลิ้นที่ปลอดภัย.



   ความหวานของช็อกโกแลต
ช็อกโกแลต เป็นของหวานอย่างหนึ่งที่ถูกอกถูกใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบของหวานต้องติดใจกันทุกราย

ช็อกโกแลต ผลิตจากเมล็ดโกโก้ มีต้นกำเนิดมาจากชนเผ่ามายา เป็นชนเผ่าหนึ่งในอเมริกากลาง เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน ชนเผ่ามายาเป็นชนกลุ่มแรกที่เอาเมล็ดโกโก้มาคั่ว กะเทาะเปลือก นำมาบด และละลายน้ำ ทำเป็นเครื่องดื่มข้นๆ ที่เรียกว่า “คาคาฮอดทัล” มีรสค่อนข้างขม แต่เมื่อเติมน้ำตาลแล้วมีรสชาติที่ดีขึ้น จึงมีการเรียกชื่อใหม่ว่า “ช็อกโกลาตส์” ต่อมาชื่อของช็อกโกลาตส์ก็ได้เพี้ยนไปเป็น “ช็อกโกแลต” ที่ใช้กันในปัจจุบัน

ช็อกโกแลต มีการผลิตออกมามากมายทั้ง ช็อกโกแลตดำ ช็อกโกแลตนม ช็อกโกแลตชนิดแท่ง ชนิดเกล็ด ช็อกโกแลตขาว ซึ่งทำมาจากไขมันของโกโก้ ช็อกโกแลตยังเป็นส่วนผสมของของหวานหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม ลูกอม คุกกี้ เค้ก  ของหวานชนิดนี้ไม่ได้อร่อยแต่เพียงอย่างเดียวยังมีประโยชน์แอบแฝงอยู่ด้วย ในช็อกโกแลตมีสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิต เสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้แข็งแรง ป้องกันเลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน ความดันโลหิตสูง และหัวใจวาย

นอกจากนี้ ในช็อกโกแลตยังอุดมไปด้วย กรดอะมิโนทริปโตแฟน ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่ง “เซโรโทนิน” สารแห่งความสุขออกมาละลายความตึงเครียด ทำให้มีความรู้สึกสดชื่น  แต่อย่าเพิ่งด่วนดีใจจนเกินไป เพราะช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะถูกหรือแพง ล้วนมีไขมันและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น หากบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด จากมีประโยชน์อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นโทษได้ เพราะไขมันและน้ำตาลที่ช่วยเพิ่มความอร่อยนั้น อาจกลายเป็นส่วนเกินเมื่อเข้าสู่ร่างกาย  ทางที่ดีควรทานในปริมาณที่เหมาะสม หากทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้.



   ยาฆ่าแมลงในองุ่นสด
องุ่น เป็นผลไม้ในดวงใจของหลายคนที่ชื่นชอบรสชาติหวานอมเปรี้ยว องุ่นมีวิตามินหลายชนิดและมีเกลือแร่มากมาย เมื่อทานองุ่นจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำตาลในองุ่น ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที จึงช่วยเร่งการเผาผลาญในร่างกาย กระตุ้นให้ตับทำหน้าที่ฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น เปลือกและเมล็ดองุ่น สามารถนำมาสกัดน้ำมันแล้วนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งน้ำมันนี้ช่วยให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการจับตัวของก้อนเลือด และลดคลอเลสเทอรอลชนิดแอลดีแอล (ไขมันไม่ดี)

น้ำมันจากเมล็ดองุ่น จึงช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบเลือดและหัวใจได้ดี ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ร่างกายจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ หากองุ่นที่ว่าไม่มีการตกค้างของสารกำจัดแมลงและศัตรูพืช ที่เกษตรกรอาจใช้เพื่อป้องกัน ขับไล่ หรือควบคุมศัตรูพืชและสัตว์ในระหว่างการเพาะปลูก เก็บรักษา และขนส่งองุ่น

สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชที่มักพบได้แก่ สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมตและกลุ่มไพรีทรอยด์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้หากได้รับในปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนด หรือได้รับปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ จะมีอันตรายและผลเสียต่อสุขภาพต่างกันไป

อาการที่พบคล้ายๆ กัน คือ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างองุ่นสด 5 ตัวอย่าง จาก 5 จังหวัด ทั้งที่ปลูกในประเทศและองุ่นนำเข้า เพื่อนำมาวิเคราะห์การตกค้างของสารกำจัดแมลงและศัตรูพืช 4 กลุ่ม รวม 58 ชนิด ผลปรากฏว่า มีองุ่น 4 ตัวอย่าง ที่พบสารพิริมิฟอส–เมทิล, คลอร์พิริฟอส–เอทิล, เมโทมิลและไซเพอร์เมทรินตกค้าง และบางตัวอย่างพบตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 337) ปี พ.ศ. 2554 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง กำหนดให้พบสารเมโทมิลตกค้างในองุ่นได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ทางที่ดีก่อนทาน ควรแช่น้ำหรือล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าหลายๆครั้ง ก็สามารถป้องกันอันตรายจากสารเหล่านี้ และทานองุ่นกันได้อย่างปลอดภัย.
3376  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: มันมากับอาหาร เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2558 19:40:04
.

  ชะอมยอดอ่อน...กับเชื้อ ซาลโมเนลลา
ชะอม ผักพื้นบ้านที่แตกยอดตลอดทั้งปี เป็นพืชกลิ่นฉุนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนได้กลิ่นถึงกับเบนหน้าหนี แต่บางคนเมื่อได้กลิ่นชะอมเวลาปรุงอาหารแล้วท้องร้องเพราะนึกถึงรสชาติของอาหารที่นำชะอมมาประกอบ เช่น ชะอมชุบไข่ทอด ชะอมลวกที่ทานเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริก และแกงส้มไข่ชะอม

ชะอมเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศและโรคแมลง จึงไม่ค่อยพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงมากนัก แต่อันตรายที่อาจพบคือเชื้อก่อโรค ได้แก่ซาลโมเนลลา

เชื้อชนิดนี้มีหลายสปีชีและหลายกลุ่ม ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อซาลโมเนลลา จะมีอาการป่วยที่แตกต่างกันตั้งแต่ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นนํ้าสีเขียว หรือถ่ายมีมูกหรือมีเลือดปน ปวดท้อง มีลักษณะปวดเกร็งที่หน้าท้อง ปวดเบ่ง ส่วนใหญ่มีไข้หรือมีไข้เรื้อรัง อาจมีอาการติดเชื้อนอกระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย

เชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ดิน อากาศ รวมทั้งพบในทางเดินอาหารและอุจจาระของสัตว์ คน และนก

เมื่อเรานำชะอมที่ปนเปื้อนซาลโมเนลลามาประกอบอาหาร โดยไม่ผ่านการทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และนำมาปรุงให้สุกก่อนทาน อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษได้ เพื่อเป็นการให้ความรู้และวิธีการป้องกันแก่ผู้บริโภค

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างชะอมยอดอ่อนๆ จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา

ผลปรากฏว่าจาก 5 ตัวอย่าง พบเชื้อซาลโมเนลลา ปนเปื้อนใน 1 ตัวอย่าง ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาฯ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้ผัก ผลไม้สด ต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา ในอาหาร 25 กรัม

วิธีป้องกันง่ายๆ คือ นำชะอมสดมาปรุงให้สุก เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคที่อาจปนเปื้อนในชะอมก่อนทาน อีกทั้งผู้ปรุงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบ จับ และปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัยและสบายท้อง.



  มีอะไรอยู่ใน….น้ำดื่มบรรจุขวด!
น้ำ สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เราต้องบริโภคน้ำสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา แต่ต้องไม่ลืมว่าน้ำสะอาดเท่านั้นที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและปราศจากโรค

วันนี้ ผู้ผลิตน้ำดื่มต่างระดมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่รักษาสุขภาพ

จึงไม่น่าแปลกใจที่น้ำดื่มในบ้านเรามีหลายเกรด หลายราคา ถ้าเป็นน้ำดื่มพรีเมียมจะมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม บนฉลากจะบรรยายถึงแหล่งที่มาของน้ำ และคุณประโยชน์ของน้ำอย่างละเอียด ส่วนน้ำดื่มคุณภาพรองๆ ลงมาจะมีการระบุสถานที่ผลิต และระบบคุณภาพต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต

ทว่าในน้ำดื่มที่เราเห็นใสๆ นั้นอาจมีความบริสุทธิ์และคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งคุณภาพน้ำดื่มสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ คุณภาพน้ำด้านกายภาพ ได้แก่ ความขุ่น สี รส กลิ่น และค่าความเป็นกรดหรือด่าง ซึ่งหากมีความผิดปกติก็ไม่ควรดื่ม

คุณภาพน้ำด้านเคมี ได้แก่ ปริมาณสารทั้งหมด ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า, ความกระด้าง, ปริมาณแร่ธาตุ, ปริมาณโลหะหนัก เป็นต้น

ส่วนคุณภาพน้ำด้านชีวภาพ จะพิจารณาที่การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค โคลิฟอร์ม และ อี.โคไล

การดื่มน้ำที่ไม่ได้คุณภาพ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย หากเราดื่มน้ำที่มีความกระด้างถาวรมากๆ จะส่งผลให้เกิดโรคนิ่ว หรือหากดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคฟันเปราะหรือหักง่าย

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกขาวขุ่น จำนวน 5 ตัวอย่าง (5 ยี่ห้อ) จากย่านการค้า 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร

เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารทั้งหมด (Total Solid) ที่จะเป็นตัวบ่งบอกปริมาณสารต่างๆ โดยรวมที่มีอยู่ในน้ำ ทำให้ทราบว่าน้ำนั้นบริสุทธิ์ หรือมีสารต่างๆ ปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด

ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ปริมาณสารทั้งหมดที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดทั้ง 5 ยี่ห้อ มีปริมาณไม่มาก และยังอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่กำหนดให้มีปริมาณสารทั้งหมดในน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร

วันนี้ น้ำดื่มบรรจุขวดของไทยจึงยังปลอดภัยอยู่.



  ระวังเชื้อซาลโมเนลลาในมะม่วงสุกปอกเปลือก
ผลไม้หน้าร้อนที่ขาดเสียไม่ได้ คือแตงโม แคนตาลูป แตงไทย มะพร้าว ส้ม ผลไม้เหล่านี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะมาก สามารถทดแทนน้ำในร่างกายที่หายไปพร้อมกับเหงื่อได้

มะม่วงสุก ผลไม้ฤดูร้อนที่มีรสหวาน กลิ่นหอม และมีสีเหลืองอร่ามน่าทาน นับเป็นผลไม้ที่มากด้วยวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และธาตุเหล็ก

นอกจากนี้ ยังมีใยอาหารที่ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายเป็นปกติ วิธีการทานมะม่วงสุกให้ปลอดภัย คือซื้อมะม่วงสดนำมาปอกเปลือกทานเองที่บ้าน ไม่ควรซื้อที่แม่ค้าปอกทิ้งไว้ เพราะนั่นอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ที่มีสาเหตุจากเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในมะม่วงสุก

เชื้อที่มักพบปนเปื้อนได้แก่ เชื้อซาลโมเนลลา ที่ปกติจะปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ ดิน และเป็นไปได้ที่มะม่วงอาจปนเปื้อนเชื้อ ซาลโมเนลลา มาจากสวน จากน้ำที่รดและสัมผัสพื้นดินที่สกปรกในขณะเก็บ

หากแม่ค้าที่ขายมะม่วง ไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ ไม่รักษาความสะอาดของมีดและภาชนะที่ใช้สัมผัสกับมะม่วง เมื่อมะม่วงสุกสัมผัสกับมือของคนขายโดยที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดมะม่วงก่อน  คือใช้มีดปอกเปลือกทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ล้างน้ำแล้วขายให้ลูกค้าอย่างเราๆ ทานเลย ก็จะทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้าไปเต็มๆ

วิธีป้องกันง่ายๆ คือ ควรล้างทำความสะอาดมะม่วงและผลไม้สดทุกชนิดก่อนปอกเปลือกและทานจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายรับเชื้อที่ไม่พึงประสงค์ได้



  สารพิษตกค้างในพริกป่น
ขึ้นชื่อว่าอาหารไทยต้องมีรสเผ็ดนำ และมีรสชาติอื่นตามหลังแล้วแต่ชนิดของอาหาร นับเป็นรสชาติที่กลมกล่อมถูกปากคนไทย และลามไปถึงชาวต่างชาติที่หลงใหลในรสชาติอาหารไทย

ทุกเมนูอาหารคาวของไทยที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ พริก จะพริกสด พริกป่น หรือพริกแห้งแล้วแต่สูตรอาหาร พริก จึงมีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการ

แต่สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดู รวมถึงแมลงศัตรูพืชก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียผลผลิต

สารเคมีที่เกษตรกรนำมาใช้นั้นคือ สารกำจัดแมลงศัตรูพืชหรือที่เรียกติดปากว่า ยาฆ่าแมลง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน คาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ ถ้าเป็นพริกสด เมื่อซื้อมาจากตลาด เราสามารถล้างทำความสะอาดได้อย่างที่ต้องการก่อนนำมาทาน

ซึ่งอาจจะช่วยทำให้สารพิษที่อาจตกค้างในพริกนั้นลดน้อยลงได้ แต่ถ้าเป็นพริกแห้ง พริกป่น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่หรือไม่

วันนี้คอลัมน์ มัน!มากับอาหาร จึงขอนำเสนอเรื่องราวของยาฆ่าแมลงในพริกป่นอีกครั้ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวัง และเลือกบริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัย

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างพริกป่นจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มไพรีทรอยด์ รวม 38 ชนิด ผลปรากฏว่า ทุกตัวอย่างพบการตกค้างของยาฆ่าแมลง แต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดไว้ ถึงตรงนี้คงต้องระวัง หากกินพริกป่นทุกมื้อ ทุกวัน อาจเกิดการสะสมของสารพิษดังกล่าวในร่างกาย และอาจทำให้มีอาการมึนศีรษะ ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย อาจชักและหมดสติได้

เมื่อคนไทยยังนิยมทานอาหารเผ็ด การป้องกันและการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องช่วยกันดำเนินการ.



  สีผสมอาหารในกุ้งแห้ง
กุ้งแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกุ้งไปต้มในน้ำเกลือให้สุก แล้วนำไปตากแห้ง จะได้กุ้งแห้งที่มีสีออกส้มๆ น่าทาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ส้มตำ ยำ น้ำปลาหวาน แกงจืด หรือนำมาทานเล่นก็ได้ ก็อร่อยไปอีกแบบ

คุณแม่บ้านพอเห็นกุ้งแห้งสีแดงๆ ตัวอวบๆ ดูน่าทาน คงจะรีบซื้อกลับไปไว้ที่บ้านทันที แต่หารู้ไม่ว่าสีแดงๆดูน่าทานนั้น อาจเป็นกุ้งแห้งใส่สี

นิยมใส่สีผสมอาหารสังเคราะห์ที่ให้สีแดง ที่มีชื่อว่าปองโซ 4 อาร์ หรือคาร์โมอีซีน หากบริโภคในปริมาณที่มาก หรือบ่อยครั้งจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

เพราะในสีผสมอาหารมีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนู โครเมียม สังกะสี แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย

หากได้รับเข้าสู่ร่างกายบ่อยๆ มันจะสะสมอยู่ในร่างกายทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น จะเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน อ่อนเพลีย อาจมีอาการของตับและไตอักเสบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดว่า เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ปรุงแต่ง รมควัน หรือทำให้แห้ง เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง หอยแห้ง ฯลฯ ห้ามใส่สีทุกชนิด

สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างกุ้งแห้ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่ให้สีแดง ผลปรากฏว่าพบ 1 ตัวอย่าง ที่ใส่สีผสมอาหารสังเคราะห์ ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเลย ทางที่ดีควรเลือกซื้อกุ้งแห้งที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่มีสีฉูดฉาดจนเกินไป เพื่อความปลอดภัย.



  สารพิษจากเชื้อราในน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ
สะเต๊ะ เป็นอาหารพื้นเมืองของคนมุสลิมอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่จะกินเป็นเนื้อและไก่สะเต๊ะ กินคู่กับอาจาดที่มีรสชาติเปรี้ยวๆ หวานๆ แก้อาการเลี่ยนจากความมันของเนื้อสัตว์

หมูสเต๊ะจึงหาทานได้ง่าย มีขายทั่วไป ทำเป็นไม้เล็กๆ กินเป็นคำๆ คู่กับอาจาด และน้ำจิ้มถั่วลิสง ที่นำถั่วลิสงมาป่นผสมกับเครื่องเทศให้ได้กลิ่นหอมและรสชาติที่ต้องการ กินคู่กันทั้งสามอย่างผสมกันในปาก อร่อยจนบอกไม่ถูก  อร่อยปาก แต่ลำบากท้อง เป็นวลีฮิตหากทานอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน เช่น อะฟลาท็อกซิน ที่มักปนเปื้อนมากับถั่วลิสง อาหารแห้ง เช่น ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง และพริกป่น

อะฟลาท็อกซิน คือ สารพิษชนิดหนึ่งที่เชื้อราผลิตขึ้น ต้นตอของสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลลัส ที่มีสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน อนุมานว่า ถ้าเห็นเชื้อราลักษณะนี้ในพืชผลทางการเกษตร และอาหารละก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากได้รับสารพิษชนิดนี้ในปริมาณมากจะทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยอาจทำให้มีอาการชักและหมดสติ

ส่วนผู้ใหญ่หากได้รับสารพิษชนิดนี้ในปริมาณมาก หรือปริมาณน้อยแต่เป็นประจำอาจเกิดอาการชักหายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และสมองบวม ที่สำคัญเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

เพื่อประโยชน์สำหรับผู้บริโภค สถาบันอาหารสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะที่มีส่วนผสมของถั่วลิสงป่น จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาท็อกซิน พบว่าทุกตัวอย่างมีสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานของไทย ที่กำหนดให้มีปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ฉะนั้น ควรเลือกซื้อหมูสะเต๊ะเจ้าที่เรามั่นใจว่าใช้วัตถุดิบในการทำน้ำจิ้มที่สะอาด ใช้ของสดใหม่วันต่อวัน โดยเฉพาะถั่วลิสงหากคั่วและบดเองก็ยิ่งดี เพื่อความปลอดภัยในการทานหมูสะเต๊ะ



  มันอยู่ใน...เต้าเจี้ยว
เต้าเจี้ยว เป็นอาหารหมักชนิดหนึ่งที่ได้จากการหมักถั่วเหลือง มีโปรตีนสูงและมีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์

ในไทยนิยมนำเต้าเจี้ยวมาประกอบเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น ทำเป็นเครื่องจิ้ม หลน หรือนำมาปรุงรสในการประกอบอาหารตามตำรับจีน เช่น แป๊ะซะ ผัดราดหน้า และผัดผักชนิดต่างๆ นอกจากจะได้อาหารรสชาติดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโปรตีนในอาหารอีกด้วย สมัยก่อน วิธีการทำเต้าเจี้ยวนั้นจะนำถั่วเหลืองเมล็ดแห้งที่แช่น้ำไว้มาหมักกับเกลือ หมักจนเชื้อราเจริญเต็มที่แล้วย้ายไปหมักในน้ำเกลือในภาชนะเปิดปล่อยทิ้งไว้จนได้ที่ เม็ดนิ่มจึงนำมาทาน

เห็นได้ว่ากว่าจะได้เต้าเจี้ยวสักจาน ต้องใช้เวลาในการหมักนานมาก ที่สำคัญยังควบคุมคุณภาพ ความสะอาด และอันตรายจากเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ยาก  ปัจจุบัน มีการพัฒนากรรมวิธีการผลิต โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้คือ นำเชื้อบริสุทธิ์มาใช้เป็นหัวเชื้อในการหมักและหมักในภาชนะปิด ซึ่งช่วยให้ได้เต้าเจี้ยวที่มีคุณภาพสูง ถูกสุขลักษณะ สะอาด และปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น

เชื้อโรคที่มักพบในกระบวนการผลิตเต้าเจี้ยวที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ได้แก่ เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส และหากเชื้อชนิดนี้ผลิตสารพิษจะส่งผลให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ เมื่อร่างกายได้รับสารพิษจากเชื้อชนิดนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว จนร่างกายขาดน้ำ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติได้  สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างเต้าเจี้ยวจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าว  ปรากฏว่ามี 2 ตัวอย่าง ที่พบเชื้อบาซิลลัส ซีเรียส ปนเปื้อน และมี 1 ตัวอย่าง ที่พบปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือกำหนดให้อาหารปรุงสุกทั่วไปพบเชื้อบาซิลลัส ซีเรียส ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม

วันนี้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องระวังให้มาก เพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องทำให้สุกก่อนทานทุกครั้ง.



  อะฟลาท็อกซินในเครื่องพะโล้
กับข้าวยืนพื้น เช่น แกงส้ม แกงเขียวหวาน ผัดเผ็ด และที่ขาดไม่ได้สำหรับร้านข้าวแกง คือ ไข่พะโล้

พะโล้ จะมีกลิ่นเครื่องเทศที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหอมฉุนที่ได้มาจากเครื่องเทศที่นิยมใส่เพื่อดับคาวจากเนื้อสัตว์ เครื่องเทศบางชนิดก็มีสรรพคุณเป็นยา

ส่วนใหญ่จะป่นรวมกันเพื่อให้เข้าถึงเนื้อสัตว์และได้รสชาติพะโล้ที่แท้จริง เครื่องเทศที่ใช้ป่นเป็นผงพะโล้มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่ โป๊ยกั้ก, อบเชย, พริกไทยดำ, กานพลู, ยี่หร่า โดยทั่วไปจะมีผงพะโล้ป่นสำเร็จเป็นซองจำหน่าย มีอยู่หลายยี่ห้อด้วยกัน ก่อนจะนำมาป่นจะต้องตากให้แห้งสนิท เพื่อให้เก็บรักษาไว้ได้นานๆ ในขณะตากแห้งหากรักษาความสะอาดไม่ดี ตากไม่แห้งสนิท หรือในขณะที่เก็บไว้เพื่อรอการบรรจุใส่ซองนั้นเก็บไว้ในสถานที่ที่มีความอับชื้น และสุขลักษณะไม่ดี

อาจทำให้เชื้อรากลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส และแอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส ปนเปื้อนในเครื่องพะโล้ได้ เชื้อราทั้ง 2 ชนิด จะผลิตสารพิษ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin)

ซึ่งเป็นสารพิษชนิดที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากคนได้รับเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องหรือบ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ที่สำคัญ ความร้อนที่ใช้ในการหุง ต้ม นึ่ง ในระดับที่ทำให้อาหารสุกและเดือดนั้นไม่สามารถทำลายพิษของอะฟลาท็อกซินให้หมดไปได้

เพื่อเป็นการป้องกันและให้ความรู้กับผู้บริโภค สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างเครื่องเทศพะโล้ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน 4 ชนิด คือ บี 1, บี 2, จี 1, จี 2 และปริมาณอะฟลาท็อกซินทั้งหมด พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินเลย.



  เชื้อก่อโรคในน้ำปลาร้า
ปลาร้าเป็นอาหารหลักของคนอีสาน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานก็ว่าได้ เนื่องจากปลาร้าเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในสำรับกับข้าวของคนอีสาน

ปลาร้าเกิดจากการถนอมอาหาร โดยนำปลาที่เหลือจากรับประทานทั้งตัวไปหมักด้วยเกลือ และข้าวคั่ว หรือบางท้องถิ่นอาจหมักด้วยรำ ทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน จะได้ปลาร้าที่มีรสชาติกลมกล่อม ถูกปากเป็นอย่างยิ่ง

ปลาร้าถูกนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารหลายอย่างหลายชนิด นอกจากส้มตำแล้วยังมีแกงอ่อม แกงเห็ด เป็นต้น บางคนนำปลาร้าออกจากถุง บีบมะนาว ซอยหัวหอม และพริกขี้หนู แล้วรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ แค่นี้ก็เป็นอาหารที่วิเศษที่สุดแล้ว กินกันจนเพลินกับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ก็อย่าลืมระลึกถึงความสะอาดไว้ด้วย

ปลาร้าเป็นการถนอมอาหารโดยนำปลาสดๆ มาหมัก หากล้างและทำความสะอาดปลาไม่ดีพอ หรือเก็บรักษาในภาชนะที่ไม่สะอาดและเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือผู้ผลิตไม่รักษาสุขอนามัยขณะหยิบจับและสัมผัสตัวปลา และส่วนผสมต่างๆ ที่สำคัญไม่ทำให้สุกก่อนนำมากิน

เชื้อที่มักพบในปลาร้าคือ บาซิลลัส ซีเรียส เป็นเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ อาการทั่วไปของคนที่กินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้คือ คลื่นไส้และอาเจียน หลังจากที่กินอาหารเข้าไปประมาณ 5 ชั่วโมง และจะเป็นไม่เกิน 1 วัน หรืออาจมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง และถ่ายอุจจาระเหลว ถ้าไม่หายควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทานยาฆ่าเชื้อเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ปัจจุบันวิวัฒนาการของการผลิตอาหารดีขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งผู้ผลิตก็ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้มีการควบคุมความสะอาดตลอดขั้นตอนการผลิตปลาร้า

ส่งผลให้วันนี้ผลการสุ่มตัวอย่างปลาร้า เพื่อวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อบาซิลลัส ซีเรียสของสถาบันอาหาร พบการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าวเพียง 1 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 5 ตัวอย่าง

ซึ่งปริมาณที่พบก็ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดให้พบได้ไม่เกิน 1,000 ซีเอฟยู/กรัม ใครที่เคยบอกว่าปลาร้ามีการผลิตที่ไม่สะอาด วันนี้ต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะความปลอดภัยของผู้บริโภคยังมีอยู่ในสำนึกของผู้ผลิตเสมอ



  สารบอแรกซ์ในปลาหมึกกรอบ
ก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่รณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยว เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติ จนกลายเป็นอาหารหลักของคนไทยรองจากข้าว

ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่สามารถปรุงรสชาติความอร่อยได้ด้วยตัวเอง พร้อมกับเครื่องเคราที่ครบครัน เรียกได้ว่าใน 1 ชาม มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่ เนื้อ หมู รวมถึงผักชนิดต่างๆ

จนกระทั่งปัจจุบันมีการผสมเลือดเข้าไปในน้ำซุป เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก แต่ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวที่มีการนำเต้าหู้ยี้ที่มีสีแดงมาผสม จะตั้งชื่อว่า เย็นตาโฟ

เย็นตาโฟส่วนใหญ่จะเข้ากันกับลูกชิ้นปลา ปลาหมึกกรอบ และเลือดหมู ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำหรับผู้ผลิตที่อาศัยความชอบของผู้บริโภคที่มักชอบลูกชิ้นและปลาหมึกกรุบๆ กรอบๆ ผสมสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นอันตรายเข้าไปด้วย เช่น บอแรกซ์หรือน้ำประสานทอง เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย

บอแรกซ์เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้วเพื่อทำให้ทนความร้อน ที่ผ่านมามักมีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดๆ โดยนำมาผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่น กรอบคงตัวได้นาน และไม่บูด และปัจจุบันมีการนำบอแรกซ์มาผสมน้ำใช้รดผัก หรืออาหารทะเลก่อนวางขาย

โดยเชื่อกันว่าจะทำให้อาหารดูสดชื่นและกรอบน่ารับประทาน เข้าทางปลาหมึกกรอบ ที่เป็นไปได้ว่าจะต้องมีการแช่บอแรกซ์กับเขาด้วย!

เพื่อคลายความสงสัยและสร้างความน่าเชื่อถือของอาหารไทย สถาบันอาหารจึงได้ทำการสุ่มตัวอย่างปลาหมึกกรอบ สำหรับใส่เย็นตาโฟเพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ และต้องปรบมือดังๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของความปลอดภัยอาหารที่ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ผลิตถึงอันตรายของสารชนิดนี้ได้อย่างดียิ่ง

จึงทำให้ผลการสุ่มตัวอย่างวันนี้ ไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ในทุกตัวอย่าง วันนี้คนไทยเลยได้รับประทานเย็นตาโฟด้วยความปลอดภัย



  ถั่วฝักยาวกับยาฆ่าแมลง
ถั่วฝักยาว เป็นผักเครื่องเคียงคู่กับอาหารคาวรสจัด จำพวกพล่า ลาบ ยำ ส้มตำ น้ำตก และขนมจีน เพราะทานแล้วช่วยลดความจัดจ้านของอาหารลงได้

ถั่วฝักยาวยังสามารถนำมาประกอบและปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ แกงส้ม แกงคั่ว แกงป่า แกงเผ็ด หรือนำมาผัดใส่เนื้อสัตว์ ผัดพริก หรือใช้เป็นเครื่องจิ้มทานกับน้ำพริกและหลนชนิดต่างๆ หรือใช้แทนมะละกอในส้มตำ ที่เรียกกันว่า ตำถั่ว ก็อร่อยไปอีกแบบ

แต่สิ่งหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ต้องระวัง คือ ยาฆ่าแมลง ที่อาจแอบแฝงมากับถั่วฝักยาวด้วย ยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมากับผักและผลไม้นั้น มาจากการที่เกษตรกรนำมาใช้กำจัดแมลงและศัตรูพืชต่างๆ

ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต และกลุ่มไพรีทรัม

ถั่วฝักยาวที่ปลูกในบ้านเราก็อาจมียาฆ่าแมลงเหล่านี้ตกค้างด้วยเช่นกัน เช่น ยาฆ่าแมลงกลุ่ม คาร์บาเมต

หากเข้าสู่ร่างกายจะมีผลต่อระบบประสาท น้ำตาไหล กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นตะคริวที่ท้อง ม่านตาหรี่ หากรุนแรงอาจมีอาการชัก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และการหายใจล้มเหลว

ดังนั้น ก่อนนำผัก ผลไม้ที่ซื้อมาจากท้องตลาดมาทาน ควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง เพราะจะช่วยทำให้ยาฆ่าแมลงที่อาจตกค้างนั้นลดน้อยลงได้

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างถั่วฝักยาว จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณยาฆ่าแมลงกลุ่ม คาร์บาเมต ตกค้าง รวมเป็นจำนวน 10 ชนิด

ผลปรากฏว่าพบยาฆ่าแมลงชนิดคาร์โบฟูเเรน และ 3–ไฮดรอก-ซีคาร์โบฟูแรนตกค้าง แต่ค่าที่พบยังไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทย ที่อนุญาตให้พบตกค้างได้ที่ 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

แต่หากล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งก่อนนำมาทาน รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน.



  ซาลโมเนลลาในมะม่วงดอง
หลายคนคงได้ลิ้มลองผลไม้หน้าร้อนกันอย่างอิ่มหนำสำราญแล้ว โดยเฉพาะมะม่วง ผลไม้ยอดฮิตหน้าร้อนที่คนไทยทานกันทั้งแบบสุกและแบบดิบ

ช่วงที่ผลผลิตมะม่วงออกมาจำนวนมากจนทานกันแทบไม่ทันนั้น ชาวบ้านมักนำไปแปรรูป เช่น มะม่วงดิบ นำไปทำเป็นมะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม ส่วนมะม่วงสุกทำได้ทั้งมะม่วงกวนและมะม่วงหยี

มะม่วงดอง เป็นสินค้าที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่ทำจากมะม่วงแก้ว เนื่องจากมะม่วงแก้วดิบนั้นมีเนื้อแข็งและแน่น จึงเหมาะนำมาทำเป็นมะม่วงดองที่ให้ความกรุบกรอบ

แม้มะม่วงดองจะเป็นที่นิยมของคนไทยมาช้านาน ทว่าหากเราไม่รู้จักเลือกซื้อเลือกทาน มะม่วงดองอาจมีของแถมปะปนมาด้วย นั่นคือเชื้อก่อโรค ซาลโมเนลลา

ซาลโมเนลลา เป็นเชื้อก่อโรคที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในอาหารจากสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ไข่ดิบ และนมดิบ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ไอศกรีม เนยแข็ง และผัก ผลไม้สด ซึ่งหากมะม่วงสดที่นำมาทำมะม่วงดองมีเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อน และผู้ผลิตไม่รักษาสุขลักษณะและความสะอาดในระหว่างการผลิตให้ดีเพียงพอ มะม่วงดองก็อาจมีเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อนอยู่ด้วยได้

หากผู้บริโภคได้รับเชื้อซาลโมเนลลาเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งจะมีอาการหลังจากทานมะม่วงดองที่มีเชื้อปนเปื้อนในช่วง 8-48 ชั่วโมง อาการของโรค คือ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดท้อง มีไข้ต่ำ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพของอาหารพร้อมบริโภคจำพวกขนมหวาน ผัก ผลไม้ดอง แช่อิ่ม เชื่อม กวนและแห้ง ต้องตรวจไม่พบเชื้อซาลโมเนลลา ในปริมาณ 25 กรัม

วันนี้สถาบันอาหารเอาใจคนรักมะม่วงดองอีกครั้ง โดยสุ่มมะม่วงดอง 5 ตัวอย่างจาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาหาการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา

ปรากฏว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา  หน้าร้อนปีนี้ขอให้ทานมะม่วงดองกันได้อย่างสบายใจ.



  อี.โคไล ในซูชิ
เมื่อกล่าวถึงอาหารญี่ปุ่น ทุกคนคงต้องนึกถึงเมนูซูชิ หรือข้าวปั้นมีหน้า เพราะเป็นเมนูยอดนิยม ที่เข้าไปในร้านอาหารญี่ปุ่นร้านไหนก็ต้องสั่งกันมาลิ้มลอง

ซูชิ เป็นอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากความต้องการถนอมอาหารของคนญี่ปุ่น สมัยก่อนซูชิของญี่ปุ่นเป็นปลาหมัก ไม่ใช่ปลาดิบ

ต่อมาสมัยเอโดะได้เปลี่ยนมาเป็นของทะเลสดๆ มีเครื่องเคียงเป็นขิงดอง เนื่องจากทั้งขิงดองและวาซาบิมีสรรพคุณช่วยฆ่าเชื้อโรค รูปแบบของซูชิก็ถูกพัฒนาไปตามยุคสมัยต่อๆ มา

ซูชิ ข้าวปั้นที่มีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู และทานคู่กับปลา เนื้อ หรือของคาวชนิดต่างๆ

หน้าซูชิที่นิยม ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาโอ ปลาทูน่า ไข่หวาน ไข่กุ้ง ไข่ปลา ปลาหมึกยักษ์ กุ้ง สาหร่าย

ขั้นตอนในการทำซูชินั้นไม่ยาก เริ่มจากนำข้าวญี่ปุ่นผสมกับน้ำส้มสายชูของญี่ปุ่น แล้วนำมาปั้น หลังจากนั้นวางด้วยหน้าที่อยากทานไว้ด้านบนของข้าวปั้น แค่นี้ก็ได้ทานซูชิสมใจ

แต่หารู้ไม่ว่าในขั้นตอนการทำซูชินั้น หากผู้ปรุงไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล และไม่รักษาความสะอาดของสถานที่ผลิต ภาชนะ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สัมผัสกับซูชิแล้ว ซูชิที่ว่าอาจมีของแถมมาด้วยนั่นคือ เชื้อ อี.โคไล

อี.โคไล เป็นแบคทีเรียในกลุ่มโคลิฟอร์ม มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ เชื้อนี้มักปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำ หรือมือของผู้ปรุงอาหาร ปกติเชื้อเหล่านี้อาจพบได้ในอุจจาระ

หากเราทานอาหารที่มีเชื้อ อี.โคไลปนเปื้อน เริ่มแรกจะมีอาการท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน

สถาบันอาหารเอาใจคนชอบทานอาหารญี่ปุ่นอีกครั้ง ได้สุ่มเก็บตัวอย่างซูชิจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อ อี.โคไล ปรากฏว่าพบปนเปื้อนใน 3 ตัวอย่าง และพบว่ามีปริมาณปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำหนดให้ อาหารพร้อมบริโภค/อาหารปรุงสุกทั่วไปพบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 3 MPN/กรัม  ทางที่ดีควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุก และเลือกร้านอาหารที่ดูสะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อความปลอดภัย.

3377  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: พงศาวดารจีน เปาเล่งถูกงอัน 'เปาบุ้นจิ้น' เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2558 15:50:44
.

     พงศาวดารจีน
     เรื่อง
     เปาเล่งถูกงอั้น  เปาบุ้นจิ้น
     ราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๑๙)

     เรื่องที่ ๕
มีความว่าที่ตำบลโปจิวแขวงเมืองซัวตั๋ง ยังมีชายผู้หนึ่งแซ่ลี้ ชื่อมันหยิน ลี้มันหยินมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อยู่พัง เมื่ออายุยู่พังได้ ๑๐ ขวบ ไปเล่าเรียนหนังสือมีสติปัญญาหาผู้เสมอโดยยาก ครั้นอยู่มาในตำบลนั้นยังมีชายผู้หนึ่งแซ่ตันชื่อปังมั่วเป็นขุนนางตำแหน่งเหาสือ มีบุตรหญิงคนหนึ่งชื่อนางตันฮ่วยเอ้ง  นางตันฮ่วยเอ้งมีลักษณะเป็นอันงามยิ่งนัก ตันปังมั่วอยากจะใคร่ได้ยู่พังเป็นบุตรเขย ตันปังมั่วจึงวานให้เพาบุ๋นเบ้งเป็นสื่อว่ากล่าวต่อบิดามารดาขอยู่พัง บิดามารดายู่พังก็มีความยินดี ครั้นได้วันฤกษ์ดีลี้มันหยินผู้บิดาของยู่พัง จึงแต่งการวิวาหมงคลตามธรรมเนียม ให้นางตันฮ่วยเอ้งอยู่กินเป็นสามีภรรยากันกับยู่พัง แล้วแต่งโต๊ะและสุรามาเลี้ยงกันตามบรรดาวงศ์ญาติกับพวกเพื่อนักเรียนของยู่พัง ที่มากินเลี้ยงเป็นที่รื่นเริง ขณะนั้นยังมีชายนักเรียนคนหนึ่งแซ่จูชื่อฮ่องสื่อ เป็นบุตรขุนนางผู้ใหญ่ตำแหน่งเล้ยโป้ว แลเห็นนางตันฮ่วยเอ้งซึ่งเป็นภรรยาของยู่พังนั้น มีลักษณะอันงามยิ่งนัก จูฮ่องสื่อเห็นดังนั้นคิดอยู่ในใจว่าจะคิดทำฉันใด จึงจะแย่งเอานางตันฮ่วยเอ้งไปเป็นภรรยาของเราได้ ครั้นรับประทานสุราและอาหารเสร็จแล้วก็กลับไปบ้าน อยู่มาบิดามารดายู่พังถึงแก่กรรมล่วงไปแล้ว ยู่พังก็ไว้ทุกข์ตามธรรมเนียม ครั้นพ้นกำหนดไว้ทุกข์แล้ว นางตันฮ่วยเอ้งก็มีบุตรกับยู่พังคนหนึ่งเป็นชาย พอถึงกำหนดจะสอบไล่หนังสือ ยู่พังก็มอบการเหย้าเรือนให้ตันปังมั่วผู้บิดาของภรรยาดูแลว่ากล่าวรักษา แล้วยู่พังก็จัดเงินใส่ไถ้พอสมควรที่จะใช้เดินทาง กับคนใช้คนหนึ่งชื่อตินยี่ ออกจากบ้านไปได้ประมาณสิบวัน ถึงตำบลชายป่าแห่งหนึ่ง มีพวกโจรออกมาตีชิงแล้วจับเอาตัวยู่พังไป แต่ตินยี่ซึ่งเป็นคนใช้ของยู่พันวิ่งหนีไปพ้นพวกโจรได้ กลับมาบ้านแจ้งความแก่นางตันฮ่วยเอ้งภรรยาของยู่พังทุกประการ นางยู่พังได้ฟังดังนั้นก็ตกใจร้องไห้คิดถึงยู่พังผู้สามีเป็นที่ยิ่ง

ฝ่ายตันปังมั่วผู้บิดาของนางตันฮ่วยเอ้ง จะไปตามยู่พังบุตรเขย จึงบอกแก่นางตันฮ่วยเอ้ง ซึ่งเจ้าจะทิ้งเหย้าเรือนเสียไปตามสามีเจ้านั้นไม่ได้ ด้วยไม่มีผู้ใดจะดูเหย้าเรือน ประการหนึ่งบุตรของเจ้าเล่าก็ยังไม่ทิ้งนม ที่เป็นทั้งนี้โดยเวลาเคราะห์กรรมได้กระทำมาจึงได้เผอิญเป็นเหตุให้สามีของเจ้าจึงพลัดพรากไปจากกัน บิดามีความวิตกยิ่งนัก บิดาจะไปติดตามถามข่าวให้ทราบความเรื่องสามีของเจ้าเอง แต่การเหย้าเรือนของบิดาและเหย้าเรือนของเจ้า บิดาจะมอบให้ตินยี่เป็นผู้ดูแลว่ากล่าวรักษาทั้งสิ้น ตันปังมั่วครั้นจัดการบ้านเรือนสั่งเสียเสร็จแล้ว ก็จัดหาเงินใส่ไถ้พอสมควรกับคนใช้หลายคนด้วยกันออกจากบ้านไปเที่ยวสืบเสาะติดตามยู่พังผู้บุตรเขย

ฝ่ายนางตันฮ่วยเอ้งอยู่รักษาการบ้าน กับหญิงคนใช้ผู้หนึ่งอายุได้ ๑๗ ปี ชื่อนางกุ้ยเอ้งสองคนบ่าวนายอยู่ด้วยกันหาได้ไปแห่งหนตำบลใดไม่

ฝ่ายนางชุนเฮียง ซึ่งภรรยาของตินยี่เป็นชู้กันกับเตียม่องชิด เตียม่องชิดลักลอบไปมาหาสู่นางชุนเฮียงอยู่เสมอเนืองนิตย์ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เตียม่องชิดจึงพูดสัพยอกแก่นางชุนเฮียงว่านางตันฮ่วยเอ้ง นายของเจ้ามีลักษณะอันงาม มาบัดนี้ก็เป็นหม้ายถ้าเจ้าเป็นสื่อสายชักนำให้แก่เราแล้ว เราจะไม่ลืมคุณของเจ้าเลย

นางชุนเฮียงได้ฟังเตียม่องชิดชายชู้ว่าดังนั้น นางชุนเฮียงจึงบอกว่า นางตันฮ่วยเอ้งนายของข้าพเจ้าผู้นี้ เป็นคนใจคอมั่นคงไม่เป็นคนโลเลเหมือนเช่นคนทั้งหลาย ซึ่งจะให้ข้าพเจ้าเป็นสื่อสายชักนำให้นั้นยากนัก

เตียม่องชิดจึงว่า ถ้าเจ้าเป็นใจด้วยช่วยเอาใจใส่สื่อชักจริงๆ แล้วทำไมจะไม่ได้ นางชุนเฮียงว่า ข้อนั้นข้าพเจ้าไม่สามารถจะรับธุระอาสาท่านได้ ครั้นพูดสัพยอกกันเป็นทีเล่นทีจริงดังนั้นแล้ว เตียม่องชิดก็กลับไปบ้าน

ฝ่ายจูฮ่องสื่อซึ่งเป็นบุตรขุนนางผู้ใหญ่ ตั้งแต่วันไปกินเลี้ยงเสพสุราวันแต่งงานของนางตันฮ่วยเอ้งกับยู่พัง ครั้นกลับมาจิตใจจูฮ่องสื่อให้คิดผูกพันกระสันถึงนางตันฮ่วยเอ้งอยู่เสมอมิได้ขาด คิดจะชิงเอานางตันฮ่วยเอ้งภรรยายู่พังให้จงได้ ครั้นอยู่มาจูฮ่องสื่อทราบความว่า นางตันฮ่วยเอ้งเป็นหม้ายก็มีความยินดีคิดอยู่ในใจว่า ครั้งนี้คงจะสมความปรารถนา ครั้นคิดดังนั้นแล้วจูฮ่องสื่อก็ไปเที่ยวตามบ้านที่ใกล้เคียงกันกับบ้านของนางตันฮ่วยเอ้ง จูฮ่องสื่อก็พูดจาประจบประแจงรู้จักคุ้นเคยแก่ชาวบ้านตำบลนั้น จูฮ่องสื่อจึงถามเรื่องยู่พังที่พวกโจรจับเอาไป มีผู้คนบ่าวไพร่ซึ่งอยู่ในเรือนกับนางตันฮ่วยเอ้งกี่คน ชาวบ้านได้ฟังจูฮ่องสื่อถามดังนั้น ก็บอกเล่าตามความจริงให้จูฮ่องสื่อฟังว่า เมื่อพวกโจรผู้ร้ายจับเอาตัวยู่พังไปแล้ว ตันปังมั่วซึ่งเป็นบิดาของนางตันฮ่วยเอ้ง ยกผู้คนบ่าวไพร่ไปตาม นางตันฮ่วยเอ้งอยู่เรือนแต่กับหญิงคนใช้คนหนึ่งเท่านั้น อายุได้ ๑๗ ปี ตินยี่เป็นผู้ใหญ่ คอยดูแลการบ้านเรือนของนางตันฮ่วยเอ้งทั้งสิ้น แต่นางชุนเฮียงซึ่งเป็นภรรยาของตินยี่ เป็นคนโลเลไม่ซื่อตรงต่อสามี ไปเที่ยวคบชู้สู่ชายอยู่เนืองนิตย์ แต่นางตันฮ่วยเอ้งนั้นหาได้ไปเที่ยวแห่งใดไม่ เหตุใดท่านจึงรู้ว่าโจรผู้ร้ายจับเอาตัวยู่พังไปเล่า

จูฮ่องสื่อบอกว่า ข้าพเจ้าทราบความมาจากเตียม่องชิด ด้วยเตียม่องชิดเป็นนักเลงเจ้าชู้ เป็นชู้แก่นางชุนเฮียงภรรยาของตินยี่ จูฮ่องสื่อครั้นพูดจาสืบรู้เรื่องดังนั้นแล้ว ก็ลาชาวบ้านเหล่านั้นกลับไปบ้านเรือนตน

ครั้นอยู่มาตินยี่หาได้อยู่ในบ้านของนางตันฮ่วยเอ้งไม่ จูฮ่องสื่อสืบรู้ดังนั้นก็มีความยินดี ด้วยเมื่อครั้งไปกินเลี้ยงแต่งงานนั้นได้สังเกตท่าทางเข้าออก เห็นทางประตูหลังบ้านพอจะแอบลอบไปมาเข้าออกหรือซุ่มแอบคอยให้พบปะนางตันฮ่วยเอ้งได้ คิดเห็นดังนั้นแล้ว ครั้นเวลาพลบค่ำจูฮ่องสื่อก็เข้าไปซุ่มอยู่ในห้องอาบน้ำของนางตันฮ่วยเอ้งคอยท่าอยู่ ถ้านางตันฮ่วยเอ้งมาอาบน้ำเมื่อใดแล้ว จะได้กระทำการข่มขืนเอาโดยกำลัง

ฝ่ายนางตันฮ่วยเอ้ง ครั้นถึงเวลาอาบน้ำจึงเรียกนางชุนเฮียงมาดูแลบุตรของนาง แล้วนางจึงเข้าไปในห้องน้ำเปลื้องเสื้อกางเกงออกอาบน้ำ ในขณะนั้นจูฮ่องสื่อซึ่งแอบซุ่มอยู่ เห็นนางตันฮ่วยเอ้งกำลังอาบน้ำ จูฮ่องสื่อก็ตรงเข้าไปอุ้มเอาตัวนางตันฮ่วยเอ้งมือหนึ่งปิดปากไว้มิให้ร้องขึ้นได้ จูฮ่องสื่อก็กระทำการสังวาสโดยกำลังอันปราศจากความเล้าโลม

นางตันฮ่วยเอ้ง จะดิ้นรนสักเท่าไรก็ไม่พ้นมือจูฮ่องสื่อไปได้ จำเป็นต้องเสียตัวด้วยการประเวณี มีความเสียใจและคิดแค้นยิ่งนัก ก็กลั้นใจกัดลิ้นของตนขาดจนโลหิตไหลออกทางปากทางจมูก แล้วก็ขาดใจตายอยู่กับที่

ฝ่ายจูฮ่องสื่อครั้นเห็นนางตันฮ่วยเอ้งตายดังนั้นก็ตกใจรีบหนีออกจากบ้านนางตันฮ่วยเอ้งกลับไปโดยเร็ว

ฝ่ายบุตรของนางตันฮ่วยเอ้ง ก็อ้อนร้องไห้จะกินนม นางชุนเฮียงจะปลอบโยนสักเท่าใดเด็กนั้นก็ไม่หยุดร้องไห้ จึงนางชุนเฮียงก็เดินออกไปตามเรียกหานางตันฮ่วยเอ้ง เห็นประตูห้องน้ำปิดอยู่มิได้ยินขานรับ นางชุนเฮียงนึกประหลาดใจให้มีความสงสัย จึงเอาเทียนจุดเพลิง เปิดประตูห้องน้ำเข้าไปส่องดู เห็นศพนางตันฮ่วยเอ้งนอนตายเปลือยกายอยู่ มีโลหิตไหลออกทางปากทางจมูกดังนั้นก็มีความตกใจ ไม่แจ้งว่านางตันฮ่วยเอ้งจะตายด้วยเหตุอันใด นางชุนเฮียงจึงไปร้องเรียกพวกชาวบ้านที่เรือนใกล้เคียงให้มาช่วยกันพิจารณาดู

ในขณะนั้น หงอสิบสี หงอเตียวสิบ เป็นวงศ์ญาติของฝ่ายนางตันฮ่วยเอ้งมาเห็นดังนั้น และนางชุนเฮียงได้บอกเล่าตั่งแต่นางตันฮ่วยเอ้งให้ดูแลบุตรไว้ นางตันฮ่วยเอ้งไปอาบน้ำจนถึงแก่นางตายอยู่ในห้องดังนั้น ให้หงอสิบสี หงอเตียวสิบฟังทุกประการ หงอสิบสีกับหงอเตียวสิบได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงพิจารณาดูเห็นโลหิตไหลออกจากปากจากจมูก และนอนตายเปลือยกายอยู่ดังนั้น เห็นความชัดว่าตายด้วยมีอ้ายผู้ร้ายมาทำการข่มขืนจึงได้ตายด้วยอาการเช่นนี้ หงอสิบสี หงอเตียวสิบเห็นว่าไม่ใช่อื่นไกล ชะรอยนางชุนเฮียงภรรยาของตินยี่เป็นคนเสเพลไปเที่ยวคบชู้สู่ชาย มีเตียม่องชิดเป็นต้น จึงได้ชักนำคนพาลมากระทำการหยาบช้าแก่นางตันฮ่วยเอ้ง จึงได้ตายลงดังนี้ ว่าดังนั้นแล้วจึงให้คนใช้ไปเชิญอำเภอมาพลิกศพและทำคำกฎหมายตราสินชันสูตรบาดแผลศพไว้ตามกฎหมาย แล้วจับตัวนางชุนเฮียงล่ามโซ่ใส่กุญแจส่งตัวไปยังผู้รักษาเมืองให้ชำระไต่สวน แล้วหงอสิบสี หงอเตียวสิบ ก็หานางนมมาเลี้ยงบุตรของนางตันฮ่วยเอ้งไว้ต่อไป ฝ่ายตินยี่คืนวันนั้นหาได้อยู่ไม่ ไปดูแลการงานบ้านเรือนของตันปังมั่ว ครั้นกลับมาเห็นเกิดการเกี่ยวข้องด้วยนางชุนเฮียงภรรยาของตัวดังนั้น ตินยี่จึงทำฟ้องฉบับหนึ่งไปยื่นต่อผู้รักษาเมือง ใจความว่า นางชุนเฮียง ภรรยาของตินยี่ไม่ซื่อตรงต่อตินยี่ ไปคบหาเป็นชู้แก่เตียม่องชิด ซึ่งเป็นคนพาลมากระทำร้ายแก่นางตันฮ่วยเอ้ง นายของตินยี่ให้ถึงแก่ความตายไปนั้น ขอท่านได้พิจารณาให้เห็นเป็นยุติธรรม

ฝ่ายผู้รักษาเมืองครั้นรับฟ้องของตินยี่ตรวจดูรู้ความแล้ว จึงได้ให้ผู้คุมคุมตัวเตียม่องชิดกับนางชุนเฮียงมาซักถาม นางชุนเฮียงให้การว่าได้เป็นชู้แก่เตียม่องชิดนั้นจริง แต่ข้อที่หาว่าได้กระทำการหยาบช้าฆ่านางตันฮ่วยเอ้งนั้นหามิได้ เมื่อนางชุนเฮียงให้การแบ่งรับแบ่งสู้ดังนั้นแล้ว ศาลจึงถามเตียม่องชิดต่อไปตามฟ้องของตินยี่โจทก์ เตียม่องชิดก็ให้การแบ่งรับแบ่งสู้ เหมือนนางชุนเฮียงให้การเหมือนกัน แล้วเตียม่องชิดให้ทานบนแก่ศาลว่า ถ้าข้าพเจ้ากับนางชุนเฮียงได้สมรู้ร่วมคิดกัน กระทำแก่นางตันฮ่วยเอ้งดังหา สืบได้ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ากับนางชุนเฮียงขอยอมตายตามกฎหมายแผ่นดิน ไม่มีความโทมนัสน้อยใจเลย แต่ขอให้สืบสวนทวนพยานให้แก่ข้าพเจ้าโดยยุติธรรมเถิด

เมื่อผู้รักษาเมืองได้ฟังคำให้การและทานบนของเตียม่องชิดท้าให้สืบสวนดังนั้น ผู้รักษาบ้านเมืองจึงถามหงอสิบสี่ หงอเตียวสิบผู้โจทก์ ว่าผู้คนบ่าวไพร่ซึ่งอยู่ในบ้านของนางตันฮ่วยเอ้ง ยังมีอีกกี่คนให้คุมเอาตัวมาจะได้ไต่สวนสืบถามต่อไป

หงอสิบสี่ กับหงอเตียวสิบ จึงแจ้งความแก่ผู้รักษาเมืองว่า ยังมีเด็กหญิงเป็นคนใช้อีกสองคน ข้าพเจ้าจะส่งตัวมาให้แก่ท่าน ว่าดังนั้นแล้ว ก็ให้คนไปตามนางชุนเฮียงนางกุ้ยเอ้งมาให้ผู้รักษาเมืองไต่สวน ผู้รักษาเมืองจึงพาหญิงเด็กสาวสองคนนั้นไปยังหลังจวนค่อยปลอบถาม

นางชุนเฮียงเบิกความว่า เดิมนายข้าพเจ้าไปอาบน้ำท่านให้ข้าพเจ้าดูบุตรของท่านอยู่ ครั้นบุตรของท่านร้อง ข้าพเจ้าปลอบไม่หยุด ข้าพเจ้าจึงได้ไปตามนายข้าพเจ้าที่ห้องอาบน้ำ เห็นประตูปิดเป็นที่มืดอยู่ ข้าพเจ้าจึงเอาเทียนไปจุดไฟมาส่องดู จึงได้เห็นศพนายของข้าพเจ้านอนตายเปลือยกายอยู่ในห้องน้ำ นอกจากนี้ข้าพเจ้ามิได้รู้เห็นว่าผู้ใดกระทำให้นายข้าพเจ้าตาย

ผู้รักษาเมืองจึงถามนางชุนเฮียงกับนางกุ้ยเองว่า หงอสิบสีกับหงอเตียวสิบสองคนนี้ เคยไปมาหาสู่บ้านเรือนนายของเจ้าบ้างหรือไม่ หญิงเด็กสองคนก็ให้การเบิกความว่า ข้าพเจ้าหาได้เห็นหงอสิบสี หงอเตียวสิบไปมาที่บ้านเรือนนายข้าพเจ้าไม่ แล้วผู้รักษาเมืองถามต่อไปอีกว่า เตียม่องชิดได้ไปมาที่บ้านเรือนนายของเจ้าหรือไม่ หญิงเด็กสองคนก็ให้การเบิกความว่า เตียม่องชิดนี้เคยไปมาพักพิงอยู่ที่บ้านเรือนของนายข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ผู้รักษาเมืองครั้นได้ไต่สวนดังนั้นแล้ว จึงพูดแก่ตุลาการว่า หงอสิบสีกับหงอเตียวสิบทั้งสองคนนี้ เดิมเราเข้าใจว่าฟ้องแก้เกี้ยว ที่จริงนั้นตกหนักอยู่ที่เตียม่องชิดผู้เดียวเพราะพิจารณาเห็นว่า ได้ไปมาหาสู่เป็นชู้กันแก่นางชุนเฮียงซึ่งเป็นภรรยาตินยี่ เป็นคนใช้ของนางตันฮ่วยเอ้งจึงได้กระทำการหยาบช้าให้นางตันฮ่วยเอ้งถึงแก่ความตาย นอกกว่านั้นแล้วไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ผู้รักษาเมืองว่าดังนั้นแล้วจึงสั่งให้ผู้คุม คุมตัวเตียม่องชิดกับนางชุนเฮียงไปขังไว้กองลหุโทษก่อน แล้วสั่งให้พวกพ้องของนางตันฮ่วยเอ้งเอาศพนางไปฝังไว้ตามธรรมเนียม

ฝ่ายพวกชาวบ้านร้านถิ่นที่ใกล้เคียงพากันสรรเสริญตินยี่ว่าเป็นผู้กตัญญูต่อนาย จึงพากันทำหนังสือขึ้นเสนอความชอบของตินยี่ต่อผู้รักษาเมืองให้ทราบ แต่เตียม่องชิดกับนางชุนเฮียงต้องจำขังอยู่ในกองลหุโทษช้านานประมาณปีกว่า ผู้รักษาเมืองกรมการจะชำระให้เป็นสัตย์ลงก็ยังไม่เป็นไปได้

ฝ่ายท่านเปาเล่งถู เป็นข้าหลวงไปตรวจตามบรรดาหัวเมืองครั้นมาถึงเมืองซัวตั๋ง ผู้รักษาเมืองและกรมการก็ออกไปต้อนรับเปาเล่งถูตามธรรมเนียม เปาเล่งถูก็เข้าพักอยู่ก๋งก๊วนซึ่งเป็นตึกหลวงสำหรับข้าหลวง

ฝ่ายบิดาเลี้ยงของเตียม่องชิดเป็นหมอความ จึงทำเรื่องราวกล่าวโทษผู้รักษาเมืองกรมการไปร้องต่อเปาเล่งถูฉบับหนึ่ง ใจความว่าตินยี่ หงอสิบสี หงอเตียวสิบ พร้อมใจกันเป็นโจทก์ฟ้องกล่าวโทษปรักปรำเตียม่องชิด นางชุนเฮียงว่าเป็นชู้กัน ยังมิหนำซ้ำว่าเตียม่องชิดไปกระทำการข่มขืนนางตันฮ่วยเอ้งให้ถึงแก่ความตาย ถ้อยคำสำนวนมีแจ้งอยู่ในคำฟ้องและคำให้การนั้นแล้ว ความข้อนี้ก็ได้สืบสวนทวนพยานแล้ว ไม่ได้ความจริงตามโจทก์กล่าวหา เป็นแต่ยกข้อสาเหตุที่เตียม่องชิดไปมากระทำชู้แก่นางชุนเฮียงขึ้นว่าเท่านั้น เตียม่องชิดกับนางชุนเฮียงต้องทนทุกข์เวทนาจำขังอยู่ในกองลหุโทษ ช้านานมาแล้วขอท่านได้ชำระโดยยุติธรรม

ฝ่ายเปาเล่งถู ครั้นรับเรื่องราวของบิดาเลี้ยง เตียม่องชิดมาตรวจดูแจ้งข้อความดังนั้นแล้ว ก็นิ่งตรึกตรองอยู่ ในวันนั้นยังหาได้ออกไปนั่งศาลไม่ ในราตรีวันนั้นเปาเล่งถูหลับสนิท นิมิตฝันเห็นว่ามีหญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาใกล้ ทำกิริยาดุจดังเข้ายื่นเรื่องราวฟ้อง แล้วหญิงนั้นกล่าวคำโคลงเป็นอักษรซ่อนกล ๔ บท ใจความว่า เจ๊กสื่อลิบ โค้วหยินสือ ยิบอั๊วทองคัวเจ๊กเลียวกือ เซียกยิกเล่าโค้วฮัมโออวงซีจูฮ่องซี้พังเซ้อยหิน  ครั้นกล่าวคำโคลงดังนั้นแล้ว ก็อันตรธานหายไป เปาเล่งถูครั้นได้สติตื่นขึ้นมาแล้วเห็นแมลงมุมตัวหนึ่งชักใยออกจากปาก แล้วก็ตกลงมาตายอยู่ดังนั้น เป็นข้อปัญหาอันหนึ่งที่จะให้วินิจฉัยอาศัยเหตุที่เปาเล่งถูเคยสังเกตกำหนดมะนะสิการะตริตรอง ในสรรพเหตุลางและนิมิตต่างๆ ในคดีของราษฎรเกิดขึ้นเป็นข้อความอันลี้ลับลึกซึ้ง และยากที่ตุลาการจะไต่สวนให้ได้ความจริงเป็นยุติธรรมลงได้ เปาเล่งถูเคยไต่สวนพิจารณาได้ความจริงทุกเรื่อง ไม่พ้นคลองปัญญาเปาเล่งถูไปได้ เปาเล่งถูจึงคิดขึ้นมาได้ว่าได้รับเรื่องราวของราษฎรไว้ฉบับหนึ่งใจความว่าขืมขืนนางตันฮ่วยเอ้ง นางตันฮ่วยเอ้งปากกัดลิ้นขาดถึงแก่ความตาย เปาเล่งถูคิดคำโคลงเป็นอักษรซ่อนกลนั้นยังไม่ออกแต่คิดเห็นว่า ตัวแมลงมุมตกลงมา ตัวแมลงมุมอยู่ในศัพท์อักษรจีนอ่านว่าจู เปาเล่งถูคิดเห็นดังนั้นแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าก็ไปยังศาลพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองและกรมการ จึงส่งถ้อยคำสำนวนฝ่ายโจทก์และจำเลยว่าด้วยข่มขืนนางตันฮ่วยเอ้ง นางตันฮ่วยเอ้งกัดลิ้นตายนั้นมาให้เปาเล่งถูตรวจพิจารณา ครั้นเปาเล่งถูตรวจตลอดแล้วจึงตามเตียม่องชิดว่า นางชุนเฮียงกับนางกุ้ยเอ้งเบิกความว่านางตันฮ่วยเอ้งเมื่อยังปกติยังไม่เกิดอันตรายนั้น ไม่มีชายผู้ใดไปมาหาสู่เป็นที่ชอบอัชฌาสัย มีแต่เจ้าเป็นชายชู้ของนางชุนเฮียงผู้เดียว เคยไปมาหาสู่นางชุนเฮียงจนถึงนางตันฮ่วยเอ้งถึงแก่ความตายนั้น ตุลาการชำระลงเนื้อเห็นว่าตัวเจ้าเป็นผู้ร้าย บัดนี้เจ้ามาร้องว่าไม่เป็นยุติธรรมฉันใด

เตียม่องชิดได้ฟังเปาเล่งถูถามดังนั้น จึงให้การว่าข้าพเจ้าเป็นสัตว์ผู้ยากมีปากก็มีเสียเปล่าทุ่มเถียงไม่ขึ้น ผู้รักษาเมืองกรมการจะปรึกษาโทษวางบทปรับให้ข้าพเจ้าถึงความตาย เพราะฉะนั้น บิดาเลี้ยงของข้าพเจ้าเห็นว่าท่านเป็นหูทิพย์ตาทิพย์ อาจจะสอดส่องเห็นความเท็จจริงทุกข์สุขของราษฎรจึงทำเรื่องราวมายื่นต่อท่าน ขอท่านได้ชำระให้เห็นจริงเป็นยุติธรรม

เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงให้ผู้คุมคุมตัวนางชุนเฮียงแยกออกไปให้ห่างเตียม่องชิด เปาเล่งถูจึงถามเตียม่องชิดต่อไปว่า เมื่อเดิมนางตันฮ่วยเอ้งไปอาบน้ำนั้นมีสิ่งของสิ่งใดบ้างเป็นสำคัญ เตียม่องชิดให้การว่าข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีสิ่งใด เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้นจึงว่าถ้าไม่ให้การไปตามจริงแล้ว เจ้าก็ต้องตายตามบท

เตียม่องชิดได้ฟังดังนั้นก็มีความเสียใจ จึงคิดว่าเวรกรรมของเราซึ่งได้กระทำไว้แต่หนหลัง จึงให้เป็นไปดังนี้ คิดดังนั้นแล้วเตียม่องชิดจึงให้การเดาๆ ไปว่า ในห้องน้ำคงมีม่านทองและหีบและเตียงเป็นต้น ครั้นเตียม่องชิดให้การดังนั้นแล้ว เปาเล่งถูจึงให้ผู้คุมคุมตัวนางชุนเฮียงมาถามว่า ในห้องน้ำของนางตันฮ่วยเอ้งนายของเจ้ามีสิ่งของอันใดบ้าง นางชุนเฮียงให้การว่า นายข้าพเจ้าเป็นผู้มั่งมีบริบูรณ์ไปด้วยเงินทองเสื้อผ้าใส่หีบเก็บไว้บนตึกชั้นสูง ในห้องอาบน้ำหามีสิ่งใดไม่

เปาเล่งถูได้ฟังคำให้การของนางชุนเฮียง กับเตียม่องชิดหาต้องกันไม่ เปาเล่งถูพิจารณาเห็นว่า ความเรื่องนี้เตียม่องชิดหาได้กระทำร้ายแก่นางตันฮ่วยเอ้งไม่ คงเป็นผู้อื่นทำเป็นแน่ ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้ว เปาเล่งถูจึงถามนางชุนเฮียงต่อไปว่า นายของเจ้าเดิมเคยชอบพออัชฌาสัยแก่ผู้มีชื่อที่เคยไปมาหาสู่นั้น คนแซ่จูมีบ้างหรือหาไม่

นางชุนเฮียงจึงให้การว่า เมื่อยู่พังสามีของนางตันฮ่วยเอ้งซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้าชอบพออัชฌาสัยกันแก่จูฮ่องสื่อ บุตรขุนนางผู้ใหญ่ตำแหน่งเล้ยโป้วเซียงจื๊อ ผู้นั้นเคยไปมาหาสู่อยู่เนืองนิตย์ ตั้งแต่ยู่พังไปสอบไล่หนังสือพวกโจรจับเอาตัวไป ตั้งแต่นั้นมาไม่เห็นจูฮ่องสื่อไปมาหาสู่เลย มาเมื่อในระหว่างปีนี้จูฮ่องสื่อมานอนค้างอ้างแรมอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านฮ่องก๊กฉายระยะทางก็ใกล้กันกับบ้านนายข้าพเจ้าไม่สู้ไกลนัก  เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงกลับไปยังก๋งก๊วน ในราตรีวันนั้นฝันเห็นว่าหญิงมากล่าวคำโคลงดังที่กล่าวแล้วนั้นอีก ครั้นได้สติตื่นขึ้นมาแล้ว ก็คิดเห็นคำโคลงที่เป็นปริศนานั้นได้ว่าอักษรตัวเจ๊กกับตัวสื่อประสมเข้าด้วยกันเป็นอักษรตัวเล้อย อักษรตัวลิบกับตัวโค้วตัวหู่นั้นประสมกันเข้าเป็นอักษรตัวโป้ว อักษรตัวยิบ ประสมกันเข้ากับตัวอัวเป็นอักษรตัวกง อักษรตัวเจ๊กประสมกันเข้ากับตัวเลียวเป็นอักษรตัวจื๊อ อักษรตัวจูกับฮ่อง สำเนียงอันเดียวกันกับตัวฮ่อง ออกความว่าแซ่จูชื่อฮ่องสื่อแปลความไทยว่าจูฮ่องสื่อ เป็นบุตรขุนนางผู้ใหญ่ตำแหน่งเล้อยโป้วเซียงจื๊อ เปาเล่งถูคิดปริศนาคำโคลงเห็นตกลงดังนั้นแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเปาเล่งถูออกนั่งยังที่ว่าราชการ จูฮ่องสื่อมาคำนับเปาเล่งถู เปาเล่งถูจึงแกล้งถามจูฮ่องสื่อว่า กิตติศัพท์เลื่องลือกันว่าท่านเป็นผู้เล่าเรียนรู้หนังสือมาก ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านคิดคำโคลงซ้อนกลให้ข้าพเจ้าสักหน่อยจะได้หรือไม่

จูฮ่องสื่อได้ฟังเปาเล่งถูถามดังนั้นก็บอกปฏิเสธว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้เล่าเรียนรู้แต่น้อย เหลือกำลังสติปัญญาที่จะคิดได้ ว่าดังนั้นแล้วก็ลากลับไปบ้าน

ในขณะนั้นฮ่องก๊กฉายกับพวกเพื่อนสี่ห้าคนมาคำนับเปาเล่งถู เปาเล่งถูจึงถามว่า บรรดาท่านที่มาหาข้าพเจ้านี้ ท่านก็เป็นผู้เล่าเรียนรู้หนังสือดีทั้งสิ้น แต่จูฮ่องสื่อนี้เป็นคนมีลักษณะหมดจดดี และพูดว่าไม่ได้เล่าเรียนรู้หนังสือเหมือนท่านทั้งหลายนั้นยังกระไรอยู่ ฮ่องก๊กฉายได้ฟังเปาเล่งถูถามดังนั้นจึงพูดว่า จูฮ่องสื่อนี้ได้เล่าเรียนหนังสือครูเดียวกันกับข้าพเจ้าที่ตำบลช่องฮองลี้ถึงสี่ปี เมื่อเดือนแปดขึ้นแปดค่ำปีก่อนนี้ จูฮ่องสื่อก็ทิ้งการเล่าเรียนไปเที่ยวเสีย เพราะฉะนั้น ความรู้จึงไม่พอจะโต้ตอบแก่ท่านผู้ที่รู้ได้

เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้น จึงตรวจดูในคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องหากล่าวโทษเตียม่องชิด วันคืนเดือนปีถูกต้องกันแก่วันที่จูฮ่องสื่อออกจากโรงเรียนสมกันกับที่ฮ่องก๊กฉายบอกเล่านั้น เปาเล่งถูคิดเห็นในความฝันกับสอบได้ในความตรงกันแน่นอนดังนั้นแล้ว จึงให้นักการไปเอาตัวจูฮ่องสื่อมาผูกแล้วตีถาม จูฮ่องสื่อได้ความเจ็บปวดก็ให้การรับเป็นสัตย์ แล้วเปาเล่งถูพร้อมด้วยผู้รักษาเมืองกรมการลงตัดสินปรับโทษเป็นสองสถาน สถานหนึ่งโทษของจูฮ่องสื่อกระทำความหยาบช้าข่มขืนนางตันฮ่วยเอ้ง นางตันฮ่วยเอ้งกลั้นใจกัดปลายลิ้นถึงแก่ความตายนั้น โทษของจูฮ่องสื่อถึงประหารชีวิต อีกสถานหนึ่ง ในส่วนโทษของนางชุนเฮียงนอกใจสามีไปกระทำชู้ด้วยเตียม่องชิดนั้น ในขณะนี้นางชุนเฮียงมีครรภ์อยู่ ถ้าคลอดบุตรแล้วเมื่อใด ให้เนรเทศนางชุนเฮียงกับเตียม่องชิดชายชู้ไปอยู่เสียยังเมืองไกลให้เป็นตัวอย่างต่อไป ครั้นตัดสินถ้อยความเสร็จแล้ว เปาเล่งถูก็ไปตรวจเมืองอื่นต่อไป
3378  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เครื่องจักสาน : ความหมาย กำเนิด วิวัฒนาการ คุณค่า และพัฒนาการ เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 18:46:55
.


รูปแบบงานศิลปะจักสานโบราณของชนชาวเวียดนาม
ภาพโดย : Mckaforce
3379  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 18:36:35
.

 
แกนโลกเอียง
จากอรรถาธิบายของ รศ. ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า แกนของโลกที่หมุนรอบตัวเองไม่ได้ตั้งตรงในแนวดิ่ง แต่เอียงตัวอยู่แล้ว โดยทำมุม 23.5 องศากับแนวดิ่ง ซึ่งการเอียงตัวของแกนโลกด้วยมุมนี้ทำให้เกิด 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน และยังทำให้ช่วงเวลากลางวัน หรือช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล ปรากฏการณ์เหล่านี้ จะเห็นชัดเมื่อห่างออกไปจากเส้นศูนย์สูตรของโลก

ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร 4 ฤดูกาลจึงไม่ชัดเจนมากเหมือนประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไป ความยาวของช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ก็แตกต่างกันเพียง 1 ชั่วโมง ยิ่งเหนือขึ้นไปหรือใต้ลงมาจากเส้นศูนย์สูตร สองปรากฏการณ์นี้จะเห็นชัดมากขึ้น

โลกหมุนรอบตัวเองเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงมวลเกิดขึ้นภายในตัวโลกหรือทำให้การกระจายตัวของมวลภายในโลกเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลต่อการเอียงตัวของแกนโลกและการหมุนของโลก ได้แก่ การเกิดแผ่นดินไหว ทำให้มวลขนาดใหญ่เคลื่อนตัวหรือภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเกิดการละลายแล้วไหลไปยังส่วนต่างๆ ของโลก



การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทุกๆ ครั้งจะทำให้แกนโลกและการหมุนตัวเองเปลี่ยนแปลง เช่น แผ่นดินไหวที่ชิลี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 ขนาด 8.8 ริกเตอร์ ทำให้แกนโลกเปลี่ยนแปลง 2.7 มิลลิอาร์กวินาที และยังทำให้เวลาสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที นั่นคือโลกหมุนเร็วขึ้น ส่วนแผ่นดินไหวที่สุมาตราเมื่อครั้งทำให้เกิดสึนามิถล่มประเทศไทยเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 มีขนาดถึง 9.1 ริกเตอร์ ทำให้แกนโลกเปลี่ยนแปลง 2.32 มิลลิอาร์กวินาที และยังทำให้เวลาสั้นลง 6.8 ไมโครวินาที ตามรายงานการศึกษาของ ดร.ริชาร์ด กรอสส์ นักวิจัยองค์การนาซา


 
นอกจากแผ่นดินไหวที่ส่งผลให้แกนโลกเอียงแล้ว ยังมีอีก 2 ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับแกนโลก คือการควงตัวของแกนโลก การควงตัวจะครบรอบทุก 25,730 ปี ลองนึกภาพการควงตัวของลูกข่างรอบแกนดิ่ง ลูกข่างที่กำลังหมุนรอบตัวเองและแกนหมุนของมันเอียงตัวทำมุมกับแนวดิ่ง มันจะเกิดการควงตัวรอบแกนดิ่ง เนื่องจากน้ำหนักและความหนาของลูกข่างแต่ละส่วนไม่เท่ากัน

การควงตัวของแกนโลกก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ในอีก 12,865 ปีข้างหน้า (ครึ่งหนึ่งของรอบการควงตัว) ฤดูกาลจะสลับกันโดยสิ้นเชิง หน้าหนาวปัจจุบันจะกลายเป็นหน้าร้อน และหน้าร้อนจะกลายเป็นหน้าหนาว เนื่องจากการเอียงตัวของโลกจะสลับกัน

ในปัจจุบันแกนโลกทางซีกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ แต่อีก 12,865 ปีข้างหน้าจะหันออกห่างจากดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป มนุษย์จะปรับตัวได้ในที่สุดเพราะกินเวลาหลายชั่วอายุขัย ช่วงชีวิตของมนุษย์หนึ่งคนไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพราะว่าสั้นเกิน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ ปรากฏการณ์แกนโลกส่ายเข้าหาหรือส่ายออกห่างจากแกนในแนวดิ่ง จากเดิมที่ห่างอยู่แล้ว 23.5 องศา ซึ่งมีค่าการขยับมากที่สุดคือ 9.21 อาร์กวินาที (ประมาณ 0.0025 องศา) และมีรอบประมาณ 18.6 ปี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากอันตรกิริยาระหว่างโลกกับดวงจันทร์เป็นหลัก แม้ว่าค่าการส่ายนี้จะน้อย แต่ก็ยังมากกว่าค่าการขยับของแกนโลกเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ชิลีหรือที่เกาะสุมาตราหลายเท่า แต่การส่ายตัวของแกนโลกส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนด้วยหรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาหาความสัมพันธ์อยู่

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ถ่ายรูปตัวเอง
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา
เผยแพร่ภาพของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร “คิวริออสซิตี้”
ที่ถ่ายภาพตัวเองโดยกล้องมาร์ส แฮนด์ เลนส์ อิมเมจเจอร์ (เอ็มเอเอชแอลไอ)
ที่ติดอยู่ปลายแขนกลของตัวยาน ขณะปฏิบัติภารกิจขุดเจาะสำรวจ
พื้นผิวดาวอังคารในบริเวณที่เรียกว่า “บิ๊ก สกาย”.


เขี้ยวเล็บ
สำนักข่าวฟาร์สนิวส์ ได้เปิดเผยภาพฐานจรวด ของกองกำลังพิทักษ์-
ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผย สถานีโทรทัศน์อิหร่าน
ได้เสนอภาพนี้เช่นกัน โดยให้เห็นภาพอุโมงค์ใต้ดินซึ่งเต็มไปด้วย
อาวุธปล่อยและฐานยิง นับเป็นเครื่องแสดงว่ารัฐบาลอิรักกำลังสะสม
คลังแสงอาวุธปล่อยขนาดใหญ่ขึ้น.


ดวงจันทร์ดาวเสาร์
ยานอวกาศแคสสินี ขององค์การอวกาศอเมริกา ได้ถ่ายภาพขั้วเหนือ
ดวงจันทร์เอนเซลาดัส ของดาวเสาร์ดวงหนึ่ง ได้อย่างชัดเจน
โดยถ่ายจากระยะห่างกันเพียง 6,000 กิโลเมตร.


ไกล 70 ล้านปีแสง
องค์การอวกาศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลงานชิ้นใหม่ของยานอวกาศฮับเบิล
ถ่ายรูปกาแล็กซี่แบบก้นหอย ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปไม่ต่ำกว่า 70 ล้านปีแสง
กาแล็กซี่อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซี่ต่างๆที่มารวมกันอยู่เป็นกลุ่มดาวเวอร์โก


กาแล็กซี่ปะทุ
ยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์เอกซเรย์ จันทรา ถ่ายภาพกาแล็กซี่เอ็มเอส
07356+7421 ที่เกิดการปะทุขึ้นครั้งรุนแรงที่สุด เท่าที่ยานวัดได้.


ดวงจันทร์ใบเก่า
ภาพถ่ายดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลกทั้งดวง ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์
ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ผู้อำนวยการองค์การอวกาศของสหภาพยุโรป
ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งหุ่นยนต์ไปสร้างหมู่บ้านขึ้นบนด้านหลังของดวงจันทร์
เพื่อจะใช้เป็นฐานทดสอบ สำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคารในวันหน้า


องค์การสหรัฐฯเปิดเผยภาพถ่าย
องค์การอวกาศสหรัฐฯเปิดเผยภาพถ่ายของกาแล็กซี เมสซี่ 94 ซึ่งอยู่ห่าง
จากโลกไกลประมาณ 16 ล้านปีแสง ที่เห็นวงขอบสุกสว่างเป็นบริเวณ
ที่เกิดของดาวฤกษ์ใหม่ มีผู้ขนานนามให้ว่าเป็นวงแหวนของการกำเนิดดาว


ดวงจันทร์ดาวเสาร์
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยรูปของดวงจันทร์เอนเซลาดัส ของดาวเสาร์
ยานอวกาศแคสสินีได้ถ่ายไว้ขณะที่โคจรข้ามขั้วใต้ของมันไปในระยะห่าง 49 กิโลเมตร


ดาวหางตายแล้ว
องค์การอวกาศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรูปของดาวเคราะห์น้อย 2015 ทีบี 145
ซึ่งเคยเป็นดาวหางมาก่อน แต่บัดนี้ได้ดับแสงสิ้นแล้ว ดาวดวงนี้เป็นดาว
ที่เป็นหิน มีโฉมหน้าคล้ายกับกะโหลกศีรษะมนุษย์ เคยแวะเข้ามาใกล้โลกเมื่อวันฮาโลวีน.


เบื้องหลังดวงจันทร์
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้เผยแพร่ภาพเบื้องหลังของดวงจันทร์กำลังรับแสงแดด
ถ่ายจากยานอวกาศ ที่ติดกล้องโทรทรรศน์ ขณะกำลังอยู่ห่างจากโลก
ในระยะประมาณ 625,000 กิโลเมตร.


ดวงจันทร์โฟบอส
องค์การอวกาศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รูปพื้นผิวของดวงจันทร์โฟบอส
ซึ่งเป็นดาวบริวารดาวอังคารในวงโคจรสูงจากพื้นดาวอังคาร
ประมาณ 6 พัน กม. เป็นดวงจันทร์ที่มีวงโคจรอยู่ใกล้กับดวงแม่มากที่สุด
ยิ่งกว่าดวงจันทร์ดวงใดในสุริยจักรวาล ดาวอังคารได้ดึงดูดดวงจันทร์ดวงนี้
ให้เข้ามาใกล้เข้าในอัตรารอบระยะเวลา 100 ปี ต่อ 2 เมตร
จนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มันจะต้องประสบชะตากรรมโดย การถูกแรง
ดึงดูดฉีกแตกออกจากกัน ภายในช่วงเวลา 30-50 ล้านปีนี้.


จรวดเอเรียน 5
จรวดเอเรียน 5 ถูกยิงขึ้นจากฐานส่งที่สนามจรวดคูรู ในดินแดนเ
ฟรนซ์เกียนา ส่งดาวเทียมสื่อสาร 2 ดวงขึ้นถึงวงโคจรได้สำเร็จ.


บรรยากาศดาวเสาร์
องค์การอวกาศสหรัฐฯเปิดเผยภาพของบรรยากาศและวงแหวนของดาวเสาร์
สร้างขึ้นจากภาพถ่ายของยานอวกาศ 12 รูปประกอบกันขึ้น.


อารมณ์อวกาศ
ดาวเทียม “เทอร์รา” ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ ถ่ายภาพสีของทิวเขา
ซานตาลูเซีย ใกล้เมืองบิกเซอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ
ด้วยกล้องประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องวัดพลังรังสี เป็นส่วนหนึ่ง
ของภาพชุดที่มีชื่อว่า “อารมณ์อวกาศ


ดวงจันทร์ดาวเสาร์
ภาพถ่ายดวงจันทร์ “เลปตุส” ของดาวเสาร์ ที่ยานอวกาศ “แคสซินี่”
ถ่ายได้อย่างชัดเจนภาพแรก.


เมืองสวน
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เผยแพร่ภาพ ซึ่งถ่ายจากยาน “คิวริออสซิตี้”
ตามริ้วบนดาวอังคาร ถ่ายให้เห็นเครือข่ายของสายแร่ใต้หน้าผาหิน
ด้านใต้ของเขาชาร์ป นักวิทยาศาสตร์ได้บังคับให้ยานสำรวจโครงสร้าง
และองค์ประกอบตามริ้วรอยก้อนหินที่ไขว้กันไปไขว้กันมา ในบริเวณที่
ตั้งชื่อให้ว่าการ์เด้นซิตี้ “เมืองสวน” ที่ตั้งอยู่ใจกลางของบริเวณนี้
นักธรณีวิทยารู้สึกว่าริ้วรอยที่เห็นเป็นริ้วรอยทางธรณีวิทยา


ดวงจันทร์ประชัน
องค์การอวกาศสหรัฐฯ โชว์ภาพถ่ายของยานอวกาศแคสซินี
เป็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 2 ดวง ดวงจันทร์ “เอนเซลาดุส” (ดวงเล็ก)
และดวงจันทร์ “ไดโอนี” (ดวงใหญ่) แม้ทั้งคู่จะประกอบด้วยวัตถุ
อย่างเดียวกัน แต่สะท้อนแสงได้แรงต่างกัน ดวง “เอนเซลาดุส”
มีขนาดเล็กกว่า เส้นผ่าศูนย์กลาง 504 กม. สะท้อนแสงได้แรงกว่ามาก
จนมองเห็นสุกสว่างกลางท้องฟ้ายามราตรีอันมืดมิด ผิดกับ “ไดโอนี”
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,123 กม. รุ่นพี่มีอายุแก่กว่ากันมาก
พื้นผิวเก่าแก่คร่ำคร่าเพราะตากแดดตากลมและฝนมานาน.


จรวดขององค์การอวกาศโลก
ช่างขององค์การอวกาศยุโรป กำลังระดมกันตกแต่งยานอวกาศ
เอ็กโซมารส์ ที่โรงงานจรวดเมืองคานส์ภาคใต้ของฝรั่งเศส
เพื่อเตรียมส่งเดินทางไปยังสนามจรวดไบโคนูร์ ในคาซัคสถาน
ยานอวกาศลำนี้เป็นการร่วมมือระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรป
เพื่อส่งให้เดินทางไป เก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวอังคารในระดับ
ความลึก 1–2 เมตร ในวันหน้า.


เครื่องบินพลังแดด
เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์บินขึ้นจากท่า อากาศยานสากลนคร
มัณฑะเลย์ของอินเดีย เพื่อออกเดินทางต่อไปในความพยายามบินรอบโลก


ดวงจันทร์โฟบอส
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์โฟบอส
ของดาวอังคารอันใกล้ชิด มองเห็นร่องตื้นๆ ทาบอยู่บนพื้นผิว
เป็นแนวยาวถึง 6,000 กิโลเมตร ดวงจันทร์ดวงนี้เป็นบริวาร
ที่อยู่ใกล้ดาวเคราะห์มากที่สุดในสุริยจักรวาล ดาวอังคารได้ดึงดูด
ดวงจันทร์ให้เข้าไปใกล้ตัว ในอัตราศตวรรษละ 6.6 ฟุต
นักดาราศาสตร์ได้ประมาณว่า มันจะถูกดาวแม่ดึงดูดเข้าไปใกล้
จนแตกทำลายภายในระยะเวลา 20-40 ล้านปีข้างหน้านี้.


ยานอวกาศซิกนัส
องค์การอวกาศสหรัฐฯ แสดงรูปวาดของยานอวกาศเอทีเค ซิกนัส
ในวงโคจรบริษัทออบิตอล เอทีเค ผู้สร้างได้กำหนดไว้ว่าจะส่งมันเดินทาง
ไปยังสถานีอวกาศสากล โดยจะขนเครื่องมือวิทยาศาสตร์เสบียง
และสัมภาระ รวมทั้งเครื่องอะไหล่ของยานขึ้นไปส่งยังสถานี.


จรวดมือสอง
บริษัทอวกาศบลู ออริจิน ของอเมริกา เปิดเผยจรวดอวกาศที่กลับ
จากการทดลอง ลงมาที่สนาม ในเมืองเวสต์เท็กซัส กลับมาตั้งลำอยู่
พร้อมที่จะใช้ส่งเดินทางขึ้นได้อีก มันได้ทะยานเดินทางในอวกาศ
ไปเป็นระยะ 165 กิโลเมตร แล้วถึงได้กลับลงมา บริษัทผู้สร้าง
ซึ่งเป็นของบริษัทอเมซอนแห่งนี้ สร้างมันขึ้นด้วยความหวังที่จะใช้มัน
เป็นจรวดนำนักทัศนาจรขึ้นไปเที่ยวอวกาศในวันหน้าได้.


เกาะฮาวายจากอวกาศ
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายเกาะฮาวาย ซึ่งถ่ายโดย
มนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศสากลในขณะเวลาเย็น มองเห็น
ร่องรอยของปล่องภูเขาไฟที่ปล่อยเถ้าถ่านและถ่านหินละลาย
ภูเขาไฟลูกสูงที่สุด มีความสูงถึง 4,205 เมตร เหนือระดับ
น้ำทะเล มันเป็นบริเวณที่น่าสนใจจากการสังเกตการณ์ทางอากาศ.


ภาพถ่ายจากยานอวกาศฮับเบิล
ยานอวกาศฮับเบิลได้ถ่ายภาพกลุ่มดาวใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มดาวนี้
ได้เข้ารวมกับกลุ่มดาวอื่น ทิ้งร่องรอยให้เห็นเพียงเมฆหมอกบางๆ
กลุ่มดาวนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์เรือนเป็นล้านๆดวง ที่กำลังอยู่ในช่วงอลหม่าน.


มองโลกจากอวกาศ
มนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศสากลในวงโคจรรอบโลก ได้ถ่ายภาพโลก
ขณะที่โคจรอยู่เหนือคาซัคสถาน โดยมนุษย์อวกาศทำงาน
ในการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างไม่หยุดมือ.

 n-Dc.12
3380  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: นิทานอานิสงส์ทอดกฐิน เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2558 16:07:51


ปริศนาธรรม
"ธงกฐิน" จระเข้-ตะขาบ-นางมัจฉา-เต่า

"ในเรื่องของธงกฐิน หลายคนเห็นธงมานาน แต่อาจยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความหมาย ธง ๔ อันนี้หมายถึงโลภ โกรธ หลง สติ อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ทุกคนได้มีความเข้าใจ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายไปได้ ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน"

การทอดกฐินตามวัดต่างๆ นอกจากจะเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว ยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ใช้มิติศาสนาสืบสานวิถีถิ่น-วิถีไทย

ในการทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุ โดยไม่เฉพาะเจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง อันเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่นี้แหละที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธงกฐินมาแต่อดีต

พระมหาสมศักดิ์ สุธัมมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดดาวดึงษาราม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เล่าว่า ธงกฐิน เป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้วมี ๔ แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ คติธรรม ประกอบด้วย
๑.ธงจระเข้ เปรียบถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) มีตำนานว่าเศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย ใช้ประดับวัดที่ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมที่เดินผ่านไปมาเห็นเข้าก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาสาธุ

๒.ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ (พิษ ที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม

๓.ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่าอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม

๔.ธงเต่า หมายถึง สติ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน ๑๒


"ปริศนา ธรรมจากธงกฐินทั้ง ๔ ธงจระเข้ ตะขาบ นางมัจฉา ก็คือ ความโลภ โกรธ หลง ที่มีมาจากคณะกฐิน หรือพุทธศาสนิกชนบางคน พอได้อานิสงส์ผลบุญจากการทอดกฐินก็จะปรากฏธงเต่า คือ เกิดสติ ทำให้มีปัญญา แก้ปัญหาทุกอย่างลงได้ เชื่อกันว่าอานิสงส์จากการถวายผ้ากฐิน เป็นการถวายสังฆทานที่ได้บุญยิ่งใหญ่ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมบุญทั้งตักบาตรเทโวโรหณะและทอดกฐิน เพื่อเป็นการให้ทาน รักษาศีลอยู่สม่ำเสมอ เกิดความสงบร่มเย็นในชีวิต
จาก...นสพ.ข่าวสด
หน้า:  1 ... 167 168 [169] 170 171 ... 275
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.45 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 1 ชั่วโมงที่แล้ว