Re: ธรรมซีรี่ย์... สัญลักษณ์แห่งความดีงาม [ดอกบัว]

(1/10) > >>

เงาฝัน:
Tweet






ธรรมซีรี่ย์... สัญลักษณ์แห่งความดีงาม [ดอกบัว]


ดอกบัวเป็นดอกไม้พิเศษที่จะนำไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม
ความคิดที่ว่าดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามนี้
เห็นได้จากมีการนิยมใช้ดอกบัวเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยโดยทั่วไป

ดอกบัวได้ชื่อว่าเป็นพืชพันธุ์ไม้น้ำที่ทรงคุณค่าด้านความงามอันล้ำเลิศ พระอรรถกถาจารย์
เปรียบธรรมชาติของดอกบัวว่า มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาในพระพุทธศาสนา   
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับดอกบัวอยู่มากมาย

นำมาฝากเป็นธรรมซีรี่ย์ครับ


เงาฝัน:



  ดอกบัวเปรียบกับอนุพยัญชนะ

จากการศึกษาพระพุทธประวัติ พบว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระลักษณะต่างกับสามัญชน พระพุทธลักษณะนั้นเรียกว่า มหาปุริสลักษณะ ซึ่งหมายถึงลักษณะของมหาบุรุษ คือ พระพุทธเจ้า

ส่วนพระพุทธลักษณะอันเป็นข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ เรียกว่า อนุพยัญชนะ มีพระพุทธลักษณะ ๓ ประการซึ่งกวี ได้เปรียบเทียบกับดอกบัว คือ

 (๑) พระกรรณทั้งสองข้างมีสัณฐานอันยาวเรียวอย่างกลีบประทุมชาติ

 (๒) พระสรีระกายสดชื่นดุจดอกประทุมชาติ

(๓) กลิ่นพระโอษฐ์หอมฟุ้งเหมือนกลิ่นดอกอุบล

สมัยพุทธกาล พระพุทธสาวกที่เป็นพระอรหันต์ เมื่อปลงอายุสังขารแล้ว ต้องไปทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อนิพพาน พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี อดีตพระน้านางก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งเมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลลาพระพุทธองค์เพื่อนิพพาน มีเรื่องว่า พระนางซบพระเศียรแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า

“ขอพระองค์ทรงอนุญาตหม่อมฉัน ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทที่วิจิตรด้วยลายจักร (ลายจักรก้นหอย) และลายธงอันละเอียดอ่อนคล้ายกับดอกบัว”

พระนางทรงเปรียบพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับดอกบัว ดังคำบรรยายว่า

“พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้ซบพระเศียรลงแทบพื้นพระยุคลบาท ซึ่งเป็นลายจักรคล้ายกับดอกบัวบาน มีพระรัศมีดังดวงอาทิตย์แรกทอแสง”




เงาฝัน:



  ดอกบัวเปรียบกับเวไนยสัตว์

จากการศึกษาเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงมีความท้อพระทัยที่จะสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมอันลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ ยากที่มนุษย์และสรรพสัตว์ผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่เพราะอาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ พระองค์ทรงพิจารณาดูอัธยาศัยเวไนยสัตว์ก็ทรงทราบว่าผู้มีกิเลสเบาบาง ที่อาจรู้ตามพระองค์ได้ก็มี พระองค์ทรงเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของมนุษย์กับการเจริญเติบโตของบัว ๓ เหล่า คือ บัวเกิดในน้ำ บัวเสมอน้ำ และบัวพ้นน้ำ จึงมีคำอุปมาเวไนยสัตว์เหมือนดอกบัว แบ่งเป็น ๔ เหล่าตามอัธยาศัย คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์กล้า เพิ่งสอนให้รู้ได้โดยง่าย อาจรู้ธรรมพิเศษได้ฉับพลัน เปรียบเหมือนดอกปทุมชาติ ที่โผล่พ้นจากพื้นน้ำขึ้นจากพื้นน้ำมาแล้ว คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่ จักบานในวันนี้

๒. วิปจิตัญญู ผู้มีกิเลสค่อนข้างน้อย เมื่อได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพภาค จนมีอุปนิสัยแก่กล้า ก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวซึ่งยังตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

๓. เนยยะ ผู้มีกิเลสเบาบาง ก็ยังควรได้รับคำแนะนำในธรรมปฏิบัติไปก่อน เพื่อบำรุงอุปนิสัยจนกว่าจะแรงกล้า จึงจะบรรลุธรรมพิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะบานในวันต่อ ๆ ไป

๔. ปทปรมะ ผู้มีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ หาอุปนิสัยมิได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่จมอยู่ใต้น้ำและเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า


เงาฝัน:




นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ กล่าวสาเหตุที่ภิกษุสามเณรจะพินาศเพราะพรหมจรรย์ ต้องละเพศไปสู่ฆราวาส ท่านว่าเพราะอันตราย ๕ ประการ เทียบกับอันตรายของดอกบัว คือ

๑. ดอกบัวย่อมเป็นอันตรายด้วยพายุใหญ่พัดเอาหักโค่น เปรียบด้วยพระภิกษุสามเณรผู้ต้องลมปาก คือคำชักชวนของคนพาล มาชักน้ำเกลี้ยกล่อมให้จิตใจเห็นเคลิบเคลิ้มในโลกียวิสัย หน่ายรักจากพระศาสนา ต้องละเพศพรหมจรรย์ไป

๒. ดอกบัวย่อมเป็นอันตรายด้วยถูกกิมิชาติ คือหนอนเข้าเบียดเบียนกัดต้นกินใบ เปรียบเหมือนพระภิกษุสามเณรผู้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถูกโรคาพาธต่าง ๆ เข้ามาเบียดเบียนตัดรอน จนไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ได้

๓. ดอกบัวย่อมเป็นอันตรายด้วยถูกฝูงกินนรีเก็บเอาไปเชยชม คือมีผู้มาเด็ดไปจากต้น เปรียบเหมือนพระภิกษุสามเณร ถูกมาตุคาม (สตรี) ล่อให้ลุ่มหลงสิ้นศรัทธาในพระศาสนา ต้องละเพศพรหมจรรย์

๔. ดอกบัวย่อมเป็นอันตราย ด้วยถูกเต่าและปลากัดกินเป็นอาหาร เปรียบเหมือนพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถูกพระยามัจจุราชคือความตายมาตัดรอนคร่าเอาชีวิตไปเสีย

๕. ดอกบัวย่อมเป็นอันตรายด้วยน้ำและโคลนตม ไม่บริบูรณ์เหือดแห้งหดไป เปรียบเหมือนพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความตั้งอกตั้งใจ แต่เพราะกุศลหนหลังและวาสนาปัจจุบันไม่มี ก็เผอิญให้มีอุปสรรคขัดข้องต่าง ๆ ไม่สามารถทรงจำพระธรรมวินัยได้ เป็นเหตุให้ท้อถอยต้องลาเพศพรหมจรรย์ไป

Re: ธรรมซีรี่ย์... สัญลักษณ์แห่งความดีงาม [ดอกบัว]


http://www.flickr.com/groups/529758@N24/pool/page8/

เงาฝัน:




  ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม

ในการปฏิบัติธรรม เมื่อบุคคลละสิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ จิตย่อมเกิดปีติ กายย่อมเกิดความสงบ เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น สงัดจากกามและอกุศลธรรม ความสุขใด ๆ ในโลกียธรรมนั้น ย่อมเปรียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบความสุขที่เกิดจากการบรรลุตติยฌานกับดอกบัวไว้ ดังนี้

เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว (อุบล) กอบัวหลวง (ปทุม) หรือกอบัวขาว (บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น

นอกจากนี้ พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายถึงเหตุที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญผู้ได้บรรลุธรรมขั้นตติยฌานนี้ไว้ว่า ผู้ที่บรรลุตติยฌานซึ่งเป็นยอดสุดแห่งความสุข เป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้เห็นเสมอกัน มีสติ อยู่เป็นสุข



นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป