[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 19:20:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นาฏกรรมในวังหน้า - หุ่นกระบอกไทย  (อ่าน 5714 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2558 15:46:26 »

.


พระฉายาลักษณ์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ภาพจาก : static.naewna.com


นาฏกรรมในวังหน้า

วังหน้า เป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นตำแหน่งรองมาจากพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้วังหน้าจึงเป็นสถานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง วังหน้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ มาปกครอง ๖ พระองค์ แต่ประทับอยู่ในพระบวรราชวังเพียง ๕ พระองค์ ดังนี้
     ๑.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิมว่า บุญมา ทรงสถาปนาพระบวรราชวังให้มีความวิจิตรงดงาม ตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา ทรงครอบครองอยู่ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๒๕ ถึงพุทธศักราช ๒๓๔๖ รวม ๒๑ ปี
     ๒.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศรสุนทร ทรงได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาอุปราช สืบต่อจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงในปลายรัชกาลที่ ๑ ทรงรับตำแหน่งมหาอุปราชตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๔๙ ถึงพุทธศักราช ๒๓๕๒ รวม ๓ ปี แต่มิได้มาประทับที่พระบวรราชวัง คงประทับที่พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี จนกระทั่งขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
     ๓.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระอนุชาร่วมพระชนก พระชนนี เดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ครอบครองวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๕๒ ถึงพุทธศักราช ๒๓๖๐ รวม ๘ ปี
     ๔.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเจ้านายที่ใกล้ชิดคู่พระทัยของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเสวยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาพระปิตุลา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ทรงครอบครองและประทับอยู่ในพระราชวัง ระหว่างพุทธศักราช ๒๓๖๗ ถึงพุทธศักราช ๒๓๗๕ รวม ๘ ปี
     ๕.พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอนุชาธิราชร่วมพระชนก พระชนนีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาให้มีพระอิสริยยศ เทียบเท่าพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ ได้ครอบครองวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๙๔ ถึงพุทธศักราช ๒๔๐๘ รวม ๑๔ ปี
     ๖.กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณจอมมารดาเอม ทรงได้รับการอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๑ ถึงพุทธศักราช ๒๔๒๘ รวม ๑๗ ปี นับเป็นวังหน้าองค์สุดท้าย

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชชาญทิวงคตลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นแทน เป็นที่หมายว่าคือ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

ตำแหน่งวังหน้าที่กล่าวถึงโดยสังเขปนี้ มีพระบรมวงศ์ประทับอยู่ในพระบวรราชวังเพียง ๕ พระองค์ ฉะนั้นในเอกสารบางฉบับจึงนับเนื่องว่ามีวังหน้า ๖ พระองค์ ในที่นี้ขอทำความเข้าใจไว้เบื้องต้นด้วย

ดังกล่าวแล้วว่า ตำแหน่งวังหน้า คือตำแหน่งรองจากพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นแบบแผนการมีนาฏศิลป์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างหนึ่งจึงยังคงมีอยู่แทบทุกพระองค์ แต่ความรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับพระอุปนิสัยว่าจะโปรดปรานในแนวทางใดเป็นพิเศษ

เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องนาฏศิลป์ในวังหน้าของเรียบเรียงเป็นลำดับในแต่ละรัชกาลโดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารหลักฐานเท่าที่ปรากฏ บางเรื่องเป็นมุขปาฐะที่ครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์เล่าขานสืบทอดผ่านกันมา

๑.ช่วงสมัยวังหน้า ในรัชกาลที่ ๑ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)
เป็นช่วงสมัยที่วังหน้าเจริญรุ่งเรืองด้วยสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนเชื่อว่า นาฏศิลป์ดนตรี ก็คงจะมีความรุ่งเรืองเช่นกัน ดังที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ได้กล่าวอ้างไว้ว่า “โขนละครของหลวง ก็ได้โปรดให้หัดขึ้นทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า เว้นแต่ละครผู้หญิงซึ่งเป็นของต้องห้ามมิให้เอกชนมีไว้ ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ละครผู้หญิงจึงมีแต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียว”

ในส่วนของละครวังหน้าในรัชสมัยนี้ ไม่ปรากฏรายละเอียด แต่เชื่อว่ามีคณะละครผู้หญิง แต่ไม่สู้แพร่หลายมีชื่อเสียงมากนัก แต่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าจอมละครท่านหนึ่ง ปรากฏเรื่องราวของนางละครที่เจ้าจอมว่า ภู่ สีดา มีมารดาชื่อเอี้ยง เป็นนายวิเศษ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดพระราชทานทั้งลูกสาวและแม่ แด่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทั้งสองแม่ลูกจึงมาอยู่ ณ พระบวรราชวัง เอี้ยงมารดามาเป็นนายวิเศษปากบาตร (มีหน้าที่จัดเตรียมอาหารใส่บาตรพระสงฆ์) ในพระบวรราชวัง  เจ้าจอมภู่ เป็นหญิงที่ลือชื่อว่างามมากในครั้งกระโน้น (พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๔) แต่ยังมิทันที่เจ้าจอมภู่ สีดา จะปรากฏชื่อเสียงอย่างไร ก็มาเกิดเรื่องขึ้นในวังหน้า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๖ ตามที่ปรากฏในพงศาวดาร สรุปความได้ว่า มีคนร้าย ๒ คน แอบเข้าไปคิดซุ่มประทุษร้ายกรมพระราชวังบวร แต่ด้วยพระบารมีบุญญาภินิหารให้คลาดแคล้ว คนร้ายถูกจับกุมได้ และซัดทอดไปถึงขุนนางผู้ใหญ่ (พระยาอภัยรณฤทธิ์) และเอี้ยงวิเศษปากบาตร เมื่อมีพระบัณฑูรให้สอบสวน เอี้ยงรับว่าหลงเชื่อคนร้าย ซึ่งเมื่อข้าราชการหลายท่านและคนร้ายทำสำเร็จจะยก “ภู่” ขึ้นเป็นพระมเหสี จึงลงพระอาญาให้ประหารชีวิตพวกกบฏ และผู้ร่วมคิดรวมทั้งเอี้ยง และเจ้าจอมภู่ด้วย

ตัวละครในวังหน้าอีกท่านหนึ่งชื่อ “จุ้ย” เป็นตัวหนุมาน ได้เป็นตัวละครในพระบวรราชวังในรัชกาลหลังๆ ต่อมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในพระบวรราชวังยังมีการแสดงละครในเรื่อง รามเกียรติ์

นาฏกรรมสำคัญที่ปรากฏชื่อเรื่องของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ โขน ซึ่งมีเหตุการณ์บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งแสดงถึงโขนวังหน้ากับโขนวังหลวงพิพาทกันในขณะแสดง

สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจธรรมชาติของการแตกความสามัคคีนั้น ถึงแม้ว่าระดับเจ้านายจะเป็นพี่น้องรักใคร่ปรองดองกันอย่างไร แต่ก็อาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ โดยเฉพาะเมื่อต่างฝ่ายต่างถือข้างเจ้านายของตนเป็นใหญ่ ดังเช่นเรื่องราวของโขนวังหน้ากับโขนวังหลวง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๙ ในงานฉลองพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร สรุปความได้ว่า ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและโขนวังหน้า เล่นประสมโรงกันกลางแปลง บริเวณสนามระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง (ท้องสนามหลวงส่วนหนึ่งในปัจจุบัน) แสดงตอนประเดิมศึกลงกา หรือทศกัณฐ์ยกทัพพร้อมสิบขุนสิบรถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระรามยกออกจากพระบวรราชวัง เล่นรบกันในสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงใส่กัน กล่าวง่ายๆ คือต่างฝ่ายต่างสู้กันจริง ฝ่ายทศกัณฐ์ไม่ยอมแพ้ตามบทบาท รบกันจริงถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย เสร็จจากงานครั้งแล้วปรากฏความบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนต่างฝ่ายต่างเอาปีนขึ้นป้อมกำแพงเข้าหากัน สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ต้องทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ต่างฝ่ายจึงเลิกแล้วคืนดีเป็นปกติ

จากที่กล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่านาฏศิลป์ในส่วนของโขนเป็นมหรสพสำคัญที่ปรากฏทั้งในวังหลวงและวังหน้า ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี นับเป็นมหรสพชั้นสูงประจำพระราชวัง




หุ่นจีน ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ในภาพ : หุ่นตัวนางผู้สูงศักดิ์ ศีรษะประดับศิราภรณ์งดงาม

๒.ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร)ถึงแม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องละครเกิดขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานเรื่องละครอิเหนา ว่า “ละครผู้หญิงก็มีแต่ของหลวง เล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม โปรดให้หัดละครเด็กๆ ผู้หญิง แล้วเอาเรื่องอุณรุทครั้งกรุงเก่ามาตัดทอนให้เล่น ถูกพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกริ้วจึงต้องเลิก” ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงเปลี่ยนเป็นคณะละครผู้ชายที่ยังคงเล่นละครใน เมื่อเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๒ แล้ว จึงทรงตั้งคณะละครหลวงในพระองค์ขึ้น มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่ง เป็นครูท่านสำคัญต่อมา

๓.ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
ถึงแม้ว่าจะทรงมีเจ้าจอมเป็นละครหลายท่าน เช่น ภู่ อิเหนา ซึ่งเดิมเป็นละครหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นตัวอิเหนา และต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรสคือ กรมหมื่นสิทธิสุขุม ต้นสกุล รองทรง

มี บุษบา เข้าใจว่าเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ต่อในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นนางบุษบา และเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าชายสุดวอน

พลับ จินตะหรา เข้าใจว่าเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นตัวนางจินตะหรา และเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าชายรัชนิกร ต้นสกุล รัชนิกร

การที่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีเจ้าจอมเป็นละครตัวเอกหลายตัว ก็น่าจะเชื่อได้ว่า คงจะมีคณะละครประจำพระองค์บ้าง ไม่สู้จะเปิดเผยมีชื่อเสียง แต่ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ ทรงมีคณะงิ้วผู้หญิง  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ในเชิงอรรถ เรื่องตำนานละครอิเหนา ข้อ ๑๖ หน้า๓๘๖ (ฉบับรวมพิมพ์ของมติชน) ว่า “งิ้วผู้หญิงของกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๒ อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ คนหนึ่ง ชื่อ คล้าย เป็นพนักงานเลี้ยงนกในพระบรมมหาราชวัง เคยร้องงิ้วถวายเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เนืองๆ”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงตัวละครหลวงชุดกลาง ในรัชกาลที่ ๒ อีก ๓ ท่านคือ ปราง สายใจ อ่อน พระลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่าได้แต่วังหน้า รัชกาลที่ ๒ (ตำนานเรื่องละครอิเหนา ฉบับพิมพ์รวมเล่ม หน้า ๙๙)

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๓ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์)
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงหัดละครผู้หญิงทั้งโรง เล่นทั้งเรื่องพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ และเรื่องอื่นๆ ที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครชั้นนอกขึ้นใหม่ มี ๔ เรื่อง ในหนังสือพระบวรราชนิพนธ์ เล่ม ๑ กล่าวถึงบทละครนอกอีก ๔ เรื่อง
     เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนุมานอาสา แต่งบทให้นางเบญกายกับนางสุวรรณกันยุมา หึงกัน ทำนองเรื่องไกรทอง
     เรื่อง กากี ตอน ครุฑลักพานางกากี
     เรื่อง พระลอ ตอน พระลอคลั่ง
     เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ลาวทองมาพบกันนางวันทอง ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ตอน นางวันทองห้ามทัพ

พระบวรราชนิพนธ์บทละครนอก ๔ เรื่อง ได้แก่
     เรื่อง จับลิงหัวค่ำ
     เรื่อง รำบรรเลงหางนกยูง
     เรื่อง ยักษ์สองกรวรวิก สองพี่น้องตั้งพิธี
     เรื่อง ไพจิตราสูร

สิ่งที่น่าสังเกต ว่าเหตุใดกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงตั้งคณะละครผู้หญิงอย่างเปิดเผย ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่า ประการแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลิกละครหลวงในพระราชสำนัก ประกอบกับ กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้โดยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าอา โดยความสนิทเสน่หา ทรงเป็นขุนพลคู่พระทัย ในชุดกรมหมื่นรักษรณเรศร์ (พระองค์เจ้าไกรสร) ซึ่งต่อมาต้องพระราชอาญาปลดยศศักดิ์และถูกสำเร็จโทษ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) ต่อมาเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) ทั้ง ๔ พระองค์ ล้วนเป็นขุนพลทำการรบป้องกันพระราชอาณาเขตมาด้วยกันตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงตั้งคณะละครผู้หญิงในพระบวรราชวัง แต่เป็นการเฉพาะ มิได้เปิดเผยให้เป็นแบบอย่างกับข้างนอกแต่อย่างไร



หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์

ครูละครในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ท่านสำคัญ คือ ครูน้อยงอก ไกรทอง (ตัวละครหลวงในรัชกาลที่ ๒) ภายหลังกรมพระราชวังบวรฯ ทิวงคตแล้ว ได้ไปเป็นครูละครของเจ้าพระยานคร (น้อย ณ นคร) ถึงรัชกาลที่ ๔ กลับมาเป็นครูละครของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเป็นครูละครของเจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบวรราชวังในรัชกาลที่ ๕ ศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงต่อมา คือ ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ขรัวยายของพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นผู้ควบคุมคณะละครหลวงในรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย

มีเหตุการณ์ที่เป็นข้อยืนยันว่า กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้มีคณะละครผู้หญิงในสังกัด คือ เมื่อทิวงคตแล้ว พระราชทานเครื่องละครและตัวละครผู้หญิงของพระองค์หลายคน ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) เพราะเป็นพระญาติ ตัวละครหลายคนได้ไปเป็นครูที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองตะกั่วป่า เล่นสืบมาในรัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ แต่เนื่องจากเสด็จมาประทับในอาณาบริเวณพระบวรราชวัง ในที่นี้ผู้เรียบเรียงจึงขอจัดกลุ่มให้อยู่ในวังหน้าในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มความต่อเนื่องของบทความนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวถึงว่า ในหนังสือตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์, เล่มมติชน หน้า ๓๕๐) ว่า
“ละครพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์ โรงหนึ่ง เล่ากันว่ากระบวนเล่นเป็นแต่กระนั้นเอง เพราะเจ้าของไม่สู้เอาพระทัยใส่ ทรงเล่นอยู่หน่อยก็เลิกเสียแต่เมื่อยังไม่เป็นกรม โปรดทรงแต่ปี่พาทย์”

มีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่า ถึงแม้วังหน้าในรัชกาลที่ ๔ จะไม่มีคณะละครของพระองค์เอง แต่พระราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์ ของพระองค์ คือ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภา (พระองค์ตุ้ย) และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ (พระองค์ปุก) ทรงหัดละครในพระบวรราชวังขึ้นโรงหนึ่ง ได้ครูผู้หญิงละครหลวง ครั้งรัชกาลที่ ๒ ฝึกหัดเล่นทั้งละครในและละครนอก และเล่นรับงานหาด้วย เล่นมาถึงรัชกาลที่ ๕ ตลอดจนพระชนมายุของพระองค์เจ้าหญิงดวงประภา

พระราชธิดาทั้งสองของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดจากเจ้าจอมมารดามาลัย เชื้อสายของท่านก็มีเหล่าศิลปินเกี่ยวข้องกับจางวางต่อ ณ ป้อมเพชร ซึ่งมีคณะโขนคณะละครและหุ่นกระบอกโรงใหญ่ของตนเอง มีชื่อเสียงมากในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภาได้ให้ตำรานาฏศิลป์ ซึ่งเป็นภาพเขียนลายเส้นตำราท่ารำฉบับหนึ่ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ให้บริการ ณ หอสมุดแห่งชาติ นับเป็นฉบับที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด

นอกจากนี้ เจ้าคุณจอมมารดา เอม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีอุปนิสัยชอบในการละครเป็นพิเศษ ถึงกับมีคณะละครของตนเอง แต่น่าจะเชื่อว่าเป็นการตั้งคณะละครโดยสมบูรณ์ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงละครโรงนี้ในช่วงสมัยกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๕



เจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านเป็นเจ้าของคณะละครวังหน้า ในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ



ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม (ในภาพตัวละครทุกตัวสวมเล็บ)

ช่วงสมัยวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาเอม ธิดาเจ้าสัวบุญมี บุรพชนเป็นจีน (ตามหลักฐานหนังสือประวัติราชินิกุล รัชกาลที่ ๔ ของสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หน้า ๑๔๕) มีพระญาติร่วมพระชนก พระชนนีเจ้าคุณจอมมารดา ๕ พระองค์ แต่ที่มีพระชนม์อยู่สืบราชสกุล ๒ พระองค์ คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านวรัตน์ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ (ต้นราชสกุล นวรัตน์)

เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเอม ตั้งคณะละครขึ้นในพระบวรราชวังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ กล่าวไว้ ในตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์มติชน หน้า ๓๗๘) ว่า “ละครของเจ้าคุณจอมมารดาเอม หัดขึ้นในวังหน้าโรงหนึ่ง เล่นตามแบบละครหลวงเป็นพื้น กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกให้เล่นบ้าง มีตัวละครโรงนี้ได้ไปเป็นครูละครที่อื่น คือ
๑.ชื่อ ปลิง เป็นตัวอิเหนา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา
๒.ชื่อ เล็ก เป็นตัวสังคามาระตา ได้ไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา
๓.ครูที่ปรากฏชื่อ ของละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม เชื่อว่าน่าจะเป็นตัวละครหลวง รัชกาลที่ ๒”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า ในตำนานเรื่องละครอิเหนา (ฉบับรวมพิมพ์มติชน หน้า ๓๗๑) ว่า
“หม่อมแสง (ลูกเจ้ากรับ) เป็นตัว นางจินตะหรา ได้เป็นครูเจ้าจอมมารดาเอม วังหน้า”

นอกจากนี้ ละครวังสวนกุหลาบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ครูที่เป็นตัวละครสำคัญของเจ้าคุณจอมมารดาเอม ไปเป็นผู้วางรากฐาน คือ หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน และหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา (หม่อมในกรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์) ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอม มีหลักฐานปรากฏเป็นภาพถ่ายเก่า มีลักษณะเป็นละครโบราณ สวมเล็บอ่อนโค้ง ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบละครหลวงรุ่นเก่าตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และหมดความนิยมไปในยุคหลัง (ราวรัชกาลที่ ๕ ลงมา) เพราะการสวมเล็บขาดความคล่องตัวโดยเฉพาะในกระบวนท่ารบ ด้วยเหตุนี้คณะละครวังสวนกุหลาบ และละครกรมมหรสพ รวมทั้งละครคณะอื่นๆ ในสมัยนั้นจึงไม่สวมเล็บโค้ง จะมีปรากฏเพียงภาพถ่ายเก่าเท่านั้น



ซ้าย หม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา หรือหม่อมครูนาง  ขวา หม่อมครูอึ่ง หสิตะเสน หรือหม่อมครู ฝ่ายพระ
ทั้ง ๒ ท่าน เชื่อกันว่าเป็นละครเจ้าคุณจอมมารดา

มุขปาฐะ เกี่ยวกับละครสวมเล็บนี้ ผู้เรียบเรียงได้ฟังคำบอกเล่าจากคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ที่กล่าวว่าเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕ ที่เคยเป็นละครหลวงรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๔ และเป็นละครหลวงในต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น คุณครูลมุลเล่าว่า ท่านเจ้าจอมเล่าว่า เมื่อท่านสวมเล็บทองคำร่ายรำ ปลายนิ้วของท่านอ่อนโค้งลงมาถึงข้อมือ และท่านก็ตั้งวงมือให้คุณครูลมุลได้ดู ท่านกล่าวว่านิ้วมือของท่านเจ้าจอมอ่อนโค้งสมจริง

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงพระนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง พระสมุทร ตั้งแต่พระสมุทรเข้าสวนจนถึงท้าวรณจักรล้ม ประทานให้คณะละครนี้ ในส่วนพระองค์ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเชี่ยวชาญในงานช่างทั้งปวง ในส่วนของมหรสพ ทรงสร้างหุ่นเล็กขึ้น ๒ ชุด หุ่นเล็กชุดแรก เป็นหุ่นจีน (แบบถุงมือ) ซึ่งเป็นลักษณะหุ่นฮกเกี้ยนของจีน ยังคงปรากฏบทเจรจาและบทที่ใช้แสดง เรื่อง ซวยงัก ฯ

หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์ เป็นชุดหุ่นไทยที่ทรงคิดทำขึ้นใหม่ ดำเนินวิธีคล้ายหุ่นหลวง หรือหุ่นใหญ่แต่โบราณ มีแขนขาเต็มตัว มีไม้แกนกับสายใยชักอวัยวะต่างๆ ให้เคลื่อนไหว แต่ทำตัวหุ่นให้มีขนาดเล็ก ทำโรงคล้ายๆ โรงละครฝรั่งหากแต่เล่นหุ่นอย่างไทย

หุ่นเล็ก เรื่องรามเกียรติ์ ได้เคยเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรในงานสมโภชช้างเผือกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ครั้งหนึ่ง ดังมีปรากฏในหนังสือข่าวราชการ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พลับพลาหน้าโรง ทอดพระเนตรหุ่นอย่างใหม่ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ทรงคิดใหม่นั้น ปลูกโรงลงในท้องถนนตรงหน้าพลับพลา โรงนั้นยาว ๑๐ วา ตัวหุ่นนั้นสูงประมาณ ๘ นิ้ว ฯลฯ เมื่อเชิดนั้นไม่เห็นตัวคนเชิด แลเจรจาหรือพากย์ก็ดี ไม่เห็นตัวคนพากย์เจรจา มีแต่ตัวหุ่นออกมาเต้นรำทำร่าทำท่าต่างๆ และในโรงนั้นรางพื้นและรางเพดาน เพื่อจะได้เชิดหรือเหาะ”

และยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาว่า “ในงานทำบุญวันสมภพ ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ ครบ ๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดหุ่นไปช่วยเพลาหนึ่ง” หุ่นที่แสดงนี้เป็นหุ่นจีน

ในส่วนรายละเอียดที่เป็นหลักฐาน วิธีการเชิดหุ่นเล็ก รูปแบบโรงจะเป็นเช่นไร ไม่มีหลักฐานปรากฏ จะมีอยู่เพียงตัวหุ่นเล็กบางส่วนที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เท่านั้น

ในส่วนมหรสพด้านอื่นๆ ก็เป็นการเล่าขานสืบมาว่า ทรงมีคณะงิ้ว ซึ่งเรียกกันว่างิ้ววังหน้า แสดงแบบงิ้วหลวงปักกิ่ง แต่ก็เป็นเพียงมุขปาฐะ ดังเช่นเมื่อครั้งกรมศิลปากรจัดแสดงละครพันทางเรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา มีกระบวนท่าออกกราวของพลทหารจีนที่เรียกว่า พวกหน้าขี้ไก่ กระบวนท่าออกกราวของตัวเอกคือ โจเปียว และกามนี รวมทั้งท่ารบของกามนีและสมิงพระราม ก็เล่าขานกันว่าจดจำมาจากงิ้ววังหน้า โดยมีคุณครูผัน โมรากุล ซึ่งเป็นละครของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕) ซึ่งเป็นลูกสาวของหม่อมครูเครือ (มังรายกะยอชวา) ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) และคุณครูสะอาด แสงสว่าง ละครโรงเดียวกัน เป็นผู้จดจำมาถ่ายทอด เล่ากันว่า เมื่อคุณครูผันพาศิษย์ไปดูท่างิ้วที่โรงงิ้วเยาวราช ซินแสที่สอนงิ้วรู้ว่าเป็นลูกหม่อมเครือ ก็ลงมาต้อนรับ แม้ในคณะละครวังสวนกุหลาบ หม่อมครูหงิม ซึ่งเป็นตัวละครของคณะเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เป็นครูของครูลมุล ยมะคุปต์ เคยถ่ายทอดท่ารบไม้จีน ๑๔ ไม้ ที่เรียกว่า “ไม้บู๊” ให้กับศิษย์ละครวังสวนกุหลาบ ซึ่งสันนิษฐานให้เห็นเค้าเงื่อน การถ่ายทอดท่างิ้ววังหน้า ซึ่งจะเป็นงิ้วของกรมพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๕ ไม่อาจยืนยันความชัดเจนได้

ที่กล่าวมาทั้งสิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าวังหน้า ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่พระบรมวงศ์ชั้นสูงเคยปกครองดูแลอยู่ มิใช่เป็นเพียงที่รวมแห่งศูนย์อำนาจการปกครองเป็นแหล่งที่ ๒ แต่ยังเป็นคลังสรรพวิชาความรู้อันหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของนาฏกรรม ซึ่งบางสิ่งบางอย่างยังคงอยู่ และสืบทอดเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้ชนชาติไทยได้เกิดความภาคภูมิใจสืบไปชั่วกาลนาน



ที่มา
(เรื่อง-ภาพขาวดำ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
(ภาพสี) : หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต เว็บไซต์สุขใจดอทคอม


หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต
กดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=70502.0

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 พฤศจิกายน 2558 12:55:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2558 13:03:26 »




หุ่นกระบอกไทย
จากผลงานของ ภูวนารถ สังข์เงิน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการกลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าความเป็นมาของ "หุ่นกระบอก" ไว้ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำนิยามไว้ว่า "หุ่นชนิดหนึ่ง มีแต่ส่วนหัวและมือ ๒ ข้างลำตัว ทำด้วยไม้กระบอก มีผ้าเย็บเป็นถุงคลุม เวลาเชิดใช้มือสอดเข้าไปจับไม้กระบอกนั้นเชิด" ทั้งนี้ลักษณะทั่วไปของหุ่นกระบอกไทยสูง ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ผู้เชิดจะอยู่ด้านล่างของตัวหุ่น คล้ายกับหุ่นกระบอกของเวียดนาม หากแต่หุ่นกระบอกเวียดนามใช้ผู้เชิดแสดงหุ่นอยู่ใต้น้ำ เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงนิยมเรียกหุ่นกระบอกเวียดนามว่า "หุ่นน้ำ"

ประวัติจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยพบว่า มีการเล่นหุ่นเป็นมหรสพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยปรากฏมีการเล่นหุ่นในหมายรับสั่ง สมุดไทย และวรรณคดีเรื่องต่างๆ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรี ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์พบระบุว่า มีการเล่นหุ่นในงานฉลองและสมโภชในพิธีหลวง เช่น การออกพระเมรุ ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นการเล่นหุ่นหลวง และพบว่า หุ่นกระบอกแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงมา

สำหรับหุ่นหลวง จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ให้นิยามเอาไว้ว่า "หุ่นหลวงเป็นศิลปะการแสดงชนิดหนึ่งที่ใช้วัสดุมาประดิษฐ์ให้มีรูปร่างท่าทางเหมือนคน มีขนาดใหญ่ สูงถึง ๑ เมตร มีคนเชิดและชักให้เคลื่อนไหว หุ่นหลวงเป็นมหรสพของหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา"

ลักษณะของหุ่นหลวง ตัวหุ่นทำด้วยไม้คว้านให้เบาลง ที่ส่วนเอวของตัวหุ่นใช้เส้นหวายขดซ้อนกันเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ มีเชือกร้อยจากนิ้วมือผ่านลำแขนเข้าสู่ลำตัวของหุ่นเพื่อให้มือและแขนขยับได้ ส่วนเท้าติดกับแข้งและขาเคลื่อนไหวไม่ได้ ภายในลำตัวมีแกนไม้ยาวสำหรับคนเชิดจับยื่นออกมาจากส่วนก้นของหุ่น แม้หุ่นหลวงจะมีขนาดใหญ่กว่าหุ่นกระบอก แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก

การประดิษฐ์และรายละเอียดของหุ่นมีความประณีตมาก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับมีลักษณะคล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขนละคร ส่วนวิธีเชิดหุ่นหลวง นายจักรพันธุ์สันนิษฐานว่า ผู้เชิดคงจะเชิดหุ่นให้อยู่ในระดับเหนือศีรษะ โดยยืนจับแกนไม้ที่ใช้บังคับหุ่นยกชูขึ้นด้วยมือข้างหนึ่ง และใช้มืออีกข้างบังคับสายชักที่ร้อยจากอวัยวะต่างๆ ของหุ่นออกมาทางก้น โดยห้อยลงมารวมกันที่แป้นไม้ที่ตรึงติดอยู่กับแกนไม้ชิ้นที่สำหรับจับเชิด

นอกจากหุ่นหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้ทรงประดิษฐ์หุ่นที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เรียกว่า หุ่นเล็ก แล้วเรียกหุ่นหลวงที่มีมาแต่เดิมว่า หุ่นใหญ่ โดยหุ่นเล็กที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมี ๒ แบบ คือ
๑.หุ่นจีน เป็นหุ่นมือ ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว หัวและหน้าเขียนสีต่างๆ เครื่องแต่งกายเหมือนอย่างงิ้ว ใช้เล่นเรื่องวรรณคดีของจีน เช่น ซวยงัก สามก๊ก และ
๒.หุ่นไทย ลักษณะของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย รวมถึงวิธีชักเหมือนกับหุ่นหลวง ใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เรียกกันโดยทั่วไปว่า หุ่นวังหน้า

หุ่นวังหน้ามีความสูง ๒๘-๓๐ มตร โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา คว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้ หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่น แล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรัก ปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขน ส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิด

หุ่นทุกตัวมีแกนไม้สำหรับให้ผู้เชิดถือเชิดอยู่ต่อจากส่วนล่างของโครงลำตัว มีสายเชือกร้อยต่อจากมือ ขาและแขน สำหรับชักให้ส่วนต่างๆ เคลื่อนไหว หุ่นบางตัวมีสายเชือกสำหรับชักมากถึง ๑๘ เส้น โดยสายเชือกสำหรับชักหุ่นจะโยงจากตรงกลางข้อมือ สอดร้อยเข้าไปในลำแขนมายังต้นแขนช่วงต่อกับไหล่ แล้วร้อยผ่านรูเล็กๆ เข้าไปยังช่องกลางลำตัวหุ่น ลงมายังแกนไม้สำหรับถือเชิดซึ่งทำเป็นแป้นเจาะรูเพื่อจัดสายชักให้เป็นระเบียบ ปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว


เรื่อง-ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด น.๒๔ พุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 พฤศจิกายน 2558 13:05:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
หุ่นกระบอกไทย
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 1265 กระทู้ล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2561 15:12:00
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.09 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 เมษายน 2567 21:42:58