[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 15:53:02



หัวข้อ: “ห่วงเอว” เครื่องประดับสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 15:53:02
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/20457255343596_1.gif)

เครื่องประดับสำริดลักษณะพิเศษ
ที่นักโบราณคดีเรียกว่า “ห่วงเอว”


ในระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๐-๒๕๔๑ กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ทำการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญในจังหวัดนครราชสีมา บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน เรียกว่า “แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก” อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อเสียงอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย คือ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ในพื้นที่ตำบลพลสงคราม เพียง ๒ กิโลเมตร ในการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลกครั้นนั้น พบโครงกระดูกมนุษย์ ๑๒๕ โครง มีผลจากการตรวจสอบกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีว่า การฝังศพในสมัยแรกนั้น มีอายุราว ๒,๒๐๐ ปี – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว หากลำดับยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จัดอยู่ในสมัยเหล็ก ซึ่งในสมัยนี้มีลักษณะการดำรงชีวิตแบบชุมชนที่ทำการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะมีการปลูกข้าวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจเป็นทั้งใช้งานและเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย สุนัข และหมู ทั้งยังล่าสัตว์ป่าและจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร ที่เด่นชัดที่สุดในประเพณีวัฒนธรรม คือ การฝังศพ โดยฝังสิ่งของเครื่องใช้เป็นเครื่องอุทิศจำนวนมาก ที่ขุดค้นพบเช่นใบหอก หัวขวาน ที่ทำจากสำริดและเหล็ก เครื่องประดับสำริด เหล็ก แก้ว และหินอาเกต หินคาร์เนเลี่ยน กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนั้นยังพบลูกปัดทองคำในหลุมฝังศพ ซึ่งน่าจะเป็นของที่แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายมาจากชุมชนอื่น จำนวนสิ่งของและประเภทของสิ่งของที่ฝังพร้อมกับศพ บ่งบอกถึงความแตกต่างของฐานะทางสังคมได้เป็นอย่างดี

เมื่อการสำรวจและขุดค้นดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นโบราณวัตถุได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรอการศึกษาเพิ่มเติมและการนำออกจัดแสดง มีโบราณวัตถุสำคัญที่น่าสนใจหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งที่ดูแปลกตาและเป็นลักษณะพิเศษ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์พบไม่มากนักในแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก คือ เครื่องประดับที่ขุดค้นพบบริเวณส่วนเอวของโครงกระดูก นักโบราณคดีเรียกว่า “ห่วงเอวสำริด” (Bronze Belts)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23032902098364_2.gif)
โครงกระดูกหมายเลข ๖๙
ภาพจากหนังสือ The Excavation of Noen U-Loke and Noen Muang Kao


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/55862814270787_3.gif)
(บน) ห่วงเอวสำริด ๓ ห่วง พบที่โครงกระดูกหมายเลข ๑๔
(ล่าง) ภาพขยายห่วงเอวสำริดที่พบบนโครงกระดูกหมายเลข ๖๙
ส่วนที่เป็นวงเล็กๆ คือแหวนนิ้วมือ

โครงกระดูกเพศชายหมายเลข ๑๔ จากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก เสียชีวิตเมื่ออายุ ๓๕-๔๐ ปี นับว่าเป็นชายที่มีฐานะและแต่งงายด้วยการสวมเครื่องประดับจำนวนมาก มีต่างหูเงินขอดเป็นเกลียวเคลือบด้วยทองคำข้างละ ๑ อัน บริเวณคอมีห่วงที่ทำจากโลหะสองชนิดคือสำริดและเหล็ก ต้นแขนทั้ง ๒ ข้างสวมกำไลสำริดชนิดกลมตัน ข้างละประมาณ ๗๕ วง ตั้งแต่ข้อศอกถึงหัวไหล่ นิ้วมือสวมแหวนสำริดหลายวง ที่รอบเอวมีห่วงสำริด ๓ วง ที่หัวแม่เท้าสวมแหวนสำริดขนาดใหญ่ มีภาชนะดินเผา ใบมีดเหล็ก และลูกปัดแก้วฝังรวมอยู่ด้วย

โครงกระดูกหมายเลข ๖๙ จากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก เป็นชายหนุ่มเสียชีวิตเมื่อประมาณอายุ ๒๕-๓๐ ปี สูงประมาณ ๑๖๗.๙ เซนติเมตร สวมต่างหูทำจากสำริดทั้งสองข้าง สวมกำไลสำริดที่แขนซ้าย ๙ วง และอย่างน้อย ๑๑ วงที่แขนขวา สวมแหวนนิ้วมือข้างขวา ๕๙ วง และข้างซ้าย ๖๕ วง สวมแหวนนิ้วเท้าข้างขวา ๒๖ วง และข้างซ้าย ๗ วง วงที่สวมใส่นิ้วโป้งและนิ้วชี้มีขนาดใหญ่ ทำจากโลหะสองชนิด (bi-metallic) คือ สำริดและเหล็ก ที่ใต้ศีรษะและบนหน้าอกพบกำไลสำริดแตกหักวางอยู่ พบใบมีดเหล็กอยู่ที่ข้างศีรษะขวา เครื่องมือเหล็กคล้ายหัวลูกศรพบที่ใต้ขา พบเศษลูกปัดแก้วจากดินของหลุมศพ ที่น่าสนใจคือ ที่เอวของศพพบว่าสวมห่วงสำริดกลมรอบเอวถึง ๔ วง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68020353590448_4.gif)
ภาพขยายห่วงเอวสำริดและส่วนปลายทั้ง ๒ ข้าง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54325480510791_5.gif)
ภาพสันนิษฐานการแต่งกายด้วยเครื่องประดับสำริดจำนวนมาก
ในการฝังศพของชายผู้เสียชีวิตจากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสวมห่วงเอวสำริดน่าจะสวมให้ผู้ตายเมื่อเสียชีวิตแล้ว

“ห่วงเอวสำริด” (Bronze Belts) มีลักษณะด้านตัดเป็นเส้นสำริดกลมตันมีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย ๒๖ เซนติเมตร ขนาดด้านตัดเฉลี่ย ๕-๗ มิลลิเมตร โค้งเป็นวงกลม บางเส้นโค้งคล้ายรูปไข่ ตรงปลายแยกจากกันได้ด้วยเทคนิคการสร้างให้ปลายข้างหนึ่งแบนด้วยการตี แล้วม้วนให้เป็นคล้ายเกลียวหรือหลอด ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งแหลมทำให้สอดเข้าไปในเกลียวหรือหลอดได้ สามารถขยายหรือลดขนาดเส้นรอบวงและสวมบนร่างกายได้สะดวก นับเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งการทำเครื่องประดับที่ต้องการสวมใส่แบบขยายได้นี้ พบว่า เครื่องประดับห่วงคอทำจากสำริด ที่พบในแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงใช้เทคนิคคล้ายกัน

ห่วงเอวสำริดที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก นับได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งเป็นหลักฐานแน่ชัดถึงการใช้งาน ในรูปแบบของเครื่องประดับร่างกาย ร่วมกับการประดับร่างกายอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ การประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับสำริดจำนวนมาก น่าจะแสดงให้เห็นว่าชายหนุ่มผู้เสียชีวิตนี้ ค่อนข้างจะมีฐานะสูงทางสังคม ลองเปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบัน สังคมชาวเขาเผ่าลีซอ เครื่องประดับที่ขาดไม่ได้คือกำไลคอหรือห่วงคอ ที่จะสวมใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานะด้วยเช่นกัน

การสวมเครื่องประดับจำนวนมาก เช่นชายหนุ่มผู้นี้ จะสวมในชีวิตประจำวันหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพิ่มเติม ในสังคมมนุษย์หลายๆ ท้องถิ่น เมื่อจะมีการไปร่วมกิจกรรมสำคัญหรือมีพิธีกรรมสำคัญมักจะแต่งกายประดับประดาร่างกายอย่างเต็มที่และสวยงามตามแต่ละประเพณีนิยมของสังคมในแต่ละท้องถิ่น แต่ในวิถีชีวิตประจำวัน การตกแต่งร่างกายจะแตกต่างไป เช่น เรียบง่ายและธรรมดาให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ อาชีพของตน จึงเป็นไปได้ว่า ในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เนินอุโลกน่าจะคล้ายกับสังคมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันโดยทั่วไป น่าจะแต่งกายด้วยเครื่องประดับอย่างมากมายและเป็นพิเศษเมื่อมีพิธีกรรมสำคัญเท่านั้น เช่น การตกแต่งร่างกายให้ผู้ตายในพิธีกรรมฝังศพ ตามความเชื่อเรื่องการไปมีชีวิตในโลกอื่นหรือในภพหน้า จะได้มีสิ่งของเครื่องใช้อุดมสมบูรณ์ไม่ลำบาก

ลองคิดถึงสภาพของหนุ่มนายพรานที่ต้องเข้าป่าล่าสัตว์ การสวมแหวนที่นิ้วมือนิ้วเท้าจำนวนมาก และสวมกำไลแขนหลายวง คงทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างยากลำบาก ยิ่งสวมห่วงเอวสำริดหลายวง การเคลื่อนที่แต่ละก้าวย่อมทำให้เกิดการกระทบกันจนมีเสียงดัง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการล่าสัตว์ เพราะอาจทำให้สัตว์ตกใจหนีไปในที่สุด



เรื่องและภาพ : นิตยสารศิลปากร กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่