[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 14 เมษายน 2555 15:56:58



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๔ : พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 เมษายน 2555 15:56:58

พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



(http://image.uamulet.com/uauctions/UAKGlkImages/2010/9/6341958372599350472.JPG)
พระธรรมปาโมกข์ (แย้ม  อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสิมาราม  กรุงเทพมหานคร  


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๔
(แย้ม  อุปวิกาโส)



พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)  วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสิมาราม  นามฉายาว่า อุปวิกาโส  เป็นชาวบ้านพลูหลวง  แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี  เกิดในรัชกาลที่ ๔  เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๒๗ พ.ศ. ๒๔๐๘  หรือตรงกับวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๐๘  

ในรัชกาลที่ ๕  เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี  มาบวชเป็นสามเณรที่วัดราชประดิษฐ์ในกรุงเทพฯ  เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖  สมเด็จพระสังฆราช (สา)  เมื่อยังดำรงพระยศเป็นที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์รอดจนอายุครบอุปสมบท  จึงได้อุปสมบทที่วัดราชประดิษฐ์  เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘  สมเด็จพระสังฆราช (สา)  เป็นพระอุปัชฌาย์  ตั้งแต่อุปสมบทแล้ว ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพื้น  และเรียนต่ออาจารย์บุษย์บ้าง

ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งแรกเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ หาได้เป็นเปรียญไม่  แปลครั้งที่ ๒ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค  ต่อมาถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘  เข้าแปลครั้งที่ ๓  แปลได้อีก ๓ ประโยค  รวมเป็น ๖ ประโยค

ได้เปนถานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช (สา)  แต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้นหลายตำแหน่ง  ตั้งแต่เป็นพระครูสมุห์เป็นต้น  แล้วเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระครูสังฆวิจารย์  พระครูธรรมรูจี  พระครูธรรมราต  พระครูวรวงศา  ครั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา)  ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ก็ได้เลื่อนเป็นพระครูธรรมกถาสุนทร แล้วเป็นพระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์  โดยลำดับมา

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (สา  สิ้นพระชนม์แล้ว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอวาจีคณานุสิชฌน์  ต่อมาเมื่อพระสาสนโสภณ (อ่อน)  ซึ่งครองวัดราชประดิษฐ์ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (สา) ถึงมรณภาพ  ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ นับเป็นองค์ที่ ๓ โดยลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นต้นมา

ถึงรัชกาลที่ ๖  ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระเทพกวี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้วเลื่อนขึ้นเป็น พระธรรมปาโมกข์   เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี  เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖

ครั้นวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะรองหนกลาง  มีสำเนาประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา ดังนี้

ประกาศสถาปนา
ศุภมัสดุ  พระพุทธศาสนกาล ๒๔๖๘  พรรษา  ปัตยุบันสมัย  พฤศจิกายนมาศ  นวมทิน  จันทรวาร  กาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี  ศรีสินทรมหาวชิราวุธ  เอกอัครมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ์  อติศัยพงศวิมลรัตน  วรขัตติยราชนิกโรดม  จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ  อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี  จักรีบรมนารถ  จุฬาลงกรณราชวรางกูร  บรมมกุฎนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิษฐ  สุสาธิตบุรพาธิการ  อดุลยกฤษฎาภินิหารอติเรกบุญฤทธิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค  มหาชโนตตะมางคประณตบาทบงกชยุคล  ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลยทิพยเทพาวตาร   ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ  สรรพเทเวศรานุรักษ์  ปุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี  ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ  เสนางคนิกร  รัตนอัศวโกศลประพนธปรีชา  มัทวสมาจาร  บริบูรณคุณสาร  สยามาทินครวรุตเมกราชดิลก  มหาปริวารนายกอนันต  มหันตวรฤทธิเดช  สรรพวิเศษศิรินธร  บรมชนกาดิศรสมมต  ประสิทธิวรยศมโหดม  บรมราชสมบัติ  นพปฎลเสวตรฉัตราดิฉัตร  ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต  สรรพทศทิศวิชิตไชย  สกลมไหศวริยมหาสวามินทร  มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม  บรมนารถชาติอาชาวไศรย  พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ  อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี  เมตตากรุณาสีตลหฤไทย  อโนปไมยบุญการ  สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์  ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนารถบพิตร  พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 ทรงพระราชดำริว่า  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  มีความรอบรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมและชำนาญตำราโหราศาสตร์  กอปรด้วยวัตตจริยา  สมจริยา  รัตตัญญุตาคุณ  ได้รับภาระพระพุทธศาสนาสั่งสอนมหาชนให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส  ในสัมมาทิฐิมาช้านาน  บัดนี้ มีพรรษายุกาลมากแล้ว  และบรรดาพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ์ฯ  ซึ่งมีชนมชีพอยู่ ณ บัดนี้ ก็เหลือแต่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์องค์เดียว  ได้เอาใจใส่รักษาขนบธรรมเนียมแห่งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น  ให้เป็นแบบแผนปฏิบัติมั่นคงมาจนบัดนี้  ซึ่งนับว่า เป็นคุณสมบัติสำคัญอีกส่วนหนึ่ง สมควรจะยกย่องอิสสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระราชาคณะมีราชทินนามตามจารึกในหิรัณย์บัตรว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณ   ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต  มัชฌิมคณิศร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  สังฆนายก  สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองหนกลาง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ
พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ สมบุรณสมาจารวัตร มัชฌิมสังฆนายก ธุรวาหะ ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑
พระครูพุทธพากย์ประกาศ ๑
พระธรรมศาสน์อุโฆษ ๑
พระครูสังฆบริหาร ๑
พระครูสมุห์ ๑
 พระครูใบฎีกา ๑

พระพรหมมุนี (แย้ม) ถึงมรณภาพด้วยโรคอัมพาต เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔  สิริชนมายุได้ ๖๗ ปี







รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- www.tongzweb.com (http://www.tongzweb.com)[/size]




.