[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 ธันวาคม 2563 15:09:18



หัวข้อ: รอยสักของนักล่าคนสุดท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 ธันวาคม 2563 15:09:18
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75903592714005_128904230_1040875859761427_573.jpg)

รอยสักของนักล่าคนสุดท้าย

นาคาเป็นชนพื้นเมืองเผ่าพันธุ์หนึ่ง อาศัยอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนระหว่างอินเดียกับพม่า

ประชากรส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในนาคาแลนด์ รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

แต่มีอีกไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในเขตของแคว้นสะกาย เป็นพื้นที่กึ่งปกครองตนเองของเมียนมา

นาคาใช้ชีวิตรวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน จำแนกตามเผ่า รวมแล้วมากกว่า ๒๐ เผ่า แต่ละเผ่ามีวัฒนธรรมของตนเอง มีภาษาพูดของตนเอง แตกต่างกันออกไปตามเผ่า ตามหมู่บ้าน

หมู่บ้านของชนเผ่าที่ใช้ชีวิตตามแบบปฐมภูมิเหล่านี้ ครึ่งหนึ่งเคยรบพุ่งซึ่งกันและกัน ทั้งเพื่อช่วงชิงดินแดนและอื่นๆ ผู้พิชิตมักตัดศีรษะของผู้แพ้กลับมาเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ

สภาพการเป็นนักล่าหัวมนุษย์ของชนเผ่านาคาดำรงอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ นี่เอง

ไหลหนง คือเผ่าหนึ่งของนาคาในเมียนมา ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านลองวา

โงน โพ้ก” หนึ่งในชนเผ่าไหลหนง ยังคงจดจำได้ดีถึงวันที่ผู้เป็นพ่อและปู่ของตนกลับจากสงครามระหว่างเผ่าด้วยชัยชนะ  

โงน โพ้ก ที่เชื่อว่าตอนนี้อายุของตนคงราวๆ ๘๐ ปีบอกว่า ตอนนั้นตนคงอายุประมาณเดียวกับหลานชายวัย ๖ ขวบ เมื่อผู้เป็นพ่อและปู่จับตัวเขาลงลายสักบนใบหน้าและหน้าอก ลำตัวจำหลักเป็นเครื่องหมายประกาศชัยชนะในการล่าหัวมนุษย์ด้วยกันแบบถาวร

เหตุผลเพราะการสักดิบๆ ด้วยหนามไม้จิ้มช้ำๆ เพื่อให้น้ำยางไม้แทรกเข้าไปใต้ผิวหนังให้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจนั้น เจ็บปวดอย่างยิ่ง

โงน โพ้ก บอกว่า เขาดิ้นพราด ถึงขนาดผู้ใหญ่ต้องคอยจับตัวไว้ตลอดเวลา

ลาร์ส ครูแทค นักมานุษยวิทยาอเมริกัน ที่เดินทางมาครึ่งโลกเพื่อศึกษาชนเผ่านาคา บอกว่า รอยสักของนาคามีหลากหลาย มีทั้งที่เป็นลายสักเพื่อแสดงถึงชนเผ่าที่สังกัด, สักเพื่อแสดงถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต เรื่อยไปจนถึงการสักที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

มีลายสักบางรูปแบบที่ออกแบบเฉพาะเพื่อสะท้อนถึงโลกหลังความตาย

ในหมู่บ้านลองวา ไม่ได้มีเพียงเผ่าไหลหนง แต่ยังมีอีกเผ่าที่ขึ้นชื่อว่าทรงอำนาจน่าเกรงขามมากที่สุด คือเผ่าคอนยัค

พื้นที่ของเผ่าคอนยัค เป็นแถบยาวขนานไปกับแนวชายแดน ด้านหนึ่งลาดสูงขึ้นสู่แนวเขาที่สามารถมองเห็นพื้นที่ส่วนที่เป็นอินเดียและเมียนมาได้อย่างชัดเจน

จุดดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบ้านผู้นำชนเผ่า และตั้งอยู่ประชิดกับแนวเขตแดนพอดี

นาคาส่วนใหญ่ในอดีตนับถือผี แต่ในปัจจุบันนี้ความเชื่อของนาคาผสมปนเปกันระหว่างความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่บรรดามิชชันนารีนำเข้ามายังหมู่บ้านเหล่านี้ในราวทศวรรษ ๑๙๗๐ กับการนับถือเจ้านับถือผีและวัฒนธรรมนักรบ

ความเชื่อใหม่ๆ เหล่านั้น บวกกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นักล่าหัวมนุษย์ชาวนาคาหลงเหลืออยู่น้อยเต็มที

ฮูน โง คอ ชนเผ่าคอนยัคที่บอกว่าอายุ ๗๕ ปี แล้วอ้างตนว่า ตนเองมีส่วนช่วยในการยุติการล่าหัวเพื่อนชนเผ่าด้วยกันเพื่อเกียรติยศ หลังจากเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์เมื่อปี ๑๙๗๘ และยอมรับว่า สภาพในเวลานี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก

เช่นเดียวกันกับการล่าหัวคนและการนับถือผีที่ค่อยเลือนหายไป รอยสักของนาคาก็หลงเหลืออยู่น้อยเต็มที หนุ่ม-สาวยุคใหม่ไม่นิยมสักกันอีกต่อไป

ฮูน โง คอ กับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านอีกบางคนเป็นกังวลว่า การสักตามประเพณีเช่นนี้คงหายสูญไปในอีกไม่นาน

แต่ฮูน โง คอ ก็ยังเป็นสุขและยินดีที่ยังมีรอยสักปรากฏอยู่บนใบหน้าของตนจนถึงทุกวันนี้

เป็นเครื่องหมายของนักล่าหัวมนุษย์คนสุดท้ายของเผ่านั่นเอง •   


ขอขอบคุณที่มา (เรื่อง-ภาพ) นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๔-๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓