[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2567 19:12:20



หัวข้อ: พระแท่นนกยูง ที่มีชื่อเสียงที่สุด และรู้จักกันไปทั้งโลก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2567 19:12:20
(https://sanookholidays.com/wp-content/uploads/2020/02/640px-City_Palace_by_lake_Pichola_Udaipur-600x369.jpg)
พระราชวังซิตี้พาเลซ ชัยปุระ (Udaipur’s City Palace)
รูปภาพจาก : wikimedia

พระแท่นนกยูง

อินเดียถือพระราชบัลลังก์ (พระแท่นราชอาสน์) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ และในอินเดียนั่นแหละ ที่มีพระแท่นนกยูง ซึ่งเป็นพระแท่นที่มีชื่อเสียงที่สุด รู้จักกันไปทั้งโลก

พระแท่นนกยูงนี้ พระเจ้าชาห์ยะฮัน (ครองราชย์ ๑๖๒๘ ถึง ๑๖๕๘) ผู้สร้างทัชมาฮาล เพชรน้ำเอกของศิลปะมุสลิมในอินเดีย เป็นผู้ให้ทำ ใช้เวลาสร้าง ๗ ปี สิ้นเงินราว ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยล้านบาท) ในยุคสมัยนั้น  ตัวพระแท่นยาว ๖ ฟุต มีเท้า ๖ เท้า ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง ฝังเพชร มรกต ทับทิม พนักพิงทำเป็นนกยูงโตเท่าตัวจริง ๒ ตัวรำแพนหาง ฝังเพชรนิลจินดาสลับสีต่างๆ ตามสีขนนกยูงจริงๆ ตานกยูงฝังเพชรเม็ดใหญ่  ระหว่างนกยูงทั้งสอง มีนกแก้วอีกตัวหนึ่งโตเท่านกแก้วจริงๆ สลักจากมรกตทั้งแท่ง ที่พระแท่นมีเสา ๑๒ เสา ทำด้วยทองคำทั้งแท่ง ฝังเพชรนิลจินดาต่างๆ ตั้งขึ้นไปรับเพานซึ่งดาดด้วยแพรอย่างดีที่สุด  รอบเพดานแพรเอาไข่มุกมาทำเป็นระบายเฟื่องห้อย  

พระแท่นนกยูงนี้ ได้ถูก นาดีร์ชาห์ กษัตริย์เปอร์เซีย กวาดริบเอาไปเมื่อคราวอินเดียแพ้ศึกสงคราม

ในปี พ.ศ.๒๒๖๐ “เมอร์มะหะหมุด” ได้ครองแคว้นกันดาฮาร์ (อยู่ในประเทศปากีสถาน) ท่านองค์นี้เก่งในการศึกสงคราม ได้ยกทัพไปตีประเทศเปอร์เซีย ยึดได้เมืองอิสปาหาน นครหลวง ในปี พ.ศ.๒๒๖๕      ตอนเสียกรุง “เจ้าตาห์มาสป์” โอรสกษัตริย์เปอร์เซียไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเพื่อจะกู้กรุงคืน ได้คนมีฝีมือคนหนึ่งชื่อ “นาดีร์กูลี” เป็นทหารเอก  นาดีร์กูลีคนนี้เป็นชาติปะถ่าน (แขกปาทาน) เริ่มทำศึกตีได้เมืองเหรัต ที่ตั้งเป็นแคว้นอิสระ แล้วตีได้เมืองอื่นๆ เรื่อยไป จนตีได้กรุงอิสปาหานถวายเจ้านายสำเร็จ ได้เจ้าหญิงน้องสาวเจ้าตาร์มาสป์เป็นบำเหน็จ

เจ้าตาร์มาสป์ ได้เป็นชาห์ครองเปอร์เซียอยู่ ๓ ปี (พ.ศ.๒๒๗๓-๒๒๗๕) โอรสนามว่าอับบาส อายุ ๘ เดือน ได้เป็นกษัตริย์อยู่จนอายุได้ ๕ ขวบ (สวรรคตหรือถูกปลงพระชนม์ไม่แน่)   นาดีร์กูลีก็ได้เป็นชาห์ครองครองเปอร์เซีย ในปี พ.ศ.๒๒๗๙  ต่อจากนี้นาดีร์กูลีก็เริ่มทำสงคราม แผ่อำนาจปราบได้ดินแดนอัฟกานิสถานทั้งหมด แล้วกรีธาทัพเข้าอินเดีย ตีได้แคว้นปัญจาปตะลุยเรื่อยมา พระเจ้าโมหะเม็ดแต่งทัพใหญ่ออกต่อสู้ก็แพ้พินาศยับเยิน ข้าศึกเข้ากรุงเดลฮีได้ใน พ.ศ.๒๒๘๒  นาดีร์ปล่อยให้กองทัพเที่ยวปล้นฆ่าฟันผู้คนตายถึง ๑๐๐,๐๐๐ เศษ  พระเจ้าโมหะเม็ดยอมแพ้  นาดีร์ชาห์กวาดริบสมบัติอันมหาศาลในพระราชวังไปหมดสิ้น  ได้สมบัติชิ้นใหญ่ที่มีค่าที่สุดก็คือ พระแท่นนกยูง

นอกจากพระแท่นนกยูงนี้ ยังมีของมีค่ายิ่งยวดอีกสิ่งหนึ่ง คือ เพชรเม็ดใหญ่ ที่มีชื่อ โกห์อินูร์ ที่ไปเป็นเพชรประดับพระมหามงกุฏอังกฤษปัจจุบันนี้   พระเจ้าโมหะเม็ดเอาเพชรใหญ่นี้ ประดับผ้าโพกพระเศียรทรงเป็นประจำ  น้ำหนักเพชรนี้ประมาณ ๒๘๐ กะรัต (ว่าเดิมหนัก ๗๙๓ กะรัต แล้วเอาไปเจียระไน เสียเศษมากไป แต่เขาว่าช่างเจียระไนโกงไป)  นาดีร์ชาห์ได้ข่าวเพชรใหญ่นี้อยู่ก่อนแล้วอยากจะได้ แต่เป็นของติดผ้าโพกพระเศียรประจำองค์ก็ไม่รู้จะเอาอย่างไร จึงคิดอุบายถ่ายเทเอาจนได้ คือ เมื่อพระเจ้าโมหะเม็ดยอมแพ้แล้ว  วันหนึ่งก็มีงานเลี้ยงใหญ่ในพระราชวังกรุงเดลฮี เมื่อสององค์ทรงสนทนากัน  นาดีร์ชาห์รับสั่งว่า “ไหนๆ เราก็ได้เป็นมิตรกันแล้ว ควรจะต้องเปลี่ยนผ้าโพกกันตามธรรมเนียมสำหรับมิตรภาพของเรา”  พระเจ้าโมหะเม็ดไม่รู้จะบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ต้องยอม  นาดีร์ชาห์ก็ได้เพชรเม็ดใหญ่อีกเม็ดหนึ่ง ซึ่งมีราคาราว ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท เดิมเพชรนี้ไม่มีชื่อ  เมื่อนาดีร์ชาห์ได้ไป จึงไปตั้งชื่อว่า โกห์อินูร์ แปลว่า ภูเขาแห่งแสง

นาดีร์ชาห์ ขนทรัพย์สมบัติอันมหาศาลกลับไปนครอิสปาหาน ครองเมืองอยู่ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๒๙๐ เกิดจลาจล  นาดีร์ชาห์ถูกฆ่าตาย และก็ในตรงนี้เอง ที่ดินแดนอัฟกานิสถานได้เกิดเป็นประเทศเป็นปึกแผ่นที่แท้จริงขึ้นเป็นครั้งแรก



อ้างอิง :
       - บันทึกประวัติศาสตร์ "ภาพแขกปะถ่าน"  ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ โดย กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) สำนักพิมพ์ "สาส์นสวรรค์" พิมพ์เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒
       - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี