[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
06 พฤษภาคม 2567 09:39:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ฟู่ซ่านเสียง จอหงวนหญิงหนึ่งเดียว ในประวัติศาสตร์  (อ่าน 1366 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2329


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 08 มิถุนายน 2559 20:57:06 »

.



ฟู่ซ่านเสียง
จอหงวนหญิงหนึ่งเดียว ในประวัติศาสตร์
---------------------------

ร่ำเรียนวิชาเป็นบัณฑิตไปสอบจอหงวน เป็นจอหงวนรับป้ายทองเชิดชูวงศ์ตระกูล จอหงวนคือบัณฑิตผู้ได้อันดับหนึ่งในการสอบหน้าพระที่นั่งอันเป็นการสอบขั้นสูงสุด ในประวัติศาสตร์นับแต่ราชวงศ์ถังจนสิ้นราชวงศ์ชิง นับจอหงวนได้ 592 คน (บางตำราว่า 504 คน) หนึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อสตรีอยู่ชื่อหนึ่ง จอหงวนหญิงผู้นั้นนามว่า “ฟู่ซ่านเสียง”


การสอบระดับพระที่นั่ง ฮ่องเต้จะเป็นผู้คุมสอบด้วยตัวพระองค์เอง.

ฟู่ซ่านเสียง (ค.ศ.1833-1856) เป็นชาวนครนานกิง มณฑลเจียงซู เกิดในตระกูลบัณฑิตมีความรู้เฉลียวฉลาดเกินวัยแต่เด็กๆ ชอบท่องตำรับตำรา พงศาวดาร ทว่า...วันคืนสมบูรณ์เพียบพร้อมนี้ช่างสั้นนัก เมื่อวัยได้ 8 ขวบ พ่อแม่ ด่วนจากโลกไป ตระกูลตกต่ำดับวูบ ครั้นอายุได้ 13 ปี พี่ชายได้ทำตามคำสั่งเสียพ่อให้นางแต่งเข้าตระกูลหลี่ สามีนั้นกลับอายุน้อยกว่านางถึง 6 ปี นับว่าเป็นคู่บ่าวสาววัยเยาว์ยังไม่ประสากันทั้งคู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ 18 ปี สามีออกหัดจนเสียชีวิต นางกลายเป็นแม่ม่ายแต่ยังสาว หลังเสร็จพิธีฝังศพ แม่สื่อได้วางแผนขายนางแลกเงินเพียงหนึ่งตำลึง นับแต่นั้นฟู่ซ่านเสียงก็ไม่ได้กลับไปตระกูลหลี่อีกเลย ยังสาว...กลับระหกระเหินไร้จุดหมาย หากถามว่าชีวิตยังเหลืออะไร นางคงเหลือแต่ความรู้เท่านั้น ชะตามนุษย์ ฟ้าเท่านั้นที่รู้ ครั้งยังเยาว์ได้พร่ำท่องตำรากับพ่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีผู้ใดทราบว่า วันคืนเหล่านั้นจะเป็นเบ้าเจียระอัญมณีรอวันส่องประกายในวันหนึ่ง...แต่จะเป็นเมื่อใดกัน? จะเป็นใครกันที่ค้นพบ?


หงซิ่งฉวน ปลุกระดมมวลชนร่วมก่อการเปลี่ยนแปลง.

ค.ศ.1851 หงซิ่วฉวนนำทัพไท่ผิงลุกฮือขึ้นต่อต้านความฟอนเฟะของราชวงศ์แมนจู ในนามกบฏไท่ผิง ฟู่ซ่านเสียงไร้จุดหมายชีวิตจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัพไท่ผิงตั้งแต่บัดนั้น ต้นกำเนิดทัพไท่ผิงเริ่มต้นหลังสงครามฝิ่น สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมนั้นทำให้เกิดขบวนการใต้ดินหลายหลายกลุ่ม หนึ่งในกลุ่มที่โดดเด่นนั้นมีพรรคไป่ซ่างตี้ฮุ่ย มีผู้นำชื่อ “หงซิ่วฉวน” หงซิ่วฉวนเป็นชาวกวางตุ้ง บ้านมีฐานะยากจน แต่กัดฟันทนส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนประจำหมู่บ้าน หงซิ่วฉวนเคยสอบบัณฑิตหลายครั้งแต่พลาดมาตลอด ต่อมาได้รับตำราเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีแจกในเมือง เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความศรัทธา จนเป็นแรงบันดาลใจให้หงซิ่วฉวนได้ก่อหวอดลุกฮือขึ้น ชูอุดมการณ์จะสร้างโลกมหาสันติ โดยมีหลักพื้นฐานมาจากศาสนาคริสต์และกล่าวว่าตนคือน้องชายพระเยซู ต่อมาหงซิ่วฉวนได้ร่วมมือกับผู้นำที่เป็นชาวบ้านหลายคนเช่น หยางซิ่วชิง เป็นคนเผาถ่าน เซียวเฉากุ้ยเป็นชาวนายากจน เว่ยชางฮุยเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆ ทุกคนต่อมาล้วนอยู่ในกลุ่มผู้นำทัพไท่ผิง ราชสำนักเรียกพวกนี้ว่า ไป่ซ่างตี้ฮุ่ย หมายถึง “พรรคนับถือพระเจ้า” ส่วนเหล่ากบฏเรียกตนว่าทัพไท่ผิง แปลว่า มหาสันติ กบฏกลุ่มนี้ไม่ยอมรับสนธิสัญญานานกิงที่เอาเปรียบชาวจีนเกินไป และไม่ไว้เปีย จึงมีคนเรียกว่า “กบฏผมยาว”


การประชุมท้องพระโรงในประเทศไท่ผิงวาดโดยจิตรกรตะวันตก.

เมื่อบุกเข้ายึดนานกิงสถาปนาเป็นเมืองหลวงได้ ตั้งชื่อใหม่ว่า “เทียนจิง” (ธานีสวรรค์) ตั้งดินแดนตั้งดินแดนที่ยึดครองได้ขึ้นเป็นประเทศชื่อว่า “ไท่ผิงเทียนกว๋อ” (เมืองแมนแดนมหาสันติ) หงซิ่วฉวนตั้งตนเป็นเทียนอ๋อง (จ้าวสวรรค์) ให้หยางซิ่วชิงเป็นอ๋องบูรพา เซียวเฉากุ้ยเป็นอ๋องประจิม ฝงหยุนซานเป็นอ๋องทักษิณ เว่ยชางฮุยเป็นอ๋องอุดร

อุดมการณ์ไท่ผิงเห็นว่า โลกนี้พระเจ้าทรงสร้างไว้ให้มนุษย์ชายหญิงเท่าเทียม ชายหญิงได้รับแบ่งที่ดินทำกินเท่าเทียมกัน ห้ามมีโสเภณี โทษข่มขืนผู้หญิงสำหรับทหารคือ ประหารชีวิต ห้ามซื้อขายเด็กผู้หญิง สร้างกองทัพหญิงมีนายทหารหญิงคุมกองทัพของตนเอง มีชั้นยศอย่างบุรุษ หลักการมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเหล่านี้นี่เองที่ทัพไท่ผิงต่างจากกบฏกลุ่มอื่นๆ



ตราลัญจกรของเทียนอ๋อง หงซิ่วฉวน.

ค.ศ. 1853 หงซิ่วฉวนออกโองการจัดสอบ “บัณฑิตหญิง” ฉีกขนบจารีตเดิมแต่โบราณนับพันปี ในอดีตหงซิ่วฉวนเคยสอบบัณฑิตหลายครั้งแต่ไม่ผ่านจนเคยออกปากว่า “รอให้ข้าเป็นคนจัดสอบเองเถอะ” การจัดสอบครั้งนี้จึงนับว่าสมใจหงซิ่วฉวนแล้วระบบการจัดสอบบัณฑิตจีนมีหลายระดับ หลายขั้น การสอบจอหงวนที่คุ้นหูกันดีนั้นคือการสอบขั้นสูงสุด เป็นการสอบต่อหน้าพระที่นั่ง ผู้สอบผ่านการสอบนี้เรียกว่า จิ้นสือ หรือบัณฑิตพระที่นั่ง โดยมีคำเรียกจิ้นสืออันดับหนึ่งเรียกว่า จอหงวน จิ้นสืออันดับสองเรียกว่า ปั่งงั้ง จิ้นสืออันดับสาม เรียกว่า ท้ำฮวย

การจัดสอบบัณฑิตนั้น หงซิ่วฉวนให้อ๋องบูรพาหยางซิ่วชิงเป็นหัวหน้าคุมสอบบัณฑิตชาย ให้หงซ่วนเจียว น้องสาวหงซิ่วฉวนเองเป็นหัวหน้าคุมสอบบัณฑิตหญิง เวลานั้นผู้เข้าร่วมสอบบัณฑิตชายหญิงร่วม 600 กว่าคน บัณฑิตชายหญิงล้วนใช้คำถามเดียวกัน



เหรียญเงินตราจับจ่ายในประเทศไท่ผิงเทียนกว๋อ.

การสอบครั้งนั้นมีบันทึกหลายท่านเขียนสอดคล้องกันอยู่หลายเล่ม การสอบบัณฑิตหญิงในประเทศไท่ผิงเทียนกว๋อจึงเป็นเรื่องน่าเชื่อถือพอสมควร การสอบครั้งนั้นได้จอหงวนชาย เฉิงเหวิน-เซียง ได้จอหงวนหญิง ฟู่ซ่านเสียง ปั่งงั้งหญิงคือ จงซิ่วอิง ท้ำฮวยหญิงคือ หลินลี่ฮัว

หลังขึ้นสู่จุดสูงสุดของการประชันปัญญา ฟู่ซ่านเสียงได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นอย่างไร้ข้อกังขาใดๆว่า ความปรีชาสามารถของนางคือยอดอัญมณีแห่งวงการบัณฑิตแท้จริง ภายหลังได้เป็นจอหงวน หยางซิ่วชิงให้ฟู่ซ่านเสียงเข้าทำงานในตำหนักอ๋องบูรพาของตน แต่งตั้งฟู่ซ่านเสียงเป็นอาลักษณ์หญิง ดูแลเรื่องแถลงการณ์ของอ๋องบูรพาและตระเตรียมงานหนังสือต่างๆ

ความฉลาดปราดเปรื่องของฟู่ซ่านเสียงค่อยๆร่ำลือไปตำหนักเทียนอ๋อง เทียนอ๋องหงซิ่วฉวนได้มอบหมายงานแก่ฟู่ซ่านเสียงผ่านหยางซิ่วชิงหลายครั้ง ทุกครั้งปฏิบัติภารกิจอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเสร็จสิ้น เดือนมีนาคม ค.ศ.1854 หงซิ่วฉวนออกโองการฉีกจารีตอีกคราแต่งตั้งฟู่ซ่านเสียงเป็นไจ้เซียงหรืออัครมหาเสนาบดี (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ภารกิจสำคัญยังคงช่วยงานอ๋องบูรพาผ่านราชการต่างๆ

เมื่อหงซิ่วฉวนสถาปนานครเทียนจิงแล้วก็มุ่งมาดปฏิรูปสังคมให้ก้าวหน้า ไม่ได้คิดเพียงแค่แย่งบัลลังก์มังกรจากราชสำนัก สิ่งที่หงซิ่วฉวนคิด ฟู่ซ่านเสียงได้กุยทางจนเป็นจริงขึ้นได้ ออกกฎหมายใหม่สร้างความเท่าเทียมชายหญิงได้ในที่สุด ในประเทศไท่ผิงนั้นได้ปรากฏสตรีผู้โด่งดังเคียงกัน 2 นาง ถึงกับมีคำกล่าวว่า “บู๊มีหงซ่วนเจียว บุ๋นมีฟู่ซ่านเสียง”

หงซ่วนเจียวแม้เป็นอิสตรีแต่ก็เป็นนักแม่นปืนอันดับหนึ่งของไท่ผิงเทียนกว๋อ ยิงปืนแม่นมากขนาดเคยยิงทหารชิงตายคากำแพงเมือง สะพายปืนบุกเดี่ยวยึดเมืองมาแล้วจนได้ฉายา “ปืนเทพยดา” เมื่อฟู่ซ่านเสียงเข้ามาปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาในอดีต ทำให้ทัพหญิงของหงซ่วนเจียวเข้มแข็งขึ้น มีเหล่าหญิงสาวอาสาเข้าร่วมยกทัพจับศึกมากมาย

แม้ฟู่ซ่านเสียงจะได้รับตำแหน่งสูงตั้งแต่อายุเพียง 20 กว่าๆ แต่นางได้พัฒนากิจการบ้านเมืองของประเทศใหม่ ตั้งแต่ตรากฎหมายใหม่กำหนดระบบเงินตรา การจัดสรรที่ดินแก่พลเมืองใหม่ทั้งหมด ฯลฯ ภารกิจหลายอย่างแม้ขุนนางเก่าผู้ผ่านโลกมามากยังยากจัดการ แต่ฟู่ซ่านเสียงบริหารบ้านเมืองจนแม้แต่ชาวตะวันตกอดทึ่งไม่ได้

ตอนนั้นชาวตะวันตกสนใจประเทศไท่ผิงมาก ขนาดส่งทูตไปเยือน เทียนจิง ท่านสาธุคุณอี.ซีบริดจแมนได้บันทึกไว้ว่า “ผู้คนทั้งหลายทั้งปวง (ในอาณาจักรไท่ผิง) ที่เราได้พบเห็นล้วนแต่แต่งตัวดี เห็นได้ว่ามีความเป็นดีอยู่ดีในทุกๆทาง ดูพวกเขามีความพึงพอใจและกำลังขวัญดีมาก ล้วนแล้วแต่มีความมั่นใจในผลสำเร็จของตน” (จากงานแปลของ ทวีป วรดิลก, การเมืองทมิฬ ตอน อั้งยี่ ครองเมือง) ในปลายปี ค.ศ.1853 ประเทศไท่ผิงมีข้าวสะสมถึง 2 ล้านหาบ (1 หาบเท่ากับประมาณ 60.5 กิโลกรัม) ความสำเร็จเหล่านี้นับว่าฟู่ซ่านเสียงมีส่วนร่วมอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้

กระนั้นเมฆทะมึนเริ่มก่อตัว ทัพไท่ผิงใช้เวลา 4 ปีตั้งเมืองหลวง เหล่าทหารเริ่มใช้ชีวิตสุขสบายจนลืมจุดยืน อ๋องบูรพาหยางซิ่วชิงเริ่มเหลิงในอำนาจไปขอเพิ่มศักดิ์จากเก้าพันปี เป็นหมื่นปีเสมอเทียนอ๋อง หงซิ่วฉวนจึงออกคำสั่งลับให้เว่ยชางฮุยกำราบหยางซิ่วชิง เว่ยชางฮุยกลับอาศัยความไม่ลงรอยระหว่างหงซิ่วฉวนกับหยางซิ่วชิง นำทัพเข้าเทียนจิงสังหารคนตายเป็นเบือ เมื่อหงซิ่วฉวนจับได้ก็สั่งประหารทันที

เหตุการณ์นี้เป็นรอยร้าวหายนะแก่ประเทศไท่ผิงในภายหลัง หนึ่งในชีวิตที่สังเวยนั้นคือ ฟู่ซ่านเสียง

มรณกรรมของฟู่ซ่านเสียงมีคำบอกเล่าต่างกันไป บ้างว่า นางถูกฆ่าในช่วงเกิดจลาจลภายในไท่ผิง ร่างไร้วิญญาณถูกทิ้งลงแม่น้ำไหลไปบูรพาทิศ บ้างว่าระหว่างจลาจลภายในไท่ผิง ฟู่ซ่านเสียงหลบหนีรอดชีวิตไปได้ และรวบรวมกำลังที่เหลือของอ๋องบูรพาไปสมทบกับสือต๋าไคบุกตีตำหนักอ๋องอุดร เพื่อแก้แค้นให้แก่หยางซิ่วชิง คนรักของนาง หยางซิ่วชิงไม่รู้หนังสือ ฟู่ซ่านเสียงต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชจนบางทีหยางซิ่วชิงก็รำคาญแต่นั่นคงเป็นสายสัมพันธ์ให้เกิดความรักขึ้น และบ้างว่าขณะเกิดจลาจลอ๋องอุดรจับตัวฟู่ซ่านเสียงได้แล้วนำไปขังคุก ต่อมาคนของหงซ่วนเจียวลอบช่วยเหลือภายหลังได้ส่งไปให้ม่ออ๋อง ถานเส้ากวง แต่ระหว่างส่งข่าวจากซูโจวไปถึงเทียนจิงก็บาดเจ็บเสียชีวิต ฟู่ซ่านเสียงผิดหวังจนตรอมใจตาย

ปลายยุคไท่ผิง แม้สิ้นคนใกล้ตัวไปหลายคนและขุนนางมากความสามารถอย่างฟู่ซ่านเสียง ประเทศไท่ผิงก็ยังพยายามวางแผนพัฒนาคมนาคมโดยสร้างทางรถไฟ ทางหลวง ใช้เรือกลไฟ ปรับปรุงระบบการเงินด้วยการตั้งธนาคาร นับว่าเป็นเรื่องทันสมัยล้ำยุคมากในช่วงเวลานั้น  กบฏไท่ผิงแรกเริ่มมีไพร่พลอยู่ประมาณ 10,000 กว่าคน เมื่อตีนานกิงได้มีพล 1 ล้านคน ภายหลังตั้งกรุงเทียนจิงแล้วมีประชากรมากถึง 100 ล้านคน พื้นที่อาณาจักรกินพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของแผ่นดินจีน นับเป็นกบฏที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ผ่านไปหลายปี แม้กบฏไท่ผิงจะเริ่มอ่อนลงในภายหลังแต่กองทัพต้าชิงก็ยังไม่อาจสยบได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาแสนยานุภาพทันสมัยของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1864 เป็นปีอวสานประเทศไท่ผิง ศึกสุดท้ายนี้ แม่ทัพต้าชิงสั่งให้บุกหนักทั้งเช้าค่ำไม่หยุดตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ทัพไท่ผิงออกประจันทัพแมนจู ในกองทัพนั้นมีทหารหญิงออกศึกรบเยี่ยงทหารชายมากมาย สิ่งที่ฟู่ซ่านเสียงผู้ล่วงลับเพียรสร้างไม่ได้สูญเปล่าเลย นางได้หว่านเมล็ดแห่งวิญญาณเสรีชนจนงอกงามในบรรดาหญิงสาวทุกรูปนาม ณ เมืองแมนแดนมหาสันติแห่งนี้ ทุกคนต่างหวงแหนแผ่นดินที่บุกเบิกมาด้วยกัน ที่นี่คือแผ่นดินไท่ผิง ไม่ใช่ต้าชิง

ทหารไท่ผิงนั้นรบสู้ตายถวายหัวทั้งชายหญิง กองทัพแมนจูถึงกับต้องขุดอุโมงค์เข้าเมืองขนระเบิด 15,000 กิโลกรัมไปถล่ม แม้ขนาดสุดท้ายเหลือทหารไท่ผิงเพียง 3-4 พันคน ยังต้านจนทัพแมนจูผสมฝรั่งเข้ายึดเมืองไม่ได้ กว่าจะตีเมืองแตกได้ก็ปาเข้าไปวันที่ 19 กรกฎาคม สิ้นเวลาถึงครึ่งเดือนกว่าจะพิชิตกำลังเพียงหยิบมือนี้ได้

แม้ประเทศนี้มีอายุสั้นเพียง 14 ปี ไท่ผิงแตกสลายแต่ไม่แตกดับอุดมการณ์อันมุ่งเปลี่ยนยุคสมัยนั้นได้เล่าขานจนตราตรึงใจเด็กชายคนหนึ่ง เด็กผู้นี้เป็นเพียงลูกคนจนๆ แถบมณฑลกวางตุ้ง ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นเขาคือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก นามของเขาคือ ซุนยัดเซ็น

ฟู่ซ่านเสียงลาลับแต่ไม่โรยรา เกียรติภูมิสร้างจากสองมือของนางไม่มีผู้ใดลบล้างไปได้

ในประวัติศาสตร์จีน บูเช็กเทียนคือจักรพรรดินีเพียงหนึ่งเดียว ฟู่ซ่านเสียงก็เป็นจอหงวนหญิงเพียงผู้เดียว หากบูเช็กเทียนคือยอดหญิงผู้อยู่เหนือขุนนางทั้งหลาย ฟู่ซ่านเสียงก็คือปัญญาชนหญิงผู้อยู่เหนือบัณฑิตทั้งปวง ยืนเสมอเหมือนเทียบเท่าบัณฑิตชายชาตรีอย่างสง่างาม

เมื่อกล่าวถึงฟู่ซ่านเสียง จงเล่าขานไปเถิดว่า นางคือจอหงวนหญิงแห่งประเทศไท่ผิง

...จงเล่าขานไปเถิดว่า นางคือจอหงวนหญิงเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์.


ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน

 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มิถุนายน 2559 20:59:22 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความบังเอิญ หรือ ความลี้ลับ - ความลี้ลับ ในประวัติศาสตร์
เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
หมีงงในพงหญ้า 4 5634 กระทู้ล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2555 15:14:38
โดย ริต้าร์
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.484 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 10:36:45