[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 ธันวาคม 2560 10:06:51



หัวข้อ: ป่าหิมพานต์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 ธันวาคม 2560 10:06:51

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28593955023421_g1.jpg)

หิมพานต์

จากบทความ “สัตว์หิมพานต์ในป่าหิมพานต์รอบเขาพระสุเมรุ” คอลัมน์สุวรรณภูมิในอาเซียน เผยแพร่ในมติชนรายวัน ว่า สัตว์หิมพานต์เป็นสัตว์ในจินตนาการ ไม่มีตัวจริง แต่บางชนิดสร้างสรรค์จากสัตว์สามัญจริงๆ โดยเพิ่มลักษณะพิเศษให้แตกต่างจากสัตว์สามัญที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ในดินแดนอันลึกลับและลี้ลับห่างไกล

ครั้งแรกมีในวรรณกรรม เช่น คัมภีร์และชาดกในพุทธศาสนา แต่มีไม่มากชนิด เมื่อนานเข้าก็มากขึ้น แล้วช่างท้องถิ่นต่างๆ สร้างเพิ่มอีกจึงมีมากขึ้น บางทีสัตว์ชนิดเดียวกันแต่รูปร่างต่างกันในรายละเอียด

หิมพานต์ แปลว่า มีหิมะ, ปกคลุมด้วยหิมะ เป็นชื่อภูเขาใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย บัดนี้เรียกภูเขาหิมาลัย ป่าที่อยู่รอบบริเวณภูเขานี้ก็เรียกกันว่าป่าหิมพานต์ ทั้งนี้ หิมะ มาจากคำบาลี ว่า หิม (อ่านว่า หิ-มะ) แปลว่าหนาว, มีน้ำค้างแข็ง, น้ำแข็ง, ละอองน้ำแข็งเรียกหิมะ พานต์ มาจากคำบาลีว่า วันต์ หรือ วน (อ่านว่า วะ-นะ) แปลว่า ป่า, ป่าไม้

สัตว์หิมพานต์ในศิลปกรรม สัตว์หิมพานต์ที่พบในการประดับตกแต่งงานประณีตศิลปกรรม เช่น ตู้พระธรรม หรือหีบพระธรรมตกแต่งลายรดน้ำ สมัยอยุธยา ซึ่งมีลวดลายกนกเปลวเพลิง เคล้าภาพสัตว์ต่างๆ ในธรรมชาติ อาทิ นก กระรอก และสัตว์หิมพานต์ เช่น หงส์ กินนร กินรี นรสิงห์ นรนารี คชสีห์ ราชสีห์ ครุฑ นาค สิงโตจีน กิเลน เป็นต้น ภาพดังกล่าวนี้ผูกลวดลายอยู่ในอิริยาบถเคลื่อนไหวมีชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ มีรายละเอียดภาพและลายสอดประสานเข้ากันได้อย่างงดงาม เส้นสายลวดลายมีความอ่อนช้อย วิจิตรงดงามและมีอิสระในการสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

ในทางศิลปะสถาปัตยกรรมพบว่ามีการนำรูปสัตว์หิมพานต์มาใช้ประดับตกแต่งตามศาสนสถาน อาทิ การประดับเสาหงส์รูปสิงห์หรือช้างรอบฐานพระสถูปเจดีย์ ฯลฯ ประติมากรรมตั้งประดับ เช่น ช้าง ม้า ทัณฑิมา สิงห์ สิงโตจีน และลวดลายตกแต่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น กินนร กินรี ครุฑ นาค เป็นต้น

สัตว์หิมพานต์ในจินตนาการของช่างไทย มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ เพื่อถวายพระเพลิงตามแบบแผนโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ด้วยยึดถือคติการสร้างพระเมรุมาศเสมือนการจำลองภูมิจักรวาล ในคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์สมมติเทพ อวตารลงมาจากเทพเจ้าซึ่งประทับอยู่บนสรวงสวรรค์ ณ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล เมื่อสวรรคตจึงถวายพระเพลิงส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ รวมทั้งความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคตแล้วจะกลับไปเป็นเทพสถิตอยู่บนสวรรค์เหนือยอดเขาพระสุเมรุ

ดังนั้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ จึงเป็นความเชื่อที่ผสมผสานกันทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และอิทธิพลความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน

ด้วยแนวคิดของทั้งสองศาสนานี้มีความสอดคล้องกันในการจำลองภูมิจักรวาลมาสู่การออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมผ่านระบบคติสัญลักษณ์ พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ จึงหมายรวมไปถึงเขาพระสุเมรุ รวมทั้งเขาสัตบริภัณฑ์ และปริมณฑลในฐานะจักรวาลหน่วยหนึ่งซึ่งถูกจำลองลงมายังโลกมนุษย์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46351339874996_g2.jpg)

สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ

การก่อสร้างพระเมรุมาศถือเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยเครื่องยอดชั้นสูงที่มีความซับซ้อนในมิติรูปลักษณ์ทางการออกแบบและคติความเชื่ออันปรากฏอยู่ในสาระของพระราชพิธีอันสืบเนื่องมาแต่โบราณ สะท้อนผ่านรูปแบบแผนผังพระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ รายล้อมด้วยเมรุทิศ เมรุแทรก สามส้าง คด ราชวัติ ฉัตรธง ล้อมรอบกันเป็นชั้นๆ เพื่อสื่อแทนความหมายเชิงสัญลักษณ์ของคติจักรวาลได้อย่างสมบูรณ์

รูปสัตว์หิมพานต์ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่โบราณก็คงสมมติดังสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยตามบริเวณเขาเหล่านั้นเป็นลำดับชั้นไป จึงทำรูปสัตว์ต่างๆ เข้าริ้วกระบวนสำหรับอัญเชิญผ้าไตรหรือเครื่องสังเค็ดถวายพระไว้บนหลังสัตว์นั้นด้วย เมื่อเคลื่อนเข้าสู่มณฑล พระเมรุแล้วจึงตั้งรูปสัตว์หิมพานต์ทั้งหลายเรียงรายล้อมรอบพระเมรุมาศ เปรียบสมมติเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยล้อมรอบเชิงเขาพระสุเมรุนั่นเอง

มีภาพวาดบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเพทราชา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๗ ปัจจุบันภาพชุดนี้อยู่ในความครอบครองของสถาบัน Dresden State Art Collections ประเทศเยอรมนี ได้รับการศึกษาค้นคว้าเปิดเผยโดย Barend J. Terwiel นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และตีพิมพ์บทความเผยแพร่ในวารสารสยามสมาคม ฉบับที่ ๑๐๔ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ (The Journal of the Siam Society. Volume 104, 2016)

ภาพเขียนลายเส้นแผ่นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะแสดงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนอัญเชิญพระบรมศพไปสู่พระเมรุมาศ ซึ่งปรากฏภาพสัตว์หิมพานต์อยู่ในริ้วกระบวนส่วนหน้า ตามด้วยราชรถพระราชรถโปรย และพระมหาพิชัยราชรถอย่างเป็นระเบียบงดงาม

สัตว์หิมพานต์ในกระบวนแห่ผูกเป็นหุ่นขนาดใหญ่ยืนอยู่บนแท่น มีล้อเลื่อนสำหรับจูงลากไปยังพระเมรุมาศ บนหลังสัตว์ทุกตัวมีบุษบกสำหรับวางผ้าไตรอัญเชิญไปใช้ในพระราชพิธี สัตว์หิมพานต์ในริ้วกระบวนมีจำนวน ๙ คู่ ตามลำดับ คือ อินทรี แรด เสือ สิงห์ กิเลน สิงโต ราชสีห์ คชสีห์ และกินรี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11984828487038_953c51_1_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34762019539872__3626_3633_3605_3623_3660_3627.jpg)

ยังมีข้อมูลความรู้จากวิกิพีเดียว่า ป่าหิมพานต์หรือหิมวันต์ เป็นป่าในวรรณคดีและความเชื่อในเรื่องไตรภูมิตามคติศาสนาพุทธและฮินดู มีความเชื่อว่า ป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ มีเนื้อที่ ๓,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๐ ไมล์ หรือ ๑๖ กิโลเมตร) วัดโดยรอบได้ ๙,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด มีสระใหญ่๗ สระคือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมัณฑากิณี และสระ สีหัปปาตะ บรรดาสระใหญ่ทั้ง ๗ นั้น สระอโนดาตแวดล้อมไปด้วยภูเขาทั้ง ๕ ที่จัดเป็นยอดเขาหิมพานต์ ยอดเขาทุกยอดมีส่วนสูงและสัณฐาน ๒๐๐ โยชน์ กว้างและยาวได้ ๕๐ โยชน์

ในป่าหิมพานต์เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิดซึ่งล้วนแปลกประหลาดต่างจากสัตว์ที่มนุษย์รู้จัก เป็นสัตว์หลายอย่างผสมกันแล้วตั้งชื่อขึ้นใหม่ สัตว์เหล่านี้เกิดจากจินตนาการของจิตรกรไทยโบราณที่ได้สรรค์สร้างภาพจากเอกสารเก่าต่างๆ บรรดาสัตว์ทั้งหมดที่อ้างถึงนี้เป็นที่รู้จักในนามสัตว์หิมพานต์ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท คือ สัตว์ทวิบาท (มีสองขา) สัตว์จตุบาท (มีสี่ขา) และจำพวกปลา เช่น อสุรวายุภักษ์ นกการเวก ครุฑ กินรี คชปักษา มยุระคนธรรพ์ นกสัมพาที นกสดายุ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ เหมราช โลโต สีหรามังกร นรสิงห์ ดุรงค์ไกรสร งายไส สินธพกุญชร มัจฉนาคา ศฤงคมัศยา เอราวัณ คนธรรพ์ มักกะลีผล กุมภีนิมิต เหรา เป็นอาทิ