[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2566 17:11:21



หัวข้อ: สร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2566 17:11:21

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59319009383519_2_Copy_.jpg)
ภาพ : ครูเหม เวชกร

สร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม


บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ข้างเหนือ มีวัดโบราณเก่าแก่มาแต่สมัยศรีอยุธยาอยู่วัดหนึ่งชื่อ "วัดแจ้ง" หรือเรียกกันอึกชื่อหนึ่งว่า "วัดมะกอกนอก" ที่เรียกวัดมะกอกนอกนี้ เห็นจะเป็นเพราะในคลองบางกอกใหญ่ ลึกเข้าไปอีกมากนั้น มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดมะกอกเหมือนกัน เมื่อชื่อ "มะกอก" พ้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในย่านตำบลนี้อาจจะมีต้นมะกอกมากมาแต่โบราณ จนตำบลก็เรียก "บางกอก" ไปด้วย ฉะนี้ วัดมะกอกหรือวัดแจ้งอยู่นอกออกมาถึงปากคลอง จึงได้เรียกให้ต่างกันเสียกับวัดข้างในว่า "มะกอกนอก" แต่ชื่อที่เรียก "วัดมะกอกนอก" นี้ ไม่แพร่หลายเหมือนชื่อที่เรียก "วัดแจ้ง" คงมีคนส่วนมากที่ไม่เคยได้ยิน วัดมะกอกนอกหรือวัดแจ้ง ตั้งอยู่ในเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรมาแต่โบราณ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพคืนมาได้แล้ว ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกทำลายพินาศหมด จึงเสด็จมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี โดยเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นที่มั่นสร้างพระราชวังที่ข้างวัดแจ้ง วัดแจ้งอยู่ในเขตพระราชวัง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) ได้พระแก้วมรกตมาจากเมืองเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๒ ก็โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ในวัดแจ้งนี้ วัดแจ้งจึงเป็น "วัดพระแก้ว" อยู่ในพระราชวังเหมือนวัดพระแก้ว คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปัจจุบันนี้

ขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ย้ายพระนครมาตั้งทางฝั่งตะวันออก โปรดฯ ให้ร่นเขตพระราชวังเข้าไป เหลือแต่ที่เป็นตัวพระราชฐาน ให้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครั้งยังเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ) และทรงมอบให้เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อไป ขึ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในวัดแจ้ง มีสร้างพระอุโบสถใหม่ และสร้างพระวิหาร สิ่งสำคัญที่ทรงสร้างก็คือ พระประธานในพระอุโบสถ ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระประธานด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง มีพระนามเรียกว่า "พระพุทธรรมิศรราชโลกนารถดิลก" เป็นพระประธานอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อสร้างพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานที่หล่อใหม่เสร็จแล้ว โปรดฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณธาราม" อนึ่ง ที่วัดนี้มีพระปรางค์ของเดิมอยู่องค์หนึ่งสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) ทรงกะที่จะสถาปนาใหม่ให้สูงและงดงามเป็นศรีแก่พระนคร ได้เริ่มลงมือขุดรากก็พอดีสิ้นรัชกาล

ขึ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการสถาปนาพระปรางค์ต่อไป ได้เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๓๘๕ จากนั้นช่างก็ลงมือก่อสร้างเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ ฐานโดยรอบยาว ๕ เส้น ๑๗ วา (๒๓๔ เมตร) สูง ๒ เส้น ๓ ศอกคืบ (๘๑ เมตร ๘๕ เซนติเมตร) ลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ ชั้นบนถัดยอดลงมาทำเป็นซุ้มคูหายอดปรางค์รอบ ๔ ด้าน ข้างบนทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ในคูหาทำรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ชั้นต่ำลงมาเป็นกำแพงแก้ว รอบองค์พระปรางค์เป็นชั้นทักษิณ ๓ ชั้น ผายลงมาตามลำดับ มีรูปพรหมแบกชั้นบน ถัดลงมาชั้นสองเป็นรูปกระบี่แบก ถึงชั้นสามเป็นรูปมารแบก รอบองค์พระปรางค์ใหญ่มีปรางค์เล็ก ๔ ทิศ สลับกับมณฑป ๔ ทิศ ปรางค์เล็กทำเป็นซุ้ม มีพระพายทรงม้า ในมณฑปมีพระพุทธรูปปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางเทศนาพระธรรมจักร และปางปรินิพพาน ที่ลานพระปรางค์ปูด้วยหินแผ่นใหญ่ เรียกว่า หินอับเฉา คือ ใส่อับเฉาถ่วงสำเภามาจากเมืองจีน โดยเฉพาะองค์พระปรางค์ใหญ่นั้นมีสัดส่วนงดงาม นับเป็นศิลปกรรมอันวิเศษสุดของเมืองไทย
เป็นที่กล่าวขวัญสรรเสริญกันทั่วไปในหมู่ชาวต่างประเทศ ว่างามยิ่งนัก ชาวต่างประเทศเรียกวัดแจ้ง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอรุณราชวราราม ว่า Temple of Dawn

วัดอรุณราชวราราม ถือกันว่าเป็นวัดของพระบาทสมสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอัฐิของพระองค์บรรจุอยู่ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งพระองค์ทรงปั้นหุ่นเองดังกล่าวแล้ว


มูลนิธิเหม เวชกร (ที่มา ข้อมูล/ภาพ)