ตอนที่ ๑ เริ่มนาที ที่ ๑๑.๑๕ เป็นต้นไป
ตอนที่ ๒ เริ่มนาที ที่ ๔๕.๕๔ เป็นต้นไป
สารคดีที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงกันมาก
คือเรื่อง The Buddha Comes to Sussex
เป็นภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC ได้ถ่ายทำ
ในขณะที่ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
และหลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ (พระพรหมวชิรญาณ)
จาริกไปเผยแผ่พระธรรม ยังต่างแดน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้รับเทป เป็นวีดีโอ
จากวัดอมราวดี และได้ลิขสิทธิ์การเผยแพร่จาก BBC
พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านอาจารย์สุเมโธ เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิด
ที่อเมริกา ขากลับได้แวะพักที่ พุทธวิหารธรรมประทีป
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น
สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ
ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้งพุทธวิหาร ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใส
ในปฏิปทาของท่านอาจารย์สุเมโธ
จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่
เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธ
ไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่า
จะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา
ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน
หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือนายยอร์ช ชาร์ป
ก็ได้เดินทางมาเมืองไทย
เพื่อนิมนต์หลวงพ่อไปเผยแผ่พุทธธรรม
และพิจารณาความเป็นไปได้
ของการจัดตั้งสำนักสาขาในอังกฤษ
หลวงพ่อไม่ได้รับนิมนต์ทันที
แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ
พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพงระยะหนึ่ง
โดยให้ปฏิบัติตนเหมือนคนวัด
คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ
และทำกิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ
เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า
รวมทั้งเพื่อทดสอบ ดูความอดทน
และความจริงใจกันก่อน
เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมั่นจริง
หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น
๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อได้เดินทาง
ไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ
โดยมี ท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม
หลังจากนั้น เมื่อหลวงพ่อชา
ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว
ราวเดือนตุลาคม ๒๕๒๐
BBC ได้ติดตามเข้ามาถ่ายทำสารคดี
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย
และได้เข้าไปถ่ายทำเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่
และข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ ในวัดหนองป่าพง
เรื่อง The Mindful Way
ปฐมเหตุ คือ
ในครั้งแรกของการไปเผยแผ่พุทธธรรมยังต่างประเทศ
ของหลวงปู่ชา สุภัทโท ชาวอังกฤษบางคน
เรียนถามหลวงปู่ชา สุภัทโท ว่า
“ชีวิตของพระเป็นอย่างไร?
ทำไมชาวบ้านถึงได้เลี้ยงดู โดยที่พระไม่ได้ทำอะไร?”
หลวงปู่ชา สุภัทโท ตอบแบบอุปมาว่า…ถึงบอกให้
ก็ไม่รู้หรอก เหมือนกับนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ
ถึงปลาบอกความจริงว่า อยู่ในน้ำเป็นอย่างไร
นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา”
พวกเขาเหล่านั้นพอใจในคำตอบของหลวงปู่ชา มาก
หลังจากกลับสู่เมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐
หลวงปู่ชา จึงได้รับหนังสือจาก บี.บี.ซี. แห่งประเทศอังกฤษ
ติดต่อขอเข้าถ่ายทำภาพยนตร์
เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่วัดหนองป่าพง
ตอนท้ายของหนังสือติดต่อฉบับนั้น มีข้อความอยู่ประโยคหนึ่ง
ซึ่งเขาเน้นว่า “หวังว่าท่านอาจารย์
คงจะเป็นปลาที่เห็นประโยชน์ (เกื้อกูล) แก่นก”
ในต้นเดือนตุลาคมปี พ.ศ. ๒๕๒๐
ชาวต่างประเทศได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี
เกี่ยวกับชีวิต ข้อวัตรปฏิบัติ และกิจวัตรประจำวัน
ของพระกรรมฐานที่วัดหนองป่าพง หลังจากนั้นไม่นาน
หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ได้แพร่หลายสู่สายตาของคนค่อนโลก
โดยมีชื่อว่า “The Mindful Way”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ทางมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ
ได้ติดต่อนิมนต์หลวงปู่ชา สุภัทโท
ให้จาริกไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง
หลวงปู่ชา สุภัทโท กับพระอาจารย์ปภากโร
จึงได้เดินทางสู่ประเทศอังกฤษ
ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
การไปอังกฤษครั้งนี้ ได้รับความสนใจ
จากชาวต่างประเทศมากขึ้นกว่าครั้งแรกหลายเท่า
ท่านนับว่า เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรก
ที่มีลูกศิษย์ฝรั่งเป็นจำนวนมาก