[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 08 มิถุนายน 2559 20:57:06



หัวข้อ: ฟู่ซ่านเสียง จอหงวนหญิงหนึ่งเดียว ในประวัติศาสตร์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 08 มิถุนายน 2559 20:57:06
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39728261695967_1.jpg)

ฟู่ซ่านเสียง
จอหงวนหญิงหนึ่งเดียว ในประวัติศาสตร์
---------------------------

ร่ำเรียนวิชาเป็นบัณฑิตไปสอบจอหงวน เป็นจอหงวนรับป้ายทองเชิดชูวงศ์ตระกูล จอหงวนคือบัณฑิตผู้ได้อันดับหนึ่งในการสอบหน้าพระที่นั่งอันเป็นการสอบขั้นสูงสุด ในประวัติศาสตร์นับแต่ราชวงศ์ถังจนสิ้นราชวงศ์ชิง นับจอหงวนได้ 592 คน (บางตำราว่า 504 คน) หนึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อสตรีอยู่ชื่อหนึ่ง จอหงวนหญิงผู้นั้นนามว่า “ฟู่ซ่านเสียง”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31208703998062_2.jpg)
การสอบระดับพระที่นั่ง ฮ่องเต้จะเป็นผู้คุมสอบด้วยตัวพระองค์เอง.

ฟู่ซ่านเสียง (ค.ศ.1833-1856) เป็นชาวนครนานกิง มณฑลเจียงซู เกิดในตระกูลบัณฑิตมีความรู้เฉลียวฉลาดเกินวัยแต่เด็กๆ ชอบท่องตำรับตำรา พงศาวดาร ทว่า...วันคืนสมบูรณ์เพียบพร้อมนี้ช่างสั้นนัก เมื่อวัยได้ 8 ขวบ พ่อแม่ ด่วนจากโลกไป ตระกูลตกต่ำดับวูบ ครั้นอายุได้ 13 ปี พี่ชายได้ทำตามคำสั่งเสียพ่อให้นางแต่งเข้าตระกูลหลี่ สามีนั้นกลับอายุน้อยกว่านางถึง 6 ปี นับว่าเป็นคู่บ่าวสาววัยเยาว์ยังไม่ประสากันทั้งคู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ 18 ปี สามีออกหัดจนเสียชีวิต นางกลายเป็นแม่ม่ายแต่ยังสาว หลังเสร็จพิธีฝังศพ แม่สื่อได้วางแผนขายนางแลกเงินเพียงหนึ่งตำลึง นับแต่นั้นฟู่ซ่านเสียงก็ไม่ได้กลับไปตระกูลหลี่อีกเลย ยังสาว...กลับระหกระเหินไร้จุดหมาย หากถามว่าชีวิตยังเหลืออะไร นางคงเหลือแต่ความรู้เท่านั้น ชะตามนุษย์ ฟ้าเท่านั้นที่รู้ ครั้งยังเยาว์ได้พร่ำท่องตำรากับพ่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีผู้ใดทราบว่า วันคืนเหล่านั้นจะเป็นเบ้าเจียระอัญมณีรอวันส่องประกายในวันหนึ่ง...แต่จะเป็นเมื่อใดกัน? จะเป็นใครกันที่ค้นพบ?

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77158595207664_3.jpg)
หงซิ่งฉวน ปลุกระดมมวลชนร่วมก่อการเปลี่ยนแปลง.

ค.ศ.1851 หงซิ่วฉวนนำทัพไท่ผิงลุกฮือขึ้นต่อต้านความฟอนเฟะของราชวงศ์แมนจู ในนามกบฏไท่ผิง ฟู่ซ่านเสียงไร้จุดหมายชีวิตจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัพไท่ผิงตั้งแต่บัดนั้น ต้นกำเนิดทัพไท่ผิงเริ่มต้นหลังสงครามฝิ่น สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมนั้นทำให้เกิดขบวนการใต้ดินหลายหลายกลุ่ม หนึ่งในกลุ่มที่โดดเด่นนั้นมีพรรคไป่ซ่างตี้ฮุ่ย มีผู้นำชื่อ “หงซิ่วฉวน” หงซิ่วฉวนเป็นชาวกวางตุ้ง บ้านมีฐานะยากจน แต่กัดฟันทนส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนประจำหมู่บ้าน หงซิ่วฉวนเคยสอบบัณฑิตหลายครั้งแต่พลาดมาตลอด ต่อมาได้รับตำราเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีแจกในเมือง เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความศรัทธา จนเป็นแรงบันดาลใจให้หงซิ่วฉวนได้ก่อหวอดลุกฮือขึ้น ชูอุดมการณ์จะสร้างโลกมหาสันติ โดยมีหลักพื้นฐานมาจากศาสนาคริสต์และกล่าวว่าตนคือน้องชายพระเยซู ต่อมาหงซิ่วฉวนได้ร่วมมือกับผู้นำที่เป็นชาวบ้านหลายคนเช่น หยางซิ่วชิง เป็นคนเผาถ่าน เซียวเฉากุ้ยเป็นชาวนายากจน เว่ยชางฮุยเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆ ทุกคนต่อมาล้วนอยู่ในกลุ่มผู้นำทัพไท่ผิง ราชสำนักเรียกพวกนี้ว่า ไป่ซ่างตี้ฮุ่ย หมายถึง “พรรคนับถือพระเจ้า” ส่วนเหล่ากบฏเรียกตนว่าทัพไท่ผิง แปลว่า มหาสันติ กบฏกลุ่มนี้ไม่ยอมรับสนธิสัญญานานกิงที่เอาเปรียบชาวจีนเกินไป และไม่ไว้เปีย จึงมีคนเรียกว่า “กบฏผมยาว”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32599474282728_4.jpg)
การประชุมท้องพระโรงในประเทศไท่ผิงวาดโดยจิตรกรตะวันตก.

เมื่อบุกเข้ายึดนานกิงสถาปนาเป็นเมืองหลวงได้ ตั้งชื่อใหม่ว่า “เทียนจิง” (ธานีสวรรค์) ตั้งดินแดนตั้งดินแดนที่ยึดครองได้ขึ้นเป็นประเทศชื่อว่า “ไท่ผิงเทียนกว๋อ” (เมืองแมนแดนมหาสันติ) หงซิ่วฉวนตั้งตนเป็นเทียนอ๋อง (จ้าวสวรรค์) ให้หยางซิ่วชิงเป็นอ๋องบูรพา เซียวเฉากุ้ยเป็นอ๋องประจิม ฝงหยุนซานเป็นอ๋องทักษิณ เว่ยชางฮุยเป็นอ๋องอุดร

อุดมการณ์ไท่ผิงเห็นว่า โลกนี้พระเจ้าทรงสร้างไว้ให้มนุษย์ชายหญิงเท่าเทียม ชายหญิงได้รับแบ่งที่ดินทำกินเท่าเทียมกัน ห้ามมีโสเภณี โทษข่มขืนผู้หญิงสำหรับทหารคือ ประหารชีวิต ห้ามซื้อขายเด็กผู้หญิง สร้างกองทัพหญิงมีนายทหารหญิงคุมกองทัพของตนเอง มีชั้นยศอย่างบุรุษ หลักการมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเหล่านี้นี่เองที่ทัพไท่ผิงต่างจากกบฏกลุ่มอื่นๆ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47024828154179_5.jpg)
ตราลัญจกรของเทียนอ๋อง หงซิ่วฉวน.

ค.ศ. 1853 หงซิ่วฉวนออกโองการจัดสอบ “บัณฑิตหญิง” ฉีกขนบจารีตเดิมแต่โบราณนับพันปี ในอดีตหงซิ่วฉวนเคยสอบบัณฑิตหลายครั้งแต่ไม่ผ่านจนเคยออกปากว่า “รอให้ข้าเป็นคนจัดสอบเองเถอะ” การจัดสอบครั้งนี้จึงนับว่าสมใจหงซิ่วฉวนแล้วระบบการจัดสอบบัณฑิตจีนมีหลายระดับ หลายขั้น การสอบจอหงวนที่คุ้นหูกันดีนั้นคือการสอบขั้นสูงสุด เป็นการสอบต่อหน้าพระที่นั่ง ผู้สอบผ่านการสอบนี้เรียกว่า จิ้นสือ หรือบัณฑิตพระที่นั่ง โดยมีคำเรียกจิ้นสืออันดับหนึ่งเรียกว่า จอหงวน จิ้นสืออันดับสองเรียกว่า ปั่งงั้ง จิ้นสืออันดับสาม เรียกว่า ท้ำฮวย

การจัดสอบบัณฑิตนั้น หงซิ่วฉวนให้อ๋องบูรพาหยางซิ่วชิงเป็นหัวหน้าคุมสอบบัณฑิตชาย ให้หงซ่วนเจียว น้องสาวหงซิ่วฉวนเองเป็นหัวหน้าคุมสอบบัณฑิตหญิง เวลานั้นผู้เข้าร่วมสอบบัณฑิตชายหญิงร่วม 600 กว่าคน บัณฑิตชายหญิงล้วนใช้คำถามเดียวกัน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/65335236696733_6.jpg)
เหรียญเงินตราจับจ่ายในประเทศไท่ผิงเทียนกว๋อ.

การสอบครั้งนั้นมีบันทึกหลายท่านเขียนสอดคล้องกันอยู่หลายเล่ม การสอบบัณฑิตหญิงในประเทศไท่ผิงเทียนกว๋อจึงเป็นเรื่องน่าเชื่อถือพอสมควร การสอบครั้งนั้นได้จอหงวนชาย เฉิงเหวิน-เซียง ได้จอหงวนหญิง ฟู่ซ่านเสียง ปั่งงั้งหญิงคือ จงซิ่วอิง ท้ำฮวยหญิงคือ หลินลี่ฮัว

หลังขึ้นสู่จุดสูงสุดของการประชันปัญญา ฟู่ซ่านเสียงได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นอย่างไร้ข้อกังขาใดๆว่า ความปรีชาสามารถของนางคือยอดอัญมณีแห่งวงการบัณฑิตแท้จริง ภายหลังได้เป็นจอหงวน หยางซิ่วชิงให้ฟู่ซ่านเสียงเข้าทำงานในตำหนักอ๋องบูรพาของตน แต่งตั้งฟู่ซ่านเสียงเป็นอาลักษณ์หญิง ดูแลเรื่องแถลงการณ์ของอ๋องบูรพาและตระเตรียมงานหนังสือต่างๆ

ความฉลาดปราดเปรื่องของฟู่ซ่านเสียงค่อยๆร่ำลือไปตำหนักเทียนอ๋อง เทียนอ๋องหงซิ่วฉวนได้มอบหมายงานแก่ฟู่ซ่านเสียงผ่านหยางซิ่วชิงหลายครั้ง ทุกครั้งปฏิบัติภารกิจอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเสร็จสิ้น เดือนมีนาคม ค.ศ.1854 หงซิ่วฉวนออกโองการฉีกจารีตอีกคราแต่งตั้งฟู่ซ่านเสียงเป็นไจ้เซียงหรืออัครมหาเสนาบดี (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ภารกิจสำคัญยังคงช่วยงานอ๋องบูรพาผ่านราชการต่างๆ

เมื่อหงซิ่วฉวนสถาปนานครเทียนจิงแล้วก็มุ่งมาดปฏิรูปสังคมให้ก้าวหน้า ไม่ได้คิดเพียงแค่แย่งบัลลังก์มังกรจากราชสำนัก สิ่งที่หงซิ่วฉวนคิด ฟู่ซ่านเสียงได้กุยทางจนเป็นจริงขึ้นได้ ออกกฎหมายใหม่สร้างความเท่าเทียมชายหญิงได้ในที่สุด ในประเทศไท่ผิงนั้นได้ปรากฏสตรีผู้โด่งดังเคียงกัน 2 นาง ถึงกับมีคำกล่าวว่า “บู๊มีหงซ่วนเจียว บุ๋นมีฟู่ซ่านเสียง”

หงซ่วนเจียวแม้เป็นอิสตรีแต่ก็เป็นนักแม่นปืนอันดับหนึ่งของไท่ผิงเทียนกว๋อ ยิงปืนแม่นมากขนาดเคยยิงทหารชิงตายคากำแพงเมือง สะพายปืนบุกเดี่ยวยึดเมืองมาแล้วจนได้ฉายา “ปืนเทพยดา” เมื่อฟู่ซ่านเสียงเข้ามาปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาในอดีต ทำให้ทัพหญิงของหงซ่วนเจียวเข้มแข็งขึ้น มีเหล่าหญิงสาวอาสาเข้าร่วมยกทัพจับศึกมากมาย

แม้ฟู่ซ่านเสียงจะได้รับตำแหน่งสูงตั้งแต่อายุเพียง 20 กว่าๆ แต่นางได้พัฒนากิจการบ้านเมืองของประเทศใหม่ ตั้งแต่ตรากฎหมายใหม่กำหนดระบบเงินตรา การจัดสรรที่ดินแก่พลเมืองใหม่ทั้งหมด ฯลฯ ภารกิจหลายอย่างแม้ขุนนางเก่าผู้ผ่านโลกมามากยังยากจัดการ แต่ฟู่ซ่านเสียงบริหารบ้านเมืองจนแม้แต่ชาวตะวันตกอดทึ่งไม่ได้

ตอนนั้นชาวตะวันตกสนใจประเทศไท่ผิงมาก ขนาดส่งทูตไปเยือน เทียนจิง ท่านสาธุคุณอี.ซีบริดจแมนได้บันทึกไว้ว่า “ผู้คนทั้งหลายทั้งปวง (ในอาณาจักรไท่ผิง) ที่เราได้พบเห็นล้วนแต่แต่งตัวดี เห็นได้ว่ามีความเป็นดีอยู่ดีในทุกๆทาง ดูพวกเขามีความพึงพอใจและกำลังขวัญดีมาก ล้วนแล้วแต่มีความมั่นใจในผลสำเร็จของตน” (จากงานแปลของ ทวีป วรดิลก, การเมืองทมิฬ ตอน อั้งยี่ ครองเมือง) ในปลายปี ค.ศ.1853 ประเทศไท่ผิงมีข้าวสะสมถึง 2 ล้านหาบ (1 หาบเท่ากับประมาณ 60.5 กิโลกรัม) ความสำเร็จเหล่านี้นับว่าฟู่ซ่านเสียงมีส่วนร่วมอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้

กระนั้นเมฆทะมึนเริ่มก่อตัว ทัพไท่ผิงใช้เวลา 4 ปีตั้งเมืองหลวง เหล่าทหารเริ่มใช้ชีวิตสุขสบายจนลืมจุดยืน อ๋องบูรพาหยางซิ่วชิงเริ่มเหลิงในอำนาจไปขอเพิ่มศักดิ์จากเก้าพันปี เป็นหมื่นปีเสมอเทียนอ๋อง หงซิ่วฉวนจึงออกคำสั่งลับให้เว่ยชางฮุยกำราบหยางซิ่วชิง เว่ยชางฮุยกลับอาศัยความไม่ลงรอยระหว่างหงซิ่วฉวนกับหยางซิ่วชิง นำทัพเข้าเทียนจิงสังหารคนตายเป็นเบือ เมื่อหงซิ่วฉวนจับได้ก็สั่งประหารทันที

เหตุการณ์นี้เป็นรอยร้าวหายนะแก่ประเทศไท่ผิงในภายหลัง หนึ่งในชีวิตที่สังเวยนั้นคือ ฟู่ซ่านเสียง

มรณกรรมของฟู่ซ่านเสียงมีคำบอกเล่าต่างกันไป บ้างว่า นางถูกฆ่าในช่วงเกิดจลาจลภายในไท่ผิง ร่างไร้วิญญาณถูกทิ้งลงแม่น้ำไหลไปบูรพาทิศ บ้างว่าระหว่างจลาจลภายในไท่ผิง ฟู่ซ่านเสียงหลบหนีรอดชีวิตไปได้ และรวบรวมกำลังที่เหลือของอ๋องบูรพาไปสมทบกับสือต๋าไคบุกตีตำหนักอ๋องอุดร เพื่อแก้แค้นให้แก่หยางซิ่วชิง คนรักของนาง หยางซิ่วชิงไม่รู้หนังสือ ฟู่ซ่านเสียงต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชจนบางทีหยางซิ่วชิงก็รำคาญแต่นั่นคงเป็นสายสัมพันธ์ให้เกิดความรักขึ้น และบ้างว่าขณะเกิดจลาจลอ๋องอุดรจับตัวฟู่ซ่านเสียงได้แล้วนำไปขังคุก ต่อมาคนของหงซ่วนเจียวลอบช่วยเหลือภายหลังได้ส่งไปให้ม่ออ๋อง ถานเส้ากวง แต่ระหว่างส่งข่าวจากซูโจวไปถึงเทียนจิงก็บาดเจ็บเสียชีวิต ฟู่ซ่านเสียงผิดหวังจนตรอมใจตาย

ปลายยุคไท่ผิง แม้สิ้นคนใกล้ตัวไปหลายคนและขุนนางมากความสามารถอย่างฟู่ซ่านเสียง ประเทศไท่ผิงก็ยังพยายามวางแผนพัฒนาคมนาคมโดยสร้างทางรถไฟ ทางหลวง ใช้เรือกลไฟ ปรับปรุงระบบการเงินด้วยการตั้งธนาคาร นับว่าเป็นเรื่องทันสมัยล้ำยุคมากในช่วงเวลานั้น  กบฏไท่ผิงแรกเริ่มมีไพร่พลอยู่ประมาณ 10,000 กว่าคน เมื่อตีนานกิงได้มีพล 1 ล้านคน ภายหลังตั้งกรุงเทียนจิงแล้วมีประชากรมากถึง 100 ล้านคน พื้นที่อาณาจักรกินพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของแผ่นดินจีน นับเป็นกบฏที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ผ่านไปหลายปี แม้กบฏไท่ผิงจะเริ่มอ่อนลงในภายหลังแต่กองทัพต้าชิงก็ยังไม่อาจสยบได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาแสนยานุภาพทันสมัยของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1864 เป็นปีอวสานประเทศไท่ผิง ศึกสุดท้ายนี้ แม่ทัพต้าชิงสั่งให้บุกหนักทั้งเช้าค่ำไม่หยุดตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ทัพไท่ผิงออกประจันทัพแมนจู ในกองทัพนั้นมีทหารหญิงออกศึกรบเยี่ยงทหารชายมากมาย สิ่งที่ฟู่ซ่านเสียงผู้ล่วงลับเพียรสร้างไม่ได้สูญเปล่าเลย นางได้หว่านเมล็ดแห่งวิญญาณเสรีชนจนงอกงามในบรรดาหญิงสาวทุกรูปนาม ณ เมืองแมนแดนมหาสันติแห่งนี้ ทุกคนต่างหวงแหนแผ่นดินที่บุกเบิกมาด้วยกัน ที่นี่คือแผ่นดินไท่ผิง ไม่ใช่ต้าชิง

ทหารไท่ผิงนั้นรบสู้ตายถวายหัวทั้งชายหญิง กองทัพแมนจูถึงกับต้องขุดอุโมงค์เข้าเมืองขนระเบิด 15,000 กิโลกรัมไปถล่ม แม้ขนาดสุดท้ายเหลือทหารไท่ผิงเพียง 3-4 พันคน ยังต้านจนทัพแมนจูผสมฝรั่งเข้ายึดเมืองไม่ได้ กว่าจะตีเมืองแตกได้ก็ปาเข้าไปวันที่ 19 กรกฎาคม สิ้นเวลาถึงครึ่งเดือนกว่าจะพิชิตกำลังเพียงหยิบมือนี้ได้

แม้ประเทศนี้มีอายุสั้นเพียง 14 ปี ไท่ผิงแตกสลายแต่ไม่แตกดับอุดมการณ์อันมุ่งเปลี่ยนยุคสมัยนั้นได้เล่าขานจนตราตรึงใจเด็กชายคนหนึ่ง เด็กผู้นี้เป็นเพียงลูกคนจนๆ แถบมณฑลกวางตุ้ง ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นเขาคือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก นามของเขาคือ ซุนยัดเซ็น

ฟู่ซ่านเสียงลาลับแต่ไม่โรยรา เกียรติภูมิสร้างจากสองมือของนางไม่มีผู้ใดลบล้างไปได้

ในประวัติศาสตร์จีน บูเช็กเทียนคือจักรพรรดินีเพียงหนึ่งเดียว ฟู่ซ่านเสียงก็เป็นจอหงวนหญิงเพียงผู้เดียว หากบูเช็กเทียนคือยอดหญิงผู้อยู่เหนือขุนนางทั้งหลาย ฟู่ซ่านเสียงก็คือปัญญาชนหญิงผู้อยู่เหนือบัณฑิตทั้งปวง ยืนเสมอเหมือนเทียบเท่าบัณฑิตชายชาตรีอย่างสง่างาม

เมื่อกล่าวถึงฟู่ซ่านเสียง จงเล่าขานไปเถิดว่า นางคือจอหงวนหญิงแห่งประเทศไท่ผิง

...จงเล่าขานไปเถิดว่า นางคือจอหงวนหญิงเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์.


ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน