[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 06 กันยายน 2566 15:39:51



หัวข้อ: ถ้ำผีหัวโต จ.กระบี่
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 06 กันยายน 2566 15:39:51


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51818016626768_372685951_693292302834628_2326.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41825686933265_371928130_693292439501281_4328.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/78186424987183_371839889_693292832834575_4272.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49302614770001_372764370_693292779501247_8589.jpg)


ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่

“คนผีทะเล” เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะนางเอกในภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนมักใช้เรียกพระเอกที่ใช้ความทะลึ่งทะเล้นเข้ามาจีบ จนนางเอกเกิดความเขินอาย

 แต่สำหรับคำว่า “คนทะเล” นี่อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าบอกเล่าเรื่องราววิถีการดำรงชีวิตประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ของกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตด้วยการทำประมงจับสัตว์ทะเลเป็นหลัก โดยใช้เรือเป็นพาหนะ เร่ร่อนไปตามหมู่เกาะน้อยใหญ่ในท้องทะเลอันดามัน กลุ่มคนเหล่านี้ได้วาดเป็นภาพไว้จำนวนมากในถ้ำริมทะเล อันมีชื่อเรียกขานกันว่า “ถ้ำผีหัวโต”

ถ้ำผีหัวโตเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูนเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ในอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ แวดล้อมด้วยผืนป่าโกงกางเขียวขจี ตัวถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในแบ่งเป็นคูหาใหญ่สองห้องเดินทะลุถึงกันได้ มีความลาดชันประมาณ 45 องศา มีช่องทางเข้าออกได้สองทาง ลักษณะโปร่งด้วยโพรงและช่องต่าง ๆ ของถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะทางธรรมชาติช่วยให้แสงสว่างส่องเข้าถึงและลมพัดผ่าน อากาศถ่ายเทได้ดี  มีหินงอกหินย้อยงดงาม

ชื่อ “ถ้ำผีหัวโต” มีที่มาจากเมื่อค้นพบถ้ำครั้งแรก มีหัวกะโหลกคนขนาดใหญ่ผิดปกติอยู่ภายในถ้ำ จึงเรียกว่าถ้ำผีหัวโต อีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันคือ “ถ้ำหัวกะโหลก”

ภายในถ้ำปรากฏภาพเขียนอยู่ผนังถ้ำและเพดานถ้ำ ทั้งสองคูหารวมกันแล้วมีประมาณถึง 238 ภาพ ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีดำ สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเหลือง ด้วยหลากหลายรูปแบบ คือแบบเงาทึบ แบบโครงร่าง และแบบโครงร่างรอบนอก ตกแต่งภายในด้วยจุดสี เส้น และลวดลายเรขาคณิต คูหาแรกพบเป็นกลุ่มอยู่บนเพดานถัดเข้าไปทางขวามือ ส่วนในคูหาที่สองอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พบภาพเขียนอยู่บนผนังถ้ำอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

สิ่งที่ทำให้ภาพเขียนสีที่ถ้ำผีหัวโตแตกต่างไปจากภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่พบในประเทศไทย ก็คือความหลากหลายของภาพที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดของ “คน” หลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กสุด 15 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่สุด 95 เซนติเมตร ประมาณ 40 ภาพ
 
ถือว่าเป็นแหล่งภาพวาดรูปคนยุคก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา จุดสำคัญซึ่งน่าสนใจเป็นพิเศษอีกประการคือรายละเอียดของแต่ละคนล้วนแตกต่างไม่ซ้ำแบบกัน ทั้งใบหน้า เส้นผม และการประดับตกแต่งร่างกาย ทั้งยังมีนานาอิริยาบถ ทั้งแบบอยู่นิ่งเฉยและแบบเคลื่อนไหวอีกด้วย

เช่นเดียวกันกับภาพวาดของสัตว์ วาดไว้หลากหลายชนิดเช่นเดียวกัน ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ตั้งแต่นก ไก่ เม่น จระเข้ ปลา ปลาหมึก และกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพปลา หลายภาพมีลักษณะสัดส่วนและรายละเอียดที่ชัดเจนถึงขนาดสามารถระบุได้ว่าเป็นปลาชนิดใดเลยทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีภาพของมือและเท้า และภาพลายเส้นลักษณะคล้ายกับเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ในการทำประมง เช่น แห อวน และเรือ

ทั้งหมดบอกเล่าเรื่องราววิถีการดำรงชีวิตของ “คนทะเล”เมื่อสองพันกว่าปีก่อนให้คนในยุคดิจิทัลอย่างเราเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

ภาพวาดรูปคนที่ส่วนใหญ่มีนกเกาะอยู่บนแขนข้างซ้าย แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการเลี้ยงเหยี่ยวสำหรับใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการหาปลา จับปลา หรือนำไปสู่แหล่งที่มีปลา หรือมีความเชื่อว่าเหยี่ยวเป็นสัตว์นำโชคทำให้หาปลาได้มาก ๆ หากเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน ความเชื่อนี้ก็ยังคงพบสืบเนื่องอยู่ในกลุ่มชาวเลที่เดินทางเร่ร่อนในท้องทะเลอันดามัน ว่าวิญญาณบรรพบุรุษของพวกเขาที่ตายไปจะสถิตอยู่ในร่างของเหยี่ยว คอยนำทาง คุ้มครอง และบอกเหตุร้าย

ภาพวาดของปลาชนิดต่าง ๆ อาจเป็นการบันทึกถึงแหล่งอาหาร ปลาที่กินได้ ปลาหายาก หรือพิธีกรรมเพื่อสร้างเสริมความมั่นใจในการออกทะเลหาปลา หรือแสดงความเคารพต่อปลาในฐานะอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิต ในขณะที่ภาพของเรือนั้นบอกเล่าถึงการใช้เรือเป็นพาหนะ รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย ที่ว่าเหยี่ยวจะนำทางวิญญาณให้กับผู้ตายไปสู่สวรรค์โดยใช้เรือในการเดินทาง
 
ถ้ำผีหัวโตนี้นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเหล่า “คนทะเล” ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ เนื่องจากในถ้ำไม่พบร่องรอยเครื่องมือเครื่องใช้และการอยู่อาศัย อย่างที่พบในถ้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

ถ้ำผีหัวโต ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านบ่อท่อ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ อยู่ห่างจากอุทยานธารโบกขรณี ประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางใช้ถนนอ่าวลึก-แหลมสัก ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปยังท่าเรือบ่อท่อ แล้วลงเรือหางยาวรับจ้างเข้าไปในป่าชายเลน ตามลำคลองท่าปรัง ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถึงถ้ำผีหัวโต


อนุสาร อ.ส.ท. (เพจ · ผู้เผยแพร่สื่อ)