[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 สิงหาคม 2563 16:19:27



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๙ พระมหาฉัตตชาดก : ฉัตตฤๅษียึดอำนาจ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 สิงหาคม 2563 16:19:27

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๙ พระมหาฉัตตชาดก
ฉัตตฤๅษียึดอำนาจ

          พระเจ้าพรหมทัตเจ้าแห่งกรุงพาราณสี ยกพลทหารทั้งกองทัพไปตีนครสาวัตถี แล้วจับพระเจ้าโกศลขังคุกไว้
          พระโอรสของพระเจ้าโกศลมีพระนามว่าฉัตตกุมาร พระองค์ทรงหนีรอดจากการโจมตีครั้งนั้น แล้วได้ไปศึกษาเล่าเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในเมืองตักสิลา ทรงเที่ยวศึกษาไปทุกสำนักจนถึงปัจจันตคามแห่งหนึ่ง ในป่าแห่งนั้นมีพระฤๅษี ๕๐๐ รูปตั้งอาศรมอยู่
          ฉัตตกุมารมีความคิดอยากจะศึกษาหาความรู้จากสำนักฤๅษีแห่งนี้ จึงตัดสินใจออกบวช
          และด้วยความเก่งกล้าสามารถของฉัตตกุมาร จึงได้เลื่อนขั้นเป็นอาจารย์ของบรรดาฤๅษีเหล่านั้น
          วันหนึ่งฉัตตกุมารฤๅษีได้ถามคณะฤๅษีว่า ทำไมพวกท่านถึงอยู่แต่ถิ่นกันดารอย่างนี้ ไม่ชอบอยู่ในถิ่นเจริญบ้างหรือ
          คณะฤๅษีตอบว่า “ไม่กล้าไปเพราะกลัวจะถูกถามปัญหาหรือกล่าวคำอนุโมทนา หรือแม้แต่กล่าวมงคลต่างๆ เมื่อกล่าวไม่ได้ก็จะถูกตำหนิติเตียน”
          ฉัตตกุมารจึงกล่าวว่า “ไม่ต้องกลัวหรอก ที่พวกท่านกล่าวมานั้น เราทำเป็นหมดแล้ว”
          จากนั้นก็พากันเข้าเมืองพาราณสีไป
          เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้ยึดเมืองพาราณสีและแคว้นโกศลได้แล้วก็ทรงตั้งคนของพระองค์เป็นข้าหลวงให้ดูแลเมืองสาวัตถี รับสั่งให้เอาทรัพย์บรรจุใส่ตุ่มโลหะฝังไว้ในอุทยานที่เมืองพาราณสี
          พระราชารับสั่งให้คณะฤๅษีเข้าพักในพระราชอุทยาน
          เช้าวันรุ่งขึ้นพระราชาทรงเห็นคณะฤๅษีออกบิณฑบาตเกิดความเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้ไปฉันอาหารในท้องพระโรง
          ฉัตตกุมารฤๅษีเฉลียวฉลาดในการตอบปัญหาและอนุโมทนา
          พระราชาเกิดพอพระทัยมากจึงทูลนิมนต์คณะฤๅษีพักอยู่ในอุทยานต่อไป
          เนื่องจากความเชี่ยวชาญเรื่องมนต์ของฉัตตกุมาร เมื่อร่ายมนต์จึงรู้ว่ามีขุมทรัพย์ของพระบิดาตนเองฝังอยู่ในอุทยานแห่งนี้ จึงตัดสินใจบอกความจริงแก่คณะฤๅษีว่า แท้จริงแล้วตนเป็นพระโอรสของพระเจ้าโกศล ขณะนี้ตนกำลังจะยึดราชสมบัติคืนจากพระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับไปครองเมืองตามเดิม
          จึงถามคณะฤๅษีว่า “พวกท่านเห็นด้วยไหม”
          ฤๅษีทั้งคณะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราเห็นด้วยกับท่าน”
          จากนั้น ฉัตตฤๅษีได้ช่วยกันทำกระสอบเพื่อที่จะเอาไปใส่สมบัติ พอตกดึกได้ช่วยกันขุดขุมทรัพย์มาใส่กระสอบแล้วนำเอาหญ้ามาใส่ไว้ในตุ่มแทน จากนั้นทรงรีบออกเดินทางในคืนนั้น พอถึงเมืองสาวัตถีได้จับข้าหลวงขังคุกไว้แล้วทรงยึดราชสมบัติและช่วยกันซ่อมแซมประตูเมือง ป้อมค่าย อย่างแน่นหนาแข็งแรง เพื่อป้องกันข้าศึก จากนั้นพระองค์ก็ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อไป
          เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทราบข่าวเรื่องคณะฤๅษีขนขุมทรัพย์ไปจนหมด พระองค์ทรงรู้สึกเสียดาย และทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างมาก ได้แต่พร่ำเพ้อว่า “หญ้าของใครหนอ”
          อำมาตย์คนสนิทเห็นแล้วสงสาร คิดหาทางให้พระราชามีสติกลับมาเหมือนเดิม จึงกราบทูลว่า พระองค์จะมัวแต่พร่ำเพ้อถึงหญ้า ว่าผู้ใดกันเป็นผู้นำมาถวายพระองค์ พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจอีกมากมาย พระเจ้าข้า
          พระราชาทรงตรัสว่า “ฉัตตฤๅษีผู้เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต เราให้ที่พักอาศัยแก่เขาแท้ๆ เหตุไฉนเขากลับลักเอาทรัพย์ของเราไปจนหมด เหลือไว้แต่หญ้าในตุ่มแทน”
          อำมาตย์จึงกราบทูลว่า “การที่ฉัตตฤๅษีขนเอาทรัพย์ของพระบิดาตน เอาหญ้าใส่ตุ่มไว้แทนแล้วหนีไป ก็เปรียบเหมือนกับผู้ถือเอาทรัพย์ของตนไปหมด ไม่ถือเอาของที่ไม่ใช่ของตนไป ใยพระองค์จะมาร่ำไห้เสียใจอยู่ทำไมกัน
          พระราชายังทรงตรัสอีกว่า “นี่ไม่ใช่นิสัยของผู้มีศีลและประพฤติพรหมจรรย์เขาทำกัน แต่เป็นนิสัยของคนพาลต่างหาก”
          เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้ระบายออกมาแล้ว ความเศร้าโศกเสียใจก็หายไปจากพระทัย พระองค์จึงกลับมาครองราชย์โดยธรรมต่อไป
   
 
ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ถ้าของนั้นไม่ไช่ของเรา สักวันเจ้าของเขาจะมาเอาคืน”
“คนที่ดีแท้จะไม่กล้าทำเลว”


พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
น นิกตฺยา ธนํ หเร
ไม่พึงหาทรัพย์ด้วยการคดโกง (๒๗/๖๐๓) 

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม